ก่อนจะถึงวันสิ้นปี วันนี้เราก็ได้รวบรวม? เรื่องราวเด่นๆ ที่เป็นสีสันของวงการอสังหาฯ ประจำปี 2559 มาให้ดูกันค่ะ ?
ม.ค. 2559 – กลุ่ม “เซ็นทรัล” ชิมลางอสังหาริมทรัพย์ เปิดตัว CPN Residence รุกตลาดคอนโดใกล้ห้าง
ครองตำแหน่ง “เจ้าพ่อ” ของเครือค้าปลีกมานาน กลุ่ม “เซ็นทรัล” คงเบื่อๆ เลยคว้า “กรี-เดชชัย” มาช่วยปั้น CPN Residence บริษัทอสังหาริมทรัพย์ในเครือ สร้าง Escent Condo เน้นคอนเซ็ปต์ใกล้ห้าง ประเดิม 3 ทำเลแรก เชียงใหม่ ขอนแก่น และระยอง
ก.พ.2559 – พฤกษาฯ ปรับโครงสร้างเป็น Holding เตรียมรุกธุรกิจอื่น เพื่อหา Recurring Income
ถือเป็นว่าเจ้าของตลาดทาวน์เฮ้าส์อันดับ 1 มานาน พฤกษาฯ คงเซ็งๆ เลยตัดสินใจปรับโครงการสร้างเป็น Pruksa Holding Company พร้อมเตรียมแตกไลน์ไปจับธุรกิจด้านอื่น เพื่อหา Recurring Income แว่วมาว่า เป็นโรงพยาบาลแถวสะพานควาย อุ๊บส์! (แหล่งข่าวยังไม่ยืนยันน้า) ส่วนธุรกิจอสังหาฯ ยังทำเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือ คอนโดพรีเมี่ยมจ้า ทำเลที่น่าจะออก คือ ทองหล่อ, สุขุมวิท 38, และพญาไท
มี.ค. 2559 – คลอด “บ้านประชารัฐ”
หลังจากสิ้นปีที่แล้ว กระตุ้นภาคอสังหาด้วยมาตรการทางการเงินและภาษี ทางรัฐบาลก็ไม่รอช้า ช่วยเอกชนระบายสต็อค เอ้ยไม่ใช่! ช่วยให้คนรายได้น้อยที่อยากมีบ้านราคาไม่เกิน 1.5 ลบ. ตัดสินใจง่ายขึ้น โดยการออกเงื่อนไขเงินกู้ราคาพิเศษผ่านธนาคารออมสินและ ธอส. วงเงินประมาณ 40,000 ลบ. พร้อมกับโปรโมชั่นจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการอีกเพียบ
ในช่วงแรกโครงการได้รับความสนใจเยอะมาก มีผู้ยื่นความจำนงที่จะกู้เกือบเต็มวงเงิน แต่หลังจากตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้น ก็พบว่าลูกค้ากลุ่มนี้มีปัญหาหนี้บัตรเครดิต และหนี้รถคันแรก ทำให้ไม่สามารถกู้ได้ ทางธนาคารเลยต้องแก้เกมส์ด้วยการออกสินเชื่อในรูปแบบอื่นๆ เพื่อระบายเงินก้อนนี้
เมษ. 2559 – สิ้นสุด “มาตรการกระตุ้นอสังหา ลดค่าโอน-จำนอง”
ต่อเนื่องมาจากปลายปีที่แล้ว สำหรับมาตราการกระตุ้นภาคอสังหาฯ ลดค่าโอน-จดจำนอง ที่สิ้นสุดณ วันที่ 28 เมย. 2559 ซึ่งจากข้อมูลของ REIC ระบุว่า มาตรการของรัฐบาลครั้งนี้ ช่วยกระตุ้นให้ยอดขายบ้านเพิ่มขึ้น 30% หรือกว่า 50,000 ล้านบาท โดยเฉพาะบ้านในกรุงเทพฯและปริมณฑล แต่ตลาดบ้านต่างจังหวัดกลับชะลอตัว จำนวนยอดขายกลับไม่เพิ่มขึ้นเท่าที่ควรตามที่คาดการณ์กันไว้ก่อนหน้านี้ และแน่นอนว่าหลังจากมาตรการนี้จบลง ตลาดก็กลับไปทรงตัวเหมือนเดิม
ตอนแรกมีกระแสจากวงในว่ารัฐบาลอาจต่อมาตรการนี้ เหมือนที่เคยทำมาแล้วในอดีต ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งที่เพิ่มจาก 1 ปี เป็น 3 ปี (พ.ศ. 2543-2546) แต่ทางรัฐบาลก็ออกมาปฏิเสธว่า จบก็คือจบ ช่วยได้แค่นี้ ที่เหลือผู้ประกอบการต้องช่วยตัวเอง (ประโยครัฐบาลไม่ได้พูด แต่เราพูดเอง) #อ่อนแอก็แพ้ไป
พ.ค. 2559 – Golden Land เปิดตัว “สามย่าน มิตรทาวน์”
ที่ดินแปลงหัวมุมสามย่าน ที่เราเห็นล้อมรั้วมานานมากก ก็ได้ข้อสรุปแล้วว่าทาง Golden Land ได้ขอเช่าจากจุฬาเป็นระยะเวลา 30 ปี โดยได้ร่วมทุนกับ TCC Asset จัดตั้ง “บริษัท เกษมทรัพย์ภักดี จำกัด” มีทุนจดทะเบียน 3,000 ลบ. ซึ่ง Golden Land ถือหุ้นในสัดส่วน 49% และ TCC Asset ถือหุ้นในสัดส่วน 51% และเตรียมพัฒนาที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นโครงการ Mixed-Use ที่มีชื่อว่า “สามย่าน มิตรทาวน์” จัดเต็มทั้งโรงแรม, คอนโด, สำนักงาน และห้างสรรพสินค้า รวมมูลค่าโครงการ 8,500 ลบ.
มิ.ย. 2559 – เปิดร่าง ภาษีที่ดิน (ที่ยังไม่ได้ใช้)
หลังจากที่ผลักดันกันมาเกือบ 20 ปี เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2559 ครม. ได้มีมติเห็นชอบ ร่างพรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ ซึ่งจะนำมาบังคับใช้แทนพรบ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 และพรบ.ภาษีบำรุงท้องที่พ.ศ. 2508 ตามที่คลังเสนอไว้ โดยมีอัตราเพดานภาษีสูงสุด คิดจากราคาประเมิน แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ ที่ดินเพื่อการเกษตร เพดานภาษีสูงสุด 0.2% ของราคาประเมิน สำหรับบ้านและที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย รวมสิ่งปลูกสร้าง เพดานภาษีสูงสุดอยู่ที่ 0.5 % ส่วนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อการพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม เพดานภาษีสูงสุดอยู่ที่ 2% และที่ดินรกร้างเพดานภาษีสูงสุดที่ 5% เบื้องต้นคาดว่าน่าจะบังคับใช้ได้ไม่เกิน ม.ค. 2560
แต่…เมื่อช่วงเดือนพ.ย. ที่ผ่านมา ทางคลังก็ได้ออกมาเปิดเผยว่า น่าจะต้องเลื่อนการบังคับใช้ร่างพรบ.ภาษีที่ดินไปก่อนอีก 1 ปี เพราะยังตีความไม่ตรงกันในบางประเด็น อาทิ การเรียกเก็บภาษีที่ดินเปล่า ควรแยกหรือรวมกับภาษีที่ดินชนิดอื่น
ส.ค.2559 – Pace เปิดตัว “มหานคร” ตึกที่สูงที่สุดในประเทศไทย
หลังจากฟูมฟักมาเกือบ 8 ปี Pace Development ก็ได้จัดงานเปิดตัว “มหานคร” อย่างอลังการ โชว์ทั้งแสงสีเสียง เสียดายที่วันจริงฝนตก เลยต้องเลื่อนเวลาโชว์ไปอีกเกือบชั่วโมง แต่สุดท้ายก็ได้ภาพสวยสมใจ งานนี้คุณยิ่ง-สรพจน์ เตชะไกรศรี ยิ้มแก้มปริ
ปัจจุบัน “มหานคร” ยังเหลืองานตกแต่งบางส่วน คาดว่าจะเริ่มเปิดใช้ได้ทั้งตึกก็ประมาณกลางปี 2560 ไม่รู้ว่าเวลานั้นจะโดน Magnolia Waterfront Residences จาก Iconsiam ที่สูงห่างกันเพียง 1 เมตร ล้มแชมป์รึยัง ?
- รถไฟฟ้าสายสีม่วง ไม่เปรี้ยงเท่าที่คิด รอยต่อที่หายไปยังไม่ได้ข้อสรุป
สิ่งที่รอนานพอกับการก่อสร้างตึกที่สูงที่สุดในประเทศไทย ก็คงหนีไม่พ้น รถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-บางใหญ่ ที่ถูกบรรจุอยู่ในแผนคมนาคมตั้งแต่ปี 2547 และสามารถฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ จนกระทั่งเปิดใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 6 ส.ค. 2559 (นานมากๆ) แต่…ก็เกิดปัญหารอยต่อขึ้นจนได้ เพราะสถานีเตาปูนของสายสีม่วงดันไม่เชื่อมกับรถไฟใต้ดินสถานีบางซื่อ!!! ทำให้ผู้ใช้บริการต้องหารถต่อเข้ามาเอง ซึ่งแม้ว่ารฟม. จะช่วยแก้ปัญหาด้วยการจัดรถเมล์และรถไฟฟรีให้ แต่ความที่บริเวณนั้นรถติดมาก หลายๆ คนพอรู้สึกว่าสายสีม่วงไม่ตอบโจทย์ ก็เลยขอโบกมือลากลับไปนั่งรถตู้เหมือนเดิม
ก.ย. 2559 – ปิดตำนาน “รร.ปาร์ค นายเลิศ” หลังขายให้ “หมอปราเสริฐ” เตรียมพัฒนาเป็นศูนย์สุขภาพครบวงจร
หนึ่งในข่าวช็อควงการอสังหาริมทรัพย์ของปีนี้ คงเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจาก การเปลี่ยนมือของ รร.ปาร์คนายเลิศ จาก “สมบัติศิริ” ตระกูลเก่าแก่ ไปเป็นของเครือรพ.กรุงเทพฯ ที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่นามว่า “ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ” ซึ่งซื้อไปด้วยวงเงิน 10,800 ลบ. โดยเตรียมที่จะพัฒนาเป็น BDMS Wellness Clinic ศูนย์สุขภาพครบวงจร
ต.ค. 2559 – เปิดประมูลสถานทูตอังกฤษ 25 ไร่
หลังจากที่หั่นที่ดิน 13 ไร่ให้ “จิราธิวัฒน์” สร้าง Central Embassy ล่าสุดสถานทูตอังกฤษก็ได้เปิดประมูลที่ดินผืนงาม 25 ไร่ ในย่านนั้นโดยให้ CBRE เป็นที่ปรึกษา โดยมีบรรดารายใหญ่ลงชื่อเข้าชิงกันเพียบ ทั้งกลุ่มเซ็นทรัล, กลุ่ม TCC, และแสนสิริ ซึ่งรายล่าสุดได้ออกมาพูดแล้วว่าคงไม่มีหวังในที่ดินแปลงดังกล่าว เนื่องจากไม่สามารถสู้ราคาได้ แต่ใครจะมาวินก็คงต้องรอดูกันต่อไป
พ.ย. 2559 – ปิดสะพานข้ามแยกรัชโยธิน
การประกาศปิดสะพานข้ามแยกรัชโยธิน เปรียบเสมือนฝันร้ายของคนย่านรัชดา-ลาดพร้าวและละแวกใกล้เคียง เพราะจะต้องรับมือกับสภาพการจราจรแบบนี้ไปอีกอย่างน้อยๆ 3 ปี ถ้าอ้างอิงจากแผนเดิมที่รฟม. เคยบอกไว้ ซึ่งก็คือปี 2562
การปิดสะพานข้ามแยกรัชโยธินเพื่อรื้อถอน เป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ (ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) โดยทางรฟม. จะสร้างเป็นอุโมงค์ทดแทนให้ และเพิ่มสะพานรถยนต์ข้ามแยกตามถ.พหลโยธิน ใครนึกภาพไม่ออกดูคลิปได้เลย
ธ.ค. 2559 – กลุ่ม BTS เตรียมคว้าสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเหลือง-ชมพู
ต่อสู้กันมาระยะหนึ่งระหว่างกลุ่ม BTS กับ BEM ที่เข้าประมูลรถไฟฟ้าสายสีเหลือง-ชมพู ทั้งคู่ ถือเป็นการฟาดฟันที่ไม่ค่อยสมน้ำสมเนื้อเท่าไหร่ เพราะกลุ่ม BTS นำทีมโดย “คีรี กาญจนภาสน์” สามารถชวนทั้ง Sino-Thai และ บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรี (Ratch) ให้เข้ามาร่วมทุนกลายเป็น BSR พร้อมทั้งทีมก่อสร้าง ระบบไฟฟ้า และเดินรถขนาดนี้ ทาง BEM ก็เลยแพ้ไปตามระเบียบ แต่ “ปลิว ตรีเวศวิทย์” ก็ไม่ได้หวั่นไหว ยังคงรอข่าวดีจากสายสีส้มที่คิดว่ามาแน่ๆ