เมื่อเริ่มย้ายเข้ามาอยู่อาศัยในบ้านหรือคอนโด ในช่วงแรกๆสิ่งของและอุปกรณ์ต่างๆ ตลอดจนวัสดุภายในบ้านยังเป็นของใหม่สามารถใช้งานได้ดีเป็นปกติ แต่เมื่ออยู่อาศัยไปสักพักคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเจอความชำรุดเสียหายไม่ว่าจากการใช้งานหรือเสื่อมสภาพจากระยะเวลาที่ใช้งาน งานซ่อมแซมจึงเข้ามามีบทบาทให้เราต้องสวมบทช่างดูแลเรื่องต่างๆภายในบ้าน ในกรณีที่สามารถจัดการเองได้ เป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ ที่เจ้าของบ้านสามารถซ่อมแซมเองได้สิ่งที่ขาดไปไม่ได้ก็คืออุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ ที่จะมาช่วยทุ่นแรงในการซ่อมแซมนั้นเอง
ทำไมเราต้องมีเครื่องมือช่างติดบ้าน ?
หากเราพบความเสียหายภายในบ้าน บางอย่างเราสามารถจัดการซ่อมแซมด้วยตนเองได้ ถ้ามีความรู้เบื้องต้น อาจไม่จำเป็นต้องเรียกช่างมาซ่อมให้เสมอไป อีกทั้งยังประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย สามารถซ่อมแซมได้ทันท่วงที หรือให้ยังพอใช้งานไปก่อนได้ ก่อนที่จะให้ช่างเข้ามาจัดการอีกครั้ง การซ่อมแซมที่ถูกวิธีจึงจำเป็นต้องเลือกใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ถูกประเภทในการซ่อมแซมด้วย เพราะหากเลือกอุปกรณ์ผิดประเภทไม่ตอบโจทย์ต่อการใช้งาน ก็อาจเสี่ยงต่ออันตรายที่จะเกิดขึ้นได้ ทั้งกับตัวผู้ซ่อมเองไปจนถึงสิ่งของและวัสดุที่จะซ่อมแซมอาจเกิดการเสียหายมากขึ้นด้วย ดังนั้นการมีเครื่องมือช่างพื้นฐานที่จำเป็น หรือต้องใช้บ่อยๆเป็นประจำติดบ้านไว้สักหน่อย น่าจะเป็นเรื่องที่ดีกว่าแน่นอน
ประเภทของเครื่องมือช่างพื้นฐาน
เครื่องมือช่างนั้นมีหลากหลายประเภทขึ้นอยู่กับการนำไปใช้งาน บางอย่างเหมาะกับใช้ในงานก่อสร้าง งานประกอบเฟอร์นิเจอร์ หรืองานที่ต้องใช้ความชำนาญในการใช้งานเป็นพิเศษ แต่สำหรับเครื่องมือช่างที่ควรมีติดบ้านควรเป็นอุปกรณ์พื้นฐานที่สามารถใช้งานได้ง่าย มีขนาดที่เหมาะมือ เหมาะสมกับการใช้งานภายในบ้าน ช่วยซ่อมแซมบ้านในเรื่องเล็กๆน้อยๆ ได้แก่
ค้อน (Hammers)
เครื่องมือที่ออกแบบมาสำหรับตอกหรือทุบโดยเฉพาะ เช่น การตอกตะปู การทุบวัตถุต่างๆ ค้อนในท้องตลาดมีขนาดและรูปร่างที่หลากหลาย แต่หลักๆแล้วจะมีโครงสร้างพื้นฐานเหมือนกันคือ ด้ามจับและหัวค้อน หัวค้อนจะเป็นส่วนที่หนักที่สุดเพื่อใช้ในตอกหรือทุบ ค้อนจึงมีหลากหลายแบบ ขึ้นอยู่กับชิ้นงานที่เราต้องการทุบหรือตอกลงไป ด้ามค้อนควรมีความยาวพอเหมาะสามารถจับได้กระชับมือ หุ้มด้วยยาง ป้องกันไม่ให้ค้อนหลุดมือขณะใช้งานส่วนประเภทของค้อนก็มีให้เลือกหลากหลายเช่นกัน ขึ้นอยู่กับการใช้งาน แต่ถ้าให้เลือกต้องมีติดบ้านแล้วควรเลือกค้อนที่สามารถใช้งานได้ทั่วไป เหมาะกับงานซ่อมแซมต่างๆภายในบ้าน เช่น
- ค้อนหงอน (Hammer tool) เป็นค้อนที่ใช้สำหรับตอก ส่วนของปลายค้อนจะมีลักษณะเป็นหงอนสามารถใช้ถอนตะปู ตอกสิ่ว ซึ่งก็มีหลายขนาด น้ำหนัก วัสดุด้ามไม้ ด้ามไฟเบอร์ให้เลือก โดยทั่วไปราคาเริ่มต้นจะอยู่ที่ประมาณ 150 – 450 บาท
- ค้อนหัวกลม (Ball Peen Hammer) เป็นค้อนที่มีส่วนหน้าตัดมีลักษณะกลม ผิวนูนโค้งเล็กน้อยใช้งานได้ทั้งสองหน้า นิยมใช้ในงานเคาะขึ้นรูป ย้ำหมุดทั่วไป ราคาเริ่มต้นจะอยู่ที่ประมาณ 150 – 350 บาท
- ค้อนเดินสายไฟ (Electrician Hammer) เหมาะกับงานไฟฟ้า เพราะหัวค้อนทำด้วยเหล็กมีหน้าเรียบตรง ส่วนอีกด้านหนึ่งแบนแหลมใช้ตอกในที่แคบได้ นิยมใช้ในงานเดินสายไฟและสามารถใช้ตอกตะปูของเฟอร์นิเจอร์ที่มีขนาดเล็กได้ ราคาเริ่มต้นจะอยู่ที่ประมาณ 100 – 300 บาท
ไขควง (Screwdrivers)
เป็นเครื่องมือพื้นฐานที่ต้องใช้บ่อยภายในบ้านไม่ใช่แค่ไว้สำหรับงานซ่อมแซม อาจไว้ใช้เพื่อเปิด-ปิดอุปกรณ์ต่างๆที่ฝามีสกรูยึดไว้ ไขควงที่ใช้งานทั่วไปจะมีทั้งแบบแฉก และแบบแบน ควรเลือกไว้หลายขนาด เล็ก-กลาง-ใหญ่ เพื่อให้สามารถรองรับได้ทุกการใช้งาน หรือหากจำเป็นต้องใช้ควบคู่กับงานไฟฟ้า ไขควงวัดไฟ จะสามารถวัดกระแสไฟฟ้าได้ ว่าปลั๊กไฟ สายไฟ หรือบริเวณที่สัมผัสกับไขควงมีกระแสไฟฟ้าอยู่หรือไม่ โดยที่ด้ามจับต้องเป็นฉนวนหุ้มทั้งด้ามจับเพื่อป้องกันไฟฟ้ารั่วมาช็อตได้ ก็จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการใช้งานมากขึ้น ส่วนรูปแบบการใช้งานจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับประเภทของสกรูที่เราต้องหมุนเข้า-ออก ว่าเป็นแบบไหน ดังนั้นเราควรเลือกไขควงติดบ้านหลักๆไว้ 2 ประเภทได้แก่
- ไขควงปากแบน (Standard tip Screwdriver) เหมาะสำหรับใช้กับสกรูที่มีหัวเป็นร่อง การเลือกใช้จะต้องเลือกขนาดปากไขควงให้มีขนาดพอดีกับร่องสกรู ต้องไม่เล็กหรือใหญ่ เกินไปเพราะจะทำให้ปากไขขวงหลุดออกจากร่องได้ง่าย ไม่สามารถหมุนสกรูได้ และอาจเป็นอันตรายต่อไขควง หรือร่องสกรู
- ไขควงปากแฉก (Phillips type Screwdriver) เหมาะสำหรับใช้กับหัวสกรูที่เป็นร่องจีบสี่เหลี่ยม หรือร่องกากบาท การใช้เหมือนกับไขควงปากแบน จะต้องเลือกขนาดของปากไขควงให้พอดีกับร่องของสกรูเพื่อให้หมุนได้ราบรื่น
ราคาของไขควงจะแตกต่างกันตามขนาดของหัวไขควงและความยาว ราคาเริ่มต้นประมาณ 50-230 บาท หากเป็นไขควงที่สามารถวัดกระแสไฟฟ้าได้ ราคาเริ่มต้นประมาณ 40-250 บาท หรือหากต้องการซื้อเป็นชุดได้ความครบในทุกขนาด มีให้เลือกตั้งแต่ชุดแบบจับคู่ 2 ชิ้น ราคาเริ่มต้นประมาณ 80-250 บาท ไปจนถึงแบบครบชุดมีทุกขนาด 6-18 ชิ้น ราคาเริ่มต้นจะอยู่ที่ประมาณ 200-1,500 บาท
คีม (Pliers)
เป็นอีกหนึ่งในเครื่องมือช่างพื้นฐานที่ไว้ใช้จับสิ่งของหรือวัสดุต่างๆหลักการใช้งานคือการ จับ ดัด บีบ ตัด แทนการจับด้วยมือ ช่วยให้การจับที่มั่นคงกว่า และจะสามารถใช้กับวัตถุขนาดเล็กได้ดี เช่น ลวด น็อต สกรู หรือหนีบเพื่อยึดจับวัสดุให้อยู่กับที่ ที่นิยมใช้และควรมีติดบ้านไว้ 3 ประเภทคือ
- คีมปากจระเข้ ลักษณะเด่นของคีมประเภทนี้คือ ที่ปากคีมมีคมไว้สำหรับตัดด้านข้างได้ และสามารถใช้จับวัสดุได้ไปพร้อมๆกัน
- คีมปากจิ้งจก ลักษณะเด่นของคีมคือปากคีมแหลมยื่นออกมา มีขนาดเล็กจึงเหมาะกับการจับวัสดุขนาดเล็ก การใช้งานในที่แคบ เหมาะสำหรับจับโลหะแบนหรือสายไฟ
- คีมตัด หรือคีมปากเฉียงลักษณะของปากคีมมีลักษณะคล้ายกับปากนกแก้ว ส่วนปลายเป็นคมตัด เน้นใช้งานตัดโดยเฉพาะ เช่น เส้นลวด แต่จะไม่เหมาะกับการใช้เพื่อจับหรือยึดวัสดุ
ราคาของคีมจะแตกต่างกันตามขนาด และประเภทของคีม โดยคีมปากจระเข้ และคีมปากจิ้งจก ราคาเริ่มต้นประมาณ 100-500 บาท ส่วนคีมตัดหรือคีมปากเฉียง จะมีราคาเริ่มต้นประมาณ 80-600 บาท แต่ก็มีขายแบบชุดที่มีคีมทั้ง 3 แบบ จะมีราคาเริ่มต้นประมาณ 250-800 บาท
ประแจ (Wrenches)
เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการหมุน ช่วยทุ่นแรงในการหมุนให้ง่ายขึ้นให้แรงบิดมากกว่าคีม โดยการใช้งานจะใช้คู่กับโบลต์หรือน็อตที่มีลักษณะเป็นเหลี่ยม ประแจจะมีหลากหลายขนาดให้เลือกใช้ ที่แนะนำให้มีติดบ้านไว้คือ
- ประแจเลื่อน การใช้งานจะสามารถปรับขนาดความกว้าง มีตัวเลื่อนปรับขนาดหมุนได้ง่ายสามารถใช้ขันน็อตได้เกือบทุกขนาด
- ประแจปากตาย/ประแจแหวน จะมีปลายมีลักษณะเป็นรูปตัวยู U อีกฝั่งเป็นเหลี่ยมวงแหวน มีขนาดที่ไม่เท่ากัน ซึ่งการเลือกใช้ต้องเลือกให้ปากประแจมีขนาดพอดีกับน๊อตที่จะขัน ปกติประแจปากตายและประแจแหวน มักทำออกมาเป็นชุดที่มีหลากหลายขนาดให้เลือกใช้งาน ประแจชนิดนี้เหมาะกับงานในที่แคบมาก
สำหรับการเลือกซื้อประแจ แนะนำให้เลือกซื้อเป็นชุดประแจที่ด้านหนึ่งเป็นประแจปากตายและอีกด้านเป็นประแจแหวน หรือเป็นชุดประแจปากตายทั้ง 2 ด้าน เพราะจะช่วยให้สามารถใช้งานได้ครอบคลุมกับน๊อตได้หลากหลายขนาดในการใช้งาน โดยหากซื้อเป็นชุดแบบ 8-14 ชิ้น ราคาเริ่มต้นประมาณ 400-1,200 บาท ส่วนประแจเลื่อนจะมีขนาดตั้งแต่ 6-8-10-12 นิ้ว จะมีราคาเริ่มต้นประมาณ 100-700 บาท
เครื่องมือตัด
ประเภทกลุ่มเครื่องมือที่ใช้ในงานตัดต่างๆ ซึ่งแต่ละชนิดก็จะมีความสามารถในการตัดวัสดุที่แตกต่างกัน ที่ควรมีเป็นเครื่องมือพื้นฐานติดบ้านไว้คือ คัตเตอร์ และกรรไกร สามารถปรับใช้งานเป็นอุปกรณ์เครื่องเขียนได้ด้วย โดยการใช้งานกรรไกรจะมีความปลอดภัยกว่าการใช้คัตเตอร์ ส่วนเลื่อยมือจะเป็นเครื่องมือตัวเลือกเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่เน้นงานซ่อมแซมที่ต้องมีการเลื่อยและตัดวัสดุต่างๆที่มีขนาดใหญ่ที่คัตเตอร์และกรรไกรไม่สามารถจัดการได้ เช่น ไม้ ท่อ PVC ท่ออลูมิเนียม เป็นต้น
- กรรไกร (Scissors) ลักษณะของกรรไกรถูกออกแบบมาให้มีแนวการตัดสองฝั่งเข้าหากันจึงเหมาะกับวัสดุที่มีความหนาไม่มากไปกว่าความกว้างของกรรไกรเมื่อกางออก ที่จริงแล้วกรรไกรมีให้เลือกใช้หลากหลายแบบ เช่น กรรไกรขนาดทั่วไปใบมีดบาง เหมาะสำหรับตัดวัสดุบางๆ เช่น กระดาษ พลาสติก / กรรไกรใบมีดยาว ตัดวัสดุขนาดใหญ่และหนาเช่น ผ้า กระดาษแผ่นใหญ่ แผ่นโลหะทั่วไป / กรรไกรที่มีความหนา จะใช้ตัดวัสดุแข็ง เช่น สายไฟ ลวดโลหะ แผ่นสังกะสีแบบบาง กิ่งไม้ เป็นต้น ราคาเริ่มต้นประมาณ 45-250 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดของกรรไกร
- คัตเตอร์ (Cutter) ใช้สำหรับ กรีด ตัด เซาะ ปอก ซึ่งก็มีให้เลือกหลากหลายขนาดโดยจะสัมพันธ์กับใบมีด ยิ่งใบมีดที่มีขนาดใหญ่ตัวคัตเตอร์ก็จะมีขนาดใหญ่ตามไปด้วย จุดเด่นคือสามารถเปลี่ยนใบมีดอันใหม่ได้ง่ายเมื่อใบมีดทื่อหรือไม่คม แต่เป็นอุปกรณ์ที่ต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้งานพอสมควร ควรปรับใบมีดให้พอดีกับการใช้งานไม่งั้นจะเสี่ยงทำให้ใบมีดหักได้ง่าย และควรเก็บใบมีดทุกครั้งเพื่อความปลอดภัย ราคาเริ่มต้นประมาณ 30-400 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดของคัตเตอร์เช่นกัน รุ่นที่แพงขึ้นส่วนใหญ่จะมีฟังก์ชันตัวล็อคใบมีดที่แข็งแรง และออกแบบด้ามจับให้สามารถใช้งานได้ปลอดภัยมากขึ้น
สว่าน (Drill)
เป็นเครื่องมือช่างที่เข้ามาช่วยทุ่นแรงในงานเจาะต่างๆ แทนการใช้ค่อนและช่วยให้ทำงานได้รวดเร็วขึ้น การทำงานของสว่านคือการเจาะให้เป็นรู เช่น เจาะผนัง เจาะโลหะ เจาะไม้ เจาะพลาสติก ปัจจุบันสว่านถูกออกแบบให้สามารถใช้งานได้ง่ายแต่ก่อนต้องเสียบปลั๊กไฟเพื่อใช้งาน แต่ตอนนี้สามารถชาร์ตไฟและพกพาไปทำงานในพื้นที่ที่ไม่มีปลั๊กไฟอยู่ในบริเวณนั้นการเลือกซื้ออาจเริ่มจากรุ่นที่มีโหมดการเจาะทั่วไป สำหรับงานเจาะผนัง เจาะเฟอร์นิเจอร์ ที่ไม่ต้องใช้แรงกระแทกมาก สิ่งที่สำคัญที่ขาดไม่ได้คือ ดอกสว่าน ต้องเลือกใช้ให้เหมาะตามลักษณะของพื้นผิวและขนาดของรูที่ต้องการเจาะ ปกติจะมีมาคู่กับตัวสว่านให้เลือกใช้งาน เช่น หัวแบน หัวแฉก หัวปลายแหลม การใช้งานก็มีตั้งแต่ ดอกสว่านสำหรับเจาะปูน ดอกสว่านปลายแหลมเจาะไม้ ดอกสว่านเคลือบไทเทเนียมสำหรับเจาะเหล็กหรือพลาสติก
สว่านสามารถหาซื้อได้จากร้านวัสดุก่อสร้างหรือห้างขายเครื่องมือและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง โดยสว่านไฟฟ้าจะมีราคาเริ่มต้นประมาณ 800 – 5,000 บาท ขึ้นอยู่กับยี่ห้อและฟังก์ชันที่เพิ่มเข้ามา ส่วนสว่านชาร์ตไฟแบบไร้สาย ราคาเริ่มต้นประมาณ 1,200 – 8,000 บาท
ตลับเมตร (Measurement Tape)
เป็นอีกประเภทเครื่องมือสำหรับการวัดระยะต่างๆ เพื่อให้สามารถรู้ระยะที่แม่นยำ ของพื้นที่หรือวัสดุ เช่น วัดระยะเพื่อวางเฟอร์นิเจอร์ ระยะสายไฟ ระยะท่อ ระยะที่ต้องติดตั้งวัสดุต่างๆ เป็นต้น โดยทั่วไปตลับเมตรจะมีหลากหลายขนาดขึ้นอยู่กับความยาวที่ต้องการใช้งาน ตลับเมตรที่มีขายทั่วไปและแนะนำให้มีติดบ้านไว้จะมีความยาว 2-5 เมตร หน้ากว้าง 1 นิ้ว การเลือกตลับเมตร เมื่อดึงสายวัดออกจากตัวตลับจะต้องไม่บิดเกลียวเป็นเส้นตรง สามารถม้วนเก็บสายเข้า-ออกได้ไม่ติดขัด และควรมีขอเกี่ยวที่ปลายสายวัด ตลับเมตรรุ่นใหม่ๆจะมีปุ่มสำหรับล็อคสาย เพื่อป้องกันสายม้วนกลับ ช่วยให้เราสามารถวัดระยะและคงความยาวไว้ได้ขณะใช้งาน โดยราคาจะขึ้นอยู่กับความยาว ถ้ารุ่นที่มีความยาว 2-5 เมตร ราคาประมาณ 100-200 บาท ส่วนรุ่นที่มีความยาวที่ 8 เมตร ราคาประมาณ 300-850 บาท
เทปพันสาย(Tape)
เป็นอีกหนึ่งวัสดุที่คนส่วนใหญ่คิดว่าไม่จำเป็นต้องมีติดบ้าน แต่จริงๆแล้วเทปพันสายจะเป็นเครื่องมือช่วยเสริมประสิทธิภาพและป้องกันวัสดุต่างๆ การใช้งานก็ตามชื่อเลย คือไว้พันสาย แต่ก็จะแยกตามประเภทของงานและวัสดุแต่ละประเภท เป็นอีกเครื่องมือช่างที่ควรมีติดบ้านไว้ ที่แนะนำให้มีไว้คือเทป 2 ชนิดได้แก่
- เทปพันสายไฟ ทำจากวัสดุที่เป็นพลาสติกที่ทนต่อการความร้อน ยืดหยุ่นได้ดี เป็นฉนวนไฟฟ้า กันน้ำและความชื้น สามารถใช้ซ่อมแซมสายไฟฟ้าที่ชำรุด โดยใช้พันรอยต่อของสายไฟให้แนบสนิทไปกับสายไฟ เพื่อป้องกันไฟรั่วหรือไฟดูด ช่วยป้องกันสายไฟฟ้าลัดวงจรได้ โดยเทปพันสายไฟจะมีให้เลือกที่ความยาว 10 20 30 เมตร จะมีราคาม้วนละประมาณ 15-200 บาท
- เทปพันเกลียว เน้นใช้งานในการซ่อมแซมหรือติดตั้งงานระบบประปา หรือในกรณีที่มีท่อน้ำ ท่อประปารั่วซึม จุดเชื่อมต่อท่อน้ำ ที่เป็นข้อต่อแบบเกลียวในอุปกรณ์ที่มีหัวต่อเป็นเกลียวโลหะ เช่น ก๊อกน้ำ สต๊อปวาล์ว เมื่อพันเทปกับอุปกรณ์แล้ว เทปต้องแนบติดสนิทเข้ากับร่องเกลียว และติดกันแน่นสนิทช่วยทำให้น้ำไม่รั่วซีมออกมาจากรอยต่อต่างๆ โดยเทปพันเกลียวที่ความยาว 10-12 เมตร จะมีราคาม้วนละประมาณ 30-50 บาท
ไฟฉาย (Torch)
เครื่องมือสำคัญที่แนะนำให้มีติดบ้านไว้เพราะสามารถใช้งานได้ในหลายสถานการณ์ หากเกิดไฟฟ้าดับไฟฉายจะเป็นอุปกรณ์ให้แสงสว่างชั่วคราวให้ผู้พักอาศัย หรือต้องซ่อมแซมในพื้นที่ที่แสงสว่างไม่เพียงพอ แนะนำให้เลือกที่มีขนาดที่เหมาะมือสามารถถือได้ด้วยมือเดียวไม่หนักจนเกินไป ปัจจุบันไฟฉายมีให้เลือกทั้งแบบใส่ถ่านหรือแบบชาร์ตไฟ หรือบางรุ่นก็สามารถปรับแสงไฟได้หลายระดับ สิ่งสำคัญอีกอย่างในการเลือกคือแสงสว่างของไฟที่ฉายออกมา ควรเลือกชนิดที่ใช้หลอดไฟ LED เพราะจะให้แสงสว่างกว่าหลอดไส้หลายเท่าตัวและ อายุของหลอดไฟฉายสามารถใช้งานได้นาน ความสว่างที่เหมาะสมของไฟฉายจะอยู่ที่ประมาณ 150-200 ลูเมน เป็นความสว่างที่ไม่ทำให้แสบตาจนเกินไป หรือสามารถส่องวัตถุต่างๆได้ชัดเจน
ไฟฉายสามารถหาซื้อได้ทั่วไปตามร้านค้าและร้านวัสดุก่อสร้าง ระดับราคาที่แตกต่างกันจะอยู่ที่จำนวนวัตต์ โดยถ้าจำนวนวัตต์ต่ำกว่า 2 วัตต์ ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 100-300 บาท ถ้าจำนวนวัตต์ที่ 2-6 วัตต์ ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 150-500 บาท และจำนวนวัตต์มากกว่า 6 วัตต์ ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 350-1,500 บาท โดยขึ้นอยู่กับรูปร่างหน้าตา ฟังก์ชันต่างๆของตัวไฟฉายที่เพิ่มเข้ามาด้วย
บันได
เป็นเครื่องมือที่เข้ามาช่วยในการซ่อมแซม หรือจัดการงานในพื้นที่สูงให้ง่ายขึ้น เช่น การเปลี่ยนหลอดไฟ ถอดผ้าม่าน ติดตั้งอุปกรณ์ที่ผนังหรือฝ้าเพดาน เป็นต้น การใช้งานบันไดจะปลอดภัยกว่าการปีนด้วยเก้าอี้ทั่วไปที่อาจทำให้เกิดอันตรายได้ เพราะบันไดถูกออกแบบมาให้มีความมั่นคงแข็งแรงกว่าในการรับน้ำหนัก สามารถปีนตามขั้นเพื่อปรับระดับความสูงที่ต้องการได้ เราอาจเลือกประเภทและความสูงของบันไดจากความสูงของพื้นที่ใช้งาน หากอยู่คอนโดที่มีความสูงจากพื้นถึงฝ้าไม่มาก อาจเลือกบันไดขนาดเล็ก ส่วนถ้าอยู่ในบ้านพักอาศัยที่มีความสูงมากกว่าอาจต้องเลือกบันไดที่สูงหรือมีช่วงพาดที่ยาวขึ้น
บันไดที่แนะนำคือบันไดอลูมิเนียมเนื่องจากมีน้ำหนักเบา ไม่ขึ้นสนิม และมีความแข็งแรงทนทาน ส่วนลักษณะของบันไดแบบพับได้จะช่วยประหยัดพื้นที่ในการเก็บ และเมื่อกางออกจะสามารถรับน้ำหนักได้ดีเพราะมีขารองรับทั้ง 4 ขา ส่วนจำนวนขั้นบันไดก็มีให้เลือกตั้งแต่แบบที่ไม่สูงมาก 3 ขั้นที่ความสูงประมาณ 1 เมตร ราคาเริ่มต้นประมาณ 500 บาท ไปจนถึง 7 ขั้นที่ความสูงประมาณ 2 เมตร ราคาเริ่มต้นประมาณ 1,000 บาท
เมื่อรวบรวมเครื่องมือช่างพื้นฐานที่ควรมีติดบ้าน พบว่าจะมีอยู่ประมาณ 10 รายการ ที่เราแนะนำให้เตรียมไว้ เผื่อไว้สำหรับการซ่อมแซม ต่อเติม งานภายในบ้านได้สะดวก จากการสำรวจราคาจากร้านวัสดุก่อสร้างและห้างขายเครื่องมือและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง พบว่าเครื่องมือแต่ละประเภทมีราคาค่อนข้างหลากหลายให้เลือกตั้งแต่ถูกไปจนถึงราคาสูง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับยี่ห้อ ขนาด และฟังก์ชันการใช้งานที่เพิ่มเข้า สำหรับผู้ที่เริ่มต้นจะซื้อเครื่องมือต่างๆ งบเริ่มต้นที่ประมาณ 2,000 บาทต้นๆ ก็สามารถหาซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ได้ครบเช่นกัน
เครื่องมือช่างเก็บอย่างไร ?
การเก็บเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เพราะเครื่องมือบางประเภทหากไม่ถูกจัดเก็บให้ดี วางทิ้งไว้ หรือเผลอเหยียบอาจเกิดอันตรายได้ เพราะส่วนใหญ่เป็นโลหะ บางอย่างก็มีปลายที่คมแหลม หรือมีส่วนประกอบของใบมีด หรือส่วนที่มีคมอยู่ การเลือกเก็บอาจะเลือกพิจารณาจากการใช้งานและสถานที่ในการเก็บ เช่น
- แผงเครื่องมือ หรือแผงสำหรับแขวนอุปกรณ์จะเหมาะกับที่อยู่อาศัยที่มีสถานที่เช่น ห้องเก็บของ โรงจอดรถ มีพื้นที่ผนังให้ยึดแขวนแผงเครื่องมือได้ มีข้อดีในเรื่องความสะดวกในการใช้งานมองเห็นเครื่องมือแบ่งประเภทได้ชัดเจน สามารถหยิบมาใช้งานได้ง่าย แต่ก็มีข้อควรระวังคือ ควรติดตั้งแผงเครื่องมือให้มีระยะที่ปลอดภัย พ้นจากมือเด็ก หรือไม่อยู่สูงจนหยิบจับเครื่องมือได้ยาก และควรคำนึงถึงสถานที่ไม่ควรไว้ในบริเวณที่มีความชื้น เพราะเครื่องมือส่วนใหญ่เป็นโลหะอาจเกิดสนิมหรือเสื่อมสภาพการใช้งานได้ง่าย
- กล่องเครื่องมือ ถูกออกแบบมาให้สำหรับเก็บเครื่องมือและอุปกรณ์โดยเฉพาะ มีหลายรูปแบบ หลายขนาดให้เลือกใช้ตามจำนวนของเครื่องมือที่เราต้องการเก็บ ด้านในมีการแบ่งชั้นและช่องต่างๆให้ใส่ตามขนาดของเครื่องมือแต่ละประเภท มีข้อดีคือช่วยประหยัดพื้นที่เพราะสามารถรวมเก็บไว้ในกล่องเดียว สามารถยกไปเก็บไว้ในที่ต่างๆได้ง่าย ยกไปในพื้นที่ที่เราต้องการซ่อมแซมได้ แต่ก็ต้องระวังไม่ควรวางกล่องเครื่องมือไว้ในบริเวณที่มีความชื้นและควรวางให้พ้นจากเด็กๆเพื่อความปลอดภัย
สำหรับใครที่กำลังมองเตรียมจะซื้อเครื่องมือช่างติดบ้านไว้ใช้งาน หวังว่าบทความนี้จะเป็นข้อมูลให้เลือกซื้อเครื่องมือได้ตรงตามความต้องการและสามารถนำไปใช้งานได้อย่างเต็มที่นะคะ หากมีข้อมูลเกี่ยวกับการปรับปรุงที่อยู่อาศัยที่น่าสนใจอีกทาง Think of living จะเอามาอัพเดตกันให้ชมกันอีกค่ะ
Source of Information : บุญถาวร / โฮมโปร / ไทยวัสดุ