เมื่อหน้าฝนมาถึงสิ่งที่คนไทยต้องเผชิญนั้นก็คือ ปัญหาน้ำท่วมหนัก! หรือน้ำที่กำลังรอการระบาย ซึ่งนอกจากส่งผลทำให้การเดินทางเป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะการจราจรติดหนักแล้ว หลายบ้านก็มีน้ำท่วมเข้าด้านใน ทำให้โครงสร้างบ้าน วัสดุได้รับความเสียหาย รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ และของใช้ต่างๆในบ้าน ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน
ปัจจุบันมีหลายพื้นที่เพิ่งเจอกับน้ำท่วมไป และหลังน้ำลดลงแล้ว หลายคนที่กำลังเจอบ้านตัวเองพัง อาจจะไม่รู้ว่าต้องเริ่มต้นจากอะไร และควรจัดการอย่างไรดี!? ดังนั้น วันนี้เราจึงได้เขียนบทความเรื่อง วิธีตรวจสอบและซ่อมแซม‘หลังบ้านน้ำท่วม’เบื้องต้นตัวเองแบบง่ายๆ มาฝากกันไปติดตามได้เลยค่าา…
1. รั้วกำแพงคอนกรีตรอบบ้าน ต้องตรวจดูอะไรหลังน้ำลดไหม ?
เมื่อน้ำท่วมบ้านจะทำให้ดินบริเวณฐานรากอาจจะเกิดการอ่อนตัว ทำให้ความสามารถในการรับน้ำหนักน้อยลง รวมถึงเวลาที่น้ำลดลงจะมีแรงดูดที่ทำให้ตัวรั้วกำแพงคอนกรีตเอียงไปบ้างในบางจุด เราแนะนำให้ตรวจสอบด้วยตัวเองดังนี้
- กรณีถ้ารั้วเอียงไม่ตั้งฉากเหมือนเดิม : ให้เราหาไม้มาค้ำยันด้านที่เอียงออกเอาไว้ก่อน หรือถ้าเกิดการเอียงมากเกินไปจนออกนอกแนวศูนย์ถ่วง ต้องเรียกชั่งให้เข้ามาซ่อมแซมโดยทันที
- กรณีที่รั้วมีคานคอดิน : คือคานตัวล่างสุดที่วางอยู่ใกล้ระดับดิน ที่เอาไว้รับน้ำหนักของรั้วบ้าน โดยหลังจากน้ำลดลงดินบางส่วนอาจจะถูกดึงออกไปด้วย ทำให้เกิดรูโพรงใต้คานอันเป็นสาเหตุให้รั้วเอียง พัง และสัตว์เลื้อยคลานอันตรายเข้ามาในบ้านได้ เช่น งูมีพิษ ดังนั้นเราควรสำรวจและเติมดินกลับไปที่เดิม
2. พื้นไม้ปาร์เกต์บ้านบวม ทำอะไรได้บ้างไหม ?
สำหรับบ้านไหนที่พื้นไม้ปาร์เกต์ ที่ไม่ทนความชื้นและน้ำท่วมขังเป็นระยะเวลานาน ทำให้พื้นอาจจะเปื่อย บวม และหลุดลอกออกมา ซึ่งเราสามารถตรวจสอบและดูแลพื้นด้วยตัวเองเบื้องต้นได้ง่ายๆ ดังนี้
- เริ่มจาก ‘เปิดหน้าต่างระบายความชื้น‘ จากนั้นปล่อยให้พื้นไม้ปาร์เกต์แห้งสนิมเป็นเวลา 7-10 วัน (1 สัปดาห์) ที่สำคัญคือห้ามเอาน้ำมัน, แลคเกอร์ หรือแว็กซ์ ไปทาทับขณะที่พื้นยังมีความชื้นอยู่ เพราะสารเหล่านั้นจะไปเคลือบผิวไม้ ทำให้ความชื้นในเนื้อไม้ไม่สามารถระเหยออกมาได้ สร้างปัญหาเนื้อไม้บวมต่อเนื่องและมีกลิ่นเหม็นอับในระยะยาว
- เมื่อพื้นแห้งดีแล้วให้ทำความสะอาดพื้นผิวอีกครั้ง และใช้ ‘กระดาษทรายขัดผิวหน้าฟิล์ม‘ ที่เสื่อมสภาพออก หรือในกรณีที่อาการหนัก ให้เราเลาะพื้นไม้ออกมาเป็นชิ้นๆ แล้วเอามาวางปล่อยให้พื้นแห้งสนิมเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ก่อนที่จะเอากลับเข้าไปใส่ที่เดิม หรือเปลี่ยนบางชิ้นใหม่ไปเลย โดยใช้กาวลาเท็กซ์ติดกลับไปนะคะ
3. ผนังบ้านแช่น้ำนานๆ จะมีวิธีแก้ไขดูแลอย่างไร ?
วัสดุที่ใช้ก่อสร้างอาคารบ้านเรือนเกือบทุกอย่าง หากแม้โดนแช่น้ำไว้นาน ๆ ย่อมต้องมีอาการเสื่อมสภาพไป ไม่มากก็น้อย เรามีคำแนะนำเบื้องต้นของวัสดุที่แตกต่างกันไป ดังนี้
- ผนังไม้ : เมื่อน้ำในบ้านลดลงให้เอาผ้าเช็ดทำความสะอาด ขจัดคราบความสกปรกออก แล้วทิ้งไว้จนกว่าผนังจะแห้งสนิมประมาณ 1 สัปดาห์ จึงใช้น้ำยารักษาเนื้อไม้ชโลมลงที่ผิวไม้ หมายเหตุ : อย่าเอาแลคเกอร์หรือน้ำยารักษาเนื้อไม้ทาก่อนที่ผนังจะแห้งสนิม เพราะจะทำให้ความชื้นไม่ระเหยออกมาและเป็นปัญหาในระยะยาว
- ผนังก่ออิฐฉาบปูน : วิธีการคล้ายกับผนังไม้ แต่อาจจะต้องทิ้งเวลานานหน่อย เพราะการระบายความชื้นของผนังก่ออิฐนั้นยากกว่าผนังไม้ รวมถึงสิ่งที่อยู่ภายในผนังไม่ว่าจะเป็นสายไฟฟ้า ท่อไฟฟ้า ท่อน้ำ เป็นต้น ที่ต้องตรวจสอบว่าอยู่ในสภาพเหมือนเดิมไหม? ซึ่งเราแนะนำให้เอาเฟอร์นิเจอร์วางห่างจากผนังก่อน เพื่อให้คอนกรีตระบายความชื้นได้เร็วมากยิ่งขึ้น
- ผนังยิบซั่มบอร์ด : ลักษณะแผ่นยิบซั่มบอร์ดเป็นผงปูนยิบซั่มที่หุ้มด้วยกระดาษ ซึ่งเมื่อถูกน้ำท่วมก็จะเปื่อย วิธีการคือการเลาะเอาแผ่นยิบซั่มออกจากตัวโครงเคร่าผนัง หากเป็นโครงเคร่าที่ทำด้วยโลหะก็สามารถติดแผ่นใหม่เข้าแทนที่ได้เลย แต่หากโครงเคร่าเป็นไม้ คงต้องทิ้งไว้หลายวัน ให้ความชื้นระเหยออกก่อน จึงค่อยบุแผ่นใหม่เข้าแทนที่นะ
- ผนังที่ทำด้วยโลหะ/กระจก : ยามน้ำท่วมคงจะไม่เป็นอะไรมาก แต่เมื่อน้ำลดลงแล้ว น่าจะต้องตรวจสอบตามซอก รอยต่อ ว่ายังมีน้ำหรือเศษขี้ผงฝังด้านในไหม หากมีเศษผงต่างๆก็เช็คทำความสะอาดให้เรียบร้อย
4. น้ำท่วมฝ้าเพดาน ทำไงดี ?
ระบบสายไฟส่วนใหญ่จะเดินอยู่บนฝ้าเพดาน เวลาที่เราจะเปิดฝ้าเข้าไปต้องตรวจดูความเรียบร้อยว่ามีส่วนใดชำรุดด้วยหรือเปล่า? โดยการซ่อมแซมฝ้าเพดานจะมีลักษณะคล้ายกับการซ่อมผนังและพื้นปนกันไปด้วย ได้แก่
- ฝ้าเพดานยิปซั่มบอร์ด : กรณีถ้าเปื่อยยุ่ยมากๆ เราแนะนำให้เปลี่ยนแผ่นใหม่ไปเลย และถ้าโครงฝ้าเพดานเกิดการแอ่นหรือทรุดตัวต้องแก้ไขให้ได้ระดับ และมีความแข็งแรงก่อนการติดตั้งแผ่นฝ้าอันใหม่ หลังจากนั้นถึงจะทาสีใหม่ได้นะคะ
- ฝ้าโลหะ : เริ่มจากเช็ดทำความสะอาดฝ้าให้แห้งได้ กรณีถ้าเป็นสนิมก็ใช้กระดาษทรายขัดออกให้เรียบร้อย แล้วจึงทาสีใหม่ทับลงไปอีกที
5. ประตูบ้านถูกน้ำท่วมบวม ประตูเหล็กขึ้นสนิม ทำอย่างไร ?
ขอให้คิดว่าประตูหน้าต่างเวลาถูกน้ำท่วมจะเหมือนกับผนังที่ถูกน้ำท่วม ถ้าเป็นประตูไม้จะบวมเป่งขึ้นมาก็เหมือนกับผนังไม้,ผนังยิปซั่มที่ปูดโปนขึ้น หรือถ้าเป็นประตูเหล็กก็จะมีสนิมหลังจากแช่น้ำเป็นเวลานาน เรามีทางแนะนำแก้ไขเบื้องต้น ดังต่อไปนี้
- ประตูไม้ : เมื่อโดนน้ำท่วมประตูจะบวมขึ้นมา ทำให้บานประตูผิดรูปและไม่สามารถเปิดได้เหมือนเดิม คล้ายกับกรณีประตูห้องน้ำที่หลายๆบ้านเป็นเนื่องจากความชื้นภายในห้องน้ำ เราสามารถแก้ไขโดยการถอนออกมาวางให้แห้ง หรือหากหมดสภาพจริงๆก็ให้เปลี่ยนบานใหม่ไปเลยค่ะ
- ประตูเหล็ก : คงจะไม่ถึงผุพังแต่เมื่อแช่น้ำเป็นเวลานานจะเกิดสนิมขึ้นได้ เราสามารถหาน้ำยามานั่งขัดสนิมก่อน แล้วเช็คทำความสะอาดให้แห้งโดยต้องทิ้งให้แห้งสนิมก่อนที่เราจะทาสีใหม่ทับลงไปอีกทีนะคะ
- ประตูพลาสติกหรือวัสดุสังเคราะห์ : ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยเป็นปัญหา เพราะวัสดุเหล่านั้นทนน้ำได้ แต่ที่ต้องตรวจสอบคืออาจจะมีน้ำขังอยู่ภายในบานประตู(หรือหน้าต่าง) ระหว่างแผ่นสังเคราะห์ที่ประกบกันเป็นตัวบาน ต้องพยายามเอาน้ำออกให้หมด อาจจะต้องมีการเจาะรูเล็กๆสัก 1-2 รู เป็นการระบายน้ำด้านในออกมาค่ะ
- ประตูเกิดเอียง : กรณีที่แช่น้ำนานๆ ประตูจะอมน้ำทำให้ตัวบานนั้นรับน้ำหนักไม่ไหว + น๊อตหรือประตูยึดเกาะได้ไม่เต็มที่ เราแนะนำให้ใช้ค้ำยัน ช่วยรับแรงถ่ายน้ำหนักของ บานประตูเอาไว้ก่อน แล้วรอให้ความชื้นระเหยออกให้หมดก่อน น๊อตตะปูก็จะยึดติดได้ดีขึ้น รวมถึงน้ำหนักบานประตูน้อยลง และอาจจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ หรือถ้าไม่เหมือนเดิมเราแนะนำให้เปลี่ยนบานใหม่ดีกว่าค่ะ เพื่อความปลอดภัย
6. บานพับ ลูกบิด รูกุญแจ เหล็กดัด หลังน้ำท่วมต้องทำอะไรบ้าง ?
เป็นคำถามต่อเนื่องจากปัญหาที่แล้ว ซึ่งนอกจากประตูหน้าต่างแล้ว ก็มีปัญหาพวกบานพับ ลูกบิด รูกุญแจ เหล็กดัด ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ทำด้วยโลหะก็จะเกิดปัญหาเนื่องจากแช่น้ำเป็นเวลานาน คือเกิดสนิมและทำให้ไม่สามารถใช้งานได้ เราขอแก้ปัญหาด้วยวิธีง่ายๆ ดังนี้
- เช็ดทำความสะอาดให้แห้ง และพยายามระบายความชื้นออกให้หมด หรือมากที่สุดที่เราจะทำได้นะ
- หากเกิดสนิมตรงไหนก็ให้เรารีบขัดสนิมเหล่านั้นออกด้วยกระดาษทราย เพราะถ้ายิ่งปล่อยทิ้งไว้จะยิ่งฝังลึก รวมถึงเวลาทำความสะอาดต้องระมัดระวังการพังอีกด้วย เนื่องจากเป็นจุดที่ค่อนข้างบอบบางนะ
- สุดท้ายคือการเลือกใช้น้ำยาหล่อลื่นครอบจักรวาล (ภาษาชาวบ้านเรียกว่า ‘น้ำยา SONAX’) ให้หยอดตามจุดต่อ ตามข้อต่อ ตามรูต่างๆให้ทั่ว เพื่อให้ใช้งานได้มีประสิทธิภาพเหมือนเดิม หมายเหตุ : กรณีที่น้ำยังไม่แห้งดีอย่าเพิ่งใช้จารบีหรือขี้ผึ้งทาทับ เพราะจะทำให้ความชื้นระเหยออกมาได้ไม่หมด และจะเป็นปัญหาในภายหลังได้
7. ปลั๊กไฟและสวิตซ์หลังโดนน้ำท่วม เมื่อน้ำลดควรทำอย่างไร ?
ระบบไฟฟ้าเป็นเรื่องอันตรายที่สุดของปัญหาน้ำท่วม เพราะเวลาน้ำท่วมสูงจะมีน้ำไหลเข้าไปในปลั๊กไฟ และอาจจะทำให้เราโดนไฟดูดได้นะคะ หลายคนคงจะเจอเหตุการณ์น้ำท่วมโดยไม่ทันตั้งตัว และไม่รู้วิธีการรับมือที่ถูกต้องกับระบบไฟฟ้า ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญถ้าไม่ระวังอาจจะอันตรายถึงชีวิตได้นะคะ ไปดูวิธีตรวจสอบเบื้องต้นหลังจากน้ำลดกัน..
- เมื่อน้ำลดใหม่ๆควรสับคัทเอาท์ไฟลง เพื่อตัดวงจรไฟที่อาจมีการรั่วไหลของไฟฟ้าได้ และรอให้น้ำแห้งประมาณ 2-3 วันก่อนใช้งาน
- เราแนะนำให้ปิดสวิตซ์ไฟทุกดวง และถอดเครื่องใช้ไฟฟ้าออกให้หมด โดยการใช้ผ้าหรืออุปกรณ์ที่เป็นฉนวนกันไฟฟ้ามากดแทน เพื่อป้องกันไฟฟ้าดูดได้นะ
- หากยังไม่แน่ใจว่ามีไฟฟ้ารั่วให้เราใช้ไขควงวัดไฟ เพื่อนำมาวัดบริเวณจุดที่น้ำท่วมถึงปลั๊ก ว่ามีไฟรั่วไหลหรือไม่
- เมื่อเช็คสภาพภายนอกแล้วดูไม่ปลอดภัย เราแนะนำให้เรียกช่างที่มีความชำนาญมาตรวจสอบก่อนที่จะใช้ปลั๊กหรือสวิตซ์ต่างๆ
8. ส้วมเหม็น ส้วมเต็ม ส้วมราดไม่ลง ควรทำไงดี ?
ส้วมเต็มก็ดูจะเป็นปัญหาใหญ่ของการอยู่อาศัย เพราะเราต้องใช้งานกันเป็นประจำทุกวัน โดยปัญหาเกิดจากการใช้ระบบบ่อเกรอะ บ่อซึม เพราะการติดตั้งระบบนี้จะวางอยู่ใต้ดิน กรณีที่มีน้ำท่วมขังจะส่งผลให้ของเสียไม่สามารถซึมออกไปได้ และอาจจะทำให้น้ำไหลย้อนขึ้นกลับเข้ามาในบ่อปัญหาที่จะตามมาคือส้วมราดไม่ลงนั้นเอง
- เริ่มจากการใช้ ‘ลูกยางปั๊ม‘ ที่ทุกบ้านน่าจะมีอยู่ด้วยกันทุกหลัง โดยแค่เพียงสวมหัวลูกยางลงในคอห่าน หรือ ท่อน้ำ จากนั้นออกแรงกดปั๊มเป็นจังหวะ เพื่อให้แรงอัดของลูกยางช่วยดันสิ่งอุดตันให้ไหลออกไป
- ถ้ายังไม่ได้ผลให้ ‘โซดาไฟ‘ ก่อนใช้ควรเตรียมตัวให้พร้อมด้วยสวมผ้าปิดปาก แว่นตา และ ถุงมือยางนะคะ เนื่องจากเป็นสารเคมีที่มีฤทธิ์เป็นกรด เริ่มจากนำโซดาไฟมาละลายกับน้ำอุ่น แล้วราดลงในส้วมหรือท่อที่ตัน ปล่อยทิ้งไว้สักครู่ ให้โซดาไฟทำปฏิกิริยาสัก 1 – 2 ชั่วโมง จากนั้นให้ราดน้ำร้อน เพื่อไม่ให้โซดาไฟจับตัวกันเป็นก้อนที่อาจจะสร้างปัญหาอุดตันตามมาได้ หลังจากนั้นกดชักโครกซ้ำอีกครั้ง
- อีกวิธีคือการใช้ ‘สายงูเหล็ก‘ ลักษณะเป็นเส้นโลหะยาวๆ ติดปลายด้ามจับสำหรับหมุน เราสามารถหาซื้อได้ตามร้านค้าชั้นนำทั่วไป โดยการแหย่งูเหล็กลงไปในคอห่านหรือท่อที่ตันให้ลึกที่สุดเท่าที่จะทำได้ จากนั้นหมุนด้ามจับไปมาสายโลหะจะคว้านดันสิ่งอุดตันออกไป ระหว่างหมุน สามารถราดน้ำร้อนลงไปช่วยด้วย
- สุดท้ายให้เรา ‘เช็คขนาดของบ่อเกรอะ บ่อซึม‘ ว่าเพียงพอต่อการใช้งานของสมาชิกในบ้านไหม? และตำแหน่งการวางของตัวถังต้องอยู่สูงกว่าปลายท่อน้ำสาธารณะ หรือถ้าบ้านใช้ ‘ถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูป’ ให้เราดูว่าต้องใช้ไฟฟ้าในการทำงานหรือไม่ เพราะถ้าใช้กระแสไฟฟ้า เมื่อเปิดระบบไฟแล้วก็สามารถใช้งานได้ตามปกติ
9. มีน้ำผุดขึ้นในบ้าน แสดงว่าโครงสร้างบ้านมีปัญหาไหม ?
สำหรับกรณีที่มีน้ำผุดขึ้นมาในบ้าน คงตกใจมากเนื่องจากเป็นเรื่องค่อนข้างใหญ่ทีเดียว เพราะเป็นปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้างหลักของบ้าน โดยน่าจะเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้
- ระบบโครงสร้างเกิดอาการแตกร้าว ซึ่งอาจจะแตกร้าวอยู่เดิมแล้ว หรืออาจจะเกิดการแตกร้าวจากแรงดันน้ำหลังจากน้ำรั่ว การแก้ไขเบื้องต้นคือการพยายามหาแนวที่แตกร้าวนั้นให้พับ ส่วนใหญ่จะเป็นรอยแตกที่พื้นหรือผนังส่วนล่าง หลังจากนั้นให้เรียกช่างเข้ามาตรวจสอบจะดีที่สุดค่ะ
- เกิดรอยต่อของพื้นกับผนังไม่สนิม หรือระหว่างพื้นกับพื้นไม่สนิมกัน ยกตัวอย่างโครงสร้าง Slab on Ground ที่วางบนดินอย่างเดียวไม่ได้เชื่อมประสานกับตัวคาน ทำให้โครงสร้างอาจจะมีรอยรั่วเนื่องจากปูนทรายที่อุดไว้เสื่อมสภาพ ซึ่งควรอุดรอยรั่วด้วย ‘ซิลิโคนยาตู้ปลา‘ หาได้ตามร้านค้าชั้นนำทั่วไป
- เกิดจากที่บริษัทกำจัดปลวกเขาเจาะรูเอาไว้ ตอนที่บริษัทมาอัดฉีดน้ำยากำจัดปลวกตามผนังบ้าน แล้วไม่มีการอุดปิดให้เรียบร้อย แนวทางการแก้ไขเบื้องต้น คือการใช้ซิลิโคนปิดอุดรอยให้เรียบร้อย
10. เฟอร์นิเจอร์ โต๊ะ เตียง เก้าอี้ หลังน้ำท่วม ควรทำอย่างไร?
สำหรับเฟอร์นิเจอร์นั้นหลังจากน้ำท่วมจะมีทั้งแบบใช้งานต่อและจำเป็นต้องตัดใจทิ้งไปนะคะ ดังนั้นการแก้ปัญหาเฟอร์นิเจอร์หลังน้ำท่วม เราขอสรุปแนวทางการแก้ไขไว้ดังต่อไปนี้
- เฟอร์นิเจอร์ที่อมน้ำมากๆ : โซฟานวมหรือนุ่น ที่นอน ถ้าไม่จำเป็นเราแนะนำให้ทิ้งไปเลย อย่ากลับมาใช้อีก เพราะตอนน้ำท่วมจะมีเชื้อโรคที่ติดมาและเป็นอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาวได้
- เฟอร์นิเจอร์บิวอิน (Built-in Furniture) : ขอให้แก้ปัญหาเหมือนผนังและประตู คือต้อง
ตรวจสอบความแข็งแรงของโครงสร้าง สายไฟที่อาจจะฝังอยู่ในตู้รูกุญแจและลูกบิด ต้องทำการบำรุงรักษา ให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยเหมือนเดิม หรือใกล้เคียงของเดิม - เฟอร์นิเจอร์ที่ทำด้วยไม้ : ไม่ควรเอาไปตากแดดโดยตรงเพราะจะทำให้เสียหายมากกว่าเดิม รวมถึงกรณีถ้าเราจะทาสีทับลงไปบนเฟอร์นิเจอร์ เราต้องมั่นใจแล้วว่าเฟอร์นิเจอร์แห้งแล้วจริงๆ ไม่เช่นนั้นความชื้นจะฝังด้านใน
Tips : แนะนำให้ทำประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยเพิ่มเติม
ต้องบอกก่อนว่าประกันอัคคีภัยไม่ใช่สำหรับไฟไหม้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงกรณีความเสียหายที่เกิดจากเหตุภัยพิบัติอื่นๆด้วย เช่น น้ำท่วม พายุฝน ฟ้าผ่า แผ่นดินไหว ระเบิด เป็นต้น ถือเป็นอีกทางออกหนึ่งที่จะทำให้เราไม่ต้องเสียเงินก้อนโตไปกับการซ่อมแซมความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติ ซึ่งเราเองไม่สามารถควบคุมมันได้ หมายเหตุ : อย่าลืมศึกษาเงื่อนไขความคุ้มครองให้ถี่ถ้วนก่อนเสมอนะคะ
- ตัวบ้านที่ไม่รวมฐานราก : ตามปกติแล้วประกันอัคคีภัยจะคุ้มครองส่วนของบ้านที่อยู่เหนือพื้นดินขึ้นไป ส่วนที่ไม่ถูกรวมเป็นโครงสร้างที่อยู่ใต้ดินได้แก่ เสา ผนัง หลังคา พื้น ประตู หน้าต่าง รั้ว อาคารจอดรถ เป็นต้น รวมโครงสร้างอื่นๆที่อยู่บนดิน ที่เราสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน
- ทรัพย์สินในบ้าน : การคุ้มครองทรัพย์สินภายในบ้านเป็นอีกแผนทางเลือก (Option เสริม) สำหรับคนที่มีข้าวของเครื่องใช้ต่างๆเยอะ แล้วอยากได้ความคุ้มครองในส่วนนี้ต้องซื้อเพิ่มสำหรับทรัพย์สินภายในบ้าน ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องตกแต่ง เครื่องใช้ภายในบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องครัว เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น
นอกจากนี้ถ้าต้องการข้อมูลด้านอื่นๆเกี่ยวกับ เรื่องน้ำท่วม ประกัน การดูแลซ่อมแซมบ้านรวมถึงการเลือกทำเล โดยวันนี้เราได้รวบรวมบทความดีๆของทาง Thinkofliving มาให้อ่านเพิ่มเติมกันค่ะ
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยสำหรับผู้อ่าน ที่กำลังเผชิญสถานการณ์น้ำท่วมอยู่ และอยู่ระหว่างตัดสินใจว่าควรทำยังไงดี? ส่วนใครที่อยากแชร์ประสบการณ์พูดคุยก็สามารถพิมพ์ Comment ใต้บทความนี้ได้เลย ทั้งเสนอแนะ แนะนำ ติชม บทความได้เลยนะคะ ผู้เขียนยินดีที่จะเรียนรู้ไปพร้อมๆกันค่ะ ขอบคุณผู้อ่านที่น่ารักทุกท่านเลย ^^
ThinkofLiving มี LINE Official Account แล้วนะ
ไม่อยากพลาดข้อมูลข่าวสารก็ Add เลย > https://lin.ee/svACOxc