ปัจจุบันการออกแบบบ้านหรือคอนโดที่มีช่องแสงเยอะๆ และได้ช่องแสงขนาดใหญ่นั้นเป็นที่ชื่นชอบของคนส่วนมาก เพราะเป็นช่องให้แสงธรรมชาติสามารถลอดผ่านเข้ากระจกเข้ามาได้ ทำให้ภายในบ้านดูโปร่งโล่งและยังเปิดมุมมองออกสู่ภายนอกได้อีกด้วย จากเหตุผลนี้ทำให้ “กระจก” กลายเป็น 1 ในวัสดุสำคัญที่เรามักเห็นกันอยู่ในหลายๆ ส่วนของอาคาร แต่ในขณะเดียวกันกระจกก็เป็นวัสดุที่ต้องการการดูแลรักษาและต้องระมัดระวังในการใช้งานเป็นพิเศษด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามชนิดของกระจกก็เป็นตัวแปรสำคัญที่หากใช้ถูกประเภท ถูกลักษณะงานแล้ว ก็จะทำให้เราดูแลได้ง่ายขึ้น วันนี้ทางทีมงานจึงอยากมาแชร์ถึงข้อมูลของชนิดกระจกที่มีความเหมาะสมกับงานต่างๆ และมีวิธีรับมือกับเหล่าบรรดา “รอยร้าว และการแตกหักเสียหาย” เพื่อให้เพื่อนๆ ได้รู้ถึงสาเหตุ วิธีการป้องกันและการแก้ไขปัญหากวนใจในการอยู่อาศัยค่ะ
การออกแบบช่องเปิดให้กับบ้าน นอกจากจะเป็นการช่วยให้ภายในบ้านดูโปร่งโล่งแล้ว ยังเป็นการเพิ่มความสว่างให้พื้นที่ภายในบ้านและเป็นการเปิดช่องให้สามารถมองทัศนียภาพภายนอกได้ด้วย แต่แสงธรรมชาติที่เข้ามาในบ้านก็มาพร้อมกับความร้อนจากแสงแดดที่ส่องผ่านเข้าในบ้าน หรือปัญหาอย่างการติดตั้งกระจกบนชั้นสูงๆ ก็มีความเสี่ยงที่กระจกจะแตกแล้วหล่นลงมาโดนคนข้างล่างได้เช่นกัน แล้วถ้าอยากใช้วัสดุกระจกในตัวบ้านควรทำอย่างไรดี?..การเลือกใช้กระจกที่ถูกชนิดเป็นทางออกหนึ่งที่ช่วยลดปัญหาเหล่านี้ได้ ซึ่งชนิดของกระจกนั้นมีให้เลือกหลากหลาย แต่ละชนิดก็เหมาะกับการใช้งานที่แตกต่างกัน โดยในโครงการอสังหาฯ ปัจจุบันมักจะใช้ “กระจกลามิเนต” (Laminated Glass) และ “กระจกเทมเปอร์” (Tempered Glass) เป็นส่วนใหญ่..จริงๆ แล้วชนิดของกระจกที่ใช้กับอาคารมีอีกมากมายหลายชนิด จึงอยากพาไปรู้จักแต่ละชนิดกันก่อนนะคะ
ชนิดของกระจกที่ใช้กับอาคาร
เกริ่นก่อนว่า..”กระจก” เป็นวัสดุที่ผลิตมาจากวัตถุดิบ หลักๆ คือทรายแก้ว (Silica sand) ในสัดส่วนประมาณ 60% ซึ่งจะน้ำมาผสมกับส่วนประกอบอื่นๆ เช่น โซดาแอซ, แร่ธาตุจำพวกหินปูน, ผงคาร์บอน ผงเหล็ก, โซเดียมซัลเฟตและสารเคมีอื่นๆ โดยวิธีผลิตคือการนำวัตถุดิบที่กล่าวมานี้มาผสมให้เข้ากันด้วยความร้อนที่อุณหภูมิสูงถึง 1,500 องศาเซลเซียส จนวัตถุดิบที่ผสมกันนี้ละลายจนเป็นของเหลว เรียกของเหลวนี้ว่า “น้ำกระจก” หลังจากนั้นก็ปรับอุณหภูมิให้ลดลงจนเหลือประมาณ 1,100 องศาเซลเซียส เพื่อให้น้ำกระจกนี้มีความหนืดพอเหมาะ แล้วจึงนำไปขึ้นรูปเป็นรูปร่างต่างๆ อันนี้เป็นขั้นตอนทั่วไปของวิธีผลิตกระจก ซึ่งในกระจกแต่ละชนิดนั้นก็จะมีเทคนิคต่างๆ ที่ทำให้เกิดคุณสมบัติที่แตกต่างกันอีกจะขอแยกตามกระบวนการผลิตออกเป็น 3 กลุ่มหลักๆ ตามนี้นะคะ
1. กระจกวัตถุดิบ (Annealed glass) “Annealed Glass” หรือที่บางทีก็เรียกว่า “Float Glass” เป็นวิธีการผลิตกระจกที่เข้ามาแทนที่ “Sheet Glass” ซึ่งเป็นกระจกที่ถูกผลิตเป็นรุ่นแรก ๆ จึงยังมีความไม่เรียบของผิวกระจก มีลักษณะที่เป็นลอนๆ อยู่บ้าง ทำให้ภาพบิดเบือน ต่อมาจึงมีการพัฒนากระบวนการผลิตโดยการปล่อยน้ำกระจกให้ไหลลอยไปขึ้นรูปบนผิวดีบุกหลอม แล้วปล่อยให้น้ำกระจกนี้เซ็ตตัวเองตามธรรมชาติ ซึ่งระหว่างกระบวนการจะมีการควบคุมอุณหภูมิและความดันไว้อย่างดี ทำให้ได้แผ่นกระจกที่มีผิวเรียบสม่ำเสมอตลอดทั้งแผ่น มีความโปร่งแสงสูง เรียกกระจกที่ผลิตด้วยวิธีนี้ว่า “กระจกวัตถุดิบ (Annealed glass)” ส่วนใหญ่จะมีเนื้อใสอมเขียวนิดๆ ซึ่งถ้าใครต้องการให้กระจกมีสีก็สามารถสั่งผลิตได้ในขั้นตอนนี้เลย กระจกชนิดนี้เวลาแตกจะเป็นปากปลาฉลามก็จะอันตรายหน่อย แต่ยังโชคดี ที่รอยแตกจะวิ่งเข้าสู่กรอบ ทำให้ยังไม่ร่วงลงมาที่พื้นในทันที ส่วนใหญ่จะนำไปใช้ทำกรอบรูป กระจกเงา และกระจกที่ใช้สำหรับเครื่องเรือน ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
1.1 กระจกโฟลตใส (Clear Float Glass) เป็นกระจกที่มีรอยต่อระหว่างกระจกน้อย ตัวกระจกอมความร้อนไว้ได้น้อยทำให้ความร้อนสามารถผ่านได้มาก จึงไม่เหมาะจะนำมาใช้กับงานผนังอาคารอยู่อาศัยที่ต้องการความเป็นส่วนตัว ส่วนใหญ่จะใช้เมื่อต้องการโชว์ของด้านในอย่างพวกตู้ดิสเพล และงานแสดงสินค้า
1.2 กระจกสี (Tinted Float Glass) เป็นกระจกที่ได้รับความนิยมมากในบ้านเรา เห็นบ่อยๆ ทั้งโครงการบ้านและคอนโดฯ ที่เรามักเรียกกันว่า “กระจกตัดแสง” วิธีผลิตของกระจกชนิดนี้ คือ การเติมสารจำพวกโลหะเข้าไปทำให้กระจกมีสีต่างๆ เช่น สีชา สีดำ สีฟ้า สีเขียว เป็นต้น ซึ่งเนื้อกระจกชนิดนี้จะช่วยดูดซับรังสีต่างๆ และพลังงานต่างๆ เอาไว้ ทำให้ความร้อนผ่านเข้ามาในตัวบ้านได้น้อยกว่ากระจกใสทั่วไป ที่นิยมที่สุดในบ้านเราคือคือกระจกตัดแสงสีเขียว เพราะกระจกสีเขียวมีคุณสมบัติให้แสงผ่านได้มาก แต่สามารถดูดซับ ความร้อนไม่ให้ผ่านได้มากกว่ากระจกสีอื่นๆ ทั้งหมดนั่นเอง จากคุณสมบัติที่ช่วยตัดแสงที่จะเข้ามาภายในอาคาร จึงมีความนิยมใช้กันในงานภายนอก เพื่อให้ช่วยสะท้อนรังสีความร้อนและช่วยลดการทำงานของเครื่องปรับอากาศได้ แต่กระจกชนิดนี้ก็มีราคาสูงกว่ากระจกแบบใสธรรมดาอยู่ 3-4 เท่า
อย่างไรก็ตาม ด้วยคุณสมบัติของกระจกสี (Tinted Float Glass) ที่อมความร้อนได้มากกว่ากระจกโฟลตใส (Clear Float Glass) ทำให้ต้องระวังปัญหาการแตกของกระจก เนื่องจากอุณหภูมิที่ต่างกันของกระจกด้านในและด้านนอกอาคาร ซึ่งหากมีความต่างมากจะส่งผลต่อการยืดหดของเนื้อกระจกที่ไม่เท่ากัน ทำให้กระจกแตกเสียหายได้
2. กระจกที่นำมาผ่านกระบวนการเพิ่มเติม กระบวนการที่เพิ่มนี้ก็ช่วยให้กระจกมีคุณสมบัติต่างๆ เพิ่มตามมาด้วย เช่น การนำมาอบความร้อนเพื่อให้กระจกแข็งแรงขึ้น ทำให้กระจกดัดได้มากขึ้น หรือการเคลือบผิวหน้าเพื่อให้กระจกสะท้อนความร้อน กระจกที่อยู่ในกลุ่มนี้ก็มีอยู่หลายชนิด ได้แก่
2.1 กระจกเทมเปอร์กลาส (Tempered Glass) มีกรรมวิธีผลิตเพิ่มเติมจากกระจก Clear Float Glass โดยนำมาอบความร้อนอีกครั้งแล้วทำให้เย็นลงอย่างรวดเร็ว ด้วยการเป่าลมเย็นทั้ง 2 ด้าน ทำให้กระจกชนิดนี้สามารถรับแรงได้มากกว่าถึง 10 เท่า และยังสามารถดัดได้มากกว่าถึง 3 เท่า สามารถรับแรงอัดของลมได้ดี แต่ไม่สามารถทำการตัดหรือเจาะได้ เพราะกระจกชนิดนี้ไม่ทนต่อแรง Point Load จุดเด่นของกระจกชนิดนี้ คือ เมื่อแตกจะเป็นเม็ดเล็กคล้ายเมล็ดข้าวโพด ไม่มีเหลี่ยมคมและร่วงหล่นออกมาจากกรอบทั้งหมด จึงช่วยป้องกันเศษกระจกบาดได้ นิยมใช้กับงานประตูกระจก, ผนังกั้นอาบน้ำ (Shower Box), ผนังภายนอกอาคารสูงๆ และเหมาะสำหรับใช้งานในสภาพที่เสี่ยงต่อการกระแทก
2.2 กระจกกึ่งนิรภัย (Heat Strengthened Glass) เป็นกระจกที่ทำให้แข็งแรงขึ้นด้วยความร้อน โดยการนำกระจก Clear Float Glass มาผ่านกระบวนการอบความร้อนและทำให้เย็นอย่างช้าๆ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของผิวกระจกและสามารถรับแรงได้มากกว่า 2-3 เท่า และเมื่อกระจกแตกจะมีลักษณะเป็นปากฉลามยึดติดอยู่กับกรอบไม่ร่วงหล่นเหมือนกระจกนิรภัยเทมเปอร์ (Tempered Safety Glass) จึงนิยมใช้ในการทำผนังภายนอก
2.3 กระจกสะท้อนรังสีจากดวงอาทิตย์ (Solar Reflective Glass) เป็นกระจกเคลือบผิวออกไซด์ความโปร่งแสงต่ำคนภายนอกมองเข้ามาภายในลำบาก แต่คนภายในมองออกภายนอกได้ชัด สามารถสะท้อนแสงจากดวงอาทิตย์ที่จะผ่านเข้าสู่อาคารได้ประมาณ 30% เป็นการลดภาระของระบบปรับอากาศ มักนิยมใช้กระจกประเภทนี้กับผนังภายนอกอาคาร
2.4 กระจกแผ่รังสีต่ำ (Low-E Glass) คล้ายกับกระจกสะท้อนรังสีจากดวงอาทิตย์ (Solar Reflective Glass) แต่โลหะที่ใช้เคลือบจะมีส่วนประกอบของโลหะเงินบริสุทธิ์ ช่วยให้สามารถถ่ายเทความร้อนได้ดีขึ้นและลดปัญหาเรื่องกระจกแตกร้าวได้ดีกว่า Solar Reflective Glass แต่จะจก Low-E นี้จะตัดแสงได้น้อยกว่านะคะ
3. กระจกที่นำมาประกอบรวมกันตั้งแต่ 2 แผ่นขึ้นไป เป็นกระบวนการผลิตที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการป้องกันความร้อนและความปลอดภัย กระจกประเภทนี้ ได้แก่
3.1 กระจกลามิเนต คือ กระจกที่ประกอบไปด้วยกระจกตั้งแต่ 2 แผ่นขึ้นไปเช่นกัน มาประกบหรือติดด้วย PVB (Poly Vinyl Butyral) ทำให้กระจกจะติดกับ PVB ไม่ร่วงหล่นจากกรอบ จึงเห็นว่านิยมใช้กระจกชนิดนี้กับผนังภายนอกอาคาร บนอาคารสูงๆ ใช้เป็นราวกันตก เป็นต้น อย่างในภาพเป็นตัวอย่างของโครงการที่เลือกใช้กระจกลามิเนตบนชั้น Rooftop ของโครงการ โดยข้อดีของกระจกลามิเนต คือ ผู้ออกแบบสามารถเลือกชนิดของกระจกทั้ง 2 ฝั่งที่จะนำมาประกบกันได้ เพื่อให้ได้คุณสมบัติครบตามต้องการ เช่น ฝั่งหนึ่งเลือกเป็นกระจกกึ่งนิรภัย (Heat Strengthened Glass) เพื่อให้มีความแข็งแรง ส่วนอีกด้านหนึ่งเลือกกระจกตัดแสงเพื่อให้ช่วยดูดซับรังสีความร้อน ก็ทำได้ค่ะ
3.2 กระจกฉนวน (Insulated Glass Unit- IGU) กระจกฉนวนความร้อน (Insulating Glass Units) คือ เป็นกระจกตั้งแต่ 2 แผ่นขึ้นไปมาประกบกัน โดยมี Aluminium Spacer ซึ่งบรรจุสารดูดความชื้นแล้วใส่ฉนวน เช่น อากาศแห้ง (Dried Air) หรือ ก๊าซเฉื่อย ไว้ภายในเพื่อให้มีคุณสมบัติในการเก็บรักษาอุณภูมิภายในได้ดีมาก (สามารถสะท้อนความร้อนได้ประมาณ 95%-98%) และไม่ทำให้เกิดฝ้าหรือหยดน้ำ แม้ว่าอุณหภูมิภายในกับภายนอกแตกต่างกันมาก การนำไปใช้งาน-กระจกประเภทนี้จะมุ่งเน้นการใช้งานไปในแนวทางการประหยัดพลังงานภายในอาคารและการใช้งานสำหรับอาคารเฉพาะทางเนื่องจากมีคุณสมบัติ คือ การยอมให้แสงผ่านเข้ามาภายในอาคารมากแต่ความร้อนที่จะผ่านกระจกเข้ามาน้อยมากจึงมักนิยมใช้สำหรับอาคารที่ต้องการควบคุมอุณภูมิให้คงที่ตลอดเวลาเช่น พิพิธภัณฑ์อาคารเก็บอาหารห้องเก็บไวน์ เป็นต้น
ตัวอย่างหนึ่งของโครงการพักอาศัยที่เลือกใช้กระจกฉนวน (Insulated Glass Unit- IGU) สีน้ำเงินตัดแสงมาทำเป็นราวกันตกบริเวณระเบียง ป้องกันการถ่ายเทความร้อนระหว่างภายในกับภายนอกอาคาร จึงช่วยลดความร้อนที่ส่องเข้ามาพื้นที่ระเบียง
พอจะทราบถึงความหลากหลายของชนิดกระจกที่มีให้เลือกใช้กันแล้วใช่ไหมคะ กระจกแต่ละประเภทก็มีคุณสมบัติที่แตกต่างกันออกไปเพื่อให้เหมาะกับการใช้งาน บางชนิดช่วยลดความร้อนให้พื้นที่ภายในบ้าน บางชนิดมีความแข็งแรงใช้เป็นราวกันตกได้ดี อย่างไรก็ตามการใช้งานกระจกก็ต้องมีความระมัดระวัง เพราะมีความเสี่ยงต่อการแตกร้าวระหว่างการใช้งานได้อยู่ตลอด เราไปดูสาเหตุและวิธีการป้องกันเบื้องต้นกันต่อเลยค่ะ
สาเหตุและวิธีป้องกัน
1.การแตกร้าวที่เกิดจากการที่กระจกบิดตัวหรือแอ่นตัวมากเกินไป ซึ่งน่าจะเกิดตั้งแต่การติดตั้งว่ากรอบบิดตัวไม่ได้ระนาบที่พอดี รวมไปถึงอาจมาจากการเลือกความหนาของกระจกไม่เหมาะสม เพราะการเลือกความหนาของกระจกต้องให้สัมพันธ์กับความกว้างของกระจกด้วยนะคะ
2.กระจกที่แตกหรือร้าวเอง ส่วนใหญ่จะเกิดกับกระจกเทมเปอร์ ซึ่งมีสาเหตุได้จากหลายอย่างด้วยกัน ได้แก่
2.1 การเคลื่อนย้ายและติดตั้ง ในระหว่างติดตั้งหรือเคลื่อนย้ายผิวกระจกอาจกระแทกจนเกิดรอย ซึ่งอาจจะยังไม่แตกในตอนนั้น แต่รอยเหล่านี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้กระจกพร้อมแตกได้เสมอ หรือตอนติดตั้งที่ไม่ระวังมากพอทำให้มีเศษอะไรเข้าไปเบียดกับขอบกระจก ก็ทำให้กระจกแตกได้
2.2 อาคารหรือตึกที่อยู่อาศัยได้รับแรงสั่นสะเทือน อย่างเช่นเหตุการณ์กระจกของคอนโดที่อยู่ติดกับงาน S2O เกิดการร้าวจากเสียงที่ดังเกินไป
2.3 กระจกเทมเปอร์ จะมีสารนิกเกิลซัลไฟด์ปะปนมาตั้งแต่กระบวนการหลอม ทำให้เมื่อเนื้อกระจกโดนความร้อนก็จะขยายตัวขึ้น และเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นมากๆ ก็ทำให้กระจกสามารถแตกเองได้
3.ความร้อนในเนื้อกระจกที่กระจายตัวไม่เท่ากัน ทำให้กระจกเกิดรอยร้าว และแตกได้ ยิ่งถ้าหากกระจกมีรอยตำหนิที่อาจเกิดจากการขนส่งหรือติดตั้ง ยิ่งทำให้เกิดการแตกร้าวได้เร็วขึ้น
สรุปเบื้องต้น…การแตกร้าวร้าวของกระจกที่กล่าวมานี้ บางปัญหาก็เป็นเรื่องของการเลือกชนิดและขนาดของกระจกที่ไม่เหมาะสม บางปัญหาก็เกิดจากขั้นตอนในการติดตั้ง และบางปัญหาก็เกิดจากความแตกต่างของอุณหภูมิที่แตกต่างกันของภายนอกและภายในอาคาร ซึ่งเป็นเรื่องที่เราควบคุมได้ยาก ทำให้เกิดความเสียหายต่อตัวกระจกเองและอาจทำอันตรายต่อผู้ที่อยู่ในบริเวณนั้นๆ ดังนั้น เมื่อเกิดรอยร้าวก็ควรแก้ไขโดยเร็ว เพื่อลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตให้ได้มากที่สุด
การป้องกันแก้ไขสำหรับรอยแตกร้าวของกระจกต่างๆ ก็ได้อธิบายไปหมดแล้ว ก็หวังว่าจะช่วยหาวิธีแก้ไขให้กับเพื่อนๆ ได้พอสมควร แต่เรื่องของกระจกนี้เป็นปัญหาที่เตรียมการรับมือได้ยาก แล้วจะมีวิธีอย่างไรอีกบ้างในการรับมือกับปัญหานี้ ?.. “การทำประกันภัยบ้าน” ถือเป็นอีกทางออกหนึ่งที่จะทำให้เราไม่ต้องเสียเงินก้อนโตไปกับการซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดขึ้น หากวันหนึ่งเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น ช่วงที่มีอากาศร้อนจัดๆ ทำให้อุณหภูมิภายนอกกับภายในบ้านแตกต่างกันมากๆ จนผนังกระจกบานใหญ่เกิดอาการร้าวกันหลายบาน ซึ่งทำให้เราต้องเสียเงินเปลี่ยนกระจกเหล่านี้ การทำประกันภัยบ้านเป็นทางออกหนึ่งที่ทำให้เราไม่ต้องเสียค่าซ่อมแซมความเสียหายในส่วนนี้ ..หากใครยังไม่เข้าใจถึงเรื่องของประกันภัยบ้านว่าทำหน้าที่อะไร บทความนี้จะยก Case Study ที่เกิดขึ้นจริงมาเล่าให้ฟังกันค่ะ
เริ่ม Case Study แรกกันเลยนะคะ เป็นกรณีของคอนโดแห่งหนึ่งที่แจ้งปัญหาเข้ามาว่าเกิดการแตกร้าวของผนังกระจกที่เกิดจากอุบัติเหตุ โดยกระจกที่นำมาทำเป็น Curtain Wall ส่วนใหญ่จะเป็นกระจกลามิเนต ซึ่งจากขนาดบานที่ค่อนข้างใหญ่ ทำให้กระจกแต่ละบานมีราคาประเมินอยู่ที่ประมาณหมื่นกว่าบาท มีกระจกแตกร้าวอยู่ทั้งหมด 8 บาน สำหรับคอนโดแห่งนี้ทำประกันไว้จึงแจ้งไปทางประกันภัย ก็จะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบสาเหตุ เมื่อทราบว่าเกิดจากอุบัติเหตุ ที่ไม่ใช่ความตั้งใจของผู้ใช้งานเอง ซึ่งถือว่าเป็นสาเหตุที่ครอบคลุมอยู่ในประกันบ้าน ทางเจ้าหน้าที่จึงทำการตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้นเพื่อชดเชยความเสียหายให้ต่อไป
Case Study ที่ 2 กรณีนี้เป็นกระจกที่ระเบียงของคอนโดฯ เป็นลักษณะการร้าวของกระจก Tempered ที่มีสาเหตุมาจากอุบัติเหตุอีกเช่นกัน สำหรับกรณีนี้ประกันภัยก็จะรับผิดชอบค่าเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวกระจกและฟิล์มที่ติดมากับตัวกระจกให้ด้วยค่ะ
Case Study ที่ 3 เศษกระจกแตกกองนี้เคยเป็นประตูห้องน้ำที่ทำมาจากกระจก Tempered ซึ่งสาเหตุของการแตกของประตูบานนี้ก็พิสูจน์ไก้ว่าเกิดจากอุบัติเหตุ เฉพาะตัวบานประตูกระจกก็มีมูลค่าประมาณ 2 หมื่นกว่า พอรวมค่าติดตั้งทั้งหมดและ Service Charge ก็อยู่ที่ 3 หมื่นนิดๆ แต่ทางโครงการทำประกันไว้ ทางประกันภัยจึงได้เข้ามารับผิดชอบค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นให้ทั้งหมดอีกเช่นกัน
ขอขอบคุณ Case Study จริงจากบริษัท AXA นะคะ โดยในส่วนของ “ประกันภัยบ้าน” นั้น ก็จะครอบคลุมในส่วนของความเสียหายที่เกิดขึ้น ในเรื่องของกระจกก็จะเคลมค่าซื้อกระจกบานใหม่ ครอบคลุมถึงค่าติดตั้งและ Service Charge รวมถึงค่าเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับฟิล์มที่ติดอยู่กับกระจกและความเสียหายอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการแตกร้าวของกระจกในครั้งนั้นๆ ด้วย แต่อย่างไรก็ตามต้องพิสูจน์ได้ว่ามีสาเหตุที่เกิดจากอุบัติเหตุ ไม่ใช่ความเสื่อมสภาพของตัววัสดุหรือความตั้งใจของผู้ใช้งาน สำหรับใครที่สนใจ ” ประกันภัยบ้าน ” ก็สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่นี่ เลยค่ะ
*ผู้ซื้อควรทำความเข้าใจรายละเอียดของประกันภัยก่อนซื้อทุกครั้ง