เชื้อโคโรน่าไวรัส (COVID-19) กลับมาระบาดกันอีกรอบแล้วนะครับทุกคน และที่น่าเป็นห่วงก็คงจะหนีไม่พ้นชาวคอนโดมิเนียมทั้งหลาย เพราะจะมีพื้นที่ส่วนกลางที่ต้องใช้ร่วมกันหลายๆจุด ไม่ว่าจะเป็นล็อบบี้ ลิฟต์โดยสาร หรือฟิตเนส เป็นต้น

และอย่างล่าสุดตอนนี้ (ช่วงต้นเดือนเมษายน) …เท่าที่ผมตามข่าวมาคือ มีคอนโดมากกว่า 50 แห่งแล้ว ที่มีการพบคนติดเชื้อ…

ซึ่งก่อนหน้านี้ Think of Living เราเคยทำบทความเกี่ยวกับ การปรับตัวและวิธีการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กันมาแล้ว แต่สำหรับบทความนี้เราจะมาดูกันว่า …แล้วถ้าคนในคอนโดมีคนติดเชื้อโควิดเข้าแล้ว เราจะต้องทำอย่างไรบ้าง? เราไปชมกันครับ

การปฏิบัติตัวในคอนโดมิเนียม เมื่อมีคนติดเชื้อ COVID-19 ผมสามารถแบ่งออกได้เป็น 6 ข้อ ซึ่งจะมีทั้งฝั่งของนิติบุคคลและฝั่งของผู้พักอาศัย ที่จะต้องคอยประสานงานและแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆร่วมกันดังนี้

  1. หากนิติบุคคลพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ ต้องรีบแจ้งลูกบ้านท่านอื่นๆให้รับทราบทันที
  2. นิติบุคคลจะต้องตรวจเช็ค Timeline ของผู้ป่วย และแจ้งผลให้ลูกบ้านท่านอื่นทราบโดยเร็ว
  3. นิติบุคคลต้องบริหารจัดการความเสี่ยงของพื้นที่ในจุดต่างๆของคอนโด และเข้มงวดเรื่อง Social Distancing ให้มากขึ้น
  4. ควรรีบประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เข้ามาฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อในคอนโดโดยเร็วที่สุด
  5. อย่าเพิ่ง Panic ให้รักษาระยะห่าง ล้างมือให้บ่อยขึ้น และงดใช้ส่วนกลางในช่วงนี้
  6. อาการป่วยเป็นอย่างไร และตรวจหาเชื้อ COVID-19 ได้ที่โรงพยาบาลไหน/ราคาเท่าไหร่บ้าง?

1. หากนิติบุคคลพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ ต้องรีบแจ้งลูกบ้านท่านอื่นๆให้รับทราบทันที

เมื่อนิติบุคคลได้รับแจ้งว่ามีผู้ป่วยในคอนโด (โดยเฉพาะรายแรก) จะต้องรีบแจ้งข่าวให้ลูกบ้านท่านอื่นๆได้รับทราบให้เร็วที่สุด เพื่อที่คนอื่นๆที่อาศัยอยู่ในคอนโดเดียวกันจะได้ระมัดระวังตัวกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทาง Application และช่องทางสื่อสารต่างๆ

“ซึ่งในสถานการณ์แบบนี้ การสื่อสารกันระหว่างลูกบ้านผ่านช่องทางกรุ๊ป Line นับว่าสำคัญมากครับ เพราะเป็นช่องทางสื่อสารที่สะดวกที่สุด จะทำให้เราแลกเปลี่ยนข้อมูลและติดตามข่าวสารในคอนโดได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเพื่อนบ้านและคณะกรรมการจะคอยถามไถ่ ติดตามความคืบหน้าจากนิติ และนำมาแจ้งข่าวกันอยู่ตลอดเวลา”

นอกจากนี้ทางนิติบุคคลยังต้องประสานงานกับทางผู้ป่วย และโรงพยาบาล ว่าจะมีการเข้ามารับตัวผู้ป่วยวันไหน..เมื่อไหร่ และจะใช้ลิฟต์ตัวไหนขึ้น-ลง เพื่อที่จะได้จัดเตรียมพื้นที่หน้างานให้เรียบร้อย และแจ้งลูกบ้านท่านอื่นให้หลีกเลี่ยงพื้นที่นั้นๆในช่วงเวลาดังกล่าว จนกว่าจะมีการจัดการฆ่าเชื้อให้เรียบร้อยครับ

2. นิติบุคคลจะต้องตรวจเช็ค Timeline ของผู้ป่วย และแจ้งผลให้ลูกบ้านท่านอื่นทราบโดยเร็ว

เป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้ลูกบ้านคนอื่นๆ สามารถตรวจสอบได้ว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ที่จะมีโอกาสติดเชื้อ COVID-19 จากผู้ป่วยด้วยหรือไม่ เช่น การได้พบปะพูดคุย การใช้งานส่วนกลางในช่วงเวลาเดียวกับผู้ป่วย หรืออาจพักอาศัยอยู่ในโซนและชั้นเดียวกัน เป็นต้น โดยเราสามารถตรวจสอบได้หลักๆ 3 ช่องทางคือ

  1. สอบถามจากผู้ป่วยโดยตรง ซึ่งในส่วนนี้เราจะได้รายละเอียดบางอย่างเช่น เค้าลงลิฟต์ไปทำอะไร หรือเดินทางออกจากคอนโดไปย่านไหน เป็นต้น
  2. ตรวจสอบจากกล้องวงจรปิดในลิฟต์โดยสาร เจ้าหน้าที่อาจต้องใช้เวลาย้อนดูนานพอสมควร แต่ก็จะทำให้เห็นได้ชัดว่าเค้าขึ้นลิฟต์ไปกับใคร หรือมีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงหรือไม่
  3. ดึงข้อมูลจากการใช้ Key Card วิธีนี้ไม่ได้ใช้ได้กับทุกโครงการนะครับ ขึ้นอยู่กับระบบการจัดการข้อมูลที่คอนโดนั้นๆเลือกใช้ แต่ถ้าทำได้ก็จะสะดวกมากๆ เพราะเราสามารถตรวจสอบได้ว่า Key Card ที่ลูกบ้านห้องนั้นๆถืออยู่ เค้านำไปใช้กับลิฟต์หรือส่วนกลางจุดไหน/เมื่อไหร่บ้าง ซึ่งจะทำให้ทราบผลได้รวดเร็วมากๆ

แต่ทั้งนี้ …ถ้าเราต้องการความละเอียดที่แน่ชัด ผมแนะนำให้นำหลายๆวิธีมาประกอบกันครับ เพราะบางวิธีก็อาจมีการตกหล่นได้ เช่น ถ้าเป็นเวลาที่ผ่านมาแล้วหลายๆวัน การสอบถามโดยตรงจากบุคคลก็อาจมีการหลงลืมกันได้ / การที่เจ้าหน้าที่ดูด้วยตาจากภาพของกล้องวงจรปิด ก็อาจตกหล่นบางจังหวะหรือมองไม่เห็นหน้าผู้ป่วยได้ / หรือถ้าผู้ป่วยขึ้นลิฟต์ที่มีคนกดชั้นนั้นๆไว้อยู่ก่อนแล้ว ก็จะกลายเป็นว่าเค้าไม่ได้แตะ Key Card ของตัวเองในรอบนั้นๆได้ เป็นต้น

แนะนำเพิ่มเติม…สำหรับโครงการขนาดใหญ่นะครับ เวลามีการแจ้งข้อมูลต่างๆในคอนโด ควรจะต้องทำแผนผังกราฟฟิคง่ายๆ ว่าโซนไหนเรียกว่าอะไร และตำแหน่งสำคัญๆที่ลูกบ้านจะต้องมาใช้งานร่วมกันอยู่บริเวณไหนบ้าง เพื่อที่ลูกบ้านทุกคนจะได้เข้าใจตรงกันได้ถูกต้อง ซึ่งเราอาจต้องทำให้ละเอียด…แต่ก็ดูเข้าใจง่ายที่สุด

เพราะมีลูกบ้านบางคนเค้าดูแปลนไม่เป็นเลยก็มีครับ ดังนั้นจึงต้องระบุเป็นสิ่งที่คนพักอาศัยคุ้นเคยกันดี เช่น ด้านนี้ของแปลนอยู่ติดกับอะไร/หันไปทางไหน ลิฟต์โดยสารตรงนี้ปกติเราขึ้นมาจากที่ไหน เป็นต้น เพื่อให้ลูกบ้านสามารถนำข้อมูลที่ได้รับจากโครงการ มาใช้ประเมินความเสี่ยงของตัวเองได้อย่างถูกต้องครับ

3. นิติบุคคลต้องบริหารจัดการความเสี่ยงของพื้นที่ในจุดต่างๆของคอนโด และเข้มงวดเรื่อง Social Distancing ให้มากขึ้น

ผมเชื่อว่าหลายๆโครงการ ก็เริ่มกลับมาให้ความสำคัญและเข้มงวดกับเรื่อง Social Distancing เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ในคอนโดกันมากขึ้นนะครับ ซึ่งเราจะได้เห็นภาพแบบด้านบนนี้กลับมาอีกครั้ง

ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งช่องและจำกัดคนใช้ลิฟต์โดยสาร การลดสัมผัสของปุ่มลิฟต์ และการจัดให้แม่บ้านทำความสะอาดฆ่าเชื้อทุกๆชั่วโมง เป็นต้น แต่สำหรับกรณีของโครงการที่เริ่มมีผู้ป่วยเกิดขึ้นภายในคอนโด ก็จะมีความเข้มงวดที่เพิ่มมากขึ้นเป็นพิเศษ เช่น

  • ต้องมีการตรวจวัดอุณหภูมิอยู่เสมอ
  • ห้ามบุคคลภายนอกที่ไม่ได้พักอาศัยเข้า-ออกโครงการโดยไม่จำเป็น
  • ปิดให้บริการพื้นที่สันทนาการทั้งหมด
  • ต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่ในพื้นที่ส่วนกลาง เป็นต้น

…ในกรณีที่มีการตรวจสอบ Timeline ของผู้ป่วยแล้วพบว่า มีการมาติดต่อธุระ หรือมารับพัสดุที่ห้องนิติบุคคลในช่วงเวลาที่มีความเสี่ยง…

กรณีนี้พนักงานทุกคนในช่วงเวลานั้น จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลทันที และอาจหยุดพักงานเพื่อสังเกตอาการ หรือรอผลตรวจให้ปลอดภัยก่อนสักระยะหนึ่ง จึงจะกลับมาทำงานต่อได้ ซึ่งทางบริษัทของนิติบุคคลควรมีแผนสำรองคือ ต้องมีทีมงานอีกชุดหนึ่งมาผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันในช่วงนี้

เพราะไม่งั้นอาจเกิดเหตุการณ์ที่นิติจะต้องหยุดทำการ แล้วไม่มีคนมาช่วยจัดการกับพัสดุที่มาส่ง ทำให้ข้าวของต่างๆต้องมาวางกองเรียงรายอยู่หน้าสำนักงาน และลูกบ้านจะต้องมาเลือกหาและเซ็นต์รับกันเอาเอง ซึ่งจะมีความเสี่ยงของการแพร่กระจายเชื้อ COVID-19 จากการสัมผัสกล่องเหล่านี้โดยตรงของลูกบ้านแต่ละคนได้ครับ

4. ควรรีบประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เข้ามาฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อในคอนโดโดยเร็วที่สุด

ซึ่งหน่วยงานที่ว่าก็คือ “สำนักงานเขต หรือเทศบาล” ที่คอนโดของเราตั้งอยู่ครับ โดยเบื้องต้นขั้นตอนของการประสานงานนั้น …เราจะต้องทำหนังสือให้ชัดเจน เพราะเนื่องจากคอนโดมิเนียมถือเป็นพื้นที่ส่วนบุคคลของเอกชน

ดังนั้นหน่วยงานของรัฐจึงไม่สามารถเข้ามาทำอะไรได้ หากไม่ได้รับการอนุญาตจากทางคอนโด คณะกรรมการ และสมาชิกลูกบ้านซะก่อน รวมถึงขั้นตอนต่างๆก็อาจต้องใช้เวลานานสักนิดนึงนะครับ เพราะหน่วยงานของรัฐเค้าต้องดูแลหลายพื้นที่มากๆ บางที่ก็คิวยาวมากเลยล่ะ

แต่ถ้าโครงการไหนเป็นเคสพิเศษที่เร่งด่วนจริงๆ ซึ่งต้องการความสะดวกและรวดเร็ว ก็อาจเลือกใช้บริการของบริษัทเอกชนก็ได้ครับ แน่นอนว่าอัตราค่าบริการย่อมสูงกว่าด้วยเช่นกัน

โดย Think of Living เคยเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้แล้ว ซึ่งถ้าใครสนใจรายละเอียด ก็สามารถเข้าไปอ่านกันได้ครับที่บทความ >>> เทียบ 10 บริษัทฉีดพ่นฆ่าเชื้อ COVID-19 ราคาเท่าไร? เราควรฉีดหรือไม่?

โดยการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อในคอนโด ส่วนใหญ่ก็มักจะเหมาให้ฉีดพ่นทั้งโครงการกันใช่มั้ยครับ และสำหรับโครงการขนาดใหญ่ก็อาจต้องใช้ระยะเวลาสัก 2 – 3 วัน ซึ่งเจ้าหน้าที่เค้าจะเริ่มจากพื้นที่ส่วนกลางต่างๆก่อน ไม่ว่าจะเป็นล็อบบี้ ลิฟต์โดยสาร หรือฟิตเนส เป็นต้น

จากนั้นจะเรียงลำดับความสำคัญ โดยอาจเริ่มจากชั้นที่มีความเสี่ยงสูงก่อน เช่น ชั้นที่เคยมีผู้ป่วยอาศัยอยู่ แล้วจึงค่อยๆเริ่มฉีดพ่นไล่ลงมาทีละชั้น ซึ่งจะเน้นเป็นบริเวณโถงลิฟต์ โถงทางเดินหน้าห้องพัก ลูกบิดบานประตู ประตูหนีไฟ และห้องทิ้งขยะต่างๆ ที่อาจเป็นจุดได้รับการสัมผัส และเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค

ปล.ถ้าใครที่ออกมาเดินหน้าห้อง/ขึ้นลิฟต์ แล้วเห็นพื้นเปียกๆก็ไม่ต้องตกใจนะครับ เพราะเจ้าหน้าที่เค้าจะฉีดน้ำยาให้ซะชุ่มเลย เรื่องกลิ่นก็แล้วแต่น้ำยาที่แต่ละเจ้าเลือกใช้ บางเจ้าอาจมีกลิ่นแรงและฉุน บางเจ้าก็ไม่มีกลิ่น หรือบางเจ้าก็กลิ่นหอมดี(เหมือนคอนโดผม เป็นต้นฮ่าๆๆ)

5. อย่าเพิ่ง Panic ให้รักษาระยะห่าง ล้างมือให้บ่อยขึ้น และงดใช้ส่วนกลางในช่วงนี้

ข้อนี้สำคัญนะครับ คือถ้าเราได้รับแจ้งว่ามีผู้ป่วยในคอนโดแล้ว สิ่งที่ควรทำคือ เราต้องระมัดระวังตัวเองมากขึ้น หมั่นล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ งดใช้ส่วนกลางหรือพบปะผู้คนในช่วงนี้ไปก่อน พยายามอยู่แต่ภายในห้องพักของตัวเอง เพื่อที่จะได้ไม่ไปรับเชื้อ หรือแพร่เชื้อภายนอก

แล้วรอฟังข้อมูลที่แน่ชัดจากนิติบุคคลอีกครั้ง เพราะเค้าต้องมีการตรวจสอบ Timeline ของผู้ป่วยก่อน ว่าเริ่มมีอาการป่วยเมื่อไหร่ มีการใช้งานส่วนกลางที่ไหน/ช่วงเวลาใดบ้าง จากนั้นเราจึงนำข้อมูลนั้นมาพิจารณาเพื่อประเมินความเสี่ยงของตัวเอง ถ้าเรามีการพบปะ / ใช้งานส่วนกลางช่วงเวลาเดียวกับผู้ป่วย หรือพักอาศัยในโซน/ชั้นเดียวกัน เราจึงค่อยไปตรวจที่โรงพยาบาลเพื่อความแน่ใจอีกครั้งครับ

อย่าเพิ่งรีบไปตรวจที่โรงพยาบาลทันทีที่รู้ว่า มีคนในคอนโดติดโควิด !!

เพราะถ้าเราไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้ออยู่แล้ว ก็เท่ากับว่าเรากำลังเอาตัวเองไปอยู่ในกลุ่มคนเยอะๆ ที่โรงพยาบาลข้างนอกนั่น บางคนต้องไปนั่งรอต่อคิว 3 – 4 ชม. กว่าจะได้ตรวจก็มี และถ้าผลตรวจออกมาแล้วว่าเรามีการติดเชื้อ COVID-19 ก็จำเป็นต้องรีบแจ้งให้ทางนิติบุคคลทราบด้วยนะ

6. อาการป่วยเป็นอย่างไร และตรวจหาเชื้อ COVID-19 ได้ที่โรงพยาบาลไหน/ราคาเท่าไหร่บ้าง?

หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ทันที ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นหลังจากได้รับเชื้อมาแล้วอย่างน้อย 3 – 4 วัน และถึงแม้ว่าเราจะไปตรวจที่โรงพยาบาลทันทีที่รับเชื้อมา ก็จะยังตรวจไม่พบเชื้อ COVID-19 อยู่ดีครับ และปัจจุบันเจ้าเชื้อตัวนี้ก็มีหลากหลายสายพันธุ์มากๆอย่างที่เราทราบกัน ซึ่งความรุนแรงและอาการผิดปกติก็จะแตกต่างกันออกไป

และแม้ว่าผลตรวจรอบแรกจะออกมาแล้วว่าเราปกติดี แต่ถ้าใครที่ยังคงเป็นกังวล และคิดว่าตัวเองคือ “กลุ่มเสี่ยง” ที่มีโอกาสอาจได้รับเชื้อสูง ก็อาจต้องรอเวลาอีกสัก 1 – 2 อาทิตย์แล้วค่อยไปตรวจใหม่อีกครั้งครับ เพราะลักษณะอาการของเชื้อแต่ละสายพันธุ์ และสภาพร่างกายของคนเราไม่เหมือนกัน

ข้อมูลสถานที่ตรวจ COVID-19 พร้อมราคาค่าใช้จ่ายเบื้องต้น

(หมายเหตุ : เป็นข้อมูลโดยประมาณของช่วงต้นเดือนเมษา อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้นะครับ)

  • สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง ค่าใช้จ่าย 2,700 บาท
  • สถาบันบำราศนราดูร ค่าใช้จ่าย 2,500 – 3,500 บาท
  • รพ.จุฬาลงกรณ์ ค่าใช้จ่าย 3,000 – 6,000 บาท
  • รพ.รามาธิบดี ค่าใช้จ่าย คนไทยไม่เกิน 2,500 บาท / ชาวต่างชาติไม่เกิน 3,500 บาท
  • รพ.เวชศาสตร์เขตร้อน ค่าใช้จ่าย 3,000 บาท
  • รพ.ศิริราช ค่าใช้จ่าย 2,000 – 3,000 บาท (รับตรวจเฉพาะกลุ่มเสี่ยง)
  • รพ.ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ค่าใช้จ่าย 7,000 – 8,000 บาท (ไม่รวมค่าบริการอื่น ๆ)
  • รพ.วชิรพยาบาล ค่าใช้จ่าย 2,440 – 2,590 บาท
  • รพ.ราชวิถี ค่าใช้จ่าย 3,000 – 6,000 บาท
  • รพ.บ้านแพ้ว ค่าใช้จ่าย 3,000 บาท

โรงพยาบาลเอกชน

  • รพ.รามคำแหง ค่าใช้จ่าย 1,400 – 3,500 บาท
  • รพ.ปิยะเวช ค่าใช้จ่าย เริ่มต้นที่ 2,500 บาท
  • รพ.ธนบุรี ค่าใช้จ่าย เริ่มต้นที่ 2,500 บาท
  • รพ.กรุงเทพ ค่าใช้จ่าย 4,300 – 7,000 บาท (ขึ้นอยู่กับอาการและการตรวจเพิ่ม)
  • รพ.เกษมราษฎร์ ประชาชื่น ค่าใช้จ่าย 3,000 บาท
  • รพ.เกษมราษฎร์ บางแค ค่าใช้จ่าย 3,000 บาท หากต้องการใบรับรองแพทย์มีค่าบริการเพิ่ม 500 บาท
  • รพ.เกษมราษฎร์ รัตนาธิเบศร์ ค่าใช้จ่าย 3,000 บาท
  • รพ.เกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล รัตนาธิเบศร์ ค่าใช้จ่าย 3,000 บาท
  • รพ.เกษมราษฎร์ รามคำแหง ค่าใช้จ่าย 3,000 บาท (สำหรับคนไทย)
  • รพ.เกษมราษฎร์ ฉะเชิงเทรา ค่าใช้จ่าย 3,000 บาท
  • รพ.เกษมราษฎร์ ศรีบุรินทร์ ค่าใช้จ่าย 3,700 บาท
  • รพ.จุฬารัตน์ 3 อินเตอร์ ค่าใช้จ่าย 3,500 บาท (หากต้องการใบรับรองแพทย์มีค่าบริการเพิ่ม 500 บาท)
  • รพ.นครธน ค่าใช้จ่าย 3,740 บาท
  • รพ.นวมินทร์ ค่าใช้จ่าย 2,990 บาท
  • รพ.นันอา ค่าใช้จ่าย 1,100 บาท
  • รพ.บางปะกอก 9 ค่าใช้จ่าย 3,800 บาท (สำหรับคนไทย) / 4,500 บาท (สำหรับต่างชาติ)
  • รพ.บางโพ ค่าใช้จ่าย 3,500 บาท
  • รพ.บำรุงราษฎร์ ค่าใช้จ่ายประมาณ 7,500 บาท
  • รพ.เปาโลเมโมเรียล พหลโยธิน ค่าใช้จ่าย 5,500 บาท (สำหรับคนไทย) / 6,000 – 7,500 บาท (สำหรับต่างชาติ)
  • รพ.เปาโลเมโมเรียล เกษตร , โชคชัย 4 , รังสิต ค่าใช้จ่าย 4,500 บาท
  • รพ.พญาไท 1 ค่าใช้จ่าย 3,500 บาท
  • รพ.พญาไท 2 ค่าใช้จ่าย 6,500 บาท (รวมค่าบริการทุกอย่างแล้ว)
  • รพ.พญาไท 3 ค่าใช้จ่าย 4,000 บาท
  • รพ.พระราม 9 ค่าใช้จ่าย 6,500 บาท
  • รพ.แพทย์รังสิต ค่าใช้จ่าย 5,000 บาท
  • รพ.วิชัยยุทธ ค่าใช้จ่าย 5,500 – 6,000 บาท (ยังไม่รวมค่าแพทย์)
  • รพ.วิภาวดี ค่าใช้จ่าย 3,500 บาท (หากต้องการใบรับรองแพทย์มีค่าบริการเพิ่ม 500 บาท)
  • รพ.เวิลด์เมดิคอล ค่าใช้จ่าย 3,000 บาท
  • รพ.เอกชัย สมุทรสาคร ค่าใช้จ่าย 4,000 บาท
  • รพ.กรุงเทพพัทยา ค่าใช้จ่าย 3,800 บาท
  • รพ.สิริเวช จันทบุรี ค่าใช้จ่าย 4,500 บาท
  • รพ.ขอนแก่น ราม ค่าใช้จ่าย 2,500 บาท
  • รพ.อุบลรักษ์ ธนบุรี อุบลราชธานี ค่าใช้จ่าย 5,500 บาท
  • รพ.ราชเวชอุบลราชธานี ค่าใช้จ่าย 5,900 – 6,900 บาท
  • รพ.ลานนา เชียงใหม่ ค่าใช้จ่าย 6,500 บาท
  • รพ.เชียงใหม่ ราม ค่าใช้จ่าย 3,900 – 4,500 บาท
  • รพ.พะเยา ราม ค่าใช้จ่าย 3,500 บาท
  • รพ.กรุงเทพคริสเตียนค่าใช้จ่าย 5,000 – 10,000 บาท
  • รพ.นนทเวช ค่าใช้จ่าย 5,000 บาท

โรงพยาบาลเอกชนแบบ (Drive Thru)

  • รพ.กรุงสยามเซนต์คาร์ลอส ค่าใช้จ่าย 5,000 บาท
  • รพ.เกษมราษฎร์ สระบุรี ค่าใช้จ่าย 3,000 บาท
  • รพ.บางปะกอก-รังสิต 2 ค่าใช้จ่าย 4,500 บาท
  • รพ.พริ้นซ์ สุวรรณภูมิ ค่าใช้จ่าย 3,800 บาท
  • รพ.สินแพทย์ รามอินทรา ค่าใช้จ่าย 3,000 บาท
  • รพ.สินแพทย์ เทพารักษ์ ค่าใช้จ่าย 3,500 บาท
  • รพ.สินแพทย์ กาญจนบุรี ค่าใช้จ่าย 3,500 บาท
  • รพ.สมิติเวช สุขุมวิท ค่าใช้จ่าย 4,500 บาท
  • รพ.สหวิทยาการมะลิ ค่าใช้จ่าย 3,990 บาท (รับตรวจเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงเท่านั้น)
  • รพ.สุขุมวิท ค่าใช้จ่าย 5,500 บาท
  • รพ.มหาชัย 2 ค่าใช้จ่าย 4,500 บาท

แลปเอกชน

  • Wellmed Bangkok Clinic(อโศก) 3,500 บาท
  • Prolab Poly Clinic โทรให้เค้ามาตรวจที่บ้าน คิด 2,850 บาท ถ้าให้เอาผลตัวจริงมาส่งด้วยคิดเพิ่ม อีก 150 บาท
  • เมดิคอลไลน์ แล็บ 2,500 บาท


สรุป

การอยู่อาศัยในคอนโดมิเนียม นอกจากผู้พักอาศัยที่เป็นเจ้าบ้านแล้ว ยังมีนิติบุคคลที่ทำหน้าที่บริหารจัดการเรื่องต่างๆในคอนโดด้วย ซึ่งข้อมูลที่ได้จากนิติบุคคลก็นับว่าสำคัญและมีประโยชน์ต่อลูกบ้านอย่างมาก เพราะเราจะสามารถป้องกันหรือแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที รวมถึงประเมินความเสี่ยงของตัวเองได้อย่างถูกต้อง

ซึ่งก็อย่างที่ผมบอกทุกคนไปก่อนหน้านี้แล้วว่า เราอย่าเพิ่ง Panic หรือรีบออกไปตรวจที่โรงพยาบาลทันทีเมื่อทราบข่าว เพราะนอกจากจะมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงแล้ว ยังอาจตรวจไม่พบเชื้อในช่วงแรกอยู่ดี ทำให้ต้องไปตรวจซ้ำ 2 – 3 รอบ ต่อคิวกัน 3 – 4 ชม. เสียเงินกันเป็นหมื่นๆ แถมยังเป็นการเอาตัวเองออกไปเสี่ยงในพื้นที่สาธารณะเพิ่มขึ้นอีกด้วย

และสิ่งสำคัญที่สุดคือ การเว้นระยะห่างหรือ Social Distancing และควรหมั่นล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ หลีกเลี่ยงการออกไปพื้นที่สาธารณะโดยไม่จำเป็น และถ้ามีความผิดปกติก็ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะถ้าเชื้อ COVID-19 ยังไม่ลงไปทำลายปอดหรือระบบทางเดินหายใจ ก็ยังสามารถรักษาให้หายได้ และก็อย่าลืมแจ้งกับทางนิติบุคคลให้รับทราบด้วยนะครับ เพื่อที่จะได้ลดความเสี่ยงไม่ให้เชื้อกระจายเป็นวงกว้างไปมากกว่าเดิม

สำหรับครั้งหน้า Think of Living จะมีบทความอะไรดีๆมาฝากกันอีก ก็อย่าลืมติดตามกันด้วยนะ …และรักษาสุขภาพกันด้วยครับทุกคน สวัสดีครับ

ThinkofLiving มี LINE Official Account แล้วนะ
ไม่อยากพลาดข้อมูลข่าวสารก็ Add เลย > https://lin.ee/svACOxc