ช่วงนี้ต้องอัปเดตข่าวน้ำท่วมกันอย่างใกล้ชิดนะคะ เนื่องจากประเทศไทยกำลังเผชิญกับพายุฝนหลายระลอก ระดับน้ำในเขื่อนต่างๆ สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ต้องระบายอย่างเร่งด่วน ส่งผลให้ในหลายๆ พื้นที่เจอภาวะน้ำท่วมและเสี่ยงน้ำท่วม โดยเฉพาะจังหวัดในเขตภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพฯ และปริมณฑล

หากยังจำกันได้ เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 สร้างความเสียหายอย่างหนักแก่อาคารบ้านเรือนเป็นจำนวนมาก หลายเขตน้ำท่วมขังนานนับเดือน  หลังน้ำลดแล้วต้องซ่อมแซมที่อยู่อาศัยกันพักใหญ่ เสียทั้งเงิน ทั้งเวลาและสุขภาพจิตไปตามๆ กัน จากวิกฤติอุทกภัยเมื่อ 10 ปีที่แล้วคงเป็นประสบการณ์ให้เราได้เตรียมตัวให้พร้อม เพราะคาดเดาไม่ได้ว่าปีนี้จะเกิดวิกฤติซ้ำรอยเดิมหรือไม่ ดังนั้นคนที่มีบ้านอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ควรเตรียมรับมือกับน้ำท่วมให้ทันท่วงที เพื่อลดความเสียหายให้ได้มากที่สุด

รวมถึงคนที่กำลังวางแผนซื้อบ้านแต่ไม่อยากเจอน้ำท่วม ควรเลือกซื้อบ้านในทำเลที่ปลอดภัยและเลือกโครงการที่มีระบบป้องกันน้ำท่วมที่ดีด้วย ซึ่งรายละเอียดจะเป็นอย่างไร  Think of living สรุปมาให้ดูกันง่ายๆ ตามแผนภาพต่อไปนี้ค่ะ

ไม่อยากเจอน้ำท่วม เลือกซื้อบ้านในทำเลปลอดภัย

แน่นอนว่าใครๆ ก็คงไม่อยากให้บ้านน้ำท่วมถูกมั้ยคะ ดังนั้นหากใครกำลังวางแผนหาซื้อบ้าน แล้วไม่อยากเจอปัญหานี้ ทางแก้ก็คือพยายามเลี่ยงพื้นที่ที่เสี่ยงต่อน้ำท่วมจะดีที่สุดค่ะ โดยศึกษาข้อมูลของทำเลนั้นๆ ก่อนตัดสินใจซื้อบ้าน ดูว่าทำเลที่ตั้งโครงการเป็นที่ราบลุ่มหรือไม่ เพราะหากเป็นที่ลุ่มต่ำ เวลาเกิดน้ำท่วม น้ำก็จะไหลมาสู่พื้นที่โครงการและบ้านของเราได้ง่าย นอกจากนี้บ้านที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำมากๆ เช่น แม่น้ำหรือคลอง ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน ควรพิจารณาดูระบบบริหารจัดการน้ำของหน่วยงานในเขตหรือเทศบาลร่วมด้วยว่า มีวิธีการจัดการอย่างไรบ้าง

ส่วนที่ต้องพิจารณาประกอบด้วยอีกอย่างคือการระบายน้ำค่ะ บางครั้งเพียงฝนตกหนักๆ หากมีการระบายน้ำที่ไม่ดี น้ำก็ท่วมขังได้ อย่างที่เคยได้ยินอยู่บ่อยๆ ว่าน้ำระบายไม่ทันนั่นเอง วิธีการเช็คเบื้องต้นให้ลองดูจากข่าวเก่าๆ ว่าพื้นที่นั้นเคยมีข่าวน้ำท่วมมั้ย พร้อมทั้งดูลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ว่าเป็นที่ลุ่มหรือไม่ ใกล้แหล่งน้ำมากน้อยแค่ไหน รวมถึงให้ลองไปสำรวจพื้นที่ที่เราจะซื้อบ้านด้วยตนเอง หากไม่แน่ใจให้สอบถามข้อมูลจากคนให้พื้นที่เพิ่มเติม ก็จะได้ข้อมูลเชิงลึกมากขึ้นค่ะ

สำหรับในตาราง เป็นข้อมูลเขตพื้นที่ในกรุงเทพฯ ที่ปลอดภัยจากน้ำท่วมและพื้นที่ที่น้ำท่วมมากและนาน ซึ่งเป็นข้อมูลอ้างอิงจากช่วงน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 จะเห็นได้ว่า 12 เขตปลอดภัย ได้แก่ ทุ่งครุ, ราษฎร์บูรณะ, คลองสาน, ป้อมปราบศัตรูพ่าย, ราชเทวี, วังทองหลาง, พญาไท, วัฒนา, สาทร, สวนหลวง, ปทุมวัน และบางนา ยังไงก็ลองใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาได้เบื้องต้น แต่ทั้งนี้ไม่ได้แปลว่าเขตอื่นๆ ที่เหลือจะเจอกับสถานการณ์น้ำท่วมหนักเสมอไปนะ ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการน้ำในแต่ละปี และการวางระบบจัดการน้ำของโครงการที่เราเลือกซื้อด้วยค่ะ

เลือกโครงการบ้านที่มีระบบป้องกันน้ำท่วมที่มีประสิทธิภาพ

นอกจากปัจจัยเรื่องทำเลแล้ว สิ่งที่ควรพิจารณาร่วมด้วยเวลาเลือกซื้อบ้านให้ปลอดภัยจากน้ำท่วม คือการออกแบบโครงการบ้านนั่นเองค่ะ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ยกตัวอย่าง ตัวผู้เขียนเองเคยรับฟังเรื่องราวของคนรู้จักคนหนึ่ง ได้บอกกับเราว่าในช่วงปี 54 ในทำเลที่เค้าอยู่อาศัยนั้นเกิดน้ำท่วม หมู่บ้านข้างเคียงโดนหมด แต่โครงการบ้านจัดสรรที่เค้าอยู่นั้นกลับไม่โดนน้ำท่วม เนื่องจากทางโครงการมีการออกแบบ วางระบบที่ดีมาตั้งแต่ต้น รวมถึงเวลาน้ำมาก็มีการใช้อุปกรณ์ป้องกันต่างๆ อย่างเต็มที่ สามารถป้องกันไม่ให้น้ำท่วมเข้าหมู่บ้านได้ ได้รับความเสียหายเพียงบางส่วนเท่านั้น

ดังนั้นเวลาเลือกซื้อบ้านควรสอบถามข้อมูลจากทางโครงการให้ดีว่ามีระบบป้องกันอย่างไรบ้าง และสังเกตดูการออกแบบภายในโครงการด้วยค่ะ อาทิเช่น

  • มีการปรับระดับดินภายในโครงการ
  • ทำรั้วรอบโครงการ
  • ทำเนินหลังเต่า
  • เสริมคันดิน
  • ทำระบบระบายน้ำภายในโครงการที่มีประสิทธิภาพ
  • ทำกำแพงป้องกันน้ำ

สามารถอ่านบทความ “ซื้อบ้านทำเลไหน น้ำไม่ท่วม” คลิกที่นี่

วิธีเตรียมบ้านเพื่อรับมือน้ำท่วม

ในกรณีที่บ้านของเราตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยง และทำเลเคยมีประวัติน้ำท่วมมาก่อนหน้านี้ อาจมีความเสี่ยงที่น้ำจะท่วมซ้ำอย่างเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นการเตรียมตัว วางแผนรับมือกับน้ำท่วมจึงเป็นสิ่งจำเป็นมาก ทั้งนี้เรามีวิธีการเตรียมบ้านเพื่อป้องกันความเสียหายจากน้ำท่วมให้ได้มากที่สุดมาให้ดูค่ะ

การป้องกันและชะลอน้ำท่วมเข้าบ้าน 

  • ทำกำแพงกั้นน้ำ
  • ใช้กระสอบทรายกันน้ำ
  • อุดรอยต่อด้วยดินน้ำมัน หรือทำกำแพงกันน้ำเล็กๆ ช่วงรอยต่อส่วนต่างๆ ของบ้าน เช่น หน้าต่างและประตู
  • ทาสีกันน้ำและเชื้อรา หรือใช้แผ่นพลาสติกและผ้าใบหุ้มแปะด้วยเทปกาวเหนียวแน่น บริเวณส่วนล่างของตัวบ้าน

วางแผนป้องกันน้ำผุดภายในบ้านผ่านระบบประปา

  • ใช้วัสดุอุดง่ายๆ ทับหรืออุดท่อระบายน้ำ เช่น กระสอบทราย, ผ้า, กระดาษหนังสือพิมพ์ขยำให้แน่น เป็นต้น
  • ใช้ท่อ PVC ขนาดใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลาง 4 นิ้วมาต่อครอบท่อระบายน้ำต่อให้สูงกว่าระดับน้ำที่ท่วม เผื่อความสูงไว้ในกรณีท่วมหนักได้

  • ขนย้ายเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้าขึ้นชั้น 2 ของบ้าน เพื่อป้องกันความเสียหาย
  • ป้องกันระบบไฟฟ้าด้วยการสับสวิตช์ไฟหรือปิดคัตเอาท์ชั้นล่าง แต่ชั้นบนสามารถใช้ได้ตามปกติ ดังนั้นแผงควบคุมไฟฟ้าควรแยกกันในแต่ละชั้น หลีกเลี่ยงการใช้ไฟฟ้าในจุดที่น้ำท่วม และเมื่อน้ำลดแล้วควรตรวจสอบไฟรั่วก่อนเปิดใช้งาน เพื่อความปลอดภัย
  • ใช้เครื่องสูบน้ำ กรณีที่น้ำไหลเข้ามาในบ้าน สามารถใช้เครื่องสูบน้ำออกไปยังด้านนอกได้ แต่ควรปิดวาล์วน้ำเพื่อตัดการเชื่อมต่อกับท่อน้ำสาธารณะทางด้านนอก ป้องกันไม่ให้น้ำไหลย้อนมายังท่อภายในบ้าน

สามารถอ่านบทความ “น้ำกำลังจะท่วม! เตรียมบ้านเพื่อรับมือกับน้ำท่วมอย่างไร ให้เสียหายน้อยที่สุด” คลิกที่นี่

รวมถึงบทความ “วิธีการตรวจสอบและซ่อมแซมหลังบ้านน้ำท่วมด้วยตัวเอง” คลิกที่นี่

ปิดท้ายกันด้วย Application แจ้งเตือนภัยน้ำท่วม ที่ควรโหลดไว้ติดมือถือ เพื่อใช้เช็คข้อมูลข่าวสารภัยพิบัติและระดับน้ำในจุดเสี่ยงต่างๆ โดยเรารวมมาให้ 4 application ด้วยกันค่ะ อย่าลืมโหลดกันด้วยนะคะ

ส่วนถ้าใครมีประสบการณ์ป้องกันน้ำท่วมที่น่าสนใจ หรือมีข้อมูลสถานการณ์เกี่ยวกับน้ำท่วมที่อยากมาแชร์กัน ก็ Comment มาบอกกันได้ ดูแลสุขภาพด้วยนะคะ