ขึ้นปีใหม่ 2024 แล้ว ปีนี้ใครมี Mission ที่จะต้อง รีไฟแนนซ์ (Refinance) บ้างยกมือขึ้น!! สำหรับคนที่ผ่อนบ้านหรือคอนโดมาครบ 3 ปี (บางคนก็สัญญาครบ 5 ปี) ก็คงอยากรักษาสิทธิของตนเองในการขอปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้ได้มากที่สุดใช่มั้ยคะ?

ซึ่งช่วงปลายปี 2023 ที่ผ่านมาก็มีข่าวดีจาก FED หรือธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกาที่ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยในเดือนธันวาคม 2023 และส่งสัญญาณว่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ยลงในปี 2024 นี้ ทำให้ธนาคารต่างๆ ในไทยก็มีแนวโน้มที่จะปรับดอกเบี้ยลงตามไปด้วยเช่นกัน แต่จะเป็นการค่อยๆ ทยอยปรับดอกเบี้ยลงนะคะ วันนี้เราจึงไม่รอช้ามุ่งหน้าเข้าธนาคารชั้นนำ 11 แห่ง รวบรวมโปรฯดอกเบี้ยบ้านมาเปรียบเทียบกัน เพื่อช่วยเพื่อนๆ ตัดสินใจกันง่ายขึ้น และเราจะมาตอบคำถามยอดฮิตว่า…

– รีไฟแนนซ์กับธนาคารไหนเสียดอกเบี้ยต่ำสุด?
– ทำประกัน MRTA เพื่อลดดอกเบี้ยดีมั้ย?
– เลือกดอกเบี้ยแผนไหนดี คงที่หรือลอยตัว?
– จ่ายค่าจดจำนองเอง หรือให้ธนาคารจ่ายค่าจดจำนองให้?

บทความนี้เราจะมาช่วยเพื่อนๆ ตามหาแผนการรีไฟแนนซ์ที่เหมาะสมตามมากันเลย


รีไฟแนนซ์ (Refinance) ต้องรู้ข้อมูลอะไรบ้าง

ก่อนจะเดินดุ่มๆ เข้าไปธนาคาร เรามีลิสต์ 7 รายการมาให้เพื่อนๆ ทราบกันก่อนว่าอะไรบ้างที่เราต้องสอบถามในการรีไฟแนนซ์นะคะ ซึ่งแต่ละธนาคารก็จะมีโปรโมชั่นต่างกัน บางธนาคารฟรีค่าธรรมเนียมการยื่นกู้, ฟรีค่าจดจำนองและอัตราดอกเบี้ยก็ต่างกัน ดังนี้ค่ะ

  1. อัตราดอกเบี้ย แต่ละธนาคารจะมีให้เลือกหลายรูปแบบทั้งคงที่และลอยตัว
  2. ค่าประเมินราคา ประมาณ 1,900-3,700 บาท (ขึ้นอยู่กับธนาคารและบางธนาคารก็ไม่เสียค่าใช้จ่ายส่วนนี้)
  3. ค่าจดจำนอง 1% ของเงินต้นที่เหลือจากธนาคารเดิม (ค่าใช้จ่ายนี้เราเสียให้กรมที่ดิน กรณีฟรีค่าจดจำนองก็ต้องออกเงินส่วนนี้ก่อนแล้วธนาคารค่อยจ่ายคืนเรา)
  4. ค่าอากรแสตมป์ 0.05% ของวงเงินกู้ ส่วนใหญ่ผู้ยื่นกู้จ่ายเอง
  5. ค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ หรือ ค่าธรรมเนียมอื่นๆ ของธนาคาร ช่วงนี้ธนาคารส่วนใหญ่จะฟรีค่าธรรมเนียมยื่นกู้แล้วนะคะ
  6. ประกันอัคคีภัย ธนาคารส่วนใหญ่ให้ใช้ประกันฉบับเดิมที่เราเคยทำกับธนาคารเดิมได้ถ้าวงเงินคุ้มครองเพียงพอที่ธนาคารกำหนด แค่สลักหลังเปลี่ยนผู้รับผลประโยชน์เป็นธนาคารที่เราไปยื่นขอรีไฟแนนซ์แทน
  7. ประกัน MRTA คือ ประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองสินเชื่อที่อยู่อาศัย ทำหน้าที่ปิดหนี้ให้หากผู้กู้เสียชีวิตหรือทุพพลภาพ ซึ่งใช้ลดหย่อนภาษีได้เหมือนประกันชีวิตทั่วไปเลยนะคะ โดยการคำนวณค่าประกันให้สอบถามกับธนาคารไว้เบื้องต้นเลย เพราะค่า MRTA จะขึ้นอยู่กับเพศ อายุ หรือเงื่อนไขอื่นๆ ของผู้กู้ ซึ่งต้องพิจารณาเป็นรายบุคคล
  8. เงื่อนไขของระยะเวลา แต่ละธนาคารจะมีข้อกำหนดว่าห้ามปิดภาระหนี้หรือ Refinance ภายในระยะเวลาที่กำหนด เช่น 3 ปี, 5 ปี หรือบางธนาคารก็อนุญาตให้สามารถปิดหนี้ก่อนนั้น

อัตราดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายรีไฟแนนซ์ของแต่ละธนาคาร

จากที่เราไปสอบถามธนาคารหลักๆ มาทั้งหมด 11 แห่งขอสรุปคร่าวๆ ว่าทางเลือกในการ Refinance จะมี 2 แบบหลักๆ ดังนี้

1 กรณีจ่ายค่าจดจำนองเอง

– ไม่ทำประกัน
– ทำประกัน MRTA

2 กรณีธนาคารจ่ายค่าจดจำนองเองให้

– ไม่ทำประกัน
– ทำประกัน MRTA

ทีนี้เรามาเปรียบเทียบดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายของแต่ละธนาคารกันเลย

อัตราดอกเบี้ยที่นำมาฝากกัน เป็นอัตราดอกบี้ยที่เรายกเอากรณีการกู้คอนโดของเราเองไปสอบถามกับธนาคารนะคะ ซึ่งแต่ละคนจะได้ตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกันเป็น Case by Case สิ่งที่เพื่อนๆ จะนำไปใช้ได้คือ ใช้ตารางนี้เป็นแหล่งข้อมูลอ้างอิงให้สามารถหาธนาคารที่น่าจะให้อัตราดอกเบี้ยต่ำสุดกับเพื่อนๆ ได้รวดเร็วขึ้น แนะนำว่าให้ยื่นสัก 2-3 ธนาคารที่คาดว่าดอกเบี้ยน่าจะต่ำสุดและอย่าเพิ่งรีบตัดสินใจ!! ให้ใช้อัตราดอกเบี้ยที่ได้มาในการต่อรองกับธนาคารอื่นๆ อีกครั้ง หากธนาคารต้องการให้เรา Refinance กับเค้า เค้าจะลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกให้ถูกกว่าธนาคารอื่นได้ค่ะ

กรณีจ่ายค่าจดจำนองเอง หากเรามีเงินก้อนพอที่จะจ่ายค่าจดจำนองเองได้ ก็แนะนำให้เลือกแบบนี้นะ เพราะจะได้อัตราดอกเบี้ยถูกกว่ากรณีธนาคารจ่ายค่าจดจำนองให้ และเงื่อนไขส่วนใหญ่จะอนุญาติให้สามารถ Refinance ได้เมื่อครบสัญญา 3 ปี ต่างจากกรณีที่ธนาคารออกค่าจดจำนองให้ ซึ่งส่วนใหญ่สัญญาจะระบุว่า Refinance ได้เมื่ออยู่กับธนาคารครบ 5 ปี เลยนะคะ

ในส่วนของค่าใช้จ่ายในการรีไฟแนนซ์ที่ต้องจ่ายแน่นอนก็คือ ค่าจดจำนอง 1% และค่าอากรแสตมป์ 0.05% ของวงเงินกู้ และมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าประเมินราคาและค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ ทั้งหมดนี้คือเงินก้อนที่ต้องเตรียมไว้ใช้ในการรีไฟแนนซ์ หากใครไม่มีเงินก้อนส่วนนี้ให้ไปดูตารางด้านล่างเลยค่ะ

กรณีธนาคารจ่ายค่าจดจำนองให้ ตามที่เราไปสำรวจมามีหลายธนาคารมากกว่าในตารางนี้อีกนะคะ ที่มีโปรโมชั่นนี้ธนาคารจ่ายค่าจดจำนองให้เลือก และมีให้เลือกทั้งแบบทำประกัน MRTA หรือไม่ทำประกัน MRTA ก็ได้ สิ่งที่เราคิดว่าต้องระวังหากเลือกโปรโมชั่นนี้คือ ดอกเบี้ยในปีที่ 4 และ 5 ซึ่งมักจะสูงกว่าปีที่ 1-3 แบบก้าวกระโดด และมักจะโดนสัญญาบังคับด้วยว่าห้าม Refinance ก่อน 5 ปีค่ะ ทางเลือกนี้จึงต้องดูรายละเอียดให้รอบคอบ หรือเลือก Retention กับธนาคารเดิมก็จะเลี่ยงการเสียค่าจดจำนองได้ค่ะ

Image 1/5
สินเชื่อ Refinance ธนาคารกรุงเทพ

สินเชื่อ Refinance ธนาคารกรุงเทพ

หากใครสนใจรายละเอียดว่าแต่ละแบบมีอัตราดอกเบี้ยแต่ละปีเท่าไหร่ เราเอาโบรชัวร์อัตราดอกเบี้ยของแต่ละธนาคารมาฝากกันด้วยค่ะ


รีไฟแนนซ์บ้าน (Refinance) มีรูปแบบและประเภทไหนบ้างที่เหมาะกับเรา?

สำหรับการ รีไฟแนนซ์บ้าน นั้นมีหลายรูปแบบ หลายโปรแกรมอยู่เหมือนกันนะคะ เพราะธนาคารทุกแห่งก็จัดโปรโมชั่นออกมาแข่งขันกัน จึงมีรูปแบบที่ใกล้เคียงกันอยู่ โดยเราจะมาอธิบายให้ฟังกัน

สิ่งที่เราต้องพิจารณาต่อจากอัตราดอกเบี้ยก็คือ

A: ควรเลือกทำประกัน MRTA ดีมั้ย?
B: เลือกดอกเบี้ยแผนไหนดี คงที่หรือลอยตัว?
C: จ่ายค่าจดจำนองเองหรือธนาคารจ่ายค่าจดจำนอให้ คุ้มกว่ากัน?

A : ทำประกัน MRTA – ไม่ทำประกัน MRTA

MRTA = ประกันชีวิตคุ้มครองวงเงินสินเชื่อ หรือประกันชีวิตที่มีจุดประสงค์ในการคุ้มครองผู้ขอสินเชื่อเพื่อคุ้มครองทรัพย์สินให้กับผู้กู้ (เรา) และผู้ให้กู้ (ธนาคาร) ตามจำนวนเงินทุนประกันและระยะเวลาในการทำประกัน หากเราทำประกันนี้ธนาคารจะคิดอัตราดอกเบี้ยให้ถูกกว่าการไม่ทำประกันนะคะ แต่เราสามารถเลือกไม่ทำประกัน MRTA ก็ได้ เพราะไม่มีข้อบังคับให้ต้องทำแต่อย่างใด

ก่อนอื่นเลยแนะนำว่าให้เจ้าหน้าที่ลองประเมินค่าทำประกันออกมาก่อน แล้วนำมาคำนวนความคุ้มค่าในระยะ 3 ปีว่าแบบทำประกันและไม่ทำประกันเราต้องเสียเงินต่างกันเท่าไหร่ อย่างตัวเราเองล่าสุดที่ให้ธนาคารคำนวณให้ ปรากฎว่าแบบทำประกันจะประหยัดค่าดอกเบี้ยได้เยอะกว่าด้วยค่ะ

ในความเห็นเราคิดว่าหากใครที่เป็นหัวหน้าครอบครัว หรือเป็นมีคนที่ต้องอุปการะดูแล เช่น ลูกหลานหรือคุณพ่อคุณแม่ แนะนำให้ทำประกัน MRTA เผื่อกรณีเกิดอะไรขึ้น เงินประกันส่วนนี้จะชำระค่าบ้านที่เหลือให้ทั้งหมด และหากมีส่วนต่างก็จะคืนให้กับญาติที่เราแจ้งให้รับเงินส่วนต่างไปด้วย ดังนั้นการทำประกัน MRTA จะทำให้เราสบายใจได้ว่าหากเกิดอะไรขึ้นกับเรา ครอบครัวจะไม่ต้องแบกรับภาระส่วนนี้ ในกรณีกลับกัน หากเราไม่ได้มีญาติพี่น้องหรือคนที่ต้องดูแลอุปการะ จะเลือกไม่ทำประกัน MRTA ก็ได้เช่นกันค่ะ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละคนเลย

B : ดอกเบี้ยลอยตัว / ดอกเบี้ยคงที่

ดอกเบี้ยลอยตัว : หมายถึงดอกเบี้ยที่ไม่คงที่ โดยจะมีเรทเป็นไปตาม MRR = Minimum Retail Rate ของธนาคารนั้นๆ โดยแต่ละธนาคารจะมีค่า MRR ไม่เท่ากันนะคะ

โดยเราจะเห็นในตารางของ EX.1 MRR-4.30 สมมติ MRR = 6.87 ดังนั้นดอกเบี้ย ณ เวลานั้นจะเท่ากับ 6.87-4.30 = 2.57% ต่อปี (โดยสังเกตว่าตัวเลข 4.30 จะ Fix ไว้ แต่ MRR สามารถขยับขึ้นลงได้)

ดังนั้นการที่เราเลือกดอกเบี้ยลอยตัวจะมีความเสี่ยงกว่าดอกเบี้ยคงที่ ส่วนใหญ่แล้วธนาคารจะให้เรทดอกเบี้ยสำหรับดอกเบี้ยลอยตัวต่ำกว่าดอกเบี้ยคงที่ เพราะความเสี่ยงที่มีมากกว่า โดยทั้งนี้ก็มีข้อดี-ข้อเสีย ข้อดีคือถ้าธนาคารปรับลดอัตราดอกเบี้ย MRR เราก็จะได้ดอกเบี้ยที่ถูกลง แต่ในช่วงที่เศรษฐกิจขาขึ้น ธนาคารปรับ MRR ขึ้นเราก็เสียดอกเบี้ยมากขึ้นเช่นกัน

ดอกเบี้ยคงที่ : หมายถึงดอกเบี้ยที่ไม่มีปรับลงหรือขึ้น อัตราไหนอัตราไหนตลอด ยกตัวอย่าง EX.2 ที่เราจะเห็นว่าปีแรก อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 3.05%, ปีที่ 2 อยู่ที่ 3.25% และปีที่ 3 อยู่ที่ 3.5%

ซึ่งรูปแบบนี้จะเหมาะกับคนที่ต้องการความแน่นอน เพื่อนำไปคำนวณได้ หรือไม่ต้องการรับความเสี่ยงการผันผวนของดอกเบี้ย แต่โดยเฉลี่ย ณ ที่เราจะยื่นขอ Refinance อัตราดอกเบี้ยแบบคงที่มักจะสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยลอยตัวอยู่นิดหน่อยค่ะ

C : จ่ายค่าจดจำนองเอง และธนาคารออกค่าจดจำนองให้

จะเห็นว่าค่าใช้จ่ายหลักๆในการรีไฟแนนซ์บ้าน ก็คือค่าจดจำนอง ทำให้ธนาคารหลายแห่งจัดโปรโมชั่นจ่ายค่าจดจำนองให้ เพื่อให้เหมาะสำหรับคนที่ไม่มีเงินก้อน เพราะถ้ากู้ซื้อบ้าน 2 ล้านก็ต้องมีเงินจดจำนอง = 2,000,000 x 1% =20,000 บาท นะคะ

จ่ายค่าจดจำนองเอง : หมายถึงเราจะต้องเสียค่าจดจำนองให้กรมที่ดิน 1% ของราคาเงินต้นบ้าน เช่น เราซื้อบ้านราคา 5 ล้านบาท ผ่อนมา 3 ปี เหลือเงินต้น 4.7 ล้านบาท เราจะต้องเสียค่าจดจำนองอยู่ที่ 47,000 บาท เป็นต้น

โดยค่าจดจำนองนี้ ข้อดีคือเราจะติดสัญญาว่าต้องอยู่กับธนาคารนั้นๆ เพียง 3 ปี ก็สามารถ Refinance ไปอีกธนาคารที่ให้ดอกเบี้ยต่ำกว่าได้ โดยไม่มีค่าธรรมเนียมใดใด

ธนาคารออกค่าจดจำนองให้ : หมายถึง ฟรีค่าจดจำนองเลยค่ะ เราไม่ต้องเสียค่าจดจำนอง 1% ของราคาเงินต้นบ้านให้กับกรมที่ดิน แต่ธนาคารจะเป็นผู้ออกเงินให้ในส่วนนี้

โดยหากเราเลือกรูปแบบฟรีค่าจดจำนอง เราจะต้องอยู่กับธนาคารเป็นเวลา 5 ปีเป็นอย่างต่ำ ถึงจะสามารถ Refinance ไปธนาคารอื่นได้ **แต่ทั้งนี้ปีที่ 4 ที่ดอกเบี้ยมักจะสูงกว่าปีที่ 1-3 เราสามารถไปขอปรับลดอัตราดอกเบี้ยกับธนาคารได้ (Retention) และควรจะไปขอปรับลดดอกเบี้ยก่อน 1 เดือนที่จะถึงกำหนด


เลือกรีไฟแนนซ์ (Refinance) แบบไหนประหยัดเท่าไหร่?

เราขอยกตัวอย่างกรณีของคุณพะโล้ อาชีพเป็นพนักงานประจำ อายุ 32 ปี เดิมกู้กับธนาคาร A. โดยคุณพะโล้กู้ซื้อบ้านมาราคา 3.2 ล้านบาท จ่ายค่าผ่อนบ้านกับธนาคารเดือนละ 16,000 บาท ผ่อนครบ 3 ปี คุณพะโล้เหลือเงินต้นอยู่ที่ 2.7 ล้านบาท และหลังจากนี้ปีที่ 4 เป็นต้นไปคุณพะโล้จะเสียอัตราดอกเบี้ย = 5.1% ซึ่งนับเป็นดอกเบี้ยที่สูงทีเดียว

โดยคุณพะโล้จะมีทางเลือกเกี่ยวกับการ Refinance ทั้งหมด 5 ทาง เริ่มตั้งแต่การอยู่กับธนาคารเดิม ไปจนถึงการรีไฟแนนซ์ทั้ง 4 แบบที่เราอธิบายไปใน Part ที่แล้วนะคะ ดังนี้

กรณี 1 : คุณพะโล้อยู่ธนาคารเดิมไม่ Refinance

คิดอัตราดอกเบี้ย MRR – 2.25% = 7.35 – 2.25 = 5.1% ต่อปี

รวมค่างวด (เงินต้น+ดอกเบี้ย) = ประมาณ 4,768,000 บาท แบ่งเป็น

  • เงินต้น = 2,700,000 บาท
  • ดอกเบี้ย = ประมาณ 2,068,000 บาท
  • จำนวนงวดที่ต้องผ่อนทั้งหมด 298 งวด = ประมาณ 24 ปี 10 เดือน


กรณี 2 : คุณพะโล้รีไฟแนนซ์แบบธนาคาร B แบบ จ่ายค่าจดจำนองเอง ไม่ทำประกัน

ปีที่ 1-3 = MRR – 3.62 = 2.6%
ปีที่ 4 เป็นต้นไป = MRR – 1.50 = 4.72%
**MRR ของธนาคาร B = 6.22% ต่อปี

รวมค่างวด (เงินต้น+ดอกเบี้ย) = ประมาณ 3,968,000 บาท แบ่งเป็น

  • เงินต้น = 2,700,000 บาท
  • ดอกเบี้ย = ประมาณ 1,268,000 บาท
  • จำนวนงวดที่ต้องผ่อนทั้งหมด 248 งวด = ประมาณ 20 ปี 8 เดือน

ค่าใช้จ่ายในการรีไฟแนนซ์ = 30,850 บาท แบ่งเป็น

  • ค่าจดจำนอง 1% ของวงเงินกู้ = 27,000 บาท
  • ค่าอากรแสตมป์ 0.05% ของวงเงินกู้ = 1,350 บาท
  • ค่าธรรมเนียมในการยื่นกู้ = 2,500 บาท

ประหยัดจากธนาคารเดิม = 769,150 บาท ตลอดอายุสัญญา


กรณี 3 : คุณพะโล้รีไฟแนนซ์แบบธนาคาร B แบบ จ่ายค่าจดจำนองเอง ทำประกัน MRTA

ปีที่ 1-3 = MRR – 3.72 = 2.5%
ปีที่ 4 เป็นต้นไป = MRR – 1.50 = 4.72%
**MRR ของธนาคาร B = 6.22% ต่อปี

รวมค่างวด (เงินต้น+ดอกเบี้ย) = ประมาณ 3,952,000 บาท แบ่งเป็น

  • เงินต้น = 2,700,000 บาท
  • ดอกเบี้ย = ประมาณ 1,252,000 บาท
  • จำนวนงวดที่ต้องผ่อนทั้งหมด 247 งวด = ประมาณ 20 ปี 7 เดือน

ค่าใช้จ่ายในการรีไฟแนนซ์+ทำประกัน = 74,650 บาท แบ่งเป็น

  • ค่าจดจำนอง 1% ของวงเงินกู้ = 27,000 บาท
  • ค่าอากรแสตมป์ 0.05% ของวงเงินกู้ = 1,350 บาท
  • ค่าธรรมเนียมในการยื่นกู้ = 2,500 บาท
  • ค่าประกัน MRTA แบบจ่ายครั้งเดียว = 43,800 บาท (สอบถามเบี้ยจากธนาคารเป็นรายบุคคลนะคะ)

ประหยัดจากธนาคารเดิม = 741,350 บาท ตลอดอายุสัญญา


กรณี 4 : คุณพะโล้รีไฟแนนซ์แบบธนาคาร B แบบ ให้ธนาคารออกค่าจดจำนองให้ ไม่ทำประกัน

ปีที่ 1 = 2.49%
ปีที่ 2-3 = MRR – 2.10 = 4.12%
ปีที่ 4 เป็นต้นไป = MRR – 1.50 = 4.72%
**MRR ของธนาคาร B = 6.22% ต่อปี

รวมค่างวด (เงินต้น+ดอกเบี้ย) = ประมาณ 4,048,000 บาท แบ่งเป็น

  • เงินต้น = 2,700,000 บาท
  • ดอกเบี้ย = ประมาณ 1,348,000 บาท
  • จำนวนงวดที่ต้องผ่อนทั้งหมด 253 งวด = ประมาณ 21 ปี 1 เดือน

ค่าใช้จ่ายในการรีไฟแนนซ์ = 3,850 บาท แบ่งเป็น

  • ค่าอากรแสตมป์ 0.05% ของวงเงินกู้ = 1,350 บาท
  • ค่าธรรมเนียมในการยื่นกู้ = 2,500 บาท

ประหยัดจากธนาคารเดิม = 716,150 บาท ตลอดอายุสัญญา


กรณี 5 : คุณพะโล้รีไฟแนนซ์แบบธนาคาร B แบบ ให้ธนาคารออกค่าจดจำนองให้ ทำประกัน

ปีที่ 1 = 2.38%
ปีที่ 2-3 = MRR – 2.18 = 4.04%
ปีที่ 4 เป็นต้นไป = MRR – 1.50 = 4.72%
**MRR ของธนาคาร B = 6.22% ต่อปี

รวมค่างวด (เงินต้น+ดอกเบี้ย) = ประมาณ 4,032,000 บาท แบ่งเป็น

  • เงินต้น = 2,700,000 บาท
  • ดอกเบี้ย = ประมาณ 1,332,000 บาท
  • จำนวนงวดที่ต้องผ่อนทั้งหมด 252 งวด = ประมาณ 21 ปี

ค่าใช้จ่ายในการรีไฟแนนซ์ = 47,650 บาท แบ่งเป็น

  • ค่าอากรแสตมป์ 0.05% ของวงเงินกู้ = 1,350 บาท
  • ค่าธรรมเนียมในการยื่นกู้ = 2,500 บาท
  • ค่าประกัน MRTA แบบจ่ายครั้งเดียว = 43,800 บาท (สอบถามเบี้ยจากธนาคารเป็นรายบุคคลนะคะ)

ประหยัดจากธนาคารเดิม = 688,350 บาท ตลอดอายุสัญญา

จะเห็นว่าแต่ละทางเลือกในการรีไฟแนนซ์ (Refinance) จะช่วยประหยัดค่างวดไปได้มากน้อยก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละทางเลือก ทั้งคนที่ไม่มีเงินก้อนพอจะรีไฟแนนซ์ก็ยังมี Options ให้เลือกได้ หรือใครอยากทำประกันเพิ่มเพราะห่วงลูกหลานจะต้องมารับหนี้ผ่อนบ้านต่อก็ทำได้ อย่างนึงที่อยากให้เพื่อนๆ ลองทำคือการเปรียบเทียบหลายๆ แบบ หลายๆ ธนาคารเพื่อให้รีไฟแนนซ์ได้คุ้มค่าที่สุดนะคะ

สิ่งที่เราควรจะทำก็คือ พยายามลดอัตราดอกเบี้ยในทุกๆ 3 ปี ไม่ว่าจะเป็นการรีไฟแนนซ์ (Refinance) หรือขอปรับลดอัตราดอกเบี้ยกับธนาคารเดิมก็ได้ (สอบถามบางธนาคารให้ปรับลดได้ 1 ครั้งตลอดอายุสัญญา บางธนาคารปรับได้ทุก 3 ปี ควรเช็คก่อนตัดสินใจ Refinance ไปธนาคารนั้นๆ) ซึ่งจะช่วยให้เราประหยัดดอกเบี้ยได้มากกว่าที่เราคิดกันไว้ข้างต้นอีกนะคะ และส่งผลให้เราผ่อนบ้านหมดเร็วยิ่งขึ้น

เราหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับคุณผู้อ่านทุกคนที่กำลังเตรียมตัวหาข้อมูล Refinance เพื่อลดดอกเบี้ยกันนะคะ หวังว่าทุกคนจะเสียดอกเบี้ยจากสินเชื่อบ้านที่น้อยลงกัน และหากคุณผู้อ่านคนไหนมีประสบการณ์น่าสนใจเกี่ยวกับ Refinance ก็สามารถมาแชร์เรื่องราวใน Comment กันได้เลยนะคะ เชื่อว่าต้องเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ คนอื่นแน่นอนค่ะ นอกจากการลดดอกเบี้ยแล้ว ก็อย่าลืมนำดอกเบี้ยซื้อบ้านไปใช้ยื่นภาษีกันด้วย เพื่อนๆ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในบทความ ดอกเบี้ยบ้าน ใช้ลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่ ได้เลยค่ะ