อาหารเป็นความสุขของใครหลายๆคนนะคะ ห้องครัวจึงเป็นพื้นที่ที่สำคัญหลายคนเลยมักจะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ภายในครัว ทำอาหารรับประทานเองหรือทำให้กับครอบครัว แต่สำหรับบางคนแล้วการทำอาหารภายในบ้านนั้นไม่ค่อยจะสะดวกนักเนื่องจากมีปัญหาจาก “กลิ่น” อย่างเวลาผัด ย่าง ทอด เมื่อไหร่กลิ่นก็ฟุ้งกระจายทั่วห้อง แถมยังติดเฟอร์นิเจอร์ไปหลายวันอีกต่างหาก นั่นก็เป็นเพราะว่าภายในบ้าน หรือคอนโดที่คุณอยู่เป็นครัวเปิดหรือเปล่าคะ
วันนี้เราลองมาดูกันว่าภายในบ้านหรือคอนโดของคุณเป็นครัวแบบไหน แล้วการใช้ชีวิตประจำวันของคุณเหมาะกับใช้ครัวเปิด หรือครัวปิด และต้องใช้งบประมาณในการกั้นครัวเท่าไหร่เราไปชมกันค่ะ
ครัวเปิด กับ ครัวปิด แตกต่างกันอย่างไร ?
ก่อนอื่นเราลองมาเช็คก่อนว่าบ้านคุณเป็นครัวเปิด หรือครัวปิดกันนะ “ครัวเปิด” นั้นมีความหมายที่ตรงตัวเลยค่ะ เป็นพื้นครัวที่มีการเปิดโล่ง เชื่อมต่อกับห้องอื่นๆโดยไม่มีผนังมากั้น มักเป็นครัวที่มีการตกแต่งสวยงาม เพราะนอกจากจะใช้ทำอาหารแล้ว ยังใช้โชว์ เป็นส่วนหนึ่งของการตกแต่งบ้านไปด้วยค่ะ แต่ก็จะไม่เหมาะกับการทำอาหารที่จริงจัง อย่างต้ม ผัด ทอด มีทั้งควันและกลิ่นฟุ้งกระจาย มีคราบควันดำไปติดที่ฝ้าเพดาน ผ้าม่าน ฯลฯ และมีกลิ่นติดที่เฟอร์นิเจอร์ส่วนอื่นๆภายในห้องกำจัดยาก และอาจเกิดความเสียหายได้ค่ะ
สำหรับบ้านส่วนใหญ่มักจะทำครัวเปิดเชื่อมต่อออกมาจากห้องครัวปิดอีกที เพื่อเป็นมุมสำหรับเตรียมอาหาร ชงกาแฟ หรือทำอาหารที่ไม่จริงจังมากนัก โดยมีเคาน์เตอร์บาร์ หรือเคาน์เตอร์กลาง (Island) เชื่อมต่อออกมาและมักจะถูกเรียกว่าครัวฝรั่ง (Pantry) นั่นเองค่ะ แต่บ้านบางแห่งก็ได้เป็นพื้นที่ครัวเปิดโล่งไปเลย แต่จะสามารถกั้นปิดเพิ่มเติมได้ ซึ่งเราจะบอกวิธีการในหัวข้อถัดไปค่ะ
ส่วนคอนโดมิเนียมนั้น ถ้าเป็นคอนโดที่มีขนาดห้องค่อนข้างเล็ก หรือคอนโดมิเนียมตากอากาศส่วนใหญ่จะได้เป็นพื้นที่ครัวเปิดนะคะ เพราะว่าต้องการให้ภายในห้องมีความโปร่ง กว้างเชื่อมต่อกัน ซึ่งจะเหมาะกับคนที่ไม่ชอบทำอาหารรับประทานเองเท่าไรนัก เพราะพื้นที่ครัวแบบเปิดนั้นมีข้อดี – ข้อเสีย ดังนี้
ข้อดี – พื้นที่ภายในมีความโปร่ง โล่ง ห้องดูกว้างมากขึ้น และยังสามารถโชว์พื้นที่ครัวเป็นส่วนตกแต่งบ้านไปด้วย
ข้อเสีย – ไม่สามารถทำอาหารจริงจังได้ เวลาทำอาหารจะมีกลิ่นและควันฟุ้งกระจายไปทั่วทั้งห้อง แม้ว่ามีเครื่องดูดควันช่วยก็ยังดูดกลิ่นไปได้ไม่ 100 % นะคะ และดูแลเรื่องความสะอาดยาก อาจะมีคราบน้ำมันลอยไปเกาะเฟอร์นิเจอร์ภายในห้อง สร้างความเสียหายกับสิ่งของได้
ครัวเปิด จึงเหมาะกับคนที่ไม่ได้ทำอาหารรับประทานเองเป็นกิจวัตร ส่วนใหญ่มักจะทานข้างนอกบ้าน หรือทำอาหารเองแบบง่ายไม่มีกลิ่น เน้นใช้เตาอบ ไมโครเวฟ เป็นหลัก แต่ถ้าเป็นบ้านที่เราอาศัยอยู่ทุกวันจะต้องใช้พื้นที่ครัวบ่อยๆ แนะนำให้กั้นเป็นครัวปิดมากกว่าค่ะ
“ครัวปิด” เป็นพื้นที่ครัวที่มีผนังปิดทุกด้านจนกลายเป็น ‘ห้อง’ นั่นเองค่ะ โดยผนังที่ว่าจะเป็นผนังทึบก่ออิฐ ผนังเบา หรือผนังกระจก ประตูบานเลื่อน บานเปิด บานเฟี้ยม ก็ได้ แต่ต้องมีพื้นที่เป็นสัดส่วนเวลาทำอาหารใช้งานห้องครัวแล้วกลิ่น ควันต่างๆไม่ฟุ้งกระจายไปยังห้องอื่นๆนั่นเอง ซึ่งสามารถตกแต่งให้สวยงามได้ไม่แพ้ครัวเปิดเลยค่ะ
พื้นที่ครัวปิดที่ดี ควรมีช่องเปิดระบายอากาศออกสู่ภายนอกตัวบ้าน หรือห้องด้วย ถ้าใช้เพียงเครื่องดูดควันอย่างเดียวก็ไม่สามารถระบายอากาศได้ดีเท่าที่ควรนะคะ จะทำให้ห้องครัวมีกลิ่นอาหารตกค้าง และอับชื้น อย่างน้อยๆจึงควรมีช่องเปิดระบายอากาศหรือพัดลมดูดอากาศเพิ่มเติมค่ะ
สำหรับบ้านพักอาศัยที่มีขนาดใหญ่หน่อย มักจะได้พื้นที่ครัวเป็นครัวปิดอยู่แล้วนะคะ โดยจะอยู่ใกล้ๆกับพื้นที่วางโต๊ะรับประทานอาหาร ให้สามารถยกมาเสิร์ฟได้สะดวก และเชื่อมต่อออกไปยังล้านซักล้างด้านหลังบ้าน เพราะคนที่อยู่บ้านมักจะทำอาหารรับประทานเองนะคะ อาจจะเนื่องจากทำเลของโครงการบ้านจะอยู่ไกลจากห้างสรรพสินค้ามากกว่าคอนโดฯ และมักจะอยู่กันเป็นครอบครัว คุณแม่ทำอาหารให้ลูกๆทาน เป็นต้น บ้านส่วนใหญ่จึงให้ห้องครัวปิดมาอยู่แล้วค่ะ
ส่วนคอนโดมิเนียมนั้น มีหลายแห่งเหมือนกันค่ะที่กั้นพื้นที่ครัวปิดมาให้ จะมีทั้งแบบครัวปิดด้านหน้าห้อง แบบนี้ส่วนใหญ่ก็ยังมีกลิ่นหลงเหลืออยู่บ้าง บางทีก็ออกมายังโถงทางเดินด้วยนะคะ เนื่องจากไม่มีช่องเปิดระบายอากาศออกไปยังนอกอาคาร แต่ก็จะมีกลิ่นรบกวนภายในห้องน้อยกว่าครัวแบบเปิด ส่วนครัวเปิดที่อยู่ติดกับระเบียงก็ดีเลยค่ะสำหรับคนที่ชอบทำอาหาร เปิดประตูระบายกลิ่น และควันออกไปได้เลย (อย่าลืมเก็บผ้าก่อนนะ)
ข้อดี – ทำอาหารจริงจังได้ ไม่ต้องกังวลเรื่องกลิ่น ควัน คราบน้ำมันเวลาทำอาหาร ฟุ้งกระจายภายในบ้าน/ห้อง ครัวกั้นเป็นสัดส่วนทำความสะอาดได้ง่าย
ข้อเสีย – จะต้องเสียพื้นที่กั้นห้องทำให้ห้องดูไม่โปร่งกว้างมากนัก และเมื่อเป็นห้องที่ปิดทึบจึงควรมีช่องเปิดระบายอากาศไปยังด้านนอกอาคารอย่างน้อย 1 จุด (ไม่รวมเครื่องดูดควันนะคะ)
ครัวปิด จึงเหมาะกับคนที่ชอบทำอาหาร ทำอาหารรับประทานเองบ่อยๆ ชอบความเป็นสัดส่วน ซีเรียสเรื่องความสะอาด (คราบมันไม่กระจายออกมานอกจากภายในห้องครัว) และไม่ชอบกลิ่นเหม็นฟุ้งกระจายภายในห้อง ซึ่งถ้าใครชอบครัวแบบปิดแล้วละก็ไปดูวิธีการกั้นครัวเพิ่มเติมกันเลยค่ะ
กั้นครัวปิดในคอนโด
สำหรับคนที่อยู่ในคอนโดมิเนียม แล้วอยากกั้นพื้นที่ครัวเป็นครัวปิด เราจะต้องมาดูว่าผังห้องของเรานั้นสามารถกั้นเป็นครัวปิดได้หรือไม่กันค่ะ ที่เราต้องมาดูผังกันก่อนเพราะว่าห้องบางแบบมีความแตกต่างกันซึ่งทำให้เรามีข้อจำกัดในการกั้นแตกต่างกันไปค่ะ
คอนโดมิเนียมส่วนใหญ่เกือบ 100 % มักจะมีเคาน์เตอร์ครัว Built-in มาให้เรียบร้อยแล้วนะคะ การกั้นห้องจึงต้องดูระยะของเคาน์เตอร์ให้ดี เมื่อกั้นแล้วจะต้องไม่ชนกับประตูหน้าต่าง ช่องเปิด หรือเฟอร์นิเจอร์ Built-in ชิ้นอื่นๆ ตัวอย่างในภาพแรก มีตำแหน่งเคาน์เตอร์ครัว Built-in ยื่นเกินออกมาจากขอบผนังฝั่งห้องน้ำแต่ยังสามารถกั้นผนังเพิ่มเติมออกมาเป็นมุมฉากได้ และยังช่วยให้ตำแหน่งชั้นวาง TV เข้ามุมได้พอดีอีกด้วยค่ะ
สำหรับห้องของใครที่มีพื้นที่ครัวเป็นสัดส่วนอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้มีผนังกั้นมาให้ (ภาพที่ 2,3) ก็จะทำให้สามารถกั้นห้องได้ง่ายเลยค่ะ
แต่บางห้องทางโครงการออกแบบมาให้เป็นครัวเปิด และไม่สามารถกั้นปิดได้ ตัวอย่างภาพแรก มีการปูกระเบื้องพื้นที่ครัวมาให้เป็นสัดส่วน แต่จะมี Island ตรงกลางทำให้ไม่สามารถกั้นผนังเป็นแนวตรงได้ ถ้าเลื่อนผนังออกมาก็จะกินพื้นที่ทางเดินและพื้นที่ห้องนั่งเล่น ทำให้ไม่เหมาะกับการกั้นครัวปิดค่ะ หรือพื้นที่ครัวที่กั้นแล้วไปชนกับช่องเปิดอย่างภาพที่2 ก็ทำให้ไม่สามารถกั้นห้องครัวเป็นแนวตรงได้ กั้นแนวเฉียงก็ไม่เหมาะ จึงไม่เหมาะกับการกั้นครัวปิดนั่นเองค่ะ
สำหรับการกั้นห้องภายในคอนโดมิเนียมอย่างลืมสิ่งที่ควรคำนึงถึงก่อนการกั้น/ ทุบผนังภายในคอนโดกันนะคะ อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ >> อยากทุบผนัง/กั้นห้องคอนโดใหม่ ทำได้หรือไม่? ถ้าพิจารณาแล้วว่าสามารถกั้น/ต่อเติมได้ก็ไปเลือกชนิดของผนังที่ถูกใจกันเลยค่า
กั้นครัวปิดในบ้าน
สำหรับบ้านใครที่ไม่ได้มีพื้นที่ครัวปิด ก็คงต้องการกั้นครัวเพื่อที่จะสามารถทำอาหารกันได้อย่างเต็มที่ใช่ไหมคะ แม้แต่ภายในบ้านเองเราก็ต้องมาดูเช่นกันค่ะว่าผังบ้านของเรานั้นสามารถกั้นห้องครัวปิดเพิ่มเติมได้หรือไม่
บ้านส่วนใหญ่มักจะมีพื้นที่ครัวแยกเป็นสัดส่วนอยู่แล้วนะคะ แม้จะเป็นครัวเปิดแต่ก็มักจะอยู่ใกล้กับพื้นที่วางโต๊ะรับประทานอาหาร แต่บ้านส่วนใหญ่แล้วมักจะไม่ได้ติดตั้งเคาน์เตอร์ครัวมาให้ค่ะ มีแต่เพียงตำแหน่งท่อระบบประปา นั่นทำให้เราสามารถออกแบบพื้นที่ครัวได้ยืดหยุ่นมากขึ้น และไม่ได้มีข้อจำกัดในการกั้นห้องมากนัก ตัวอย่างในภาพแรกเป็นบ้านแฝดที่มีพื้นที่ครัวอยู่ตรงกลางบ้าน เป็นครัวเปิดแต่แยกเป็นสัดส่วนทำให้สามารถกั้นปิดได้ไม่ยากค่ะ
ส่วนภาพที่ 2 เป็นทาวน์โฮมมีพื้นที่ครัว และห้องน้ำอยู่หลังบ้าน สามารถกั้นพื้นที่ครัวปิดได้จากแนวของห้องน้ำได้เลย แต่อาจจะต้องคำนึงถึงพื้นที่การวางโต๊ะรับประทานอาหารสักหน่อย อาจจะปรับเป็นโต๊ะรับประทานอาหารสี่เหลี่ยมชิดผนัง หรือใช้เป็นผนังที่สามารถเลื่อนเปิด/ปิดได้ค่ะ
แต่บ้านเองก็มีบางแบบเหมือนกันค่ะที่ไม่เหมาะกับการกั้นครัวปิดภายในบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่จะเจอกับปัญหากั้นแล้วไปชนกับพื้นที่ช่องเปิด หรือไม่สามารถกั้นให้เป็นสัดส่วนลงตัวได้ อย่างเช่นภาพแรก เป็นบ้านแฝดที่มีพื้นที่ครัวตรงกลาง เชื่อมต่อกับห้องน้ำ และมีห้องอเนกประสงค์ (ห้องนอนผู้สูงอายุอยู่) เมื่อกั้นห้องแล้วจะชนกับประตูห้องอเนกประสงค์ และมีพื้นที่ครัวเล็กเกินไป หรือถ้าขยายออกมาทำให้ทางเข้าห้องอเนกประสงค์ต้องผ่านห้องครัวก่อน ซึ่งอาจจะใช้งานได้ไม่สะดวกนัก จึงไม่เหมาะกับการกั้นครัวปิดค่ะ
ตัวอย่างที่ 2 เป็นทาวน์โฮม ที่มีพื้นที่ครัว ส่วนนั่งรับประทานอาหาร ห้องน้ำและห้องเก็บของอยู่โซนด้านหลังบ้าน เมื่อกั้นห้องครัวแล้วทำให้เสียพื้นที่ครึ่งหลังของบ้านไปเลย อาจจะทำให้ไม่โปร่งสบาย หรือบ้านบางหลังทางโครงการแถมเคาน์เตอร์ครัว Built-in มาให้ด้วยอาจจะทำให้การกั้นห้องลำบากมากขึ้นค่ะ
สำหรับบ้านใครที่ไม่สามารถกั้นพื้นที่ครัวปิดได้จริงๆ แต่ก็อยากมีพื้นที่ครัวสำหรับทำอาหารจริงจังได้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะนิยมต่อเติมพื้นที่ครัวเพิ่มด้านหลังบ้าน แต่ก็มีข้อควรพิจารณาอยู่ด้วยนะคะ สามารถอ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ >> ต่อเติมครัวทาวน์โฮมให้ถูกกฎหมาย ในงบ 1-2 แสนบาท
Tips: กฎหมายเพิ่มเติมเกี่ยวกับการต่อเติมบ้าน คลิก >> ต่อเติมบ้านอย่างไรดี ? ไม่ให้มีปัญหาตามมา
วัสดุที่นิยมใช้กั้นห้องครัว
สำหรับใครที่พิจารณาแล้วว่าสามารถกั้นห้องได้ ก็มาเลือกกันเลยค่ะว่าอยากกั้นห้องด้วยวัสดุแบบไหน ซึ่งแต่ละแบบจะมีคุณสมบัติและ ราคาแตกต่างกันไปค่ะ
ผนังก่ออิฐมีความแข็งแรงสามารถติดตู้แขวนผนังได้
1 ผนังก่ออิฐฉาบปูน
เริ่มที่วัสดุชนิดแรก คือ กั้นห้องด้วยผนังก่ออิฐฉาบปูน เป็นผนังคลาสสิกที่มีจุดเด่นที่สุดก็คือความคงทนแข็งแรงนั่นเองค่ะ โดยสามารถเลือกใช้อิฐได้หลายชนิด เช่น อิฐมอญ อิฐมวลเบา ซีเมนต์บล็อก อิฐขาว โดยวัสดุแต่ละชนิดก็จะมีความแข็งแรง มีน้ำหนัก และการป้องกันความร้อนที่ต่างกัน และจะมีข้อควรระวัง ดังนี้
- ข้อดี : มีความแข็งแรง รับน้ำหนักได้มาก คงทนถาวร ไม่พังง่าย สามารถติดตั้งตู้เก็บของแบบลอยตัวที่ผนังได้ สามารถกันไฟได้ดี
- ข้อเสีย : เป็นผนังที่มีน้ำหนักมาก ควรก่อผนังเชื่อมต่อกับโครงสร้าง ใช้เวลาในการก่อสร้างนาน หน้างานมีความเลอะเทอะ และมีความทึบ
- อิฐมอญ/อิฐแดง : เป็นอิฐที่นิยมใช้ในงานก่อสร้าง ช่างมีความชำนาญค่ะ ทนแดดทนฝนได้ดี นิยมใช้ภายนอกอาคาร จะมีน้ำหนักมาก แต่ก็แข็งแรงมากเช่นกัน รับน้ำหนักชั้นเก็บของต่างๆได้ดีเลยค่ะ
ค่าก่อสร้างโดยประมาณ* : (ไม่รวมช่องเปิด,ประตูหน้าต่าง)
ค่าวัสดุ 190 – 420 บาท/ตารางเมตร ค่าแรง 70 – 90 บาท/ตารางเมตร
- ซีเมนต์บล็อก : มีราคาถูกกว่าอิฐมอญ มีขนาดใหญ่ก่อสร้างได้ไวกว่าอิฐมอญ ความแข็งแรงน้อยกว่าอิฐมอญ แต่สามารถใช้กั้นผนังห้องครัวทั่วไปได้ค่ะ
ค่าก่อสร้างโดยประมาณ* : (ไม่รวมช่องเปิด,ประตูหน้าต่าง)
ค่าวัสดุ 130 – 300 บาท/ตารางเมตร ค่าแรง 80 – 150 บาท/ตารางเมตร
- อิฐมวลเบา : เป็นวัสดุก่อที่มีน้ำหนักเบา ไม่รบกวนโครงสร้างมาก และมีความทนไฟ แข็งแรง แต่จะต้องใช้ปูนฉาบโดยเฉพาะแตกต่างจากอิฐมอญนะคะ และเป็นวัสดุที่มีราคาสูงกว่าชนิดอื่นๆ
ค่าก่อสร้างโดยประมาณ* : (ไม่รวมช่องเปิด,ประตูหน้าต่าง)
ค่าวัสดุ 170 – 400 บาท/ตารางเมตร ค่าแรง 60 – 80 บาท/ตารางเมตร
ค่าใช้จ่ายอื่นๆ
ค่าฉาบปูน ประมาณ 60 – 70 บาท/ตารางเมตร ค่าแรง 70 – 80 บาท/ตารางเมตร
ค่าทาสี ประมาณ 40 – 60 บาท/ตารางเมตร ค่าแรง 35 – 40 บาท/ตารางเมตร
มีค่าเสาเอ็นเพิ่มเติมกรณีมีช่องเปิดประมาณ 200 – 300 บาทค่ะ
*ราคาโดยประมาณอ้างอิงจาก หนังสือบัญชีราคาวัสดุและราคาค่าแรงงานปี 2562
เมื่อลองคำนวนพื้นที่กั้นห้องคิดโดยประมาณห้องครัวมีความกว้าง 3 เมตร ฝ้าเพดานสูง 3 เมตร รวมเป็นพื้นที่ 9 ตารางเมตร จะมีค่าก่อสร้างโดยประมาณ ดังนี้
- อิฐมอญ/อิฐแดง : ((400+90) x 9)+ 4950 (ค่าใช้จ่ายอื่นๆ 9 ตารางเมตร) = 9,360 บาท
- ซีเมนต์บล็อก : ((300+100) x 9)+ 4950 (ค่าใช้จ่ายอื่นๆ 9 ตารางเมตร) = 8,550 บาท
- อิฐมวลเบา : ((400+80) x 9)+ 4950 (ค่าใช้จ่ายอื่นๆ 9 ตารางเมตร) = 9,270 บาท
ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างผนังก่ออิฐจะอยู่ที่ประมาณ 8,000-10,000 บาท
ผนังก่ออิฐจะเหมาะกับคนที่ต้องการความแข็งแรง คงทนถาวร เช่นคนที่ต้องการติดตั้งชั้นเก็บของบนผนัง ที่ใช้เก็บของหนักๆอย่างเช่นเครื่องครัว จานชาม น้ำมัน, น้ำ เป็นต้น ซึ่งจะเหมาะกับบ้านพักอาศัยมากกว่าในคอนโดมิเนียมนะคะ เนื่องจากบ้านมีโครงสร้างเดิมที่สามารถต่อเติมเพิ่มได้ง่ายไม่ต้องขออนุญาตหลายขั้นตอนแบบในคอนโดมิเนียม และพื้นที่ภายในบ้านยังเหมาะกับการก่อสร้างที่หน้างานจะมีความเลอะเทอะพอสมควร อีกอย่างผนังก่ออิฐจะมีความทึบสูง ถ้าก่อสร้างในคอนโดมิเนียมจะทำให้ห้องดูแคบมากขึ้นค่ะ
ตัวอย่างของผนังเบาเมื่อกั้นเสร็จแล้ว ให้ความรู้สึกเหมือนกับผนังก่ออิฐทั่วไป
2 ผนังเบา
ผนังเบา ชื่อก็บอกตรงตัวเลยนะคะว่ามีน้ำหนักเบา เป็นผนังที่สามารถรื้อถอน/ก่อสร้างได้ง่าย ไม่เลอะเทอะเท่ากับผนังก่ออิฐฉาบปูน โดยจะมีโครงคร่าวเป็นไม้ อะลูมิเนียม หรือเหล็กแล้วปิดด้วยแผ่นสมาร์ทบอร์ด, ไฟเบอร์ซีเมนต์ หรือไม้อัดซีเมนต์ เป็นต้น ภายนอกจะไม่แตกต่างกับผนังก่ออิฐฉาบปูนเลยค่ะ
- ข้อดี : เป็นผนังที่ก่อสร้างง่าย รื้อถอนง่าย น้ำหนักเบาไม่จำเป็นต้องฝากน้ำหนักกับโครงสร้าง ทำให้สร้างตำแหน่งไหนก็ได้ และมีลักษณะภายนอกเหมือนผนังก่ออิฐ
- ข้อเสีย : มีความแข็งแรงน้อย กันเสียง กันไฟได้ต่ำ ถ้าต้องการแขวนตู้เก็บของจะต้องเสริมโครงคร่าวมากขึ้นในตำแหน่งที่จะแขวน และอาจจะมีการแตกร้าวเกิดขึ้นบริเวณรอยต่อค่ะ
ราคา
ค่าก่อสร้างโดยประมาณ* : ราคาขึ้นอยู่กับชนิดของโครงคร่าว และแผ่นบอร์ดที่เลือกใช้ค่ะ โดยส่วนใหญ่นิยมใช้เป็นโครงคร่าวเหล็กชุบสังกะสี ที่บุแผ่นสมาร์ทบอร์ด 2 ฝั่ง (ไม่รวมช่องเปิด,ประตูหน้าต่าง)
ค่าวัสดุ ประมาณ 300 – 1,000 บาท/ตารางเมตร ค่าแรง 120 บาท/ตารางเมตร
เมื่อลองคำนวนพื้นที่กั้นห้องคิดโดยประมาณห้องครัวมีความกว้าง 3 เมตร ฝ้าเพดานสูง 3 เมตร รวมเป็นพื้นที่ 9 ตารางเมตร จะมีค่าก่อสร้างโดยประมาณ ดังนี้
- ค่าวัสดุคิดที่ 600 บาท = (600 + 120) x 9 = 6,480 บาท
- รวมค่าฉาบ และทาสีประมาณ 150-200 บาท/ ตารางเมตร = 200 x 9 = 1,800 บาท
- รวม 8,280 บาท
ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างผนังเบาจะอยู่ที่ประมาณ 8,000-12,000 บาท
ผนังเบา จะเหมาะกับคนที่ต้องการกั้นห้องครัวแบบไม่ถาวร สามารถรื้อถอนออกได้ง่าย นิยมใช้ทั้งในบ้านพักอาศัยและคอนโดมิเนียมเลยค่ะ เนื่องจากใช้เวลาในการติดตั้งไม่นาน แต่ก็จะได้ผนังที่รับน้ำหนักไม่ได้มากนะคะ และผนังเบาเองก็เป็นผนังที่มีความทึบ ถ้าจะกั้นห้องครัวด้วยผนังเบาในคอนโดมิเนียมจะต้องดูเรื่องช่องแสงให้ดีนะคะ เพราะอาจจะทำให้ภายในห้องดูมืด และดูแคบลงได้
ผนังกระจกเข้ามุมได้ความโปร่ง โล่ง
3 ผนังกระจก, บานเลื่อนกระจก
ผนังกระจกเป็นที่นิยมในการกั้นห้องไม่ว่าจะเป็นห้องครัวหรือห้องอเนกประสงค์ทั้งในบ้านพักอาศัยและในคอนโดมิเนียมเลยนะคะ เนื่องจากเป็นผนังที่มีความโปร่ง เมื่อกั้นแล้วยังให้ความรู้สึกเชื่อมต่อกับห้องอื่นๆอยู่ แสงผ่านเข้าห้องอื่นๆได้ทำให้ไม่มืด แต่เป็นผนังที่ไม่สามารถรับน้ำหนักได้เลยค่ะ มีให้เลือกลายแบบทั้งผนังกระจกและบานเปิด หรือบานเลื่อนกระจก 2 – 3 ตอน
- ข้อดี : มีความโปร่งใส เหมาะกับห้องที่มีขนาดเล็ก สามารถติดตั้งได้โดยไม่ต้องฝากกับโครงสร้างอาคาร รื้อถอน/ติดตั้งได้ง่าย
- ข้อเสีย : ไม่สามารถรับน้ำหนักได้เลย ต้องการการทำความสะอาดบ่อยกว่าผนังชนิดอื่นๆ และมีราคาค่อนข้างสูงค่ะ
ราคา
ราคาผนังกระจกนั้นมีความหลากหลายมากเลยค่ะ มีตั้งแต่ราคาหลักพันปลายๆ ไปจนถึงหลายหมื่นบาท ขึ้นอยู่กับวัสดุกรอบบาน มีตั้งแต่กรอบบาน UPVC กรอบบานอลูมิเนียม, กรอบบานอลูมิเนียมเคลือบ/พ่นสี เป็นต้น ซึ่งกรอบบานที่ต่างสีกันก็ทำให้ราคามีความแตกต่างกันแล้วค่ะ นอกจากนั้นยังขึ้นอยู่กับชนิดกระจกที่เลือกใช้ด้วยค่ะ ว่าเป็นกระจกกี่ชั้น หนากี่มิลลิเมตร โดยที่นิยมใช้ก็คือกรอบบานอลูมิเนียม บานเลื่อนพร้อมบานปิดตายคิดที่ความกว้างประมาณ 3.00 เมตร จะมีราคาเริ่มต้นประมาณ 10,000 – 25,000 บาท
ผนังกระจก เหมาะกับภายในคอนโดมิเนียมหรือบ้านพักอาศัยที่มีพื้นที่จำกัด ต้องการความโปร่ง โล่ง และเหมาะกับคนที่ต้องการความสวยงาม โชว์พื้นที่ภายในห้องครัว ไม่ต้องการแขวนตู้ หรือชั้นวางของกับผนัง และมีงบประมาณที่สูงขึ้นค่ะ
ฉากกั้นห้องบานเลื่อน 3 ตอนวัสดุโพลีคาร์บอเนต
4 ฉากกั้นผนัง PVC / ไม้ และวัสดุอื่นๆ
ฉากกั้นผนังก็เป็นอีกทางเลือกที่นิยมสำหรับคนที่ไม่ต้องการกั้นผนังจริงจังให้คงทนถาวรนะคะ สามารถติดตั้งและถอดออกได้ง่ายมากๆ ตัวฉากกั้นจะมีรางสำหรับเลื่อน มีทั้งแบบรางเลื่อนบนและรางเลื่อนล่าง และมีลักกษณะการเปิดหลายแบบ เช่นบานเลื่อน บานเฟี้ยม ฯลฯ รางเลื่อนถ้าอยู่ด้านล่างจะทำให้เป็นพื้นที่เก็บฝุ่นทำความสะอาดยากหน่อยนะคะ ส่วนถ้าเป็นรางด้านบนอย่างเดียวจะช่วยให้ดูสวยงามและไม่เก็บฝุ่น แต่อาจจะทำให้บานแกว่งได้นิดหน่อย และอาจจะต้องทำความสะอาดบ่อยสักหน่อยค่ะ แต่ที่สำคัญคือราคาที่จับต้องได้ง่าย
- ข้อดี : เป็นฉากสำเร็จรูป มีให้เลือกหลากหลายแบบ ติดตั้ง/รื้อถอนได้ง่าย และเร็วที่สุดในบรรดาผนังทั้งหมด ราคาไม่สูง(ขึ้นอยู่กับวัสดุ)
- ข้อเสีย : เป็นผนังที่ไม่สามารถรับน้ำหนักได้เลย มีอายุการใช้งานไม่คงทนถาวร ถ้าเป็นฉากกั้นที่ไม่มีรางแนบสนิทกับพื้นจะทำให้มีกลิ่นเล็ดลอดฟุ้งกระจายได้เช่นกันค่ะ
ราคา
ราคามีความหลากหลายขึ้นอยู่กับชนิดของวัสดุและร้านค้านะคะ ยกตัวอย่างเป็นฉากกั้น PVC บานเฟี้ยมที่นิยมใช้กั้นแอร์ คือ
- ฉากกั้นผนัง PVC ราคาประมาณ 800 บาท/ตารางเมตร = 800 x 9 = 7,200 บาท
- ฉากกั้นห้องแบบมีช่องโปร่งแสง ราคาประมาณ 1,600 บาท/ตารางเมตร = 1,600 x 9 = 14,400 บาท
ฉากกั้นผนัง เหมาะกับคนที่ต้องการความรวดเร็วในการติดตั้ง ไม่ต้องการความคงทนถาวรมากนัก สามารถรื้อถอนได้ง่าย รวดเร็ว และไม่สร้างความเสียหายให้กับภายในห้อง และสามารถเลือกแต่งห้องได้ตามความชอบที่หลากหลาย แบบที่ผนังกระจก ผนังเบา และผนังก่ออิฐไม่สามารถทำได้ เช่น ต้องการบานเฟี้ยม ลายไม้สไตล์ญี่ปุ่น, หรือผนังที่เวลาเปิดสามารถเปิดได้กว้างเต็มผนัง เป็นต้น
สรุป
สุดท้ายนี้หวังว่าเพื่อนๆจะเลือกกั้นครัวปิดได้อย่างที่ต้องการและเหมาะสมกับงบประมาณของตัวเองกันนะคะ ใครที่มีข้อสงสัยเพิ่มเติมหรือข้อแนะนำก็สามารถมาแชร์กันได้ที่ comment ด้านล่างนี้ได้เลย และคราวหน้า ThinkofLiving จะมีบทความดีๆอะไรมาฝากกันอีก อย่าลืมติดตามกันด้วยนะคะ
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมได้ที่ >> ทำความรู้จักกับวัสดุภายในครัว
ติดตามพวกเราได้ที่
Website : www.thinkofliving.com
Twitter : www.twitter.com/thinkofliving
YouTube : www.youtube.com/ThinkofLiving
Instagram : www.instagram.com/thinkofliving
Facebook : ThinkofLiving