..ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเทรนของ “รถยนต์ไฟฟ้า (EV)” ในเมืองไทยกำลังมาแรงทีเดียว หลังจากสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ที่รุนแรงในไทย ทำให้หลายคนหันมาสนใจพลังงานไฟฟ้ากันมากขึ้น ที่ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย แล้วยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันราคารถยนต์หยิบจับกันได้ง่ายมากขึ้น มีงบล้านต้นๆก็สามารถซื้อมาใช้งานได้แล้ว..

สำหรับใครที่กำลังเล็งจะซื้อรถยนต์ไฟฟ้า EV กันอยู่ เราต้องเตรียมระบบไฟในบ้านให้รองรับการชาร์จไฟฟ้าได้ด้วย ซึ่งหากใครกำลังงงๆกับข้อมูลที่อ่านมา วันนี้เราได้รวบรวมเนื้อหาเป็นภาษาที่เข้าใจง่ายๆ รวมถึงความคุ้มค่าในการลงทุน คุ้มหรือไม่? ไปดูกันค่ะ

ทำความรู้จักรถยนต์ไฟฟ้า Electric Vehicle (EV)

ขอบคุณข้อมูลจาก MG Thailand (www.mgcars.com)

รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle) หรือเราเรียกกันสั้นๆว่า “รถ EV” พูดง่ายๆก็คือรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าแทนการใช้งานของเครื่องยนต์ ที่ทำให้กลไกการทำงานลดลง ไม่ต้องหมั่นดูแลเครื่องยนต์ และไม่มีไอเสีย ควันดำ จากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง โดยรถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบันมีทั้งหมด 4 ประเภท แต่แบบที่ต้องเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จแบตเตอรี่ได้นั้น มีด้วยกัน 2 ชนิดนั้นก็คือ

  • Plug-in Hybrid Electric Vehicle (PHEV)
  • Battery Electric Vehicle (BEV)

  • รถยนต์ไฟฟ้าปลั๊ก-อิน ไฮบริด หรือเรียกสั้นๆว่า PHEV รถยนต์ประเภทนี้มีทั้งระบบน้ำมันเชื้อเพลิง และไฟฟ้าแบบเดียวกับรถ Hybrid แต่พิเศษกว่าคือสามารถเสียบปลั๊กชาร์จไฟจากภายนอกได้ ทำให้สามารถใช้พลังงานไฟฟ้ามากกว่าระบบไฮบริดแบบเดิม สำหรับขนาดแบตเตอรี่ 6-14 กิโลวัตต์ (kW) ระยะทางวิ่งด้วยระบบ EV Mode ประมาณ 25-50 กม./การชาร์จ 1 ครั้ง
  • รถยนต์ไฟฟ้า หรือเรียกสั้นๆว่า BEV รถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าขับเคลื่อน 100% ที่ไม่มีเครื่องยนต์ภายในรถ มีแต่แบตเตอรี่ลูกใหญ่ที่เข้ามาทดแทน ข้อดีคือช่วยลดสารมลพิษจากการเผาไหม้ได้ดี หรือที่เขาเรียกกันว่า Zero Emission แต่ก็มีข้อจำกัดอยู่ไม่น้อยทั้งสถานีชาร์จไฟรถยนต์ และระยะทางในการขับขี่ สำหรับขนาดแบตเตอรี่ 60-90 กิโลวัตต์ (kW) ระยะทางวิ่งประมาณ 300-600 กม./การชาร์จ 1 ครั้ง

สิ่งที่ต้องรู้ก่อนติดตั้งระบบชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าภายในบ้าน

ขอบคุณข้อมูลจากการไฟฟ้านครหลวง (www.mea.or.th)

สำหรับใครที่เล็งว่ากำลังจะซื้อรถไฟฟ้า เราต้องทำความเข้าใจระบบไฟฟ้าในบ้านของตัวเองก่อนนะคะ มิเช่นนั้นระบบไฟฟ้าภายในบ้านอาจจะมีปัญหาได้ ซึ่งวันนี้เรามี 5 ขั้นตอนการติดตั้งระบบชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ามาฝากกันค่ะ

  • ขนาดมิเตอร์ไฟฟ้า : สำรวจมิเตอร์ไฟฟ้าของตัวเอง โดยปกติขนาดมิเตอร์ของบ้านพักอาศัยทั่วไปจะใช้เป็น 15(45) 1 เฟส(1P) หมายถึงมิเตอร์ขนาด 15 แอมป์(A) และสามารถใช้ไฟได้มากถึง 45(A) สำหรับคนที่ต้องการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในบ้าน ทางการไฟฟ้าแนะนำให้เปลี่ยนขนาดมิเตอร์เป็น 30(100) ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ป้องกันการใช้ไฟฟ้าที่มากเกินไป **สำหรับคนที่คิดว่าต้องเปลี่ยนระบบไฟเป็น 3 เฟสรึเปล่า? คำตอบคือ “ไม่จำเป็น” เนื่องจากถ้าบ้านไม่มีการใช้งานไฟฟ้ามากเกินไป การใช้ไฟ 1 เฟสก็เพียงพอแล้วนะคะ
  • เปลี่ยนสายเมน และลูกเซอร์กิต (MCB) : สำหรับสาย Main ของเดิมใช้ขนาด 16 ตร.มม. ต้องปรับให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเป็น 25 ตร.มม. และเปลี่ยนลูกเซอร์กิต(MCB) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ป้องกันร่วมกับตู้ MDB ที่แต่เดิมรองรับได้สูงสุด 45(A) เปลี่ยนเป็น 100(A) หรือพูดให้เข้าใจง่ายก็คือ ขนาดมิเตอร์ ขนาดสายเมน และขนาดลูกเซอร์กิต (MCB) ต้องสอดคล้องกัน
  • ตู้ควบคุมไฟฟ้า (MDB) : ตรวจสอบภายในตู้ว่ามีช่องว่างสำรองเหลือให้ติดตั้ง Circuit Breaker อีก 1 ช่องรึเปล่า? เพราะการชาร์จไฟของรถยนต์ไฟฟ้าจะต้องมีส่วนตัว แยกใช้งานกับเครื่องไฟฟ้าอื่นๆ หรือถ้าหากภายในตู้หลักไม่มีช่องว่าง ยังไงเราก็ต้องเพิ่มตู้ควบคุมย่อยอีก 1 จุดนะคะ
  • เครื่องตัดไฟรั่ว (RCD) : เป็นเครื่องตัดไฟฟ้าอัตโนมัติที่จะตัดวงจรไฟฟ้า เมื่อกระแสไฟฟ้าไหลผ่านเข้าออกมีค่าไม่เท่ากัน ซึ่งอาจจะส่งผลให้ไฟฟ้าลัดวงจร และเกิดเพลิงไหม้ได้ในอนาคต กรณีที่สายชาร์จไฟฟ้ามีระบบตัดไฟภายในตัวอยู่แล้ว เราก็ไม่ต้องติดตั้งเพิ่ม
  • เต้ารับ (EV Socket) : สำหรับการเสียบชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นชนิด 3 รู (มีสายต่อหลักดิน) ต้องทนกระแสไฟฟ้าได้ต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 16(A) *แต่รูปทรงอาจจะปรับตามรูปแบบปลั๊กของรถยนต์แต่ละรุ่น

การชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ามีกี่แบบ? ใช้เวลานานเท่าไหร?

สำหรับการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าหลักๆมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 3 แบบ ได้แก่

  • การชาร์จแบบธรรมดา (Normal Charge) : เป็นการชาร์จไฟฟ้าจากตัวเต้ารับโดยตรง โดยขนาดมิเตอร์ขั้นต่ำที่แนะนำคือ 30(100)A และเต้ารับต้องติดตั้งใหม่เฉพาะการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น โดยเป็นการใช้ไฟบ้านที่เป็นกระแสสลับ (AC) ที่ใช้ระยะเวลาในการชาร์จประมาณ 12-16 ชม.
  • การชาร์จแบบรวดเร็ว (Double Speed Charge) : เป็นการชาร์จจากเครื่องชาร์จ EV Charger เป็นตู้ชาร์จไฟฟ้ากระแสสลับ (AC Charging) ที่ช่วยให้ชาร์จพลังงานไฟฟ้าในแบตเตอรี่รถให้เต็มเร็วยิ่งขึ้น โดยเหลือเวลาชาร์จประมาณ 6-8 ชม.
  • การชาร์จแบบด่วน (Quick Charge) : เป็นการชาร์จไฟฟ้ากระแสตรง (DC Charging) ตรงเข้าแบตเตอรี่โดยตรง ซึ่งสามารถชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์พลังงานไฟฟ้า จาก 0-80% ได้ภายในเวลา 40-60 นาที นิยมใช้ตามสถานีบริการนอกบ้าน ที่ต้องการความรวดเร็วในการชาร์จ แต่ก็มีข้อเสียคือทำให้ตัวแบตเตอรี่เสื่อมสภาพเร็วขึ้น ได้แก่ CHAdeMo, GB/T และ CCS เป็นต้น

หัวชาร์จสำหรับรถแต่ละรุ่นแบบด่วน (Quick Charge)

ขอบคุณข้อมูลจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (www.pea.co.th)

  • DC CHAdeMo ย่อมาจากคำว่า CHArge de Move แปลได้ว่า ชาร์จไฟแบบเร็วสำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ซึ่งระบบ CHAdeMO มีการใช้แพร่หลายในประเทศญี่ปุ่น จ่ายกระแสไฟฟ้าขนาด 50 kW
  • DC CCS2 ย่อมาจาก Combined Charging System เป็นหัวชาร์จที่นิยมใช้ในแถบทวีปยุโรป จ่ายกระแสไฟฟ้าขนาด 50 kW

เทคนิคการเลือกเครื่องชาร์จรถไฟฟ้า EV Charger

ขอบคุณข้อมูลจาก MG Thailand (www.mgcars.com)

ความเร็วในการชาร์จไฟรถยนต์นั้น ขึ้นอยู่กับความสามารถในการรับไฟ (On Board Charger) ของรถยนต์แต่ละรุ่น หรือก็คือตัวควบคุมการดึงพลังงานไฟฟ้าจากตัวรถ สั่งการไปยังเครื่อง EV Charger โดยทั่วไปขนาดมีตั้งแต่ 3.6kW ถึง 22kW ซึ่งทำให้ตัวเครื่องชาร์จออกแบบมาให้มีทั้งหมด 4 ขนาด คือ 3.7 kW, 7.4 kW, 11 kW, 22 kW (มาตรฐาน) ราคาเครื่องชาร์จหลากหลายมีตั้งแต่ 15,000-100,000 กว่าบาท(แล้วแต่ยี่ห้อ)

ยกตัวอย่าง : สมมุติว่ารถยนต์ไฟฟ้ามีแบตเตอรี่รับไฟสูงสุด 6.6 kW/h โดยมีขนาดแบตเตอรี่เต็ม 40 kW เราต้องใช้เวลาชาร์จจนเต็มประมาณ 6 ชั่วโมง (หรือเอา 40 หาร 6.6 ได้เลย) โดยเราสามารถเลือกเครื่องชาร์จไฟขนาดไหนมาใช้ก็ได้ แต่ความเร็วในการชาร์จแบตเตอรี่ให้เต็มจะไม่เท่ากัน

สำหรับใครที่เลือกเครื่องชาร์จ EV Charger ขนาด 3.7 kW ต้องใช้เวลาชาร์จนานขึ้นเป็น 11 ชั่วโมง ในทางกลับกันหากเลือกเครื่องชาร์จขนาด 11 kW หรือ 22 kW เครื่องชาร์จก็จะลดขนาดไฟลงมาอัตโนมัติให้เหลือเพียงขนาดที่รถสามารถรับไฟได้คือ 6.6kW หมายความว่าแม้เราจะซื้อเครื่องขนาดใหญ่ แต่ถ้า On Board Charger ของตัวรถยนต์ไม่สามารถรับได้ ก็ไม่มีประโยชน์แต่อย่างใด เพราะตัวรถรับได้แค่นี้ ดังนั้น เครื่องชาร์จที่เหมาะสมคือ 7.4 kW นั่นเอง

การเลือกจุดติดตั้งเครื่องชาร์จ บริเวณพื้นที่จอดรถ

  • ระยะทางไม่เกิน 5 เมตร : จากตัวเครื่องชาร์จจนถึงจุดที่เสียบชาร์จกับตัวรถ ไม่ควรวางห่างกันเกิน 5 เมตร เนื่องจากสายเครื่องชาร์จ EV Charger โดยทั่วไปอยู่ที่ 5-7 เมตรเท่านั้น
  • วางใกล้ตู้ MDB : เลือกทำเลใกล้ตู้เมนไฟฟ้าในบ้าน ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินสายไฟที่มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น
  • หลังคาปกคลุม : เลือกจุดที่อยู่ด้านในใต้หลังคา เพื่อป้องกันละอองฝน และเป็นการรักษาให้ใช้งานได้ยาวนานมากขึ้น

คำนวณค่าไฟในการชาร์จรถไฟเต็ม 1 รอบการใช้งาน

ยกตัวอย่าง : รถยนต์ไฟฟ้าชาร์จสูงสุดที่ 7.4 kW แบตเตอรี่จุได้ 60 kW หรือระยะทางขับขี่ประมาณ 350 กิโลเมตร พูดให้เข้าใจง่ายๆก็คือเวลา 1 ชม. เก็บพลังงานไฟฟ้าได้ 7.4 kW โดยถ้าต้องจุให้เต็ม 60 kW ต้องใช้เวลาถึง 7-8 ชั่วโมง

  • สมมุติว่าไฟฟ้า 1 หน่วย = 1 kW สมมุติที่ 4 บาท/หน่วย
    – ชาร์จไฟ 1 ชม คิดค่าไฟฟ้า = 7.4 x 4 x 1 = 29.6 บาท
    – ชาร์จไฟ 2 ชม คิดค่าไฟฟ้า = 7.4 x 4 x 2 = 59.2 บาท
    – ชาร์จไฟ 8 ชม คิดค่าไฟฟ้า = 7.4 x 4 x 8 = 236.8 บาท
  • สรุป ถ้าเราชาร์จแบตเตอรี่เต็มใช้เงินประมาณ 236.8 บาท ขับรถยนต์ได้ 350 กิโลเมตร หรือตก 1.4 บาท/กิโลเมตร เมื่อเทียบกับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง อยู่ที่ประมาณ 3-5 บาท/กิโลเมตร เรียกได้ว่าประหยัดค่าใช้จ่ายได้หลายเท่าตัวเลย

ดังนั้น ก่อนที่เราจะซื้อรถยนต์ต้องศึกษารายละเอียดของตัวรถยนต์ด้วย ว่าแบตเตอรี่ของรถยนต์ขนาดเท่าไร?  On Board รับพลังงานไฟฟ้าได้สูงสุดเท่าไหร่? ซึ่งมีผลกับความเร็วในการชาร์จ และค่าไฟบ้าน โดยค่าไฟฟ้าแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน แนะนำให้ติดต่อการไฟฟ้าของพื้นที่ตัวเองนะคะ ส่วนถ้าใครอยากได้ Tips ดีๆในการประหยัดค่าไฟบ้าน เรามีบทความทำอย่างไรให้บ้านเย็นและประหยัดไฟ มาแนะนำค่ะ

สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ามีที่ไหนบ้าง?

สำหรับใครที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามาแล้ว ต้องการชาร์จไฟนอกบ้าน เวลาขับรถระยะไกล หรือเกิดเหตุฉุกเฉิน สามารถเข้าใช้บริการที่ไหนได้บ้าง? ปัจจุบันการไฟฟ้านครหลวงทำ App มือถือ ที่ชื่อว่า MEA EV ที่บอกตำแหน่งสถานีชาร์จรถไฟฟ้าทั่วประเทศไทย มีที่ไหนบ้าง?

ขอบคุณข้อมูลจากการไฟฟ้านครหลวง (www.mea.or.th)

  • ปั๊มน้ำมันปตท. และบางจาก : ปัจจุบันมีสถานีให้บริการเฉพาะกรุงเทพและปริมณฑล แต่ในอนาคตมีแผนที่จะเปิดสถานีชาร์จเพิ่มให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
  • ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล : มีการติดตั้งที่เซ็นทรัลชิดลม และห้างเอ็มบาสซี ซึ่งมีจุดให้บริการมากถึง 24 จุด และกำลังมีแผนขยายไปติดตั้งที่ห้างเซ็นทรัลสาขาอื่นๆ

ขอบคุณข้อมูลจากการไฟฟ้านครหลวง (www.mea.or.th)

การไฟฟ้านครหลวง (MEA) : ปัจจุบันมีสถานีชาร์จไฟฟ้าทั้งหมด 10 สาขา กระจายอยู่ตามเขตต่างๆ บางใหญ่, บางเขน, วัดเลียบ, สามเสน, บางเขน, ราษฏร์บูรณะ, เพลินจิต, บางพูด, ลาดกระบัง และสมุทรปราการ โดยมีทั้งเครื่องชาร์จขนาด 7.2 kW และ 22 kW

ขอบคุณข้อมูลจากการไฟฟ้าฝ่ายการผลิต (www.egat.co.th)

การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (EGAT) : มีสถานีชาร์จไฟฟ้าทั้งหมด 23 จุด ภายใน 8 จังหวัด นนทบุรี, ฉะเชิงเทรา, นครราชสีมา, อยุธยา, ขอนแก่น, อุบลราชธานี, สงขลา และลำปาง ภายใต้การดูแลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต พร้อมเพิ่มเติมจุดชาร์จสำหรับรถบัส, รถเมล์ไฟฟ้า

ขอบคุณข้อมูลจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (www.pea.co.th)

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) : มีสถานีชาร์จไฟฟ้ามากที่สุด กระจายทั่วประเทศไทย ทั้งหมด 263 สถานี ครอบคุลมพื้นที่ 75 จังหวัด

ข้อดี/ข้อเสียของรถยนต์ไฟฟ้า EV

ข้อดี

  • รถยนต์มาพร้อมความเงียบและอัตราเร่งที่ได้ดั่งใจ
    – ตัวรถยนต์ไม่ได้ใช้เครื่องยนต์ในการขับเคลื่อน ภายในจึงไม่ก่อให้เกิดการเผาไหม้ ซึ่งทำให้เสียงการทำงานของรถยนต์ไฟฟ้านั้นเงียบกว่ารถยนต์ทั่วไป และอัตราเร่งได้เร็วกว่ารถยนต์ทั่วไป เนื่องจากไม่มีขั้นตอนการทดเกียร์
  • รถยนต์ประหยัดค่าใช้จ่ายและค่าซ่อมบำรุง
    – ด้วยความที่ไม่มีเครื่องยนต์นี้แหละ ทำให้ไม่ต้องใช้น้ำมันในการขับเคลื่อน ซึ่งราคาน้ำมันมีความผันผวนพอสมควร ส่วนค่าบำรุงรักษาก็ถูกกว่า เพราะมีอุปกรณ์น้อยชิ้นมากกว่า
  • รถยนต์ไม่ต้องเสียเวลาไปปั๊มน้ำมัน
    – เหมาะสำหรับคนที่อยู่บ้านบ่อยๆ เพราะเราสามารถชาร์จไฟได้ตลอดเวลาที่เราต้องการ ไม่จำเป็นต้องขับหาปั๊มน้ำมันด้านนอก
  • รถยนต์ไฟฟ้า EV เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
    – เนื่องจากไม่มีเครื่องยนต์ในการเผาไหม้ ทำให้ไม่ต้องปล่อยเสียหรือ CO2 ออกมาจากตัวรถ ซึ่งเป็นสาเหตุของ Global Warming ในปัจจุบัน

ข้อเสีย

  • รถยนต์มีต้นทุนตั้งต้นที่สูง
    – แม้ว่าจะมีอัตราค่าใช้จ่ายเรื่องการเชื้อเพลิงต่ำ แต่กระบวนการผลิตต้องใช้เทคโนโลยีที่มีราคาสูง ทำให้ตัวรถมีราคาสูงตามไปด้วย รวมถึงยังไม่ไปที่นิยมมากนักในปัจจุบัน
  • ระยะทางจำกัด
    – รถไฟฟ้า EV จำเป็นต้องพึ่งพาพลังงานจากแบตเตอรี่เป็นหลัก ซึ่งมีข้อจำกัดในการใช้งานของการใส่ประจุไฟฟ้า ทำให้ระยะทางในการขับขี่น้อยกว่ารถยนต์ทั่วไป
  • สถานีให้บริการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ามีน้อย
    – สำหรับสถานีให้บริการส่วนใหญ่จะมีเยอะในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล แต่ถ้าใครออกไปต่างจังหวัด อาจจะมีตามหัวเมืองใหญ่ที่มีให้ใช้งานเพียงไม่กี่จุด
  • ระยะเวลาในการชาร์จไฟนาน
    – ถึงแม้ว่าจะมีการพัฒนาเรื่องของแบตเตอรี่แล้ว แต่การชาร์จประจุก็ยังกินเวลาเป็นชั่วโมงอยู่ดี ไม่เหมือนการเติมน้ำมันใช้เวลาไม่ถึง 10 นาทีก็เสร็จ

สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า EV ถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับพวกเรามากๆ โดยยังมีข้อเสีย และข้อจำกัดในการใช้งานอยู่พอสมควร แต่ส่วนตัวเชื่อว่าด้วยเทคโนโลยีที่กำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ในอนาคตข้อจำกัดต่างๆ น่าจะถูกแก้ไขให้ดีมากยิ่งขึ้น และคนเข้าถึงได้ง่ายมากกว่าปัจจุบัน เป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมไปในตัวนะคะ

จุดติดตั้ง EV Charger ภายในโครงการบ้านจัดสรร

สำหรับใครที่ไม่อยากวุ่นวายเดินงานระบบไฟฟ้าใหม่ภายในบ้าน ปัจจุบันหลายๆโครงการเริ่มมีการเพิ่มปลั๊ก สำหรับรองรับการติดตั้งเครื่องชาร์จ EV Charger โดยเราสามารถซื้อเครื่องจากตัวแทนจำหน่าย Dealer เข้ามาติดตั้งได้เลย ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินสายใหม่ ช่วยประหยัดทั้งเงินและเวลา ยกตัวอย่างเช่น

ความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน

ส่วนตัวมองว่าการเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้า EV ถือว่าเป็นการลงทุนที่ต้องใช้เงินตั้งต้นสูงกว่ารถยนต์ทั่วไป ทั้งราคารถยนต์ที่สูงกว่า, งานระบบไฟฟ้า(ใหม่), เพิ่มเครื่องชาร์จ EV Charger ภายในบ้าน แต่ถ้ามองกันในระยะยาวก็ถือว่าคุ้มค่ามากกว่า ทั้งเรื่องค่าซ่อมบำรุง ค่าเชื้อเพลิง เป็นต้น ทำให้เราสามารถกำหนดค่าใช้จ่ายได้แม่นยำมากขึ้น ส่วนเรื่องการใช้งานก็ยังเสียเปรียบเรื่องการชาร์จที่ต้องรอนาน และมีข้อจำกัดในการขับขี่ที่สั้นมากกว่า

บทความนี้ผู้เขียนหวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้อ่านที่กำลังคิดว่าอยากเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า แต่ยังไม่แน่ใจว่าต้องรู้อะไรบ้าง? หวังว่าจะได้ประโยชน์ไม่มากก็น้อย ส่วนใครที่อยากแชร์ประสบการณ์พูดคุยก็สามารถพิมพ์คอมเม้นต์ใต้บทความนี้ได้เลย ทั้งเสนอแนะ แนะนำ ติชม ผู้เขียนยินดีที่จะเรียนรู้ไปพร้อมๆกันค่ะ ขอบคุณผู้อ่านที่น่ารักทุกท่านเลยนะคะ ^^


ThinkofLiving มี LINE Official Account แล้วนะคะ
ไม่อยากพลาดข้อมูลข่าวสารก็ Add เลย > https://lin.ee/svACOxc