ออกแบบบ้าน … ให้ “คุณตา คุณยาย” มีความสุข ตอนที่ 2

1

รูปที่ 1 แสดงตัวอย่างการจัดวางตำแหน่งห้องต่างๆ ให้เหมาะสมกับกิจวัตรประจำวันผู้สูงอายุและสภาพภูมิอากาศ

จากตอนที่แล้ว เรารู้และเข้าใจความเสื่อมถอยของร่างกายและจิตใจของคุณตา คุณยายในบ้านของเรากันแล้ว ซึ่งมีเรื่องหลักๆ 4 ด้าน คือ การมองเห็น  การได้ยิน การเคลื่อนไหว  และสุดท้ายคือ ฮอร์โมนและอารมณ์ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิต ดังนั้น เรามาปรับปรุงบ้านให้เหมาะสมต่อการใช้ชีวิตให้ผู้ใหญ่ในบ้านของเรากันนะคะ (อ่านบทความ นวัตกรรมเพื่อบ้านแห่งความสุข ครบชุดได้ที่นี่)

การออกแบบ หรือปรับปรุงบ้าน…เพื่อคุณตา คุณยาย

อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นภายในบ้าน ซึ่งอาจจะทำให้เกิดกระดูกหักได้ แม้ว่าจะล้มเพียงเบาๆ ดังนั้น การปรับปรุงบ้านให้มีสภาพเหมาะสมกับผู้สูงอายุ สรุปได้ดังนี้

ห้องนอน ควรจะอยู่ชั้นล่าง จากเตียงนอนสามารถเข้าถึงห้องน้ำได้สะดวก ควรมีช่องรับแสงทางทิศตะวันออก เพื่อรับแสงยามเช้า ซึ่งช่วยให้ผู้สูงอายุรับรู้การเปลี่ยนแปลงของช่วงเวลา รู้สึกสดชื่นขึ้น ลดปัญหาเรื่องการเจ็บป่วย นอกจากนั้นห้องควรมีสีฟ้าอ่อน จะช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัส ทำให้ความรู้สึกผ่อนคลาย สงบ ลดความเจ็บปวด ลดอาการนอนไม่หลับ

2

ก) พื้นต้องมีระดับเรียบเสมอกัน

4

ข) ห้องน้ำที่มีอุปกรณ์รองรับการใช้งาน

ห้องน้ำ ควรมีพื้นกันลื่นและเรียบเสมอกัน แยกพื้นที่อาบน้ำที่เป็นส่วนเปียกออกจากส่วนแห้งเพื่อกันน้ำกระเด็นลื่น แต่ต้องไม่แบ่งพื้นที่จนเข้าถึงยากจนเกินไป

ห้องนั่งเล่น เป็นพื้นที่ใช้งานของผู้สูงอายุเกือบตลอดวัน ห้องนี้จึงควรอยู่ในทิศเหนือเพื่อได้รับแสงสว่างตลอดวัน แต่ไม่มีแสงแดด และมีพื้นที่ต่อเนื่องกับทิศใต้เพื่อรับลมประจำได้ตลอดปี บานหน้าต่างควรอยู่สูงจากพื้นไม่มากนัก เพื่อให้แสงเข้าได้ดี และสามารถมองเห็นทิวทัศน์นอกบ้านได้

หิ้งพระ อาจจะอยู่ภายในห้องนอนหรือมีพื้นที่เล็กๆ เพื่อให้ท่านได้กราบพระก่อนนอน นั่งสมาธิ ซึ่งดีต่อการปรับคลื่นสมอง ทำให้จิตใจสงบ สุขภาพจิตดี และส่งผลดีต่อสุขภาพกายด้วย

พื้น ควรเรียบเสมอกัน ไม่มียกพื้นต่างระดับหรือธรณีประตู วัสดุพื้นผิวต้องไม่ลื่น แสงสว่างต้องเพียงพอต่อการมองเห็นชัดเจน ทางเดินต้องมีราวจับเพื่อช่วยพยุงตัว หากบ้านเรามีผู้สูงอายุที่นั่งรถเข็น ต้องทำทางลาดให้รถเข็นขึ้นลงได้อย่างสะดวก

3

ค) ประตูบานเลื่อน มือจับชนิดก้านโยก

ประตู มือจับ จากการที่ผู้สูงอายุมีกล้ามเนื้อมืออ่อนแรง การจับ หมุนหรือบิดลดลง ประตูควรเป็นชนิดบานเลื่อนเพื่อความสะดวกในการเปิดปิด มือจับควรเป็นชนิดก้านโยกเพื่อลดการใช้กล้ามเนื้อมือในการออกแรงหมุน

5

 

ง) สวิซไฟมีสีต่างกัน หรือขนาดใหญ่เห็นชัดเจน

เฟอร์นิเจอร์ภายในบ้าน เช่น เก้าอี้ โต๊ะ เตียง ตู้ ควรวางอย่างเป็นระเบียบ ไม่มีส่วนใดยื่นออกมาเกะกะ

สี ทาภายในบ้านควรเป็นสีที่สดใส นุ่มนวล เนื่องจากมีผลต่อความกระชุ่มกระชวยของผู้สูงอายุ

สวนบำบัด เพียงแค่ผู้สูงอายุได้ใกล้ชิดธรรมชาติ เช่น สวนต้นไม้ภายในบริเวณบ้าน สามารถทำให้เกิดการรับรู้เชิงบวกและผ่อนคลายได้ เนื่องจากเสียงซ้ำๆ ของน้ำและใบไม้ จะเกิดคลื่นอัลฟ่า (Alpha brainwave) ทำให้จิตใจสงบ เยือกเย็น สุขุม อารมณ์ดี นอกจากนั้นกิจกรรมการปลูกต้นไม้ยังช่วยลดอาการซึมเศร้าได้ และยังมีต้นไม้ที่ช่วยดูดซับสารพิษ ต้นไม้กันยุง ต้นไม้กลิ่นหอม ผักสวนครัว สมุนไพร แต่ต้องระวังต้นไม้ที่เปราะหักง่าย และระคายเคืองต่อผิวด้วย

อย่างไรก็ตาม แนวทางการปรับปรุงบ้านไม่จำเป็นต้องทำทั้งหลัง เพราะพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ จะคุ้นเคยกับการใช้พื้นที่ซ้ำๆ เช่น ห้องครัว ห้องนอน ระเบียงหน้าบ้าน เป็นต้น เราสามารถเลือกปรับเปลี่ยนเฉพาะพื้นที่บริเวณดังกล่าว หรือพื้นที่ที่ผู้สูงอายุใช้งานบ่อย เพื่อทำกิจกรรมได้ง่ายและสะดวก โดยที่ไม่ต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากนักก็ได้ค่ะ

แบ่งปันข้อมูล : ฝ่ายวิจัยและพัฒนา

บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด