Screen Shot 2556-08-06 at 3.55.09 PM

สวัสดีค่ะคุณผู้อ่านที่รัก กลับมาพบกันอีกแล้วนะคะ ^_^  คุณนายก็พยายามจะสรรหาเรื่องโน้นเรื่องนี้ที่เป็นประโยชน์กับคุณผู้อ่านมาเล่าสู่กันฟัง ในตอนนี้….คุณนายก็เลยว่าจะชวนคุยเรื่อง ใยหิน (Asbestos) ใยหินนั้นมีอยู่ในวัสดุก่อสร้างบ้านบางประเภท อาทิ กระเบื้องมุงหลังคาลอนลูกฟูก, กระเบื้องหลังคาลอนคู่บางชนิด และท่อซีเมนต์ใยหิน เรามาติดตามกันเลยนะคะว่าตกลงใยหินนั้นอันตรายต่อสุขภาพจริงหรือไม่? มีวัสดุอื่นทดแทนได้ไหม? ประเทศอื่นเขาใช้กันไหม? และกฏหมายบ้านเราว่าไว้อย่างไร? ไปติดตามกันได้เลยค่ะ ^_^ (ย้อนไปอ่านตอนเก่าๆได้ที่นี่นะคะ)

1

ใยหินคืออะไร?

ใยหินที่เราพูดๆกันนั้นก็คือแร่ใยหิน (Asbestos) ซึ่งเป็นแร่ธรรมชาติที่ปนอยู่ในเนื้อหิน ประกอบด้วยธาตุเหล็ก แมกนีเซียม ซิลิเกต และธาตุอื่น ๆ มีลักษณะเป็นเส้นใยละเอียด เริ่มเป็นที่นิยมในการนำมาเป็นส่วนประกอบในวัสดุก่อสร้างมานานแล้ว เริ่มตั้งแต่ตอนปลายของศตวรรษที่ 19 เนื่องด้วยคุณสมบัติที่ ทนความร้อน ไม่นำความร้อนและไฟฟ้า ทนกรด ด่าง การทำลายของแมลง มีความแข็ง เหนียว และยืดหยุ่น สามารถนำมาปั่นเป็นเส้นและทอเป็นผืนได้

2

ในต่างประเทศเช่น สหรัฐอเมริกา ใยหินมีการใช้อย่างแพร่หลายในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม นำมาใช้เพื่อเป็นฉนวนเก็บความร้อนในอาคาร เป็นส่วนประกอบในวัสดุพวก ท่อ ฝ้าเพดาน แผ่นพื้น แผ่นหลังคา….แหม่ สรุปแล้วก็คือเกือบจะวัสดุในอาคารทุกประเภทน่ะค่ะ ใช้กันมากจนขนาดที่ว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ 9/11 ที่ตึก WorldTradeCenter ในนิวยอร์กซิตี้ถล่มลงมา มีความเป็นห่วงว่าฝุ่นผงจากแร่ใยหินที่ฟุ้งกระจายออกมาจะมีปริมาณมากจนเกิดอันตรายแก่ผู้อยู่อาศัยและทำงานในนครนิวยอร์ก จนต้องตั้งหน่วยงานพิเศษที่คอยทำความสะอาดและตรวจสอบปริมาณใยหินในอากาศ

ใยหินอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่?

สำหรับอันตรายของใยหินต่อสุขภาพนั้น อันตรายของใยหินจะเกิดขึ้นจากการฟุ้งกระจายของเส้นใยและมีการสูดเอาเส้นใยเข้าไปในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งถ้ามีการสะสมในปริมาณมาก เป็นระยะเวลานานก็จะทำให้มีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรคเช่น มะเร็งปอด (Lung Cancer), มะเร็งเยื่อหุ้มปอด (Mesothelioma) และ ปอดอักเสบจากแอสเบสตอส (Asbestosis) มีการศึกษายืนยันจากหลายหน่วยงานไม่ว่าจะเป็น The International Agency for Research on Cancer ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งใน World Health Organization หรือหน่วยงานวิจัยภายในหลายๆแห่งของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ต่างก็ให้ข้อสรุปในการศึกษาที่ตรงกันว่าแร่ใยหิน (Asbestos) นั้น “Carcinogenic to Humans”

แต่ๆๆๆๆๆๆๆ เมื่อได้ฟังดังนี้คุณผู้อ่านก็อย่าเพิ่งตื่นตกใจไปค่ะ ความเสี่ยงในการสูดเอาเส้นใยเข้าไป ส่วนใหญ่จะอยู่ในระหว่างกระบวนการผลิต คือคนทำงานที่สัมผัสโดยตรงกับเส้นใยโดยที่ไม่มีเครื่องมือป้องกัน ส่วนคนที่อาศัยอยู่ในบ้านที่มีผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของใยหินที่ยังอยู่ในสภาพดีนั้นมีความเสี่ยงน้อยมากๆ ยกเว้นว่าเราจะมีการทำให้วัสดุแตกหัก ทำให้เกิดการฟุ้งกระจายของฝุ่นผงในเนื้อวัสดุขึ้นมา ก็เป็นเกิดอันตรายจากการสูดเอาเส้นใยเข้าไปได้ค่ะ ดังนั้นการทำลาย เคลื่อนย้าย หรือรื้อถอนวัสดุก่อสร้างที่มีส่วนผสมของใยหินควรทำโดยช่างผู้มีความชำนาญและมีอุปกรณ์ป้องกัน

ในประเทศไทยนั้นก็ยังมีวัสดุก่อสร้างบ้านหลายชนิดที่มีส่วนผสมของใยหิน เช่น กระเบื้องแผ่นเรียบบางประเภท กระเบื้องมุงหลังคาลอนคู่บางประเภท กระเบื้องลอนเล็กบางประเภท ท่อซีเมนต์ใยหิน ส่วนวัสดุที่ไม่ได้ใช้สร้างบ้านแต่มีการผสมใยหินอย่างแพร่หลายก็พวก ผ้าเบรกและคลัตช์

3

ปัจจุบันนี้ผู้ผลิตกระเบื้องมุงหลังคาที่มีการเคลมว่าปราศจากใยหิน 100% ก็มีของ SCG และโอลิมปิค ค่ะ โดยผู้ผลิตจะมีการใช้วัสดุทดแทนเป็นพวก Fiber Cement สำหรับการทำ กระเบื้องแผ่นเรียบ กระเบื้องหลังคาลอนเล็ก และกระเบื้องหลังคาลอนคู่

4

Fiber Cement Process ขอบคุณข้อมูลจากที่ได้ไปเยี่ยมชมโรงงาน บริษัท โอลิมปิคกระเบื้องไทย จำกัด

ในเรื่องของกฏหมายไทยเกี่ยวกับใยหิน ปัจจุบันยังไม่มีการห้ามใช้ใยหินในวัสดุก่อสร้าง กฏหมายที่ใกล้เคียงที่สุดเกี่ยวกับเรื่องนี้เท่าที่คุณนายหาเจอคือ พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร 2527 ข้อ 26 เขียนว่า “วัสดุก่อสร้างที่ใช้ภายในอาคารจะต้องไม่ทำให้เกิดสารแขวนลอยในอากาศอันอาจเกิดอันตรายต่อสุขภาพเช่น ใยหิน ซิลิก้า หรือใยแก้ว เว้นแต่จะได้ฉาบหุ้มหรือปิดวัสดุนั้นไว้เพื่อป้องกันมิให้เกิดสารแขวนลอยฟุ้งกระจายและสัมผัสกับอากาศที่บริเวณใช้สอยของอาคาร” คุณนายสรุบใจความได้ว่า ใยหินใช้อยู่ในเนื้อวัสดุได้ ถ้าไม่ฟุ้งกระจายก็โอเค

สำหรับในต่างประเทศเช่นสหรัฐอเมริกา ใยหินเริ่มค่อยๆหายไปจากการใช้เป็นส่วนประกอบในวัสดุก่อสร้างตั้งแต่ ช่วงปี คศ 1970 เป็นต้นไป โดยเริ่มมีกฏหมายเกี่ยวกับใยหินดังนี้

ปี คศ 1981 มีการออกกฏหมายว่าวัสดุที่ใช้ใยหินเป็นส่วนประกอบต้องติดป้ายเปิดเผยแก่ผู้ซื้อ

ปี คศ 1989 มีการออกกฏหมายเกี่ยวกับการเลิกใช้ใยหินและการค่อยๆลดการใช้ใยหินในแต่ละประเภทวัสดุ

ปี คศ 2010 รัฐวอชิงตันมีการออกกฏหมายห้ามใช้ใยหินเป็นส่วนประกอบของผ้าเบรกซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในปี 2014

นอกจากนี้สหรัฐอเมริกายังมีกฏหมายเกี่ยวกับการควบคุมจำนวนชั่วโมง ตรวจสอบปริมาณใยหิน สำหรับผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับใยหิน ไม่ว่าจะเป็นในกระบวนการผลิต หรือช่างก่อสร้างที่ทำงานเกี่ยวข้องกับวัสดุที่มีใยหิน

5

ในประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆเช่น อังกฤษ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และ สิงค์โปร์ ก็มีการออกกฏหมายเกี่ยวกับการควบคุมและลดปริมาณการใช้ใยหินเรื่อยมา  ซึ่งเห็นถึงความพยายามเอาแร่ใยหินนี้ออกจากกระบวนการผลิตในอนาคตอันใกล้ (สำหรับสิงค์โปร์พี่แกโหดมาก เลิกใช้ใยหินอย่างสิ้นเชิงในวัสดุทุกประเภทมาตั้งแต่ปี คศ 1989)

แล้วประเทศไทยเราจะเอาไงดี?

ประเทศไทยเราก็มีความพยายามจะออกกฏหมายเรื่องนี้หลายครั้งเหมือนกันนะคะ โดยล่าสุดที่คุณนายเห็นข่าวมาจาก ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2556 ใจความว่า “กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมเสนอ ครม. ยกเลิกใช้แร่ใยหินภายใน 2-5 ปี โดย ได้กำหนดแนวทางการเลิกใช้แร่ใยหิน 2 กลุ่ม คือ

1.กระเบื้องแผ่นเรียบและกระเบื้องยางปูพื้นกำหนดให้ยกเลิกใช้แร่ใยหินไครโซไทล์เป็นวัตถุดิบภายใน 2 ปี เนื่องจากมีผลิตภัณฑ์อื่นทดแทนหรือใช้วัสดุอื่นๆ ทดแทนแร่ใยหินไครโซไทล์ ซึ่งหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องจะเตรียมออกกฎหมายบังคับให้ยกเลิกใช้ในช่วงเตรียมตัว 2 ปี และ

2.กระเบื้องมุงหลังคา ผ้าเบรกและคลัตช์ ท่อซีเมนต์ใยหิน กำหนดให้ยกเลิกใช้แร่ใยหินเป็นวัตถุดิบภายใน 5 ปี เนื่องจากยังขาดผลการศึกษาที่ชัดเจน เกี่ยวกับผลกระทบของแร่ใยหิน ที่มีผลต่อสุขภาพและมาตรการป้องกัน รวมทั้งยกเลิกใช้แร่ใยหินในสินค้าดังกล่าว มีผลกระทบวงกว้างต่อผู้บริโภค เศรษฐกิจและสังคม”

ในความเห็นส่วนตัวของคุณนายคิดว่า ในเมื่อใยหินมันเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ถึงจะไม่ใช่โดยตรงสำหรับผู้อยู่อาศัย แต่คนที่ทำงานในกระบวนการผลิตหรือคนงานก่อสร้าง เขาก็ต้องเป็นญาติของใครซักคนใช่ไหมค่ะ หรือเป็นญาติของญาติใครซักคนก็ได้เอ้า….. สังคมก็ควรมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบสุขภาพของคนเหล่านั้น

6

ณ จุดนี้ คุณนายว่าเราไม่ได้ต้องการมองย้อนกลับไปในอดีต ตราหน้าว่าผู้ผลิตรายนั้นรายนี้ไม่ดี ผลิตสินค้าที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหิน หรือว่าผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เจ้านั้นเจ้านี้แย่ เลือกใช้สินค้าที่มีใยหิน เพราะเวลานั้นก็คือเวลานั้น เราทุกคนตัดสินใจจากข้อมูลเท่าที่มีอยู่ในอดีตและเลือกทางเลือกที่ดีที่สุดที่มีอยู่ในห้วงเวลานั้นๆ

แต่สำหรับวันนี้ เมื่อเรารู้แล้ว เรามีทางเลือกวัสดุอื่นแล้ว ประเทศที่พัฒนาแล้วก็แสดงให้เห็นแล้วว่าเขามีทัศนคติกับแร่ใยหินต่อประชากรของเขาอย่างไร เราก็ไม่ควรจะเพิกเฉยกับสิ่งที่เป็นอยู่ เพียงเพราะว่ามันง่ายกว่าในการที่จะไม่เปลี่ยนแปลง

คุณนายว่าเราก็ค่อยๆเริ่มไปทีละขั้นก็ได้ค่ะ เช่นมีติดฉลากบอกสำหรับสินค้าที่มีแร่ใยหิน ให้ผู้บริโภคได้รับรู้ ให้เขาเป็นผู้เลือกเอง แล้วจะได้มีเวลาให้ผู้ผลิตปรับตัว ปรับกระบวนการผลิตอะไรก็ว่าไป ประเทศอื่นเขายังทำได้ ไทยแลนด์ของเราถ้าร่วมมือกันทุกฝ่าย ต้องทำได้แน่นอนค่ะ J

XOXO

คุณนายสวนหลวง

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก