ถ้าจะเลือกคอนโดมิเนียมกันสักโครงการไม่ใช้แค่ดูว่าโครงการอยู่ทำเลไหน ราคาเท่าไหร่ โครงการเป็นอย่างไร มีรูปแบบห้องแบบไหนให้เลือกบ้าง ความจริงแล้วมีรายละเอียดที่จะมีผลในการประกอบการตัดสินใจอยู่เยอะมาก หนึ่งในนั้นก็คือ “ที่จอดรถ” สำหรับคนที่ไม่มีรถส่วนตัวอาจมองว่ามันจะมีปัญหาได้อย่างไร ปกติโครงการก็จัดที่จอดมาให้กันทั้งนั้น แต่เชื่อเถอะว่า สำหรับผู้ที่มีรถยนต์ส่วนตัว การเลือกคอนโดที่มีที่จอดรถเพียงพอและปลอดภัย ก็ช่วยเพิ่มความอุ่นใจในการอยู่อาศัยได้อย่างแน่นอน

สำหรับบทความนี้เราจะมาพูดถึงเรื่อง คอนโดมิเนียมกับที่จอดรถ แบบเจาะลึกทุกรายละเอียดของที่จอดรถที่มีอยู่ในปัจจุบัน ปัญหาที่พบ ไปจนถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้ที่กำลังจะเลือกซื้อคอนโด ใช้เป็นข้อมูลในการเลือกซื้อได้อย่างตรงใจมากที่สุดค่ะ

ปัจจุบันคนที่ซื้อหรืออยู่อาศัยในคอนโด หลายๆคนก็ยังคงใช้รถยนต์ส่วนตัวกันอยู่ เพราะความสะดวกในการเดินทาง บางคนมีรถก่อนที่จะซื้อคอนโดเสียอีก ต่อให้โครงการคอนโดติดรถไฟฟ้า แต่ถ้าคุณเป็นคนขับรถ ก็คงมองหาคอนโดที่มีที่จอดรถให้อยู่ดี เรื่องที่จอดรถนี้ จัดเป็นหนึ่งในปัญหายอดฮิต ของคนที่อยู่คอนโด ก็ว่าได้ เช่น ที่จอดรถที่ไม่สามารถรองรับความต้องการของคนทั้งคอนโดได้ สำหรับคอนโดระดับกลางๆ ส่วนใหญ่ ก็จะมีที่จอดรถให้ไม่เกิน 50% บางโครงการต้องเสียค่าจอดเพิ่มอีก นี้ยังไม่รวมถึงปัญหาจากการใช้งานจริงต่างๆ นอกจากนี้ที่ต้องดูก็คือ อัตราส่วนของความหนาแน่นและจำนวนจริงๆของปริมาณที่จอดรถประกอบด้วย

ยกตัวอย่าง

ที่จอดรถคอนโด A มีห้องพักอาศัยทั้งหมด 100 ยูนิต มีที่จอดรถ 60% หมายความว่า จอดรถได้ 60 คัน มีรถ 40 คัน ไม่ได้จอด (กรณีสมมติมีรถห้องละคัน) เทียบกับที่จอดรถคอนโด B มีห้องพักอาศัยทั้งหมด 1,000 ยูนิต มีที่จอดรถ 60% หมายความว่า จอดรถได้ 600 คัน โดยจะมีรถ 400 คัน ไม่ได้จอด

กรณีนี้ เปอร์เซนต์เท่ากันก็จริง แต่ลองนึกภาพ รถ 400 คันที่วนหาที่จอดรถ กับรถ 40 คันวนหาที่จอดรถ ความวุ่นวายต่างกันมากนะคะ แต่ในความเป็นจริงคือก็ไม่ทุกห้องหรอกค่ะ ที่ขับรถหรือใช้รถ แต่ความเป็นไปได้ในการต้องการที่จอดรถคร่าวๆเราสามารถดูภาพรวมได้จาก เปอร์เซนต์ที่จอดรถ และจำนวนรถที่มีอยู่จริง ทำเลของโครงการก็มีผลเช่นกัน ถ้าโครงการอยู่ในทำเลที่เน้นใช้รถยนต์เป็นหลัก ไม่ได้อยู่ในเส้นทางรถไฟฟ้า แนวโน้มคนที่จะอยู่อาศัยในโครงการนั้นก็จะเป็นกลุ่มคนที่ใช้รถมากกว่า ถ้าโครงการจัดที่จอดรถมาน้อยก็อาจจะมีปัญหาที่จอดรถตามมาในอนาคตได้

คอนโดราคาไหน ให้ที่จอดรถเท่าไหร่บ้าง ?

คราวนี้เราลองมาดูกันว่า โดยทั่วไปแล้วถ้าเราเทียบโครงการตาม Segment ต่างๆ จากข้อมูลโครงการคอนโดมิเนียมในปี 2017-2019 ในเวปไซต์ Think of Living จะเห็นว่าจริงๆแล้วจำนวนที่จอดรถนั้นมีความสอดคล้องกันอย่างชัดเจนกับระดับราคา โครงการที่ราคาแพงจะได้จำนวนที่จอดมากขึ้นตามไปด้วย

ที่นี้เราลองมาดูที่มาที่ไปของการจัดจำนวนที่จอดรถในคอนโดกันค่ะ ว่าเค้ามีการคำนวนจำนวนช่องจอดมาจากวิธีไหนได้บ้าง

กฎหมายที่จอดรถกับคอนโดมิเนียม

การกำหนดจำนวนที่จอดรถนั้นไม่ใช้ว่าโครงการอยากจะจัดให้ลูกบ้านเท่าไหร่ตามแต่ใจได้ เพราะในความเป็นจริงแล้วคงมีโครงการแทบจะนับจำนวนได้ที่ให้ที่จอดรถ 100% หรือมากกว่า จึงต้องมีการจัดที่จอดรถโดยมีกฎหมายเข้ามาควบคุมให้มีจำนวนที่เหมาะสมตามขนาดของโครงการในแต่ละโครงการ  ถ้าใครจัดที่จอดได้น้อยกว่ากฎหมายกำหนด ก็มีโอกาสที่จะไม่ได้รับอนุญาติให้ก่อสร้างจริงได้ สำหรับจำนวนที่จอดรถของคอนโดมิเนียมนั้นจะอ้างอิงตาม พรบ. ควบคุมอาคารฯ โดยแบ่งจำนวนที่จอดรถในคอนโด ตามพื้นที่ใช้สอย ดังนี้

ที่จอดรถในคอนโดมิเนียมที่คำนวณตามพื้นที่การใช้สอย

ตามกฏกระทรวงฉบับที่ 7 และพรบ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2544 คอนโดมิเนียม จัดอยู่ในประเภทของ ”ที่อยู่อาศัยรวม” หรือ ”อาคารชุด” อีก 2 กรณี คือ ตั้งอยู่ในเขตกทม. และนอกเขตกทม.  จะมีการคำนวณตามพื้นที่การใช้สอย ดังนี้

  • ในเขตพื้นที่กทม. ห้องที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 60 ตารางเมตร ขึ้นไป ต้องมีที่จอดรถ 1 คัน / 1 ห้อง
  • นอกเขตพื้นที่กทม. ห้องที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 60 ตารางเมตร ขึ้นไป ต้องมีที่จอดรถ 1 คัน / 2 ห้อง

ที่จอดรถในคอนโดที่คำนวณตามขนาดของอาคาร

ที่จอดรถของ อาคารชุด หรือ คอนโดมิเนียม ในด้านกฎหมายแล้วให้พิจารณาจากหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ ถ้าเป็น าคารขนาดใหญ่ ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นอาคารหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารเป็นที่ประกอบกิจการประเภทเดียวหรือหลายประเภท โดยมีความสูงจากระดับถนนตั้งแต่ 15 เมตรขึ้นไป และมีพื้นที่รวมกันทุกชั้นในหลังเดียวกันเกิน 1,000 ตารางเมตร หรือมีพื้นที่รวมกันทุกชั้นหรือชั้นหนึ่งชั้นใดในหลังเดียวกันเกิน 2,000 ตารางเมตร

ดังนั้น คอนโดมิเนียม ที่พื้นที่ก่อสร้างมากกว่า 1,000 ตารางเมตร และ สูง 15 เมตร ขึ้นไป หรืออาคารที่มีพื้นที่ก่อสร้างเกิน 2,000 ตารางเมตร จะจัดเป็นอาคารขนาดใหญ่จะมีข้อกำหนดจำนวนที่จอดรถโดยคำนวนจากขนาดของอาคาร แยกออกเป็นอีก 2 กรณี ได้แก่

  • ในเขตพื้นที่กทม. ทุกพื้นที่ก่อสร้าง 120 ตารางเมตร ต้องมีที่จอดรถ 1 คัน
  • นอกเขตพื้นที่กทม. ทุกพื้นที่ก่อสร้าง 240 ตารางเมตร ต้องมีที่จอดรถ 1 คัน

เมื่อคำนวนที่จอดรถจากทั้ง 2 กรณีข้างต้นแล้ว ให้ก่อสร้างตามกรณีที่ได้จำนวนมากที่สุด ถ้าหากนำจำนวนที่จอดรถมาเทียบกับจำนวนยูนิตห้อง ก็จะได้จำนวนร้อยละ (%) ของที่จอดรถของคอนโดของโครงการนั้น

ที่เราเห็นกันบ่อยๆ โครงการทั่วไปจะเน้นทำห้องแบบ 1 Bedroom ส่วนมากจะมีขนาดเริ่มต้นกันที่ 20 ตารางเมตรขึ้นไป แต่จะไม่เกิน 60 ตารางเมตร และจะเป็นยูนิตส่วนใหญ่ถ้าเทียบกับจำนวนยูนิตทั้งหมด ส่วนห้องที่ีมีขนาดพื้นที่ใช้สอย 60 ตารางเมตร ขึ้นไป ส่วนมากก็จะเป็นห้อง แบบ 2 Bedrooms ซึ่งจะมีจำนวนยูนิตในสัดส่วนที่น้อยกว่าห้อง 1 Bedroom

แต่ทุกอย่างที่อยู่ในโครงการคอนโดมิเนียม ล้วนแล้วแต่เป็นการลงทุนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นราคาที่ดิน ราคาค่าก่อสร้างโครงการ ตลอดจนที่จอดรถ สิ่งเหล่านี้จะถูดตีกลับมาเป็นราคาขาย ห้อง/ตารางเมตร ในตอนท้าย ฉะนั้นจึงไม่แปลกที่ ห้องพักอาศัยมีพื้นที่เยอะ ที่จอดรถที่มากขึ้น ราคาห้องก็จะยิ่งแพงขึ้นไปด้วยเช่นกัน

ที่จอดรถในคอนโดมิเนียมมีแบบไหนบ้าง ?

ถ้าเราจะแบ่งประเภทของที่จอดรถตามกายภาพที่เราพบเห็นกันเป็นประจำ จะสามารถแบ่งการใช้งานออกเป็น 3 แบบ หลักๆ ซึ่งแต่ละประเภทก็จะมีข้อดีข้อเสียในการใช้งานแตกต่างกันไป บางประเภทถูกออกแบบเฉพาะสำหรับโครงการนั้นๆ เพื่อเพิ่มพื้นที่การจอดให้สามารถจอดรถได้มากที่สุดในพื้นที่จำกัด เราลองมาดูแต่ละประเภทกันเลยค่ะ

  • ที่จอดรถแบบกลางแจ้ง Outdoor Parking
  • ที่จอดรถในอาคารจอด Indoor Parking
  • ที่จอดรถอัตโนมัติ Automated Parking System

ที่จอดรถแบบกลางแจ้ง

สำหรับที่จอดรถแบบกลางแจ้งโดยส่วนมากเรามักพบในโครงการที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ หรือมีพื้นที่เหลือโดยรอบโครงการ หรือในโครงการประเภท LowRise ที่ไม่มีการสร้างอาคารจอดรถ ก็จะให้จอดในพื้นที่จอดรถแบบลานโล่ง หรือบางส่วนก็เป็นพื้นที่ใต้อาคารจอดแบบได้ร่มเงาบางส่วนแบบ Semi Outdoor ข้อดีของการจอดรถกลางแจ้งคือ ไม่ต้องขับขึ้นวนหาที่จอดในอาคาร ซึ่งในอาคารจอดรถบางที่นั้นออกแบบมาค่อนข้างแคบ ต้องมีความชำนาญในการขับรถ ยิ่งใครใช้รถคันใหญ่ รถกระบะสูง ตัวรถมีความยาว บางครั้งจะเลี้ยวขึ้นลง Slope หักศอกแต่ละครั้งก็ลำบากพอสมควร ส่วนใครที่ใช้รถที่มีความสูงพิเศษกว่ารถทั่วไปก็สามารถจอดที่จอดรถแบบกลางแจ้งได้สะดวกกว่า เพราะโดยส่วนมากแล้วอาคารจอดรถจะกำหนดความสูงของรถไว้ไม่ให้เกิน 2.2 – 2.4 เมตร แล้วแต่ความสูงแต่ละชั้นของที่จอดรถ แต่ก็ต้องแลกกับความไม่สะดวกสบายในการใช้งานเพราะเมื่อจอดรถแล้วต้องเดินมาที่ส่วนอาคารพักอาศัยอีกที ไม่ได้เชื่อมต่อตรงแบบอาคารจอดรถ อีกทั้งการจอดกลางแจ้งแบบนี้รถจะต้องจอดรถตากแดดตากฝนกันไปตามสภาพอากาศ

ที่จอดรถบนอาคารจอด

สำหรับที่จอดรถบนอาคาร จัดเป็นที่จอดรถที่โครงการใช้กันอย่างแพร่หลาย เพราะหลายๆโครงการไม่ได้มีพื้นที่หรือบริเวณแบบลานเปิดโล่งสำหรับจอดรถในโครงการได้อย่างเพียงพอ การเลือกสร้างเป็นอาคารจอดรถจึงสามารถเพิ่มจำนวนที่จอดรถได้มากขึ้น โดยที่จอดรถบนอาคารจอด ส่วนมากที่พบเห็นกันบ่อยๆจะสามารถแบ่งออกเป็น 2 แบบ ซึ่งก็จะมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันอีกเช่นกัน

  • อาคารจอดรถที่แยกอาคารออกมาจากส่วนพักอาศัย
  • อาคารจอดรถที่อยู่ในโครงสร้างเดียวกับอาคารพักอาศัย

อาคารจอดรถที่แยกอาคารจากส่วนพักอาศัย

จะเป็นอาคารสำหรับจอดรถเท่านั้น หรือในบางโครงการจะอยู่รวมกับส่วนกลางของโครงการ เช่น ทำเป็นอาคารจอดรถในชั้นล่างแล้วทำเป็นสระว่ายน้ำ หรือสวนสาธารณะไว้ด้านบนในชั้นดาดฟ้าของอาคาร ที่จอดรถลักษณะนี้ส่วนมากจะพบได้ในโครงการที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ การแยกอาคารในลักษณะนี้จะมีข้อดีในเรื่องการดูและจัดการ แต่ก็จะมีข้อเสียตรงที่โดยส่วนมากแล้วอาคารจอดรถแบบนี้จะถูกออกแบบมาให้ไปอยู่ด้านในสุดของโครงการ ทำให้เมื่อจอดรถแล้วต้องเดินย้อนกลับมาที่อาคารพักอาศัย ในบางที่จะมีการออกแบบที่ดีโดยมีหลังคาเชื่อมเป็นแนวทางเดินให้ตลอดเส้นทางเดิน แต่ในบางโครงการก็ต้องเดินผ่านพื้นที่โล่งไม่มีหลังคาปกคลุม กรณีฝนตกแดดร้อน ลูกบ้านก็ต้องเดินตากแดดตากฝนกันไป หรือกรณีที่ซื้อของกลับบ้านเยอะๆ ก็ต้องถือเดินหิ้วย้อนกลับมาที่อาคารพักอาศัย

อาคารจอดรถที่อยู่ในโครงสร้างเดียวกับอาคารพักอาศัย

สำหรับอาคารจอดรถประเภทนี้จะอยู่ในโครงสร้างอาคารเดียวกับอาคารพักอาศัย โดยจะอยู่ในชั้นล่างก่อนขึ้นไปเป็นส่วนพักอาศัยในชั้นบน ในบางโครงการอาจจะทำเป็นชั้นจอดรถใต้ดินเพิ่มเข้ามาเพื่อเพิ่มพื้นที่ในการจอดให้มากขึ้น หรือไม่ก็ทำเป็นชั้นจอดรถปกติ สำหรับข้อดีของการทำที่จอดรถลักษณะนี้อย่างแรกเลยคือประหยัดพื้นที่กว่าการทำที่จอดรถแบบลานโล่ง เราจะเห็นในโครงการที่มีพื้นที่จำกัด เช่น โครงการในเมือง โครงการประเภท High Rise เป็นต้น อีกทั้งในเรื่องการใช้งานก็ถือว่ามีความสะดวกคล่องตัวอยู่พอสมควร เพราะส่วนใหญ่แล้วเมื่อจอดรถเสร็จ ลูกบ้านสามารถขึ้นไปส่วนพักอาศัยจากโถงลิฟต์ที่เชื่อมต่อมาถึงชั้นอาคารจอดรถได้เลย โดยไม่ต้องลงไปที่ชั้น Lobby หรือโถงต้อนรับ ส่วนรถนั้นก็ไม่ต้องจอดตากแดดตากฝน ในบางโครงการอาจจะมีการ Fix ที่จอดรถไว้ให้ตามหมายเลขห้องก็ช่วยเพิ่มความสะดวกในการใช้งานมากขึ้นไปอีก แต่อาคารจอดรถที่ดีก็ควรมีการออกแบบที่ดีในการใช้งานด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการจัดเส้นทางขึ้น-ลง ทางลาดชันต่างๆ รถสามารถวิ่งสวนกันได้ไม่เบียดจนเกินไป ตลอดจนการออกแบบช่องเปิดเพื่อระบายอากาศและช่องแสงสว่างในอาคาร ควรมีช่องแสงในตอนกลางวันและติดไฟฟ้าส่องสว่างในตอนกลางคืน ก็จะทำให้การใช้งานอาคารจอดรถมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

ที่จอดรถอัตโนมัติ Automated Parking System

ที่จอดรถอัตโนมัติเป็นเทคโนโลยีที่มีการใช้ในหลายประเทศทั่วโลกมากนานแล้ว และตอนนี้เริ่มมีใช้กันมากขึ้นในประเทศไทย ในปัจจุบันต้นทุนที่ดินในกรุงเทพมีราคาที่สูงขึ้น จึงทำให้เราได้เริ่มเห็นในหลายโครงการ เริ่มใช้ที่จอดรถอัตโนมัติกันมากขึ้นเพื่อเพิ่มพื้นที่จอดรถให้เพียงพอในโครงการ ที่จอดรถอัตโนมัติจึงเป็นทางเลือกที่ได้รับความสนใจมากขึ้น นอกเหนือจากอาคารจอดรถหลายชั้น และลานจอดรถแบบเดิม

ข้อดีที่เห็นได้อย่างชัดเจนของที่จอดรถอัตโนมัติ คือ การประหยัดพื้นที่ โดยเฉลี่ยแล้วระบบสามารถประหยัดพื้นที่จอดรถได้ถึง 50% ทำให้อาคารมีพื้นที่จอดรถเพิ่มขึ้นประมาณ 40-50%  เพราะถ้าเป็นอาคารจอดรถแบบธรรมดา (Conventional) ทางลาดและทางวิ่งของที่จอดรถจะกินพื้นที่ขนาดใหญ่ในอาคารจอดรถแบบเดิม ซึ่งนั่นคือพื้นที่ที่ไม่สามารถใช้จอดรถได้ หากเอาทางลาดและทางวิ่งออก พื้นที่จอดรถก็จะมีเพิ่มขึ้น อาคารที่จอดรถแบบดั้งเดิมใช้พื้นที่ประมาณ 25 ตารางเมตรต่อที่จอดรถหนึ่งคัน ในขณะที่การแก้ปัญหาโดยใช้ที่จอดรถอัตโนมัติใช้พื้นที่เพียง 12.5-15 ตารางเมตร/รถหนึ่งคันเท่านั้น โดยขึ้นอยู่กับขนาดและประเภทของพื้นที่ร่วมด้วย เดี่ยวเราลองไปดูระบบจอดรถอัตโนมัติประเภทต่างๆ กันต่อเลยค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก : www.cbre.co.th

ขอบคุณภาพประกอบจาก : www.g-park.co.th – อาคารจอดรถอัตโนมัติแบบ Puzzle รพ.เปาโล เมโมเรียล โชคชัย 4

ระบบที่จอดรถแบบ Puzzle

เป็นที่จอดรถซ้อนกันหลายระดับแบบอัตโนมัติหรือกึ่งอัตโนมัติ ช่วยให้สามารถเข้าถึงพื้นที่ว่างได้เพิ่มขึ้นและมีความคล่องตัวสามารถเคลื่อนที่ได้อัตโนมัติทั้งในแนวนอนและแนวตั้ง ที่จอดรถอัตโนมัติในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่จะใช้ระบบที่จอดรถแบบ Puzzle เป็นเทคโนโลยีพื้นฐาน โดยการใช้งานในแต่ละโครงการจะแตกต่างกันไป เป็นระบบที่จอดรถขนาดกลาง -ใหญ่ ใช้หลักการของคานกับการเคลื่อนที่ด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าทางซ้าย-ขวา ยกพาเลทจอดรถขึ้น-ลงด้วยรอกไฟฟ้าทดกำลัง พร้อมระบบล็อกพาเลทจอดรถเสริมความปลอดภัย ระบบนี้จะใช้ไมโครโปรเซสเซอร์ หรือ PCL มาควบคุมการทำงานว่าต้องการนำรถเข้าจอด หรือ นำรถที่จอดออกมา ระบบนี้ยังต้องใช้คนเป็นผู้สั่งการในการเริ่มการทำงาน

ระบบที่จอดรถแบบซ้อน Stacking 

เป็นวิธีที่ส่วนใหญ่รถยนต์จะถูกเรียงสูงซ้อนกัน 2 คัน ใช้กำลังหลักในการยกขึ้นลงด้วยไฮดรอลิค การใช้งานง่ายไม่ซับซ้อน การใช้งานก็จะใช้การจอดซ้อนขึ้นไปด้านบนหรือซ่อนลงไปในชั้นใต้ดิน และถ้าต้องการเคลื่อนย้ายตัวรถ รถด้านล่างจะต้องถูกเคลื่อนย้ายออกมาก่อนที่จะลดระดับและเอารถด้านบนออกได้ หรือหากเป็นระบบแบบยกลงเก็บใต้พื้น จำเป็นต้องยกรถคันที่อยู่เหนือคันที่จะออกขึ้นก่อน เพื่อให้คันที่จะออกอยู่ในระนาบพื้นดินจึงจะออกได้ ดังนั้นการจัดที่จอดรถระบบนี้จะต้องมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลอยู่เสมอ เพื่อเคลื่อนย้ายรถของลูกบ้าน

ขอบคุณภาพประกอบจาก : www.utron-parking.com

ระบบจอดแบบ Full Automate

เป็นระบบลิฟต์ขนาดใหญ่ที่ทำงานแบบ Full Logic Control และ Robotic Movement ตั้งแต่การนำรถเข้าจอด-การนำรถออกมา โดยไม่ต้องใช้คนในการควบคุมหรือสั่งการ โดยระบบจะสามารถคำนวณปริมาณรถเข้า-ออกเพื่อกำหนดช่องจอดรถให้โดยคอมพิวเตอร์เป็นผู้ควบคุม สามารถสั่งการสำรองที่จอดรถส่วนบุคคลได้ รูปแบบการจอดรถด้วยระบบนี้จะสามารถเห็นได้ในอาคารจอดรถขนาดใหญ่ จากประสิทธิภาพในการทำงานแบบอัตโนมัติจึงทำให้ระบบนี้มีราคาค่อนข้างสูง แต่เมื่อเทียบกับที่จอดรถแบบธรรมดา (Conventional) แล้ว สามารถใช้ประโยชน์พื้นที่ได้อย่างเต็มที่กว่าลดค่าใช้จ่ายได้เมื่อเทียบกับการก่อสร้างอาคารจอดรถแบบเดิมเพื่อรองรับการจอดรถยนต์ในจำนวนที่เท่ากัน

โดยการติดตั้งจะขึ้นอยู่กับการออกแบบและลักษณะของพื้นที่ในแต่ละโครงการ หากมีข้อจำกัดในเรื่องทางเข้า-ออก มีทางเดียว ทางโครงการต้องใส่รถลาก หรือแผ่นจานสำหรับหมุนรถเพื่อให้ผู้ขับขี่ไม่ต้องถอยรถออกจากช่องจอด แต่ถ้ามีพื้นที่เพียงพอและมีการออกแบบอาคารที่มีทางเข้า-ออกช่องจอดได้ 2 ฝั่ง ก็จะช่วยให้สามารถใช้งานได้สะดวกขึ้น วิ่งตรงเข้ามาจอดได้เลย กรณีเรียกรถลงจากชั้นจอดรถแล้ว ก็สามารถเคลื่อนรถออกจากช่องจอดได้เลย โดยที่ไม่จำเป็นต้องหมุนรถกลับมาอีกฝั่ง

สำหรับการเตรียมเข้าจอดรถของลูกบ้านจากระบบจอดแบบ Mechanical parking โดยปกติแล้วแล้วทางโครงการจะมีพื้นที่ให้จอดรถรอเพื่อดูว่าช่องจอดไหนว่างให้เราเข้าไปจอดรถ ให้ระบบอัตโนมัติยกรถเราไปเก็บ

ส่วนลูกบ้านที่ต้องการจะเรียกใช้รถยนต์ที่เก็บไว้ในอาคารจอด โดยปกติแล้วทางโครงการจะมีพื้นที่ให้รอรถ อาจจะจัดเอาไว้ในส่วนของ Lobby หรือแยกเป็นพื้นที่รอเฉพาะในอาคาร โดยจะมีหน้าจอมอนิเตอร์บอกระยะเวลาและช่องจอด  Mechanical parking ที่กำลังนำรถยนต์ของเราลงมาส่ง เมื่อรถลงมาจอดด้านล่างเรียบร้อยก็สามารถเดินออกไปเอารถได้เลยค่ะ

ที่จอดรถที่เป็นมากกว่าที่จอด
นอกเหนือจากการเป็นที่จอดรถแล้ว ปัจจุบันเราก็เริ่มเห็นหลายๆโครงการมีการพัฒนาพื้นที่จอดรถให้ใช้เป็นพื้นที่ชาร์ตไฟฟ้า หรือที่เราเรียกว่า EV Charger (สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า) เพื่อมารองรับรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ที่ถูกพัฒนาเป็นรถไฟฟ้ากันแล้ว โดยที่จอดนี้จะทำหน้าที่เป็นตัวชาร์จพลังงานไฟฟ้าให้กับแบตเตอรี่รถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า โดยสามารถแบ่งการชาร์จออกเป็น 2 ประเภท คือ Normal Charge และ Quick Charge

ขอบคุณภาพประกอบจาก : Futureofcharging.com

Normal Charge : เป็นการชาร์จด้วยไฟ AC โดยชาร์จผ่าน On Board Charger ที่ยู่ภายในตัวรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งทำหน้าที่ในการแปลงไฟ AC ไปเป็นไฟ DC ขนาดของตัว On Board Charger จะขึ้นอยู่กับยี่ห้อรถยนต์ ซึ่งขนาดของ On Board Charger จะมีผลต่อระยะเวลาในการชาร์จไฟของแบตเตอรี่รถยนต์  ยกตัวอย่างเช่น รถยนต์ไฟฟ้าที่มีแบตเตอรี่รถยนต์ขนาด 24 KW และมี On Board Charger ขนาด 3KW ระยะเวลาในการชาร์จจะอยู่ที่ 8 ชั่วโมง

Quick Charge : เป็นการชาร์จโดยใช้ตู้ EV Charger (สถานีชาร์จรถไฟฟ้า) ที่แปลงไฟ AC ไปเป็นไฟ DC แล้วจ่ายไฟ DC เข้าที่แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าโดยตรง ซึ่งระยะเวลาที่ใช้ในการชาร์จจะน้อยกว่าแบบ Normal Charger หัวชาร์จ (SOCKET) ของตู้ EV Charger จะมีทั้งแบบที่เป็น AC และ แบบ DC ประเภทของหัวชาร์จจะขึ้นอยู่กับมาตรฐานของผู้ผลิตรถยนต์ ยกตัวอย่างเช่น รถยนต์ไฟฟ้าที่มีแบตเตอรี่รถยนต์ขนาด 24kWh โดยใช้ตู้ EV Charger แบบ Quick Charge ที่มีกำลังชาร์จอยู่ที่ 50kW ระยะเวลาในการชาร์จจะอยู่ที่ไม่เกิน 1/2 ชั่วโมง

ในบางโครงการยังจัดพื้นที่จอกรถไว้ให้ลูกบ้านใช้เป็นพื้นที่ล้างรถยนต์ได้อีกด้วย โดยการแบ่งก่อขอบขึ้นมากันน้ำออกมาด้านนอก มีผ้าม่านกั้น และติดตั้งก็อกน้ำพร้อมมีสายยาง หัวฉีดน้ำไว้ให้พร้อมใช้งาน วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ไม่ได้ไปไหนก็เอารถมาจอดล้างกันเองได้

หวังว่าข้อมูลเกี่ยวกับที่จอดรถ ทั้งหมดนี้จะมีประโยชน์ไม่มากก็น้อยสำหรับผู้ที่กำลังมองหาคอนโดกันอยู่ เพื่อใช้ในการประกอบการตัดสินใจ เพื่อที่จะได้คอนโดที่ตรงใจเหมาะกับการใช้งานของแต่ละคนมากที่สุด และหากมีข้อมูลอื่นๆที่น่าสนใจทางทีมงาน Think of Living จะรีบเอามาให้ชมกันอีกนะคะ

ขอบคุณข้อมูลจาก :

  • www.asa.co.th
  • www.dpt.go.th
  • www.cbre.co.th
  • www.pmk.co.th
  • www.homeandresort.net