ในยุคสมัยนี้ “เครื่องปรับอากาศ” หรือที่เราเรียกกันว่า “แอร์” จัดเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ต้องมีกันทุกครัวเรือนในประเทศเขตร้อนชื้นแบบบ้านเรา และยิ่งช่วงนี้เป็นฤดูร้อนที่มีอุณหภูมิอากาศชนิดที่ว่าต้องร้องขอชีวิต ! จึงทำให้เครื่องปรับอากาศเป็นอุปกรณ์ภายในที่พักอาศัยที่เราจะขาดไปไม่ได้เลย และก็บ่อยครั้งที่มักจะทำงานไม่ได้ดั่งใจให้ต้องหงุดหงิดกัน ซึ่งหลักๆเลยวันนี้เราจะมาไขข้อข้องใจกันกับปัญหายอดนิยมของเจ้าเครื่องปรับอากาศที่มักจะพบกันเป็นประจำ.. “ทำไมแอร์ถึงไม่เย็น” เป็นคำถามยอดฮิตของผู้ใช้เครื่องปรับอากาศ ไม่ว่าจะใหม่หรือเก่า ซึ่งจริงๆแล้วปัจจัยที่ทำให้เกิด”ปัญหา”นี้นั้นมีเยอะเหมือนกัน ก่อนที่เราจะไปรู้จักกับปัญหาต่างๆ เรามาทำความรู้จักกับชนิดและรูปแบบของเครื่องปรับอากาศกันก่อนสักนิด เพราะจะช่วยให้เราสามารถเลือกใช้งานทั้งรูปแบบและขนาดของเครื่องปรับอากาศได้อย่างเหมาะสมกับพื้นที่ของเรา เป็นการเตรียมตัวที่ถูกต้องเพื่อลด “ปัญหา”ต่างๆที่จะตามมาในภายหลังครับ
เครื่องปรับอากาศที่นิยมใช้ในที่พักอาศัยที่เรามักจะพบกันอยู่บ่อยๆ คือเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน (Split Type) ซึ่งการทำงานคร่าวๆของมันก็ไม่ยากครับ จะมี 2 ส่วนหลักๆคือส่วนคอยล์เย็น (FCU) จะให้ความเย็นแก่พื้นที่พักอาศัยของเรา เชื่อมต่อด้วยท่อที่มีน้ำยาให้ความเย็นอยู่ภายในไปยังคอยล์ร้อน (CDU) ภายนอกอาคาร ซึ่งต้องบอกไว้ก่อนเลยนะว่าตรงไหนที่มีช่องให้ลมออกก็จะต้องมีช่องให้ลมเข้าด้วยเช่นกัน ดังนั้นในแต่ละส่วนของอุปกรณ์ทั้งคอยล์เย็นที่ปล่อยลมเย็นภายในห้องก็ต้องมีช่องสำหรับนำอากาศเข้าเพื่อหมุนเวียนภายในเครื่อง ส่วนคอยล์ร้อนที่ปล่อยลมร้อนออกภายนอกก็ต้องมีช่องรับอากาศเข้าเพื่อหมุนเวียนเช่นกัน การที่เครื่องปรับอากาศจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงที่สุด จะต้องเกิดจากอุปกรณ์ทุกชิ้นส่วนภายในเครื่องรับอากาศทำงานได้อย่างราบรื่น ซึ่งจะมีระบบและเทคนิคในการทำงานที่แตกต่างกันออกไปหลายรูปแบบ
1. แบบติดผนัง ( Wall type) เป็นเครื่องปรับอากาศที่มีความนิยมกันมากที่สุด ซึ่งจะเป็นรูปแบบที่เรามักจะได้แถมมาจากตัวคอนโดหรือบ้าน มีขนาดเล็กกะทัดรัด มีให้เลือกทั้งระบบปกติและระบบ Inverter (ประหยัดไฟมากกว่า) เหมาะสำหรับห้องที่มีพื้นที่ไม่ใหญ่นัก เช่น ห้องนอน ห้องรับแขกขนาดเล็ก หรือตำแหน่งที่ต้องการเพิ่มเติมเช่น ห้องอเนกประสงค์
ข้อดี
- เนื่องจากได้รับความนิยมมากที่สุดจึงมีรูปแบบให้เลือกหลากหลาย
- ถูกพัฒนาไปไกลจึงมีเทคโนโลยีประกอบค่อนข้างเยอะ เช่น ระบบประหยัดพลังงาน, Sensor จับความเคลื่อนไหวเพื่อปรับการทำงานให้เหมาะสมกับความร้อนในห้อง และอื่นๆอีกมากมาย
- ราคาไม่แพงถ้าเทียบกับรูปแบบอื่นๆในขนาดเท่าๆกัน
- ดูแลรักษาง่าย และมีช่างที่ชำนาญในอุปกรณ์ส่วนนี้เยอะ
- ใช้งานสะดวก สามารถติดในตำแหน่งต่อเติมได้ง่าย
- ติดตั้งง่าย
ข้อเสีย
- มีข้อจำกัดที่สามารถแขวนได้แต่ผนังเท่านั้น
- สกปรกและอุดตันง่าย
- กระจายแรงลมได้น้อยกว่าแบบอื่นๆ
2. เครื่องปรับอากาศแบบตั้ง/แขวน (Convertible type) เป็นเครื่องปรับอากาศที่สามารถติดตั้งได้ทั้งแบบตั้งกับพื้น และแบบแขวนกับเพดาน จะมีขนาดใหญ่กว่า Wall Type แบบนี้จะเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับพื้นที่ที่มีข้อจำกัดเรื่องผนัง เช่นห้องกระจก แขวนผนังไม่ได้ก็สามารถตั้งพื้นได้ เหมาะสำหรับห้องที่มีพื้นที่หลากหลาย ได้ตั้งแต่เล็กไปจนถึงห้องที่มีพื้นที่ขนาดกลาง ห้องอาหาร พื้นที่ส่วนกลาง ห้องประชุม ห้องทำงานของอาคารสำนักงาน หรือแบบตั้งพื้นในห้องนอนสมัยก่อน ถ้าจะให้เห็นภาพง่ายๆเรามักจะเห็นกันตามร้านสะดวกซื้อ จำพวก 7 Eleven, Family Mart ก็ใช้กันครับ
ข้อดี
- ติดตั้งได้หลากหลายรูปแบบ ปรับตามพื้นที่ได้ทั้งผนังและพื้น
- ติดตั้งได้ดีในห้องที่มีเพดานสูงกว่ามาตรฐาน
- ส่งลมเย็นได้ไกล กระจายทั่วห้องได้เร็ว
ข้อเสีย
- ราคาสินค้า ค่าติดตั้ง และค่าบำรุงรักษาสูง
- ไม่มีรูปแบบให้เลือกเยอะนัก
- เนื่องจากตัวเครื่องมีขนาดใหญ่จึงใช้พื้นที่ในการติดตั้งเยอะ เสียพื้นที่ใช้สอย
- มีฟังก์ชั่นให้เลือกน้อย
3. เครื่องปรับอากาศแบบฝังฝ้าเพดาน (Concealed Type) : รูปแบบนี้จะมีหลักการทำงานโดยจะมีตัวคอยล์เย็นซ่อนอยู่ภายในฝ้าที่ลดระดับลงมา และเป่าออกด้านข้าง สังเกตจากรูปด้านบน ส่วนเครื่องปรับอากาศจะมีช่องด้านล่างที่อยู่ใต้ฝ้าสำหรับเป็นส่วนรับลมเข้า ซึ่งมีขนาดค่อนข้างใหญ่ จะช่วยลดเสียงให้เบาลง ทำให้การทำงานเงียบมาก และเป็นช่องสำหรับให้ช่างขึ้นไปบำรุงรักษา แอร์ลักษณะนี้การติดตั้งจะถูกออกแบบไว้ตั้งแต่ก่อนจะก่อสร้างกันเลย จึงจะมีความกลมกลืนไปกับ interior ดูเรียบร้อยสวยงาม ไม่รบกวนการตกแต่งของห้อง ดังนั้นไม่ต้องสงสัยเลยว่าเรามักจะพบเห็นกันได้ตามคอนโดที่มีราคาสูงหน่อย หรือห้องพักของโรงแรมระดับ 4-5 ดาว เหมาะกับห้องที่มีพื้นที่เล็กไปจนถึงใหญ่ ได้ตั้งแต่ห้องนั่งเล่น ห้องประชุม ไปจนถึงตามร้านอาหารต่างๆ
ข้อดี
- ซ่อนอยู่ใต้ฝ้าจึงทำให้ดูเรียบร้อย สวยงาม ตกแต่งง่าย
- การทำงานไม่มีเสียงดัง ทนทาน
- กระจายความเย็นได้ทั่ว
ข้อเสีย
- ติดตั้งยากหน่อยเพราะต้องฝังอยู่ใต้ฝ้า
- ต้องเผื่อพื้นที่ใต้ฝ้าในการติดตั้ง
- ดูแลรักษายากกว่าแบบอื่นๆ
- ราคาและค่าบำรุงรักษาสูง
4. เครื่องปรับอากาศแบบฝังฝ้า สี่ทิศทาง (Cassette Type) : จะเป็นแบบที่ฝังอยู่ใต้ฝ้าเพดานเช่นกัน แต่จะถูกออกแบบให้เป่าลมเย็นลงมาจากใต้ฝ้าแทน แอร์ชนิดนี้จะสามารถเดินท่อน้ำยาและท่อน้ำทิ้งบนฝ้าเพดานได้เลย เหมาะกับห้องที่ไม่สามารถติดตั้งแอร์แบบติดผนัง หรือตั้งพื้นได้ไม่สะดวก ส่วนใหญ่จะเป็นแบบที่สามารถกระจายลมได้ทั้ง 4 ทิศทาง แต่ปัจจุบันเริ่มมีการพัฒนาให้มีแบบปล่อยลมที่หลากหลายขึ้น เช่นแบบวงกลมเพื่อให้การกระจายลมเย็นไปได้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น ส่วนช่องตรงกลางจะเป็นช่องสำหรับนำลมเข้าไปหมุนเวียน และเป็นช่องในการเปิดเพื่อบำรุงรักษาด้วย แอร์ลักษณะนี้เหมาะสำหรับออฟฟิศ สำนักงาน ร้านอาหาร หมู่บ้านที่หรูหราราคาแพง หรือคอนโดโครงการราคาสูง นิยมใช้ในห้องโถง ห้องนั่งเล่น ห้องอาหาร เหมาะกับห้องที่มีระยะพื้นถึงฝ้าสูงหน่อย เพื่อให้มีระยะในการกระจายลมเย็นได้อย่างทั่วถึง
ข้อดี
- เรียบร้อย สวยงาม
- กระจายลมเย็นได้ทั่วถึง 360 องศา รอบด้าน
- ติดตั้งในห้องที่มีเพดานสูงได้ดี
- เหมาะแก่ห้องที่วางพื้นหรือติดผนังได้ยาก
ข้อเสีย
- ติดตั้งยากเพราะต้องฝังอยู่ใต้ฝ้า ไม่สามารถติดตั้งกับฝ้าที่ไม่มีผิวเรียบได้ และต้องเผื่อพื้นที่ใต้ฝ้า
- บำรุงรักษายากหน่อย
- เนื่องจากเดินท่อใต้ฝ้าอาจจะทำให้เกิดน้ำรั่วบนฝ้าได้
- ราคาสินค้าและค่าบำรุงรักษาสูง
นอกจากรูปแบบของเครื่องปรับอากาศแล้วยังมีเทคโนโลยีต่างๆที่มาช่วยอำนวยความสะดวก อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับการทำแก้ไขปัญหาเรื่องความเย็นโดยตรง แต่ก็เป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้เครื่องปรับอากาศมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จะลองยกตัวอย่างให้ดูเล็กน้อยนะครับ ซึ่งเรื่องเทคโนโลยีทั้งหมดทั้งมวลนี้จะขึ้นอยู่กับรุ่นและยี่ห้อของแต่ละตัวเครื่องปรับอากาศนะ
- แอร์ Inverter คืออะไร ? – การทำงานของเครื่องปรับอากาศอินเวอร์เตอร์จะแตกต่างจากเครื่องปรับอากาศทั่วไป ตรงที่ระบบ Inverter เมื่อเริ่มเปิดเครื่อง อุณหภูมิจะค่อยๆปรับไปจนถึงระดับที่ตั้งไว้ หลังจากนั้นเครื่องจะทำงานอยู่ตลอดและปรับอัตราการไหลของน้ำยาแอร์ตามการใช้งานเพื่อควบคุมอุณหภูมิให้คงที่ตลอดเวลา แต่ถ้าเป็นระบบทั่วไป เมื่อเริ่มเปิดเครื่อง อุณหภูมิจะค่อยๆ ลดลงต่ำกว่าระดับที่ตั้งไว้ประมาณ 1-2 องศา หลังจากนั้นคอมเพรสเซอร์จะตัดการทำงาน พออุณหภูมิสูงขึ้นเกินระดับที่ตั้งไว้ก็จะเริ่มทำงานอีกครั้ง ทำให้อุณหภูมิภายในห้องจะไม่คงที่ และจะกินไฟฟ้ามากกว่าระบบ Inverter ซึ่งสำหรับแอร์ Split Type ทั่วไปที่เราพูดถึงกันมาในแต่ละแบบก็มีการทำงานระบบ Inverter ให้เลือกใช้นะ
- Infrared Sensor – เทคโนโลยีตรวจจับความร้อน เป็นเซนเซอร์จับความร้อนที่มักจะเกิดจากจำนวนคนภายในห้อง, แดดที่ส่องเข้ามา, การใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้า จากนั้นก็ประมวนผลสั่งการให้ตัวแอร์ปรับอุณหภูมิ และแรงลมให้เหมาะสมกับช่วงนั้นๆ ทำให้ตัวเครื่องปรับอากาศไม่ต้องทำงานหนักเกินจำเป็น
แถมให้อีกหน่อยละกันนะครับ อีกระบบที่เรามักจะพบกันในพื้นที่พักอาศัยลักษณะอาคารสูงคือ VRV ย่อมาจาก Variable Refrigerant Volume หรือพูดง่ายๆได้ว่า เป็น Inverter ทั้งระบบนั่นเอง ระบบ VRV เป็นระบบที่มีคอยล์เย็นหลายตัว (หลายห้อง) อาจจะอยู่ชั้นเดียวกันหรือหลายชั้นก็ได้ แต่มีส่วนคอยล์ร้อนขนาดใหญ่แค่ตัวเดียว ซึ่งคอยล์เย็นแต่ละตัวจะทำงานแยกอิสระต่อกันเลือกเปิดและปิดได้เอง โดยจะติดตัวควบคุมการจ่ายสารทำความเย็นไว้ด้วยเลย ทำให้ควบคุมอุณหภูมิได้แม่นยำ และภายในห้องพักอาศัยจะไม่มีคอยล์ร้อย มาวางที่ระเบียงห้องให้เกะกะ ใช้พื้นที่ได้คุ้มยิ่งขึ้น ส่วนใหญ่จะพบกันในระบบใหญ่ๆ พวกคอนโดราคาสูง หรือ Office Building ข้อดีคือ ประหยัดเนื้อที่ของการวางคอยล์ร้อน ประหยัดไฟมากกว่าระบบทั่วไป และควบคุมอุณหภูมิได้แม่นยำมากกว่า ข้อเสียคือมีค่าใช้จ่ายตั้งต้นที่สูงมาก
BTU คืออะไร ?
หลังจากที่เราทำความรู้จักกับชนิดของเครื่องปรับอากาศกันแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เราสามารถทำได้และต้องทำก่อนที่จะเลือกนำเครื่องปรับอากาศมาติด เพื่อลดการจะเกิดปัญหาที่ตามมาคือการใช้ขนาดของเครื่องปรับอากาศให้เหมาะกับขนาดของพื้นที่ หรือที่เราคงจะเคยกันได้ยินกันบ่อยๆ สำหรับคำว่า “BTU” มาลองทำความรู้จักกันสักนิดนะ
BTU หรือ British Thermal Unit คือ หน่วยที่ใช้วัดปริมาณความร้อนหน่วยหนึ่งในระบบของเครื่องปรับอากาศ หมายถึงปริมาณความร้อนที่ใช้ในการละลายน้ำแข็ง 1 ตัน (2,000 ปอนด์) ในเวลา 24 ชม. หรือเท่ากับ 12,000 บีทียูต่อชั่วโมงนั่นเอง อธิบายง่ายๆก็คือยิ่งค่า BTU มาก ก็จะมีความสามารถในการสร้างความเย็นได้มาก และทำความเย็นได้ในพื้นที่ขนาดใหญ่ขึ้นตาม แต่การที่มี BTU มากก็จะยิ่งทำให้แอร์ใช้ไฟมากขึ้นตามไปด้วยนั้นเองครับ ดังนั้นเราจึงควรเลือกขนาด BTU ให้เหมาะสมกับการใช้งานของพื้นที่ เพราะหากเลือกเครื่องปรับอากาศที่มี BTU มากเกินไป ก็สิ้นเปลืองไฟโดยใช่เหตุ แต่หากเลือก BTU น้อยเกินไป ก็จะทำให้อากาศเย็นไม่ทั่วถึง เครื่องทำงานหนัก อายุใช้งานสั้นลงแถมยังเปลืองไฟอีกต่างหาก
วันนี้ก็มีสูตรคำนวนง่ายๆมาแนะนำกัน ปัจจัยหลักของการคำนวน BTU คือขนาดห้องก็จริง แต่ก็อย่าลืมว่ายังมีปัจจัยรองอีกมากมาย ทั้งความสูงของห้อง (สำหรับห้องที่มีความสูงมากกว่าปกติ เช่น โถงสูง ), ตำแหน่งของห้องในทิศต่างๆ, ช่องเปิดที่จะรับแสงซึ่งเป็นความร้อนจากภายนอก และจำนวนผู้ใช้งานประจำภายในห้องนั้นๆ ซึ่งปัจจัยรองพวกนี้มีผลกับความร้อนภายในห้องไม่น้อยเลย เมื่อความร้อนภายในห้องสูงขึ้นเราก็อาจจะต้องเลือกใช้แอร์ที่มีขนาด BTU ที่สูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นเราจึงต้องทราบข้อมูลพื้นฐานของห้องนั้นๆ และวางแผนกันให้ดีครับ
เมื่อเราเลือกชนิดและขนาดเครื่องปรับอากาศให้เหมาะสมกับตัวห้องของเราแล้ว ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีเลยทีเดียว เพราะเป็นการช่วยลดปัจจัยที่จะเกิดปัญหาแอร์ไม่เย็นไปได้ส่วนหนึ่ง หลังจากนี้ก็จะเป็นปัจจัยที่มักจะเกิดขึ้นหลังจากการใช้งานไปแล้ว ซึ่งจะเป็นสาเหตุที่ทำให้แอร์ไม่เย็น ซึ่งวันนี้จะลองรวบรวมปัจจัยเหล่าในบางส่วนที่เราสามารถเช็คได้ด้วยตนเอง และอธิบายวิธีการแก้ไขเบื้องต้น จะมีอะไรบ้างลองมาดูกันครับ
- รีโมท – เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้ง่ายและใกล้ตัวที่สุด คือการที่เราปรับโหมดการทำงานของตัวเครื่องปรับอากาศผิด อาจจะเผลอไปโดนโดยไม่ได้ตั้งใจ หรือมีเด็กไปเล่น การแก้ไขก็ไม่ยากครับ แค่ไปเช็คที่โหมดของเครื่องปรับอากาศ โดยส่วนใหญ่แล้วเครื่องปรับอากาศจะมีโหมดให้เลือกเป็นโหมด Fan คือพัดลม ที่จะเป่าออกมาแต่ลมไม่มีความเย็น กับโหมด Cool ซึ่งจะมีลมที่มาพร้อมความเย็นออกมาด้วย ให้เราเลือกให้สถานะ Cool เท่านั้นก็เรียบร้อยแล้วล่ะครับ ลองเช็คดูส่วนนี้ก่อนเลยนะ
- CDU หรือ Condensing Unit – หรือที่เรารู้จักกันในนามว่า คอยล์ร้อน อย่างที่บอกไปแล้วว่าแอร์จะเย็นได้ก็ต้องเกิดจากการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพของทุกส่วน ซึ่งเจ้าคอยล์ร้อนนี้ก็เป็นส่วนประกอบสำคัญไม่แพ้ตัว Fan Coil Unit (คอยล์เย็น) เลยนะครับ ก่อนอื่นต้องอธิบายการทำงานของตัวคอยล์ร้อนกันก่อนสักนิด คอยล์ร้อนหรือ Condensing unit นั้นมีหลายรูปแบบ แล้วแต่ผู้ผลิตและลักษณะการติดตั้ง ที่เราเห็นกันบ่อยๆ จะเป็นแบบระบายความร้อนด้วยอากาศ มีหน้าที่หลักๆเลยคือช่วยระบายความร้อนที่เกิดจากการระเหยกลายเป็นไอของสารทำความเย็นออกจากน้ำยาแอร์ ซึ่งก็จะมีส่วนหลักคือพัดลมเป่าความร้อนซึ่งหากทำงานได้ไม่เต็มที่ก็มีผลกับความเย็นของแอร์ภายในห้องแน่นอน เช่น มีอะไรมาบังในระยะประชิด หรืออากาศร้อนมากๆ อีกส่วนนึงที่จะมีปัญหาได้ของคอยล์ร้อนก็คือช่องอากาศเข้าเพื่อให้พัดลมเป่าออก บางรุ่นจะอยู่ทางด้านข้าง บ้างก็ด้านหลัง ซึ่งถ้าลมเข้าไม่ได้ หรือเข้าไม่สะดวกก็จะทำให้การทำงานของระบบไม่มีประสิทธิภาพเช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีอีกกรณีคือแอร์บางยี่ห้อจะมีระบบป้องกันไฟตก ทำให้เวลาไฟจ่ายมาที่ตัวแอร์ (คอยล์เย็น) ทำงานแต่ตัวคอยล์ร้อนไม่ทำงาน ถ้าพบเหตุการนี้ให้ลองหยุดการจ่ายไฟ โดยปิดเบรกเกอร์ ของแอร์ลงแล้วค่อยเปิดกลับมาที่เดิม ถ้าแอร์กลับมาเย็นก็แปลว่าปกติดีครับ
- Filter (แผ่นกรองอากาศ) – อีกวิธีง่ายๆสำหรับการจัดการปัญหาแอร์ไม่เย็นด้วยตนเอง ก็คือการเช็ค Filter หรือแผ่นกรองอากาศที่คอยล์เย็น ปัญหาที่เกิดกับแผ่นกรองอากาศก็จะมีอยู่ปัญหาเดียว นั่นคือแผ่นกรองอากาศสกปรกนั่นเอง ซึ่งจะส่งผลให้แอร์เย็นช้า หรือไม่ค่อยเย็น ลองนึกภาพแผ่นกรองที่มีฝุ่นมาเกาะเยอะๆที่ทางออกของลมเย็นจนเป็นก้อนหรือเป็นแผง ลมเย็นก็จะออกมาได้ยากหรือถ้าแน่นจริงๆก็ออกมาไม่ได้เลย วิธีแก้ไขสิ่งนี้ก็ไม่ยากเลยครับ เพียงแค่เราถอดออกมาล้าง แล้วใส่กลับเข้าไปใหม่ ก็จะช่วยให้เราได้อากาศเย็นๆกลับมา พร้อมสุขภาพที่ีขึ้นด้วยนะ เชื่อเถอะว่าวิธีนี้ไม่ต้องรอให้แอร์มีปัญหาก่อน เราควรทำกันทุกๆ 3 เดือนเลยด้วยซ้ำ เพราะว่าจะมีฝุ่นมาเกาะแน่นอน ซึ่งมันก็ดีกับอากาศที่เราหายใจกันทุกวันนะ
นอกจากการดูแลรักษาด้วยตนเองในเบื้องต้นแล้ว การตรวจเช็คสภาพและทำความสะอาดภายในโดยช่างผู้ชำนาญก็เป็นสิ่งที่ควรทำอย่างสม่ำเสมอเช่นกัน โดยตามหลักการแล้วควรทำทุกๆ 3-6 เดือนต่อครั้ง ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม เพราะอย่าลืมว่านอกจากเครื่องปรับอากาศจะให้ความเย็นแล้ว ยังเป็นเสมือนปอดในแต่ละห้องที่ทำหน้าที่เป็นตัวหมุนเวียนอากาศให้เราใช้หายใจกัน ยิ่งมีคุณภาพดีก็ยิ่งดีกับสุขภาพเราเช่นกัน โดยหลักๆแล้วช่างจะมาตรวจดูให้ประมาณนี้ครับ
- น้ำยาและท่อแอร์ – น้ำยาแอร์เป็นสิ่งที่เรามักจะถามถึงกันบ่อยที่สุดถ้าหากพบว่าแอร์ไม่เย็น น้ำยาแอร์หมดรึเปล่านะ ? ซึ่งเอาจริงๆตามหลักการแล้ว ถ้าท่อแอร์ไม่ได้รั่วตัวน้ำยาจะไม่มีทางหมดนะ เพราะมันก็จะวิ่งวนไปมาเป็น loop อยู่ภายในระบบ ดังนั้นถ้าหากเกิดคำถามว่าน้ำยาแอร์หมดก็คือมีรอยรั่วในท่อนั่นเอง วิธีเช็คอาจจะทำด้วยตนเองยากหน่อย เพราะต้องใช้เครื่องมือ ส่วนมากช่างจะใช้อุปกรณ์เพื่อเช็คความดันในท่อแอร์ในการตรวจสอบดูว่าเกิดรอยรั่วหรือไม่ และทำการเติมน้ำยาแอร์ให้หากน้ำยาแอร์พร่อง
- ทำความสะอาดคอยล์ร้อยและคอยล์เย็น – ช่างจะถอดเอาอุปกรณ์ภายในที่เราไม่สามารถถอดเองได้ออกมาทำความสะอาดทั้งส่วนของคอยล์ร้อนและคอยล์เย็น เช่นพัดลม เพื่อกำจัดฝุ่นและสิ่งสกปรกที่อุดตันอยู่ ล้างให้สะอาดและประกอบกลับเข้าไป คล้ายๆกับ Big Cleaning ยังไงยังงั้น นอกจากนั้นยังใส่น้ำมันที่มอเตอร์พัดลมในส่วนของคอยล์ร้อนและคอยล์เย็นเพื่อให้ทำงานได้ไหลลื่นยิ่งขึ้น
- ตรวจเช็คระบบไฟฟ้าและฉนวนหุ้มท่อต่างๆ – เช่นสภาพของสายไฟต่างๆรวมถึงฉนวนหุ้มท่อน้ำยาว่ามีคุณภาพดีอยู่หรือไม่ เพราะจะเป็นส่วนที่ทำให้น้ำยาแอร์เกิดการสูญเสียความเย็นระหว่างทางก่อนเข้าคอยล์เย็น ซึ่งปลายทางก็คือแอร์จะมีลมแต่ไม่มีความเย็น
ส่วนอื่นๆเพิ่มเติมนอกจากนี้ก็ต้องดูกันที่หน้างานกันอีกที แต่ท้ายที่สุดแล้วการที่เราได้ทราบวิธีการเลือกทั้งชนิดและขนาดของเครื่องปรับอากาศให้เหมาะกับห้องที่เราอยู่อาศัย รวมถึงทราบปัญหาและวิธีแก้ไขเบื้องต้นก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์ในการรับมือกับปัญหา “แอร์ไม่เย็น” ให้กับผู้อ่านทุกท่านไม่มากก็น้อยนะครับ