นวัตกรรมเพื่อบ้านแห่งความสุข by MAGNOLIA ตอนที่ 2
เมืองร้อนชื้นอย่างบ้านเรา ก็ทำบ้านให้เย็นสบายได้

ทางฝ่ายวิจัยและพัฒนาของแมกโนเลียกลับมาแบ่งปันความรู้กันอีกครั้งนะคะ เมื่อเรา “รู้และเข้าใจ” สภาพอากาศบ้านเราจากตอนที่แล้ว ยิ่งรู้ยิ่งเข้าใจว่าอากาศบ้านเราแทบจะไม่อยู่ในช่วง “สภาวะน่าสบาย” เลย และถ้าเป็นแบบนี้แล้วจะมีแนวทางทำให้บ้านของเราเป็นพื้นที่พักผ่อนได้อย่างสบายหรือไม่ หรือเราจะต้องใช้เครื่องปรับอากาศทำให้เย็นลงได้เท่านั้น

ก่อนอื่นเราต้องรู้ว่า … บ้านเราร้อนได้อย่างไร? และ ความร้อนมาจากไหน?

ความร้อนที่เกิดขึ้นภายในอาคารจนทำให้เรารู้สึกไม่สบายตัวนั้น ส่วนหนึ่งมาจากอุณหภูมิอากาศและความชื้นในอากาศของบ้านเราที่แทบจะไม่อยู่ในช่วง “สภาวะน่าสบาย” เลย ดังที่เราคุยกันในตอนที่แล้ว และความร้อนจะเพิ่มมากขึ้นจากการสะสมความร้อนของวัสดุพื้น ผนัง หลังคา และกระจก ที่เป็นส่วนเปลือกบ้านช่วยบังแดดบังฝนให้เรานั่นเอง ทำให้ความร้อนที่สะสมในวัสดุเกิดการถ่ายเทความร้อนเข้าสู่ภายในบ้าน ส่วนนี้เองที่ทำให้อากาศภายในบ้านมีอุณหภูมิร้อนกว่าอุณหภูมิอากาศในช่วงเวลานั้น

และนี่เองที่เป็นสาเหตุหลักที่เราต้องเปิดเครื่องปรับอากาศเย็นมากๆ จนเย็นเกินจำเป็น ปรับอุณหภูมิลงเท่าไรก็ยังไม่รู้สึกเย็นลง ทั้งนี้เพราะความเย็นในการปรับอากาศส่วนหนึ่งไปใช้ในการลดอุณหภูมิของเนื้อวัสดุ อีกส่วนหนึ่งใช้ชดเชยความรู้สึกร้อนจากการแผ่รังสีความร้อนของวัสดุเปลือกอาคารโดยรอบ (เมื่อส่วนพื้น ผนัง หลังคา หรือกระจก มีอุณหภูมิสูงกว่าอุณหภูมิอากาศจะเกิดการถ่ายเทความร้อนไปยังที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า)

ความเข้าใจนี้เองที่เราจะนำมาปรับให้บ้านเราเย็นลง ด้วยแนวทาง 3 ส่วนหลัก ดังนี้

1. สภาพแวดล้อมรอบตัวอาคาร

การปรับปรุงให้รอบบ้านของเรามีอุณหภูมิที่เย็นลง ด้วยการลดการสะสมความร้อนของพื้นโดยรอบบ้านเพื่อไม่ให้อุณหภูมิของสภาพแวดล้อมสูงกว่าอุณหภูมิอากาศ และพยายามทำให้อุณหภูมิเย็นลงด้วยวิธีการต่างๆ ด้วยการเลือกวัสดุรอบบ้านให้เป็นลานคอนกรีตน้อยที่สุด เพื่อลดการดูดซับและสะสมความร้อนจากแสงแดด การปลูกหญ้า ปลูกต้นไม้ใหญ่ที่ให้ร่มเงาให้มากที่สุด เพื่อสร้างร่มเงาให้พื้นที่รอบบ้าน การระเหยของน้ำด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อลดอุณหภูมิอากาศโดยรอบอาคารลง เช่น น้ำพุ น้ำตก แหล่งน้ำ เพื่อทำให้ลมที่พัดสภาพแวดล้อมรอบอาคารผ่านไปยังภายในอาคารเป็นลมที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าอุณหภูมิอากาศ หรือที่เราเรียกกันว่า “ลมเย็น”



รูปที่ 1 แสดงแนวคิดของโครงการแมกโนเลียส์ IV ที่ได้มีการปรับปรุงพื้นที่รอบบ้านให้เป็นต้นไม้ใหญ่ที่ให้ร่มเงาให้มากที่สุด ปลูกหญ้าเพื่อลดพื้นที่คอนกรีต การสร้างแหล่งน้ำเพื่อใช้ประโยชน์จากการระเหยของน้ำในการลดอุณหภูมิให้สภาพแวดล้อมเย็นลงได้ เกิดเป็น “ลมเย็น” จากบริเวณรอบบ้านไหลเข้าไปสร้างความสบายภายในบ้าน

2. การวางแนวอาคารและรูปทรงอาคาร

การทำให้บ้านของเราให้มีร่มเงาบังแดดมากที่สุด ด้วยรูปทรงบ้านและพื้นที่ผิวผนัง หลังคา กระจก ให้สัมผัสกับแสงแดดน้อยที่สุด การหันแนวบ้านให้เอียงหลบแดด เช่น การออกแบบให้ผนังด้านทิศตะวันตกและตะวันออกมีพื้นที่น้อยที่สุด โดยเฉพาะทิศตะวันตกที่เป็นด้านที่ได้รับอิทธิพลจากแสงแดดสูงสุด และเน้นการออกแบบให้มีพื้นที่ผนังและเปิดหน้าต่างในทิศเหนือและทิศใต้ให้มากที่สุด ทั้งนี้เนื่องจากทิศเหนือจะเป็นทิศที่ได้รับอิทธิพลแดดน้อยที่สุด ส่วนทิศใต้เป็นทิศลมประจำ จะช่วยให้รู้สึกเย็นสบายขึ้นได้ โดยเฉพาะเมื่อลมพัดผ่านจากสภาพแวดล้อมที่ได้รับการปรับปรุงแล้วจะยิ่งทำให้ลมนั้นเย็นสบายยิ่งขึ้น



รูปที่ 2 แสดงแนวคิดการวางผังโครงการแมกโนเลียส์ I ในการจัดวางแนวบ้านให้เกิดการบังเงากันเองของบ้านแต่ละหลังในแนวทิศตะวันออกและตะวันตก และเปิดหน้าบ้านในทิศเหนือและใต้ ซึ่งเป็นทิศที่แดดน้อยและมีลมพัดผ่าน ประกอบกับการปลูกต้นไม้ หญ้า โดยรอบบ้าน



รูปที่ 3 แสดงแนวการวางอาคารของโครงการคอนโดมิเนียม Whizdom the Exclusive ที่หันด้านแคบไปทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตก และเปิดด้านกว้างรับกระแสลมทางทิศใต้ ซึ่งเป็นช่วงที่ต้องการนำลมมาเพิ่มความสบายในเดือนที่ร้อนที่สุดของปี

3. การออกแบบและเลือกวัสดุเปลือกอาคาร

เปลือกอาคาร ได้แก่ ผนัง หลังคา และกระจก เป็นส่วนสำคัญในการทำให้บ้านเราร้อนหรือเย็น การเลือกวัสดุที่ดีต้องเป็นวัสดุที่ไม่มีการดูดซับความร้อนและความชื้น มีคุณสมบัติการป้องกันความร้อนได้เป็นอย่างดี จึงจะสามารถลดการสะสมความร้อนในเนื้อวัสดุ ลดการถ่ายเทความร้อนจากภายนอกเข้าสู่ภายในอาคารได้ และลดการควบแน่นเป็นหยดน้ำซึ่งเป็นสาเหตุของเชื้อราอีกด้วย เพื่อความสบายและสุขภาพที่ดีของคนในบ้าน

จากแนวทางทั้ง 3 ส่วนนี้ เราก็สามารถทำให้บ้านเราเย็นลงได้ และในตอนต่อไปจะอธิบายแต่ละส่วนอย่างละเอียดเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจและสามารถทำเองได้ในบ้านค่ะ

แบ่งปันข้อมูล : ฝ่ายวิจัยและพัฒนา
บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด