ว่ากันด้วยเรื่องของ “ฮวงจุ้ย” ถ้าพูดถึงคำนี้โดยรวม คุณผู้อ่านบางท่านอาจจะนึกถึง ข้อกำหนด หรือข้อแนะนำต่างๆ ในการจัดบ้าน หรือออกแบบบ้าน เพื่อนำไปสู่การดำเนินชีวิตที่ดี บ้านอยู่สบาย ราบรื่น มีสุขภาพที่ดี ผู้คนเกื้อหนุน หรือแม้กระทั่งเพื่อเงินทอง ที่เชื่อว่าจะไหลมาเทมา ส่วนคุณผู้อ่านบางท่านก็อาจจะนึกถึงความเชื่อที่บอกต่อๆกันมา ซึ่งบางอย่างก็ฟังดูไม่ค่อยมีเหตุผลสนับสนุนที่มาที่ไปกันซักเท่าไหร่ (ย้อนไปอ่านตอนเก่าๆได้ที่นี่นะคะ)
แม้กระทั่งตัวคุณนายเองบางทีฟังๆเขาพูดกัน ก็พาลให้เกิดคำถามมากมาย ท่านผู้อ่านเคยสงสัยหรือไม่ละค่ะว่า อันที่จริงแล้ว ถ้าเราพูดกันตามหลักวิทยาศาสตร์ ฮวงจุ้ยนี้ สามารถทำให้บ้านอยู่สบาย ทำให้คุณภาพชีวิตของท่านดีขึ้นได้จริงหรือไม่ แล้วมัน มีกลไกการทำงานอย่างไร
เนื่องจากศาสตร์ของฮวงจุ้ยนั้นยังถือว่าเป็นที่ถกเถียงกันมายาวนาน แต่เรื่องแบบนี้ก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณและความเชื่อของแต่ละบุคคลจริงไหมคะ ไม่มีใครผิดใครถูก ใครเชื่อแค่ไหน ขั้นไหน ถ้าใครรู้สึกทำแล้วสบายใจอย่างน้อยถ้าไม่เกิดอะไร ก็เกิดผลดีด้านจิตใจกับตัวบุคคลนั้นๆ
ในหัวข้อนี้ คุณนายเลยอยากจะลองวิเคราะห์ และตีความเจ้าแนวความคิดและหลักการในการออกแบบที่ดี ตามศาสตร์ฮวงจุ้ยนี่ละค่ะ เพื่อตอบคำถามและทำความเข้าใจกับข้อสงสัยเล็กๆนี้ (แต่คุณนายขออุ้บอิ้บนะคะ ว่าคุณนายจะขอ วิเคราะห์หลักการหรือข้อมูลที่อิงกับหลักความจริงทางวิทยาศาสตร์ และความเป็นไปได้ทางธรรมชาติค่ะ)
ฮวงจุ้ยเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับระบบนิเวศต่างๆ ถ้าจะแปลกันตรงๆ “ฮวง” หมายถึง ลม “จุ้ย” หมายถึง น้ำ แต่ชาวจีนโบราณได้กล่าวไว้ว่าเมื่อคำว่า ฮวง และ จุ้ย มาอยู่รวมกันนั้น เพื่อจะสื่อถึงความสมดุลทางธรรมชาติ
เปรียบเทียบกันง่ายๆ ชาวจีนตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ มีความเชื่อที่ว่า อวัยวะต่างๆในร่างกายเราจะทำงานได้ดีต้องมีพลังงานสมดุล บุคคลใดมีสุขภาพดีบุคคลนั้นถือว่าเป็นบุคคลที่มีระบบหมุนเวียนพลังงานที่ดี ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเลยคือ การแพทย์แผนจีน มักนิยม การนวดกดจุด ฝังเข็ม เพื่อกระตุ้นระบบไหลเวียนเลือดไปยังส่วนต่างๆของร่างกายและระบบการหายใจ
เช่นเดียวกันค่ะคุณผู้อ่าน ตัวอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ถึงแม้จะถูกประกอบขึ้นมาจากวัสดุ มันก็มีระบบภายในของสิ่งเหล่านั้น คล้ายระบบเลือดและการหายใจของคนเราเช่นกัน หากสิ่งปลูกสร้างใดมีระบบบริหารพลังงานที่ไม่ดี ไม่มีทางเดินอากาศที่ดี มนุษย์เรานั้นก็ย่อมอยู่อาศัยได้อย่างไม่สบาย
การเลือกชัยภูมิที่ดี
ขั้นแรกเลยในการซื้อ หรือก่อสร้างบ้านนั้น คือการเลือกทำเลที่ดี การพิจารณาถึงสภาพแวดล้อม ลักษณะที่ดิน และปัจจัยรอบด้าน ถือเป็นเรื่องสำคัญมากๆ จากการวิเคราะห์ของคุณนายแล้ว คนปกติโดยทั่วไปเวลาซื้อบ้าน มักจะตั้งคำถามขึ้นในใจก่อนว่า บ้านทิศไหนถือเป็นทิศที่ดี แต่กลับมองข้ามปัจจัยรอบด้านไป ถึงเราได้ทิศที่ดีมา แต่มีสิ่งแวดล้อมที่ไม่เกื้อหนุน มันก็จะไม่มีประโยชน์อะไร
ตามศาสตร์ฮวงจุ้ย หรือแม้กระทั่งการออกแบบทางสถาปัตยกรรมนั้น การได้ทำเลที่ดีก่อน ถือว่ามีชัยไปกว่าครึ่ง หลังจากนั้นถึงจะตามด้วยการวางแผนปลูกสร้างที่สอดคล้องกัน เมื่อเราเริ่มจากสิ่งที่ถูกต้อง มันก็เหมือนเป็นแนวทางที่ดี ซึ่งจะนำไปยังขั้นตอนต่อไปๆ จริงไหมละค่ะ พูดง่ายๆก็คือ แท้จริงแล้วทำเลและชัยภูมิต่างๆจะเป็นตัวกำหนดการออกแบบให้สอดคล้องตามหลักฮวงจุ้ยที่ดีนั้นเอง
ชัยภูมิหรือทำเลที่ดีมีลักษณะอย่างไร
- ทำเลหันหน้าเปิดรับพลังงาน
ทำเลเปิดรับพลังงาน หมายถึง ที่ดินนั้นควรจะเป็นจุดรับกระแสพลังงานที่ดี ลมทำหน้าที่เหมือนเป็นสิ่งนำพาพลังงานเข้ามา น้ำจะเป็นเหมือนปัจจัยสะสมพลังงาน ถ้าโยงกลับไปในทางศาสตร์ของฮวงจุ้ย คุณผู้อ่านเคยได้ยิน ประโยคที่ว่า“หน้าน้ำหลังภูเขา” ไหมคะ มันคือหลักง่ายๆที่อธิบายลักษณะทำเลที่ดีเลยค่ะ แต่พูดไปอย่างงี้ คุณผู้อ่านอาจจะงงว่า ยัยคุณนายนี่ จะให้ชั้นไปหาที่ปลูกบ้าน ที่ด้านหน้ามีทะเลสาบแสนสะอาดหงษ์ว่ายน้ำอยู่สามตัวและด้านหลังเป็นภูเขาเขียวขจี ตัดกับท้องฟ้าสีฟ้าคราม ที่แบบนี้หาได้ที่ไหนในกทม.ค่ะ?
การเปรียบเปรยของพลังหยางในยุคสมัยสังคมเมืองแบบนี้ จึงต้องประยุกต์เป็นการเลือกพื้นที่ที่มีสภาพกระแสลมเคลื่อนไหวที่ดีเช่น ถนน กระแสความเคลื่อนไหวของสิ่งชีวิต รถยนต์ หรือแม้กระทั่ง ความเคลื่อนไหวของน้ำที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยมนุษย์ ถ้าวิเคราะห์กันในเชิงของการออกแบบ การคำนึงถึง สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่จำเป็นมาก หากเรามองภาพไปถึงขั้นตอนต่อๆไปในการออกแบบว่า หากเราสร้างสิ่งปลูกสร้างแล้ว บริเวณที่ดินนี้ไม่มีปัจจัยที่จะมาขวางทางลม หรือพลังงานที่จะเข้ามา ยกตัวอย่างเช่น ที่ดินที่มีด้านหน้าโล่ง มีถนนขนาดใหญ่พอประมาณ หรือมีความเคลื่อนไหว จะเกื้อหนุนให้ลมถูกพัดพาเข้ามาสะสมในทำเลนั้นได้ดีกว่า แทนที่เราจะไปเลือกที่ดินที่มีสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่กีดขวางอยู่ด้านหน้า ปัจจัยเหล่านี้ยังเกื้อหนุนให้คุณภาพชีวิตของเราดีขึ้นไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ อากาศ สภาพแวดล้อม บรรยากาศ และการสัญจรที่สะดวก
อย่างเช่นภาพตัวอย่างด้านบนเป็นการวางผังการออกแบบที่คำนึงถึงกระแสพลังงานลม จะสังเกตได้ว่าทุกบ้านได้รับพลังงานลมตลอดทั้งปี และมีการออกแบบถนนกว้างเปิดโล่งผ่านหน้าบ้านทุกหลัง ไม่มีตรอกซอกซอย และมุมอับภายในโครงการเลย บริเวณรอบด้านของโครงการก็เป็นพื้นที่เปิดโล่ง ไม่มีตึกสูงหรือสิ่งกีดขวางมาบังทิศทางกระแสลม
- รูปทรงของที่ดินที่เหมาะสม
รูปทรงของที่ดินไม่ควรมีลักษณะบิดๆเบี้ยวๆ หรือหักมุมเข้าๆออกๆ ควรเป็นพื้นที่ในลักษณะผืนเต็มๆในลักษณะของรูปสี่เหลี่ยม หน้าที่ดินไม่แคบหรือลึกมากจนเกินไป หากรูปทรงที่ดินที่เราเลือกมานั้นมีลักษณะไม่เกื้อหนุนก็เหมือนเป็นการลดประสิทธิภาพในการเคลื่อนตัวของพลังงาน ยกตัวอย่างในกรณี ที่เปรียบเทียบว่าถนนหน้าที่ดินเป็นจุดจ่ายกระแสพลังงาน อาจจะมาจากลมธรรมชาติ แรงเคลื่อนตัวของยานพาหนะ ทำให้มีการลากผ่านของกระแสพลังงานด้านหน้าที่ดินตลอดเวลา หากสิ่งปลูกสร้างห่างจากบริเวณหน้าตัดที่ดิน และที่ดินหักไปมา สิ่งปลูกสร้างที่อยุ่ในลักษณะลึกเข้าไปด้านใน ก็อาจจะได้รับความเคลื่อนไหวจากกระแสพลังงานได้น้อยกว่าที่ควร
การออกแบบตัวอาคารเพื่อเปิดรับกับชัยภูมที่ดี
หลังจากที่เราพูดถึงการเลือกทำเลที่ดีแล้ว การออกแบบตัวอาคารให้ตอบรับกับสิ่งที่เราได้มาก็สำคัญเช่นเดียวกันค่ะ
- หันทิศ ถูกทาง
ตามหลักการออกแบบทางสถาปัตยกรรมนั้น ประตูหน้าบ้านถือเป็น ช่องเปิดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของบ้าน ในการที่หน้าบ้านหันหน้ารับทิศไหน อย่างไร ก็ถือว่าเป็นการเลือกรับพลังงานตามรูปแบบนั้นๆตลอดทั้งปีนั่นเอง เพราะจุดนี้จะเป็นจุดที่อากาศภายนอกสร้างปฎิสัมพันธ์กับอากาศภายในบ้านมากที่สุด
หลักในการดูข้อมูลจะเหมือนกับการดูเข็มทิศเลยคะ แต่ละวงกลมจะบอกทิศทางของกระแสลมในแต่ละเดือน ของกรุงเทพมหานคร แกนเครื่องหมาย + จะเป็นตัวบ่งบอกทิศ ดั่งเช่นตัวอย่างด้านบน Pattern สีฟ้าจะเป็นตัวแสดงสัญลักษณ์ของลม ยิ่งสีอ่อนจนถึงขาวแสดงถึงความเร็วของลมที่มากขึ้นค่ะ ยกตัวอย่างการอ่านค่าของลมในเดือนมีนาคม จะเห็นได้ชัดว่ากระแสลมเคลื่อนตัวอย่างชัดเจนมาจากทางทิศใต้ค่ะ
เมื่อเราศึกษาข้อมูลการเคลื่อนไหวของพลังงานที่เราจะได้มาแล้ว สิ่งเหล่านี้ก็จะมาตอบโจทย์ เมื่อเรามองกลับมาในศาสตร์ของฮวงจุ้ย การหันหน้าบ้านไปยังทิศใต้ เป็นทิศที่เปิดรับกระแสลมได้ตลอดทั้งปี ทำให้เกิดพลังงานความเคลื่อนไหวภายในบ้าน อากาศไหลเวียนและสับเปลี่ยนออกไปทางทิศตรงกันข้าม ทำให้ผู้อยู่อาศัยมีสุขภาพที่ดี และระบบบรรยากาศบ้านที่ดีขึ้น ในทางฮวงจุ้ย ถือว่าทิศนี้เป็นทิศของโชคลาภ
อีกทิศนึงที่ฮิตๆกันคือ หันหน้าบ้านออกทิศตะวันออก ก็จะได้รับประโยชน์จากพลังงานแสงในยามเช้า ที่ส่องเข้ามาทางหน้าบ้าน ช่วงบ้านหน้าบ้านก็จะร่มรื่นเพราะพระอาทิตย์เคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตก สามารถใช้พื้นที่ใช้สอยภายนอกบ้านได้สบาย ในทางฮวงจุ้ยถือว่าเป็นทิศมงคล
ส่วนสำหรับคุณนายแล้วถ้าให้คุณนายวิเคราะห์การวางตัวผังบ้าน หน้าบ้านหันหน้าไปทางทิศใต้เป็นทิศที่ดีคะ แต่ถ้าเฉียงไปทางตะวันตกหน่อยๆอย่างในภาพด้านบนถือว่าเป็นทิศที่เปิดรับพลังงานได้มากที่สุด ทิศตะวันออกเฉียงเหนือก็เป็นทิศที่ดีเช่นกัน เพราะเป็นทั้ง 2 ทิศที่เปิดทิศทางรับลมตลอดทั้งปี ถ้าเราลองกลับขึ้นไปสังเกตการเคลื่อนตัวของลมที่ชัดเจน การหันบ้านเช่นนี้ในกรณีที่แปลนบ้านเป็น สี่เหลี่ยมผืนผ้าเหมือนdiagramด้านบน ยังช่วยให้ตัวบ้านนั้นลดพื้นที่ในการกักเก็บความร้อนจากแสงแดดอีกด้วย เพราะsurfaceหน้าตัดฝั่งที่รับแสงแดดในด้านทิศตะวันตกนั้นแคบ การปลูกต้นไม้ในฝั่งทางทิศตะวันตกจะเป็นตัวช่วยกั้นความร้อนจากแสงอาทิตย์มายังตัวบ้านอีกด้วยค่ะ ส่วนทางทิศตะวันออกควรจะเป็นพุ่มไม้ที่มีลักษณะไม่หนามากจนเกินไป
พูดถึงเรื่องทิศกันแล้ว ภาพด้านบนคือตัวอย่างภาพจากการใช้ Software Autodesk Ecotect ในการทดสอบ ผลของแสงแดดที่ตกกระทบตัวบ้านกับการเคลื่อนตัวของดวงอาทิตย์ค่ะ โค้งสีฟ้าคือแนวการเดินทางของพระอาทิตประจำวัน วงกลมสีส้มเปรียบเสมือนพระอาทิตย์ ภาพทางซ้ายแสดงผลของตอนเช้า พระอาทิตย์จะเคลื่อนตัวตามโค้งแนวสีฟ้าไปยังทิศตะวันตกในช่วงบ่ายดั่งภาพทางด้านขวา
จะสังเกตได้ว่า ตัวอย่างบ้านในภาพถูกออกแบบให้มีระเบียงขนาดใหญ่ และประตูหน้าบ้านอยู่ในทิศตะวันตก สังเกตแสงและเงาที่เกิดขึ้นกับตัวบ้านให้ดีๆนะคะ จะเห็นได้ว่า การออกแบบในลักษณะนี้ทำให้บ้านรับความร้อนไปแบบเต็มๆ แสงแดดสาดส่องไปถึงตัวประตู บานหน้าต่าง และแทบทั้งจะพื้นผิว ของช่องเปิดต่างๆ
พอเราเห็นตัวอย่างนี้ เราก็จะวกกลับมาในศาสตร์ของฮวงจุ้ยที่กล่าวว่า ทำไมเค้าถึงไม่นิยมให้ห้องนอนอยู่ทางทิศตะวันตก เพราะห้องที่อยู่ในทางทิศตะวันตกนั้น เป็นห้องที่รับแสงแดดช่วงบ่ายเป็นเวลานาน ห้องจะมีอุณหภูมที่สูงมาก เพราะถูกเก็บสะสมความร้อนไว้ทั้งวัน ในเวลากลางคืนไอร้อนเหล่านี้จะถูกคลายออกมาจากพื้นผิวของบ้าน ทำให้ผู้อยู่อาศัยนอนหลับไม่สบาย และยังส่งผลให้บ้านใช้พลังงานจากเครื่องปรับอากาศมากขึ้นอีกด้วย
และพอเรามองลึกเข้าไปอีก ศาสตร์ของฮวงจุ้ยบอกว่า ห้องน้ำไม่ควรอยู่ทางทิศตะวันออกและทิศเหนือ ควรจะอยู่ทางทิศตะวันตก เมื่อเราตีความตามหลักวิทยาศาสตร์แล้วตำแหน่งทางทิศตะวันตกคือตำแหน่งที่ได้รับแสงเป็นเวลานาน ถ้าห้องน้ำอยู่ในตำแหน่งนี้ นอกจากจะเป็นการบล็อกความร้อนเข้าสู่ตัวบ้านแล้ว แสงแดดจะช่วยลดความชื้นความอับของห้องน้ำ ลดการก่อตัวของแบคทีเรียและเชื้อโรค ทำให้ทั้งผู้อยู่อาศัยและตัวบ้านเอง มีสุขภาพอนามัยที่ดีขึ้น
อีกข้อหนึ่งที่เห็นได้ชัดๆเลยนะคะ ตามศาสตร์ของฮวงจุ้ยกล่าวไว้ว่า ประตูบ้านกับห้องครัว ไม่ควรอยู่ตรงกัน หรือเปิดเข้ามาเจอเลย เพราะห้องครัวถือเป็นธาตุไฟ จะขัดขวางพลังดี ที่เคลื่อนตัวเข้ามาสู่บ้าน
ถ้ามองในมุมของวิทยาศาสตร์ การที่ห้องครัวถูกตั้งอยู่ระหว่างช่องเปิด หรือทิศทางลมกลางตัวบ้านย่อมไม่ดีแน่ ไม่ว่าจะเป็น กลิ่นอันรุนแรงของอาหารที่จะไปติดในส่วนต่างๆของบ้าน หรือแม้กระทั่งละอองน้ำมันและเศษอาหาร ทำให้บรรยากาศและอากาศบริสุทธิ์ภายในบ้านถูกทำลายไป
ถ้าเราลองดูความหมายและเข้าใจจุดประสงค์ในการออกแบบในหัวข้อต่างๆแล้ว เราจะเห็น “ความสัมพันธ์ที่เกี่ยวโยงกันระหว่างศาสตร์ของฮวงจุ้ยและการออกแบบสิ่งแวดล้อม” เพราะต่างก็มีจุดประสงค์และแนวคิดเดียวกัน ในการบริหารพลังงานธรรมชาติ และโยงความสัมพันธ์เข้ากับสิ่งก่อสร้างและผู้อยู่อาศัยอย่างสมดุล
เคยมีรายงานของ environmental psychologist, Dr.John Zeisel กล่าวไว้ว่า “Our environment do effect us and we have effect on the environment by our action in return”.
อยากให้คุณผู้อ่านลองคิดลึกๆ หลังที่อ่านประโยคนี้จบ และตั้งคำถามในใจกันต่อนะคะ…ว่า จริงๆแล้วการวางศาสตร์ต่างๆมันอาจจะไม่ใช่เรื่องเหนือธรรมชาติ หรือสิ่งที่เราจับต้องไม่ได้ แต่เราต่างหากเป็นคนกำหนดเองว่า เราจะบริหารสิ่งเหล่านี้ไปในทิศทางไหน…
XOXO
คุณนายสวนหลวง
ผู้บริหาร สวนหลวงบ้านและที่ดิน
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก
http://www.pattayadailynews.com/th/2010/09/19/ฮวงจุ้ย-“ทิศมงคล”-เสริมด/
http://horoscope.sanook.com/1392637/เลือกบ้านทำเลดีตามหลักฮวงจุ้ย/