พูดถึงเรื่องยื่นภาษีแล้วนั้น ทุกคนคงทราบดีว่าดอกเบี้ยจากการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อบ้าน, คอนโดมิเนียม หรือแม้กระทั่งกู้ยืมเงินมาเพื่อสร้างบ้านนั้น สามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้สูงสุดปีละ 100,000 บาท ซึ่งเป็นมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระให้กับผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทุกคนหรือที่เรามักเรียกกันว่าการยื่น ภ.ง.ด.90/91 นั่นเอง

ซึ่งหากเรารู้ข้อกำหนดต่าง ๆ โดยละเอียดก็จะช่วยให้เราประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้อีกมากเลยทีเดียวแต่ทราบกันมั้ยเอ่ยว่า..เจ้าดอกเบี้ยบ้านนั้นช่วยประหยัดค่าภาษีไปได้เท่าไหร่ วันนี้เรามีคำตอบมาฝากกัน ซึ่งเพื่อนๆ สามารถเลือกอ่านตามหัวข้อที่สนใจได้ ดังนี้เลยนะคะ

Part 1 : กู้ยืมเงินเพื่อซื้อบ้านอย่างไรจึงสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้?

Part 2 : กู้ยืมเงินเพื่อซื้อบ้านใช้ดอกเบี้ยลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่

Part 3 : กรณีมีการกู้ร่วมหลายคน จะใช้ดอกเบี้ยบ้านลดหย่อนภาษีอย่างไร?

Part 4 : กรณีมีการกู้ร่วมกันระหว่างสามี-ภรรยา จะใช้ดอกเบี้ยบ้านลดหย่อนภาษีอย่างไร?


Part 1 : กู้ยืมเงินเพื่อซื้อบ้านอย่างไรจึงสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้?

ก่อนอื่นเลยเราต้องรู้ก่อนว่า กรมสรรพากรกำหนดไว้ในมาตรา 47(1)(ช) แห่งประมวลรัษฎากร ถึงหลักเกณฑ์และวิธีการหักลดหย่อนสำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมไว้ดังนี้

1. ต้องกู้ยืมกับ “ผู้ประกอบกิจการภายในประเทศที่กำหนดไว้” ได้แก่

  • ธนาคารพาณิชย์
  • บริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์
  • บริษัทประกันชีวิต
  • สหกรณ์
  • นายจ้างซึ่งมีระเบียบเกี่ยวกับเงินกองทุนที่จัดสรรไว้เพื่อสวัสดิการแก่ลูกจ้าง
  • บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยตามกฎหมายว่าด้วยบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย

2. วัตถุประสงค์ในการกู้ยืมเพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย ซึ่งทางกรมสรรพากรเค้าเปิดกว้างไว้ว่าสามารถใช้ลดหย่อนได้ทั้งผู้ที่ ซื้อบ้านทั้งมือ 1, มือ 2 หรือ จะกู้สร้างบ้านก็เหมารวมด้วย แต่จะต้องสร้างบนที่ดินของตนเองหรือที่ดินที่ตนเองมีสิทธิครอบครอง และไม่ได้หมายความถึงแต่บ้านเท่านั้น การกู้เงินเพื่อซื้อคอนโดมิเนียมก็ลดหย่อนได้เช่นเดียวกัน หลายคนอาจสงสัยในกรณีที่กู้ยืมมาเพื่อซ่อมแซมบ้าน ซึ่งแยกกู้มาเป็นอีกสัญญาหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วธนาคารจะจ่ายเงินกู้ประเภทนี้ ตามงวดของงานที่ทำเสร็จ กรณีนี้จะไม่มีสิทธินำมาใช้ลดหย่อนภาษีนะคะ

3. การจดจำนอง จะต้องมีการจำนองบ้านหรือคอนโดมิเนียมไว้ เป็นหลักประกันการกู้ยืมเงินกับผู้ให้กู้ ซึ่งก็เป็นรูปแบบปกติของการกู้ยืมเงินจากธนาคารพาณิชย์ตามปกติที่เราคุ้นเคยกัน

4. ต้องใช้บ้านหรือคอนโดมิเนียมนั้นเป็นที่อยู่อาศัยในปีที่ขอหักลดหย่อน ยกเว้นกรณีที่ผู้กู้มีเหตุจำเป็น เช่น บริษัทสั่งให้ไปทำงานต่างถิ่นเป็นประจำ หรือเกิดเหตุสุดวิสัย ไฟไหม้ น้ำท่วม ก็สามารถอนุโลมได้เพราะไม่ใช่ความผิดของผู้กู้ค่ะ

แล้วดอกเบี้ยบ้านที่เราจ่ายอยู่ทุกเดือนนั้นจะช่วยประหยัดค่าภาษีเราได้เท่าไหร่ ไปคำนวณกันใน Part ถัดไปเลยค่ะ


Part 2 : กู้ยืมเงินเพื่อซื้อบ้านใช้ดอกเบี้ยลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่

กรมสรรพากรกำหนดให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้ โดยเราสามารถใช้ดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยมาลดหย่อนรายได้ของเราได้ ตามจำนวนเงินที่ได้จ่ายไปจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท ดังนั้นถ้าหากจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยน้อยกว่าหรือเท่ากับ 100,000 บาทก็จะสามารถลดหย่อนได้เต็มจำนวนตามที่จ่ายจริง แต่ถ้าหากจ่ายดอกเบี้ยไปมากกว่า 100,000 บาท ก็จะสามารถลดหย่อนภาษีได้เท่ากับ 100,000 บาทเท่านั้น

ทีนี้ค่าลดหย่อนภาษีจำนวน 100,000 บาท สามารถประหยัดค่าภาษีได้เป็นเงินเท่าไหร่ ก็ขึ้นอยู่กับฐานภาษีของแต่ละบุคคลนะคะ เราขออธิบายให้เห็นภาพชัดๆ ผ่านกรณีของ คุณรายาด้านล่างนี้ค่ะ

กรณีของคุณรายาที่มีเงินได้ทั้งปี 500,000 บาท ซึ่งเงินได้ที่มาจากเงินเดือน โบนัส เบี้ยเลี้ยงต่างๆ ทางกรมสรรพากรจะยกเว้นให้ 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท เพราะถือว่าเป็นต้นทุนที่ใช้ในการทำงาน พอคำนวณจากรายได้ของคุณรายาจึงสามารถหักเต็มอัตราได้ที่ 100,000 บาท และมีรายการลดหย่อนภาษีได้ 2 อย่างก็คือ

1. ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัว ซึ่งเราทุกคนที่ยื่นจ่ายภาษีจะได้สิทธิในการลดหย่อนเป็นจำนวน 60,000 บาท โดยอัตโนมัติ

2. ค่าลดหย่อนดอกเบี้ยที่อยู่อาศัย ซึ่งคุณรายาจ่ายดอกเบี้ยเดือนละ 10,000 บาท หรือปีละ 120,000 บาท ตรงนี้จะนับเฉพาะดอกเบี้ยนะคะ ไม่ได้เอาค่าผ่อนบ้านทั้งหมดมาคิด หมายความว่าเค้าไม่รวมเงินที่ใช้ตัดเงินต้น ซึ่งกรมสรรพากรกำหนดไว้ให้เราสามารถใช้ดอกเบี้ยลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท กรณีของคุณรายาจึงใช้ลดหย่อนได้เต็มอัตราที่ 100,000 บาทค่ะ

เพราะฉะนั้นคุณรายาจะมีเงินได้หักลบกับค่าลดหย่อนตามสูตร รายได้ต่อปี – รายได้ที่ได้รับการยกเว้น – รายการลดหย่อนภาษี = รายได้ที่ต้องนำไปคำนวณภาษี

เท่ากับ 500,000 – 100,000 – 60,000 – 100,000 = 240,000 บาท จึงนำมาเทียบในตารางคำนวณภาษีด้านล่าง

ขอบคุณรูปประกอบจากกรมสรรพากร

จากอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาซึ่งเป็นแบบขั้นบันได

ขั้นที่ 1 = เงินได้ 150,000 บาทแรก ได้รับการยกเว้น

ขั้นที่ 2 = เงินได้ที่เกินจากขึ้นแรกเท่ากับ 240,000 – 150,000 = 90,000 บาท คิดอัตราภาษี 5% จึงต้องเสียภาษี 90,000 x 5% = 4,500 บาท

เมื่อหักลดหย่อนแล้วคุณรายาจึงต้องจ่ายภาษีเท่ากับ 4,500 บาท แล้วเราก็ลองคำนวณดูเล่นๆ นะคะว่าหากไม่มีค่าลดหย่อนดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยคุณรายาจะต้องจ่ายภาษีเท่ากับ 11,500 บาท นั่นหมายความว่าดอกเบี้ยบ้านช่วยลดหย่อนภาษีไปได้ถึง 7,000 บาททีเดียว ยิ่งหากใครมีรายได้เยอะ ค่าลดหย่อนจากดอกเบี้ยบ้านก็จะยิ่งทำให้เราลดค่าภาษีลงไปได้นะคะ

Part 3 : กรณีมีการกู้ร่วมหลายคน จะใช้ดอกเบี้ยบ้านลดหย่อนภาษีอย่างไร?

กรณีมีการกู้ดอกเบี้ยบ้าน หรือดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย มากกว่า 1 คนขึ้นไป การนำดอกเบี้ยบ้านมาขอลดหย่อนภาษีเงินได้ ก็ต้องเฉลี่ยกันไปตามจำนวนผู้กู้ แต่ไม่ว่ายังไงเมื่อรวมกันเเล้ว ต้องไม่เกินจำนวนที่จ่ายจริง รวมทั้งต้องไม่เกิน 100,000 บาท ไม่ว่าผู้กู้ร่วมจะเสียภาษีเงินได้ หรือจะขอใช้สิทธิ์ลดหย่อนดอกเบี้ยบ้านหรือไม่ก็ตามค่ะ

ยกตัวอย่างกรณีของคุณโคล่า, คุณแฟนต้า, คุณฮอนด้า และคุณโตโยต้า ทำสัญญากู้ซื้อบ้านร่วมกัน 4 คน ในรอบ 1 ปีมีการจ่ายดอกเบี้ยบ้านไปตามจริงจำนวน 100,000 บาท เท่ากับว่าแต่ละคนจะได้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีจากดอกเบี้ยบ้านคนละ 100,000/4 = 25,000 บาทนั่นเอง และถึงแม้ว่าทั้ง 4 คนจ่ายดอกเบี้ยไม่เท่ากัน เช่น คุณโคล่าจ่ายเงินในแต่ละเดือน 4,000 บาท ส่วนอีก 3 คนจ่ายคนละ 2,000 บาท แต่เมื่อนำดอกเบี้ยมาลดหย่อนภาษีก็จะใช้วิธีหารเท่า ใช้ลดหย่อนได้คนละ 25,000 บาทเท่าๆ กันทั้งหมดนะคะ


Part 4 : กรณีมีการกู้ร่วมกันระหว่างสามี-ภรรยา จะใช้ดอกเบี้ยบ้านลดหย่อนภาษีอย่างไร?

อธิบายง่ายๆ การยื่นภาษีของคู่สมรสก็คล้ายกรณีกู้ร่วมเลย คือต้องหารค่าลดหย่อนตามจำนวนผู้กู้ ถ้าสามีภรรยากู้ร่วมกัน 2 คนก็ใช้ค่าลดหย่อนได้เท่าๆ กันคนละครึ่ง แต่คู่สามีภรรยาจะสามารถยื่นเลือกภาษีได้ทั้งแบบแยกกันยื่นและแบบยื่นร่วมกัน ซึ่งจะมีเงื่อนไขในแบบต่างๆ ที่เราสรุปมาให้ ดังนี้

กรณีต่างคนต่างยื่นภาษี

กู้ร่วม : หากคู่สมรสร่วมกันกู้ซื้อบ้าน ผ่อนจ่ายธนาคารในสัญญาเดียวกัน แต่พอถึงคราวยื่นภาษีตกลงจะแยกกันยื่น ก็สามารถลดหย่อนดอกเบี้ยบ้านคนละครึ่งหนึ่ง สูงสุดคือคนละ 50,000 บาท และรวมกันแล้วทั้ง 2 คนจะได้รับยกเว้นภาษีไม่เกิน 100,000 บาทนะคะ

และหากทั้ง 2 คนกู้ร่วมกันแต่มีเงินได้ฝ่ายเดียวก็ให้ลดหย่อนภาษีดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ยื่นภาษีเงินได้เต็มจำนวน ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท

ต่างฝ่ายต่างกู้ : ในกรณีที่ต่างฝ่ายต่างกู้ไม่ว่าก่อนหรือระหว่างสมรส ทั้ง 2 คนสามารถใช้ลดหย่อนได้ตามจริงสำหรับส่วนของตนเองแต่ไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งนั่นก็เหมือนกับการยื่นขอลดหย่อนของคนที่ยังไม่สมรสเลยค่ะ

กรณียื่นภาษีร่วมกัน

กู้ร่วม : หากทั้ง 2 คนเป็นผู้มีเงินได้ทั้งคู่ และร่วมกันกู้เพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย กรณีแบบนี้ถึงแม้ทั้ง 2 คน จะยื่นแบบแสดงรายได้และเสียภาษีร่วมกันก็ตาม ก็จะได้ยกเว้นภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาทค่ะ

ต่างฝ่ายต่างกู้ : กรณีที่ต่างฝ่ายต่างแยกกันกู้เพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย และเลือกจะยื่นเสียภาษีร่วมกัน ทั้ง 2 คนจะสามารถใช้สิทธิของตนเองแต่ไม่เกิน 100,000 บาท และใช้สิทธิของคู่สมรสได้อีก 100,000 บาท รวมกันไม่เกิน 200,000 บาท

ทีนี้จะเลือกยื่นภาษีแบบไหนก็ต้องลองเปรียบเทียบดูว่ายื่นแบบไหนจะเสียภาษีน้อยที่สุด หากดูจากเงื่อนไขแล้ว การยื่นรวมภาษีจะเหมาะกับคู่สมรสที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีค่าลดหย่อนสูงกว่ารายได้ของตัวเอง หรือกรณีที่มีรายได้ต่างกันเยอะๆ ก็จะได้ใช้สิทธิลดหย่อนร่วมกันได้ ส่วนการแยกยื่นจะเหมาะกับกรณีที่ทั้ง 2 ฝ่ายมีรายได้พอๆ กัน อยู่ในฐานภาษีเดียวกัน เพราะการนำรายได้มารวมกันจะทำให้ฐานภาษีสูงขึ้นนั่นเอง วันนี้เรามีตัวอย่างการคำนวณเปรียบเทียบภาษีของคู่สามีภรรยามาฝากกันให้เพื่อนๆ เข้าใจมากขึ้นด้วยนะคะ

กรณีที่แยกกันยื่นภาษี : ครอบครัวนี้ต้องเสียภาษี 83,000 บาท

สามีจะมีรายได้ต้องนำไปคำนวณภาษีเท่ากับ 1,000,000 – 100,000 – 60,000 = 840,000 บาท ต้องจ่ายภาษีเป็นจำนวน 83,000 บาท

ภรรยาไม่ต้องเสียภาษีเนื่องจากมีรายได้ไม่ถึง 120,000 บาทต่อปี

กรณียื่นภาษีร่วมกัน : ครอบครัวนี้ต้องเสียภาษี 73,000 บาท

สามีภรรยาจะมีรายได้ต้องนำไปคำนวณภาษีเท่ากับ 1,050,000 – 100,000 – 60,000 – 100,000 = 790,000 บาท ต้องจ่ายภาษีเป็นจำนวน 73,000 บาท

เห็นมั้ยคะว่าการที่เรารู้เงื่อนไขในการคำนวณภาษีก็ช่วยประหยัดเงินที่ต้องจ่ายออกไปได้เช่นกัน เพื่อนๆ อย่าลืมเปรียบเทียบก่อนยื่นภาษีนะคะ


การจะขอยื่นลดหย่อนนั้น ผู้มีเงินได้ต้องขอหลักฐานจากทางธนาคาร หรือสถาบันที่เรากู้เงิน เพราะทางกรมสรรพากรต้องดูหลักฐานให้แน่ว่ามีการจ่ายดอกเบี้ยจริงๆ ซึ่งตอนนี้ทางกรมสรรพากรก็เคร่งครัดขึ้นด้วยนะคะ โดยกำหนดให้ผู้ที่กู้ยืมเงินกับธนาคารพาณิชย์, บริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์, บริษัทประกันชีวิต, บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยตามกฎหมายว่าด้วยบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย ที่เริ่มทำสัญญาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ต้องแจ้งกับทางผู้กู้ด้วยว่าจะใช้สิทธิยกเว้นภาษี สำหรับใครที่ยื่นกู้ไว้ก่อนวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา หากไม่ได้แจ้งผู้กู้ไว้ล่วงหน้า ก็ต้องมีหลักฐานการจ่ายดอกเบี้ยจากผู้ให้กู้แนบมาตอนยื่นภาษีด้วยค่ะ

เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับการใช้ดอกเบี้ยบ้านในการลดหย่อนภาษี หวังว่าจะเป็นอีกบทความหนึ่งที่ช่วยให้เพื่อนๆ คำนวณเงินที่ต้องใช้จ่ายไปกับภาษีได้ง่ายขึ้น หากใครที่ยื่นภาษีแล้วติดขัดกับการคำนวณดอกเบี้ยบ้านอย่างไร มาแชร์เป็นประสบการณ์ให้เพื่อนๆ กันได้นะคะ