“บ้าน” ความฝันของใครหลายๆคนที่ครั้งหนึ่งในชีวิตอยากจะมีให้ได้ ซึ่งกว่าจะได้มาสักหลังเราต้องอดทนเก็บหอมรอมริบ กว่าจะเลือกโครงการที่ถูกใจได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย  แต่เมื่อได้มาแล้ว ทำสัญญาจะซื้อจะขายเรียบร้อย ก่อนจะโอนกรรมสิทธิ์นั้น ยังมีอีกขั้นตอนหนึ่งที่ควรระวังเพื่อให้เจ้าของบ้านป้ายแดงไม่เจอกับปัญหาปวดหัวตามมานั่นก็คือ ” การตรวจบ้าน “ ก่อนรับโอนนั่นเองค่ะ

หลายคนคิดว่า การตรวจบ้าน นั้นไม่มีความจำเป็น ถ้าเราเลือกโครงการที่ไว้ใจได้ ไม่มีประวัติเสียหายแล้ว เราจะต้องเสียเงินหลายพันไปจนถึงหลักหมื่นเพื่อมาตรวจบ้านไปทำไม ขอบอกว่าเราไม่มีทางรู้เลยค่ะว่าบ้านที่เราได้นั้นมีมาตรฐานแค่ไหน ถ้าเราไม่ได้ลงมือตรวจ ซึ่งสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อเรารีบโอนก็คือ พบเจอกับปัญหาภายในบ้านตอนอยู่อาศัยจริง ! จะเรียกโครงการมาซ่อมเก็บงานอาจเกิดความล่าช้า ทำให้เดือดร้อน ต้องแก้แล้วแก้อีกไม่เสร็จเสียที ดังนั้นเราควรตรวจดูให้แน่ใจก่อนว่าบ้านหลังนั้นพร้อมเข้าอยู่จริงๆหรือยัง ในช่วงเวลาที่เรายังมีอำนาจในการต่อรองอยู่ค่ะ

สำหรับใครที่อยากประหยัดงบจ้างช่างมาตรวจบ้าน วันนี้เราจะมาแนะนำวิธีการตรวจบ้านด้วยตนเอง ซึ่งสามารถครอบคลุมทุกส่วนภายในบ้านโดยใช้อุปกรณ์ที่หาเองได้ทั่วไปค่ะ แต่ทั้งนี้สำหรับคนที่ต้องการตรวจบ้านอย่างละเอียดด้วยเครื่องมือช่าง ก็ควรศึกษาแนวทางการตรวจสอบเพื่อในวันนัดตรวจ เราจะได้เข้าใจว่าช่างมีขั้นตอนการตรวจบ้านอย่างไรนั่นเอง


ขั้นที่ 1 เตรียมตัว เตรียมอุปกรณ์ก่อนตรวจบ้าน

ก่อนที่จะลงมือตรวจบ้านควรเตรียมอุปกรณ์และเครื่องมือเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการตรวจให้เห็นผลชัดเจนมากขึ้นนะคะ ทั้งนี้อุปกรณ์ต่างๆสามารถดัดแปลงหรือประยุกต์สิ่งของต่างๆมาเพื่อใช้ทดแทนกันได้ค่ะ

  • บันได : ใช้เพื่อขึ้นไปตรวจสอบพื้นที่ด้านเหนือฝ้าเพดาน สามารถขอยืมบันไดพับจากทางโครงการได้ (บางโครงการก็มีให้ สอบถามก่อนนะคะจะได้ไม่เสียโอกาส)
  • กระดาษทำเครื่องหมาย โพสต์อิท หรือสติกเกอร์ : ใช้ทำสัญลักษณ์บนพื้นที่ที่ต้องการแก้ไข ให้ช่างเห็นได้ชัด แต่บางโครงการเขาก็ไม่ให้ติดสติกเกอร์ เพราะจะทำให้มีคราบกาวติด ต้องเก็บภาพเอาอย่างเดียวค่ะ
  • แปลนบ้าน : แปลนบ้านใช้เพื่อวงตำแหน่งที่ต้องการแก้ไข เพื่อให้จำได้ว่ามีจุดไหนบ้าง
  • กระดาษ ดินสอ : สำหรับจดบันทึกรายการแก้ไข (มีตัวอย่างตารางให้ Download ท้ายบทความค่ะ) ส่วนอุปกรณ์การจดขอแนะนำให้ใช้เป็นดินสอเพื่อที่จะลบแก้ไขได้ง่ายๆค่ะ
  • กล้องถ่ายรูป : ถ่ายภาพบันทึกตำแหน่งที่ต้องการแก้ไขเพื่อเปรียบเทียบเมื่อแก้ไขเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นอุปกรณ์จำเป็นจะใช้โทรศัพท์มือถือแทนก็ได้
  • ไฟฉาย : สำหรับส่องพื้นที่มืดอย่างใต้หลังคา ใต้ตู้ อ่าง ท่อ เป็นต้น (สามารถใช้โทรศัพท์มือถือได้ แต่จะต้องระมัดระวัง ถ้ามีไฟฉายแยกจะสะดวกกว่าค่ะ)
  • ไม้บรรทัด : ควรใช้ไม้ยาวๆ 60 เซนติเมตรขึ้นไปสำหรับวัดความเรียบของพื้น ผนังว่าตั้งฉาก เรียบเนียน มีรอยนูนหรือไม่
  • เหรียญ : สำหรับเคาะเพื่อตรวจกระเบื้อง ว่ามีการปูที่แน่นหนาไหม มีโพรงหรือเปล่า จะใช้แท่งเหล็ก หรือไม้บรรทัด Aluminium หนาๆแทนก็ได้ค่ะ
  • ที่วัดระดับน้ำ :  เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับตรวจสอบความลาดเอียงของพื้นที่ในแนวราบ แนวดิ่ง มีขายตามร้านอุปกรณ์เกี่ยวกับบ้านและร้านค้าออนไลน์ทั่วไป ราคาประมาณ 100 – 300 บาท แต่สำหรับคนที่ไม่ได้ซีเรียสเรื่องความละเอียดมากนัก ก็ไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์นี้ค่ะ
  • ผ้าขี้ริ้ว : ใช้สำหรับอุดท่อระบายน้ำเพื่อขังน้ำทดสอบพื้น และท่อระบายน้ำ จะใช้เป็นฝาท่อ ขวดพลาสติก หรือสิ่งของที่สามารถปิดท่อระบายน้ำตามจุดต่างๆได้
  • ขนมปัง :  ใช้ทดสอบโถสุขภัณฑ์ แทนสิ่งปฏิกูล
  • อุปกรณ์เช็คไฟ (Easy Check Outlet) : สำหรับเช็คปลั๊กไฟว่าต่อสายถูกต้องหรือไม่ ใช้งานได้ไหม ราคาประมาณ 200-300 บาท สามารถหาซื้อได้ที่ HomePro, ไทวัสดุ หรือร้านค้าวัสดุก่อสร้าง และร้านค้าออนไลน์ทั่วไป ถ้าไม่มีอุปกรณ์ชิ้นนี้จะใช้วิธีเสียบสายชาร์จโทรศัพท์เพื่อทดสอบว่าไฟเข้าหรือไม่แทนก็ได้ค่ะ (แต่จะเช็คไม่ได้ว่าเดินสายไฟ L กับ N สลับกัน หรือมีกระแสไฟรั่วหรือเปล่าไม่ได้)

ข้อแนะนำสำหรับการตรวจบ้าน

ก่อนที่จะเข้าไปทำการตรวจบ้านเราควรนัดกับทางโครงการให้เรียบร้อยค่ะ โดยเราควรนัดวันที่เราว่างทั้งวันค่ะ เพราะการตรวจบ้านใช้เวลานานพอสมควร ควรไปตรวจตั้งแต่ช่วงเช้า ถ้าเข้าไปตรวจช่วงเย็นที่มีแสงน้อยจะทำให้มองเห็นข้อบกพร่องต่างๆลดลงได้ และอย่าลืมให้ทางโครงการต่อระบบประปาและไฟฟ้าให้ด้วยค่ะ

ทางที่ดีควรพาเพื่อน พาแฟนหรือผู้ช่วยตรวจไปด้วย อย่างน้อย 1 คนนะคะ เพราะการตรวจสอบจะต้องจดบันทึก เก็บภาพ เวลาตรวจการทำงานของระบบสุขาภิบาล ก็ต้องมีคนหนึ่งคอยเปิดฝาท่อให้น้ำไหล และอีกคนหนึ่งคอยเช็คที่บ่อพักน้ำ เป็นต้น ถ้าไปคนเดียวอาจจะทำให้การตรวจสอบไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าไรนัก

ในวันที่ตรวจสอบจะมีเจ้าหน้าที่จากทางโครงการมาดูการตรวจสอบของเราด้วย ใครเขินๆ ไม่อยากให้เจ้าหน้าที่ตามเรา ก็สามารถบอกเขาได้นะคะเพราะว่าสุดท้ายเราจะต้องส่งเอกสารรายการแก้ไขเพื่อแจ้งให้เขาทราบอยู่แล้ว


ขั้นที่ 2 ดูภาพรวมพื้นที่ที่ต้องทำการตรวจสอบ

ก่อนจะลงมือเดินเข้าไปตรวจบ้านเลย เรามาดูภาพรวมของพื้นที่ที่ต้องทำการตรวจสอบกันก่อนค่ะ เมื่อเราแบ่งพื้นที่เป็นส่วนๆ จะช่วยให้ประหยัดเวลาและประหยัดแรงในการตรวจได้เยอะเลย ไม่ต้องเดินวนไปมาภายในบ้านหลายๆรอบให้เหนื่อยค่ะ

โดยเราจะแบ่งเป็น 9 หัวข้อ ดังนี้

  • พื้นที่นอกบ้าน : เริ่มตั้งแต่ด้านหน้าบ้าน รั้ว พื้นที่ลานจอดรถ ผนังและความเรียบร้อยด้านนอกทั้งหมด รวมถึงพื้นดิน สนามหญ้า และต้นไม้ที่ทางโครงการปลูกมาให้ด้วย
  • โครงสร้าง : ในความเป็นจริงแล้วเราควรเข้าไปดูตั้งแต่โครงการยังก่อสร้างไม่เสร็จเลยค่ะ เพื่อจะได้ตรวจสอบเช็คได้ว่าบ้านของเรานั้นมีโครงสร้างตามที่กำหนดไว้ตอนแรกหรือไม่ หรือใครที่ซื้อบ้านโครงการที่กำลังก่อสร้างอยู่ก็ควรแวะไปดูในส่วนนั้นด้วยนะคะ
  • หลังคา : ตรวจเช็คว่าหลังคามีการรั่วซึมหรือไม่ ติดตั้งฉนวนมาเต็มพื้นที่หรือไม่
  • พื้น : เป็นส่วนที่เราเดินเท้าเปล่า ควรเช็คความเรียบร้อยของพื้นให้ดี เพราะอาจจะทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ค่ะ
  • ผนัง : มีพื้นที่มากที่สุด ส่วนใหญ่แล้วจะมีปัญหา รอยร้าว, รอยไม่เรียบเนียนจากการฉาบปูน ทาสี ที่ไม่เรียบร้อย
  • ฝ้าเพดาน : ควรเช็คทั้งฝ้าเพดานจากด้านล่างที่เรามองเห็น และโครงสร้างด้านบนฝ้าเพดาน
  • ช่องเปิด : รวมช่องเปิดทั้งหมดภายในบ้าน ทั้งประตู หน้าต่าง ช่องแสง ฯลฯ
  • ระบบไฟฟ้า : ควรตรวจเช็คตั้งแต่ มิเตอร์ไฟฟ้า แผงไฟฟ้า ปลั๊กไฟ สัญญาณโทรศัพท์ ไฟฟ้าแสงสว่าง เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ เพราะเป็นจุดสำคัญ อาจจะทำให้เกิดอันตรายได้
  • ระบบสุขาภิบาล : ระบบท่อน้ำต่างๆ สุขภัณฑ์ การระบายน้ำ บ่อพักน้ำ บ่อดักไขมัน ถังบำบัด ฯลฯ

ขั้นที่ 3 ลงมือตรวจบ้านกันได้เลย


เริ่มตรวจจากด้านนอกบ้านกันก่อนนะคะ ในแต่ละส่วนไม่จำเป็นต้องทำตามขั้นตอนที่เราแนะนำทั้งหมด จะเริ่มจากภายในบ้านก่อนแล้วค่อยตรวจนอกบ้านตอนสุดท้ายก็ได้ค่ะ แต่ถ้าเราไปตรวจตอนเช้าๆ การเดินดูภายนอกก่อนก็จะทำให้ไม่ร้อนจนเกินไปค่ะ โดยสิ่งที่เราควรจะตรวจมี ดังนี้

  • ประตูรั้ว

เดินเข้ามาก็ต้องผ่านประตูรั้ว ให้เราลองเปิด-ปิดเหมือนใช้งานจริงดูหลายๆครั้งว่าสามารถเลื่อนได้สะดวกไหม มีติดขัดอะไรหรือเปล่า ลองลงกลอนดูด้วยนะคะ ถ้าใช้งานได้ไม่สะดวก ฝืด หรือตกร่องก็แจ้งแก้ไขได้เลย นอกจากการเลื่อนใช้งานดูแล้วให้เราดูความเรียบร้อยของประตูรั้วว่าทาสีทั่วถึงทั้งหมดไหม มีส่วนไหนเป็นสนิม หรือแตกหักหรือไม่ด้วยค่ะ

  • ถังขยะ กล่องไปรษณีย์ ป้ายเลขที่บ้าน

อย่าลืมตรวจสอบถังขยะ และกล่องไปรษณีย์ด้านหน้าบ้านที่ทางโครงการมักจะทำติดกับรั้วมาให้ด้วยค่ะ บางทีจะเจอกับปัญหาติดตั้งได้ไม่ดี ฝาหลุด หรือเปิดไม่ได้ เป็นต้น

  • รั้วบ้าน

รั้วบ้านจะต้องตั้งตรงไม่เอนไปฝั่งใดฝั่งหนึ่ง และไม่มีรอยแตกร้าว ทาสีเรียบร้อยทั่วถึงทุกตำแหน่ง หากมีการเจาะรั้วเพื่อเดินท่อต่างๆต้องเก็บความเรียบร้อยของรูที่เจาะด้วย ถ้าเกิดเห็นเป็นรูไม่เรียบร้อยแจ้งไปเลยค่ะ

  • สนามหญ้า

ตรวจความเรียบร้อยของสนามหญ้าว่าทางโครงการถมดินมาให้เรียบร้อยไหม ต้องไม่มีหลุมบ่อ บางโครงการมีต้นไม้ตกแต่งสวนมาให้ด้วย ให้เราดูเรื่องการนำต้นไม้ลงดินว่าลงได้แน่นเรียบร้อยดี ต้นไม้ใหญ่ไม่โอนเอน และมีการเอาถุงพลาสติกหุ้มออกจากฐานต้นไม้เรียบร้อยแล้ว (ถ้าไม่นำพลาสติกออก เวลาผ่านไปต้นไม้อาจจะตายได้)

  • ที่จอดรถ

ที่จอดรถจะต้องมีความลาดเอียง ระบายน้ำออกได้เมื่อฝนตกต้องไม่มีน้ำขัง ตรงนี้เราสามารถฉีดน้ำลงไปบนพื้นได้เลย เพื่อทดสอบว่าน้ำไหลออกไปนอกบ้านหรือไม่ และอย่าลืมตรวจดูความเรียบร้อยของพื้นว่าไม่มีรอยร้าว รอยแตกทรุดตัว และไม่มีหลุมบ่อด้วยนะคะ

  • ผนังภายนอกบ้าน 

เดินดูรอบๆบ้านแล้วก็ตรวจดูผนังด้านนอกบ้านไปด้วยเสียเลยค่ะ ว่ามีรอยแตกร้าว หรือผนังบวม สีลอก มีคราบเลอะปูนจากการก่อสร้างหรือไม่ ถ้ามีก็แจ้งแก้ไขได้เลย

  • เฉลียง / ระเบียง

บ้านบางหลังมีเฉลียงยื่นออกมาจากตัวบ้านให้ด้วย เราอย่าลืมดูความเรียบร้อยในส่วนนี้ด้วยค่ะ เฉลียงที่มีโครงสร้างติดกับตัวบ้านจะต้องไม่มีรอยแตกร้าวในส่วนที่เชื่อมต่อกับบ้าน แต่ถ้าโครงสร้างแยกกับตัวบ้านก็จะต้องเก็บรอยต่อให้ดี ถ้ามีรอยแตกต้องใช้ช่างแก้ไขค่ะ ถ้าเราไม่ทราบว่าโครงสร้างพื้นที่เฉลียงติดกับตัวบ้านไหม ให้สอบถามจากเจ้าหน้าที่โครงการเพิ่มเติมค่ะ

  • บ่อพักน้ำ

นอกจากที่กล่าวมาแล้ว รอบๆบ้านจะต้องมีบ่อพักน้ำทุกๆระยะ 8 เมตร และส่วนมุมที่เปลี่ยนทิศทาง มีฝาปิด ภายในต้องไม่มีเศษวัสดุก่อสร้าง ขยะ เศษใบไม้เข้าไปอุดตัน

Image 1/2
ตัวอย่างดินมีการทรุดตัว ต้องแก้ไขโดยการถมดินและปูหญ้าเพิ่มเติม

ตัวอย่างดินมีการทรุดตัว ต้องแก้ไขโดยการถมดินและปูหญ้าเพิ่มเติม

ตารางสรุปการตรวจเช็คภายนอกบ้าน

* สามารถ Download ตาราง Check List รายการตรวจบ้านได้ที่ด้านท้ายบทความนะคะ

การตรวจสอบโครงสร้างของบ้านขอแนะนำให้เจ้าของบ้านเข้าไปดูตั้งแต่ช่วงที่โครงการกำลังก่อสร้างอยู่เลยค่ะ เพื่อที่จะได้เห็นโครงสร้างจริงๆของบ้านที่เราจะซื้อ แต่ก็ไม่ใช้ทุกคนที่จะเลือกซื้อโครงการที่ยังสร้างไม่เสร็จ เราจึงทำได้แค่ตรวจดูว่ามีร้อยร้าวของบ้านที่เกิดจากโครงสร้างหรือไม่ค่ะ แต่ถ้าใครซื้อโครงการที่กำลังมีการสร้างเฟสอื่นๆอยู่เราจะแวะไปดูเพื่อความสบายใจด้วยก็ได้นะคะ

  • เสา คาน

เสา คานให้ตรวจดูว่าต้องไม่มีรอยร้าวเฉียงประมาณ 45 องศาบริเวณรอยต่อคานกับเสา ไม่มีการแอ่นหรือตกท้องช้างที่คาน เสาตั้งตรงไม่โค้งงอ

  • ประตูหน้าต่าง

ประตูหน้าต่างจะต้องมีเสาเอ็น คานทับหลัง(รูปด้านล่าง) ถ้าเราไม่ทราบให้ถามกับเจ้าหน้าที่โครงการ และจะต้องไม่มีรอยร้าวเฉียงที่ขอบมุมกรอบบานทุกบานค่ะ

  • โครงสร้างเหล็ก

ถ้ามีโครงสร้างเหล็กจะต้องตรวจเช็ครอยเชื่อมทั้งหมด ต้องเชื่อมเต็ม เรียบร้อย มีการทาสีกันสนิมหรือสีน้ำมันทั่วทั้งชิ้น บางข้อต่ออาจจะเชื่อมต่อกันแค่ผิวๆ ไม่เต็มชิ้นต้องสั่งแก้ไขค่ะ เพราะส่วนโครงสร้างเป็นส่วนสำคัญของบ้าน

  • โครงสร้างไม้

ถ้ามีโครงสร้างไม้จะต้องตรวจสอบดูว่าไม่มีรอยร้าว หรือถูกปลวกกัดแทะ ต้องมีการทาสีทาน้ำยากันปลวกมาให้ทั่วทั้งชิ้น

  • โครงสร้างหลังคา

ควรขึ้นไปดูโครงสร้างหลังคาจะต้องมีระยะจันทัน แป ห่างเท่ากันสม่ำเสมอ

Image 1/2
ตัวอย่างบ้านที่กำลังก่อสร้างทำให้เห็นโครงสร้างทับหลัง และเสาเอ็นรอบๆช่องเปิดช่วยการแตกร้าวจากการใช้งานช่องเปิดในอนาคต

ตัวอย่างบ้านที่กำลังก่อสร้างทำให้เห็นโครงสร้างทับหลัง และเสาเอ็นรอบๆช่องเปิดช่วยการแตกร้าวจากการใช้งานช่องเปิดในอนาคต

ตารางสรุปการตรวจเช็คโครงสร้างบ้าน

* สามารถ Download ตาราง Check List รายการตรวจบ้านได้ที่ด้านท้ายบทความนะคะ

  • หลังคา / กระเบื้องหลังคา

กระเบื้องหลังคาจะต้องปูเรียบร้อย ตรวจเช็คได้จากการเปิดฝ้าเพดานดูพื้นที่ใต้หลังคา ว่ามีแสงส่องเข้ามาหรือไม่ ถ้าแสงส่องเข้ามาได้ บริเวณนั้นจะเกิดการรั่วซึมขึ้นได้เช่นกันค่ะ หรือถ้าโชคดีได้ไปตรวจเช็คบ้านในวันที่ฝนตกหนักก็สามารถดูรอยรั่วของน้ำบนฝ้าเพดานได้ จุดไหนมีรอยรั้วต้องแจ้งให้โครงการแก้ไขทันที

ถ้าสามารถขึ้นไปตรวจสอบที่ด้านบนได้ จะต้องดูกระเบื้องหลังคาให้ไม่มีรอยแตก ไม่มีคราบปูนเกาะ และต้องมีการยึดกระเบื้องแผ่นสุดท้ายที่ปลายชายคาทุกแผ่น

นอกจากนั้นโครงการส่วนใหญ่จะมีฉนวนกันความร้อนปูมาให้ ให้เราตรวจดูว่าปูมาเรียบร้อย เต็มพื้นที่หรือไม่ ซึ่งก็จะมีบางแห่งที่พอตรวจเช็คแล้วว่าปูฉนวนมาให้ไม่เต็มพื้นที่ค่ะ

  • ชายคา

การตรวจสอบชายคาให้เราออกไปมองด้านนอกว่าแนวชายคาจะต้องตรง ไม่มีรูหรือช่องเผยอให้สัตว์เข้าไปได้ ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหา นก หนู งู แมลงต่างๆเข้าไปทำรังใต้ฝ้าของเราในอนาคต แค่คิดก็วุ่นวายแล้วใช่ไหมคะ ฝ้าชายคาจะต้องเป็นฝ้ากันน้ำ ไม่มีคราบน้ำซึมให้เห็น ปัจจุบันมีการใช้ฝ้าชายคาที่มีช่องระบายอากาศด้วย ต้องตรวจเช็คว่ามีตาข่ายกันแมลงติดตั้งมาด้วยทุกจุดค่ะ

ตัวอย่างช่องเปิดฝ้าเพดานเพื่อขึ้นไปตรวจสอบพื้นที่ใต้หลังคา ว่ามีแสงส่องทะลุกระเบื้องหลังคาเข้ามาหรือไม่ หลังคามีฉนวนปูมาให้เต็มพื้นที่ไหม ควรเอาไฟฉายส่องดูให้ทั่วถึงค่ะ

ตารางสรุปการตรวจเช็คหลังคาบ้าน

* สามารถ Download ตาราง Check List รายการตรวจบ้านได้ที่ด้านท้ายบทความนะคะ

  • พื้นภายในบ้าน พื้นกระเบื้อง

พื้นห้องเป็นส่วนที่เราต้องเดินใช้งานอยู่ตลอดทั้งวัน ฉะนั้นเราจึงควรตรวจดูในให้ดี พื้นจะต้องได้ระดับเรียบเนียนสม่ำเสมอตลอดทั้งห้อง ไม่มีการโก่งนูน หรือยุบ เดินแล้วแน่นเท้า ซึ่งบ้านที่ปูกระเบื้องเราควรตรวจสอบทุกแผ่น โดยการใช้เหรียญ หรือแท่ง Aluminium ที่เราเตรียมมาเคาะไปที่กระเบื้องหลายๆจุด ถ้ามีเสียงก้อง หรือรู้สึกได้ว่าใต้พื้นกลวง จะต้องให้ช่างแก้ไขโดยการหยอดน้ำปูนเพิ่ม หรือรื้อกระเบื้องแผ่นนั้นใหม่ค่ะ

  • พื้นห้องน้ำ

พื้นห้องน้ำนอกจากจะเช็คกระเบื้องแล้วยังต้องมีความลาดเอียงตามมาตรฐาน ระบายน้ำได้ดี ทดสอบโดยการขังน้ำไว้และเปิดท่อดูการระบายต้องไหลลงได้อย่างรวดเร็วไม่มีแอ่งน้ำนองที่พื้น

  • พื้นไม้ / ลามิเนต

พื้นที่ปูด้วยวัสดุประเภทไม้ จะต้องมีความเรียบเนียนไม่มีเสี้ยนบาดเท้า ถ้ามีรอยนูนขรุขระให้ช่างแก้ไขโดยการขัดผิวไม้ แต่ไม่ควรขัดเกิน 2-3 ครั้งจะทำให้หน้าไม้บาง ส่วนพื้นลามิเนตจะต้องเรียบเท่ากันทั้งห้องไม่มีส่วนใดบวมนูน หรือเว้าเป็นแอ่ง และต้องเก็บขอบรอยต่อกับผนังให้เรียบร้อย ซึ่งส่วนใหญ่จะมีบัวพื้นติดตั้งมาให้ค่ะ

  • บันได

บันได้จะต้องเดินแล้วไม่มีเสียงเอี๊ยดอ๊าด หรือรู้สึกว่าสั่นไหว ถ้าเป็นบันไดโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กจะเดินแล้วแน่นเท้า มากกว่าโครงสร้างเหล็ก แต่จะต้องไม่รู้สึกว่าเดินแล้วไม่มั่นคงนะคะ ถ้ามีราวกันตกมาให้ ให้ตรวจสอบว่าติดตั้งมั่นคงแข็งแรงหรือไม่ ลองโยกแรงๆดูได้เลยค่ะ

พื้นลูกนอนถ้าปูด้วยวัสดุเดียวกับพื้นก็ให้ตรวจสอบเหมือนกับพื้นเลยค่ะ จะต้องไม่แอ่น ได้ระดับเท่ากันทั้งผืน ส่วนลูกตั้งต้องสูงเท่าๆกันทุกขั้น ทาสีมาให้เรียบร้อย

Image 1/3
ตัวอย่างเมื่อเดินแล้วฝืดเท้า หรือมีรอยนูนให้ช่างมาแก้ไขโดยการขัดผิวหน้าไม้ แต่ไม่ควรขัดจนผิวไม้บางนะคะ

ตัวอย่างเมื่อเดินแล้วฝืดเท้า หรือมีรอยนูนให้ช่างมาแก้ไขโดยการขัดผิวหน้าไม้ แต่ไม่ควรขัดจนผิวไม้บางนะคะ

ตารางสรุปการตรวจเช็คพื้น

* สามารถ Download ตาราง Check List รายการตรวจบ้านได้ที่ด้านท้ายบทความนะคะ

  • พื้นผิวของผนัง

ผนังเป็นส่วนที่มีพื้นที่เยอะที่สุดเลยค่ะ เราควรตรวจเช็คทีละห้อง มองให้ครบทุกด้าน ผนังจะต้องเรียบเสมอกัน ตรวจสอบโดยการใช้ไม้บรรทัดยาวที่เตรียมมาตั้งฉากกับผนัง แล้วดูว่าช่างฉาบปูนมาเรียบเนียนดีหรือไม่ จะต้องมีมีรอยนูน หรือเว้าแหว่ง โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะเจอปัญหาไม่เรียบร้อยเรื่องสีค่ะ มีรอยด่าง รอยนูนเล็กๆ ถ้าต้องการแก้ไขช่างจะทำการแก้ทั้งผืนเพื่อให้สีเท่ากันสม่ำเสมอนั่นเองค่ะ

บางโครงการจะให้โปรโมชันแถม Wallpaper มาให้ด้วย ถ้าเราตอบตกลงรับของแถมอาจจะทำให้ตรวจเช็คผนังในส่วนนี้ไม่ได้ ต้องชั่งใจดูว่าคุ้มไหมนะคะ หรือถ้าใครสามารถเข้าตรวจบ้านก่อนโครงการจะติดตั้ง Wallpaper ได้จะทำให้สบายใจขึ้นค่ะ

  • รอยต่อผนัง

ต่อมาเราควรดูรอยต่อของผนังกับเสา ให้ไม่มีรอยร้าว รอยแยก ถ้ามีรอยร้าวอาจจะเกิดจากการที่ช่างไม่ใส่เหล็กหนวดกุ้งที่เสา ต้องแจ้งให้โครงการทำการแก้ไข

Image 1/2
ปัญหาเรื่องการทาสีมักจะเจออยู่บ่อยๆนะคะบางครั้งเข้าห้องมาก็เห็นได้เลย แต่ถ้าโครงการทำดีหน่อยต้องมองใกล้ๆถึงจะเห็น อันนี้ก็แล้วแต่เจ้าของบ้านว่าพอใจให้แก้ไขจุดไหนบ้างค่ะ

ปัญหาเรื่องการทาสีมักจะเจออยู่บ่อยๆนะคะบางครั้งเข้าห้องมาก็เห็นได้เลย แต่ถ้าโครงการทำดีหน่อยต้องมองใกล้ๆถึงจะเห็น อันนี้ก็แล้วแต่เจ้าของบ้านว่าพอใจให้แก้ไขจุดไหนบ้างค่ะ

ตารางสรุปการตรวจเช็คผนัง

* สามารถ Download ตาราง Check List รายการตรวจบ้านได้ที่ด้านท้ายบทความนะคะ

  • ฝ้าเพดาน

การตรวจสอบฝ้าเพดานจะต้องทำการดูทั้งพื้นที่ใต้ฝ้า (ในห้อง) และพื้นที่เหนือฝ้า (เปิดฝ้าดู) ด้วยนะคะ ฝ้าส่วนใหญ่เป็นยิปซัมบอร์ดจะต้องทาด้วยสีน้ำพลาสติกให้เรียบร้อย ความสูงฝ้าจะต้องเท่ากันทั้งห้อง ไม่มีส่วนที่มองเห็นตกท้องช้าง หรือแอ่น รอยต่อกับขอบผนังจะต้องเรียบร้อย ควรมีช่องเปิดขึ้นไปตรวจสอบด้านบนได้ ถ้าโครงการไม่มีช่องเปิดมาให้ ควรแจ้งให้ช่างทำช่องเปิดเพิ่มเติม เช่น บริเวณห้องน้ำ เป็นต้น

ถ้ามีช่องเปิดให้เราขึ้นไปตรวจดูพื้นที่ใต้เหนือฝ้าเพดานนอกจากจะดูเรื่องของโครงสร้างหลังคาและฉนวนแล้ว เราควรตรวจเช็คโครงฝ้าเพดาน บางครั้งจะเจอกับตำแหน่งโคมไฟตัดผ่านโครงฝ้าเลย ต้องแจ้งให้ช่างทำโครงฝ้าเสริมขึ้นมาเพิ่มเติมค่ะ

Image 1/5
ปัญหาจากการทาสี ไม่เรียบ มีรอยด่าง

ปัญหาจากการทาสี ไม่เรียบ มีรอยด่าง

ตารางสรุปการตรวจเช็คหลังคา

* สามารถ Download ตาราง Check List รายการตรวจบ้านได้ที่ด้านท้ายบทความนะคะ

  • กรอบบาน

ช่องเปิดจะต้องตรวจดูกรอบบาน ลองเปิด-ปิดใช้งานแรงๆดูหลายๆครั้ง โดยทุกบานควรจะเปิด-ปิดได้สะดวก ในครั้งเดียว ส่วนใหญ่จะเจอปัญหาปิด 2 จังหวะ ต้องออกแรงดันให้ลงล็อคเมื่อใช้ๆไป อาจจะเปิด-ปิดยากมากขึ้นได้นะคะ

ตัวล็อคบานต้องใช้ได้ทุกจุด ส่วนไหนมีมือจับให้ลองจับโยกแรงๆดู ถ้าเปิด-ปิดแรงๆเพียงแค่ 2-3 ครั้งแล้วพังก็ถือว่าใช้ไม่ได้ต้องแก้ไขค่ะ

นอกจากเรื่องการใช้งานแล้วเรายังควรทดสอบการรั่วซึมของน้ำฝนบริเวณกรอบบานทุกบานด้วย วิธีการคือใช้สายยางบริเวณสวนฉีดเข้าไปที่กรอบบาน หรือถ้าได้ตรวจบ้านตอนฝนตกหนักๆ ก็สามารถตรวจสอบได้เลย โดยปกติทุกๆบานจะต้องมีช่องให้น้ำระบายออก (ภาพประกอบด้านล่าง) อยู่แล้ว แต่ก็จะมีบางส่วนเช่น กระจกตายตัวที่มีน้ำรั่วซึมเข้ามาได้ ต้องแก้ไขโดยการยิงซิลิโคนเพิ่มเติม

  • กระจก

ตรวจกรอบบานกันไปแล้วอย่ามองข้ามกระจกไปค่ะ แผ่นกระจกถ้ามีพลาสติกติดอยู่ให้แกะออกเพื่อเช็คว่ามีรอยข่วน รอยร้าวหรือไม่ รอยต่อต้องชิดสม่ำเสมอ ขยับไม่ได้ และไม่มีรอยฝ้า มัวๆ ติดอยู่

Image 1/7
ควรตรวจเช็คช่องเปิดภายในบ้านทุกจุด ทั้งประตูหน้าต่าง ช่องแสง บล็อกแก้ว ฯลฯ

ควรตรวจเช็คช่องเปิดภายในบ้านทุกจุด ทั้งประตูหน้าต่าง ช่องแสง บล็อกแก้ว ฯลฯ

ตารางสรุปการตรวจเช็คช่องเปิด

* สามารถ Download ตาราง Check List รายการตรวจบ้านได้ที่ด้านท้ายบทความนะคะ

  • กริ่ง

ลองกดกริ่งด้านหน้าบ้านเพื่อทดสอบว่าได้ยินทั่วถึงหรือไม่ เช็คสภาพภายนอกของกริ่งว่ามีฝาครอบเรียบร้อย ไม่มีรอยปูนเลอะเทอะ

  • ปลั๊กไฟ / สายดิน

ปลั๊กไฟจะต้องใช้งานจริงได้ทุกจุด เราสามารถทดสอบได้โดยการใช้สายชาร์จโทรศัพท์เสียบเช็คดูทุกจุดก็ได้ แต่แนะนำให้เจ้าของบ้านซื้ออุปกรณ์เช็คไฟ Easy Check Outlet เพิ่มเติมเพื่อตรวจสอบให้ละเอียดยิ่งขึ้น โดยสามารถตรวจได้ว่า ปลั๊กนั้นๆเดินสายไฟถูกต้องหรือไม่ (โดยไม่ต้องถอดหน้ากากปลั๊กมาดูสายไฟทีละเส้นให้เสียเวลา และอาจจะเกิดอันตรายได้ถ้าไม่ชำนาญ) สามารถเช็คกระแสไฟฟ้ารั่วได้

สำหรับคนที่ต้องการถอดหน้ากากปลั๊กออกมาเช็คสายไฟเอง จะต้องดูว่าสายไฟแต่ละเส้นอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องหรือไม่ รูด้านบนสุดจะต้องเป็นสาย L (สายไฟฟ้ากำลัง สีน้ำตาล) รูด้านล่างเป็นสาย N (สายศูนย์ สีฟ้า) และรูด้านข้าง เป็นสาย G (สายดิน สีเขียวสลับเหลือง)ค่ะ (ภาพประกอบด้านล่าง) *ข้อควรระวังต้องระวังไฟดูดด้วยการสวมถุงมือและรองเท้ายางด้วยนะคะ

ปลั๊กทุกจุดต้องเดินสายดินเรียบร้อย ต้องมีสายดินสำหรับเครื่องทำน้ำอุ่นและเครื่องปรับอากาศทุกเครื่องค่ะ

  • สวิตช์ไฟ / ไฟฟ้าแสงสว่าง

สวิตช์ไฟให้เราลองกดเปิด-ปิด ดูหลายๆครั้งว่าไฟติดปกติหรือไม่ ตัวสวิตช์ต้องกดสะดวก ไม่ฝืด ไม่ต้องออกแรงมากกว่าปกติ หน้ากากสวิตช์ติดตั้งตรง ไม่มีรอยแตกร้าว สวิตช์ไฟ 2 ทางเช่น บริเวณบันได ต้องใช้งานได้ทั้ง 2 ฝั่ง

  • สายไฟ

การเดินสายไฟภายในบ้านถ้าเป็นสายไฟฟ้าใต้ฝ้าเพดานจะต้องอยู่ในท่อร้อยสายไฟ เรียบร้อย ไม่พันกันยุ่งเหยิง ถ้าเป็นสายไฟเดินลอยตัวจะต้องมีกิ๊บรัดสายไฟเป็นระยะให้ดูสวยงามค่ะ

  • เครื่องใช้ไฟฟ้า

สำหรับโครงการที่มีเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นของแถมมาให้ ให้เราตรวจเช็คว่าสามารถใช้งานได้ตามปกติทุกชิ้น สามารถเปิดใช้งานพร้อมๆกันได้ โดยไม่มีเหตุการณ์ไฟตก หรือไฟรั่ว

  • สายโทรศัพท์

สายโทรศัพท์จะต้องมีสัญญาณ ถ้าวันที่เข้าไปตรวจสอบยังไม่ได้มีโทรศัพท์หรืออุปกรณ์ตรวจ ให้เราเช็คในวันที่เข้าอยู่ได้เลยค่ะ

Image 1/4
ใช้เครื่องตรวจไฟเช็คกำลังไฟฟ้า การต่อสายไฟ และเช็คว่ามีไฟฟ้ารั่วหรือไม่ (เครื่องเช็คไฟสามารถซื้อได้ตามร้านค้าออนไลน์หรือร้านวัสดุตกแต่งบ้าน ราคาประมาณ 200-300 บาท)

ใช้เครื่องตรวจไฟเช็คกำลังไฟฟ้า การต่อสายไฟ และเช็คว่ามีไฟฟ้ารั่วหรือไม่ (เครื่องเช็คไฟสามารถซื้อได้ตามร้านค้าออนไลน์หรือร้านวัสดุตกแต่งบ้าน ราคาประมาณ 200-300 บาท)

ตารางสรุปการตรวจเช็คระบบไฟฟ้า

* สามารถ Download ตาราง Check List รายการตรวจบ้านได้ที่ด้านท้ายบทความนะคะ

ระบบสุขาภิบาลต้องตรวจสอบอยู่ 3 จุด คือ ห้องน้ำ ห้องครัวและพื้นที่นอกบ้าน (บ่อพักน้ำ บ่อดักไขมัน และถังบำบัดน้ำเสีย) ให้เช็คทีละจุด ดังนี้ค่ะ

  • สุขภัณฑ์

เริ่มจากภายในห้องน้ำ ต้องตรวจดูว่าสุขภัณฑ์อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง มีไม่มีน้ำรั่วจากขอบๆ รอยต่อของตัวโถสุขภัณฑ์ วิธีการคือ เปิดน้ำในนองที่พื้นห้องน้ำ แล้วกดชักโครกลง ถ้ามีฟองอากาศขึ้นที่รอบๆโถแสดงว่ารอยต่อไม่สนิท อาจทำให้เกิดกลิ่นเหม็น หรือน้ำรั่วได้ เมื่อกดชักโครกของห้องนี้แล้วจะต้องไม่เกิดฟองอากาศภายในโถของห้องอื่นๆ

ทดสอบการไหลของสิ่งปฏิกูลโดยการใส่เศษขนมปังลงไป ข้อแนะนำเล็กๆ ถ้าสามารถฉีกขนมปังเป็นรูปทรงที่แตกต่างกันในแต่ละห้องเพื่อระบุว่าเป็นสิ่งปฏิกูลจากห้องน้ำห้องไหนจะทำให้การตรวจสอบมีประสิทธิภาพมากขึ้นค่ะ ขั้นตอนนี้จะต้องมี 1 คนลงไปเปิดถังบำบัดดูว่าขนมปังไหลลงมาได้สะดวกไหม เมื่อกดห้องอื่นๆมีขนมปังจากห้องเดิมลงมาด้วยหรือไม่ ถ้ามีแสดงว่าไม่สามารถชำระสิ่งปฏิกูลได้ในการกดครั้งเดียว อาจจะมีปัญหาจากการเดินท่อ ทำให้เสี่ยงที่จะอุดตันได้ในอนาคต

  • อ่างล้างหน้า / อ่างล้างจาน

อ่างล้างหน้า อ่างล้างจานควรเช็คด้านใต้ว่ามีการรั่วของน้ำไหม ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะพบจุดที่รั่วนะคะ ตรวจดูว่าก๊อกน้ำไหลแรงหรือไม่ และควรปิดสะดืออ่างให้สนิท แล้วเปิดน้ำให้ถึงช่องน้ำล้น เพื่อดูว่าระบายน้ำได้ดีหรือไม่ด้วยค่ะ

  • ท่อระบายน้ำ

ท่อระบายน้ำในห้องน้ำหรือระเบียงควรจะมีถ้วยดักกลิ่นมาให้ และน้ำต้องไหลออกได้สะดวกนะคะ วิธีการคือเทขังน้ำไว้ที่พื้น ให้อีก 1 คนลงไปดูที่บ่อพักน้ำด้านล่าง พอทำการปล่อยน้ำ คนที่อยู่ด้านบนดูว่าน้ำไหลออกได้ดีไหม ส่วนคนที่อยู่ข้างล่างให้ดูว่าน้ำไหลต่อเนื่องหรือมีอะไรอุดตันท่อหรือเปล่านั่นเองค่ะ

  • ท่อน้ำประปา

ท่อน้ำประปาจะต้องไม่รั่ว มีวิธีการสังเกตคือเมื่อปิดน้ำทั้งหมดแล้วมิเตอร์น้ำจะต้องไม่เดิน และปั๊มน้ำต้องไม่ทำงานค่ะ

Image 1/6
เปิดน้ำในอ่างเพื่อดูการไหลของน้ำ และขังน้ำไว้รอตรวจสอบการระบายน้ำอีกส่วนหนึ่ง

เปิดน้ำในอ่างเพื่อดูการไหลของน้ำ และขังน้ำไว้รอตรวจสอบการระบายน้ำอีกส่วนหนึ่ง

ตารางสรุปการตรวจเช็คระบบสุขาภิบาล

* สามารถ Download ตาราง Check List รายการตรวจบ้านได้ที่ด้านท้ายบทความนะคะ

สุดท้าย เราอยากแนะนำว่าขั้นตอนการตรวจบ้านมีหลายขั้นตอน จึงอยากให้ตรวจสอบทีละห้อง เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเดินไปเดินมาหลายครั้งนะคะ โดยห้องๆหนึ่งที่เราเข้าไปจะต้องตรวจดูให้ครบทั้ง พื้น ผนัง ฝ้าเพดาน ช่องเปิด ระบบไฟ และน้ำ (6 ส่วน) ส่วนการทดสอบช่องเปิดโดยการฉีดน้ำอาจจะทำทีหลังสุดของการทดสอบก็ได้ค่ะ

เมื่อทำการตรวจสอบเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะต้องสรุปเป็นเอกสารส่งให้เจ้าหน้าที่ของโครงการเพื่อทำการแก้ไข ควรพูดคุยเพื่อระบุวันนัดเข้าตรวจงานครั้งที่ 2 เพื่อดูความเรียบร้อยก่อนโอนกรรมสิทธิ์นะคะ

หวังว่าบทความนี้จะทำให้ท่านเจ้าของบ้านป้ายแดงสามารถใช้เป็น Guideline ในการตรวจบ้านด้วยตนเองได้ ถ้าใครเคยเจอปัญหาแปลกๆจากการตรวจบ้าน สามารถมา Comment แบ่งปันประสบการณ์กันได้ด้านล่างนี้เลยค่ะ

เครดิต : ขอขอบคุณภาพประกอบขั้นตอนการตรวจบางส่วนจาก JRP


สำหรับตารางตรวจสอบและตารางจดบันทึกการแก้ไข้ทางเราทำขึ้นมาเพื่อให้ผู้อ่านใช้เป็นแนวทางการตรวจบ้านด้วยตัวเอง , ตรวจบ้านก่อนรับโอนสามารถ Download ได้ที่ Link ด้านล่างนี้เลยค่ะ

Download ไฟล์ตาราง Check List รายการตรวจบ้านได้ที่นี่ >> ตาราง Check List

Download ไฟล์ตารางบันทึกรายการแก้ไขได้ที่นี่ >>  ตารางบันทึกการแก้ไข


ติดตามพวกเราได้ที่
Website : www.thinkofliving.com
Twitter : www.twitter.com/thinkofliving
YouTube : www.youtube.com/ThinkofLiving
Instagram : www.instagram.com/thinkofliving
Facebook : ThinkofLiving