เลือกวัสดุอย่างไร…ให้บ้านเราเย็นสบาย 

ฉนวนกันความร้อน

ทำไมวัสดุบ้านจึงทำให้เราเย็นลงได้ … คงต้องขอย้อนความเดิมที่เคยเกริ่นๆ ไว้เกี่ยวกับ สภาพอากาศบ้านเราที่แทบจะไม่อยู่ในช่วง “สภาวะน่าสบาย” เลย และหากไม่สามารถปรับสภาพแวดล้อมให้อุณหภูมิรอบๆ บ้านเย็นลงกว่าอุณหภูมิอากาศได้แล้ว จะด้วยเหตุผลที่มีพื้นที่รอบบ้านน้อย ปลูกหญ้าปลูกต้นไม้ใหญ่ไม่ได้ หรือแทบจะไม่มีพื้นที่รอบบ้านเลยโดยเฉพาะบ้านในเมืองหลวง แล้ว … เราจะลดความร้อนเหล่านี้ได้อย่างไร?

เราสามารถสกัดกั้นความร้อนจากภายนอกดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นได้ด้วยการเลือกวัสดุเปลือกอาคาร ทั้งในส่วนของวัสดุพื้น ผนัง หลังคา และกระจก ให้มีคุณสมบัติการป้องกันความร้อนได้ดี หรือที่เราเรียกว่า “ค่าการต้านทานความร้อนสูง (Thermal Resistance Value = R-Value)” หรือ “ค่าความเป็นฉนวน” นั่นเอง ค่านี้จะช่วยสกัดกั้นการถ่ายเทความร้อนจากด้านหนึ่งไปสู่อีกด้านหนึ่งได้ ทำให้ไม่เกิดการสะสมความร้อนในเนื้อวัสดุ ลดการถ่ายเทความร้อนจากภายนอกเข้าสู่ภายในบ้าน ทำให้อุณหภูมิภายในบ้านของเราไม่แปรปรวนตามความรุนแรงของสภาพอากาศ

 แผนภูมิ 1 แสดงการเปรียบเทียบค่าการต้านทานความร้อนของวัสดุผนังชนิดต่างๆ (เลือกผนังที่มีค่า R-value ไม่น้อยกว่า 0.83 m2K/W)

แผนภูมิ 2 แสดงการเปรียบเทียบค่าการต้านทานความร้อนของวัสดุต่างๆ หนา 1 นิ้ว (ฉนวนหลังคาที่มีค่า R-value ไม่น้อยกว่า1.9-3.9 m2K/W)

 

ในความเป็นจริงแล้ว วัสดุทุกชนิดในโลกล้วนเป็น “ฉนวน” ทั้งสิ้น เพราะต่างสามารถสกัดกั้นการถ่ายเทความร้อนได้ เพียงแต่สกัดกั้นได้มากน้อยต่างกันเท่านั้นเอง ส่วนวัสดุที่มีค่าการต้านทานความร้อนสูง ได้แก่ วัสดุที่มีช่องว่างอากาศขนาดเล็กแทรกอยู่ในเนื้อวัสดุจำนวนมาก ช่องว่างอากาศนี้จะช่วยลดการถ่ายเทความร้อนจากด้านหนึ่งไปสู่อีกด้านหนึ่งได้ ยิ่งมีช่องว่างอากาศมาก จะยิ่งมีค่าการต้านทานความร้อนสูงขึ้น แต่ต้องดูด้วยว่าช่องว่างอากาศนี้มีความชื้นหรือน้ำเข้าไปในเนื้อวัสดุได้มากน้อยแค่ไหน ทำให้วัสดุกันความร้อนเปลี่ยนเป็นวัสดุนำความร้อนทันที ตัวอย่างเช่น ฟองน้ำ มีความพรุนและมีช่องว่างอากาศมากมาย เมื่อเอาฟองน้ำไปจับกับหม้อร้อนๆจะไม่รู้สึกร้อนเลย แต่เมื่อฟองน้ำนี้เปียกชื้น เมื่อเอาไปจับหม้อร้อนๆ กลับรู้สึกร้อนมาก ทั้งนี้เพราะน้ำเป็นตัวนำความร้อนดีกว่าอากาศ

รูปที่ 1 แสดงวัสดุของบ้านโครงการแมกโนเลียส์ I ที่เน้นแนวคิดลดการถ่ายเทความร้อนเข้าสู่ภายในบ้าน เพื่อประหยัดพลังงาน จนได้รับรางวัลบ้านจัดสรรอนุรักษ์พลังงานดีเด่น ปี 2550 และปี 2551 จากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน

ดังนั้น การเลือกวัสดุให้กับบ้านเราจึงเป็นส่วนสำคัญชั้นสุดท้ายก่อนที่ความร้อนจากภายนอกจะเข้ามาถึงตัวเรา หากกำลังเลือกวัสดุให้เน้นถามถึงค่าการต้านทานความร้อนก่อนตัดสินใจซื้อเสมอ จะทำให้บ้านของเราเป็นเหมือนเสื้อเกราะ ลดความร้อน ความแปรปรวนของสภาพอากาศได้ อย่างน้อยก็ทำให้อากาศในบ้านไม่ร้อนกว่าอุณหภูมิอากาศ และหากเปิดเครื่องปรับอากาศก็จะใช้พลังงานในการทำให้รู้สึกเย็นเร็วขึ้น ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าลง ทำให้ไม่เปลืองไฟค่ะ

แบ่งปันข้อมูล : ฝ่ายวิจัยและพัฒนา
บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด