ช่วงนี้ประเทศไทยก็ได้เข้าสู่หน้าร้อนอย่างเต็มตัวแล้วนะคะ ใครที่อยู่บ้าน Work From Home กันก็คงจะรู้สึกว่าร้อนมากๆ อาจจะไม่มีกะจิตกะใจทำงานกันเลยทีเดียว รวมกับบิลค่าไฟที่พุ่งสูงขึ้นอย่างน่าตกใจของเดือนที่ผ่านมา ทำให้คนออกมาพูดถึงเรื่องค่าไฟกันเยอะใน Social ใน วันนี้เราจึงพาทุกคนมาดูสาเหตุของค่าไฟที่พุ่งสูงขึ้น และวิธีปรับลดค่าไฟฟ้า รวมถึงมาตรการจากภาครัฐฯ ในการลดค่าไฟที่พึ่งประกาศไปนี้เอง ใครเข้าข่ายได้ส่วนลดเท่าไรกันบ้างเดี๋ยวเราไปดูกันค่ะ นอกจากนั้นเรายังมีวิธีที่ทำให้บ้านเย็นขึ้นได้โดยไม่ต้องใช้ไฟเยอะมาแบ่งปันกันค่ะ

ทำไมค่าไฟถึงแพงขึ้น ?

อัตราค่าไฟฟ้าปัจจุบัน ปี 2563 ยังไม่รวม VAT และหักส่วนลด FT

ค่าไฟของแต่ละบ้านที่แพงขึ้นในเดือนที่ผ่านมานั้นมาจากหลายปัจจัยค่ะ เนื่องจากเดือนมีนาคมเป็นเดือนที่เริ่มเข้าสู่หน้าร้อนทำให้มีอากาศแตกต่างจากเดือนกุมภาพันธ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆที่เราใช้ก็จะทำงานหนักมากขึ้นทำให้หน่วยค่าไฟเพิ่มขึ้น รวมกับอัตราค่าไฟฟ้าที่การไฟฟ้าเรียกเก็บเป็นเรทแบบ ‘อัตราก้าวหน้า’ (ภาพบน) ซึ่งหมายความว่ายิ่งใช้ไฟฟ้าเยอะขึ้นจะถูกเก็บในอัตราที่แพงขึ้นนั่นเอง

ตัวอย่าง การคิดค่าไฟฟ้าแบบอัตราก้าวหน้า

  • กรณีใช้ไฟฟ้า 250 หน่วย

  • 150 หน่วยแรก x 3.2484  =  487.26 บาท
  • 100 หน่วยที่เหลือ x 4.2218  =  422.18 บาท
  • รวม  909.44  บาท

  • กรณีใช้ไฟฟ้า 1,000 หน่วย

  • 150 หน่วยแรก x 3.2484  =  487.26 บาท
  • 250 หน่วยถัดมา x 4.2218  =  1,055.45 บาท
  • 600 หน่วยที่เหลือ x 4.4217  = 2,653.02 บาท
  • รวม  4,195.73  บาท

อยากคำนวณค่าไฟ ทำอย่างไรดี?

ใครอยากรู้ว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าของตัวเองนั้นกินไฟมากแค่ไหน ลองมาคำนวณค่าไฟแบบง่ายๆกันดูนะคะ สิ่งที่จำเป็นต้องรู้ก็คือ

  • กำลังไฟฟ้าของเครื่องใช้ไฟฟ้า 1 ชนิด หน่วยเป็น วัตต์
  • จำนวนเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดนั้นๆ
  • ระยะเวลาที่ใช้ หน่วยเป็น ชั่วโมง
  • อัตราค่าไฟฟ้า เนื่องจากเป็นอัตราแบบก้าวหน้าที่กล่าวไปข้างต้นเราเลยขอปัดเป็นตัวเลขกลมๆที่ 5 บาทต่อหน่วย ไม่เกินนี้ค่ะ

และเข้าสูตร (กำลังไฟฟ้า x จำนวน x เวลาที่ใช้ x ค่าไฟฟ้า) / 1000 จะเท่ากับค่าไฟที่เครื่องๆนั้นใช้งานค่ะ

ตัวอย่าง เครื่องปรับอากาศ 2 ตัว กำลังไฟฟ้าเท่ากันที่ 1,150 วัตต์ เปิดวันละ 10 ชั่วโมง (ตัวละ 10 ชั่วโมง) ค่าไฟฟ้าปัดขึ้นอยู่ที่ 5 บาทต่อหน่วย จะได้

(1,150 x 2 x 10 x 5) / 1000 =  115 บาท 

ซึ่งเป็นการคำนวนของ 1 วัน (ใช้ 10 ชั่วโมง) ถ้าจะคำนวณเป็นรายเดือนก็สามารถ x 31 วันไปได้เลยค่ะ หรือจะทำเป็นชั่วโมงก่อนเข้าสูตรก็ได้ค่ะ (10 ชั่วโมง x 31 วัน = 310 ชั่วโมง) ค่าไฟที่ได้จะสูงกว่าความเป็นจริงสักหน่อยเพราะเราปัดเศษขึ้นมานั่นเอง

หลังจากที่หลายๆคนเห็นว่าค่าไฟพุ่งขึ้นสูง ทางรัฐฯก็ได้ออกมาตรการลดค่าไฟเพื่อช่วยเหลือประชาชนในช่วงวิกฤตโรคระบาด Covid-19 ในช่วงระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนมีนาคม ไปจนถึงเดือนพฤษภาคมปี 2563 นี้ช่วยลดค่าไฟไปได้พอสมควรเลยค่ะ ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้

มาตรการลดค่าไฟ เดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2563

ประเภทที่ 1 คนที่ใช้ไฟฟ้าน้อย มีมิเตอร์ไฟฟ้าไม่เกิน 5 แอมป์

  • ให้ใช้ไฟฟ้าฟรี 150 หน่วย จากเดิมให้ใช้ฟรี 90 หน่วย

ประเภทที่ 2 คนที่ใช้ไฟฟ้าปานกลาง มีมิเตอร์ไฟฟ้าเกิน 5 แอมป์ ทางรัฐฯจะช่วยค่าไฟส่วนเกินจากเดือนกุมภาพันธ์ ใน 3 อัตราคือ

  • กลุ่ม 1 ใช้ไฟฟ้าเดือนมีนาคม ไม่เกิน 800 หน่วย

  • จะจ่ายค่าไฟเท่ากับเดือนกุมภาพันธ์ ทางรัฐฯออกส่วนต่างที่เกินจากเดือนกุมภาฯให้ ไม่เกิน 800 หน่วยค่ะ
  • ตัวอย่าง เดือนกุมภาพันธ์ ใช้ไฟฟ้า 700 หน่วย เดือนมีนาคมใช้ไฟฟ้า 790 หน่วย 90 หน่วยที่เกินมายกให้ฟรีเลยค่ะ

  • กลุ่ม 2 ใช้ไฟฟ้าเดือนมีนาคม เกิน 800 หน่วยแต่ไม่เกิน 3,000 หน่วย
    • กลุ่มนี้จะลดส่วนที่เกินจากเดือนกุมภาพันธ์ให้ 50 % 
    • ตัวอย่าง เดือนกุมภาพันธ์ใช้ไฟฟ้า 700 หน่วย เดือนมีนาคมใช้ไฟฟ้า 900 หน่วย จะจ่ายค่าไฟเท่ากับเดือนกุมภาฯ รวมกับ 200 หน่วยถัดมาที่ลด 50 % ค่ะ

  • กลุ่มที่ 3 ใช้ไฟฟ้าเดือนมีนาคม เกินกว่า 3,000 หน่วย
    • กลุ่มนี้จะลดส่วนที่เกินจากเดือนกุมภาพันธ์ให้ 30 % 
    • ตัวอย่าง เดือนกุมภาพันธ์ใช้ไฟฟ้า 2,500 หน่วย เดือนมีนาคมใช้ไฟฟ้า 3,500 หน่วย จะจ่ายค่าไฟเท่ากับเดือนกุมภาฯ รวมกับ 1,000 หน่วยถัดมาที่ลด 30 % ค่ะ

    เข้าใจมาตรการกันแล้วใช่ไหมคะ อย่าลืมกลับไปดูค่าไฟที่บ้านนะคะว่าของเราอยู่ในกลุ่มไหน ได้ลดค่าไฟเท่าไรกันบ้าง มาคอมเมนต์บอกเล่ากันด้านล่างได้นะ

    เราจะประหยัดไฟได้อย่างไรกันบ้าง?

    ก่อนอื่นเลยเราต้องมาดูว่าค่าไฟของเรานั้นมาจากไหนกันค่ะ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านที่มีอัตราการกินไฟสูงๆนั้นมักจะเป็นเครื่องทำความร้อน – ความเย็น เป็นหลัก เนื่องจากต้องใช้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านความต้านทานสูง ให้พลังงานไฟฟ้าเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อน เราลองมาดู 10 อันดับเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านที่กินไฟมากที่สุดกันค่ะ

     10 อันดับเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านที่กินไฟมากที่สุด

    * คิดคำนวนค่าไฟ 5 บาท/หน่วยโดยประมาณตัวเลขกำลังไฟฟ้าจากศูนย์วิศวกรรมพลังงาน และจากเวลาการใช้งานทั่วไป  รวมถึงปัจจัยอื่นๆทั้งนี้อาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละบ้านค่ะ

    • อันดับ 1 เลยคงหนีไม่พ้น เครื่องปรับอากาศ นอกจากจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟสูงแล้ว เรายังต้องใช้งานติดต่อกันเป็นระยะเวลานานด้วยค่ะ ยิ่งอากาศร้อนๆในตอนนี้บางคนอาจจะต้องเปิดตลอดทั้งวันกันเลย ทำให้ค่าไฟพุ่งสูงขึ้นมากทีเดียว

    • เครื่องปรับอากาศ ขนาด 12,000 BTU 1 เครื่อง กินไฟประมาณ 1,115 วัตต์  เปิดต่อเนื่องกันวันละ 10 ชั่วโมง
    • กินไฟประมาณ 1,782.5 บาทต่อเดือน*

  • อันดับ 2 หลอดไฟ เป็นอีกอย่างที่ขาดไม่ได้ แม้ดวงนึงจะกินไฟไม่มานักแต่เรามักจะใช้งานหลายดวงพร้อมๆกัน รวมถึงยังเปิดเป็นเวลานานจึงทำให้ขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 2 กันเลย ทั้งนี้เราจะคิดว่าใช้ประมาณ 15 หลอดนะคะ
    • หลอดไฟ 1 หลอดใช้ไฟประมาณ 20 วัตต์ เปิดวันละ 12 ชั่วโมง มีจำนวน 15 หลอด
    • กินไฟประมาณ 558 บาทต่อเดือน*

  • อันดับ 3 คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ที่คนทำงานที่บ้านจำเป็นต้องมีเลยก็คือคอมพิวเตอร์นั่นเองค่ะ ใครจะรู้ว่าถ้าเราเสียบปลั๊กค้างไว้นานๆเป็นประจำก็ทำให้กินไปเหมือนกันนะ
    • คอมพิวเตอร์ ตั้งโต๊ะทั่วไปจะใช้กำลังไฟฟ้าประมาณ 450 วัตต์ ถ้าใช้ทำงานทุกวันวันละ 6 ชั่วโมง
    • กินไฟประมาณ 418.5 บาทต่อเดือน*

  • อันดับที่ 4 ตู้เย็น เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีกันแทบทุกบ้านนะคะ และยังต้องเปิดตลอดเวลาอีกด้วยทำให้ใช้ไฟเยอะพอสมควรเลยค่ะ
    • ตู้เย็น ขนาดประมาณ 12 คิว กินไฟประมาณ 100-200 วัตต์  ใช้งานตลอดเวลา
    • กินไฟประมาณ 372 บาทต่อเดือน*

  • อันดับ 5 เครื่องทำน้ำอุ่น ใครที่ติดชอบอาบน้ำอุ่นแล้วละก็จะเสียค่าไฟไปกับส่วนนี้ค่อนข้างเยอะทีเดียวค่ะ ถึงแม้ในหน้าหนาวเราจะประหยัดค่าเครื่องปรับอากาศไปได้บ้าง แต่ก็ต้องมาเสียกับส่วนนี้แทนเหมือนกันนะ
    • เครื่องทำน้ำอุ่น กินไฟประมาณ 3,500 วัตต์ เปิดวันละ 30 นาทีทุกวัน
    • กินไฟประมาณ 271.25 บาทต่อเดือน*

  • อันดับ 6 พัดลม เป็นอีกหนึ่งเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ทุกบ้านใช้กันนะคะ มีแทบทุกห้องเลยก็ว่าได้ แม้จะไม่ได้เป็นเครื่องใช้ประเภททำความร้อน-ความเย็น แต่เนื่องจากการใช้งานนานๆทำให้เสียค่าไฟเยอะได้เหมือนกันค่ะ
    • พัดลม ตั้งพื้น 1 เครื่องใช้ไฟฟ้าประมาณ 75 วัตต์ เปิดวันละ 12 ชั่วโมง
    • กินไฟประมาณ 139.5 บาทต่อเดือน

  • อันดับ 7 หม้อหุงข้าว ก็เป็นอีก 1 เครื่องใช้ไฟฟ้าที่แทบทุกบ้านใช้งานกันทุกวันเลยค่ะ บางบ้านอาจจะต้องหุงกันวันละหลายครั้งเลย
    • หม้อหุงข้าว ทั่วไปใช้กำลังไฟประมาณ 1,000 วัตต์ ใช้งานประมาณ 40 นาทีต่อวัน
    • กินไฟประมาณ 103 บาทต่อเดือน*

  • อันดับ 8 โทรทัศน์ เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ทุกบ้านมี บางคนมีหลายเครื่องด้วย การคำนวณค่าไฟฟ้าก็จะเพิ่มขึ้นตามจำนวนเครื่องด้วยนะคะ
    • โทรทัศน์ 1 เครื่อง ใช้กำลังไฟฟ้าประมาณ 100 วัตต์ เปิดวันละ 6 ชั่วโมง
    • กินไฟประมาณ 93 บาทต่อเดือน*

  • อันดับที่ 9 เตาอบ หากบ้านใครที่ชอบทำขนมหรือใช้เตาอบเป็นประจำจะทราบดีกว่าเตาอบนั้นกินไฟเยอะเช่นกันค่ะ เพียงแต่ไม่ได้ใช้งานติดต่อกันเป็นเวลานาน จึงไม่ได้ขึ้นมาเป็นอันดับต้นๆนั่นเอง
    • เตาอบ กินไฟประมาณ 2,000 วัตต์ เปิดวันละประมาณ 15 นาทีทุกวัน
    • กินไฟประมาณ 77.5 บาทต่อเดือน*

  • อันดับ 10 เตารีด ก็เป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ทำความร้อน แต่เรามักจะใช้มันไม่นานนัก ใช้ประมาณอาทิตย์ละครั้งเท่านั้นเอง ทำให้ค่าไฟจากเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นนี้ไม่มากเท่าไรค่ะ
    • เตารีด ทั่วไปใช้กำลังไฟประมาณ 1,600 วัตต์ ใช้งานประมาณ 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
    • กินไฟประมาณ 32 บาทต่อเดือน*

    รวมทุกข้อแล้ว 3,847.25 บาท/เดือน *

    จะเห็นว่าอันดับ 1 ของเราที่ชนะแบบขาดลอยทิ้งห่างจากอันดับอื่นๆเป็นเจ้า ‘เครื่องปรับอากาศ’ ที่ทำให้เราเสียเงินในกระเป๋าออกไปมากที่สุดนั่นเองค่ะ เพียงแค่เปิดเครื่องปรับอากาศเพิ่มวันละ 10 ชั่วโมง ก็ทำให้ค่าไฟเพิ่มขึ้น 1 พันกว่าบาทเลย ซึ่งเรามีเทคนิคเกี่ยวกับการใช้เครื่องปรับอากาศให้ประหยัดไฟมาให้ทุกคนลองทำตามกันดูค่ะ

    เทคนิคเกี่ยวกับการใช้เครื่องปรับอากาศ

    • ควรเปิดพัดลมไล่อากาศร้อนภายในห้องออกก่อนเปิดเครื่องปรับอากาศ

    • การเปิดพัดลมเพื่อระบายอากาศร้อนออก ทำให้ลดภาระของเครื่องปรับอากาศในการทำความเย็นลงได้ค่ะ นอกจากนั้นยังช่วยไล่อากาศอบอ้าว และมีอากาศบริสุทธิ์เข้ามาในห้องด้วยนะ

  • ระหว่างเปิดเครื่องปรับอากาศ ให้ตั้งอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1 – 2 องศา และเปิดพัดลมช่วย
    • การที่ปกติเราตั้งอุณภูมิในห้องแอร์อยู่ที่ 25 องศา ให้เปลี่ยนเป็น 27-28 องศา แล้วเปิดพัดลมค่ะ ลมที่พัดภายในห้องจะทำให้เรารู้สึกสบายเหมือนเดิม แต่เทคนิคนี้จะทำให้ความเย็นกระจายไปทั่วห้องได้ไวขึ้น และประหยัดไฟมากขึ้น

  • อย่าปล่อยให้เครื่องปรับอากาศและพัดลมมีฝุ่นเกาะมากเกินไปจะทำให้เปลืองไฟ
    • การล้างเครื่องปรับอากาศจะช่วยให้เครื่องปรับอากาศไม่ทำงานหนักเกินไป ซึ่งไม่ใช่แค่ล้างแผ่นกรองอากาศของเครื่องเท่านั้นนะคะ เราควรออกไปดู Condensing Unit (CDU) กันด้วยว่ามีฝุ่นเกาะอยู่เยอะหรือไม่ สามารถระบายความร้อนได้ดีหรือไม่ ถ้ามีอะไรมาบัง พัดลมระบายความร้อนของ CDU ก็จะทำให้เครื่องปรับอากาศทำงานหนักขึ้นเยอะเลยค่ะ ดีไม่ดีจะเสียเอาง่ายๆด้วยค่ะ

    Tips : แอร์ไม่เย็น รับมืออย่างไรดี (คลิก)

    ถัดมาเราจะพาไปดูวิธีทำให้บ้านเย็นขึ้นด้วยเทคนิคต่างๆที่ไม่ต้องพึ่งไฟฟ้ากันค่ะ เผื่อว่าใครจะใช้เป็นไอเดียในการปรับบ้านช่วง Work From Home กันค่ะ

    อย่างที่เราได้ทราบกันไปแล้วว่าเครื่องทำความเย็นนั้นกินไฟฟ้าเยอะมากที่สุด ดังนั้นเราจึงอยากมาแนะนำการปรับบ้านให้เย็นขึ้นอย่างยั่งยืน โดยไม่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าค่ะ จะมีอะไรบ้างไปชมกันเลย

    • เปิดช่องเปิดรับลม ระบายอากาศ

    วิธีนี้เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการทำให้บ้านเย็นค่ะ โดยที่เราไม่เสียค่าใช้จ่ายอะไรเลยค่ะ เพียงแค่เข้าใจหลักการเท่านั้นเอง ในประเทศไทยของเราจะมีลมสมรสุมพัดผ่านเข้ามา 2 ทิศทาง นั่นก็คือทิศตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงใต้ค่ะ  ซึ่งบ้านที่เปิดด้านหน้าและหลังบ้านเข้ารับทิศดังกล่าวจะทำให้ลมไหลผ่านตัวบ้านได้ดี แต่ถ้าใครอยู่บ้านจัดสรร มีอาคารข้างเคียงบังทิศดังกล่าว หรืออยู่อาศัยในคอนโดมิเนียมก็ไม่ต้องน้อยใจไปค่ะ เพราะลมสามารถพัดผ่านเข้าบ้านของเราได้นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลักก็คือ ‘ช่องเปิด’ ภายในบ้านนั่นเอง

    ช่องเปิดที่ตรงกันจะทำให้ลมพัดผ่านได้แรง แต่จะไม่กระจายเข้าไปทั่วห้อง ส่วนช่องเปิดที่อยู่เยื้องกันจะทำให้ลมไหลผ่านกว้างมากขึ้น แต่ถ้าเรามีช่องเปิดหลายทางจะทำให้ลมไหลผ่านเข้า-ออกได้สะดวก ระบายอากาศได้ดี จะทำให้ห้องไม่ร้อนอบอ้าวค่ะ ดังนั้น เราควรจะเปิดช่องเปิดของบ้านให้มากเข้าไว้จะทำให้ลมพัดเข้าบ้านได้ดี ส่วนใครที่กังวลว่าจะเอาลมร้อนเข้ามาในบ้านหรือไม่ เราจึงควรปรับสภาพแวดล้อมให้เย็นก่อนโดยการทำข้อถัดไปกันค่ะ

    • ปลูกต้นไม้ใหญ่ในทิศตะวันตก, ทิศใต้ ,สำหรับคนที่มีพื้นที่จำกัดสามารถปลูกต้นไม้ภายในบ้านเพิ่มความชุ่มชื้น

    เนื่องจากในประเทศไทยส่วนใหญ่แสงแดดจะอ้อมทางทิศใต้เล็กน้อยทำให้ทางทิศใต้และทิศตะวันตกได้รับแสงแดดแรงๆย่ามบ่ายเข้า การปลูกต้นไม้จะช่วยบังแสงแดดที่เข้าสู่ตัวบ้านโดยตรงได้ค่ะ นอกจากนั้นจะช่วยลดอุณหภูมิรอบๆบ้านของเราอีกด้วย เนื่องจากต้นไม้ใหญ่นั้นจะช่วยดูดเอาน้ำจากใต้ดินขึ้นมาผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสงและปล่อยไอน้ำออกจากปากใบ เพื่อมีต้นไม้ใหญ่เยอะๆนอกจากจะได้ร่มเงาช่วยบังแสงแดดก่อนส่องมายังบ้านแล้ว ยังช่วยทำให้เกิดไอน้ำเวลาลมพัดผ่านเข้ามาในบ้านเราจะรู้สึกว่าไม่ร้อนนั่นเองค่ะ ซึ่งบ้านที่ ปลูกต้นไม้เยอะๆนั้นจะเย็นกว่าอุณหภูมิอากาศโดยรอบได้ถึง 3-5 องศาเซลเซียสเลย โดยต้นไม้ที่เราเลือกปลูกใกล้กับตัวบ้านเราควรเลือกชนิดที่รากไม่แผ่กว้างจนไปทำลายโครงสร้างของบ้านนะคะ โดยที่นิยมปลูกกันก็คือ

    • ไผ่เลี้ยง, หลิว, จำปี, รวงผึ่ง, กันเกรา

    ส่วนใครที่อยู่คอนโดมิเนียม ไม่สามารถปลูกต้นไม้ใหญ่ได้ ก็มีวิธีลดความร้อนเข้าสู้ห้องได้โดยการปลูกต้นไม้กระถางริมรั้ว หรือปลูกภายในห้องช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น และเป็นที่พักสายตาได้ เรามีต้นไม้ฟอกอากาศยอดนิยมมาฝากกันค่ะ

    • เพิ่มบ่อน้ำพุ บ่อปลาให้กับสวนในบ้าน ช่วยลดความร้อนเข้าสู่ตัวบ้าน

    นอกจากต้นไม้แล้วเราสามารถเพิ่มบ่อน้ำ หรือน้ำพุด้านข้างบ้านนอกจากจะเพิ่มบรรยากาศเสียงน้ำให้ดูมีชีวิตชีวาแล้ว ยังช่วยให้เกิดไอน้ำเมื่อลมพัดผ่านบ่อน้ำก่อนเข้ามายังบ้านจะทำให้อุณหภูมิของลมนั้นลดลงค่ะ ซึ่งแหล่งน้ำที่จะช่วยลดอุณหภูมิของสภาพแวดล้อมได้ดีจะต้องเป็นบ่อขนาดใหญ่ ลึก 1.50 เมตรขึ้นไป (สระว่ายน้ำก็พอได้นะคะ) บริเวณผิวน้ำจะช่วยแลกเปลี่ยนความร้อนกับอากาศก่อนเข้าสู่ตัวบ้าน ทั้งนี้ควรระวังเรื่องความชื้นที่เพิ่มมากขึ้น จึงควรเปิดให้อากาศถ่ายเทได้สะดวกค่ะ

    • ติดฟิล์ม ม่านกรองแสง กรอง UV หรือใช้กระจกลดความร้อนภายในบ้าน

    มาดูในส่วนของผนังบ้านกันบ้างค่ะ ผนังก่ออิฐฉาบปูนทั่วไปจะมีปริมาณความร้อนเข้าสู่ตัวอาคารประมาณ 95-160 วัตต์ต่อตารางเมตร ส่วนผนังกระจกใสนั้นจะมีความร้อนเข้าสู่ตัวอาคารประมาณ 630 วัตต์ต่อตารางเมตร หรือมากกว่าผนังปกติถึง 6 เท่าเลยค่ะ ดังนั้น เราจึงควรป้องกันไม่ให้แสงแดดส่องเข้าสู่ผนังกระจกโดยตรง โดยเราสามารถเลือกได้ 3 วิธีหรือจะทำควบคู่กันไปทั้งหมดก็ได้ค่ะ

    • เลือกใช้กระจกที่มีค่ากัน UV สูงๆ เช่นกระจกลามิเนต, กระจก Low-E
    • ติดฟิล์มกรองแสง ป้องกัน UV เลือกที่มีความเข้มจะช่วยลดความร้อนเข้าสู่ตัวบ้านได้
    • ติดผ้าม่านแบบกัน UV หรือม่านทึบ จะช่วยลดความร้อนภายในห้องได้เช่นกันค่ะ

    • ติดตั้ง Façade นอกจากกันแดดแล้วยังเพิ่มความสวยงามด้วย

    นอกจากการเลือกใช้กระจก ติดฟิล์ม หรือใช้ม่านกันแสงแล้ว เรายังสามารถติดตั้งแผงกันแดด เป็นกรอบอาคารด้านนอก (Facade) ด้านนอกได้ด้วยค่ะ ซึ่งปัจจุบันการทำแผงกันแดดด้านนอกเป็นที่นิยมมากขึ้นเพราะนอกจากจะช่วยลดปริมาณแสงแดดโดยตรงที่เข้าสู่ตัวบ้านแล้ว ยังช่วยเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้กับคนในบ้าน และเพิ่มความสวยงามเป็นเอกลักษณ์ให้กับตัวบ้านด้วยค่ะ ใครที่กำลังจะสร้างบ้านหรือรีโนเวท ลองใช้วิธีการติดตั้งแผงกันแดดแบบนี้เป็นทางเลือกในการลดความร้อนภายในบ้านกันได้นะคะ

    • ทาสีโทนอ่อน สีเคลือบกันร้อน

    สีของบ้านยังมีส่วนช่วยในการลดความร้อนด้วยนะคะ โดยสีที่เป็นโทนอ่อนจะสะท้อนความร้อนออกไปได้มากกว่าสีโทนเข้ม ซึ่งมาตรฐานอุตสาหกรรมนั้นก็ได้กำหนดให้สีทาภายนอกมีประสิทธิภาพในการสะท้อนรังสีได้ไม่น้อยกว่า 80% อยู่ด้วย ส่วนสีที่โฆษณาว่ากันความร้อนนั้นมักจะมีประสิทธิภาพในการสะท้อนความร้อนได้ 90 % ขึ้นไปค่ะ

    • ติดฉนวนภายในหลังคา หรือทำ Rooftop Garden

    สุดท้ายมาดูส่วนของหลังคากันบ้างค่ะ หลังคาบ้านเป็นส่วนที่ได้รับความร้อนจากแสงแดดเต็มๆเลย ดังนั้นการลดความร้อนที่สะสมตั้งแต่อยู่บนหลังคานั้นจะช่วยให้บ้านของเราเย็นขึ้นได้ ถ้าบ้านใครมีชั้นดาดฟ้า สามารถขึ้นไปใช้งานได้ หรืออยู่คอนโดมิเนียมชั้นบนสุดที่ด้านบนไม้ได้ปรับเป็นพื้นที่ใช้งาน คงจะรู้สึกว่าร้อนกันใช่ไหมคะ ใครที่ปล่อยพื้นที่ดาดฟ้าทิ้งไว้ ถึงเวลาที่จะลดความร้อนโดยการปรับเป็นพื้นที่สีเขียว ปลูกต้นไม้คลุม หรือติดตั้งฉนวนกันความร้อน เพื่อช่วยลดอุณหภูมิที่สะสมบนหลังคาบ้านของเราให้เย็นลง ก็จะใช้พลังงานในการปรับอากาศลดลงด้วยค่ะ

    ส่วนบ้านที่มีหลังคาก็สามารถเลือกใช้ฉนวนกันความร้อนได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น

    • ฉนวนติดตั้งบนฝ้าเพดาน
    • ฉนวนติดใต้หลังคา
    • ฉนวนติดบนหลังคา

    ตัวฉนวนก็จะมีทั้งแบบแผ่น แบบพ่นเคลือบ มีคุณสมบัติที่แตกต่างกันไปค่ะ เราไปตามอ่านกันต่อได้ที่ วิธีแก้ปัญหาบ้านชั้นบนร้อน


    ใครอยากได้วิธีอื่นๆเพิ่มเติม ติดตามต่อได้ที่ >> Living Idea : วิธีคลายร้อนให้บ้าน

    เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับวิธีการประหยัดพลังงาน และวิธีที่ทำให้บ้านเย็นขึ้น เราหวังว่าผู้อ่านจะสามารถนำไปใช้ประหยัดพลังงาน และคลายร้อนกันได้จริงๆในหน้าร้อนแบบนี้นะคะ 🙂