สวัสดีชาวลาดพร้าวทุกคนเลยค่า.. เหนื่อยกับปัญหารถติดกันอยู่ใช่ไหมเอ่ย? (ขอซาวเสียงหน่อย เย้ๆ ^^) เนื่องจากปัจจุบันมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ซึ่งหลายๆคนอาจจะสงสัยว่าตอนนี้ความคืบหน้าไปถึงไหนกันแล้ว! ตำแหน่งสถานีอยู่ตรงไหนบ้าง? เวลาเราไปใช้งานจะได้เลือกสถานีใกล้บ้านมากที่สุด

วันนี้เราจะพาไปหาคำตอบกัน พร้อมแอบย่องส่องดูความคืบหน้าล่าสุดของ “รถไฟฟ้าสายสีเหลือง (รัชดา-ลาดพร้าว-พัฒนาการ)” ที่ปัจจุบันก่อสร้างไปมากกว่า 70% ซึ่งส่วนใหญ่ตำแหน่งสถานีหลักได้ก่อสร้างแล้วเรียบร้อย แต่อาจจะมีเส้นทางเดินรถบางส่วนที่ยังติดปัญหาไม่ได้ก่อสร้าง ทำให้คาดว่าจะเปิดใช้งานได้เต็มรูปแบบช่วงต้นปี 2565 นู้นเลยนะคะ ส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างไรนั้น ไปทำความรู้จักกันค่ะ!!


ทำความรู้จัก “รถไฟฟ้าสายสีเหลือง” กันก่อน

รถไฟฟ้าสายสีเหลือง(ลาดพร้าว-สำโรง) เกิดขึ้น เนื่องจากต้องการลดปัญหาการจราจรติดขัด บนถนนลาดพร้าว ถนนศรีนครินทร์ และ ถนนเทพารักษ์ ที่มีปัญหารถติดมาอย่างยาวนานคนในพื้นที่น่าจะรู้กันดี โดยรถไฟฟ้าเส้นนี้สามารถพาคนเข้า-ออกตัวเมืองได้ง่ายมากขึ้น และเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าในอนาคตได้อีกหลายเส้นทาง อาทิ สายสีน้ำเงิน, สายสีเทา, สายสีส้ม, สายสีชมพู, Airport Rail Link และสายสีเขียว เป็นต้น

เส้นทางเดินรถรถไฟฟ้าสายสีเหลือง

สำหรับตัวรถไฟฟ้าสายสีเหลืองเป็นลักษณะ Monorail หรือรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (ยกระดับ) ที่มีทางเดินรถเล็กกว่าปกติ แต่ตัวรถขนาดใหญ่จุคนได้เท่ากับขบวนของ BTS เนื่องจากก่อสร้างบนถนนที่ไม่ได้มีขนาดกว้างมาก(ถนนลาดพร้าว) และลดการขอเวนคืนที่ดินให้มากที่สุด โดยรถไฟฟ้าเส้นนี้ ยาวประมาณ 30.4 กม. มีทั้งหมด 23 สถานี แบ่งเป็น 2 ช่วง 1.รัชดา-ลาดพร้าว-พัฒนาการ, 2.พัฒนาการ-สำโรง

  1. จุดเริ่มต้น บริเวณแยกรัชดา (เชื่อมกับอาคารจอดแล้วจร สถานี MRT ลาดพร้าว) ทั้งหมด 1 สถานี
  2. วิ่งเข้า ถนนลาดพร้าว ช่วงตอนกลาง-ปลาย (ช่วงแยกรัชดา-แยกบางกะปิ) ทั้งหมด 7 สถานี
  3. จากนั้นเลี้ยวเข้า ถนนศรีนครินทร์ วิ่งยาวลงมาจนถึงแยกเทพารักษ์ (กรุงเทพ-สมุทรปราการ) ทั้งหมด 12 สถานี
  4. เลี้ยวเข้า ถนนเทพารักษ์ เพื่อวิ่งเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว (BTS สำโรง) ทั้งหมด 3 สถานี

ภาพรวมที่อยู่อาศัยของรถไฟฟ้าสายสีเหลือง

ที่อยู่อาศัยตามรถไฟฟ้าสายสีเหลืองนี้ต้องบอกว่า โดยรวมแล้วจะมีบรรยากาศที่แตกต่างจากรถไฟฟ้าในเมืองที่เราได้ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เพราะลักษณะของทำเลรถไฟฟ้าสายสีเหลืองนี้ บรรยากาศโดยรวมเป็นการผสมกันระหว่างอาคารสูง (คอนโดมิเนียม) และโครงการแนวราบ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะอิงไปทางโครงการแนวราบเสียด้วยซ้ำ อีกทั้งตัวสถานีกับโครงการเองอาจจะไม่ได้อยู่ใกล้โครงการในระยะที่เดินได้สบาย

รถไฟฟ้าสายสีเหลือง (รัชดา-ลาดพร้าว-พัฒนาการ)

เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงรัชดา-ลาดพร้าว-พัฒนาการ” มีทั้งหมด 11 สถานี ระยะทางประมาณ 12.6 กม. โดยวันนี้เราขอจัดเป็นกลุ่มย่อยๆ เพื่อบ่งบอกว่าโซนไหนเหมาะใช้งานกับสถานีไหน แบ่งออกเป็นทั้งหมด 5 โซนด้วยกัน ได้แก่

  1. สถานีรัชดา เชื่อมต่อ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (MRT ลาดพร้าว)
  2. สถานีภาวนา, โชคชัย 4 เชื่อมต่อ ลาดพร้าว-วังหิน-โชคชัย 4
  3. สถานีลาดพร้าว 71, ลาดพร้าว 83 เชื่อมต่อ เลียบด่วน-รามอินทรา
  4. สถานีมหาดไทย, ลาดพร้าว 101, บางกะปิ เชื่อมต่อ ลาดพร้าวตอนปลาย
  5. สถานีแยกลำสาลี เชื่อมต่อ รถไฟฟ้าสายสีส้มในอนาคต (MRT แยกลำสาลี) /สถานีศรีกรีฑา เชื่อมต่อ กรุงเทพกรีฑาตัดใหม่ / สถานีพัฒนาการ เชื่อมต่อ รถไฟฟ้า Airport Rail Link สถานีหัวหมาก


1.Monorail สถานีรัชดา (YL 01 : รัชดา)

ที่ตั้ง : “YL01 : สถานีรัชดา เป็นสถานี Interchange กับ MRTลาดพร้าว ตัวสถานีเองตั้งอยู่บนถนนรัชดาภิเษกที่ขนานไปกับตัวอาคารจอดแล้วจร(บริเวณแยกรัชดา) และคาดว่าจะมีทางเดินเชื่อมเข้าตัวอาคารจอดรถได้เลย สำหรับข้อดีของอาคารจอดรถ คือมีทางเข้าทั้ง 2 ฝั่งถนนรัชดาภิเษก (ขาเข้า-ขาออก) และทางเข้าจากถนนลาดพร้าว

เหมาะกับใคร : สำหรับสถานีแรกนี้ แม้เป็นสถานี Interchange ก็จริง แต่คนที่อยู่ในละแวกนี้อาจจะไม่ได้ใช้งานเป็นหลักในการเข้าเมือง แต่ก็ทำให้มีตัวเลือกในการเดินทางมากขึ้น นั่งไปได้ทั้งบางกะปิ พัฒนาการ ศรีนครินทร์ โดยคนที่เหมาะสำหรับสถานีมีอยู่ 2 ตำแหน่ง คือคนที่อยู่บริเวณแยกรัชดา ที่มีคอนโด High Rise ส่วนคนที่อยู่บริเวณซ.รัชดา 32 ที่เชื่อมกับถนนลาดพร้าว-วังหิน ที่มีทั้งคอนโด Low Rise, Home Office และทาวน์โฮมสูง 3-4 ชั้น

อาคารจอดแล้วจร (MRT ลาดพร้าว)

อาคารจอดรถสูง 9 ชั้น ที่เชื่อมระหว่าง MRTลาดพร้าว(ใต้ดิน) และ Monorailรัชดา(บนดิน) โดยเปิดให้บริการตั้งแต่ 05:00-01:00 น. ที่สามารถรองรับรถได้ถึง 2,200 คัน ค่าใช้จ่าย รายเดือน 2,000 บาท/เดือน  รายวันแบ่งเป็น 2 ส่วน ผู้ใช้บริการ : 15 บาท/2 ชม. และผู้ไม่ใช้บริการ 50 บาท/1 ชม.

สภาพแวดล้อมรอบสถานี

Image 1/5
ฝั่งขาเข้า(ถนนรัชดาภิเษก) : ซ้ายมือมีทางเข้าซ.รัชดา 32 ที่ห่างจากตัวสถานีประมาณ 900 เมตร

ฝั่งขาเข้า(ถนนรัชดาภิเษก) : ซ้ายมือมีทางเข้าซ.รัชดา 32 ที่ห่างจากตัวสถานีประมาณ 900 เมตร

Update รูปภาพ ณ วันที่ 15 มกราคม 2564


2.Monorail สถานีภาวนา, สถานีโชคชัย4

ที่ตั้ง : “YL02 : สถานีภาวนา สถานีตั้งอยู่บนถนนลาดพร้าวตอนกลาง บริเวณปากซอยภาวนา(ลาดพร้าว 41) หรือใกล้ๆวัดลาดพร้าว แต่ก่อนเป็นแยกภาวนาที่คนลาดพร้าวชอบใช้เป็นทางลัดในการเข้าเมือง โดยเป็นเส้นที่เชื่อมกับถนนลาดพร้าว-วังหิน ซึ่งเป็นถนนที่เชื่อมไปออกถนนประดิษฐ์มนูธรรม(เกษตร-นวมินทร์) มีคนอาศัยบนย่านนี้เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นชุมชนดั้งเดิม และมีคอนโด Low Rise ให้เห็นกันบ้าง

ที่ตั้ง :  “YL03 : สถานีโชคชัย 4” สถานีตั้งอยู่หน้าตลาดโชคชัย 4 (ลาดพร้าว 53) ซึ่งบริเวณนี้ค่อนข้างคึกคักทีเดียว เพราะมีทั้งตลาดสด ตลาดนัด ให้คนมาเดินช้อปปิ้งกันได้หลากหลายช่วงเวลา รวมถึงเป็นซอยหลักที่เชื่อมเข้ากับถนนโชคชัย 4 ที่ขึ้นชื่อเรื่องของกินอร่อย คนอาศัยหนาแน่นเช่นเดียวกัน แต่ส่วนใหญ่เป็นตึกแถวริมถนนที่อยู่กันมายาวนาน

เหมาะกับใคร : สำหรับ 2 สถานีนี้คนที่ใช้งานเป็นหลักคือคนในโซนลาดพร้าว-วังหิน-โชคชัย 4 ซึ่งข้อดีของย่านนี้จะมีรถกระป้อให้บริการ โดยเป็นการพาคนจากด้านในออกมาถนนหลักลาดพร้าว ส่วนคนที่ใช้งานรองคือคนที่อยู่ในโซนลาดพร้าวฝั่งเลขคู่ บริเวณซ.ลาดพร้าว 48,64 ที่พอมีคอนโด Low Rise ให้เห็นกันบ้าง เนื่องจากเป็นซอยลัดที่เชื่อมออกถนนสุทธิสารวินิจฉัยได้ด้วย ต้องบอกก่อนว่าย่านนี้มีซอยตันค่อนข้างเยอะถ้าใครจะซื้อโครงการต้องสำรวจเส้นทางก่อนนะคะ

สภาพแวดล้อมรอบสถานีภาวนา

Image 1/5
ฝั่งขาออก(ลาดพร้าวเลขคี่) : บริเวณปากซ.ภาวนา(ลาดพร้าว 41)

ฝั่งขาออก(ลาดพร้าวเลขคี่) : บริเวณปากซ.ภาวนา(ลาดพร้าว 41)

Update รูปภาพ ณ วันที่ 15 มกราคม 2564

สภาพแวดล้อมรอบสถานีโชคชัย 4

Image 1/4
ฝั่งขาออก(ลาดพร้าวเลขคี่) : บริเวณปากซ.โชคชัย 4 (ลาดพร้าว 53)

ฝั่งขาออก(ลาดพร้าวเลขคี่) : บริเวณปากซ.โชคชัย 4 (ลาดพร้าว 53)

Update รูปภาพ ณ วันที่ 15 มกราคม 2564


3.Monorail สถานีลาดพร้าว71, สถานีลาดพร้าว 83

ที่ตั้ง : “YL04 : สถานีลาดพร้าว 71 สถานีตั้งอยู่ปากซอยลาดพร้าว 71 เชื่อมเข้ากับถนนนาคนิวาสใกล้กับโชคชัย 4 อีกหนึ่งย่านสำคัญของลาดพร้าว โดยเส้นนี้วิ่งยาวไปจนถึงสี่แยกสุคนธสวัสดิ์ตัดกับถนนประดิษฐ์มนูธรรม(เกษตร-นวมินทร์) สำหรับที่อยู่อาศัยค่อนข้างหนาแน่น มีคอนโด Low Rise บ้าง แต่ที่เด่นๆเลยคือเป็นทำเลที่มีโครงการประเภท Home Office หลายแห่ง

ที่ตั้ง :  “YL05 : สถานีลาดพร้าว 83” สถานีตั้งอยู่ปากซอยลาดพร้าว 83 ซึ่งเป็นลาดพร้าวตอนปลายแล้ว ฝั่งที่ข้ามทางด่วนฉลองรัชไป โดยจะอยู่เยื้องๆกับห้างสรรพสินค้า Big C ลาดพร้าว หรือคนแถวนี้เรียกกันว่า ตึก Imperial World เรียกว่าลงรถไฟฟ้ามาก็เดินเข้าห้างได้เลย บริเวณรอบๆสถานีเต็มไปด้วยที่พักอาศัยหนาแน่น มีร้านค้า ร้านอาหาร และออฟฟิศมากขึ้น

เหมาะกับใคร : สำหรับ 2 สถานีนี้อยู่ไม่ไกลกันมาก มีทางด่วนฉลองรัชกั้นกลางระหว่าง 2 สถานี ส่วนคนใช้งานหลักคือคนที่อยู่อาศัยบนถนนนาคนิวาส, ถนนเลียบด่วน-รามอินทรา และซอยลาดพร้าว 81-ซ.ลาดพร้าว 100 โดยที่พักอาศัยค่อนข้างหนาแน่น นอกจากเป็นชุมชนดั้งเดิม ก็มีโครงการแนวราบเกิดหลายแห่ง ทั้งบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์โฮม และ Home Office เป็นช่วงที่เหมาะสำหรับคนที่ใช้รถไฟฟ้าและรถยนต์ส่วนตัว ใกล้กับจุดขึ้น-ลงทางด่วนฉลองรัช ที่สามารถเข้า-ออกเมืองได้ง่าย

สภาพแวดล้อมรอบสถานีลาดพร้าว 71

Image 1/4
YL04 : สถานีลาดพร้าว 71

YL04 : สถานีลาดพร้าว 71

Update รูปภาพ ณ วันที่ 15 มกราคม 2564

สภาพแวดล้อมรอบสถานีลาดพร้าว 83

Image 1/4
ฝั่งขาออก(ลาดพร้าวเลขคี่) : ที่มีห้างเก่าแก่อย่าง Imperial World หรือ Big C ลาดพร้าวนั้นเอง

ฝั่งขาออก(ลาดพร้าวเลขคี่) : ที่มีห้างเก่าแก่อย่าง Imperial World หรือ Big C ลาดพร้าวนั้นเอง

Update รูปภาพ ณ วันที่ 15 มกราคม 2564


4.Monorail สถานีมหาดไทย, สถานีลาดพร้าว101, สถานีบางกะปิ

ที่ตั้ง : “YL06 : สถานีมหาดไทย สถานีตั้งอยู่ปากซอยลาดพร้าว 95 บริเวณโรงพยาบาลลาดพร้าวเลยนะคะ ใกล้ๆมี Foodland, Tesco Lotus Express ที่สามารถช้อปปิ้งซื้อของ หรือกินข้าวร้านอาหารชั้นนำได้หลากหลาย โดยฝั่งลาดพร้าวเลขคี่สำหรับสถานีเป็นซอยตัน แต่ที่น่าสนใจคือลาดพร้าวฝั่งเลขคู่ ซ.ลาดพร้าว 122 หรือซ.มหาดไทย 1 ที่เชื่อมไปออกถนนรามคำแหงได้ (บริเวณซ.รามคำแหง 65)

ที่ตั้ง :  “YL07 : สถานีลาดพร้าว 101” สถานีตั้งอยู่บริเวณปากซอยลาดพร้าว 101 ใกล้ตลาดสดลาดพร้าว มีของกินของใช้ตั้งแต่ปากซอย ส่วนถ้าขับเข้าไปภายในซอยก็ไม่ธรรมดามีของกินอร่อยๆขึ้นชื่อเพียบ โดยเป็นแหล่งที่มีคนอาศัยหนาแน่น ภายในมีซอยย่อยๆที่เชื่อมออกถนนหลักได้ทั้งเลียบทางด่วน-รามอินทรา และถนนประเสริฐมนูญกิจ ทำให้ละแวกนี้มีโครงการแนวราบใหม่ๆเกิดขึ้นพอสมควร

ที่ตั้ง :  “YL08 : สถานีบางกะปิ” สถานีตั้งอยู่บริเวณปากซอยลาดพร้าว 113 ที่ฝั่งตรงข้ามเป็น Makro แต่จุดสำคัญบริเวณนี้เลย คือมีห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ The Mall บางกะปิ ซึ่งเป็นห้างเก่าแก่ของคนที่นี่ นอกจากนี้ยังมีทั้งตลาดตะวันนา, ตลาดบางกะปิ, Tesco Lotus บางกะปิ เป็นต้น โดยถนนเส้นนี้เชื่อมต่อกับถนนเสรีไทย ที่มีมหาลัยดังอย่าง NIDA ต่อไปถ้าใครจะเดินทางมาเรียนก็ง่ายขึ้นนะ

เหมาะกับใคร : สำหรับ 3 สถานีนี้อยู่บริเวณช่วงลาดพร้าวตอนปลาย ที่มีคนอาศัยกันอยู่หนาแน่น โดยคนที่อยู่บริเวณลาดพร้าวฝั่งเลขคี่ก็ลงมาใช้งานปกติ ส่วนถ้าใครอยู่ลาดพร้าวฝั่งเลขคู่จะได้ประโยชน์มากขึ้น เพราะเป็นโซนระหว่างถนนรามคำแหง และถนนลาดพร้าว (แต่ต้องเลือกซอยที่ลัดหากันได้นะ) ทำให้มีตัวเลือกในการใช้งานมากขึ้น มีทั้งรถไฟฟ้าสายสีส้ม และสายสีเหลืองในอนาคต นอกจากนี้คนที่อยู่ย่านใกล้เคียงอย่างนวมินทร์-เสรีไทยก็เดินทางมาใช้งานได้ด้วยค่ะ

สภาพแวดล้อมรอบสถานีมหาดไทย

Image 1/5
ฝั่งขาออก(ลาดพร้าวเลขคี่) : ก่อนถึงตัวสถานีเราจะเจอ Foodland ที่เปิดให้บริการ 24 ชม. ก่อน

ฝั่งขาออก(ลาดพร้าวเลขคี่) : ก่อนถึงตัวสถานีเราจะเจอ Foodland ที่เปิดให้บริการ 24 ชม. ก่อน

Update รูปภาพ ณ วันที่ 15 มกราคม 2564

สภาพแวดล้อมรอบสถานีลาดพร้าว 101

Image 1/4
ฝั่งขาออก(ลาดพร้าวเลขคี่) : บริเวณแยกก่อนถึงตัวสถานี เป็นแยกลาดพร้าว 101 ที่เชื่อมไปออกอีกฝั่งได้

ฝั่งขาออก(ลาดพร้าวเลขคี่) : บริเวณแยกก่อนถึงตัวสถานี เป็นแยกลาดพร้าว 101 ที่เชื่อมไปออกอีกฝั่งได้

Update รูปภาพ ณ วันที่ 15 มกราคม 2564

สภาพแวดล้อมรอบสถานีบางกะปิ

Image 1/5
YL08 : สถานีบางกะปิ

YL08 : สถานีบางกะปิ

Update รูปภาพ ณ วันที่ 15 มกราคม 2564


5.Monorail สถานีแยกลำสาลี-สถานีศรีกรีฑา-สถานีพัฒนาการ

ที่ตั้ง : “YL09 : สถานีบางกะปิ สถานีตั้งอยู่บนถนนศรีนครินทร์ ใกล้แยกลำสาลี(ถนนรามคำแหงตัดกับถนนศรีนครินทร์” เป็นสถานี Interchange กับรถไฟฟ้าสายสีส้ม(ศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี) ที่ทำให้มีตัวเลือกในการเดินทางมากขึ้น ซึ่งก็เป็นอีกจุดที่น่าสนใจทีเดียว นอกจากนี้ยังมีการเดินทางโดยเรือคลองแสนแสบเข้าตัวเมืองได้อีกวิธีด้วย

เหมาะกับใคร : สำหรับแยกลำสาลีนี้ส่วนใหญ่เป็นคอนโดสูง (High Rise) ที่ช่วงราคาไม่แพงมากแต่ก็แลกมากับยูนิตที่ค่อนข้างเยอะในแต่ละโครงการ โดยข้อดีของคนที่อยู่สถานี Interchange คือมีตัวเลือกในการเดินทางมากยิ่งขึ้นนะ

ที่ตั้ง :  “YL10 : สถานีศรีกรีฑา” สถานีตั้งอยู่บนถนนศรีนครินทร์ ตั้งอยู่แยกศรีกรีฑา(ด้านทิศใต้) ที่ใกล้กับจุดตัดของถนนหัวหมากและกรุงเทพกรีฑาตัดใหม่ ซึ่งโครงการฝั่งถนนกรุงเทพกรีฑา มีโครงการแนวราบเปิดใหม่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นย่านที่กำลังบูมในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

เหมาะกับใคร : สำหรับคนที่อยู่ในโซนกรุงเทพกรีฑา หรือริมถนน Motorway ที่เป็นโครงการแนวราบในละแวกนี้ ที่เดินทางมาใช้งานได้ง่าย เพราะเวลาส่งคนเสร็จสามารถขับวนกลับบ้านได้เลย

ที่ตั้ง :  “YL11 : สถานีพัฒนาการ” สถานีตั้งอยู่ระหว่างจุดตัดทางรถไฟและจุดตัดถนนพัฒนาการ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า Airport Rail Link (สนามบินสุวรรณภูมิ-BTSพญาไท) และติดกับรถไฟที่วิ่งไปหัวตะเข้ หรือลาดกระบังได้ด้วยนะ

เหมาะกับใคร : คนทำงานในเมืองวิ่งตรงเข้าเมืองได้ง่ายเลย ไม่ต้องเสียเวลาอ้อมไปอ้อมมา แถมราคาคอนโดอาจจะถูกกว่าทำเลอื่นๆหลายเท่า รวมถึงคนที่ใช้สนามบินบ่อยๆ เพราะเดินทางไปสนามบินสุวรรณภูมิเพียง 3 สถานีเท่านั้น ทำให้ในละแวกนี้ปัจจุบันมีคอนโด High Rise เป็นจำนวนมากทีเดียว รองรับกลุ่มคนที่หลากหลาย

สภาพแวดล้อมรอบสถานีสถานีแยกลำสาลี

Image 1/4
บริเวณแยกลำสาลี

บริเวณแยกลำสาลี

Update รูปภาพ ณ วันที่ 15 มกราคม 2564

สภาพแวดล้อมรอบสถานีสถานีศรีกรีฑา

Image 1/4
บริเวณสะพานขึ้นไปถนนกรุงเทพกรีฑา และถนนหัวหมากที่วิ่งอ้อมไปด้านหลังราชมังคลาได้

บริเวณสะพานขึ้นไปถนนกรุงเทพกรีฑา และถนนหัวหมากที่วิ่งอ้อมไปด้านหลังราชมังคลาได้

Update รูปภาพ ณ วันที่ 15 มกราคม 2564

สภาพแวดล้อมรอบสถานีสถานีพัฒนาการ

Image 1/6
บริเวณทางแยกเข้า Motorway กรุงเทพ-ชลบุรี

บริเวณทางแยกเข้า Motorway กรุงเทพ-ชลบุรี

Update รูปภาพ ณ วันที่ 15 มกราคม 2564


สรุปความคิดเห็นของผู้เขียน

รถไฟฟ้าสายสีเหลือง (รัชดา-ลาดพร้าว-พัฒนาการ) ส่วนใหญ่ตัวสถานีของช่วงนี้จะอยู่บนถนนลาดพร้าวซะเกือบหมด เนื่องจากเป็นทำเลที่มีคนอาศัยอยู่หนาแน่น ทำให้มีหลายสถานี เพื่อให้คนใช้งานได้ทั่วถึง โดยย่านลาดพร้าวเป็นโซนที่มี Demand ความต้องการอาศัยในย่านนี้สูงมากทีเดียว เนื่องจากเป็นโซนที่วิ่งเข้าเมืองได้ง่าย และเริ่มมีโครงการแนวราบขายกันบ้างแล้ว

โดยรูปแบบที่อยู่อาศัยติดถนนลาดพร้าว ส่วนใหญ่เป็นตึกแถวเรียงกันยาว ปะปนกับอาคารพาณิชย์ และอาคารสูงแต่มีไม่มากนัก ซึ่งจากวันที่เราลงพื้นที่สำรวจมาตึกแถวติดถนนใหญ่หลายแห่ง เริ่มติดป้ายประกาศขาย-เช่ากันแล้ว เนื่องจากมูลค่าที่ดินบนถนนลาดพร้าวสูงขึ้น โดยช่วงราคาประมาณ 250,000-300,000 บาท/ตร.ม. ที่เพิ่มขึ้นจากเดิมเยอะพอสมควร ไม่แน่ว่าอนาคตเราอาจจะเห็นถนนลาดพร้าวมีคอนโดสูงเกิดขึ้นหลายโครงการเลย

สำหรับใครต้องการอยู่คอนโดสูงในช่วงแรกนี้ ก็มีแนะนำด้วยกัน 2 สถานีคือ สถานีแยกลำสาลีและพัฒนาการ เนื่องจากเป็นสถานี Interchange (สายสีส้ม, Airport Rail Link) ส่วนถ้าใครต้องการที่อยู่อาศัยแนวราบ ทั้งทาวน์โฮมย่านลาดพร้าว หรือบ้านหรูก็มีแนะนำ 3 ย่านด้วยกัน ย่านเลียบด่วน-รามอินทรา, บ้านราคา 20-30 ล้านบาท ย่านทาวน์อินทาวน์ และ บ้านเดี่ยว ราคา 10-30 ล้าน ย่านกรุงเทพกรีฑา

สำหรับผู้อ่านท่านไหนสนใจรถไฟฟ้าสายอื่นๆรอบกรุงเทพและปริมณฑล สามารถอัพเดตข้อมูลเบื้องต้นได้ที่  รวมรถไฟฟ้า 13 สาย ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ครั้งหน้า Think of Living มีบทความดีๆอะไรมานำเสนอ อย่าลืมติดตามกันด้วยน้าาา ^^


ThinkofLiving มี LINE Official Account แล้วนะคะ
ไม่อยากพลาดข้อมูลข่าวสารก็ Add เลย > https://lin.ee/svACOxc