หลายท่านอ่านแล้วอาจจะสงสัยว่า เอ๊ะ มันเป็นยังไงใช่มั้ยครับ เพราะว่าปกติเครื่องดูดควันที่เราเห็นส่วนมากมักจะติดอยู่ด้านบนของเตาประกอบอาหาร โดยอาจจะยึดด้านข้างเข้ากับผนังหรือยึดด้านบนเข้ากับเพดานหรือตู้แขวนติดผนัง วันนี้ผมจะแนะนำให้รู้จักเครื่องดูดควันรูปแบบใหม่ที่ไม่ติดตั้งด้านบนของเตาอีกต่อไปครับ แต่ใช้วิธีฝังลงไปใต้โต๊ะครัวแทน (คอลัมน์เจาะลึกเครื่องครัว)
เครื่องดูดควันประเภทนี้ ภาษาอังกฤษจะมีเรียกกันหลักๆ 2 ชื่อ ได้แก่ Table Ventilation/Range Hood หรือ Downdraft Ventilation/Range Hood แต่ในที่นี้ผมขอเรียกมันว่าเครื่องดูดควันแบบฝังละกันนะครับ เพราะว่าในการติดตั้งเราจะฝังตัวเครื่องเข้าไปในโต๊ะครัวของเรา คล้ายๆ กับเตาฝังที่เราจะต้องเจาะช่องสำหรับมันครับ แต่ว่าสำหรับเครื่องดูดควันจะต้องเผื่อบริเวณใต้โต๊ะมากกว่าเตาฝังเพื่อเป็นช่องสำหรับพัดลมระบายอากาศและช่องระบายอากาศครับ
เนื่องจากปากทางอากาศเข้าอยู่ด้านบนและพัดลมอยู่ด้านล่าง ทำให้เครื่องดูดควันชนิดนี้ดูดควันจากปากภาชนะลงมากรองน้ำมันและระบายออกทางด้านล่าง (ภายในโต๊ะครัว) ทำให้มีชื่อว่า Downdraft ครับ ส่วนในการติดตั้งสามารถเลือกได้ว่าจะใช้แบบแบบเจาะผนังระบายอากาศทิ้ง (Duct) หรือแบบกรองอากาศหมุนเวียน (Recirculation) ครับ ทั้งนี้ขึ้นกับฟังก์ชั่นของแต่ละรุ่นว่าสามารถต่อท่อดูดอากาศทิ้งได้หรือไม่ครับ
วันนี้ผมจะนำมาแนะนำให้รู้จักกันทั้งหมด 3 รูปแบบของเครื่องดูดควันแบบฝังแบ่งตามลักษณะภายนอกนะครับ โดยทั้ง 3 รูปแบบจะมีหลักการทำงานที่ใกล้เคียงกันดังที่กล่าวไปแล้วทั้งหมดครับ
1. รูปแบบแรกของเครื่องดูดควันแบบฝังจะเป็นชนิด Built-in ฝังไปกับด้านข้างของเตาฝังครับ เครื่องดูดควันแบบฝังรูปแบบนี้จุดเด่นจะเน้นความราบเรียบสวยงามครับ ถ้าเปิดใช้แล้วจะเห็นควันลอยลงสู่ด้านล่างอย่างน่าอัศจรรย์ครับ และในขณะที่ไม่ได้ใช้งานหน้าปัดของช่องลมเข้าจะปิดทั้งหมดเป็นพื้นเรียบสำหรับเตรียมอาหารได้ด้วยครับ (Recessed) แต่ว่ารูปแบบนี้จะยังไม่เห็นผู้ผลิตมากนัก ภาพด้านบนเป็นภาพในชุดของเตาฝัง Built-In ชนิดที่เป็น Modular ของทาง Gaggeneu ครับ หรือบางรุ่นก็จะมาพร้อมกับเตาฝังเลยก็มีครับ
2. รูปแบบที่สองของเครื่องดูดควันแบบฝังจะเป็นชนิดที่ติดตั้งแผงดูดควันอยู่ด้านหลังของเตาฝังครับ จุดเด่นของชนิดนี้ก็คือสามารถที่จะดูดควันได้จากปากภาชนะโดยตรงเลย ทำให้ประสิทธิภาพสูงกว่ารูปแบบแรก แล้วก็มีส่วนที่เป็นไฟ LED สำหรับส่องสว่างเหมือนเครื่องดูดควันทั่วไปเพิ่มมาครับ แต่ก็จะมีข้อเสียคือจะกินเนื้อที่บริเวณที่เป็นแผงดูดควันตลอดเวลาครับ
3. รูปแบบสุดท้ายของเครื่องดูดควันแบบฝังจะคล้ายกับรูปแบบที่สองข้างต้นครับ แต่ว่าแผงดูดควันด้านหลังเตาจะสามารถที่จะยืดหดขึ้นลงได้ ทำให้สามารถปรับระดับได้ตามความสูงของภาชนะช่วยให้ดูดได้มีประสิทธิภาพกว่ารูปแบบที่สอง นอกจากนั้นหากไม่ใช้ยังสามารถที่จะหดเก็บลงไปในโต๊ะครัวกลายเป็นพื้นผิวเรียบสำหรับทำอย่างอื่นได้อีกด้วยครับ (Recessed)
ข้อดีในการเลือกใช้เครื่องดูดควันแบบฝัง
1. เหมาะสำหรับครัวที่มีเกาะกลาง (Island) หรือมีเพดานสูงมาก เนื่องจากไม่จำเป็นต้องยึดเครื่องดูดควันลงมาจากเพดานซึ่งทานน้ำหนักได้น้อยกว่าการยึดกับผนัง
2. ในกรณีที่ไม่สามารถยึดเครื่องดูดควันเข้ากับผนัง เพดาน หรือตู้แขวนผนังได้ เครื่องดูดควันแบบฝังเป็นทางเลือกเดียวสำหรับผู้ที่ต้องการเครื่องดูดควัน
3. มีขนาดเล็ก ประหยัดพื้นที่ ดูแล้วโปร่งโล่งกว่าเครื่องดูดควันทั่วไป สามารถกลายเป็นพื้นผิวเรียบได้ เพิ่มพื้นที่ใช้สอยในขณะที่ไม่ได้ใช้งาน
4. สำหรับคนที่เบื่อเครื่องดูดควันทั่วไป อยากเปลี่ยนเป็นอะไรใหม่ๆ ที่เก๋ไก๋ไม่เหมือนใคร
ข้อเสียในการเลือกใช้เครื่องดูดควันแบบฝัง
1. อัตราการดูดอากาศออกสำหรับเครื่องดูดควันแบบฝังในท้องตลาดจะอยู่ที่ 750 m^3/hr ซึ่งเบากว่าเครื่องดูดควันทั่วไป
2. เนื่องจากเป็นการดูดควันจากด้านข้าง ประสิทธิภาพจะสูงก็ต่อเมื่อประกอบอาหารใกล้ๆ กับเครื่องดูดควันแบบฝังเท่านั้น หากเตาที่ใช้อยู่ไกล หรือภาชนะใหญ่ ก็อาจทำให้ส่วนที่อยู่ไกลดูดควันและไอออกไปได้ไม่หมด
3. การทำความสะอาดถาดรองน้ำมันทำได้ยากกว่าเครื่องดูดควันทั่วไป เนื่องจากตัวถาดรองน้ำมันจะอยู่ภายในโต๊ะครัว ต้องทำการถอดฝาเข้าไปถอดมาทำความสะอาด
เพื่อนๆ ชาว ThinkOfLiving.com ก็รู้จักกับเครื่องดูดควันแบบฝังกันแล้วนะครับ เป็นยังไงบ้างครับ สวยงามทันสมัยไม่แพ้เครื่องดูดควันสวยๆ เลย มีใครอยากได้ไปประดับบ้านกันมั้ยครับ แต่ว่าในเมืองไทยยังไม่ค่อยมีให้เห็นนะครับ คงต้องรอกันอีกซักพักหนึ่งถึงจะเริ่มมากันมากขึ้นครับ ขอบคุณที่ติดตามนะครับ แล้วพบกันใหม่โอกาสหน้าครับ สวัสดีครับ
นาย Starfish
ผู้บริหาร บริษัท ลัคกี้เฟลม จำกัด
ขอบคุณเนื้อหาและภาพประกอบจาก
http://www.appliancist.com/
http://www.bybjorkheim.com/
http://www.gaggenau.com/
http://www.siemens-home.de/