M.

สวัสดีอีกครั้งครับเพื่อนๆ ชาว ThinkOfLiving.COM ผมนาย Starfish กลับมาพร้อมสาระน่ารู้เกี่ยวกับครัวๆ กันอีกครั้งนะครับ วันนี้ผมจะพาเพื่อนๆ ไปเจาะลึกภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารกันครับ บ้างก็บอกว่าอันตราย มีโอกาสที่สารพิษเข้าสู่ร่างกาย บ้างก็บอกมันใช้ได้ไม่เป็นอันตรายหรอก อ้าว แล้วเราซึ่งเป็นผู้ใช้จะยังไงกันดีล่ะเนี่ย ไม่ต้องห่วงครับ อ่านจบรับรองรู้เรื่อง เข้าใจ เลือกใช้ถูกต้องเลยครับ 😀 (คอลัมน์เจาะลึกเครื่องครัว)

1

ก่อนอื่นมารู้จักพลาสติกกันก่อนนะครับ ในทางวิทยาศาสตร์เค้าแบ่งพลาสติกออกเป็น 2 ชนิดดังนี้ครับ

1) เทอร์โมพลาสติก (Thermoplastic) คือพลาสติกที่ให้ความร้อนแล้วสามารถหลอมเหลว สามารถนำมาขึ้นรูปใหม่ได้ เป็นพลาสติกที่ใช้เป็นภาชนะบรรจุอาหารกันโดยทั่วไปครับ เช่น ขวดน้ำ ถุงบรรจุอาหาร จานชาม ฯลฯ มีการนำพลาสติกชนิดนี้ไปรีไซเคิลกันมาก ปัจจุบันมีการแบ่งออกเป็น 7 เบอร์สำหรับการแบ่งแยกรีไซเคิลครับ

2) เทอร์โมเซตติ้ง (Thermosetting) คือพลาสติกที่คงรูปแข็งมาก มีความทนทานสูง ให้ความร้อนแล้วจะไม่หลอมเหลวแต่จะไหม้หรือติดไฟไปเลย มีการนำพลาสติกชนิดนี้มาใช้เป็นภาชนะบรรจุอาหารอยู่ประเภทหนึ่งที่เรียกกันว่า เมลามีน (Melamine Formaldehyde)

เทอร์โมเซตติ้ง – เมลามีน (Melamine Formaldehyde)

เมลามีนเป็นพลาสติกที่มีน้ำหนักเบา ตกไม่แตก สวยงามตกแต่งลวดลายได้ ราคาไม่สูง อัตราการรั่วซึมน้ำต่ำ ทนแรงกระแทกได้ดี ทนความร้อนได้สูง จึงเป็นที่นิยมนำมาขึ้นรูปเป็นภาชนะบรรจุอาหาร เช่น โถข้าว จาน ชาม ช้อน ทัพพี ถ้วยกาแฟ 

2

ภาชนะเมลามีนจัดว่าปลอดภัยสูงเมื่อใส่อาหารที่มีอุณหภูมิที่ต่ำกว่า 60C และจะเป็นอันตรายหากใส่อาหารที่อุณหภูมิสูงกว่า 60C เป็นเวลานานหรือใส่อาหารที่อุณหภูมิสูงกว่า 100C เนื่องจากเมลามีนจะปล่อยสาร Formaldehyde ซึ่งก่อให้เกิดภูมิแพ้ ระคายเคืองจมูก ตา ลำคอ ทางเดินหายใจส่วนต้น และผิวหนัง ผิวหนังอักเสบและหอบหืดตามมา และยังเป็นสารก่อมะเร็งอีกด้วย ดังนั้นเมลามีนจึงไม่เหมาะที่จะใช้กับเตาอบไมโครเวฟ

เทอร์โมพลาสติก

สำหรับภาชนะเทอร์โมพลาสติก เรามีวิธีตรวจสอบว่าภาชนะนี้ปลอดภัยรึเปล่าได้โดยพลิกก้นภาชนะขึ้นมาดูครับ เราจะเห็น สามเหลี่ยมรีไซเคิล พร้อมชื่อและเบอร์ อยู่ดังรูปครับ โดยแต่ละเบอร์จะหมายถึงพลาสติกหลากหลายชนิดครับ

3

– ภาชนะเบอร์ 2, 4 และ 5 จัดเป็นภาชนะที่ปลอดภัยจากสารพิษ
– ภาชนะเบอร์ 1 จัดเป็นภาชนะที่ปลอดภัยจากสารพิษแต่ไม่ควรนำกลับมาใช้ซ้ำ
– ภาชนะเบอร์ 3, 6 และ 7 จัดว่าเป็นภาชนะที่เสี่ยงอันตรายจากสารพิษครับ
– ถ้าไม่มีเบอร์ หากเป็นจานชามช้อนส้อมอาจจะเป็นเมลามีนซึ่งปลอดภัย แต่หากเป็นอย่างอื่นก็สรุปไม่ได้ครับ ทางที่ดีเลือกใช้อันที่เราแน่ใจว่าปลอดภัยจะดีกว่าครับ

เทอร์โมพลาสติกเบอร์ 1 PET หรือ PETE (Polyethylene Terephthalate) 

4

ลักษณะเป็นพลาสติกโปร่งใสคล้ายแก้ว น้ำหนักเบา เหนียว ไม่เปราะแตกง่าย กันแก๊สซึมผ่านดี ทนแรงกระแทกและสภาพต่างๆ ได้ดี สามารถทนอุณหภูมิได้ไม่เกิน 70-100C ปลอดภัยจากสารเคมีอันตราย นิยมนำมาใช้ทำเป็นขวดน้ำดื่ม น้ำมันพืช น้ำปลา น้ำสลัด น้ำยาบ้วนปาก ขวดโหลใส่ขนม และถาดสำหรับอบอาหาร ควรใช้ครั้งเดียวทิ้ง ไม่ควรนำกลับมาใช้ใหม่

เทอร์โมพลาสติกเบอร์ 2 HDPE (High Density Polyethylene)

5

ลักษณะเป็นพลาสติกขุ่นๆ แข็งเหนียวและแตกยาก ทนการกัดกร่อนของสารเคมีได้ดี กันน้ำและความชื้นได้ดี ทนอุณหภูมิได้ถึง 105C นิยม ปลอดภัยจากสารเคมีอันตราย ใช้ในภาชนะบรรจุอาหารประเภทขวดนม ขวดน้ำผลไม้ ภาชนะใส่เนย โยเกิร์ต ซีเรียล และภาชนะอื่นๆ เช่น ขวดน้ำยาทำความสะอาดต่างๆ ขวดแชมพู ถุงขยะ ถุงใส่ของ หรือขวดน้ำมันเครื่อง

เทอร์โมพลาสติกเบอร์ 3 V หรือ PVC (Polyvinyl Chloride) 

6

เป็นพลาสติกที่มีความแข็งแรงทนทานต่อสารเคมีและการขัดถูได้ดี กันอากาศและน้ำได้ดี ทนอุณหภูมิร้อนเย็นได้ไม่เกิน -30C ถึง 80C ส่วนมากเรารู้จักกันในท่อน้ำ รางน้ำ ท่อสายไฟ สายยาง แต่ก็สามารถพบเจอได้รอบตัวเช่น เฟอร์นิเจอร์ ของเล่นเด็ก อุปกรณ์สำนักงาน อุปกรณ์ทางการแพทย์ ขวดน้ำยาต่างๆ แต่ก็มีการนำมาใช้ในการบรรจุอาหาร เช่น แผ่นฟิล์มห่ออาหาร ขวดน้ำดื่ม ขวดน้ำมันพืช ถาดหรือกล่องบรรจุอาหาร PVC มีสารเคมีที่เป็นพิษต่อร่างกาย อันตราย ควรหลีกเลี่ยง หากเลี่ยงไม่ได้ควรไม่ให้อาหารหรือน้ำสัมผัสกับภาชนะประเภทนี้

ซึ่ง PVC จัดเป็นพลาสติกมีพิษต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม สารเคมีต่างๆ ใน PVC สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งการรับประทาน การหายใจ และการสัมผัส โดย PVC ประกอบด้วยสาร Vinyl Chloride ซึ่งจัดเป็นสารก่อมะเร็ง ถ้าได้ร่างกายได้รับสารชนิดนี้เป็นอย่างต่อเนื่อง จะมีผลต่อการทำงานของตับ หรือเกิดเนื้องอกและมะเร็งในหลายระบบของร่างกาย นอกจากนี้ยังมีสารพิษจากสารเติมแต่ง (Additives) ต่างๆ ซึ่งมีผลต่อระบบฮอร์โมน โดยเฉพาะฮอร์โมนเพศ และทำให้เกิดพิษต่อตับและเป็นสารก่อมะเร็งอีกเช่นกัน

เทอร์โมพลาสติกเบอร์ 4 LDPE (Low Density Polyethylene) 

7

เป็นพลาสติกที่ปลอดภัยจากสารเคมีอันตราย ใส มีความนิ่ม เหนียว ยืดหยุ่นสูง ทนทานต่อสารเคมี ทนความเย็นได้ดี แต่ไม่ค่อยทนต่อความร้อน กันความชื้นได้ดี ส่วนมากใช้ใส่หรือห่อของ เช่น ฟิล์มห่ออาหาร ถุงเย็น ถุงใส่อาหารแช่แข็ง ถุงใส่ขนมปัง ถุงทั่วไป ขวดน้ำเกลือ ขวดชนิดบีบได้ ยาหยอดตา หรือตามเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ LDPE สามารถใช้ซ้ำได้ แต่ว่าส่วนมากจะถูกออกมาให้ใช้ครั้งเดียวทิ้งครับ

เทอร์โมพลาสติกเบอร์ 5 PP (Polypropylene) 

8

เป็นพลาสติกที่ปลอดภัยจากสารเคมีอันตราย นิยมนำมาทำภาชนะบรรจุอาหารร้อน มีความ ใส ทนทานต่อความร้อนได้ถึง 130C คงรูป เหนียว ทนแรงกระแทก สารเคมี และน้ำมันได้ดี พบได้ในจาน ชาม กล่องใส่อาหาร/ขนม ถุงพลาสติกใส่อาหารร้อน กล่องอาหารแช่แข็ง หลอดดูดน้ำ ฝาขวด ถ้วยโยเกิร์ต ขวดชนิดบีบได้ ฟิล์มห่ออาหาร โดยภาชนะ PP ส่วนใหญ่สามารถใช้กับเตาไมโครเวฟได้ด้วย แต่ทางที่ดีควรเช็คเครื่องหมายหรือฉลากระบุว่าใช้กับไมโครเวฟได้รึเปล่านะครับ เลี่ยงได้ควรใช้ภาชนะแก้วหรือเซรามิคแทนครับ

เทอร์โมพลาสติกเบอร์ 6 PS (Polystyrene) 

9

ลักษณะเป็นพลาสติกที่มีความใส ใส่สีและลวดลายได้ แข็งแต่เปราะ แตกหักง่าย ไม่มีกลิ่น ทนต่ออุณหภูมิได้ไม่เกิน -20C ถึง 80C  พบใน จาน/ถ้วย/ถาด/กล่องโฟม/ช้อนส้อมชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งหรือตามร้านสะดวกซื้อ กล่องซีดี ขวดยาบางชนิด

โดย PS อาจปล่อยสาร Styrene ปนเปื้อนมากับอาหารได้เมื่อได้รับความร้อน ซึ่งเป็นสารพิษที่สามารถส่งผลกระทบต่อการทำงานของต่อมไร้ท่อและฮอร์โมนต่างๆ ได้ และยังเป็นสารก่อมะเร็งอีกด้วย

เทอร์โมพลาสติกเบอร์ 7 Others พลาสติกชนิดอื่นๆ

10

นอกจากพลาสติก 6 เบอร์ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว เทอร์โมพลาสติกประเภทอื่นๆ ทั้งหมดจะจัดรวมอยู่ในเบอร์ 7 ด้วยกันหมด พบได้ในขวดน้ำขนาด 3-5 แกลลอนตามเครื่องกดน้ำ ขวดนมเด็กชนิดแข็งใส วัสดุกันกระสุน แว่นกันแดด ภาชนะบรรจุอาหาร DVD Ipod คอมพิวเตอร์ ป้ายสัญญาณต่างๆ

11

ทั้งนี้ ในพลาสติกเบอร์ 7 จะมีชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Polycarbonate ซึ่งพบใน ขวดนมเด็ก ขวดน้ำดื่ม โดยพลาสติกชนิดนี้มีสาร Bisphenol A (BPA) ซึ่งเป็นพิษ เมื่อรับประทานอาหารหรือของเหลวในภาชนะ Polycarbonate จะทำให้ BPA ปนเปื้อนเข้าไปในร่างกาย ส่งผลเสียการสร้างเซลล์สมอง ระบบประสาท ความทรงจำ การเรียนรู้ และฮอร์โมนการเจริญเติบโต และระบบการสืบพันธุ์

12

รู้จักภาชนะพลาสติกกันมากขึ้นบ้างแล้วนะครับ แต่อย่างไรก็ตามพลาสติกก็คือพลาสติกนะครับ ความทนทานต่อการกัดกร่อนหรือความร้อนย่อมไม่เท่าภาชนะชนิดอื่นๆ และมีการเสื่อมลงๆ ไปตามสภาพ ดังนั้นในการทำความสะอาดก็ควรใช้น้ำยาที่กัดกร่อนไม่สูงมากเกินไป ไม่ควรขัดถูกแรงเกินไป หรือหากต้องใส่อาหารที่มีความเป็นกรดหรือด่างสูง หรือร้อนจัด หรือจะนำไปอบ ถ้าเป็นไปได้ให้เลี่ยงไปใช้ภาชนะแก้วหรือเซรามิคแทนจะดีกว่าครับ เพื่อสุขภาพของเราและอายุการใช้งานของภาชนะครับ ผมเขียนเรื่องนี้เสร็จรื้อบ้านเจอพลาสติกเบอร์ 1 กับ 6 เต็มเลย O_O เอาทิ้งกันไปยกใหญ่เลยครับ แล้วพบกับผมนาย Starfish ในโอกาสหน้านะครับ สวัสดีครับ

 

นาย Starfish

ผู้บริหาร บริษัท ลัคกี้เฟลม จำกัด

7

 

ขอบคุณเนื้อหาและภาพประกอบจาก http://www.theecologist.org, http://minderjahn.wordpress.com, http://www.stou.ac.th, http://www.pleasehealth.com, http://www.pharm.su.ac.th, http://www.polyplastics.com, http://medsai.net, http://www.best-b2b.com, http://www.learners.in.th, http://greenveg.com, http://www.pp.twsu.edu, http://questrmg.files.wordpress.com