สำหรับใครที่คลิกเข้ามาอ่านบทความนี้ กำลังสงสัยใช่ไหมคะ ว่า “บ้านแฝด” ดีกว่าทาวน์โฮม อยู่สบายกว่าบ้านเดี่ยว นี้จริงรึเปล่า? ซึ่งก่อนที่เราจะไปหาคำตอบ เรามาทำความรู้จักโปรดักส์ “บ้านแฝด” กันก่อนดีกว่า เพราะหลายๆคนยังคงสับสนกับรูปแบบของบ้านแฝด เพราะมีหลายหลากจริงๆ ดังนั้น วันนี้เราจะพาไปดูว่าบ้านแฝดจริงๆแล้วมีทั้งหมดกี่แบบ แต่ละแบบแตกต่างกันยังไง มีกฏหมายข้อไหนที่เราควรรู้ พร้อมเปรียบเทียบระหว่างทาวน์โฮมและบ้านเดี่ยว จะได้รู้เลยว่าเราเหมาะกับบ้านแฝดไหม?


บ้านแฝดคืออะไร ?

บ้านแฝด เป็นบ้าน 2 หลังที่มีส่วนที่เชื่อมกันตรงกลาง แต่มีรั้วและทางเข้า-ออกแยกกันชัดเจน โดยแต่ก่อนบ้านแฝดใช้ผนังชิ้นเดียวกัน ทำให้รู้สึกไม่ค่อยเป็นส่วนตัวมากนัก แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาแบบให้หลากหลาย ที่น่าสนใจเลยคือแบบที่คานเชื่อมกันชั้นใต้ดิน ดูผิวเผินเหมือนกับบ้านเดี่ยวเลยแหละ เอาเป็นว่าถ้ามันดูแยกยากนัก เราสังเกตจากระยะห่างระหว่างบ้านแทนก็ได้ เพราะบ้านแฝดจะมีระยะห่างน้อยกว่าบ้านเดี่ยว เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องที่ดิน หลายๆคนเริ่มสงสัยแล้วใช่ไหมว่าข้อจำกัดคืออะไร เราไปดูกฎหมายบ้านแฝดที่เราควรรู้กันค่ะ

กฏหมายบ้านแฝดเบื้องต้นที่ควรเข้าใจเบื้องต้น

  • ขนาดที่ดิน : บ้านแฝดใช้ที่ดินเริ่มต้นที่ 35 ตร.วา แต่ในทางกลับกันบ้านเดี่ยวต้องมีขนาดที่ดินมากกว่า 50 ตร.วา ส่วนใหญ่พื้นที่ใช้สอยของ 2 แบบบ้านนี้จะใกล้เคียงกัน แตกต่างกันที่พื้นที่ดินรอบตัวบ้านมากกว่าค่ะ
  • ความกว้าง : บ้านแฝดต้องมีหน้ากว้างที่ดินขั้นต่ำ 8 ม. แต่จะไม่สามารถสร้างเต็มที่ดินได้ เพราะตามกฎหมายแล้ว พื้นที่ด้านข้างตัวบ้านจะต้องมี “ที่ว่าง” มากกว่าหรือเท่ากับ 2 ม. ต้องเป็นพื้นที่ที่ไม่มีสิ่งก่อสร้างปกคลุม แต่เราสามารถจัดสวน ปลูกต้นไม้ได้ตามปกตินะ
  • ความลึก : ข้อจำกัดคล้ายๆบ้านเดี่ยว คือหน้าบ้านต้องมีระยะร่นจากแนวผนังบ้าน 3 ม. และหลังบ้านอีก 2 ม. คำว่า “ระยะร่น” นี้จะอนุโลมให้มีหลังคาปกคลุมได้ แต่ห้ามมีโครงสร้างปิดทึบ และต้องห่างจากแนวเขตที่ดินประมาณ 50 ซม. เพื่อไม่ให้รบกวนเพื่อนบ้านค่ะ
  • ส่วนที่เชื่อมกัน : ไม่ว่าจะเป็นผนัง หรือคาน ที่ใช้รวมกันระหว่าง 2 บ้าน ถือเป็นทรัพย์สินร่วมกัน เวลาจะทุบหรือดัดแปลงต้องได้รับความยินยอมจากเพื่อนบ้านก่อนนะคะ
  • ช่องเปิด/หน้าต่าง : สำหรับบ้านแฝด ถ้าห่างจากแนวเขตที่ดินไม่เกิน 50 ซม. จะไม่สามารถเจาะช่องเปิด/หน้าต่างได้ แต่ถ้าต้องการเจาะช่องหน้าต่าง ต้องห่างจากแนวเขตที่ดินเกิน 2 ม. หรือเจาะฝั่งที่หันออกด้านหน้าบ้าน และด้านหลังบ้านแทน


บ้านแฝดเชื่อมกันได้กี่แบบ ดีหรือไม่ดี?

อย่างที่เกริ่นไปในตอนต้น “บ้านแฝด” ในปัจจุบันมีรูปแบบค่อนข้างหลากหลาย โดยแต่ละ Developer ก็พยายามพัฒนาแบบให้ดูทันสมัยมากยิ่งขึ้น แบบใหม่ๆที่ออกมาแถบไม่ต่างกับบ้านเดี่ยวเลย โดยเท่าที่เราได้รวบรวมหาข้อมูลมา สามารถแบ่งการเชื่อมต่อออกเป็น 4 ประเภทหลักๆ ได้แก่ เชื่อมเต็มผนัง เชื่อมบางฟังก์ชันในบ้าน เชื่อมกันที่คานด้านบน และเชื่อมกันที่คานชั้นใต้ดิน ซึ่งแต่ละแบบก็มีข้อดี/ข้อเสียแตกต่างกัน และแบบไหนที่เหมาะกับใครบ้าง?

(หมายเหตุ : โครงการที่เลือกมาเป็นเพียงการยกตัวอย่างเท่านั้นนะคะ)

1.เชื่อมเต็มผนัง

สำหรับแบบแรกที่เราจะพาไปรู้จัก ใครเห็นก็คงร้องอ่อแล้ว เพราะเป็นแบบที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันดี เป็นแบบแรกๆที่มีบ้านแฝดเกิดขึ้นมา โดยแบบที่ใช้ผนังร่วมกัน มีทั้งเชื่อมทั้ง 2 ชั้น และเชื่อมกันเฉพาะชั้นล่าง แต่ก็ยังมีหลังคาแยกจากกันได้อารมณ์บ้านเดี่ยว

  • ข้อดี : เหตุผลหลักเลยที่เชื่อมกันแบบนี้ เพื่อเพิ่มพื้นที่ด้านข้างของบ้าน(สีแดง) ให้กว้างมากขึ้น จะได้ใช้งานพื้นที่รอบบ้านได้จริง
  • ข้อเสีย : ผนังที่ใช้ร่วมกันกับเพื่อนบ้าน ส่วนใหญ่จะติดตำแหน่งห้องพักอาศัย (พื้นที่สีเหลือง) ซึ่งเป็นการใช้ผนังร่วมกันของบ้านทั้ง 2 หลัง ทำให้เวลาอยู่อาศัยอาจจะได้ยินเสียงของบ้านข้างๆได้ แต่ก็แก้ได้ด้วยการเพิ่มผนังอีกชั้นนะ

เหมาะกับ – คนที่อยากได้พื้นที่รอบบ้านไว้จัดสวน ปลูกต้นไม้ ทำมุมพักผ่อน ได้บรรยากาศคล้ายบ้านเดี่ยว แต่ราคาถูกกว่าค่ะ

2.เชื่อมบางฟังก์ชัน(พื้นที่)ในบ้าน

(ยกตัวอย่างบ้านแฝดของ Venue ติวานนท์-รังสิต)

ถัดมาเริ่มพัฒนารูปแบบให้ผนังบ้านห่างกันมากขึ้น เพื่อความเป็นส่วนตัว โดยเลือกเชื่อมเฉพาะบางฟังก์ชันของตัวบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่จะเชื่อมที่โซน Service เช่น ห้องครัว ห้องน้ำ ห้องเก็บของ เป็นต้น

  • ข้อดี : การเชื่อมบางฟังก์ชันที่ไม่ได้พักอาศัย ทำให้ไม่ต้องห่วงเรื่องเสียงรบกวน แถมทำให้บ้านมีช่องแสงมากยิ่งขึ้นอีกด้วย โดยเฉพาะชั้นบนที่มีระยะห่างเกิน 2 ม. ทำให้เจาะช่องหน้าต่างได้
  • ข้อเสีย : ผนังที่ใช้รวมกัน ถ้าเป็นตำแหน่งของห้องครัว เวลาทำกับข้าวอาจจะมีเสียงรบกวนบ้าง

เหมาะกับ – คนที่ต้องการฟังก์ชันใช้งานเพิ่มขึ้น โดยไม่รบกวนพื้นที่ภายในบ้าน สังเกตส่วนที่ยื่นออกมาได้โครงสร้างเพิ่ม ไม่ต้องเสียเงินต่อเติมเองในอนาคต

3.เชื่อมกันที่คานด้านบน

(ยกตัวอย่างบ้านแฝดของ Trendy Tara บางนา)

แบบต่อมาก็พัฒนามากขึ้นอีก โดยส่วนมากจะเชื่อมกันที่คานของตัวบ้านทั้ง 2 หลัง โดยแนวคานจะเชื่อมทั้งจากตัวบ้านและหลังคาโรงรถ ทำให้ไม่ต้องมีผนังฝั่งไหนเชื่อมกันเลย เป็นการเพิ่มระยะห่างให้มีพื้นที่รอบบ้านคล้ายกับบ้านเดี่ยว ซึ่งการพัฒนาแบบบ้านในลักษณะนี้ทำให้รูปแบบบ้านแฝดเปลี่ยนไปจากเดิมเลยนะคะ

  • ข้อดี : คานที่เชื่อมกันด้านบนทำให้ผนังของตัวบ้านมีระยะห่างกันมากขึ้น พร้อมพื้นที่รอบตัวบ้าน สามารถเปิดช่องแสงได้ทั้ง 4 ด้าน ใกล้เคียงกับบ้านเดี่ยวเลย
  • ข้อเสีย : แม้จะสามารถเปิดช่องแสงจะเข้าทั้ง 4 ด้าน แต่ฝั่งที่ติดกับเพื่อนบ้าน ส่วนใหญ่จะทำผนังให้ห่างจากแนวเขตที่ดินไม่มาก เป็นระยะที่พอเดินผ่านได้เท่านั้น ซึ่งอาจเสียพื้นที่โดยไม่จำเป็น

เหมาะกับ – คนที่ชอบให้แสงเข้ารอบบ้านคล้ายกับบ้านเดี่ยว แถมถ้ากรณีที่คานเชื่อมกันที่โรงจอดรถ เรายังสามารถต่อเติมหลังคาบังแดดได้ง่ายอีกด้วย 

4.เชื่อมกันที่คานใต้ดิน

(ยกตัวอย่างบ้านแฝดของ Sense สายไหม 56)

แบบสุดท้าย คิดว่าคงเป็นแบบที่ใครหลายๆคนชื่นชอบ เพราะส่วนที่เชื่อมกันของโครงสร้างจะลงไปเชื่อมที่ชั้นใต้ดินแทน ส่วนใหญ่จะเป็นแนวคานของบ้านทั้ง 2 หลัง ซึ่งทำให้มองจากภายนอกไม่เห็นส่วนที่เชื่อมกัน เหมือนเป็นบ้านเดี่ยวที่ถูกวางในที่ดินที่เล็กลง

  • ข้อดี : ดูผิวเผินไม่ต่างจากบ้านเดี่ยวเลย ไม่มีส่วนไหนเชื่อมกันให้เห็นด้วยตา สำหรับคนที่อยากได้บ้านเดี่ยวในราคาถูกคงชื่นชอบแบบนี้กัน
  • ข้อเสีย : ยังติดข้อจำกัดของบ้านแฝด ด้วยขนาดที่ดินไม่ใหญ่มาก ทำให้ฝั่งที่ต้องชิดกับเพื่อนบ้าน ยังคงต้องมีระยะห่างไม่มากนัก ซึ่งถ้าห่างไม่เกิน 2 ม. ก็ไม่สามารถเจาะช่องเปิดได้

เหมาะกับ – คนที่อยากได้บ้านเดี่ยว แต่มีงบไม่มาก และไม่ซีเรียสเรื่องขนาดที่ดิน เน้นใช้งานฟังก์ชันภายในมากกว่า

นอกจากนี้สำหรับใครที่อยากได้พื้นที่ใช้สอยมากกว่า 200 ตร.ม. ขึ้นไป และชอบบ้านแนวสูง เน้นใช้งานพื้นที่ภายในมากกว่าพื้นที่สวนรอบบ้าน เราก็มี “บ้านแฝด 3 ชั้น” มาแนะนำ ซึ่งบ้านลักษณะนี้จะเน้นดีไซน์ Facade หลากหลาย ทั้งแบบโมเดิร์น แบบคอทเทจ แบบคลาสสิค และคาดว่าในอนาคตคงมีการพัฒนาโปรดักซ์แบบนี้มากขึ้นเรื่อย เนื่องจากปัจจุบันที่ดินราคาสูงขึ้น แต่สวนทางกับการใช้งานของคนที่ต้องพื้นที่มากขึ้น การพัฒนาบ้านแนวสูงจึงถูกนำมาใช้ รวมไปถึงบ้านแฝดด้วยเช่นกัน

(ยกตัวอย่างบ้านแฝดของ Private Nirvana Through เอกมัย-รามอินทรา)

ส่วนที่เชื่อมต่อกันก็คล้ายกับบ้านแฝด 2 ชั้นนะคะ แต่ก็มีแบบที่น่าสนใจ คือแบบที่เชื่อมคานแต่กั้นกลางระหว่างบ้านด้วยผนังทึบ เพื่อให้ผนังฝั่งนี้สามารถเจาะช่องเปิด(หน้าต่าง)ได้ ทำให้ภายในบ้านดูโปร่งโล่ง ไม่มืดทึบ และมีความเป็นส่วนตัวในการอยู่อาศัยมากขึ้น

ฟังก์ชันภายในแบ่งเป็นสัดส่วนชัดเจน และด้วยความที่หน้าบ้านกว้างมากกว่าเดิม ทำให้จอดรถได้ 3-4 คัน เหมาะกับครอบครัวที่มีรถเยอะๆ ส่วนห้องนอนก็ปรับขนาดใหญ่มากขึ้น ให้เราวางเตียง 5-6 ฟุตได้ แถมมีห้องน้ำในตัวทุกห้อง นอกจากนี้บางแบบก็มีห้องนอนชั้นล่างไว้รองรับผู้สูงอายุอีกด้วย


ส่วนสุดท้ายเราลองมาหาคำตอบไปด้วยกันไหมว่า บ้านแฝดดีกว่าทาวน์โฮม อยู่สบายกว่าบ้านเดี่ยว จริงไหม? โดยเราขอเลือกโครงการจริงมาวิเคราะห์ เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพมากยิ่งขึ้น โดยเราเลือกโครงการ ที่มีทั้งแบบบ้านแฝด VS ทาวน์โฮม และบ้านแฝด VS บ้านเดี่ยว พร้อมลายแทงโครงการที่เปิดขายอยู่ ณ ปัจจุบัน (สำรวจวันที่ 16 เมษายน 2563)

1.บ้านแฝด VS ทาวน์โฮม

สำหรับบ้านแฝดที่อยู่ในทาวน์โฮม ส่วนใหญ่จะมีราคาสูงกว่าทาวน์โฮมในโครงการเดียวกัน ทำให้เวลาโครงการวางรูปแบบที่ดิน บ้านแฝดมักได้อยู่ในตำแหน่งที่ใกล้ทางเข้า-ออก หรือไม่ก็ใกล้กับพื้นที่ส่วนกลาง (Club House) ที่ได้ทำเลดีกว่า

  • ผังรวมแบบที่ 1 : วางตำแหน่งบ้านแฝดใกล้ Club House แถมทางเข้า-ออกฝั่งนี้เป็นถนนหลักที่คนใช้กันบ่อยๆ
  • ผังรวมแบบที่ 2 : วางตำแหน่งบ้านแฝดไว้ใกล้ Main Gate และได้ถนนหน้าบ้านกว้าง 12 ม. เนื่องจากเป็นถนนหลัก นอกจากนี้ยังได้ความเป็นส่วนตัวมากขึ้น เนื่องจากไม่มีบ้านฝั่งตรงข้าม ส่วนบ้านแฝดที่อยู่ในซอยย่อยก็ได้ตำแหน่งใกล้กับพื้นที่ส่วนกลาง
  • ผังรวมแบบที่ 3 : วางตำแหน่งบ้านแฝดใกล้ทางเข้า-ออก และพื้นที่ส่วนกลาง

ถัดมาเราขอให้ดูลักษณะทางกายภาพทั่วไปของแบบบ้านแฝด VS ทาวน์โฮม เพื่อให้เห็นความแตกต่างระหว่าง 2 โปรดักซ์นี้

  • รูปลักษณ์ : ทาวน์โฮมเป็นลักษณะตอนลึก ทำให้แสงธรรมชาติส่องเข้ามาภายในได้ไม่ทั่วถึง ส่วนบ้านแฝดเป็นลักษณะหน้ากว้าง ที่แสงส่องเข้ามาภายในได้มากกว่า
  • ช่องแสง : ทาวน์โฮมแปลงมาตรฐาน (ไม่รวมแปลงมุม) จะเปิดรับแสง 2 ฝั่ง คือ ด้านหน้าบ้านกับด้านหลังบ้าน ส่วนบ้านแฝดเปิดรับแสงได้อย่างน้อย 3 ฝั่ง หรือบางแบบก็เปิดรับได้ถึง 4 ฝั่งใกล้เคียงกับบ้านเดี่ยวเลยนะ
  • ห้องน้ำ : ทาวน์โฮมมักมีห้องน้ำ 1 จุด ที่ไม่มีหน้าต่างระบายความชื้นออกนอกบ้าน ทำให้ต้องใช้พัดลมดูดอากาศช่วย ซึ่งระบายได้ช้ากว่าการเปิดหน้าต่าง ส่วนบ้านแฝดสามารถวางห้องน้ำชิดด้านนอก ระบายอากาศได้ดี
  • ห้องครัว : ทาวน์โฮมส่วนใหญ่จะได้เป็นครัวเปิด เน้นทำครัวจริงจังที่หลังบ้าน ส่วนบ้านแฝดสามารถกั้นห้องครัวปิดได้ และไม่รบกวนกับพื้นที่ซักล้างที่หลังบ้าน

สำหรับคนที่สนใจบ้านแฝดในโครงการทาวน์โฮม เราทิ้งลายแทงโครงการที่เปิดขายอยู่ ณ ปัจจุบันมาให้ แต่อาจจะไม่ได้มีครบทุกโครงการ เป็นการยกตัวอย่างบางส่วนเท่านั้น แต่ถ้าดูจากข้อมูลที่หามาข้างต้น บ้านแฝดจะราคาสูงกว่าประมาณ 1,400,000 – 3,000,000 บาท ที่ห่างกันค่อนข้างเยอะ เนื่องจากบ้านแฝดได้ขนาดที่ดิน พื้นที่ใช้สอยที่ และความเป็นส่วนตัวมากกว่าค่ะ

2.บ้านแฝด VS บ้านเดี่ยว

สิ่งที่น่าสนใจของบ้านแฝดในโครงการบ้านเดี่ยว ไม่ใช่ตำแหน่งทำเลบ้านที่ดีเหมือนบ้านแฝดที่อยู่ในทาวน์โฮม แต่เป็นการที่เราได้ใช้พื้นที่ส่วนกลางของบ้านเดี่ยวทั้งหลาย เพราะโดยปกติแล้วบ้านเดี่ยวจะราคาสูงกว่าบ้านแฝด การออกแบบพื้นที่ส่วนกลางจะต้องคำนึงถึงกลุ่มผู้อยู่อาศัยด้วย ทำให้เราได้ใช้ส่วนกลางดีๆไปพร้อมกัน ทั้งสระว่ายน้ำขนาดใหญ่ , Co-working Space, ห้องเด็กเล่น, สวนหย่อมขนาดใหญ่ รวมไปถึงระบบรักษาความปลอดภัยของโครงการ ที่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับราคาที่ถูกกว่าแบบบ้านเดี่ยวนะ ^^

ถัดมาเราขอให้ดูลักษณะทางกายภาพทั่วไปของแบบบ้านแฝด VS บ้านเดี่ยว เพื่อให้เห็นความแตกต่างระหว่าง 2 โปรดักซ์นี้

  • ฟังก์ชัน : ถ้าพูดถึงจำนวนห้องนอน ห้องน้ำ ที่จอดรถ ต้องบอกว่ามีความใกล้เคียงกันเลย ในพื้นที่ใช้สอยใกล้เคียงกันนะ
  • พื้นที่รอบบ้าน : บ้านแฝดแม้จะมีพื้นรอบบ้านเหมือนบ้านเดี่ยว แต่ด้วยข้อจำกัดของขนาดที่ดินความกว้างแต่ละด้านก็จะไม่เท่าบ้านเดี่ยวนะ
  • ช่องแสง : สำหรับบ้านแฝดในแต่ละแบบที่เชื่อมกัน จะได้แสงส่องเข้ามาไม่เท่ากัน แต่บ้านเดี่ยวแน่นอนคือได้ช่องแสงรอบด้าน และความโปร่งโล่งที่มากกว่า

** xxx เป็นโครงการเปิดใหม่ที่ยังไม่เปิด Presale ทำให้มีแต่ราคาเริ่มต้นของบ้านแฝดเท่านั้นนะคะ

สำหรับคนที่สนใจบ้านแฝดในโครงการบ้านเดี่ยว เราทิ้งลายแทงโครงการที่เปิดขายอยู่ ณ ปัจจุบันมาให้ แต่อาจจะไม่ได้มีครบทุกโครงการ เป็นการยกตัวอย่างบางส่วนเท่านั้น แต่ถ้าดูจากข้อมูลที่หามาข้างต้น บ้านแฝดจะราคาถูกกว่าบ้านเดี่ยวอยู่ประมาณ 300,000 – 2,000,000 กว่าบาท เพราะบ้านแฝดจะได้ขนาดที่ดินที่น้อยกว่า แต่บางแบบก็มีพื้นที่ใช้สอยใกล้เคียงกันเลยนะ


ความคิดเห็นของผู้เขียน

สำหรับคำถามที่ว่า “บ้านแฝด” ดีกว่าทาวน์โฮม อยู่สบายเหมือนบ้านเดี่ยว จริงหรือไม่? คำตอบสำหรับผู้เขียนมองว่า บ้านแฝดก็เป็นโปรดักซ์ทางเลือกที่น่าสนใจ สำหรับคนที่มีงบประมาณจำกัด เพราะขนาดที่ใหญ่กว่าทาวน์โฮม มีช่องแสง และได้ความเป็นส่วนตัวมากกว่า แต่ราคาก็แพงมากกว่าด้วยนะ ส่วนถ้าถามว่าอยู่สบายเหมือนบ้านเดี่ยวเลยไหม อันนี้ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคน ถ้าเน้นฟังก์ชันภายในบ้าน บ้านแฝดก็สามารถจัดได้ใกล้เคียงกับบ้านเดี่ยวบางประเภท แต่ถ้าใครชอบพื้นที่รอบบ้านเยอะๆ ข้อนี้บ้านแฝดคงจะสู้บ้านเดี่ยวไม่ได้แน่นอน ซึ่งต้องบอกว่าโปรดักซ์แต่ละแบบก็มีข้อดีข้อด้อยในตัวเอง สำหรับใครที่กำลังจะซื้อบ้าน แนะนำให้ไปดูบ้านจริงก่อน เพื่อเห็นภาพบรรยากาศมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้หากผู้อ่านมีคำถาม หรืออยากให้เขียนเกี่ยวกับเรื่องไหนเป็นพิเศษ พิมพ์คอมเม้นทิ้งไว้ด้านใต้บทความนี้ได้เลยนะคะ > <


ติดตามพวกเราได้ที่