บ้าน เป็นสินทรัพย์ที่มีราคาสูง ยิ่งในปัจจุบันการจะซื้อบ้านด้วยเงินสดนั้นถือว่ายากทีเดียวค่ะ ทางที่เราจะสามารถซื้อบ้านได้สำหรับคนทั่วไปก็คือการขอ สินเชื่อ จากธนาคาร ซึ่งจะเป็นภาระให้เราต้องผ่อนต่อเนื่องไป 30 – 40 ปีเลยทีเดียว ยิ่งระยะเวลาที่ผ่อนยาวนานมากเท่าไหร่ ทำให้เรายิ่งเสีย ดอกเบี้ย ให้กับธนาคารเพิ่มมากขึ้นไปอีก หลายคนอาจจะยังไม่ทราบ ว่าถ้าเราซื้อบ้านราคา 3 ล้านบาท สุดท้ายแล้วผ่อนครบเราอาจจะเสียค่าดอกเบี้ยไปถึงเท่าตัว หรือรวมที่ผ่อนไปทั้งหมดกว่า 6 ล้านบาทเลยนะ
ใครที่กำลังกู้ซื้อบ้านแล้วมองหาเทคนิค ‘โปะบ้าน’ เพื่อให้หมดเร็ว หมดไว เสียดอกเบี้ยน้อย วันนี้เราจะพาทุกคนมาคำนวณดูพร้อมๆ กันเลยค่ะ ว่าบ้านที่เราผ่อนอยู่ โปะเท่าไหร่ดี แล้วจะหมดไวขึ้นกี่เดือน? ด้วย Application ฟรี ที่สามารถโหลดมาใช้กันได้ทุกคน
- เทคนิคโปะบ้าน” อย่างไร จาก 30 ปี เหลือ 15 ปี
- รีไฟแนนซ์ (Refinance) กับธนาคารไหน เสียดอกเบี้ยต่ำสุด ปี 2566
- ดอกเบี้ยลอยตัว ส่งผลกระทบอย่างไรกับคนซื้อบ้าน?
- ผ่อนบ้านไม่ไหว ทำอย่างไรไม่ให้โดนยึด?
- สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ Reverse Mortgage คืออะไร ทำอย่างไรให้ มีบ้านอยู่-มีเงินใช้ ในวัยหลังเกษียณ
เทคนิค ‘โปะเงินต้น’
คือ การที่เราจ่ายค่าผ่อนบ้านเกินกว่าค่างวดปกติ ซึ่งสามารถทำแบบสม่ำเสมอหรือโปะแล้วแต่งวดได้ เช่น โปะปีละ 1 ครั้งตอนโบนัสออก หรือมีเงินพิเศษเข้ามา เป็นต้น
ตัวอย่าง : ค่างวดปกติอยู่ที่ 15,000 บาท เราจ่ายไป 20,000 บาท เงินส่วนที่เกินจากค่างวดปกติ 5,000 บาทก็จะถูกเอาไปโปะเงินต้น ทำให้เราเสียดอกเบี้ยในเดือนถัดไปลดลง เพราะดอกเบี้ยบ้านเป็นแบบลดต้นลดดอกนั่นเองค่ะ
การโปะบ้านจึงเป็นวิธีที่ช่วยให้เราลดทั้งระยะเวลาในการผ่อน และลดค่าดอกเบี้ยลงในงวดถัดๆ ไปได้ดีที่สุด แต่ก็อย่างลืมไปขอลดดอกเบี้ย (Retention) ทุกๆ 3 ปี หรือรีไฟแนนซ์ (Refinance) เพื่อช่วยลดอัตราดอกเบี้ยด้วยนะคะ
ปกติแล้วการคำนวณหายอดเงินผ่อนของบ้าน ระยเวลาผ่อน และการโปะ จะมีวิธีคิดที่ค่อนข้างซับซ้อน แต่เรามีตัวช่วยให้เพื่อนๆ สามารถคำนวณได้ง่ายๆ ตอนนี้เราขอให้ทุกคนหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาลองกดไปพร้อมๆ กันเลยค่ะ
ปัจจุบันมี Application คำนวณสินเชื่อมาให้ใช้งานกันอย่างแพร่หลายเลยนะคะ เราจะขอลองยกตัวอย่างมาให้ชมกัน ดังนี้
EZ Financial Calculators (iOS) หรือ Financial Calculators (Android)
Application แรกที่เราจะใช้กันเป็นตัวอย่างเพื่อให้เพื่อนๆ เข้าใจก็คือEZ Financial Calculators (iOS)หรือFinancial Calculators (Android)ซึ่งมีให้โหลดทั้ง iOS และ Android แต่จะเป็นเวอร์ชันภาษาอังกฤษ*ค่ะ
ข้อดี : นอกจากคำนวณเงินกู้ที่อยู่อาศัยแล้ว มีโปรแกรมคำนวณอื่นๆ ให้เราเลือกเล่นได้อีกด้วยค่ะ
*สำหรับใครชอบเวอร์ชัน ภาษาไทย ให้เลื่อนลงไปดูที่แอพพลิเคชันถัดไปได้เลย
เข้ามาแล้วก็จะมีเครื่องมือคำนวณทางการเงินให้เลือกหลากหลายเลยทีเดียวค่ะ ให้เรากดเข้าไปตรง ‘Loan Calculator’ สำหรับคำนวณ ‘สินเชื่อที่อยู่อาศัย’ นั่นเอง
เมื่อกดเข้าไปแล้วจะขึ้นช่อวงว่างให้กรอกข้อมูลของเราลงไปค่ะ
เรามาลองคำนวณดูเล่นๆ ว่าถ้ากู้ธนาคารซื้อบ้านราคาหลังละ 5,000,000 บาท กู้ได้ 100% ระยะเวลาผ่อน 30 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 6% ต่อปี เราจะได้ยอดผ่อนต่อเดือนเท่าไหร่ โดยเมื่อกรอกข้อมูลของตัวเองลงไปแล้ว ให้กดคำว่า >> CALCULATE ด้านล่างได้เลย
พอกดคำนวณออกมาแล้วจะเห็นว่ามีค่างวดที่ต้องจ่ายประมาณ 29,977 ต่อเดือน และมียอดจ่ายทุกงวดรวมกันที่ 10.79 ล้านบาททีเดียวค่ะ คิดเป็นค่าดอกเบี้ยอย่างเดียวถึง 5.79 ล้านบาท เยอะกว่าเงินต้นไปซะแล้ว…
แล้วถ้าต้องการทราบว่าแต่ละงวดที่เราจ่ายไปตัดเงินต้นไปกี่บาท ทั้ง 360 งวด(30 ปี) ให้กดคำว่า >> AMORTIZATION เข้าไปดูได้เลยค่ะ
จะเห็นว่างวดแรกเราจ่ายดอกเบี้ยเยอะมากๆ เพราะเขาคิดดอกเบี้ยจากเงินต้นของเราเต็มเม็ดเต็มหน่วยที่ 5,000,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 6% เท่ากับ 300,000 บาท/ปี นำไปหาร 12 เดือน ก็จะต้องจ่ายดอกเบี้ยเดือนละ 25,000 บาทค่ะ พอเดือนที่ 2 เราได้ตัดเงินต้นไปส่วนหนึ่งแล้ว ก็จะเห็นว่าดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายในงวดที่ 2 ลดลง และจะลดลงเรื่อยๆ เมื่อเราตัดเงินต้นจากการผ่อนต่อไป
การโปะเพิ่มดีอย่างไร ? เราไปดูกันค่ะ
ถ้าเราต้องการโปะเพิ่มทุกเดือน เดือนละเท่าๆกัน โดยจะเพิ่มประมาณ 10% ของยอดผ่อน หรือโปะเพิ่มเดือนละ 3,000 บาท กดคำนวณออกมาแล้ว จะเห็นว่าระยะเวลาในการผ่อนลดลงไปตั้ง 75 เดือน ( 6 ปีกว่าๆ ) และลดดอกเบี้ยที่เราต้องจ่ายให้ธนาคารลงได้ 1,408,203.28 บาทเลยนะคะ
กดคำว่า >> AMORTIZATION เข้าไปดูกันอีกสักที จะเห็นว่ายอด 3,000 ที่เราโปะเพิ่มไปนั้น ถูกเอาไปลดเงินต้นทั้งหมด ทำให้ลดเงินต้นในงวดแรกไปได้ 7,977.53 บาท (จากเดิมถ้าไม่โปะเงินต้นจะลดไป 4,977.53 บาท)
การเงินง่ายๆ (Android)
มาดูตัวอย่างกันอีกซัก Application นึงกันค่ะ ชื่อว่า การเงินง่ายๆ (Android) Application นี้จะมีเฉพาะระบบปฏิบัติการแบบ Android รวบรวมโปรแกรมคำนวณทางด้านการเงินต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผ่อนบ้าน ผ่อนรถ วางแผนเกษียณ คำนวณดอกเบี้ยทบต้น ฯลฯ ให้เราได้ลองเล่นดูค่ะ
ข้อดี : ใช้งานง่าย เป็นภาษาไทย
เข้ามาแล้วจะเห็นที่บรรทัดแรกเป็นโปรแกรมคำนวณ ‘ผ่อนบ้าน’ ให้คลิกเข้าไปเลยค่ะ
เข้ามาแล้วจะมีหน้าตาช่องให้กรอกคล้ายกับ Application ก่อนหน้าเลยค่ะ เราจะยกตัวอย่างเดิมนะคะ ซื้อบ้านหลังละ 5,000,000 บาท กู้ได้ 100% ระยะเวลาผ่อน 30 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 6% ต่อปีค่ะ
ใน Application สามารถใส่เงินดาวน์เพิ่มเติมเข้าไปได้นะคะ สมมติว่าเรากู้ได้ 90% ให้ใส่ในช่องเงินดาวน์(เปอร์เซ็นต์) เป็น 10% ระบบก็จำคำนวณให้ปกติค่ะ
พอกดคำนวณออกมาแล้วจะเห็นว่ามีค่างวดที่ต้องจ่ายประมาณ 29,977 ต่อเดือน และมียอดจ่ายทุกงวดรวมกันที่ 10.79 ล้านบาท นอกจากนั้นเรายังกดดูตารางการผ่อนชำระ เพื่อดูรายละเอียดการตัดเงินต้นได้เหมือนกันค่ะ
ตัวอย่างการโปะเพิ่มประมาณ 10% ของค่างวด ก็จะได้ระยะเวลาที่ลดลง 75 เดือน หรือประมาณ 6 ปีกว่าๆ เลยค่ะ
DDproperty by PropertyGuru
สำหรับใครที่ไม่อยากโหลด Application ก็มีตัวเลือกเว็ปไซต์ต่างๆ ที่สามารถคำนวณสินเชื่อที่อยู่อาศัย พร้อมดูตารางการผ่อนชำระได้ทุกงวดได้เช่นกันค่ะ
DDproperty by PropertyGuru >> คำนวณยอดผ่อนต่อเดือน
นอกจาก Application ฟรี ข้างต้นแล้ว ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งยังมีโปรแกรมคำนวณของตัวเองให้เลือกใช้งานกันด้วยนะคะ แต่ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีกดตารางการผ่อนชำระรายงวดให้ดูละเอียดเหมือนตัวอย่างด้านบน ใครที่ไม่ต้องการดูรายละเอียดมากนัก หรือไม่อยากโหลด Application สามารถกดเข้าไปลองคำนวณใน Link ด้านล่างได้เลยค่ะ
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย >> โปรแกรมคำนวณคลิกที่นี่
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ >> โปรแกรมคำนวณคลิกที่นี่
ธนาคารออมสิน >> โปรแกรมคำนวณคลิกที่นี่
ธนาคารไทยพาณิชย์ >> โปรแกรมคำนวณคลิกที่นี่
ธนาคารกสิกรไทย >> โปรแกรมคำนวณคลิกที่นี่
ธนาคารยูโอบี >> โปรแกรมคำนวณคลิกที่นี่
เป็นอย่างไรกันบ้าง..การเก็บเงินเพิ่มขึ้นนิดหน่อยสัก 10% ของค่างวดเพื่อนำมาโปะบ้านในแต่ละเดือน จะช่วยลดระยะเวลาในการผ่อนและประหยัดค่าดอกเบี้ยลงไปได้เยอะเลยใช่ไหมคะ
สุดท้ายนี้หวังว่าทุกคนจะใช้โปรแกรมคำนวณค่าผ่อนบ้านเพื่อวางแผนการขอสินเชื่อ วางแผนการโปะบ้าน และแผนการเงินของตัวเองได้ดียิ่งขึ้นนะคะ
ใครอยากได้เทคนิคผ่อนบ้านหมดไวเพิ่มเติม คลิกเข้ามาอ่านบทความด้านล่างนี้ได้เลยค่ะ
- เทคนิคโปะบ้าน” อย่างไร จาก 30 ปี เหลือ 15 ปี
- รีไฟแนนซ์ (Refinance) กับธนาคารไหน เสียดอกเบี้ยต่ำสุด ปี 2566
- ดอกเบี้ยลอยตัว ส่งผลกระทบอย่างไรกับคนซื้อบ้าน?
- ผ่อนบ้านไม่ไหว ทำอย่างไรไม่ให้โดนยึด?
- สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ Reverse Mortgage คืออะไร ทำอย่างไรให้ มีบ้านอยู่-มีเงินใช้ ในวัยหลังเกษียณ
ใครอยากให้เราช่วยแนะนำเคล็ดลับด้านไหนเพิ่มเติม ก็สามารถ Comment พูดคุยกันได้ที่ช่องข้อความทางด้านล่างนี้ได้เลยค่ะ อย่าลืมติดตามชมบทความ และ VDO รายการที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่หน้าเว็บไซต์ ThinkofLiving.com กันนะคะ