ไฟไหม้บ้านคือปัญหาใหญ่ที่คงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น เพราะมันสร้างความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน ยิ่งช่วงหน้าร้อนใกล้เข้ามา มักมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดไฟไหม้บ้านขึ้นได้จากหลายๆสาเหตุ “ทำประกันอัคคีภัยบ้าน” เป็นอีกวิธีการที่จะช่วยบรรเทาและฟื้นฟูความเสียหายแก่เจ้าของบ้าน ซึ่งหากมีเหตุสุดวิสัยเกิดขึ้น ก็จะโอนความเสี่ยงไปยังบริษัทประกัน เจ้าของบ้านไม่ต้องมารับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ และยังมีทุนเอาไว้ซ่อมแซมบ้านอีกด้วย

สำหรับบทความนี้เราจะพาทุกคนไปเจาะลึกประกันอัคคีภัยบ้านว่าคุ้มครองอะไรบ้าง และมีวิธีคำนวณเบี้ยอย่างไรบ้าง เพื่อที่จะสามารถเลือกแผนประกันภัยให้ได้ความคุ้มค่าและเหมาะสมกับบ้านของเรามากที่สุด…ไปดูกันเลยค่ะ

ประกันอัคคีภัยบ้านคืออะไร ทำไมต้องซื้อ?

เคยสงสัยมั้ยคะ เวลายื่นกู้ซื้อบ้าน นอกจากจะมีรายการค่าใช้จ่ายต่างๆหลายรายการแล้ว ทำไมธนาคารยังต้องบังคับให้ซื้อประกันอัคคีภัยพ่วงไปด้วย มันสำคัญขนาดนั้นเชียวหรือ? และถ้าไม่ซื้อล่ะ ได้หรือไม่?

คำตอบคือ…ถ้าคุณเป็นคนที่ยื่นกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัยกับทางธนาคาร ดังนั้น “ต้องซื้อ” ค่ะ เพราะประกันอัคคีภัย เป็นประกันภาคบังคับตามระเบียบผู้ขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ต้องมีเพื่อรองรับความเสี่ยงแก่บรรดาสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้สินเชื่อบ้านให้แก่เรา จริงอยู่ที่เหตุเพลิงไหม้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย แต่ก็ไม่ได้มีอะไรมารับประกันว่ามันจะไม่เกิดขึ้น ดังนั้นธนาคารที่ปล่อยกู้จะได้มีหลักประกันในสินทรัพย์นั่นเองค่ะ

ส่วนทางฝั่งของเจ้าของบ้านเอง แม้จะต้องจ่าย…แต่ถ้าทำไว้เราก็มองว่าเป็นเรื่องดี เพราะสามารถรองรับความเสี่ยงได้ค่อนข้างมาก ครอบคลุมมูลค่าบ้านได้สูงถึง 100% เลยทีเดียว และยังคุ้มครองความเสียหายจากเหตุภัยพิบัติอื่นๆด้วย ซึ่งเบี้ยประกันไม่สูงมาก ทำไว้ก็ไม่เสียหายอะไรค่ะ

“กู้เงินธนาคารซื้อบ้าน ตามกฏหมายแล้วต้องทำประกันอัคคีภัยเสมอ ไปจนกว่าจะผ่อนบ้านหมดตามสัญญา”

ตามกฎหมายแล้วผู้กู้ซื้อบ้านจะต้องทำประกันอัคคีภัยตลอดอายุสัญญาผ่อนบ้าน ซึ่งระยะเวลาประกันอัคคีภัยส่วนใหญ่จะมีทั้งคราวละ 2-3 ปี หรือบางแผนก็ครอบคลุม 5 ปีขึ้นไปก็มี และต้องมีการต่อประกันไปเรื่อยๆจนกว่าจะผ่อนบ้านหมด หลังจากนั้นจะทำประกันต่อหรือไม่นั้นก็แล้วแต่จะเลือก จะไม่มีการบังคับอีกต่อไป

ขยายความสักนิด เมื่อระยะเวลาคุ้มครองตามกรมธรรม์เดิมหมดอายุ แต่เรายังผ่อนบ้านไม่หมด ถึงยอดหนี้จะลดลง อย่างไรก็ตามเรายังคงต้องต่อกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยฉบับใหม่ต่อไปจนกว่าจะผ่อนบ้านหมด โดยยังอิงตามมูลค่าของบ้าน ทั้งนี้เราอาจเปลี่ยนเป็นแผนที่ปรับลดเบี้ยประกันลดลงก็ได้ หรือในกรณีที่เราอยากเพิ่มเบี้ยประกันให้ครอบคลุมทรัพย์สินภายในบ้านด้วยก็ย่อมทำได้เช่นกันค่ะ ทางที่ดีเบี้ยประกันควรจะสัมพันธ์ไปกับมูลค่าของบ้านและทรัพย์สินเสมอ

“ซื้อบ้านด้วยเงินสด หรือสร้างบ้านเอง ไม่ได้กู้เงินธนาคาร กฏหมายไม่ได้บังคับให้ต้องทำประกันอัคคีภัย”

อีกกรณีที่น่าสนใจของคนที่ซื้อบ้านด้วยเงินสด รวมถึงคนที่สร้างบ้านเองไม่ได้กู้เงินธนาคาร กฏหมายไม่ได้บังคับให้ต้องซื้อประกันอัคคีภัย เนื่องจากไม่ต้องมีหลักประกันให้กับธนาคารใดๆ แต่ถึงจะไม่มีข้อบังคับ ในมุมมองของเราก็มองว่าการทำประกันอัคคีภัยไว้ก็เป็นเรื่องที่ดีนะคะ ช่วยรองรับความเสี่ยงในอนาคต เพราะเวลาไฟไหม้บ้านที มูลค่าความเสียหายน่าจะเยอะอยู่แล้ว เสียเงินซื้อประกันหลักพันยังดีกว่าต้องเสียเงินหลักแสนหรือหลักล้านเพื่อมาตามซ่อมบ้านภายหลัง

ประกันอัคคีภัย คุ้มครองอะไรบ้าง?

ประกันอัคคีภัยคุ้มครองสินทรัพย์ได้หลายรูปแบบ อาทิเช่น ที่อยู่อาศัย ร้านค้า สำนักงาน โรงแรม สถานที่ราชการ โรงงาน รวมถึงคุ้มครองทรัพย์สินที่อยู่ภายในด้วย สำหรับบทความนี้เราจะขอเจาะลึกไปที่ประกันอัคคีภัยที่คุ้มครองที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะประเภทแนวราบ ได้แก่ บ้านเดี่ยว บ้านแฝด และทาวน์โฮม ซึ่งจริงๆแล้ว Thinkofliving เองก็เคยมีบทความเกี่ยวกับประกันอัคคีภัยของที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมก่อนหน้านี้แล้ว ใครที่สนใจอยากอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในส่วนของคอนโด ก็สามารถคลิกอ่านได้ที่ลิงก์ด้านล่างนี้เลยค่ะ

สำหรับประกันอัคคีภัยบ้าน ผู้ซื้อบ้านจะต้องออกค่าเบี้ยประกันในส่วนของตัวบ้านเอง แต่ไม่ต้องออกค่าประกันพื้นที่ส่วนกลางเหมือนกับคอนโดมิเนียม คำถามที่ตามมาก็คือประกันอัคคีภัยบ้านที่เราซื้อ คุ้มครองอะไรบ้าง?

  1. ตัวบ้านที่ไม่รวมฐานราก : ตามปกติแล้วประกันอัคคีภัยจะคุ้มครองส่วนของบ้านที่อยู่เหนือพื้นดินขึ้นไป ส่วนที่ไม่ถูกรวมเป็นโครงสร้างที่อยู่ใต้ดิน ได้แก่ เสา ผนัง หลังคา พื้น ประตู หน้าต่าง รั้ว อาคารจอดรถ เป็นต้น รวมโครงสร้างอื่นๆที่อยู่บนดิน สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน
  2. ทรัพย์สินในบ้าน : การคุ้มครองทรัพย์สินภายในบ้านเป็นอีกแผนทางเลือกหรือ Option เสริม สำหรับคนที่อยู่นานวันไป ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆก็อาจมีมากขึ้น อยากได้ความคุ้มครองในส่วนนี้ต้องซื้อเพิ่มหรือบางแผนอาจครอบคลุมอยู่แล้ว สำหรับทรัพย์สินภายในบ้าน ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องตกแต่ง สิ่งติดตั้งตรึงตรา เครื่องมือ เครื่องใช้ภายในบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้า และ อุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน เครื่องดนตรี เครื่องเสียง เครื่องครัว เครื่องนุ่งห่ม และทรัพย์สินอื่นๆ เพื่อการอยู่อาศัย รวมไปถึงในกรณีที่ถูกโจรกรรมด้วย

แต่จะไม่รวมรายการดังต่อไปนี้ *เว้นแต่ได้ระบุในกรมธรรม์โดยชัดเจน (ที่มาจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.))

  • สินค้าที่อยู่ในการดูแลรักษาของผู้เอาประกันภัยในฐานะผู้รับฝากทรัพย์
  • เงินแท่ง หรือเงินรูปพรรณ หรือทองคำแท่ง หรือทองรูปพรรณ หรืออัญมณี
  • โบราณวัตถุหรือวัตถุสำหรับความเสียหายรวมส่วนที่เกินกว่า 10,000 บาท
  • ต้นฉบับหรือสำเนาเอกสาร แบบแปลน แผนผัง ภาพเขียน รูปออกแบบ ลวดลายแบบ หรือแบบพิมพ์ หรือแม่พิมพ์
  • หลักประกันหนี้สิน หลักทรัพย์ เอกสารสำคัญต่างๆ ไปรษณียากร อากรแสตมป์ เงินตรา ธนบัตร เช็ค สมุดบัญชี หรือสมุดหนังสือเกี่ยวกับธุรกิจใด ๆ
  • วัตถุระเบิด ไดนาโม หม้อแปลงไฟฟ้า เครื่องกำเนิดไฟฟ้า มอเตอร์ไฟฟ้า แผงควบคุมไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ซึ่งได้รับความเสียหายเนื่องจาก หรือเพราะการเดินเครื่องเกินกำลัง หรือได้รับกระแสไฟฟ้า เกินกำลัง หรือไฟฟ้าลัดวงจร รวมถึงไฟฟ้าลัดวงจรเนื่องจากฟ้าผ่า เฉพาะเครื่องที่เกิดการเสียหายในกรณีดังกล่าว

ประกันอัคคีภัย คุ้มครองจากเหตุภัยอะไรบ้าง?

ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เฉพาะเหตุไฟไหม้เท่านั้นที่ประกันอัคคีภัยจะให้ความคุ้มครอง แต่ยังรวมถึงกรณีความเสียหายที่เกิดจากเหตุภัยพิบัติอื่นๆด้วย ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ยังได้ระบุถึงความคุ้มครองจากกรมธรรม์อัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย ครอบคลุมความเสียหายจากเหตุต่อไปนี้

จะเห็นได้ว่าประกันอัคคีภัยไม่ได้แค่ให้ความคุ้มครองเฉพาะเหตุไฟไหม้เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงเหตุภัยพิบัติอื่นๆที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อตัวบ้าน ไม่ว่าจะเป็น พายุฝน ฟ้าผ่า แผ่นดินไหว น้ำท่วม ระเบิด เป็นต้น อย่างไรก็ตามก่อนทำประกันอัคคีภัยทุกครั้ง อย่าลืมศึกษาเงื่อนไขความคุ้มครองให้ถี่ถ้วนก่อนเสมอนะคะ เพราะบ่อยครั้งบริษัทประกันอาจมีเงื่อนไขบางอย่างที่ไม่ได้เหมารวมอยู่ในกรมธรรม์ เวลาที่เกิดเหตุขึ้นมาจะไม่สามารถไปเรียกค่าสินไหมทดแทนได้

อีกวิธีที่จะช่วยให้ผู้ซื้อประกันเข้าใจในเงื่อนไขได้มากขึ้น เราแนะนำให้ศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับประกันอัคคีภัยได้ที่ เว็บไซต์ของคปภ.ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะค่ะ

ที่มาภาพ : สมาคมประกันวินาศภัยไทย – www.tgia.org/insurance/fire

ธนาคารบังคับทำประกันอัคคีภัยบ้านได้หรือไม่?

ปัจจุบันมีบริษัทประกันภัยมากมายที่รับทำประกันอัคคีภัย รวมไปถึงบรรดาธนาคารเองก็มีหน่วยงานที่ดูแลในเรื่องประกันภัยแก่ผู้กู้สินเชื่อบ้านโดยเฉพาะ และส่วนใหญ่ก็มักจะขายประกันของบริษัทพันธมิตรแก่ลูกค้าพ่วงไปด้วยเลย (ในตอนที่ยื่นกู้ผ่านแล้ว) บางครั้งมีการกำหนดแผนประกันให้ลูกค้าเสร็จสรรพ ทำให้หลายๆคนเข้าใจว่ามันเป็นข้อบังคับซื้อของธนาคารนั้นๆอย่างเลี่ยงไม่ได้ หากไม่ซื้อจะผิดกฎหมาย ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว…

“เราสามารถเลือกซื้อประกันอัคคีภัยจากบริษัทประกันภัยใดก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องซื้อจากบริษัทที่ธนาคารกำหนดเท่านั้น”

จากปัญหาความเข้าใจผิดนี้ แบงก์ชาติมีความพยายามให้ความคุ้มครองผู้บริโภค พร้อมทั้งออกกฎเกณฑ์กำกับดูแลสถาบันการเงินและบริษัทประกันต่างๆ เกี่ยวกับการขายประกันภัย โดยมีสาระสำคัญว่า

ดังนั้นมั่นใจได้เลยนะคะว่าเวลาที่ซื้อบ้าน เรามีสิทธิ์ที่จะเลือกซื้อประกันอัคคีภัยได้เองนะ แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้ข้อตกลงที่ว่าธนาคารผู้ให้กู้สินเชื่อจะต้องเป็นผู้รับผลประโยชน์ และบางครั้งก็ต้องแลกมากับการไม่ได้อัตราดอกเบี้ยที่ถูกสักเท่าไร เพราะทางฝั่งธนาคารเองอาจจะมีข้อกำหนดว่าถ้าลูกค้าไม่ทำประกันภัยกับตนก็อาจจะไม่ได้อัตราดอกเบี้ยพิเศษ เป็นต้น ซึ่งจุดนี้เราก็ต้องลองชั่งน้ำหนักให้ดีว่าในระยะยาวแบบไหนที่คุ้มค่ามากกว่ากัน

วิธีคำนวณเบี้ยประกันอัคคีภัยบ้าน ควรจ่ายเบี้ยที่เท่าไร?

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนก็คงอยากจะรู้แล้วใช่มั้ยคะว่าถ้าจะซื้อประกันอัคคีภัยเนี่ย ควรจะจ่ายเบี้ยที่เท่าไรดี ควรเลือกแผนไหนและบริษัทใดถึงจะคุ้มค่าอย่างที่ว่า ซึ่งเราได้สรุปข้อควรรู้หลักๆ มาให้แล้ว สามารถนำไปใช้พิจารณาเวลาเลือกซื้อประกันอัคคีภัยได้

1. เบี้ยประกันจะสัมพันธ์ไปกับมูลค่าบ้าน ระยะเวลา และสัดส่วนความคุ้มครอง

อันดับแรกต้องทำความเข้าใจก่อนว่าราคาเบี้ยประกันจะสัมพันธ์ไปกับมูลค่าของบ้านเสมอ ยิ่งบ้านราคาแพง ค่าเบี้ยประกันภัยก็อาจจะสูงตาม บางคนเลือกซื้อแพ็กเกจที่คุ้มครองทรัพย์สินภายในบ้าน ราคาเบี้ยประกันก็จะต้องบวกเพิ่มไปด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มถูกหรือแพงไปตามระยะเวลาของกรมธรรม์ ซึ่งหากซื้อแบบระยะยาวแพงกว่าก็จริง แต่มีความคุ้มค่ากว่า เช่น แผนประกันแบบ 5 ปี ราคาแพ็กเกจอาจจะสูง แต่เมื่อหารเฉลี่ยรายปีออกมาแล้ว พบว่าราคาถูกกว่าแผนประกันที่ทำแบบปีต่อปี เป็นต้น

ดังนั้นเราก็มองว่าไหนๆก็ต้องทำทุกปีอยู่แล้ว ก็ซื้อแบบยาวๆไปเลยก็ดีเหมือนกัน เพราะจะได้ราคาที่ถูกกว่า หรือถ้าใครวางแผนอยากเปลี่ยนความคุ้มครองในอนาคต ก็อาจจะเลือกแบบคราวละ 3 ปี (ระยะเวลาไม่นานจนเกินไป) แล้วค่อยพิจารณาหาซื้อใหม่ให้เหมาะสม ณ ช่วงเวลานั้นๆ ก็ได้

นอกจากนี้เบี้ยประกันจะถูกหรือแพงนั้น ยังขึ้นอยู่กับสัดส่วนความคุ้มครองที่เราเลือกอีกด้วยนะ เช่น อาจจะคุ้มครองเต็ม 100% เลย เวลาที่เกิดเหตุเสียหายขึ้นมา เจ้าของบ้านไม่ต้องควักเงินในกระเป๋าเอง บริษัทประกันจะรับผิดชอบให้หมด หรือบางแผนอาจจะคุ้มครองแค่ 50-60% ที่เหลือเจ้าของบ้านต้องจ่ายส่วนต่างเองหากเกิดความเสียหายขึ้นมา เป็นต้น อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับจำนวนเบี้ยประกันที่ซื้อตั้งแต่แรกนั่นเองค่ะ

สำหรับข้อแนะนำคือ เราควรพิจารณามูลค่าบ้านและทรัพย์สิน ของเราว่ามีมูลค่าเท่าไร จากนั้นให้คำนวณความสามารถในการจ่ายของเราว่าถ้าเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้บ้านเสียหายขึ้นมา เราจ่ายไหวมั้ย เช่น ซื้อประกันที่ครอบคลุมมูลค่าบ้านและทรัพย์สินที่ 60% ถ้าสมมติเกิดไฟไหม้บ้าน เราจำเป็นต้องจ่ายส่วนต่างในการซ่อมแซมบ้านเองอีก 40% เป็นต้น หากเราจ่ายไหวก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าคำนวณแล้วเยอะเกินความสามารถ ก็ควรเพิ่มทุนประกันให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ก็จะช่วยลดภาระในจุดนี้ไปได้

ในกรณีที่ผ่อนบ้านไปแล้วหลายปี หรือใกล้หมดชำระหนี้แล้ว ควรจะปรับแผนประกันให้สอดคล้องกับมูลค่าของบ้านและทรัพย์สิน ณ ช่วงเวลานั้นด้วย ส่วนใหญ่อยู่บ้านนานวันไป ทรัพย์สินต่างๆย่อมมีมากขึ้น ก็ควรคำนวณมูลค่าดูและเพิ่มทุนประกันภัยเข้าไปให้ครอบคลุม

2. ประกันอัคคีภัยจะคุ้มครองมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงเท่านั้น

ปกติแล้ว ประกันอัคคีภัยจะคุ้มครองตามมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง สูงสุดไม่เกิน  100% ของมูลค่าที่อยู่อาศัย ดังนั้นซื้อให้ครอบคลุมมูลค่าบ้านและทรัพย์สินก็พอค่ะ ไม่จำเป็นต้องซื้อเกิน ในกรณีที่ถึงเกิดเหตุขึ้นมา บริษัทประกันภัยก็จะตกลงจ่ายตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงเท่านั้น แม้ว่าเราจะซื้อทุนประกันเกินมูลค่าของบ้านก็ตาม

ยกตัวอย่างเช่น เราซื้อประกันอัคคีภัยคุ้มครองบ้านและทรัพย์สินที่ 100% แล้วบ้านเกิดเพลิงไหม้บางส่วน เสียหายไปราว 50% ดังนั้นบริษัทประกันจะจ่ายสินไหมทดแทนที่ 50% เท่านั้นตามความเป็นจริง ดังนั้นเจ้าของบ้านจะไม่ได้รับ 100% ตามที่หลายคนเข้าใจนะคะ

หรืออีกกรณีหนึ่ง เจ้าของบ้านซื้อประกันมากกว่า 1 บริษัท คุ้มครองแบบเดียวกัน ตามหลักการแล้วจะไม่สามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนได้เต็มทั้ง 2 บริษัท แต่ทั้ง 2 บริษัทจะออกค่าสินไหมให้รวมกันให้ได้ไม่เกินมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง เช่น รวมกันไม่เกิน 50% ประเด็นนี้เราควรศึกษาให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อประกัน เพราะไม่เช่นนั้นอาจเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์

เบี้ยประกันควรสัมพันธ์ไปกับมูลค่าของบ้านและทรัพย์สิน ไม่น้อยกว่า 70%

และถามว่าควรเลือกประกันอัคคีภัยครอบคลุมสัดส่วนเท่าไร จึงจะเหมาะสม? ตามหลักประกันภัยแนะนำว่าควรอยู่ที่ประมาณ 70% ของมูลค่าบ้านและทรัพย์สินค่ะ เพราะตัวเลขนี้ถือว่าค่อนข้างครอบคลุม ถึงบ้านจะเสียหาย 100% เจ้าของบ้านจำต้องจ่ายส่วนต่างเพิ่ม แต่ก็เพิ่มเพียง 30% เท่านั้น ถือเป็นสัดส่วนที่ไม่มากจนเกินไป หรือถ้าบ้านเสียหายแค่บางส่วน สำหรับ 70% นี้ก็น่าจะครอบคลุม ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้เอาประกันว่ามีความสามารถในการจ่ายมากน้อยแค่ไหน หลักการนี้เป็นแค่ Guideline เบื้องต้นเท่านั้น

3. รู้มูลค่าบ้านก่อนจ่ายเบี้ยประกัน ล้านละ 1,000 บาท

พอรู้ขอบเขตของความคุ้มครองไปแล้ว ต่อไปก็มาดูเงินเบี้ยประกันที่เราควรจ่ายกันบ้าง สิ่งที่ต้องรู้อันดับแรกคือมูลค่าบ้านและทรัพย์สินของตัวเอง หากไม่รู้จะคำนวณอย่างไรลองใช้วิธีที่บริษัทประกันส่วนใหญ่ใช้ประเมินดู ดังนี้ค่ะ

หามูลค่าของบ้าน (บาท) = พื้นที่ใช้สอยชั้นล่าง (ตร.ม.) x จำนวนชั้น x ราคาค่าก่อสร้างต่อตารางเมตร (บาท) 

ยกตัวอย่างเช่น บ้านของน.ส. พลอย เป็นบ้านเดี่ยว 2 ชั้น ขนาดพื้นที่ใช้สอยด้านล่าง 105 ตารางเมตร (กว้าง 7 เมตร ยาว 15 เมตร) ราคาค่าก่อสร้างอยู่ที่ตารางเมตรละ 12,000 บาท

มูลค่าบ้านของ น.ส.พลอย = 105 x 2 x 12,000 = 2,520,000 บาท ดังนั้นจำนวนทุนประกันเต็มจำนวนเฉพาะตัวบ้านจะอยู่ที่ 2,520,000 บาท (ไม่รวมทรัพย์สิน)

ส่วนการประเมินมูลค่าของทรัพย์สิน จะคิดจากเฟอร์นิเจอร์และระบบสาธารณูปโภคที่ 20% ของมูลค่าบ้าน นอกจากนี้ยังสามารถนับรวมทรัพย์สินอื่นๆ ยกเว้นบางรายการที่ได้บอกไปตั้งแต่ต้นบทความ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อ “ประกันอัคคีภัย คุ้มครองอะไรบ้าง?”)

หามูลค่าของทรัพย์สิน = (มูลค่าของบ้าน x 20%) + มูลค่าทรัพย์สินอื่นๆ (บาท) 

ยกตัวอย่างเคสเดิม ภายในบ้านของ น.ส. พลอย มีเฟอร์นิเจอร์หลายชิ้น พร้อมระบบสาธารณูปโภคติดตั้งไว้ครบครัน ส่วนข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ รวมมูลค่าอยู่ที่ 500,000 บาท ดังนั้นมูลค่าของทรัพย์สินของ น.ส.พลอย = (2,520,000 x 20%) + 500,000 = 1,004,000 บาท

รวมมูลค่าบ้านและทรัพย์สินของ น.ส. พลอย อยู่ที่ 2,520,000 + 1,004,000 = 3,524,000 บาท

เบี้ยประกันที่ควรจ่าย คิดจากมูลค่าบ้านและทรัพย์สิน ล้านละ  1,000 บาท

เมื่อเราทราบมูลค่าบ้านและทรัพย์สินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็สามารถนำมาคำนวณหาค่าเบี้ยประกันที่เหมาะสมได้เลย ไม่ว่าจะซื้อประกันอัคคีภัยธรรมดาที่คุ้มครองเฉพาะตัวบ้าน หรือจะเพิ่มเติมในส่วนของแผนที่ครอบคลุมทรัพย์สินไปด้วยก็ได้ ซึ่งปกติแล้ว เบี้ยประกันที่เราจ่ายควรอยู่ที่ประมาณ 0.1% ต่อปีของทุนประกันค่ะ หรือคิดง่ายๆ อยู่ที่ล้านละ 1,000 บาท

ประกันอัคคีภัยบ้านเปรียบเทียบแผนจาก 9 บริษัท

Part นี้เราได้รวบรวมแผนประกันอัคคีภัย จากเว็บไซต์ของบริษัทประกันภัยมา 9 แผนด้วยกันค่ะ เพื่อให้ผู้อ่านได้เปรียบเทียบรายละเอียดได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เผื่อใครกำลังสนใจทำประกันอัคคีภัยอยู่จะได้ใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นประกอบการตัดสินใจได้

ต้องบอกก่อนว่าข้อมูลความคุ้มครองอัคคีภัยและภัยเพิ่มเติม รวมถึงราคาเบี้ยประกันในตารางนี้ เป็นมูลค่าเริ่มต้นของแต่ละแผน สามารถปรับเพิ่มได้ตามมูลค่าจริงของบ้านและทรัพย์สิน ส่วนราคาเบี้ยประกันภัยนั้นได้รวมภาษีและอากรแล้ว

รายละเอียดที่เอามาให้ดูกันในตารางต่อไปนี้ เป็นเพียงตัวอย่างแผนประกันอัคคีภัยที่เราได้หยิบยกมาจาก Official Website  ของบริษัทต่างๆ ซึ่งในความเป็นจริงแต่ละบริษัทอาจมีมากกว่านี้ โดยแผนหนึ่งๆจะแบ่งออกเป็น

1.) ความคุ้มครองหลัก : คุ้มครองบ้านและทรัพย์สินจากเหตุอัคคีภัยและภัยเพิ่มเติม รวมถึงภัยธรรมชาติอื่นๆ ได้แก่ ไฟไหม้ ฟ้าผ่า พายุฝน ระเบิด ภัยจากยวดยานและอากาศยาน ภัยเนื่องจากน้ำ ลมพายุ แผ่นดินไหว น้ำท่วม ลูกเห็บ ฯลฯ ภัยเหล่านี้เป็นไปตามข้อกำหนดของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อ “ประกันอัคคีภัย คุ้มครองจากเหตุภัยอะไรบ้าง?” ที่ได้อธิบายไปข้างต้นของบทความนี้

บางแผนประกันภัยจะไม่รวมภัยที่เกิดจากน้ำท่วมเข้าไปในแผนคุ้มครองหลักด้วย แต่จะแยกให้ซื้อความคุ้มครองเพิ่ม นอกจากนี้ยังพบว่าแผนประกันมักกำหนดสัดส่วนคุ้มครองจากภัยธรรมชาติไว้เป็นมาตรฐาน โดยจะรวมอยู่ที่ประมาณ 20,000-100,000 บาทต่อปี ถ้าต้องการวงเงินคุ้มครองมากกว่านี้ต้องซื้อเพิ่ม

2.) ความคุ้มครองพิเศษ : เป็นการขยายความคุ้มครองบ้านและทรัพย์สินจากความคุ้มหลัก เช่น ความคุ้มครองจากภัยธรรมชาติเพิ่มเติม  นอกจากนี้ก็ยังมีภัยต่อเครื่องไฟฟ้า คุ้มครองสิ่งของมีค่าเช่น อัญมณี ทองคำและเงินสด การย้ายซากทรัพย์สิน ค่าเช่าที่พักชั่วคราว การประกันภัยกระจก การโจรกรรม ค่าใช้จ่ายในการดับเพลิง เป็นต้น

โดยปกติแล้วกรมธรรม์มาตรฐานจะไม่ได้บวกรวมความคุ้มครองพิเศษนี้เข้าไปด้วย แต่ปัจจุบันแผนประกันภัยของบริษัทส่วนใหญ่ มักจะรวมบางรายการให้ในแผนประกันภัยอยู่แล้วโดยที่เราไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายซื้อเพิ่ม ซึ่งแต่ละบริษัทจะมีมูลค่าความคุ้มครองที่แตกต่างกันออกไป ใครที่ต้องการเพิ่มทุนประกันในส่วนนี้ ก็สามารถปรับเพิ่มให้ครอบคลุมยิ่งขึ้นได้ค่ะ

ด้านราคาเบี้ยประกันจะสัมพันธ์ไปกับมูลค่าความคุ้มครอง มีเริ่มต้นตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักพันบาท ส่วนมูลค่าความคุ้มครองเริ่มต้นของแต่ละแผน เริ่มที่ 500,000-1,000,000 บาท ทั้งนี้แต่ละบริษัทอาจมีแพ็กเกจราคาที่สูงกว่านี้ ขึ้นอยู่กับมูลค่าบ้านและทรัพย์สิน ใครที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมแนะนำให้ดูเป็น Guideline ก่อน แล้วค่อยติดต่อกับทางบริษัทประกันโดยตรง หรือสามารถใช้โปรแกรมคำนวณบนหน้าเว็บไซต์ของบริษัทประกันก็ได้ค่ะ

บทความนี้คงช่วยให้ผู้อ่านเห็นถึงความสำคัญของประกันอัคคีภัยบ้านที่ควรทำไว้ให้กับบ้านที่เรารัก พร้อมทั้งสามารถเลือกแผนประกันได้อย่างเหมาะสม เบี้ยประกันที่จ่ายไปกับความคุ้มครองที่ได้รับควรมีความคุ้มค่า ก็หวังว่าทำประกันแล้วจะช่วยให้สบายใจหายห่วงได้มากขึ้นนะคะ แต่เหนือสิ่งอื่นใด ไม่ควรใช้ชีวิตประมาทเลินเล่อ เพราะอาจนำมาซึ่งอุบัติภัยที่ไม่คาดคิดได้ ครั้งหน้าเราจะมีบทความไหนมาฝากกันอีก อย่าลืมติดตามกันด้วยนะ


อ่านข้อมูลดีๆเพิ่มเติมได้ที่
Website : www.thinkofliving.com
Twitter : www.twitter.com/thinkofliving
YouTube : www.youtube.com/ThinkofLiving
Instagram : www.instagram.com/thinkofliving
Facebook : ThinkofLiving

ThinkofLiving มี LINE Official Account แล้วนะคะ
ไม่อยากพลาดข้อมูลข่าวสารก็ Add เลย > https://lin.ee/svACOxc