เป็นปัญหาใหญ่สำหรับใครหลายๆคน หลังเหน็ดเหนื่อยจากกิจกรรมนอกบ้านมาทั้งวัน ก็คงอยากจะกลับมาเอนหลังให้สบาย แต่ทำไมยิ่งนอนกลับยิ่งล้า เหมือนไปวิ่งมาราธอนมาเสียอย่างนั้น ทุกคนก็คงจะรู้คำตอบกันดีใช่มั้ยคะว่า เป็นเพราะที่นอนที่เราเลือกมาอาจจะไม่เป็นมิตรต่อกระดูกสันหลังของเรานั่นเอง
แล้วที่นอนแบบไหนถึงจะเหมาะกับเรา?
ความเหมาะสมมาจากปัจจัยในหลายด้าน อันดับแรกคือความพึงพอใจในคุณภาพ และรองลงมาคืองบประมาณด้านราคา ซึ่งแน่นอนว่าทุกคนก็คงอยากได้ที่นอนดีๆในราคาที่เป็นมิตรกันอยู่แล้วใช่มั้ยคะ ถ้าอย่างนั้นขั้นตอนในการเลือกควรเริ่มพิจารณาจากอะไรบ้าง วันนี้เรามีเทคนิคง่ายๆให้ลองนำไปปรับใช้กันดูค่ะ
ส่วนใหญ่ทุกคนก็พอจะรู้กันมาแล้วใช่มั้ยคะว่า ขนาดที่นอนมาตรฐานนั้นถูกเรียกด้วยหน่วยการวัดเป็นฟุต แต่ขนาดฟุตนั้นมาจากอะไร คำตอบก็คือมาจากหน้ากว้างของที่นอนค่ะ ส่วนด้านความยาวจะอยู่ที่ 198 ซม. โดยขนาดทั่วไปที่ใช้กันอย่างแพร่หลายก็คือ ขนาด 3.5 ฟุต 5 ฟุต และ 6 ฟุตค่ะ
ที่นอนขนาด 3.5 ฟุต หรือ Single Size เป็นที่นอนขนาดกว้าง 107×198 ซม. เป็นที่รู้จักกันในชื่อของเตียงเดี่ยว เหมาะสำหรับเด็กหรือผู้ใหญ่นอนได้ 1 คน
ที่นอนขนาด 5 ฟุต หรือ Queen Size เป็นที่นอนขนาดกว้าง 150×198 ซม. เป็นขนาดที่นิยมใช้ในที่อยู่อาศัยที่มีพื้นที่จำกัดอย่างคอนโดมิเนียม สามารถนอนได้คนเดียวหรือแบบเป็นคู่ก็ถือว่าอบอุ่นกำลังดีค่ะ
ที่นอนขนาด 6 ฟุต หรือ King Size เป็นที่นอนขนาดกว้าง 180×198 ซม. ซึ่งถือว่ามีขนาดใหญ่ที่สุด สามารถนอน 2 คนได้อย่างสบายๆจะพลิกตัวหรือดิ้นไปทางไหน ก็ไม่กระทบคนข้างๆ
เริ่มจากรู้จักวัสดุที่นอนกันก่อน
คำถามที่มักจะพบกันบ่อยมากเลยก็คือ ‘ที่นอน A กับที่นอน B แบบไหนดีกว่ากัน’ ก็ต้องบอกเลยว่าขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้ค่ะ โดยวัสดุหลักที่นิยมใช้สามารถแบ่งได้เป็น 4 ประเภทคือ สปริง ยางพารา โฟมและใยมะพร้าว ซึ่งวัสดุแต่ละแบบก็มีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันไปนะ แล้วแบบไหนที่เหมาะสมกับคุณบ้าง ไปดูกันเลยค่ะ
- ที่นอนแบบสปริง (Spring)
เป็นแบบที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายที่สุด โดยมีคุณสมบัติโดดเด่นก็คือมีความยืดหยุ่นสูง ไม่สะสมความชื้น สามารถรองรับน้ำหนักและโอบรับสรีระได้ดี สำหรับคนที่ชอบนอนตะแคง ตัวสปริงจะยุบลงไปอัตโนมัติโดยไม่กดทับ จึงช่วยให้ไม่ปวดไหล่ขณะนอนหลับ
ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับขดลวดสปริงที่อยู่ด้านในด้วย ซึ่งเป็นตัวบอกความแตกต่างของราคานั่นเอง โดยความสูงทั่วไปของขดลวดสปริงจะอยู่ที่ 6 นิ้ว ยิ่งขดลวดสปริงสูงและมีจำนวนรอบเกลียวเยอะ ที่นอนก็จะยิ่งยืดหยุ่นและรับน้ำหนักได้ดีขึ้น ซึ่งตัวขดลวดสปริงนี้ก็ยังแบ่งเป็นประเภทย่อยๆได้อีกก็คือ
สปริงบอนแนลล์ (Bonnel Spring) รูปทรงเป็นแบบนาฬิกาทราย จุดเด่นคือมีความยืดหยุ่นสูง รองรับน้ำหนักและระบายอากาศได้ดี สามารถช่วยลดความอับชื้นของที่นอนได้ แต่ข้อเสียคือเมื่อใช้ไปในระยะเวลานานๆ สปริงจะเริ่มยุบง่ายและคืนตัวช้า ทำให้เกิดเสียงรบกวนค่ะ
สปริงออฟเซ็ท (Offset Spring) จะมีขนาดใหญ่กว่าสปริงทั่วไป ช่วยเพิ่มความแข็งแรงและลดเสียงเสียดสีที่เกิดจากการขยับตัวได้ดีขึ้น แต่จะมีความยืดหยุ่นต่ำและไม่โอบรับกับสรีระของผู้นอนเท่าที่ควรนะ
สปริงพ็อกเกต (Pocket Spring) การทำงานของสปริงแต่ละตัวจะแยกกันอย่างอิสระ ทำให้เวลาที่เกิดการพลิกตัว จะไม่กระทบกับคนที่นอนข้างๆ ถือว่าเหมาะกับคนที่ชอบนอนดิ้นเลยทีเดียว และจุดเด่นอีกอย่างก็คือ หากสปริงมีความเสียหาย เราสามารถเปลี่ยนสปริงด้านในแต่ละตัวได้ โดยไม่ต้องรื้อทั้งหมดได้นะคะ
ข้อดีของที่นอนสปริง : ขนย้ายง่าย รองรับน้ำหนักได้ดี มีความยืดหยุ่นสูงทั้งในด้านคุณภาพและราคา
ข้อเสียของที่นอนสปริง : เมื่อใช้ไปในระยะเวลานานๆ สปริงอาจเสื่อมสภาพ ไม่คืนตัว และส่งเสียงรบกวนให้รำคาญใจได้
เหมาะกับใคร : เหมาะกับผู้ที่ชื่นชอบความนุ่มสบาย และไม่ได้มีปัญหาทางด้านสุขภาพมากนัก
อายุการใช้งาน : 8-10 ปี
ช่วงราคา : 2,000-100,000 บาท (ขึ้นอยู่กับยี่ห้อ ขนาดและความหนา) ข้อมูล ณ วันที่ 27 มิถุนายน 2565
- ที่นอนแบบยางพารา (Latex)
เป็นที่นอนที่มีราคาสูงกว่าประเภทอื่นๆ มีคุณสมบัติเด่นคือช่วยลดอาการปวดหลัง สามารถรองรับการเคลื่อนไหวได้อย่างเป็นธรรมชาติ ช่วยเรื่องการกระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิตได้ดี และยังเหมาะกับคนที่เป็นภูมิแพ้ เพราะตัวที่นอนไม่เก็บความชื้นและไรฝุ่น ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องกลิ่นอับระหว่างการใช้งาน โดยตัวที่นอนยางพาราก็ยังแบ่งออกมาได้อีกหลายประเภทตามลักษณะการผลิต
ที่นอนยางพาราแท้ เกิดจากการนำน้ำยางพารามาฉีดขึ้นรูปเป็นก้อนในเบ้าพิมพ์ จึงถือได้ว่าเป็นวัสดุจากธรรมชาติ มีความทนทาน สามารถคงรูปได้ดี ดูแลรักษาง่าย จึงทำให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน
ที่นอนยางพาราแบบอัดแน่น เป็นกระบวนการนำเศษยางมาบดละเอียดแล้วอัดให้เป็นก้อน ความรู้สึกที่ได้จึงค่อนข้างแข็ง ไม่ยืดหยุ่นเท่าแบบยางพาราแท้ มีน้ำหนักมากกว่า แต่มีราคาที่ถูกกว่าค่ะ
ที่นอนยางพาราแบบ Hybrid เป็นนวัตกรรมที่แตกต่างกันไปในแต่ละแบรนด์ โดยมีการใช้โครงสร้างแบบอื่นๆมาประกอบด้วย แต่ยังมีท็อปด้านบนยางพารา ทำให้มีน้ำหนักที่เบากว่า และยังคงเป็นที่นอนเพื่อสุขภาพ แต่ในเรื่องของความทนทาน ก็ขึ้นอยู่กับโครงสร้างด้านล่างที่นำมาใช้
ข้อดีของที่นอนยางพารา : เป็นที่นอนเพื่อสุขภาพ ช่วยลดอาการปวดเมื่อยของกล้ามเนื้อได้ดี สามารถรับน้ำหนักได้เยอะ ไม่ยุบตัวเป็นแอ่งขณะลุก ไม่สะสมไรฝุ่นและความร้อน มีอายุการใช้งานยาวนาน
ข้อเสียของที่นอนยางพารา : ราคาสูงกว่าที่นอนทั่วไป มีน้ำหนักมาก อาจจะทำให้ลำบากเวลาเคลื่อนย้าย เช่น เมื่อเปลี่ยนผ้าปูที่นอน เวลาที่ซื้อมาใช้งานใหม่อาจจะยังมีกลิ่นยางอ่อนๆ ใช้ไปสัก 2-3 วัน ถึงจะค่อยๆจางค่ะ
เหมาะกับใคร : เหมาะสำหรับผู้สูงอายุและเด็ก เพราะมีคุณสมบัติเรื่องความแน่น สามารถรองรับกระดูกส่วนต่างๆได้ดี และเหมาะกับผู้ที่มีปัญหาเรื่องระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคภูมิแพ้
อายุการใช้งาน : 10-15 ปี
ช่วงราคา : 10,000-100,000 บาท (ขึ้นอยู่กับยี่ห้อ ขนาดและความหนา) ข้อมูล ณ วันที่ 27 มิถุนายน 2565
- ที่นอนแบบเมมโมรีโฟม (Memory Foam)
คือโพลียูรีเทน ที่ผสมสารเพิ่มความหนืดและความหนาแน่นเข้าไป แรกเริ่มถูกคิดค้นมาเพื่อใช้ในสภาวะไร้แรงดึงดูด หรือเพื่อใช้ในยานอวกาศนั่นเอง ต่อมาจึงเริ่มแพร่หลายในวงการแพทย์ เพราะคุณสมบัติที่สามารถรองรับน้ำหนักและแรงกดทับได้ดี ใช้ในกลุ่มผู้ป่วยอัมพาต และผู้ป่วยหลังผ่าตัด
โดยคำว่า Memory Foam นี้มาจากความสามารถในการปรับลักษณะของพื้นผิวได้ เมื่อเรานอนลงไปตัวโฟมจะปรับเข้ากับสรีระ ทำให้แรงกดทับกระจายออกไป ซึ่งแรงตัวนี้เป็นปัจจัยที่ทำให้เรามีอาการปวดหลัง ปวดไหล่นั่นเอง
ข้อดีของที่นอนเมมโมรี่โฟม : มีความยืดหยุ่นสูง ป้องกันไรฝุ่นได้ สามารถรองรับน้ำหนักและกระจายแรงกดทับได้ดี
ข้อเสียของที่นอนเมมโมรี่โฟม : กระบวนการผลิตมีการใช้สารเคมี อาจทำให้ได้กลิ่นเวลาที่นำมาใช้งานใหม่ๆ ที่นอนไม่มีรูระบายอากาศ อาจทำให้เกิดความร้อนได้
เหมาะกับใคร : เหมาะกับผู้ที่มีอาการปวดหลัง ปวดข้อ และผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้
อายุการใช้งาน : 8-10 ปี
ช่วงราคา : 5,000-100,000 บาท (ขึ้นอยู่กับยี่ห้อ ขนาดและความหนา) ข้อมูล ณ วันที่ 27 มิถุนายน 2565
- ที่นอนแบบใยมะพร้าว
ที่นอนแบบคลาสสิคที่เรามักจะคุ้นเคยเป็นอย่างดี เกิดจากการนำใยมะพร้าวมาอัดแน่นด้วยกาวก่อนจะขึ้นรูปเป็นที่นอน จึงทำให้ที่นอนชนิดนี้มีความแน่นและค่อนข้างแข็ง ไม่ยุบตัวหรืออ่อนนุ่มเหมือนกันที่นอนประเภทอื่นๆ สามารถแก้อาการปวดหลังจากการนอนบนที่นอนที่นุ่มเกินไปได้ แต่ที่นอนประเภทนี้เมื่อเสื่อมสภาพจะไม่สามารถใช้งานต่อได้อีก เพราะใยมะพร้าวจะเริ่มหลุดลุ่ยเป็นผง ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อระบบหายใจ ทั้งยังเป็นแหล่งสะสมของเชื้อราและแบคทีเรียได้
ข้อดีของที่นอนใยมะพร้าว : มีความหนาแน่นและค่อนข้างแข็ง ที่นอนอยู่ทรงไม่ยุบตัว มีน้ำหนักเบา สามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย ราคาถูก
ข้อเสียของที่นอนใยมะพร้าว : ช่องว่างระหว่างเส้นใยสามารถระบายอากาศได้ แต่ก็สามารถเป็นแหล่งสะสมฝุ่นและเชื้อราได้เช่นกัน
เหมาะกับใคร : เหมาะกับผู้ที่ชื่นชอบที่นอนแบบแน่น นอนแล้วรู้สึกแข็งแรงไม่ยุบตัว ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีอาการปวดหลังจากการนอนบนที่นอนที่นุ่มจนเกินไป
อายุการใช้งาน : 5-8 ปี
ช่วงราคา : 1,000-10,000 บาท (ขึ้นอยู่กับยี่ห้อ ขนาดและความหนา) ข้อมูล ณ วันที่ 27 มิถุนายน 2565
แล้วที่นอนนุ่ม แน่น แข็ง แบบไหนที่เหมาะกับเรา?
นอกจากเรื่องความชอบแล้ว การใช้รูปร่างและน้ำหนักจากดัชนีมวลกาย (BMI) ก็มีส่วนช่วยในการตัดสินใจได้ด้วยนะ เพราะการเลือกที่นอนที่เหมาะสมกับน้ำหนักตัวและสรีระ ก็จะส่งผลให้เรานอนหลับได้อย่างสบายโดยที่ไม่ปวดหลังนะคะ
วิธีการคำนวณดัชนีมวลกาย (BMI) คือ น้ำหนัก (กก.) หารด้วย ความสูง (ซม.) โดยค่าที่ได้ก็จะนำมาเลือกความเหมาะสมของที่นอนได้ดังนี้
- รูปร่างเล็ก (BMI < 18.5) ควรเลือกที่นอนที่มีระดับความนุ่มมาตรฐานไปจนถึงปานกลาง (Soft-Medium)
- รูปร่างสมส่วน (BMI 18.5 – 22.9) ควรเลือกที่นอนที่มีระดับความนุ่มปานกลางไปจนถึงค่อนข้างแน่น (Medium-Firm)
- รูปร่างใหญ่ (BMI >23) ควรเลือกที่นอนที่มีระดับความนุ่มปานกลางไปจนถึงค่อนข้างแน่น (Medium-Firm)
เป็นยังไงบ้างคะ พอจะได้เทคนิคเล็กๆน้อยๆไว้สำหรับไปเดินเลือกซื้อที่นอนได้อย่างไม่ต้องเขินอายกันแล้วหรือเปล่า แต่ต่อให้ทฤษฎีของเราจะแน่นแค่ไหน การเลือกที่ดีที่สุดก็คือการไปทดลองด้วยตัวเองนะคะ เพราะแต่ละคนก็มีท่านอนและนิสัยการนอนที่เฉพาะตัวไม่เหมือนกัน อีกทั้งที่นอนในปัจจุบันก็มีเทคนิคการผลิตที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้ทุกประเภท และที่ขาดไม่ได้ก็คือรายละเอียดในการรับประกันหลังซื้อขายต่างๆ ซึ่งก็ถือเป็นส่วนสำคัญในการเลือกซื้อเลยนะคะ
ในส่วนของราคา โดยปกติก็จะขึ้นอยู่กับประเภท ขนาดและความหนาของที่นอน แต่บางครั้งทุกคนอาจสงสัยว่า ที่นอนประเภทเดียวกัน มีความหนาและขนาดที่เท่ากัน ทำไมถึงมีราคาที่แตกต่างกัน อันดับแรกก็คงหนีไม่พ้นเรื่องแบรนด์ ซึ่งในท้องตลาดก็มีให้เลือกทั้งของไทยและแบบที่นำลิขสิทธิ์เข้ามาจากต่างประเทศ
แต่ที่สำคัญก็คือเรื่องวัสดุและเทคโนโลยีในการผลิต อย่างที่นอนแบบ Pocket Spring ก็มีทั้งหัวสปริงแบบธรรมดาและโครเมี่ยม การปูท็อปด้านบนสปริงด้วยวัสดุอื่นๆ เช่น ยางพารา หรือเมมโมรี่โฟม ซึ่งก็จะมีราคาถูกกว่าที่นอนแบบยางพาราธรรมดาค่ะ ระยะเวลาในการรับประกันอยู่ที่ 10-15 ปี โดยช่วงราคาที่แตกต่างกันก็จะอยู่ตั้งแต่ 5,000-10,000 บาท
Tips ดูแลรักษายังไง เพื่อยืดอายุการใช้งาน
มาตรฐานของที่นอนทั่วไปจะมีอายุการใช้งานอยู่ที่ 5-10 ปี ขึ้นอยู่กับวิธีการดูแลรักษาและลักษณะการใช้ที่เหมาะสม ซึ่งการทำความสะอาดที่ดี ก็ถือว่ามีส่วนสำคัญมาก นอกจากจะช่วยให้ที่นอนอยู่กับเราไปนานๆ ยังช่วยป้องกันความเสี่ยงจากโรคที่จะเกิดกับสุขภาพของเราอีกด้วยค่ะ
คราวหน้า Think of Living จะมีบทความอะไรดีๆมาฝากกันอีก อย่าลืมติดตามชมกันด้วยนะคะ