สวัสดีครับเพื่อนๆ ชาว ThinkOfLiving.com รู้มั้ยครับว่าถ้าให้ลำดับห้องที่สกปรก เป็นที่สะสมของเชื้อโรคมากที่สุด 3 อันดับในบ้านของเรา จะมีห้องอะไรติดอันดับบ้างครับ 🙂 ลองเดาๆ นึกๆ ในใจกันดูนะครับ วันนี้ผมจะนำเสนอเกี่ยวกับการทำความสะอาดห้องที่ได้ชื่อว่าสกปรกที่สุดในบ้านครับ ซึ่งนั่นก็คือ ห้องครัว ครับ (คอลัมน์เจาะลึกเครื่องครัว)
ห้องครัวจัดเป็นห้องที่ได้ชื่อว่าสกปรกและเป็นแหล่งสะสมของแบคทีเรียมากที่สุดในบ้าน ทั้งนี้เนื่องจากเชื้อโรคจะเจริญเติบโตได้ดีในที่ร้อนชื้น และเชื้อโรคมักมากับของสดหรือเศษอาหารที่เน่า หลายๆ ท่านอาจจะคิดว่าทำความสะอาดห้องครัวทุกวันอยู่แล้ว ห้องครัวก็สะอาดดีไม่มีปัญหาอะไร แต่รู้หรือไม่ครับว่า จุดที่เชื้อโรคสะสมมากๆ ส่วนใหญ่จะเป็นจุดที่เราไม่เคยคิดที่จะทำความสะอาดมันเลยครับ ลองดูกันดีกว่าครับว่าจุดที่ว่านั้นมีอะไรบ้าง
1) เคาน์เตอร์ครัว
หลายๆ ท่านคงคิดว่ามีการทำความสะอาดบริเวณเป็นประจำอยู่แล้ว ไม่น่าที่จะสกปรกและก่อเชื้อโรคได้ แต่จริงๆ แล้วเชื้ออาจจะติดมากับผ้าเช็ดโต๊ะที่ไม่สะอาดม หรือพวกถุงใส่อาหาร ภาชนะอื่นๆ ที่ยังไม่ได้ล้าง ที่เราเผลอวางลงไปตรงบริเวณที่ปกติเราใช้ประกอบอาหารครับ วิธีที่ดีที่จะทำให้บริเวณนี้สะอาดได้แก่การทำความสะอาดทุกครั้งทั้ง ก่อน และ หลัง การทำอาหารแล้วเช็ดแห้งด้วยกระดาษทิชชู่หนาๆ ครับ
ผ้าเช็ดโต๊ะ
สาเหตุ – ไม่ค่อยซักทำความสะอาด ส่วนใหญ่จะล้างน้ำแล้วผึ่งไว้ในครัว ซึ่งมีโอกาสที่ความชื้นในผ้าประกอบกับความร้อนในครัวจะทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดี เป็นอันดับสองเรื่องความสกปรกรองจากฟองน้ำล้างจาน
วิธีทำความสะอาด – ทางที่ดีควรซักแล้วตากแดดให้แห้งหรือเปลี่ยนบ่อยๆ ครับ หรือนำเข้าเตาอบไมโครเวฟ 2 นาทีครับ (แต่อาจเสี่ยงไฟลุกครับ อย่าเลยครับ) หรือถ้าเป็นไปได้ควรเปลี่ยนทุกอาทิตย์ครับ (แต่เปลือง)
เขียง
สาเหตุ – เขียงต้องสัมผัสกับอาหารดิบเป็นประจำจึงอาจมีเชื้อโรคปะปน ใช้งานไปนานๆ จะเกิดรอยขีดเล็กๆ มากมายบนเขียง ซึ่งทำให้ทำความสะอาดได้ไม่ทั่วถึงจนกลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคได้
วิธีทำความสะอาด – ล้างด้วยน้ำร้อนแล้วตากให้แห้งก่อนเก็บ ถ้าเก่ามากรอยเต็มไปหมดก็ควรเปลี่ยนใหม่ครับ
กล่องเสียบมีด
สาเหตุ – ไม่ค่อยถูกนำมาทำความสะอาดเนื่องจากทำความสะอาดยาก อาจมีเศษอะไรตกลงไปในกล่อง หรือเสียบมีดที่ยังเปียกลงไปในกล่องเป็นประจำ ทำให้เกิดการสะสมของเชื้อโรคภายในกล่องได้
วิธีทำความสะอาด – ใช้ลวดทำความสะอาดหรือแปรงอันเล็กๆ ซอกซอนเข้าไปขัดเศษที่ติดอยู่ข้างใน คว่ำลงแล้วเขย่าหรือใช้เครื่องดูดฝุ่นดูดเศษที่ติดอยู่ข้างในออก แล้วก็อาจจะใช้น้ำผสมน้ำยาล้างจานเติมลงไปในกล่องเสียบมีด1 นาทีแล้วเทออก แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดแล้วคว่ำหรือผึ่งไว้ให้แห้ง เป็นไปได้ควรล้างเดือนละครั้ง
2) ซิงค์ล้างจาน
เราใช้ซิงค์ล้างอะไรหลายๆ อย่างเช่น ผัก ผลไม้ เนื้อสด จานหม้อที่สกปรก ซิงค์จึงเป็นอีกหนึ่งแหล่งสะสมเชื้อโรค เราจึงควรทำความสะอาดให้ทั่วถึงทันทีหลังจากล้างของสดๆ หรือทุกๆ สัปดาห์ให้ใช้น้ำร้อนผสมน้ำส้มสายชูแช่ทิ้งไว้ 1 ชั่วโมง หรือใช้กระดาษทิชชู่ชุบน้ำส้มสายชูแปะให้ทั่วๆ 20 นาทีแล้วดึงออกครับ (เสร็จแล้วล้างน้ำด้วยครับ)
ฟองน้ำล้างจาน
สาเหตุ – ฟองน้ำ แปรง ฝอยขัดหม้อจะสัมผัสกับคราบอาหารเป็นประจำ แล้วก็ยังไม่ค่อยถูกทำความสะอาดอย่างถูกต้อง เปียกชื้นตลอดเวลาเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคที่มากที่สุดในบ้านเลยครับ
วิธีทำความสะอาด – ล้างให้สะอาดหรือต้มในน้ำร้อนแล้วนำไปตากแดดจัดๆ 2-3 ชั่วโมง หรือนำเข้าไมโครเวฟ 2 นาที (แต่วิธีไมโครเวฟอาจอันตรายครับ เลี่ยงไปตากแดดดีกว่า) หรือไม่ก็เปลี่ยนใหม่บ่อยๆ ไปเลยครับ
ท่อน้ำทิ้ง (อ่างซิงค์)
สาเหตุ – มีโอกาสที่จะเกิดการหมักหมมของสิ่งสกปรกตรงถ้วยดักกลิ่นหรือปลายทางได้ครับ
วิธีทำความสะอาด – เทน้ำร้อนลงไปสัปดาห์ละครั้งเพื่อฆ่าเชื้อโรคหรือแมลงที่อยู่ในท่อ (อาจทำไปพร้อมกับที่ทำความสะอาดอ่างซิงค์เลยครับ)
3) ตู้เย็น
ตู้เย็นเป็นที่เก็บของสด ของที่ไม่อยากให้เน่า หรือบางทีก็มีของเน่าอยู่ในตู้เย็น ในสภาวะที่เย็นเชื้อโรคจะเติบโตได้ยากแต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีเลยนะครับ ดังนั้นตู้เย็นจึงเป็นอีกแหล่งหนึ่งที่อาจเป็นที่สะสมของเชื้อโรคได้ครับ เราจึงควรล้างตู้เย็นเป็นประจำทุกเดือนครับ (หากทำได้นะครับ บ้านผมทำไม่ได้ ของเต็มตู้ตลอดปีไม่เคยว่างเลยครับ)
มือจับตู้เย็น
สาเหตุ – มือเราอาจจะสกปรกจากการจับของสด จับสิ่งสกปรกแล้วก็เปิดปิดตู้เย็น และเป็นจุดที่ไม่เคยทำความสะอาดกันเลยในเกือบทุกๆ บ้านนะครับ
วิธีทำความสะอาด – ใช้น้ำยาทำความสะอาดเช็ดบริเวณมือจับตู้เย็น นอกจากนี้ก็ล้างมือเป็นประจำหลังจากจับอาหารสดหรือสิ่งสกปรกต่างๆ ช่วยลดความสกปรกที่มือจับได้ครับ
ช่องแช่ผัก
สาเหตุ – ผักอาจจะล้างมาไม่สะอาดก่อนเก็บแช่ หรืออาจจะเก็บกันนานจนผักที่แช่เน่าไปแล้ว
วิธีทำความสะอาด – ถอดถาดแช่ผักด้านล่างของตู้เย็นออกแล้วทำความสะอาดช่องแช่ผักด้วยฟองน้ำหรือผ้าที่สะอาด ส่วนถาดแช่ผักที่ถอดออกมาให้นำไปล้างกับน้ำยาล้างจานในน้ำอุ่นแล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด จากนั้นเช็ดให้แห้งด้วยผ้าสะอาด (ทำทุกเดือนพร้อมๆ กับการล้างตู้เย็นได้เลย)
ช่องฟริดจ์
สาเหตุ – ส่วนมากเป็นการแช่เนื้อสด แม้ว่าในอากาศเย็นเชื้อโรคเติบโตได้ช้า แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีเลยนะครับ
วิธีทำความสะอาด – ถ้ามีชิ้นส่วนที่ถอดได้ให้ถอดออกมาล้างกับน้ำยาล้างจานในน้ำอุ่น จากนั้นเช็ดแห้งด้วยผ้าสะอาด ส่วนช่องฟริดจ์ให้ใช้ฟองน้ำหรือผ้าสะอาดเช็ดครับ (ทำทุกเดือนพร้อมๆ กับการล้างตู้เย็นได้เหมือนกันครับ)
4) ตู้ครัว
ตู้ครัวเป็นที่เก็บอุปกรณ์ต่างๆ ในการทำครัว และมีโอกาสเป็นที่เก็บเชื้อโรคได้จากมือเราที่สัมผัสหรือการเก็บสิ่งที่มีเชื้อโรคไว้ เราควรเอาของข้างในตู้ครัวออกมาเพื่อทำความสะอาดเช็ดถูด้วยฟองน้ำหรือผ้าสะอาดบ้างนะครับ
มือจับเปิด-ปิดตู้
สาเหตุ – ไม่ค่อยถูกทำความสะอาด แล้วมือเราที่อาจจะสกปรกแล้วก็เปิดปิดเป็นประจำ
วิธีทำความสะอาด – ใช้น้ำยาทำความสะอาดเช็ดบริเวณมือจับเปิดปิดตู้ทุกๆ อันโดยเฉพาะอันที่ใช้บ่อยๆ นะครับ แล้วก็ล้างมือเป็นประจำก่อนเปิดปิดตู้ ช่วยลดความสกปรกได้ครับ
ถังขยะ
สาเหตุ – หลายๆ บ้านอาจมีตู้ครัวที่มาพร้อมช่องใส่ขยะบิ้วอินมาครับ เวลาเปิดขึ้นมาแต่ละทีนี่ก็หอมชื่นใจกันทุกครั้งใช่มั้ยครับ เพราะว่าถ้าเราเก็บขยะไว้ในนี้นานข้ามวัน มันก็จะเริ่มเน่าส่งกลิ่นเหม็นและสะสมเชื้อโรคได้ครับ
วิธีทำความสะอาด – เอาขยะไปทิ้งเป็นประจำครับ แล้วก็ใช้สเปรย์ฆ่าเชื้อโรคฉีดสัปดาห์ละครั้งเพื่อลดกลิ่นที่ติดตู้และฆ่าเชื้อโรคที่ยังหลงเหลือได้ครับ
5) เตาแก๊ส
เตาแก๊สจะร้อนเป็นประจำจึงมีโอกาสสะสมของเชื้อโรคน้อยกว่าจุดอื่น แต่บางทีก็มีอาหารที่ทำหรือซอสต่างๆ หกเลอะเทอะแห้งติดได้ จึงควรเช็ดทำความสะอาดทุกครั้งหลังจากที่ทำกับข้าวเสร็จนะครับ
ลูกบิดปรับแก๊ส
สาเหตุ – ไม่ค่อยถูกทำความสะอาด แล้วมือเราที่อาจจะสกปรกแล้วก็เปิดปิดเป็นประจำ
วิธีทำความสะอาด – เช็ดทำความสะอาดไปพร้อมๆ กับการทำความสะอาดเตาแก๊ส
มือจับเตาอบ
สาเหตุ – ไม่ค่อยถูกทำความสะอาด แล้วมือเราที่อาจจะสกปรกแล้วก็เปิดปิดเป็นประจำ
วิธีทำความสะอาด – เช็ดทำความสะอาดไปพร้อมๆ กับการทำความสะอาดเตาแก๊ส
6) อุปกรณ์ทำครัว
พวกอุปกรณ์ทำครัวต่างๆ ก็มีโอกาสเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคได้นะครับ ในทีนี้ผมยกตัวอย่าง 2 ประเภทที่เราค่อนข้างมองข้ามบางจุดที่สกปรกไปแล้วไม่ได้ทำความสะอาดครับ
เครื่องปั่น
สาเหตุ – ซีลรองกันน้ำเป็นส่วนที่มักจะสะสมเชื้อโรคเพราะเราไม่ได้เอามันมาล้างเหมือนกับชิ้นส่วนอื่นครับ
วิธีทำความสะอาด – เวลาทำความสะอาดให้ถอดซีลยางมาล้างไปพร้อมๆ กับอุปกรณ์อื่นครับ (ใครที่ไม่เคยล้างจะเห็นได้ชัดเลยว่ามันจะสกปรกมากครับ)
เตาอบไมโครเวฟ
สาเหตุ – ทำความสะอาดเตาอบไมโครเวฟครั้งสุดท้ายกันเมื่อไหร่ครับ เมื่อมันมีอะไรหกข้างในใช่มั้ยครับ ที่บ้านผมนี่ไม่มีอะไรหกก็ไม่เคยเช็ดเลยครับ T^T ทั้งๆ ที่เวลาใช้งานจะมีไอของอาหาร เศษอาหารเศษน้ำกระเด็นกระดอนทั่วเตาเวลาใช้งานครับ เราอาจคิดว่าความร้อนฆ่าเชื้อโรคได้ แต่เตาอบไมโครเวฟจะร้อนที่อาหารนะครับ ไม่ได้ร้อนที่เตา ทำให้มีโอกาสที่เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคได้ดีไม่แพ้ที่อื่นๆ ครับ
วิธีทำความสะอาด – เอาน้ำเปล่าผสมน้ำส้มสายชูใส่ชามเข้าไปอุ่นที่ความร้อนกลางขึ้นไปประมาณ 5 นาทีครับ ให้ไอน้ำไปเกาะทั่วๆ เตา จากนั้นเปิดเตาเอาชามใส่น้ำกับจานแก้วออกมาครับ แล้วก็เอาผ้าสะอาดหรือกระดาษทิชชู่เช็ดให้แห้งทั่วทั้งด้านในเตาครับ ส่วนจานแก้วก็ล้างเหมือนล้างจานทั่วไปครับ
7) อื่นๆ
อุปกรณ์อื่นๆ ในครัวครับ ผมขอยกตัวอย่าง 2 อย่างนะครับ ได้แก่ ขวดซอสกับที่เปิดกระป๋อง
ขวดซอส
สาเหตุ – เวลาเทซอสเสร็จเราอาจจะลืมเช็ด (หรือเอามือปาดเข้าปาก) ให้สะอาดก่อนเก็บนะครับ คราบซอสที่เลอะปากขวดเหล่านี้เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคแหล่งนึงครับ
วิธีทำความสะอาด – หลังการใช้งานใช้กระดาษทิชชู่เช็ดให้สะอาดทุกครั้งครับ
ที่เปิดกระป๋อง
สาเหตุ – เรามักจะใช้เปิดกระป๋องเสร็จแล้วก็วางเก็บหรือแค่เช็ดๆ นิดหน่อยเพราะมันดูไม่สกปรก หรือบางทีก็ล้างไม่สะอาดทั่วนะครับ (เพราะมันมีซี่ มีร่องอะไรเยอะ)
วิธีทำความสะอาด – ล้างให้ทั่วๆ ทุกซอกมุมในน้ำอุ่นๆ ผสมน้ำยาล้างจาน แล้วก็ตากไว้ให้แห้งก่อนเก็บ
เป็นอย่างไรบ้างครับ มีใครไม่เคยทำเลยซักอันแบบผมมั้ยครับ T^T อย่านะครับ ท้องเสียท้องร่วง โรคผิวหนัง อะไรๆ อาจถามหาได้นะครับ ทางที่ดีควรป้องกันไว้ก่อนครับ จะได้เป็นการป้องกันโรคครับ ไม่ต้องมานั่งรักษาเปลืองเงิน นอกจากนี้ถ้าใครช่างสังเกตอาจจะนึกถึงพวกสวิทช์ไฟ ลูกบิดประตู ราวบันได หรืออะไรๆ ที่เราใช้มือจับเป็นประจำในบ้านครับ พวกเหล่านี้ควรต้องถูกทำความสะอาดเป็นประจำเหมือนกันนะครับ หวังว่าเพื่อนๆ จะได้รับความรู้และนำไปใช้ประโยชน์กันได้นะครับ ^^ ไว้พบกันใหม่โอกาสหน้าครับ สวัสดีครับ
นาย Starfish
ผู้บริหาร บริษัท ลัคกี้เฟลม จำกัด
ขอบคุณภาพประกอบจาก http://tranquilboy.deviantart.com, http://au.lifestyle.yahoo.com, http://www.menshealth.com, http://www.123rf.com, http://blogs.phillymag.com, http://www.houzz.com