…ช่วงหน้าฝนแบบนี้เราคงจะได้เห็นพาดหัวข่าวตามสื่อต่างๆ ว่ามีหลายๆพื้นที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วม หรือพายุฝนฟ้าคะนอง ที่สร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินไม่มากก็น้อยนะครับ บางคนก็เริ่มมีแผนในการป้องกันน้ำเข้าบ้าน ด้วยการกั้นกระสอบทรายหรือทำผนังกันน้ำต่างๆ แต่หากวิธีการเหล่านั้นมันไม่ได้ผลหล่ะ!! ถ้าน้ำเกิดท่วมเข้ามาในบ้านได้จริงๆ หรืออาจเป็นพายุหมุนที่ก่อตัวขึ้นโดยที่เราไม่ทันได้ตั้งตัว

สิ่งที่ตามมาคือ …เราต้องฟื้นฟูความเสียหายของบ้านและข้าวของต่างๆที่เกิดขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าต้องใช้  “เงิน” ที่นับวันก็ยิ่งหายากขึ้นทุกที บางครอบครัวหาเช้ากินค่ำก็แทบจะไม่พออยู่แล้ว ยังต้องมาเสียเงินมากมายกับอะไรแบบนี้อีก ถ้างั้นเราพอจะมีวิธีการอะไรบ้างมั้ย ที่จะช่วยบรรเทาภาระตรงนี้ให้ลดลงได้บ้าง เราไปชมพร้อมๆกันเลยครับ

การทำประกันภัยบ้าน

อ๊ะๆ!! ใจเย็นนะครับทุกคน ผมไม่ได้จะมาขายประกันนะ แต่จะบอกว่าการทำประกันบ้านไว้กับบริษัทประกันภัยต่างๆ จะช่วยการันตีได้ระดับหนึ่งว่า หากในอนาคตเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น ก็จะยังมีคนเข้ามาช่วยดูแลรับผิดชอบค่าใช้จ่ายตรงส่วนนี้ได้ จากเดิมที่เราจะต้องควักเงินตัวเองจ่าย 100% ก็อาจเหลือเพียง 20 – 30% ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของเราไปได้เยอะเลยทีเดียวครับ

ประเภทของประกันภัย

ในท้องตลาดบ้านเรามีประกันหลากหลายแบบมากๆ ซึ่งจริงๆเราสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ตามลักษณะของผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากการทำประกันนั้นๆ และสำหรับประกันที่เกี่ยวกับ “น้ำท่วม” ก็จะอยู่ในหมวด “การประกันภัยทรัพย์สิน” ในเรื่องของ “การประกันอัคคีภัย” นั่นเองครับ

ประกันอัคคีภัยจำเป็นต้องทำมั้ย …เกี่ยวข้องอะไรกับน้ำท่วม?

ปกติแล้วเวลาที่เรากู้เงินซื้อบ้านกับธนาคาร กฎหมายจะบังคับให้เราต้องทำประกันอัคคีภัยก่อนครับ ไม่อย่างงั้นธนาคารเค้าก็จะไม่ปล่อยกู้ให้กับเรา เพราะหากอนาคตเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น เกิดเพลิงไหม้ หรือภัยธรรมชาติต่างๆ จนบ้านของเราเกิดความเสียหายมากๆ ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นคำถามคือ …แล้วใครจะเป็นคนมารับผิดชอบตรงส่วนนี้ให้เรา?

แน่นอนว่าคนที่ไปกู้เงินซื้อบ้านกับธนาคารส่วนใหญ่ เค้าย่อมไม่มีเงินสดที่จะมาแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้ ดังนั้นหากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ จึงต้องมีบริษัทประกันภัยเข้ามาช่วยคุ้มครอง เว้นแต่ถ้าใครที่ซื้อบ้านด้วยเงินสด เราจะทำหรือไม่ทำประกันอัคคีภัยก็ได้อันนี้แล้วแต่นะครับ แต่ถ้าใครที่กู้กับธนาคารหรือกำลังผ่อนแบงค์อยู่ ตามกฎหมายหรือระเบียบผู้ขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดเอาไว้แล้วว่าจำเป็นต้องทำประกันอัคคีภัย และต้องทำจนครบจบอายุสัญญาสินเชื่อด้วยนะครับ

ซึ่งพื้นฐานของประกันอัคคีภัยส่วนใหญ่ ก็จะคุ้มครองเกี่ยวกับเรื่องไฟไหม้ ที่มักจะเกิดขึ้นได้บ่อย และทำให้สูญเสียทรัพย์มากที่สุดใช่มั้ยครับ แต่จริงๆแล้วถ้าเราดูในรายละเอียดของกรมธรรม์ ความคุ้มครองของประกันอัคคีภัยจะครอบคลุมไปถึงเรื่องภัยธรรมชาติต่างๆ และแน่นอนว่ามีเรื่อง “ภัยจากน้ำท่วม” ด้วยนะ

สำหรับรายละเอียดของกรมธรรม์ จะแตกต่างกันออกไปในแต่ละบริษัทนะครับ แต่โดยพื้นฐานหากพูดเป็นภาพรวมส่วนใหญ่ เราจะแบ่งออกได้เป็น 6 ภัยหลัก และ 4 ภัยธรรมชาติดังนี้

6 ภัยหลักที่เป็นพื้นฐานของประกันอัคคีภัย ประกอบด้วย

  • ภัยจากไฟไหม้ : คุ้มครองทั้งกรณีที่บ้านเราเป็นต้นเพลิง หรือเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายจากเพลิงไหม้ที่ลามมายังบ้านเรา รวมถึงเหตุการณ์ไฟป่าต่างๆ หรือเหตุจากความประมาทและอุบัติเหตุใดๆก็ตาม ก็จะได้รับความคุ้มครองด้วยเช่นกัน แต่กรณีเพลิงไหม้ที่เกิดจากความเจตตนา หรือผู้เอาประกันจงใจเผาบ้านตัวเอง อันนี้บริษัทประกันมีสิทธิปฏิเสธการให้ความคุ้มครองได้นะครับ
  • ภัยจากฟ้าผ่า : เป็นกรณีที่ฝนตกและฟ้าผ่าลงมา สร้างความเสียหายแก่ตัวอาคารหรือที่อยู่อาศัย และหากกระแสไฟฟ้าอันเนื่องมาจากฟ้าผ่าครั้งนั้นๆ ทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านเกิดลัดวงจรและพังเสียหาย ก็จะได้รับความคุ้มครองด้วยเช่นกันครับ
  • ภัยจากระเบิด : สำหรับบ้านอยู่อาศัยจะให้ความคุ้มครองจากเหตุการณ์ระเบิดทุกกรณี (ยกเว้นระเบิดที่เกิดจากอาวุธ) รวมถึงเหตุการณ์หม้อแปลงไฟฟ้าหน้าบ้านระเบิด แล้วสร้างความเสียหายให้กับตัวบ้าน ก็จะได้รับความคุ้มครองด้วยเช่นกัน แต่สำหรับอาคารพาณิชย์ หรือที่อยู่อาศัยที่มีการประกอบกิจการอื่นๆร่วมด้วย หากเกิดการระเบิดขึ้นในเวลาทำการของกิจการนั้นๆ จะไม่ได้รับความคุ้มครองนะครับ แต่ถ้าหลังเลิกงานที่ปิดร้านแล้ว 1 – 2 ทุ่ม แก๊สเกิดระเบิดในระหว่างที่ทำข้าวเย็นกินอยู่ อันนี้ถึงจะได้รับความคุ้มครองนะ

  • ภัยจากยานพาหนะ : คุ้มครองการเฉี่ยว/ชน ของยานพาหนะต่างๆ ซึ่งนอกจากรถยนต์หรือเรือแล้ว ก็ยังรวมไปถึงช้าง/ม้า/วัว/ควาย ที่ถือว่าเป็นสัตว์พาหนะด้วยเช่นกัน แต่ทั้งนี้พาหนะที่เป็นต้นเหตุ จะต้องไม่ใช่ทรัพย์สินที่เป็นของผู้เอาประกันนะครับ ต้องเป็นการกระทำจากบุคคลภายนอก หรือคนในครอบครัวอื่นๆเท่านั้น
  • ภัยจากอากาศยาน : นอกจากเครื่องบินแล้ว ยังขยายความไปถึงพวกจรวดและยานอวกาศด้วยนะครับ (ยกเว้นอากาศยานหรือจรวดที่เป็นอาวุธ) สมมุติเกิดชิ้นส่วนของดาวเทียมหลุดวงโคจรแล้วตกมาใส่บ้านเรา ก็จะได้รับความคุ้มครองด้วยเช่นกัน (ไม่จำเป็นต้องตกลงมาทั้งลำนะครับ) และยิ่งปัจจุบันก็จะมีพวกโดรนที่บินถ่ายรูปต่างๆเยอะแยะเลย อันนี้ก็ถือเป็นอากาศยานมวลเบาแบบไร้คนขับ ซึ่งทางบริษัทประกันเค้าก็จะไปเรียกร้องค่าเสียหายจากคนที่บังคับโดรนนั้นๆ (กรณีพลุ/บั้งไฟตกใส่หลังคาบ้าน กลุ่มนี้ไม่ใช่อากาศยานก็จะไม่ได้รับความคุ้มครองจากหมวดนี้ครับ แต่ถ้าตกลงมาแล้วเกิดเพลิงไหม้ ก็จะเข้าข่ายภัยจากไฟไหม้ก่อนหน้านี้นั่นเอง)
  • ภัยเนื่องจากน้ำ : หัวข้อนี้ไม่รวมกรณีน้ำท่วมนะครับ ซึ่งหลายๆคนเข้าใจผิดกันเยอะมาก โดยคำว่าภัยจากน้ำในที่นี่ให้หมายถึง ความเสียหายจากน้ำที่ไหลซึมเข้ามาตามรอยร้าวของตัวอาคาร อาจมาจากฝ้าเพดาน/ท่อน้ำ/รางน้ำ/หลังคารั่ว หรือใดๆก็ตามที่น้ำไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ (จากบนลงล่าง) และส่วนใหญ่ก็จะเกิดขึ้นภายในอาคาร หรือใต้ชายคาของตัวบ้านเป็นหลัก เช่น ลืมเปิดก๊อกน้ำไว้จนน้ำเอ่อล้นทำให้พื้นบ้านเสียหาย อันนี้จะได้รับความคุ้มครองครับ แต่ถ้าเราลืมปิดประตู/หน้าต่างแล้วฝนสาดเข้ามาในบ้าน แบบนี้จะไม่ได้รับความคุ้มครองนะ

4 ภัยธรรมชาติ ที่ขยายความคุ้มครองโดยไม่ต้องจ่ายเบี้ยประกันเพิ่ม ประกอบด้วย

  • ภัยจากลมพายุ : ในที่นี้ให้ขยายความรวมไปถึงภัยจากน้ำในทะเล หรือคลื่นในมหาสมุทร ซึ่งอาจโดนลมพายุพัดมาจนทำให้เกิดคลื่นน้ำซัดเข้าสู่แนวชายฝั่ง แล้วเกิดความเสียหายต่อที่อยู่อาศัยด้วย ส่วนบ้านทั่วไปก็อาจเป็นเหตุที่เกิดจากน้ำฝน น้ำค้างแข็ง หิมะ หรือเม็ดทราย ที่ผ่านเข้ามาตามรอยร้าวของอาคาร เว้นแต่อาคารที่มีการเปิดประตู/หน้าต่างทิ้งไว้เอง หรือมีผนังด้านใดด้านหนึ่งเปิดโล่ง และทรัพย์สินที่เก็บอยู่กลางแจ้งอยู่แล้ว กลุ่มนี้จะไม่ได้รับความคุ้มครองนะครับ
  • ภัยจากน้ำท่วม : นอกจากอุทกภัยที่มาจากภายนอกแล้ว กรณีใดๆก็ตามที่เป็นเหตุการณ์ของน้ำผุดขึ้นมาจากพื้นดิน (จากล่างขึ้นบน) ในทางประกันภัยเค้าจะถือว่าเป็นภัยจากน้ำท่วมทั้งหมดครับ ซึ่งจะตรงข้ามกับภัยเนื่องจากน้ำก่อนหน้านี้เลย เช่น ท่อประปาใต้ดินที่อยู่ภายในบ้านของเราแตก น้ำผุดขึ้นมาจากใต้ดินสร้างความเสียหาย แบบนี้ก็จะเข้าข่ายภัยจากน้ำท่วมครับ
  • ภัยจากแผ่นดินไหว : เป็นแรงสั่นสะเทือนที่อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินได้ ซึ่งในที่นี้ให้รวมถึงภัยจากภูเขาไฟระเบิด สึนามิ และคลื่นใต้น้ำด้วยนะครับ
  • ภัยจากลูกเห็บ : ก้อนน้ำแข็งที่ตกลงมาจากท้องฟ้า ซึ่งอาจเป็นช่วงหน้าหนาว หรือมาพร้อมกับลมพายุที่พัดหอบน้ำแข็งเหล่านี้มาจากที่อื่น แล้วตกลงมาสร้างความเสียหายแก่หลังคาบ้านหรือทรัพย์สินอื่นๆ

โดยภัยธรรมชาติทั้ง 4 ที่ได้กล่าวมา คปภ. เป็นผู้กำหนดให้บริษัทประกันภัยต่างๆ ขยายความคุ้มครองให้กับผู้เอาประกัน โดยที่ผู้เอาประกันไม่ต้องจ่ายเบี้ยเพิ่มนะครับ แต่จะมีการจำกัดวงเงินเอาไว้ว่า …ตลอดทั้งปีของกรมธรรม์จะรับผิดชอบไม่เกิน 20,000 บาท/ปีเท่านั้น คือไม่ว่าภายในปีนั้นจะเกิดภัยธรรมชาติกี่ครั้งหรือกี่อย่างก็ตาม เราจะได้เงินชดเชยเพียงแค่ 20,000 บาท ครั้งเดียวแล้วจบเลย

ถามว่าน้อยไปหรือเปล่า? …น้อยมากครับ ซึ่งบางทีซื้อเฟอร์นิเจอร์ชิ้นเดียวก็ยังไม่พอด้วยซ้ำ ดังนั้นทางบริษัทประกันภัยจึงมีการขยายความคุ้มครองพิเศษเพิ่มเติมได้ แต่นั่นหมายความว่าเราต้องซื้อและจ่ายเพิ่มนะ โดยจะมีวงเงินความคุ้มครองตั้งแต่หลักแสนไปจนถึงหลักล้านก็มี แล้วแต่วงเงินประกันที่เราทำไว้ หรือตามแพ็คเกจที่บริษัทนั้นๆกำหนด ซึ่งอันนี้เราต้องลองสอบถามรายละเอียดกับแต่ละเจ้าดูอีกทีนะครับ

เงื่อนไขและองค์ประกอบอื่นๆ ในการพิจารณารับประกัน

ทรัพย์สินที่คุ้มครองและใช้เอาประกันได้

  • อาคารที่พักอาศัย (ไม่รวมฐานราก) : เวลาเกิดเหตุการต่างๆอย่าง เพลิงไหม้ หรือน้ำท่วม ส่วนใหญ่ก็จะเกิดความเสียหายบริเวณเหนือพื้นดินขึ้นมาครับ ซึ่งจะคุ้มครองรวมไปถึงส่วนต่อเติมของอาคารด้วยนะ แต่ในที่นี้จะต้องเป็นส่วนที่อยู่ติดกัน หรือใช้โครงสร้างเดียวกับอาคารหลักเท่านั้น ถ้าสมมุติว่าเราไปสร้างโรงจอดรถไว้ห่างออกไป 2 – 3 m. แบบนี้โรงจอดรถจะไม่ได้รับความคุ้มครองนะครับ
  • ทรัพย์สินต่างๆ ภายในสิ่งปลูกสร้าง : ไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆภายในบ้าน เราสามารถใช้เอาประกันและได้รับความคุ้มรองได้ทุกชิ้นครับ ยกเว้นกรณีของเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เป็นตัวต้นเพลิง อันนี้จะไม่ได้รับความคุ้มครองนะ

ทรัพสินที่ไม่คุ้มครอง

  • เงิน/ทอง/อัญมณี/วัตถุโบราณ : สิ่งของต่างๆเหล่านี้เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ยากว่า ของที่ถูกทำลายหรือสูญหายไปนั้นเป็นของจริงมากน้อยแค่ไหน ดังนั้นทางบริษัทประกันภัยจึงจะไม่คุ้มครองวัตถุเหล่านี้ให้นะครับ (ถ้าต้องการความคุ้มครองในส่วนนี้ ก็อาจต้องซื้อเป็นประกันเฉพาะทางอื่นๆเพิ่มเติมอีกที)
  • เอกสารต่างๆ / ภาพวาด / แบบแปลน / เอกสารทางการเงิน : พวกวัตถุประเภทกระดาษทั้งหมดที่ถูกเผาไหม้ สูญหาย และทำลายได้ง่าย กลุ่มนี้ก็จะไม่ได้รับความคุ้มครองครับ
  • วัตถุระเบิด : ถือเป็นวัตถุประเภทอาวุธ ซึ่งทางบริษัทประกันก็จะไม่คุ้มครองด้วยเช่นกัน เผลอๆสิ่งของเหล่านั้นก็อาจสร้างความเสียหายในเหตุการณ์เพิ่มเติม หรืออาจเป็นต้นเหตุซะเองด้วยซ้ำครับ

สถานที่ตั้งของทรัพย์สิน

  • กรณีน้ำท่วม : พื้นที่รับน้ำหรือพื้นที่มีความเสี่ยงภัยน้ำท่วมสูง ได้แก่ อ่างทอง ลพบุรี นครสวรรค์ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ สิงห์บุรี และบางพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร จะต้องมีการพิจารณาเป็นเคสๆไปครับ ยิ่งพื้นที่จุดไหนมีความเสี่ยงน้ำท่วมสูง เบี้ยประกันก็อาจสูงตามไปด้วย หรือบางพื้นที่ที่มีน้ำท่วมเป็นประจำทุกๆปีอยู่แล้ว ก็อาจไม่ได้รับความคุ้มครองเลยก็มี
  • กรณีไฟไหม้ : ตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย จะมีข้อกำหนดของพื้นที่อันตราย เช่น เยาวราช สำเพ็ง จักรวรรดิ์ ชุมชนแออัดคลองเตย เป็นต้น เพราะถือเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยสูง เปลวไฟลุกลามได้ง่าย และรถดับเพลิงเข้าถึงได้ยาก เลยทำให้บริษัทหลายๆแห่งอาจไม่ให้ความคุ้มครองพื้นที่ต่างๆเหล่านี้
  • กรณีเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติ : พื้นที่ในเขต 4 จังหวัดทางภาคใต้ ที่มักเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบบ่อยครั้ง ได้แก่ สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส กลุ่มนี้อาจไม่ได้รับความคุ้มครอง หรือจำเป็นจะต้องพิจารณาเป็นเคสๆไปนะครับ เพราะถือเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการก่อการร้ายและวัตถุระเบิด ที่อาจสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินได้ง่าย ซึ่งเดิมทีบริษัทประกันเองเค้าก็จะไม่คุ้มครองความเสียหายของทรัพย์สิน ที่เกิดจากวัตถุระเบิดประเภทอาวุธทุกกรณีอยู่แล้วด้วยนั่นเองครับ

ลักษณะสิ่งปลูกสร้าง

  • ระบบการก่อสร้างของตัวอาคาร : วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างจะส่งผลต่อการพิจารณาเบี้ยประกัน อย่างเช่น ถ้าบ้านไหนที่ก่อสร้างด้วยปูนหรือคอนกรีตมากกว่า 80% หรือที่เราเรียกว่าคอนกรีตล้วน ก็จะมีค่าเบี้ยประกันที่ถูกกว่าบ้านแบบครึ่งไม้ครึ่งปูน และบ้านที่สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง เพราะไม้จัดเป็นวัสดุที่ติดไฟได้ง่าย และมีความเสี่ยงที่สูงกว่านั่นเองครับ
  • ลักษณะการใช้งาน : สำหรับบ้านที่ไม่ได้ใช้เพื่อการอยู่อาศัยแบบ 100% ซึ่งอาจเป็นอาคารพาณิชย์ที่ชั้นล่างทำเป็นร้านค้า ออฟฟิศ หรือกิจการอื่นๆร่วมด้วย จะมีการคิดค่าเบี้ยประกันที่สูงกว่าบ้านที่อยู่อาศัยทั่วไป เพราะถือว่ากิจกรรมต่างๆเหล่านั้น อาจทำให้เกิดความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น รวมถึงหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น แก๊สระเบิดในขณะที่เปิดกิจการอยู่ ก็จะไม่ได้รับความคุ้มครองด้วยเช่นกันครับ (แม้ว่าของชิ้นนั้นจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับกิจการของเราเลยก็ตาม) และถ้าบ้านไหนที่มีการเปลี่ยนแปลงการใช้งาน ภายหลังจากการที่ทำประกันไว้แล้ว ก็ควรแจ้งให้บริษัทประกันได้รับทราบด้วยนะครับ เพื่อที่จะได้ปรับกรมธรรม์ให้เหมาะสม และครอบคลุมความเสี่ยงที่เราอาจต้องรับมือในอนาคต เพราะหากการใช้งานไม่ตรงกับข้อมูลที่ตกลงไว้ในสัญญากรมธรรม์ ทางบริษัทประกันมีสิทธิ์ปฏิเสธการให้ความคุ้มครองได้ครับ

อุปกรณ์ดับเพลิง

ในกรณีที่มีอุปกรณ์ดับเพลิงติดตั้งไว้ในบริเวณที่เอาประกัน จะได้รับส่วนลดตามรายการและอัตราส่วนลดสำหรับอุปกรณ์ดับเพลิงต่างๆตามที่ระบุไว้ เช่น ถังดับเพลิงเคมีลด 2.5%, ท่อดับเพลิงลด 5%, สปริงเกอร์ดับเพลิงลด 10% เป็นต้น

ควรทำประกันอัคคีภัยราคาเท่าไหร่?

ตามหลักประกันภัยแนะนำสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 70% ของมูลค่าบ้านและทรัพย์สินครับ ถือเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างครอบคลุมความเสียหายส่วนใหญ่ได้ดี รวมถึงเจ้าของบ้านจะต้องจ่ายส่วนต่างเพิ่มเพียง 30% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้เอาประกันภัยแต่ละคน ว่ามีความสามารถในการจ่ายเบี้ยประกันมากน้อยแค่ไหนนะครับ เพราะนี่เป็นแค่หลักการเบื้องต้นที่บริษัทประกันภัยส่วนใหญ่แนะนำมาให้เท่านั้น

การคำนวณหามูลค่าบ้านและสินทรัพย์

หามูลค่าของบ้าน (บาท) = พื้นที่ใช้สอยชั้นล่าง (ตร.ม.) x จำนวนชั้น x ราคาค่าก่อสร้างต่อตารางเมตร (บาท) 

ยกตัวอย่างเช่น บ้านของน.ส. พลอย เป็นบ้านเดี่ยว 2 ชั้น ขนาดพื้นที่ใช้สอยด้านล่าง 105 ตารางเมตร (กว้าง 7 เมตร ยาว 15 เมตร) ราคาค่าก่อสร้างอยู่ที่ตารางเมตรละ 12,000 บาท

มูลค่าบ้านของ น.ส.พลอย = 105 x 2 x 12,000 = 2,520,000 บาท ดังนั้นจำนวนทุนประกันเต็มจำนวนเฉพาะตัวบ้านจะอยู่ที่ 2,520,000 บาท (ไม่รวมทรัพย์สิน)

ส่วนการประเมินมูลค่าของทรัพย์สิน จะคิดจากเฟอร์นิเจอร์และระบบสาธารณูปโภคที่ 20% ของมูลค่าบ้าน นอกจากนี้ยังสามารถนับรวมทรัพย์สินอื่นๆ ยกเว้นบางรายการที่ทางบริษัทประกันภัยนั้นๆไม่ได้ให้ความคุ้มครอง

หามูลค่าของทรัพย์สิน = (มูลค่าของบ้าน x 20%) + มูลค่าทรัพย์สินอื่นๆ (บาท) 

ยกตัวอย่างเคสเดิม ภายในบ้านของ น.ส. พลอย มีเฟอร์นิเจอร์หลายชิ้น พร้อมระบบสาธารณูปโภคติดตั้งไว้ครบครัน ส่วนข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ รวมมูลค่าอยู่ที่ 500,000 บาท ดังนั้นมูลค่าของทรัพย์สินของ น.ส.พลอย = (2,520,000 x 20%) + 500,000 = 1,004,000 บาท

รวมมูลค่าบ้านและทรัพย์สินของ น.ส. พลอย อยู่ที่ 2,520,000 + 1,004,000 = 3,524,000 บาท

ซึ่งตามปกติแล้วเบี้ยประกันที่เราต้องจ่าย จะอยู่ที่ประมาณ 0.1% ต่อปีของทุนประกัน หรือคิดง่ายๆ อยู่ที่ล้านละ 1,000 บาทโดยประมาณ

ดังนั้นเบี้ยประกันที่ น.ส.พลอย จะต้องจ่ายคือ 3,524,000 x 0.1% =  3,524 บาท/ปี

ประกันภัยพิบัติคืออะไร?

จากวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ในปี พ.ศ. 2554 รัฐบาลได้มีการจัดตั้ง “กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ” ขึ้นตามพระราชกำหนดกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ พ.ศ. 2555 เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติต่างๆ และให้ประชาชนเข้าถึงความคุ้มครองภัยพิบัติได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น

โดยประกันภัยชนิดนี้จะมีวงเงินประกันสูงสุดอยู่ที่ 100,000 บาท และเบี้ยประกัน 0.5% ต่อปี ซึ่งมากกว่าประกันอัคคีภัยธรรมดาทั่วไปถึง 5 เท่า (จากเดิม 20,000 บาท/ปี) แต่ในขณะเดียวกันก็จะมีข้อกำหนดมากกว่าประกันทั่วๆไปด้วยเช่นกัน ถึงจะตรงตามเงื่อนไขและได้รับความคุ้มครอง เช่น จะต้องเป็นภัยที่ประกาศโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยเท่านั้น / เป็นแผ่นดินไหวระดับ 7 ริกเตอร์ขึ้นไป / ลมพายุพัดเร็ว 120 กม./ชม. หรือความสูงของน้ำจะต้องเป็นกี่เซนติเมตร เป็นต้น

ซึ่งผมได้ลองสอบถามกับทางบริษัทประกันภัยหลายๆแห่ง เค้าบอกว่าตอนนี้ยังไม่มีประกาศการใช้ประกันภัยชนิดนี้จาก คปภ. หรือทางภาครัฐออกมานะครับ จะมีก็แต่เพียงประกันอัคคีภัยพื้นฐาน และประกันเสริมอื่นๆตามปกติของแต่ละบริษัทเท่านั้น คาดว่าส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะผลของ COVID-19 ก็เลยทำให้หลายๆภาคส่วนหันไปให้ความสำคัญกับพวกประกันชีวิตและประกันสุขภาพก่อนครับ

แต่ก็มีการคาดการณ์ว่าประกันชนิดนี้อาจมีการนำกลับมาใช้งานอีกครั้งก็ได้ เพราะปกติแล้ว “ประกันภัยพิบัติ” มักจะมีการประกาศใช้ในช่วงปีที่มีเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ๆเกิดขึ้นเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ใหญ่ที่น้ำท่วมในปี 54 ก็มีผลประกาศใช้ครั้งแรกตอนปี 55 จนถึงปี 58 แต่ก็ได้ยกเลิกไปพักนึง และมาประกาศใช้อีกครั้งในปี 62 ที่มีน้ำท่วมใหญ่แถวอุบลราชธานี ซึ่งเมื่อถึงเวลาที่มีการประกาศใช้งานอีกครั้ง เราก็จะได้มีช่องทางอื่นๆ ที่จะได้รับการเยียวยาและความช่วยเหลือทางการเงินเพิ่มขึ้นนั่นเอง

สรุป

การทำประกันที่จะคุ้มครองกรณีเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมบ้าน สามารถทำได้ 3 รูปแบบหลักๆคือ

  1. ประกันอัคคีภัย : เป็นประกันที่คนกู้ธนาคารเพื่อซื้อบ้านทุกคนจะต้องทำอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีทั้งคนที่ยังเข้าใจผิดคิดว่า “ภัยเนื่องจากน้ำ” ก็คือประกันน้ำท่วม ซึ่งจะได้เงินชดเชยเต็มวงเงินประกันเลย แต่จริงๆแล้วไม่ใช่นะครับ รวมถึงยังมีบางคนที่ยังไม่ทราบเลยด้วยซ้ำว่า “ประกันอัคคีภัย” ก็มีความคุ้มครองเรื่องน้ำท่วมอยู่แล้วด้วยเช่นกัน แต่จะจำกัดวงเงินอยู่แค่เพียง 20,000 บาท/ปีเท่านั้น
  2. การซื้อประกันเพิ่ม : เป็นการซื้อใหม่เพื่อขยายความคุ้มครองให้มากขึ้น ซึ่งแต่ละบริษัทก็จะมีรายละเอียดในกรมธรรม์แตกต่างกันออกไปในแต่ละแพ็คเกจที่เลือก
  3. ประกันภัยพิบัติ : จัดตั้งโดยรัฐบาล และจะมีให้เราได้ใช้เฉพาะในช่วงเวลาที่มีการประกาศใช้เท่านั้น ซึ่งหากใครที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง หรือได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติตามที่กำหนดเป็นประจำ ก็แนะนำให้ทำเอาไว้ได้ครับ เพราะเบี้ยประกันค่อนข้างถูกเพียง 0.5% เท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐต้องการเยียวยาและลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนอยู่แล้วนั่นเอง

ข้อควรระวังในการทำประกันภัย

ถึงแม้ว่าในตลาดจะมีบริษัทประกันภัยอยู่หลากหลายเจ้า แต่เราไม่สามารถทำประกันภัยรูปแบบเดียวกัน หลายๆเจ้าพร้อมกัน เพื่อรับค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดได้นะครับ เพราะหากแบบนั้นอาจถือว่าเราทุจริตทันที ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผมทำประกันอัคคีภัยเอาไว้กับ 3 บริษัท ที่ละ 2 ล้าน เพราะคิดว่าเมื่อเกิดเหตุผมจะได้เงินชดเชยรวมกันเป็น 6 ล้าน แบบนี้ไม่ได้นะครับ

เพราะก่อนที่เราจะได้รับเงิน ทางบริษัทเค้าจะมีการตรวจสอบอีกครั้งว่า เราได้มีการทำสัญญา หรือรับเงินประกันในส่วนนี้จากเจ้าอื่นๆไปแล้วหรือยัง ซึ่งสำหรับเจ้าแรกที่เราเรียกมาก็อาจได้เงินจริงๆไม่มีปัญหาอะไรครับ แต่อีก 2 เจ้าที่เหลือถ้าเค้าตรวจสอบเจอว่าเราเคยได้รับเงินเจ้าแรกไปแล้ว เค้าก็จะมีสิทธิ์ในการปฏิเสธการให้ความคุ้มครองได้ทันทีนั่นเองครับ

บทความน่าสนใจอื่นๆที่เกี่ยวข้อง :

ThinkofLiving มี LINE Official Account แล้วนะ
ไม่อยากพลาดข้อมูลข่าวสารก็ Add เลย > https://lin.ee/svACOxc