ในช่วงเวลาที่ต้องอยู่บ้านเป็นระยะเวลานานๆ เชื่อว่าหลายๆคนคงจะเริ่มเบื่อบรรยากาศเดิมๆ บางคนก็เริ่มจัดบ้านใหม่ย้ายเฟอร์นิเจอร์ หรือแม้กระทั้งสั่งซื้อของใช้ต่างๆเพื่อสร้างพื้นที่ในการอยู่อาศัยให้ไม่น่าเบื่อจำเจ การมีสวนเล็กๆหรือพื้นที่สีเขียวภายในบ้านก็เป็นอีกอย่างที่สามารถช่วยเพิ่มบรรยากาศภายในบ้าน สร้างพลังบวกในการอยู่อาศัยและการใช้ชีวิต การอยู่โดยมีธรรมชาติแวดล้อม ช่วยสร้างความผ่อนคลายและเพิ่มความสดชื่นได้อยู่เสมอ ไม่แปลกที่หลายๆคนเลือกที่จะไปนั่งเล่นหรือทำกิจกรรมยามว่างในสวนสาธารณะ แต่ถ้าเราสามารถปรับเปลี่ยนความรู้สึกเหล่านั้นมาไว้ในบ้านของเราได้คงเป็นเรื่องที่ดีมากเช่นกัน
ในความเป็นจริงถ้าใครอยู่บ้านที่มีบริเวณบ้าน การจัดสวนหรือสร้างพื้นที่สีเขียวในบ้านคงไม่ใช้เรื่องยากหรือเป็นปัญหามากนัก แต่สำหรับบ้านที่มีข้อจำกัดเรื่องขนาดของพื้นที่ อย่างทาวน์โฮมและคอนโดมิเนียม ถ้าจะจัดสวนหรือสร้างพื้นที่สีเขียวหลายคนอาจจะตั้งคำถามว่าสองสิ่งนี้จะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร เรียกได้ว่าไม่มีพื้นที่เอื้ออำนวยต่อพื้นที่สีเขียว การทำสวน หรือปลูกต้นไม้ได้เลย
จริงๆแล้วถ้าเราลองเปลี่ยนมุมมองใหม่ ว่าสวนในบ้านไม่จำเป็นต้องเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่เสมอไป ไม่จำเป็นต้องเป็นพื้นที่เปิดโล่ง ลองหามุมและพื้นที่ในบ้านในมุมต่างๆก็สามารถปรับพื้นที่เหล่านั้นเป็นพื้นที่สวนสีเขียวขนาดกระทัดรัดได้เช่นกัน เช่น สวนแนวตั้ง สวนกระถาง สวนไม้แขวน สวนขวดและแปลงผักสวนครัวที่ปลูกเองในบ้านได้ เราลองมาดูกันว่าสวนแบบไหนบ้างที่ใช้พื้นที่ไม่เยอะและดูแลได้ง่ายกันค่ะ
- สวนแนวตั้ง (Vertical Garden)
นอกเหนือจากการปลูกต้นไม้ทำสวนที่เราเห็นกันบ่อยๆ ยังมีการจัดสวนอีกประเภทหนึ่ง ที่เปลี่ยนรูปแบบการจัดสวนแบบเดิมๆ โดยใช้ประโยชน์จากพื้นที่ในแนวตั้งมากขึ้น Vertical Garden หรือการจัดสวนในแนวตั้ง เป็นการปลูกและจัดตกแต่งต้นไม้ลงบนโครงสร้าง เช่น กำแพงหรือผนังตึก ชั้นวางหรือตะแกรงเหล็กแนวตั้ง เหมาะกับบ้านที่ไม่ได้มีพื้นที่มากนักใช้ประโยชน์จากพื้นที่แนวตั้งช่วยให้ได้พื้นที่ในแนวราบเพิ่มมากขึ้น
ซึ่งนอกจากจะได้เรื่องความสวยงามดูมีมิติของพื้นที่สีเขียวมากขึ้น ยังมีประโยชน์ช่วยลดมลพิษ ฝุ่น และป้องกันอุณหภูมิความร้อนจากภายนอกเข้าสู่ตัวบ้านได้อีกด้วย เพียงเราเลือกพันธุ์ไม้ที่เหมาะกับขนาดพื้นที่ ปลูกง่าย และเข้ากับบรรยากาศของบ้าน เลือกใช้พวกไม้เลื้อย หรือ ไม้ที่กิ่งก้านห้อยย้อยลงมา เช่น เคราฤาษี พลู ฟิโลก้ามกุ้ง บีโกเนีย เฟิร์น จัดวางเล่นระดับกัน หรือไม้ดอกเพิ่มความสดใสอย่าง กุหลาบ พิทูเนีย ดาวกระจาย มาปลูกในกระถางเรียงสูงในแนวตั้งหรือชั้นวาง เพียงแค่นี้เราก็จะมีสวนสวยๆไว้ในบ้านของเราแล้ว
2. สวนกระถาง
การจัดสวนลักษณะนี้อาจเลือกใช้เป็นกระถางที่มีวัสดุแตกต่างกันเพื่อให้เกิดความหลากหลายได้สีสันสวยงามแตกต่างกันไป หรือ กระถางที่มีขนาดแตกต่างกันมาจัดวางให้เกิดระดับสูงต่ำดูน่าสนใจ เราสามารถออกแบบการจัดสวนได้ด้วยตัวเองปรับเปลี่ยนตำแหน่งของต้นไม้ที่ปลูกได้ง่าย เพื่อสร้างมุมมองใหม่ให้สวนได้อยู่เสมอ สามารถจัดวางได้ทั้งในพื้นที่เปิด เช่น ระเบียง หน้าบ้าน หรือในพื้นที่ปิด เช่น ในตัวบ้าน ห้องในคอนโดมิเนียม ไปจนถึงห้องน้ำ แต่ก็ต้องเลือกลักษณะของต้นไม้ให้เหมาะกับแต่ละพื้นที่ด้วยเช่นกัน เช่น ต้องการแดดเยอะ ชอบที่ร่ม หรือเติบโตได้ดีในพื้นที่ชื้น
สำหรับต้นไม้ที่เลือกปลูกควรเป็นต้นไม้ที่ดูแลง่าย มีรูปทรงใบและลำต้นสวย หรือเป็นต้นไม้ที่ออกดอกก็จะช่วยเพิ่มความสดใสของสวนกระถางให้มากขึ้น เริ่มจากการปลูกต้นไม้ประเภทต่างๆ ที่ดูแลง่าย เติบโตได้ดี อาจเป็นต้นไม้ขนาดเล็ก หรือไม้ประดับต่างๆที่มีดอกสีสันสดใส เหมาะกับสภาพอากาศของบ้านเรา เช่น มอร์นิ่งกลอรี่ ที่ให้สีน้ำเงินและชมพูสด ดอกบานไม่รู้โรย ที่ให้สีเหลืองสดใส สามารถเลือกปลูกในกระถางได้เช่นกัน
3. สวนขวด (Terrarium)
สวนขวดหรือการปลูกต้นไม้ไว้ในภาชนะ เป็นสวนขนาดเล็กในร่มที่ตั้งอยู่ในภาชนะที่ทำจากแก้ว พืชที่อยู่ในสวนขวดนั้นต้องการดูแลเอาใจใส่น้อย สามารถใส่พืชหลากหลายสายพันธุ์ลงไปในภาชนะแก้วนั้นได้ สวนขวดยังนำมาประดับตกแต่งให้สวยงามนอกบ้านได้ หรือไว้ในบ้านตามจุดต่างๆ เช่น ตั้งไว้บนโต๊ะทำงาน ชั้นวางของข้างหัวเตียง หรือที่ไหนก็ตามที่มีพื้นที่จำกัดก็ได้ การจัดสวนขวดจะเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมจำลองของระบบนิเวศน์ของต้นไม้ให้มาอยู่ในภาชนะที่เป็นวัสดุกระจกใส เช่น โหลแก้ว ขวดแก้ว สามารถจัดได้ทั้งแบบระบบเปิดและระบบแบบปิด
สวนขวดระบบปิด : การจัดสวนในขวดหรือภาชนะที่จะต้องทำการปิดฝาไว้ตลอด มีเฉพาะการเปิดฝาเพื่อรดน้ำ ไม่จำเป็นต้องรดน้ำบ่อย สวนขวดระบบปิดอาศัยการรดน้ำเพียง 1-2 อาทิตย์ต่อครั้ง เป็นการสร้างระบบนิเวศน์ภายในขวด ทำให้ต้นไม้ในขวดเติบโตได้เอง โดยนำความชื้นที่เกิดในขวดที่ปิดฝาไว้กลับมาใช้ใหม่ได้ ต้นไม้ที่นิยมส่วนมากเป็นไม้เขตร้อนชื้น เพราะต้องการความชื้นสูง และเป็นต้นไม้ขนาดเล็ก เช่น มอส เฟิร์น ไอวี่ เป็นต้น
สวนขวดระบบเปิด : การจัดสวนในขวดหรือภาชนะที่เปิดฝาหรือช่องระบายอากาศไว้ แต่จะต้องการการรดน้ำมากกว่าสวนขวดแบบระบบปิด เพราะการเปิดขวดไว้จะทำให้ความชื้นนั้นไหลเวียนระเหยออกไปได้ง่าย สามารถเลือกต้นไม้ได้หลากหลายมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องเป็นพืชที่ชอบความชื้นเหมือนการทำสวนขวดระบบปิด แต่ยังคงเน้นไปที่ต้นไม้หรือพืชขนาดเล็ก
4. สวนไม้แขวน (Hanging Plant)
เป็นการปลูกต้นไม้โดยเปลี่ยนจากจัดวางในพื้นที่ราบให้อยู่ในแนวดิ่งแทน เพื่อช่วยประหยัดพื้นที่การใช้งาน นิยมแขวนไว้ตามส่วนต่างๆของบ้าน เช่น ชายคา ระเบียง หน้าต่าง เป็นต้น เหมาะกับห้องหรือพื้นที่ขนาดไม่ใหญ่มากแต่มีพื้นที่ด้านบนผนังหรือเพดานให้สามารถทำราวหรือตัวเกี่ยวแขวนกระถางหรือภาชนะสำหรับปลูกต้นไม้ได้ ข้อดีของสวนไม้แขวนคือ เราสามารถเคลื่อนย้ายตำแหน่งได้ง่าย ถ้าเลือกต้นไม้ที่ต้องการแสงแดด ก็สามารถเลือกย้ายไปแขวนในพื้นที่มีแสงแดดหรือย้ายไปรดน้ำได้ แต่ก็ต้องคอยหมั่นดูแลเรื่องความยาวของกิ่งก้านใบ ที่ห้อยลงมาในระยะที่ไปกระทบกับการใช้งานในพื้นที่บริเวณนั้นๆ
การจัดสวนไม้แขวนโดยส่วนมากจะนิยมเลือกต้นไม้ที่มีลักษณะที่เป็นไม้เลื้อยหรือมีการทิ้งตัวของลำต้น กิ่งก้านและใบลงด้านล่าง เพราะจะช่วยเพิ่มมิติและความน่าสนใจของสวนมากยิ่งขึ้น เช่น เฟิร์น ริพชาลิส ไอวี่ พรมออสเตรเลีย เดฟ เคราฤาษี เป็นต้น
5. แปลงผักสวนครัว (Vegetable plot)
การปลูกผักสวนครัว ภายในบ้านจริงๆแล้วไม่ได้มีขั้นตอนยุ่งยากอะไร ขึ้นอยู่กับการจัดเตรียมพื้นที่ และเลือกชนิดของผักที่เราจะปลูกให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและสภาพอากาศ อาจใช้วิธีแบบผสมผสาน ปลูกหมุนเวียนไปตามช่วงเวลาและฤดูกาล เพื่อให้ได้ผักที่มีคุณภาพดีมีความสดใหม่ ทำให้เรามีผักให้เก็บเกี่ยวรับประทานได้ตลอดทั้งปี ผักที่ใช้เวลาปลูก 1-2 เดือนก็สามารถเก็บรับประทานได้ เช่น ผักบุ้ง ผักโขม ผักกวางตุ้ง หรือประเภทเด็ดใบเก็บผลได้เรื่อยๆอย่าง กะเพรา โหระพา สะระแหน่ พริก ส่วนถ้าให้เด็กๆปลูกอาจเลือกที่เติบโตไวประมาณ 1 สัปดาห์ และดูง่ายๆอย่างเช่น ถั่วงอก ต้นอ่อนทานตะวัน เห็ดนางฟ้า หาตาข่ายมาคลุมสักหน่อยเพื่อป้องกันนกและแมลงต่างๆ เพียงแค่นี้เราก็จะมีผักสดสะอาดปลอดสารพิษรับประทานกันเองในบ้านได้แล้ว
นอกจากจะได้ผลผลิตแล้ว การปลูกผักสวนครัวยังช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวสวยๆให้แก่บ้านได้ด้วย เพียงแค่เปลี่ยนจากแปลงปลูก มาปลูกในแปลงผักขนาดเล็ก กระถางตั้งพื้น หรือกระถางแขวน ก็จะได้มุมมองใหม่ๆช่วยเพิ่มบรรยากาศในการอยู่อาศัยมากขึ้น
พื้นที่สีเขียวในบ้านทาวน์โฮม
บ้านทาวน์โฮมทุกแบบที่เราเห็นทั่วไปหรือตึกแถว ส่วนมากมักจะไม่ค่อยมีพื้นที่ดินมากสักเท่าไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งทาวน์โฮมที่ไม่ใช่หลังมุมก็แทบจะไม่มีเนื้อที่ให้ปลูกต้นไม้ การจัดพื้นที่สีเขียวในตัวบ้านจึงต้องเริ่มจากการแบ่งสัดส่วนพื้นที่จากตัวบ้านโดยไม่รบกวนกับพื้นที่ส่วนพักอาศัย เพื่อมาทำเป็นพื้นที่สวนที่เหมาะสม อยู่ในตำแหน่งที่เข้าถึงใช้งานได้ง่ายและดูแลได้ง่ายไปพร้อมๆกัน
เราลองมาดูกันว่าในบ้านทาวน์โฮมจริงๆแล้วมีพื้นที่ตรงไหนสามารถจัดสวนกันได้บ้าง และสวนแบบไหนถึงจะเหมาะกับพื้นที่นั้นในตัวบ้านกันค่ะ
หน้าบ้านและที่จอดรถ
ปกติแล้วหน้าบ้านของบ้านทาวน์โฮม ส่วนใหญ่จะถูกออกแบบมาให้เป็นที่จอดรถเกือบทั้งหมด ในกรณีที่เราซื้อบ้านมาตรฐาน ไม่ใช้แปลงมุมที่จะมีพื้นที่ด้านข้างมาให้ ยิ่งเป็นบ้านแบบสำหรับจอดรถ 2 คัน ความกว้างหน้าบ้านจะอยู่ที่ประมาณ 5 – 5.5 เมตรโดยประมาณ เรียกว่าจอดรถกันก็พอดีพื้นที่แล้ว ถ้าเราจะมีสวนหน้าบ้านเพื่อเพิ่มความสดชื่นให้หน้าบ้านสักหน่อย สวนแนวตั้ง (Vertical Garden) และสวนกระถาง ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ เพราะใช้พื้นที่ในแนบราบน้อย ไปใช้พื้นที่ส่วนของผนังแทน เพราะโดยปกติเราไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์จากผนังเท่าไหร่ หรือถ้าเลือกเป็นต้นไม้ในกระถาง ก็สามารถปรับเปลี่ยนตำแหน่งได้ตามความเหมาะสม
หลังบ้าน
พื้นที่ถัดมาคือส่วนของหลังบ้านของบ้านทาวน์โฮม โดยปกติตามกฎหมายจะต้องมีที่ว่างด้านหลังตัวบ้าน ระหว่างรั้วหรือแนวเขตที่ดิน – แนวผนังอาคาร ไม่น้อยกว่า 2 เมตร โดยส่วนมากทางโครงการก็จะใช้พื้นที่บริเวณนี้ เป็นที่ตั้งเครื่องปั๊มน้ำ ถังน้ำสำรอง หรือทำเป็นพื้นที่ครัวเปิดไม่มีสิ่งปกคลุม ลานซักล้างหรือใช้เป็นพื้นที่สวนหลังบ้าน
ในการใช้งานจริงๆแล้ว พื้นที่หลังบ้านเป็นพื้นที่ที่มีขนาดเกือบ ¼ ของชั้นล่างบ้านเลยก็ว่าได้ เรียกได้ว่าไม่น้อยเลยทีเดียว หลายๆคนไม่ได้ทำอะไรกับพื้นที่หลังบ้านเลย เพียงแค่ใช้เป็นลานซักล้างปกติทั่วไป ซึ่งรูปแบบการใช้งานเป็นส่วนซักล้าง ซักรีดนั้นจริงๆ แล้วไม่จำเป็นต้องมีขนาดใหญ่มากก็ได้ ทำให้หลายคนใช้งานพื้นที่ส่วนนี้ไม่เต็มที่เท่าไหร่นัก
ยกตัวอย่าง มีพื้นที่หลังบ้านทั้งหมด 5.5 x 2 เมตร เราสามารถแบ่งพื้นที่การใช้งานกั้นเป็นห้องครัวและส่วนซักล้าง ตั้งเครื่องซักผ้า ตู้เย็น มีประตูกั้นแบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วนใช้พื้นที่ประมาณ 3.5 x 2 เมตร ก็เพียงพอใช้งานโดยจะเหลือพื้นที่อีกประมาณ 2 x 2 เมตร หรือประมาณ 4 ตร.ม. สำหรับวาง Tank น้ำของตัวบ้าน และจัดเป็นพื้นที่สวนเล็กๆได้
เราสามารถแบ่งพื้นที่หลังบ้านเพื่อใช้จัดสวนเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวสร้างบรรยากาศที่ร่มรื่นได้ เช่น จัดสวนแนวตั้ง สวนกระถาง และปลูกผักสวนครัวเล็กๆ อีกทั้งยังได้แสงธรรมชาติ หลังบ้านไม่ได้สร้างปิดทึบทั้งหมด ตัวบ้านด้านในได้มีการถ่ายเทอากาศและจากพื้นที่ทำครัวอีกฝั่ง ช่วยให้อากาศไหลเวียนมากยิ่งขึ้น
ระเบียง
สำหรับบ้านทาวน์โฮม พื้นที่เปิดโล่งในชั้น 2 หรือชั้น 3 ของตัวบ้านถือว่ามีน้อยมาก โดยปกติจะถูกจัดเป็นพื้นที่สำหรับพักอาศัยทั้งหมด จะมีเฉพาะห้องที่หันออกทางด้านหน้าของตัวบ้านที่จะเพิ่มพื้นที่ระเบียงมาให้ส่วนพื้นที่จะเล็กหรือใหญ่ก็ขึ้นกับพื้นที่ของตัวบ้าน รูปแบบบ้านบางที่เน้นระเบียงขนาดใหญ่แบบที่เอาชุดโต๊ะมานั่งเล่นได้เลย แต่ส่วนใหญ่แล้วทาวน์โฮมจะให้พื้นที่ระเบียงมาไม่กว้างนักแค่พอออกมายืนชมวิว ระเบียงจึงถือเป็นพื้นที่มุมเปิดทางฝั่งด้านหน้าของตัวบ้านที่เราจะมองวิวผ่านอยู่เสมอ ทำให้พื้นที่ระเบียงเป็นอีกตำแหน่งของตัวบ้านที่หากเพิ่มพื้นที่สีเขียวเข้าไปแล้วจะช่วยเพิ่มบรรยากาศในการอยู่อาศัยในชั้นบนของตัวบ้านได้เป็นอย่างดี
พื้นที่ระเบียงของบ้านแต่ละหลังก็มีขนาดแตกต่างกันไป ทั้งเป็นแนวยาวแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้า หรือเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ซึ่งเราก็ต้องเลือกวิธีการจัดสวนให้เหมาะกับขนาดและรูปทรงของพื้นที่ด้วยเช่นกัน โดยใช้การจัดสวนแนวตั้ง สวนกระถาง หลีกเลี้ยงต้นไม้ขนาดใหญ่ที่ใช้พื้นที่เยอะ อาจจะทำพื้นยกระดับขึ้นมา ตีเว้นช่องให้สามารถรดน้ำต้นไม้และระบายน้ำลงท่อระบายน้ำของส่วนระเบียงได้
ภายในบ้าน
กรณีต้องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในบ้าน ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่อาจจะไม่สามารถปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่ได้ เราสามารถปรับเป็นไม้กระถางขนาดเล็ก จัดวางในตำแหน่งต่างๆที่ต้องการเพิ่มบรรยากาศภายใน สามารถย้ายเพื่อให้ต้นไม้รับแสงแดดได้ การปลูกต้นไม้ในบ้านหรือบริเวณที่ได้รับแสงน้อยจะต้องเลือกประเภทของต้นไม้ให้เหมาะสมด้วย
- ต้นไม้ต้องการแสงน้อย : นิยมปลูกในบ้านหรือภายในอาคารที่มีแสงแดดน้อย ได้แก่ ลิ้นมังกร พลูด่าง จั๋ง เขียวหมื่นปี แอฟริกันไวโอเล็ต บอนสี เปเปอโรเมีย ฟิโลเดนดรอน ปาล์มไผ่ หน้าวัว เป็นต้น
- ต้นไม้ต้องการแสงปานกลาง : กลุ่มนี้จะต้องการแสงแดดอยู่บ้าง ควรวางไว้ในตำแหน่งใกล้หน้าต่าง ประตู หรือระเบียงที่แดดส่องถึง โดยเฉพาะในตอนเช้าและตอนบ่าย เช่น เศรษฐี อากาเว่ สนฉัตรไซ่ง่อน หนวดปลาหมึกแคระ ฤๅษีผสม ปริก เป็นต้น
หรืออาจเลือกต้นไม้ที่ให้ประโยชน์อื่นๆเพิ่ม เช่น ต้นไม้ที่สามารถฟอกอากาศและดูดซับสารพิษในอากาศภายในบ้านได้ด้วย เช่น เดหลี ลิ้นมังกร เข็มสามสี มอนสเตร่า เป็นต้น
ห้องน้ำ
ห้องน้ำก็เป็นอีกพื้นที่ ที่เราสามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวได้ หลายคนอาจจะสงสัยว่าจะสามารถปลูกได้จริงหรือ? จะทำให้พื้นภายในเลอะเทอะหรือไม่ บริเวณที่เหมาะคือตามมุมหรือชั้นวางต่างๆ เช่น บนชักโครก อ่างล้างมือ ควรเลือกต้นไม้กระถางมีถาดหรือจานรองกระถาง ขนาดพอเหมาะไม่กินพื้นที่มากเกินไปและสามารถจัดพื้นที่และยกย้ายปรับเปลี่ยนได้ไม่ยาก แม้ว่าจะเป็นการปลูกต้นไม้ในห้องน้ำ แต่ต้นไม้ส่วนใหญ่ยังต้องการแสงเช่นกันมากน้อยก็แล้วแต่ประเภท ดังนั้นการจัดสวนในห้องน้ำจึงต้องคำนึงถึงตำแหน่งที่แสงจะส่องเข้ามาถึงพื้นที่ด้านในและเลือกวางต้นไม้ให้ตรงจุด ถ้าห้องน้ำมีช่องแสงหรือผนังกระจกอยู่ด้านข้างยิ่งเหมาะสำหรับจัดสวนเล็กๆบริเวณนั้นได้
ต้นไม้ที่ปลูกภายในห้องน้ำควรจะต้องดูแลง่าย อยู่ในกลุ่มของต้นไม้ในร่มชอบแสงน้อยไม่ต้องการแสงมาก ชอบความชื้นสูง อย่างเช่น เฟิร์น มอส พลูด่างสโนว์ดรอป เขียวหมื่นปี ว่านเสน่ห์จันทร์ ลิ้นมังกร สาวน้อยปะแป้ง เป็นต้น
พื้นที่สีเขียวในคอนโดมิเนียม
คอนโดเป็นอีกประเภทของที่อยู่อาศัยที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน ด้วยทำเลที่ตั้งและราคา หลายๆคนจึงเลือกที่จะอยู่คอนโดมิเนียมกันมากขึ้น โดยปกติแล้วโครงการคอนโดมิเนียมจะมีการจัดพื้นที่ส่วนกลางมาให้รวมไปถึงพื้นที่สีเขียว สนามและสวนหย่อมต่างๆให้ผู้พักอาศัยมาใช้งานร่วมกันคล้ายกับโครงการหมู่บ้านจัดสรรที่มีให้เช่นกัน แต่ในบางครั้งเราก็ไม่สามารถใช้พื้นที่สวนในโครงการได้ตลอดเวลา คงจะดีกว่าถ้าห้องของเราจะมีพื้นที่สีเขียวแบบส่วนตัวไว้ใช้บ้าง แต่ถ้าเราไม่ได้ซื้อคอนโดพื้นที่ใช้สอยเยอะๆ หรือมีการจัดแบ่งพื้นที่ในห้องเพื่อมาทำพื้นที่สีเขียว เราก็ต้องปรับจากพื้นที่ ที่ให้มาว่าจะใช้ตรงไหนได้บ้าง
เราลองมาดูพื้นที่การใช้งานหลักๆของคอนโด ห้องปกติทั่วไปลักษณะห้องแบบ Studio , 1 Bedroom – 2 Bedroom พื้นที่น่าจะพอนำมาปรับเพิ่มเป็นพื้นที่สีเขียวได้ หลายคนมองว่าแค่ตรงระเบียง แต่จริงๆแล้วเราสามารถมีพื้นที่สีเขียวหรือสวนเล็กๆในห้องได้เช่นกัน หลักการคิดคล้ายกับบ้านทาวน์โฮม ที่มีพื้นที่น้อยไม่มีบริเวณรอบตัวบ้านหรือส่วนเปิดโล่งให้ทำสวน จริงๆแล้วไม่ว่าจะเป็นในห้องที่เป็นส่วนปิดหรือระเบียงที่เป็นส่วนเปิดก็สามารถจัดสวนปลูกต้นไม้ได้ทั้งนั้นแค่เราลดสัดส่วนพื้นที่สีเขียวลงมาให้อยู่ในวัสดุที่ประหยัดการใช้พื้นที่แค่นี้เราก็จะมีสวนสวยๆในห้องคอนโดได้แล้ว
ระเบียง
พื้นที่ระเบียง เป็นพื้นที่เปิดโล่งภายในห้องที่สามารถปลูกต้นไม้จัดสวนได้ ยิ่งถ้าเป็นต้นไม้ที่ต้องการแสงแดดอย่างสม่ำเสมอ พื้นที่ระเบียงถือเป็นตำแหน่งที่ตอบโจทย์มากที่สุด เหมาะกับการจัดสวนแนวตั้ง สวนกระถาง หรือไม้แขวนต่างๆเพื่อประหยัดพื้นที่การใช้งาน โดยปกติแล้วพื้นที่ระเบียงจะใช้เป็นพื้นที่ซักล้าง-ตากผ้า และจะเหลือพื้นที่อีกนิดหน่อยให้มายืนชมวิวได้ แต่ก็จะมีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงการใช้งานพื้นที่ระเบียงด้วย ได้แก่
- เครื่องซักผ้า :ในหลายๆโครงการจะใช้ระเบียงเป็นพื้นที่สำหรับตั้งเครื่องซักผ้า กรณีจะจัดสวนต้องหักพื้นที่สำหรับตั้งเครื่องซักผ้าไว้ประมาณ 60 x 60 cm. เป็นอย่างน้อย แต่ถ้าโครงการไหนออกแบบให้เครื่องซักผ้าตั้งอยู่ในครัวก็ไม่ต้องเผื่อพื้นที่วางเครื่องซักผ้าอีก
- ราวตากผ้า : หากยังต้องการพื้นที่สำหรับตากผ้าตรงระเบียง อาจเลือกใช้การจัดสวนในแนวตั้งหรือสวนไม้แขวนแทน ก็จะเหลือพื้นที่ระเบียงให้สามารถตากผ้าได้
- คอมแอร์ (Condensing units) : โดยปกติแล้วจะนิยมติดเป็นแบบแขวนที่ผนัง ด้วยขาแขวนแอร์โดยเฉพาะจะช่วยประหยัดพื้นระเบียง แต่ถ้าโครงการไหนตั้งไว้ที่พื้นระเบียงก็ต้องหักพื้นที่ออกไปประมาณ 40 x 90 cm. ที่เหลือก็จะเป็นพื้นที่ใช้งานจริงของระเบียง
แต่ถ้าในกรณีที่ห้องของเราได้พื้นที่ระเบียงมาไม่มาก อาจเลือกใช้การจัดสวนกระถางและสวนแนวตั้งแทน โดยการทำเป็นชั้นวางติดกับแนวผนังทางด้านข้าง วางไล่ระดับกระถางในการปลูกต้นไม้ ก็จะใช้พื้นที่ไม่มากสามารถปลูกต้นไม้ได้หลากหลายขึ้น ไม่เปลืองพื้นที่ในส่วนของระเบียงของตัวห้อง
ภายในห้อง
มาที่ส่วนของตัวห้องในคอนโด เนื่องจากพื้นที่จำกัดการจัดสวนในห้องจึงต้องคำนึงถึงขนาดที่เหมาะสม โดยปกติแล้วคอนโดไม่ได้ถูกออกแบบให้ปลูกต้นไม้ได้โดยตรง เราจึงต้องปรับการใช้พื้นที่โดยการแทรกพื้นที่สีเขียวไว้ตามส่วนต่างๆแทน เช่น มุมห้อง บนเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ดังนั้นการจัดสวนในห้องแบบใช้พื้นที่จำกัดจึงเหมาะกับสวนกระถางที่ต้องการแสงแดดน้อยและมีให้เลือกได้หลากหลายขนาด สามารถปลูกต้นไม้ที่ลำต้นสูงได้ไว้ประดับตกแต่งตามมุมห้องหรือการจัดสวนขวด ที่ใช้พื้นที่ตามวัสดุที่นำมาจัดสวน เช่น ขวดโหล ขวดแก้ว สามารถตั้งบนชั้นวาง โต๊ะ หรือตู้ข้างเตียงได้
แต่ก็มีข้อควรระวังเนื่องจากต้องตั้งกระถางไว้ในตัวห้องต้องระวังการรดนำ้ถ้าไม่ยกไปรดที่ระเบียง ต้องมีถาดรองกระถางเสมอเพื่อป้องกันน้ำและความชื้นซึมลงพื้นห้อง เพราะคอนโด ส่วนใหญ่พื้นจะเป็นพื้นไม้ลามิเนตซึ่งไม่ทนต่อความชื้น และต้องหมั่นคอยดูแลและสังเกตต้นไม้อยู่เสมอเพราะต้นไม้ที่ปลูกในห้องหรือสถานที่ปิดพอนานๆไปมักจะไม่สวยสดใสเท่าเดิมควรยกไปในตำแหน่งที่โดนแดดบ้างและต้องรักษาความชุ่มชื้นพร้อมกับใส่ปุ๋ยในดินอยู่เสมอ
Tip : ต้นไทรใบสัก เป็นต้นไม้ที่กำลังเป็นที่นิยมปลูกประดับในอาคาร มีฟอร์มใบใหญ่ สวยงาม ต้นไม้ชนิดนี้เป็นไม้ไม่ผลัดใบจึงไม่ต้องกังวลเรื่องใบร่วง ต้องมาตามเก็บกวาด และยังดูแลง่ายอีกด้วย ที่ชื่อขึ้นต้นว่าไทรเพราะเป็นพืชตระกูลเดียวกับต้นไทร เติบโตค่อนข้างช้า จึงนิยมใช้เป็นไม้ประดับในอาคารได้
ห้องน้ำ
การจัดสวนหรือปลูกต้นไม้ในห้องน้ำ หลักการจะคล้ายกับห้องน้ำในบ้านและทาวน์โฮม ข้อดีนอกจากจะได้เรื่องความสวยงาม เพิ่มพื้นที่สีเขียว เพิ่มความสดชื่น สบายตา ต้นไม้ยังสามารถช่วยดูดซับกลิ่นเหม็นภายในห้องน้ำได้ด้วย เราควรเลือกต้นไม้ที่ดูแลได้ง่ายสามารถอยู่อาศัยในที่มีแสงน้อยได้ ชอบความชื้น มีขนาดที่เหมาะสมกับพื้นที่ห้องน้ำ เช่น หน้าวัว เดหลี เฟิร์นบอสตัน เฟิร์นก้างปลา ออมเงิน ออมทอง หนวดฤาษี เป็นต้น หรือเลือกประเภทต้นไม้ที่ปลูกในน้ำได้ก็จะช่วยเรื่องเศษดินเปรอะเปื้อนพื้นห้องน้ำ เช่น พลูด่าง เปปเปอร์โรเมียด่าง สาวน้อยประแป้ง อโกลนีมา เป็นต้น
สำหรับใครที่สนใจการปลูกต้นไม้และจัดสวน หวังว่าบทความนี้จะสามารถนำไปปรับใช้กับบ้านและห้องในการเลือกประเภทการจัดสวนให้เหมาะกับที่อยู่อาศัยของแต่ละคนได้นะคะ หากทีมงานมีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการปลูกต้นไม้และจัดสวนอีก จะมาอัพเดตให้อ่านกันอีกค่ะ
ติดตามพวกเราได้ที่
Website : www.thinkofliving.com
Twitter : www.twitter.com/thinkofliving
YouTube : www.youtube.com/ThinkofLiving
Instagram : www.instagram.com/thinkofliving
Facebook : ThinkofLiving