หลังจากที่เราทำความรู้จักห้องน้ำสำเร็จรูปกันไปครั้งที่แล้ว วันนี้เราก็จะพาผู้อ่านทุกท่านมาเรียนรู้ข้อมูลเพิ่มเติม ที่ละเอียดยิ่งขึ้น ทั้งส่วนประกอบ การทำงาน และวิธีซ่อมแซมเมื่อห้องน้ำสำเร็จรูปของคุณมีปัญหากันค่ะ ส่วนใครที่ไม่ได้อ่านตอนแรก ตามไปอ่านกันได้นะคะ ตอนที่ 1
อันดับแรกเรามาแยกประเภทของห้องน้ำสำเร็จรูปกันก่อนดีกว่า ห้องน้ำสำเร็จรูปถ้าเราจะแบ่งตามการติดตั้งจะแบ่งออกได้ 2 ประเภท
ประเภทแรก เป็นคือ ห้องน้ำสำเร็จรูปประกอบสร้างเสร็จจากโรงงานแล้วขนส่งไปติดตั้งที่ไซต์ได้เลย เหมือนข้าวกล่องตามร้านสะดวกซื้อ อุ่นแล้วทาน
โดยวิธีการขนส่งและติดตั้งคือ
การใช้รถบรรทุกขนส่งจากโรงงานไปที่ไซต์งาน แล้วยกกล่องห้องน้ำสำเร็จรูปด้วยเครนขึ้นไปยังด้านบนของอาคาร จากนั้นช่างก็จะทำการเชื่อมต่อระบบท่อ สายไฟต่างๆ แน่นอนว่า เหมือนจับวาง ง่าย รวดเร็ว ความสูงของเครนมีทั้งระดับขนาดสูงถึง 8 ชั้น และมีขนาดสำหรับตึกสูงได้เท่ากับตึก 20 – 30 ชั้น ซึ่งการใช้จะขึ้นอยู่กับการใช้งาน และน้ำหนัก สำหรับห้องน้ำสำเร็จรูปที่เป็นคอนกรีตจะมีน้ำหนักต่อกล่องประมาณ 3 ตัน ในส่วนที่เป็นพอลิเมอร์ หรือโครงเหล็ก จะมีน้ำหนักประมาณ 700 – 800 กิโลกรัม
ประเภทที่ 2 คือ ห้องน้ำสำเร็จรูปที่สร้างเฉพาะชิ้นส่วน แยกเป็นส่วนของ พื้น ผนัง และฝ้าเพดาน แล้วนำไปประกอบที่ไซต์งาน แบบนี้จะเหมือน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป คือ ต้องมาใส่เครื่องปรุง รอเวลา อีกหน่อย
ขนส่งด้วยการแพ็ครวมกันเป็นชุดแล้วส่งไปประกอบที่หน้างาน
ตารางเปรียบเทียบการประกอบติดตั้งห้องน้ำสำเร็จรูป
ทีนี้เรามาแยกวัสดุของห้องน้ำสำเร็จรูปดีกว่า มาดูในส่วนพื้นกันนะคะ (จากภาพด้านบน)
พื้นจะแบ่งออกเป็น 1. พื้นพอลิเมอร์(ส่วนใหญ่จะใช้ในส่วนเปียก) 2. พื้นคอนกรีตปูกระเบื้อง 3. พื้นไฟเบอร์ซีเมนต์ปูกระเบื้อง
ในส่วนของผนัง จะแบ่งออกเป็น
1. ผนังหนังคอนกรีตกรุด้วยกระเบื้อง
2. ผนังพอลิเมอร์ ปิดผิวด้วยลามิเนตเป็นวัสดุตกแต่งผิว และเคลือบฟิล์มโพลีทิลินที่ทำให้ไม่เกิดเชื้อรา
3. ผนังไฟเบอร์ซีเมนต์ใช้โครงเหล็ก หรือ อะลูมิเนียมในการยึด กรุกระเบื้อง
4. ผนังไฟเบอร์ซีเมนต์ใช้โครงเหล็ก หรือ อะลูมิเนียมในการยึด ปิดผิวด้วยลามิเนตและเคลือบฟิล์มโพลีทิลินที่ทำให้ไม่เกิดเชื้อรา
อีกทั้งยังมี ผนังพอลิเมอร์ที่หล่อมาพร้อมกับพื้นพอลิเมอร์เป็นชิ้นเดียวกันเพื่อลดรอยต่อ และง่ายต่อการผลิต ไม่มีวัสดุปิดผิว ส่วนใหญ่ไว้ใช้ในส่วนเปียกของห้องน้ำ
ส่วนใหญ่ถ้าเป็นในอาคารชุด มักเลือกใช้ห้องน้ำสำเร็จรูปที่เป็นพอลิเมอร์เนื่องจากใช้แม่พิมพ์ตัวเดียวกันหล่อมาเป็นชุด ผลิตคราวละมากๆ พร้อมกับการติดตั้งสุขภัณฑ์และการวางท่อมาพร้อมกันเรียบร้อย อีกเหตุผลก็คือ เนื่องจากความคุ้มทุนของเจ้าของโครงการและผู้ผลิตห้องน้ำสำเร็จรูปนั่นเองคะ ส่วนห้องน้ำสำเร็จรูปเดี่ยวมักใช้เป็นโครงเหล็ก หรือโครงอะลูมิเนียมเนื่องจากมีน้ำหนักเบา สามารถสั่ง ปรับขนาด และออกแบบภายในทั้งในส่วนของตำแหน่งสุขภัณฑ์ กำหนดยีห้อสุขภัณฑ์ที่เราต้องการเองได้ แต่ราคาก็จะเพิ่มตามราคาของสุขภัณฑ์ที่เลือกใช้เลยค่ะ
ในส่วนของงานระบบมีการจัดกลุ่มไว้ในหลายรูปแบบ ขอแบ่งตามตำแหน่งแบบนี้ละกัน
- การรวมท่อไว้ด้านข้างของห้องน้ำสำเร็จรูป
- การรวมท่อไว้ด้านล่างของห้องน้ำสำเร็จรูป
ซึ่งจะรวมให้มีช่องท่อเดียวเท่านั้นเพื่อความสะดวกในการ ดูแลรักษา ไม่ว่าจะเป็นระบบไฟฟ้าหรือประปา ในที่นี้เราจะมายกตัวอย่างของห้องน้ำสำเร็จรูปที่ทำจากโครงอะลูมิเนียมและไฟเบอร์ซีเมนต์กันค่ะ เพราะว่าเป็นชนิดที่สร้างเสร็จเร็ว ประกอบง่าย มีน้ำหนักเบา และสามารถปรับขนาดตามความต้องการได้ง่ายกว่าประเภทอื่น
ประเภทที่รวมท่อไว้ด้านข้าง จะแบ่งออกเป็นอีก 2 ลักษณะ คือ ซ่อมแซมดูแลจากภายนอกห้อง และ ซ่อมแซมดูแลจากภายในห้อง
จากภาพ คือ รูปแบบการซ่อมแซมแบบภายนอกห้อง ซึ่งแนวท่อต่างๆจะถูกรวมมาอยู่ในแนวแกนเดียวกัน
ส่วนที่ 1 คือ เครื่องทำน้ำร้อน
ส่วนที่ 2 คือ มิเตอร์ไฟฟ้า
ส่วนที่ 3 คือ การยึดโครงของอะลูมิเนียมเข้ากับแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ โดยใช้ตะปูอะลูมิเนียมยึดโครง
ท่อสีฟ้ามีสองขนาดคือท่อขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ท่อขนาดเล็กคือท่อน้ำประปาที่ส่งมาจากถังเก็บน้ำ ท่อขนาดใหญ่คือ ท่อDrain (ท่อน้ำเสีย,ท่อโสโครก) ส่วนสีทองที่เห็นปิดที่ท่อขนาดใหญ่นั้นเอาไว้เพื่อใช้ต่อกับท่อน้ำเสียของโครงการหรือบ้านเพื่อระบายสิ่งปฏิกูลออกสู่ด้านนอกอาคารต่อไป
ในตัวอย่างนี้จะรวมงานระบบไว้ที่มุมด้านข้างของห้อง ซึ่งมีทั้งท่อน้ำดี ท่อน้ำทิ้ง ท่อน้ำร้อน สายไฟ เครื่องทำความร้อน และมิเตอร์ไฟฟ้า ที่ท่อน้ำดีจะต่อเข้ากับเครื่องทำความร้อนก่อนส่งไปที่ท่อสีดำที่หุ้มฉนวน ท่อสีขาวที่ต่อเข้ากับตัวเครื่องทำความร้อนคือท่อสายไฟ และมีท่อที่ส่งต่อไปยังด้านบนเพื่อใช้กับไฟในห้องน้ำ
มองจากภายนอกก็จะรวมกับเป็นช่อง Shaft คล้ายแบบนี้
ส่วนแบบนี้จะเป็นรูปแบบการซ่อมแซมจากภายในห้อง ซึ่งตำแหน่งมักจะอยู่บริเวณ Low wall ของห้องน้ำ
โดยจะเป็นแบบพอร์ลิเมอร์จะหล่อมาเป็นกล่องตั้งแต่เเรก เพื่อการดูและรักษาที่สะดวกจึงย้ายไปไว้ที่ด้านหลังของสุขภัณฑ์ซึ่งทำเป็น Partition ไว้เพื่อซ่อน Flushing และระบบท่อไว้ ด้านบนปิดแผ่นไม้ปิดผิว ที่วางเสมือนเป็นเคาเตอร์ ถ้าหากเกิดปัญหาก็สามารถเปิดแก้ไขจากด้านหลังนี้ได้เลย ซ่อมแซมได้ภายในห้องตัวเอง ส่วนไฟฟ้าจะอยู่ด้านนอก เพื่อต่อเข้ากับไฟที่มาจากโครงการ
อ่า … หลังจากเรารู้ประเภทวัสดุและเรื่องตำแหน่งท่อของห้องน้ำไปแล้ว คงสัยสัยกันว่าจะทำความสะอาดยังไง คงจะกังวลว่าจะกลายเป็นงานหนักของคุณแม่บ้านหรือเปล่านะ ห้องน้ำสำเร็จรูปด้วยความที่มันมีรอยต่อที่น้อย และใช้วัสดุที่ทำความสะอาดง่ายซะเป็นส่วนใหญ่ เช่นเป็นลามิเนต หรือพอลิเมอร์ พวกนี้ใช้เพียงสบู่และฟองน้ำขัดออกก็ได้แล้วคะ ไม่ควรขัดถูแรง เพราะจะทำให้มันเกิดรอย และถ้าสงสัยว่าใช้ผลิตภัณฑ์ล้างห้องน้ำล้างได้ไหมนั้น ในส่วนที่เป็นของพอลิเมอร์สามารถใช้ได้เพราะว่าคุณสมบัติของมันจะทนกรดทนด่างได้อยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นในส่วนของผนัง ยิ่งถ้าเป็นแผ่นลาเนตยิ่งไม่ควรอย่ายิ่งเลยคะ แม้จะทำความสะอาดง่ายแต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีคราบสะสมหรือเชื้อราเกิดขึ้นเลยนะคะผ่านเวลาไปนานๆก็ มีขึ้นตามซอกเหมือนกัน
แน่นอนอยู่แล้วว่าทุกอย่างก็ต้องมีข้อเสียใช่ไหมคะ เจ้าห้องน้ำสำเร็จรูปก็มีข้อเสียเหมือนกันนั่นก็คือ การระบายอากาศเนื่องจากห้องน้ำสำเร็จรูปมักจะทำมาเป็นแผ่นหรือเป็นกล่องทีเดียวเพื่อความเรียบง่าย สร้างไวและต้องแข็งแรง ทำให้ต้องมีช่องเปิดน้อยที่สุด จึงนำที่ระบายอากาศไว้ที่เพดาน อาจจะทำให้มีปัญหาเรื่องกลิ่นหรือความชื้นได้ แก้ปัญหาความชื้นด้วยการเลือกใช้วัสดุที่แห้งเร็ว และทำความสะอาดง่ายแทน
เอ..แล้วถ้าเกิดปัญหาขึ้นกลับห้องน้ำของเราจะทำยังไงดีละทีนี้?
นี่เป็นอีกเรื่องที่เป็นความยุ่งยากของห้องน้ำสำเร็จรูปคือ หากเกิดการชำรุดเสียหาย หรือต้องการเปลี่ยนสุขภัณฑ์ เราไม่สามารถซ่อมแซมเอง หรือจ้างช่างทั่วไปให้มาซ่อมได้ ต้องจ้างเจ้าหน้าที่จากบริษัทผู้ผลิตเท่านั้นเนื่องจากระบบของท่อที่รวมอยู่ในที่เดียวกัน เวลาซ่อมอาจเกิดความเสียหายต่อจุดอื่นได้
อ่านมากันจนถึงตอนนี้แล้วคงพอจะทราบวิธีเลือกใช้ และดูแลรักษาห้องน้ำสำเร็จรูปกันแล้วใช่ไหมคะ ตอนหน้าเรามาดูกันว่าตอนนี้ในไทยมีเจ้าไหนบ้างที่ทำห้องน้ำสำเร็จรูป แนวโน้มในการใช้งานในอนาคตจะเป็นอย่างไร แล้วตอนนี้มีโครงการไหนทที่เริ่มนำห้องน้ำสำเร็จรูปมาใช้แล้วบ้าง