ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจแบบนี้ค่าใช้จ่ายส่วนไหนที่ประหยัดได้ คงเป็นสิ่งที่ทุกคนเลือกจะทำกันใช่มั้ยคะ โดยเฉพาะหนี้ก้อนใหญ่อย่างดอกเบี้ยบ้านที่เป็นค่าใช้จ่ายก้อนเบิ้มๆ สำหรับหลายๆ คนเลยทีเดียว การรีไฟแนนซ์ (Refinance) จึงเป็นทางออกที่หลายๆ คนสนใจ แต่จะเลือกรีกับธนาคารไหนดี? วันนี้เราจึงไม่รอช้ามุ่งหน้าเข้าธนาคารชั้นนำ 10 แห่ง รวบรวมโปรฯดอกเบี้ยบ้านมาเปรียบเทียบกัน เพื่อช่วยเพื่อนๆ ตัดสินใจกันง่ายขึ้น >> สำหรับดอกเบี้ย Refinance ของปี 2565 สามารถคลิกดูได้ที่นี่เลยค่ะ <<
สำหรับใครที่ยังไม่แน่ใจว่าการรีไฟแนนซ์จะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้อย่างไร อยากให้ลองอ่านบทความ รู้จัก “Refinance” การย้ายหนี้บ้านไปธนาคารใหม่เพื่อเสียดอกเบี้ยต่ำกว่าเดิม ซึ่งทางทีมงานเคยอธิบายไว้ให้เข้าใจง่าย ส่วนใครที่มีพื้นฐานอยู่แล้วไปดูอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันกันเลยค่ะ
รีไฟแนนซ์ (Refinance) ต้องรู้ข้อมูลอะไรบ้าง
ก่อนจะเดินดุ่มๆ เข้าไปธนาคาร เราลิสต์รายการมาให้เพื่อนๆ รู้กันก่อนว่ามีข้อมูลอะไรบ้างที่เราต้องสอบถามในการรีไฟแนนซ์นะคะ ซึ่งแต่ละธนาคารก็จะมีโปรโมชันต่างกัน บางธนาคารฟรีค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ ฟรีค่าจดจำนอง และอัตราดอกเบี้ยก็ต่างกัน ดังนี้
- อัตราดอกเบี้ย แต่ละธนาคารจะมีให้เลือกหลายรูปแบบทั้งคงที่และลอยตัว
- ค่าประเมินราคา = 2,000-3,000 บาท (ขึ้นอยู่กับธนาคารและบางธนาคารก็ไม่เสียค่าใช้จ่ายส่วนนี้)
- ค่าจดจำนอง 1% ของเงินต้นที่เหลือจากธนาคารเดิม (ค่าใช้จ่ายนี้เราเสียให้กรมที่ดิน กรณีฟรีค่าจดจำนองก็ต้องออกเงินส่วนนี้ก่อนแล้วธนาคารค่อยจ่ายคืนเรา)
- ค่าอากรแสตมป์ 0.05% ของวงเงินกู้ ส่วนใหญ่ผู้ยื่นกู้จ่ายเอง
- ค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ หรือ ค่าธรรมเนียมอื่นๆ ของธนาคาร ช่วงนี้ธนาคารส่วนใหญ่จะฟรีค่าธรรมเนียมให้นะคะ
- ประกันอัคคีภัย ธนาคารส่วนใหญ่ให้ใช้ประกันฉบับเดิมที่เราเคยทำกับธนาคารเดิมได้ แค่สลักหลังให้ผู้รับผลประโยชน์เป็นธนาคารที่เราไปยื่นขอรีไฟแนนซ์แทน
- ประกัน MRTA อันนี้หากเราเลือกที่จะทำแล้ว การคำนวณค่าประกันให้สอบถามกับธนาคารไว้เบื้องต้นเลย เพราะค่า MRTA จะขึ้นอยู่กับบริษัทประกันที่ธนาคารร่วมไว้ และขึ้นอยู่กับเพศ อายุ หรือเงื่อนไขอื่นๆ ของผู้กู้ด้วยค่ะ
จะเห็นว่าค่าใช้จ่ายหลักๆ ก็คือค่าจดจำนอง และค่าทำประกัน ทำให้ธนาคารต่างๆ จัดโปรฯ ต่างๆ มาให้ เพื่อให้ตอบโจทย์การเงินของทุกคน อย่างเช่น
โปรฯ ที่ธนาคารจ่ายค่าจดจำนองให้ เหมาะสำหรับคนที่ไม่มีเงินก้อน เพราะถ้ากู้ซื้อบ้าน 2 ล้านก็ต้องมีเงินจดจำนอง = 2,000,000 x 1% =20,000 บาท หรืออีกโปรฯนึงที่เห็นบ่อยๆ เลยคือการทำประกัน MRTA เพิ่มเติมกับทางธนาคาร ก็จะได้อัตราดอกเบี้ยถูกลงนิดหน่อย แต่ต้องจ่ายค่าประกันแทนนะ
อัตราดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายรีไฟแนนซ์ของแต่ละธนาคาร
จากที่เราไปสอบถามธนาคารหลักๆ มาทั้งหมด 10 แห่งขอสรุปคร่าวๆ ว่าทางเลือกในการ Refinance จะมี 2 แบบหลักๆ ดังนี้
- กรณีจ่ายค่าจดจำนองเอง
- ไม่ทำประกัน
- ทำประกัน MRTA
- ไม่ทำประกัน
- ทำประกัน MRTA
ทีนี้เรามาเปรียบเทียบดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายของแต่ละธนาคารกันเลย
กรณีจ่ายค่าจดจำนองเอง หากเรามีเงินก้อนพอที่จะจ่ายค่าจดจำนองเองได้ ก็แนะนำให้เลือกแบบนี้นะ เพราะจะได้อัตราดอกเบี้ยถูกกว่ากรณีธนาคารจ่ายค่าจดจำนองให้ เราเรียงอัตราดอกเบี้ยจากถูกสุดเรียงลงมาให้ โดยเลือกแบบที่ถูกสุดของแต่ละธนาคารมาเปรียบเทียบกัน มีให้เลือกทั้งแบบทำประกัน และไม่ทำประกัน
อย่างนึงที่ได้คุยกับพนักงานสินเชื่อหลายๆ ท่าน และอยากย้ำเพื่อนๆว่า การเลือกแบบทำประกันหรือไม่ทำดีนั้น อย่ามองแต่ว่าอัตราดอกเบี้ยจะถูกกว่านะ เพราะมีเบี้ยประกันที่เราต้องจ่ายด้วย คิดๆ ดูแล้วแบบทำประกันจะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า แต่เหมาะกับผู้ที่ต้องการป้องกันความเสี่ยงไม่ให้ภาระหนี้ตกไปอยู่กับลูกหลานนะ หากใครไม่มีคนเบื้องหลังให้ต้องห่วงก็ไม่จำเป็นต้องทำให้เปลืองเงินนะคะ
ในส่วนของค่าใช้จ่ายในการรีไฟแนนซ์ที่ต้องจ่ายแน่นอนก็คือ ค่าจดจำนอง 1% และค่าอากรแสตมป์ 0.05% ของวงเงินกู้ และมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่นค่าประเมินราคาและค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ ทั้งหมดนี้คือเงินก้อนที่ต้องเตรียมไว้ใช้ในการรีไฟแนนซ์นะ หากใครไม่มีเงินก้อนส่วนนี้ให้ไปดูตารางด้านล่างเลยค่ะ
กรณีธนาคารจ่ายค่าจดจำนองเองให้ จะมีบางธนาคารที่มีโปรโมชันนี้ให้เลือกนะ และส่วนใหญ่จะบังคับทำประกัน MRTA ด้วย สำหรับใครที่ไม่อยากทำประกันก็จะมี 2 ธนาคารคือกรุงไทยและกรุงเทพที่เสนอทางเลือกนี้มาให้ค่ะ
อัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ (Refinance) ธนาคารกรุงไทย
หากใครสนใจรายละเอียดว่าแต่ละแบบมีอัตราดอกเบี้ยแต่ละปีเท่าไหร่ เราเอาโบรชัวร์อัตราดอกเบี้ยของแต่ละธนาคารมาฝากกันด้วยค่ะ
เลือกรีไฟแนนซ์ (Refinance) แบบไหนประหยัดเท่าไหร่?
มาดูตัวอย่างกันหน่อยว่าการรีไฟแนนซ์จะช่วยให้เราเสียค่าใช้จ่ายลดลงเท่าไหร่ ซึ่งเราทำมาให้ดูถึง 5 กรณีเลยค่ะ เริ่มตั้งแต่การอยู่กับธนาคารเดิม ไปจนถึงการรีไฟแนนซ์ทั้ง 4 แบบที่เราอธิบายไปใน Part ที่แล้วนะคะ
คุณอแมนด้า อาชีพเป็นพนักงานประจำ อายุ 32 ปี เดิมกู้กับธนาคาร A. โดยคุณอแมนด้ากู้ซื้อบ้านมาราคา 3.2 ล้านบาท จ่ายค่าผ่อนบ้านกับธนาคารเดือนละ 16,000 บาท ผ่อนครบ 3 ปี คุณอแมนด้าเหลือเงินต้นอยู่ที่ 2.7 ล้านบาท และหลังจากนี้ปีที่ 4 เป็นต้นไปคุณอแมนด้าจะเสียอัตราดอกเบี้ย = 5.1% ซึ่งนับเป็นดอกเบี้ยที่สูงทีเดียว
กรณี 1 : คุณอแมนด้าอยู่ธนาคารเดิมไม่ Refinance
คิดอัตราดอกเบี้ย MRR – 2.25% = 7.35 – 2.25 = 5.1% ต่อปี
รวมค่างวด (เงินต้น+ดอกเบี้ย) = ประมาณ 4,768,000 บาท แบ่งเป็น
- เงินต้น = 2,700,000 บาท
- ดอกเบี้ย = ประมาณ 2,068,000 บาท
- จำนวนงวดที่ต้องผ่อนทั้งหมด 298 งวด = ประมาณ 24 ปี 10 เดือน
กรณี 2 : คุณอแมนด้ารีไฟแนนซ์แบบธนาคาร B แบบ จ่ายค่าจดจำนองเอง ไม่ทำประกัน
ปีที่ 1-3 = MRR – 3.62 = 2.6%
ปีที่ 4 เป็นต้นไป = MRR – 1.50 = 4.72%
**MRR ของธนาคาร B = 6.22% ต่อปี
รวมค่างวด (เงินต้น+ดอกเบี้ย) = ประมาณ 3,968,000 บาท แบ่งเป็น
- เงินต้น = 2,700,000 บาท
- ดอกเบี้ย = ประมาณ 1,268,000 บาท
- จำนวนงวดที่ต้องผ่อนทั้งหมด 248 งวด = ประมาณ 20 ปี 8 เดือน
ค่าใช้จ่ายในการรีไฟแนนซ์ = 30,850 บาท แบ่งเป็น
- ค่าจดจำนอง 1% ของวงเงินกู้ = 27,000 บาท
- ค่าอากรแสตมป์ 0.05% ของวงเงินกู้ = 1,350 บาท
- ค่าธรรมเนียมในการยื่นกู้ = 2,500 บาท
ประหยัดจากธนาคารเดิม = 769,150 บาท ตลอดอายุสัญญา
กรณี 3 : คุณอแมนด้ารีไฟแนนซ์แบบธนาคาร B แบบ จ่ายค่าจดจำนองเอง ทำประกัน MRTA
ปีที่ 1-3 = MRR – 3.72 = 2.5%
ปีที่ 4 เป็นต้นไป = MRR – 1.50 = 4.72%
**MRR ของธนาคาร B = 6.22% ต่อปี
รวมค่างวด (เงินต้น+ดอกเบี้ย) = ประมาณ 3,952,000 บาท แบ่งเป็น
- เงินต้น = 2,700,000 บาท
- ดอกเบี้ย = ประมาณ 1,252,000 บาท
- จำนวนงวดที่ต้องผ่อนทั้งหมด 247 งวด = ประมาณ 20 ปี 7 เดือน
ค่าใช้จ่ายในการรีไฟแนนซ์+ทำประกัน = 74,650 บาท แบ่งเป็น
- ค่าจดจำนอง 1% ของวงเงินกู้ = 27,000 บาท
- ค่าอากรแสตมป์ 0.05% ของวงเงินกู้ = 1,350 บาท
- ค่าธรรมเนียมในการยื่นกู้ = 2,500 บาท
- ค่าประกัน MRTA แบบจ่ายครั้งเดียว = 43,800 บาท (สอบถามเบี้ยจากธนาคารเป็นรายบุคคลนะคะ)
ประหยัดจากธนาคารเดิม = 741,350 บาท ตลอดอายุสัญญา
กรณี 4 : คุณอแมนด้ารีไฟแนนซ์แบบธนาคาร B แบบ ให้ธนาคารออกค่าจดจำนองให้ ไม่ทำประกัน
ปีที่ 1 = 2.49%
ปีที่ 2-3 = MRR – 2.10 = 4.12%
ปีที่ 4 เป็นต้นไป = MRR – 1.50 = 4.72%
**MRR ของธนาคาร B = 6.22% ต่อปี
รวมค่างวด (เงินต้น+ดอกเบี้ย) = ประมาณ 4,048,000 บาท แบ่งเป็น
- เงินต้น = 2,700,000 บาท
- ดอกเบี้ย = ประมาณ 1,348,000 บาท
- จำนวนงวดที่ต้องผ่อนทั้งหมด 253 งวด = ประมาณ 21 ปี 1 เดือน
ค่าใช้จ่ายในการรีไฟแนนซ์ = 3,850 บาท แบ่งเป็น
- ค่าอากรแสตมป์ 0.05% ของวงเงินกู้ = 1,350 บาท
- ค่าธรรมเนียมในการยื่นกู้ = 2,500 บาท
ประหยัดจากธนาคารเดิม = 716,150 บาท ตลอดอายุสัญญา
กรณี 5 : คุณอแมนด้ารีไฟแนนซ์แบบธนาคาร B แบบ ให้ธนาคารออกค่าจดจำนองให้ ทำประกัน
ปีที่ 1 = 2.38%
ปีที่ 2-3 = MRR – 2.18 = 4.04%
ปีที่ 4 เป็นต้นไป = MRR – 1.50 = 4.72%
**MRR ของธนาคาร B = 6.22% ต่อปี
รวมค่างวด (เงินต้น+ดอกเบี้ย) = ประมาณ 4,032,000 บาท แบ่งเป็น
- เงินต้น = 2,700,000 บาท
- ดอกเบี้ย = ประมาณ 1,332,000 บาท
- จำนวนงวดที่ต้องผ่อนทั้งหมด 252 งวด = ประมาณ 21 ปี
ค่าใช้จ่ายในการรีไฟแนนซ์ = 47,650 บาท แบ่งเป็น
- ค่าอากรแสตมป์ 0.05% ของวงเงินกู้ = 1,350 บาท
- ค่าธรรมเนียมในการยื่นกู้ = 2,500 บาท
- ค่าประกัน MRTA แบบจ่ายครั้งเดียว = 43,800 บาท (สอบถามเบี้ยจากธนาคารเป็นรายบุคคลนะคะ)
ประหยัดจากธนาคารเดิม = 688,350 บาท ตลอดอายุสัญญา
สรุปทิ้งท้าย จะเห็นว่าปัจจุบันธนาคารก็มีทางเลือกให้มากมายในการรีไฟแนนซ์ (Refinance) เพื่อให้เหมาะกับความต้องการของหลายๆ คน ทั้งคนที่ไม่มีเงินก้อนพอจะรีไฟแนนซ์ก็ยังมี Options ให้เลือกได้ หรือใครอยากทำประกันเพิ่มเพราะห่วงลูกหลานจะต้องมารับหนี้ผ่อนบ้านต่อก็ทำได้ อย่างนึงที่อยากให้เพื่อนๆ ลองทำคือการเปรียบเทียบหลายๆ แบบ หลายๆ ธนาคารเพื่อให้รีไฟแนนซ์ได้คุ้มค่าที่สุดนะคะ
และสิ่งที่เราควรจะทำก็คือ พยายามลดอัตราดอกเบี้ยในทุกๆ 3 ปี ไม่ว่าจะเป็นการรีไฟแนนซ์ (Refinance) หรือขอปรับลดอัตราดอกเบี้ยกับธนาคารเดิมก็ได้ (สอบถามบางธนาคารให้ปรับลดได้ 1 ครั้งตลอดอายุสัญญา บางธนาคารปรับได้ทุก 3 ปี ควรเช็คก่อนตัดสินใจ Refinance ไปธนาคารนั้นๆ ) ซึ่งจะช่วยให้เราประหยัดดอกเบี้ยได้มากกว่าที่เราคิดกันไว้ข้างต้นอีกนะคะ และส่งผลให้เราผ่อนบ้านหมดเร็วยิ่งขึ้นด้วยค่ะ
สุดท้ายแล้วเราหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับคุณผู้อ่านทุกคนที่กำลังเตรียมตัวหาข้อมูล Refinance เพื่อลดดอกเบี้ยกันนะคะ หวังว่าทุกคนจะได้เสียดอกเบี้ยจากสินเชื่อบ้านที่น้อยลงกัน และหากคุณผู้อ่านคนไหนมีประสบการณ์น่าสนใจเกี่ยวกับ Refinance ก็สามารถมาแชร์เรื่องราวใน Comment กันได้เลยนะคะ ดาเชื่อว่าต้องเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ คนอื่นแน่นอนค่ะ
นอกจากการลดดอกเบี้ยแล้ว ก็อย่าลืมนำดอกเบี้ยซื้อบ้านไปใช้ยื่นภาษีกันด้วย เพื่อนๆ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในบทความ ดอกเบี้ยบ้าน ใช้ลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่ ได้เลยค่ะ