..ช่วงฤดูฝนแบบนี้ ฝนฟ้ากระหน่ำกันแทบทุกวันไม่ขาดสายเลยนะคะ ถึงแม้ว่าฝนจะมาช่วยดับร้อนไปได้มาก แต่ก็มีปัญหาต่างๆ ที่ตามมาในฤดูนี้เช่นกัน วันนี้จะมาเผยวิธีรับมือกับ ” ปัญหาหลังคาบ้านรั่ว ซึม “ ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ของบ้านปัญหาหนึ่ง เพราะหลังคาที่รั่ว ทำให้น้ำจากด้านนอกไหลเข้ามาในบ้านได้ ทั้งที่ไหลไปตามโครงสร้างแล้วหยดลงฝ้าเพดาน แล้วไม่นานก็คงจะหยดลงพื้น บางหลังที่หนักกว่านี้ก็คือน้ำที่ไหลเข้ามานั้นไปโดนพวกเฟอร์นิเจอร์ โดนเครื่องใช้ไฟฟ้าด้วยก็มี จึงอยากให้เพื่อนๆ รู้ถึงสาเหตุและวิธีการป้องกันแก้ไข กันก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์เลวร้ายกับบ้านอันเป็นที่รักของทุกคนค่ะ 🙂

เหตุการณ์หลังคารั่วแบบนี้ ใครๆ ก็คงไม่อยากให้เกิดกับบ้านของตัวเองกันใช่ไหมคะ บทความนี้เราจะมาให้ความรู้แก่ทุกท่านถึงวิธีที่จะใช้ในการหลีกเลี่ยงปัญหา “หลังคาบ้านรั่ว ซึม” ซึ่งคงจะต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจกันถึง สาเหตุ ซะก่อน เพื่อที่จะได้รู้ว่าอะไรบ้างที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการรั่วซึมของหลังคาบ้าน แล้วจึงจะทำการ ป้องกันและแก้ปัญหา ได้อย่างถูกจุด บางสาเหตุก็แก้ไขได้ไม่ยาก แต่บางสาเหตุก็ต้องเสียเงินทองกันมากทีเดียว ทางทีมงานได้ค้นหาสาเหตุมาและแบ่งเป็นข้อย่อยๆ ดังนี้

  • วิธีการมุงกระเบื้องที่ไม่เหมาะสม หลังคาก็เหมือนจิ๊กซอว์ที่เกิดจากการนำชิ้นส่วนย่อยๆ ประกอบขึ้นเป็นแผ่นหลังคาทั้งหมด แน่นอนว่าจะต้องเกิดรอยต่อระหว่างการซ้อนทับกัน ซึ่งระยะซ้อนทับของกระเบื้องแต่ละแผ่นนั้นหากว่ามีระยะน้อยเกินไป ก็จะเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้น้ำฝนย้อนเข้ามาใต้ผืนหลังคาได้ นอกจากนี้ก็ต้องคำนึงถึงเรื่องของทิศทางการซ้อนทับกันด้วยว่า สัมพันธ์กับทิศทางลมฝนหรือไม่ โดยพิจารณาจากลมฝนที่เกิดขึ้นในแต่ละทำเลที่ตั้ง เพราะ การซ้อนกันของกระเบื้องจะมีรอยต่อด้านข้างที่จะเป็นจุดที่น้ำฝนสามารถย้อนเข้าไปได้ ถ้าหากว่าเกิดวางอยู่ในทิศทางที่ปะทะกับลมฝน น้ำฝนก็มีโอกาสที่จะไหลเข้าไปตามรอยต่อได้มาก หรืออาจจะเกิดจากความลาดชันของผืนหลังคาที่น้อยเกินไป ก็ทำให้น้ำสามารถไหลย้อนกลับเข้าไปได้ค่ะ

–> สาเหตุนี้สามารถแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้าได้ด้วยการเอาผ้ายางคลุมหลังคา หรืออุดรอยรั่วชั่วคราวด้วยเทปกาว แต่ก็จะต้องมีการรื้อหลังคาแล้วมุงใหม่เป็นการถาวรในอนาคตอีกอยู่ดีค่ะ

  • การยึดติดกระเบื้อง จะมีปัญหามาจากกระเบื้องจำพวกที่ต้องเจาะรูสำหรับยึดกับแปด้วยสกรูหรือตะปู ซึ่งการเจาะรูกระเบื้องนั้นควรจะใช้สว่าน เพราะความคมของดอกสว่านและความเร็วรอบของการหมุนดอกสว่าน จะไม่ทำให้กระเบื้องแตกร้าวเป็นแนวยาว ซึ่งตรงจุดนี้เองเป็นอีกจุดที่ทำให้น้ำรั่วเข้าได้

–> การซ่อมแซมเบื้องต้นคือการอุดด้วยเทป กาวยาง ที่ใช้สำหรับอุดรอยรั่วหลังคา มาใช้ปิดรูหรือรอยแตกที่ว่านี้ ซึ่งในระยะยาวอาจต้องมีการเปลี่ยนกระเบื้องแผนใหม่ เพราะ เป็นทางเลือกที่ถาวรกว่า

  • เกิดจากกระเบื้องหลังคาไม่อยู่ในระนาบเดียวกัน แผ่นกระเบื้องหลังคาซ้อนทับกันไม่สนิท สาเหตุนี้มักเกิดมาจากเรื่องของโครงสร้างหลังคาในส่วนที่แปแอ่น ซึ่งถ้าเกิดจากสาเหตุนี้ขอบอกเลยว่าแก้ไขได้ยากมากทีเดียว ต้องอาศัยการรื้อหลังคาออกแล้วแก้โครงสร้างหลังคากันใหม่ ฟังดูก็รู้แล้วใช่ไหมคะว่าค่าใช้จ่ายต้องสูงแน่นอน เพราะมันเป็นเรื่องของโครงสร้าง

–> สำหรับสาเหตุนี้ต้องป้องกันตั้งแต่เริ่มก่อสร้างเลยนะคะ พวกความคิดที่อยากประหยัดต้นทุนในตอนก่อสร้างอาจทำให้การเลือกขนาดของไม้แปที่เล็กไป หรือเว้นระยะห่างของจันทันมากไป ทำให้เวลาใช้งานจริงอาจเกินอาการตกท้องช้างได้ จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดตั้งแต่ตอนสร้างนั่นเองค่ะ

  • น้ำรั่วซึมจากรางระบายน้ำ เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มองข้ามกันไม่ได้เลย เพราะบางทีน้ำก็รั่วเข้ามาจากรางน้ำฝนนี่แหละค่ะ อาจเกิดจากการที่ขนาดของรางไม่สัมพันธ์กับขนาดของหลังคา ซึ่งบางทีเป็นหลังคาผืนใหญ่ แต่ใส่รางน้ำฝนเล็กไป ก็ทำให้น้ำไหลย้อนเข้าในตัวบ้านได้

–> ในกรณีเช่นนี้ จึงควรเปลี่ยนรางรับน้ำในตะเข้รางให้มีขนาดที่สามารถรองรับปริมาณน้ำฝนได้มากขึ้นนะคะ กรณีที่หลังคามีรางรับน้ำโดยรอบชายคา ต้องหมั่นตรวจสอบดูด้วยว่ารางรับน้ำหรือท่อระบายน้ำของรางมีอะไรมาอุดตันหรือไม่ เพราะถ้าอุดตันจะทำให้น้ำล้นรางเข้าสู่อาคารได้ นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องของการอุดตันด้วยเช่นกัน ควรเลือกที่มีอุปกรณ์ฝาครอบ เพื่อกันใบไม้อุดตันนั่นเอง

  • น้ำรั่วตามแนวรอยต่อระหว่างผืนหลังคา 2 ผืน ซึ่งแนวรอยต่อนี้จะต้องมีอุปกรณ์ที่เรียกว่า “ครอบ” ปิดไว้ น้ำฝนต่างๆ ก็มักจะรั่วตามครอบนี้ ถ้าหากมีการเสื่อมสภาพของปูนยึดครอบ หรือเกิดการแตกหักเสียหายที่ตัวครอบเอง แต่ก็อาจเกิดจากการติดตั้งที่ผิดวิธีได้เหมือนกันนะคะ เช่น การมุงครอบไม่ดี ทำให้เกิดการเผยอ เป็นต้น

–> สาเหตุนี้ก็ต้องดูว่าเกิดจากปัญหาใดของ “ครอบ” หากเป็นปัญหาในส่วนปูนยึดครอบ ควรรื้อปูนที่พอกออกแล้วติดตั้งใหม่ หรือหากปัญหามาจากตัว ” ครอบ ” ที่เสื่อมสภาพก็ควรเปลี่ยนใหม่ไปเลย หรือบางทีก็เกิดจากวิธีติดตั้งที่ผิด เช่น วางแปคู่สันห่างเกินไป เป็นต้น

 

พอจะทราบถึงสาเหตุ วิธีการป้องกัน และการแก้ปัญหา ของหลังคารั่วซึมกันแล้ว แต่เหตุการณ์เหล่านี้นับว่าเป็นปัญหาบ้านที่เรายากจะคาดเดาได้ ก็เราไม่ได้เป็น  “ช่างซ่อมบ้าน” กันได้ทุกคนหน่ะสิคะ แล้วจะมีวิธีอย่างไรอีกบ้างในการรับมือกับปัญหานี้.. ” การทำประกันภัยบ้าน “ ถือเป็นอีกทางออกหนึ่งที่จะทำให้เราไม่ต้องเสียเงินก้อนโตไปกับการซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดขึ้น หากวันหนึ่งเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน น้ำรั่วผ่านหลังคาเข้ามาในบ้าน ซึ่งอาจทำให้เราต้องซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ใหม่ และซ่อมแซมบ้านในส่วนที่ชำรุดเสียหาย ..หากใครยังไม่เข้าใจถึงเรื่องของประกันภัยบ้านว่าทำหน้าที่อะไร บทความนี้จะยก Case Study ที่เกิดขึ้นจริงมาเล่าให้ฟังกันค่ะ

เริ่ม Case Study แรกกันเลยนะคะ บ้านหลังนี้หลังคารั่ว..แล้วพอน้ำรั่วเข้ามาทางหลังคาแล้ว น้ำก็ไหลเข้ามาในห้องนอนเล็ก ทำให้ฝ้าทะลุลงมาเลยทีเดียว พอแจ้งไปทางประกันภัยก็จะเข้ามาตรวจสอบสาเหตุ พอทราบว่าเป็นเพราะฝนที่ตกกระหน่ำทำให้หลังคารั่ว จึงทำการตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อไป

พอเหตุการณ์มันเลวร้ายมาถึงขั้นที่ฝ้าทะลุลงมาแล้วล่ะก็ พวกพื้น เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าในห้องนั้นก็จะได้รับความเสียหายไปด้วย อย่างหลังนี้ก็จะมีเคลมพวกทีวี เครื่องปรับอากาศ และพื้นที่เสียหายจากน้ำที่ไหลเข้ามาค่ะ

ทางประกันภัยก็จะรับผิดชอบกับความเสียหายพวกนี้ แต่จะไม่ได้รับผิดชอบกับตัวต้นเหตุของเรื่องอย่างหลังคานะคะ ที่ต้องไปซ่อมเอง อย่างเคสนี้จะรับผิดชอบเฉพาะความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างพวกพื้น เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เท่านั้นค่ะ

Case Study ที่ 2 เป็นบ้านพักอาศัยชั้นเดียว ที่ถูกพายุฝนกระหน่ำจนไม้เชิงชายหลุดออกไป ทำให้น้ำฝนสามารถเข้ามาตามช่องที่เปิดอยู่นี้ แล้วก็ไหลลงมายังฝ้าอีกเช่นเดียวกัน ทางประกันภัยก็จะรับผิดชอบในส่วนของความเสียหายที่เกิดขึ้น ได้แก่ พวกฝ้าที่โดนน้ำ ม่าน หน้าต่าง พื้นบ้าน และเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

Case Study ที่ 3 เป็นเหตุการณ์ที่เกิดจากหลังคารั่วเช่นกัน พอน้ำรั่วเข้ามาแล้วก็ทำให้ฝ้าเพดานแยกออกมาและสีก็ร่อน ทำให้น้ำไหลจากฝ้าลงมาที่พื้นบ้าน ทำความเสียหายให้กับเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ค่ะ

ขอขอบคุณ Case Study จริงจากบริษัท AXA นะคะ โดยในส่วนของ “ประกันภัยบ้าน” นั้น ก็จะครอบคลุมในส่วนของความเสียหายที่เกิดขึ้น อย่างในกรณีของหลังคารั่วนี้ ก็จะสามารถเคลมได้ตั้งแต่เรื่องฝ้าเพดานบวมหรือถล่ม ที่เกิดจากน้ำที่ไหลมาจากหลังคา มาจนถึงพื้นบ้าน ที่มักจะเกิดอาการบวมจากความชื้นที่สะสม รวมถึงพวกเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่เกิดความเสียหายจากน้ำที่หยดลงมาได้เช่นกัน แต่จะไม่ได้รับผิดชอบตัวหลังคาที่เป็นสาเหตุของเหตุการณ์นี้ที่เจ้าของบ้านต้องไปซ่อมแซมเอง สำหรับใครที่สนใจ ” ประกันภัยบ้าน ” ก็สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่นี่ เลย

* ผู้ซื้อควรทำความเข้าใจรายละเอียดความคุ้มครองและเงื่อนไข ก่อนตัดสินใจทำประกันภัยทุกครั้ง