เคยรู้สึกไหมคะว่านั่งทำงานอยู่ในห้องไปนานๆแล้วมักจะง่วงนอน หรือแสบตาจนทำให้ทำงานต่อไม่ได้ หรือก่อนจะนอนไม่ว่าจะดึกแค่ไหนก็ไม่รู้สึกง่วงเลย หรือทำอาหารอยู่ในห้องครัวแล้วหยิบเครื่องปรุงผิดอยู่บ่อยๆ ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นอาจเป็นเพราะ ‘การเลือกใช้แสงสว่างไม่เหมาะสมกับห้อง’ ก็เป็นได้ค่ะ ซึ่งนอกจากจะเกิดผลเสียที่ว่าแล้ว เมื่ออยู่ไปนานๆอาจทำให้เราสายตาเสียเพิ่มขึ้น จากการที่ต้องเพ่งและใช้สายตามากกว่าปกติค่ะ

วันนี้เราจึงพาทุกคนมาเลือกดูความสว่างให้เหมาะสมกับแต่ละห้องภายในบ้านกันค่ะ โดยการเริ่มจากรู้จักการวัดค่าความสว่างของหลอดไฟ การเลือกสี และรูปแบบของดวงโคม ปิดท้ายด้วยเทคนิควิธีในการจัดแสงไฟภายในห้องต่างๆ รายละเอียดจะเป็นอย่างไรตามไปอ่านกันได้เลย


ก่อนอื่นเรามาดูเรื่องวิธีการวัดค่าความสว่างของหลอดไฟกันก่อนนะคะ หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าหลอดไฟวัดความสว่างด้วยค่าวัตต์ (Watt) เกิดจากการที่แต่ก่อนเรามีหลอดไฟอยู่แบบเดียว ทำให้สามารถเปรียบเทียบความสว่างกันด้วยจำนวนวัตต์ (Watt = การใช้กำลังไฟฟ้าต่อหนึ่งหน่วยเวลา : J/s ) แต่ในปัจจุบันมีหลอดไฟหลายแบบมากขึ้น ทำให้หลอดไฟแต่ละชนิดแม้จะกินไฟเท่ากัน (วัตต์เท่ากัน) ก็ให้ความสว่างที่แตกต่างกัน ซึ่งการวัดค่าความสว่างสามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบคือ ลูเมน(Lumen) และ ลักซ์(Lux) มีความแตกต่างกันอย่างไรเราไปดูกันค่ะ

ลูเมน Lumen

ลูเมนเป็นการวัด “ปริมาณ” ของแสงที่ออกมาจากหลอดไฟ ซึ่งมีค่าเป็นค่าคงที่ ไม่ว่าเราจะติดไฟไว้ที่ไหนก็จะมีปริมาณของแสงที่ออกมาจากหลอดไฟเท่าเดิมค่ะ ซึ่งค่าลูเมน มักจะถูกนำไปเปรียบเทียบกับการกินไฟ (จำนวนวัตต์) เป็นลูเมนต่อวัตต์ (lm/w) ยิ่งค่าสูงก็จะยิ่งประหยัดไฟค่ะ ยกตัวอย่างเช่น

  • หลอดไฟ LED (90 lm/w) ให้ปริมาณแสง 1,350 ลูเมน จะใช้ไฟประมาณ 15 วัตต์
  • หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ (60 lm/w) ให้ปริมาณแสง 1,350 ลูเมน จะใช้ไฟประมาณ 22 วัตต์
  • หลอดไฟฮาโลเจน (20 lm/w) ให้ปริมาณแสง 1,350 ลูเมน จะใช้ไฟประมาณ 68 วัตต์

Tips : ลองเลือกชนิดของหลอดไฟและแปลงค่า Watt เป็น Lumen ได้ ที่นี่

 

ลักซ์ Lux

ลักซ์ เป็นหน่วย “ความเข้ม” ของแสงที่จุดใดจุดหนึ่ง หมายความว่าเมื่อเปิดหลอดไฟ 1 หลอดในห้องแล้ววัดความเข้มแสง บริเวณใกล้กับหลอดไฟจะมีความเข้มแสงมาก บริเวณไกลหลอดไฟจะมีความเข้มแสงที่ลดลง ถึงแม้จะเลือกหลอดไฟที่ให้ปริมาณแสง (ลูเมน : lm) เท่ากัน แต่ถ้าโคมไฟแตกต่างกัน อาจทำให้การกระจายแสงไม่เท่ากัน ลักซ์จึงนิยมใช้เป็นหน่วยวัดความสว่างจริงในแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงตามระยะห่างจากโคมไฟค่ะ

ค่าลักซ์ (lx) จะเท่ากับ ลูเมน (lm) ต่อ ตารางเมตร พูดให้เข้าใจง่ายๆคือหลอดไฟที่มีปริมาณแสง 1000 lm เมื่อวัดพื้นที่ทรงกลมรอบหลอดไฟ 1 ตารางเมตรจะได้ความสว่างเท่ากับ 1000 lx  ใครที่อยากรู้ความสว่างในห้องของตัวเอง เดี๋ยวนี้มี Application : Lux Meter ให้โหลดใน Smart Phone ทั้ง ios และ Android ฟรีแม้จะไม่ละเอียดเท่ากับเครื่องวัดแสงจริงๆ (Lux Meter) แต่ก็สามารถใช้วัดความสว่างเพื่อใช้งานที่บ้านได้นะคะ

การเลือกแสงไฟภายในบ้านของเรานอกจากจะต้องพิจารณาเรื่องความสว่างแล้ว ยังมีเรื่องของโทนสีของแสงที่แตกต่างกันด้วยค่ะ ซึ่งโทนสีของแสงไฟมีผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของผู้อยู่อาศัยภายในบ้าน อย่างที่เรามักจะเห็นโรงแรม หรือรีสอร์ทเลือกใช้ไฟโทนสีส้มเพื่อให้ความรู้สึกผ่อนคลาย อบอุ่น หรือห้องทำงานใช้ไฟโทนสีขาว สว่างให้ความรู้สึกสดใส เหมาะกับการทำงานเป็นต้น

โทนสีของแสงไฟเราจะเรียกว่า “อุณหภูมิสี” (Color Temperature) ซึ่งจะวัดด้วยหน่วยอุณหภูมิเคลวิน (Kelvins : K) เกิดจากการวัดอุณหภูมิความร้อนที่เผาไหม้วัตถุในระดับความร้อนต่างๆ จนได้แสงไฟสีต่างๆเปลี่ยนไปตามแต่ละอุณหภูมิค่ะ

1 แสง Daylight

มาเริ่มกันที่แสงโทนสว่าง 5600 – 6400K ที่ชื่อ Daylight เพราะเปรียบได้กับแสงสว่างธรรมชาติในเวลากลางวัน ค่อนไปทางโทนสีฟ้า มองเห็นได้ชัดเจนที่สุด ให้ความรู้สึกตื่นตัว กระฉับกระเฉง สดใส

แสง Daylight เหมาะกับห้องทำงาน มุมอ่านหนังสือ โต๊ะแต่งหน้า หรือพื้นที่ทำงานที่ต้องการรายละเอียดสูง เช่น Workshop Studio เป็นต้น

2 แสง Cool White

แสงโทน Cool White อุณหภูมิสีอยู่ที่ 4600 – 5500K อยู่ระหว่าง Daylight และ Warm White ไม่จ้าเกินไปและไม่อุ่นจนเกินไป ให้ความรู้สึกสว่าง อบอุ่นแต่สบายตา สามารถใช้ได้หลากหลายพื้นที่

แสง Cool White เหมาะกับห้องทั่วไปที่ไม่ต้องการเน้นความสว่างมากนัก เช่น ห้องนั่งเล่น ห้องรับแขก ห้องน้ำ ห้องครัว ห้องรับประทานอาหาร หรือพื้นที่ระเบียง เป็นต้น

3 แสง Warm White

เป็นแสงโทนสีอุ่น 3500 – 4500K เป็นแสงสีส้ม เหมาะสำหรับเป็นไฟประดับตกแต่งให้ความรู้สึกอบอุ่น ผ่อนคลาย โรแมนติก แต่จะไม่ให้ความสว่างมากนัก และอาจทำให้สีของวัตถุเพี้ยนไปได้ค่ะ

แสง Warm White เหมาะกับห้องที่ไม่เน้นความสว่าง เช่น ห้องน้ำ ห้องนอน หรือพื้นที่ที่ต้องการสร้างบรรยากาศเป็นจุดๆ อย่างเช่นเป็นไฟเสริมตกแต่งห้องนั่งเล่นพักผ่อน ห้องรับประทานอาหาร เป็นต้น


รูปแบบของแสงไฟภายในบ้าน

เลือกดูความสว่างและค่าอุณหภูมิสีของแสงไฟกันไปแล้ว ถัดมาเรามาดูชนิดของดวงโคมที่นิยมใช้ภายในบ้านกันบ้างค่ะ โคมไฟมีหลายรูปแบบ เวลาเราไปเดินเลือกดูที่ร้านก็มีให้เลือกมากมายอาจจะทำให้เราสับสนว่าควรใช้โคมไฟแบบไหนถึงจะดีเหมาะสมกับห้องและสายตาของเรา เราจึงควรทำความรู้จักรูปแบบของแสงไฟจากดวงโคม ซึ่งสามารถจัดหมวดหมู่ออกเป็น 4 ประเภทหลักๆได้ ดังนี้

1  Ambient Light/General Light ไฟบริเวณ

ไฟบริเวณหรือ Ambient Light เป็นไฟที่ให้แสงสว่างกับพื้นที่ห้องโดยรวม มีความสว่างมาก ส่องแสงเป็นวงกว้าง ไม่เจาะจงพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เป็นไฟที่กำหนดความสว่างโดยรวมของห้อง และมักจะเป็นโคมไฟที่ส่องแสงลงด้านล่าง เช่น โคมไฟ Down light, โคมซาลาเปา หรือโคมไฟกลางห้อง เป็นต้น ซึ่งภายในบ้านบ้านแทบทุกห้องก็จะมีไฟชนิดนี้กันอยู่แล้วค่ะ

2 Concealed Light/ไฟหลืบ

ไฟหลืบ หรือ Concealed Light เป็นไฟที่ซ่อนอยู่บริเวณฝ้าเพดาน ไม่เน้นแสงสว่างมากนัก มักจะส่องแสงกระทบกับฝ้าเพดานหรือผนังห้องแล้วสะท้อนลงมา นิยมทำเพื่อเพิ่มบรรยากาศเราจะเห็นบ่อยๆในบ้านตัวอย่าง เพราะให้ความรู้สึกสบายตา เหมาะกับการพักผ่อน เป็นไฟตกแต่งทำให้ภายในห้องดูสวยงามมากขึ้น ส่วนใหญ่ใช้ในห้องรับแขก ห้องนั่งเล่น และห้องนอน

3 Task Light/ไฟเฉพาะจุด

ไฟเฉพาะจุด หรือ Task Light ใช้สำหรับส่องแสงเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ตั้งอยู่ตำแหน่งที่ต้องการใช้งานเป็นบางจุดภายในห้อง เช่น โคมไฟสำหรับอ่านหนังสือ โคมไฟหัวเตียง โคมไฟโต๊ะทำงาน หรือไฟสำหรับสัตว์เลี้ยง เป็นต้น ซึ่งแต่ละห้องจะมีหรือไม่มีก็ได้ขึ้นอยู่กับความจำเป็นและการใช้งานแต่ละพื้นที่ค่ะ

4 Accent Light/ไฟส่องเน้น

สุดท้ายคือไฟส่องเน้น หรือ Accent Light เป็นไฟสำหรับส่องวัตถุเพื่อให้ความสำคัญและทำให้วัตถุนั้นเด่นขึ้น มักจะมีความเข้มแสงสูงกว่าไฟแบบอื่นๆ เหมาะสำหรับส่องภาพแขวนผนัง Sculpture ของตกแต่งบ้าน หรือของสะสม เช่น ไฟฮาโลเจน (Halogen) เป็นต้น


ก่อนจะเลือกใช้แสงให้เหมาะกับแต่ละห้องเราควรทำความเข้าใจฟังก์ชันและลักษณะการใช้งานของแต่ละห้อง เพื่อที่จะได้เลือกใช้แสงไฟให้เหมาะสมกับผู้อยู่อาศัยจริง ซึ่งอาจจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละบ้าน เช่น บางบ้านชอบไฟหลืบให้บรรยากาศ หรือมีไฟบริเวณสว่างแล้ว อาจไม่ต้องการไฟเฉพาะจุดเพิ่มเติม

การจัดแสงที่เราจะมาแนะนำเป็นค่ามาตรฐานที่ควรมีสำหรับฟังก์ชันการใช้งานนั้นๆ เพื่อให้เหมาะสมและเป็นมิตรกับสุขภาพสายตา สามารถเพิ่มลดได้ตามการใช้งานจริงของแต่ละคนได้นะคะ

1 ห้องนั่งเล่น

ห้องนั่งเล่น หรือห้องรับแขก เป็นห้องที่ใช้สำหรับการพักผ่อน ผ่อนคลาย ทำกิจกรรมร่วมกันภายในครอบครัว และสามารถรองรับแขก เวลามีใครแวะเวียนมาหาก็จะใช้พื้นที่ตรงนี้เป็นส่วนต้อนรับ สำหรับบ้านที่มีห้องรับแขกและห้องนั่งเล่นแยกส่วนกัน สามารถจัดแสงให้เหมาะสมได้ ดังนี้

ห้องนั่งเล่น : เป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ อาจใช้นั่งอ่านหนังสือ เล่นเกมส์ ดู TV ซึ่งควรมีความสว่างมากกว่าห้องรับแขก เหมาะกับไฟบริเวณ (Ambient Light) โทนสีสว่าง (Daylight) และมีช่องแสงธรรมชาติเข้ามาร่วมด้วยค่ะ

ห้องรับแขก : เป็นพื้นที่พักผ่อน ให้บรรยากาศสบายๆ ไม่ได้ใช้สายตามากนักสามารถเลือกใช้โคมไฟเฉพาะจุด ( Task Light) หรือไฟหลืบ ( Concealed Light) โทนสีอุ่น (Warm White) ตกแต่งเพิ่มบรรยากาศผ่อนคลายได้

แต่ถ้าบ้านไหนมีพื้นที่นั่งเล่นและรับแขกเป็นส่วนเดียวกันแนะนำให้เลือกใช้ไฟตามฟังก์ชันการใช้งานที่บ่อยที่สุดและเลือกใช้แสง ดังนี้ค่ะ

  • ความเข้มแสงที่เหมาะสม 

ความสว่าง 150 – 300 Lx หรือ หลอดไฟที่มีปริมาณแสงประมาณ 400 – 500 lm

  • โทนสี

สามารถเลือกใช้ได้ทุกโทนสี ไม่ว่าจะเป็น Daylight, Cool white หรือ Warm white

  • รูปแบบของแสงไฟ

Ambient Light/General Light ไฟบริเวณ : ใช้เพื่อความสว่างทั่วทั้งห้อง
Concealed Light/ไฟหลืบ : สำหรับตกแต่งเพิ่มบรรยากาศ
Task Light/ไฟเฉพาะจุด : สำหรับการใช้งานเฉพาะเช่น โคมไฟอ่านหนังสือ เป็นต้น
Accent Light/ไฟส่องเน้น : สำหรับบ้านที่ต้องการเน้นของตกแต่ง ภาพแขวน หรือของสะสมเพิ่มเติม

2 ห้องรับประทานอาหาร

ห้องรับประทานอาหารเป็นห้องที่แยกกับส่วนครัวแต่อยู่ใกล้เคียงกันสามารถจัดไฟภายในห้องให้แตกต่างจากห้องครัวได้ การเลือกใช้ไฟห้องรับประทานอาหารควรเลือกโทนสีของแสงไปทางเหลืองหน่อยๆเพื่อให้อาหารดูน่ากินมากยิ่งขึ้นค่ะ สามารถจัดแสงให้เหมาะสมได้ ดังนี้

  • ความเข้มแสงที่เหมาะสม

ความสว่าง 150 – 300 Lx หรือ หลอดไฟที่มีปริมาณแสงประมาณ 400 – 500 lm

  • โทนสี

สามารถเลือกใช้ได้ทุกโทนสี ไม่ว่าจะเป็น Daylight, Cool white หรือ Warm white แต่ถ้าอยากให้อาหารดูน่ากินมากยิ่งขึ้น ควรเลือกใช้ไฟโทนเหลืองอมส้ม (Cool white หรือ Warm white) ค่ะ

  • รูปแบบของแสงไฟ

Ambient Light/General Light ไฟบริเวณ : ใช้เพื่อความสว่างทั่วทั้งห้อง
Task Light/ไฟเฉพาะจุด : สำหรับการตกแต่งเพิ่มบรรยากาศ เป็นต้น

3 ห้องครัว

ห้องครัวเป็นพื้นที่ประกอบอาหาร เคยไหมคะเวลาไปปิ้งย่างตอนกลางคืนแล้วมองเห็นสีไม่ชัดเจนไม่รู้ว่าอาหารสุกหรือยัง ห้องครัวจึงควรเลือกใช้ไฟที่ให้แสงสว่างเพียงพอเพื่อให้สามารถมองเห็นสีของอาหารได้ชัดเจน เน้นไฟบริเวณ (Ambient Light) โทนสีสว่าง (Daylight) ค่ะ

  • ความเข้มแสงที่เหมาะสม

ความสว่าง 300 – 500 Lx หรือ หลอดไฟที่มีปริมาณแสงประมาณ 500 – 1,000 lm

  • โทนสี

ห้องครัวควรเลือกใช้ไฟโทนสีสว่าง (Daylight) ช่วยให้มองเห็นได้ดี ถ้าอยากได้บรรยากาศอบอุ่นขึ้นมาหน่อยสามารถเลือกใช้ไฟขาวอมเหลือง (Cool white) ได้

  • รูปแบบของแสงไฟ

Ambient Light/General Light ไฟบริเวณ : ใช้เพื่อความสว่างทั่วทั้งห้อง
Task Light/ไฟเฉพาะจุด : สำหรับการใช้งานเฉพาะเช่น ไฟเหนือเตา ไฟบริเวณเคาน์เตอร์เตรียมอาหาร เป็นต้น

4 ห้องทำงาน

ห้องทำงาน สำหรับคนที่ทำงานที่บ้านห้องทำงานคงเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตที่เราใช้เวลาอยู่กับมันมากที่สุด และยังเป็นห้องที่เราต้องใช้สายตามากๆ ดังนั้นจึงควรจัดแสงไฟของห้องทำงานให้เหมาะสม จะเป็นส่วนช่วยสำคัญในการดูแลรักษาสายตาของเราเลยค่ะ ห้องทำงานสามารถจัดแสงให้เหมาะสมได้ ดังนี้

  • ความเข้มแสงที่เหมาะสม

ความสว่าง 300 – 500 Lx หรือ หลอดไฟที่มีปริมาณแสงประมาณ 500 – 1,000 lm

  • โทนสี

ห้องทำงานควรเลือกใช้ไฟโทนสีสว่าง (Daylight) เหมือนกับแสงธรรมชาติ ช่วยให้รู้สึกสดใส สายตามองเห็นได้ดี สบายตา สีไม่ผิดเพี้ยน

  • รูปแบบของแสงไฟ

Ambient Light/General Light ไฟบริเวณ : ใช้เพื่อความสว่างทั่วทั้งห้อง
Task Light/ไฟเฉพาะจุด : สำหรับเพิ่มความสว่างในการใช้งานอ่านหนังสือ หรือไฟสำหรับทำงานคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

5 ห้องนอน

ห้องนอนเป็นพื้นที่พักผ่อน สำหรับคนที่ใช้ห้องนอนไว้พักผ่อนอย่างเดียวที่ไม่จำเป็นต้องใช้แสงมากนัก แต่ถ้าใครที่ใช้ห้องนอนเป็นพื้นที่ทำงานด้วย อาจจะต้องมีการแบ่งโซนเพื่อจัดแสงให้เหมาะสม ไม่เช่นกันอาจจะมีปัญหา ไม่ไฟสว่างเกินไปจนทำให้ก่อนนอนไม่ง่วง ปิดไฟแล้วนอนหลับยาก หรือแสงน้อยเกินไปจนไม่สามารถทำงานได้ เป็นต้น สำหรับคนที่ใช้ห้องเพื่อการพักผ่อนอย่างเดียว สามารถจัดแสงให้เหมาะสมได้ ดังนี้

  • ความเข้มแสงที่เหมาะสม

ความสว่าง 150 – 200 Lx หรือ หลอดไฟที่มีปริมาณแสงประมาณ 400 – 500 lm

  • โทนสี

ห้องนอนควรเลือกใช้ไฟโทนสีอมเหลือง – ส้ม (Cool white หรือ Warm white) เพื่อความสบายตา เหมาะกับการพักผ่อน ทำให้สายตาผ่อนคลายไม่ตื่นตัวเมื่อเห็นแสงสว่างมากนัก

  • รูปแบบของแสงไฟ

Ambient Light/General Light ไฟบริเวณ : ใช้เพื่อความสว่างทั่วทั้งห้อง สามารถปรับลดความสว่างได้
Concealed Light/ไฟหลืบ : สำหรับตกแต่งเพิ่มบรรยากาศ
Task Light/ไฟเฉพาะจุด : สำหรับการใช้งานเฉพาะเช่น โคมไฟหัวเตียง เป็นต้น

6 ห้องน้ำ

ห้องน้ำเป็นห้องที่สามารถเล่นกับการตกแต่งจัดไฟได้หลากหลายตามการใช้งานเลยค่ะ ใครที่แต่งหน้าในห้องน้ำก็ควรเลือกไฟโทนสีสว่าง (Daylight)เป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าชอบการแช่น้ำพักผ่อน ชอบบรรยากาศผ่อนคลายก็แนะนำให้เลือกไฟโทนสีเหลือง-ส้ม (Warm White, Cool White) ได้ค่ะ

  • ความเข้มแสงที่เหมาะสม

ความสว่าง 100 Lx หรือ หลอดไฟที่มีปริมาณแสงประมาณ 200 – 400 lm

  • โทนสี

สามารถเลือกใช้ได้ทุกโทนสี ไม่ว่าจะเป็น Daylight, Cool white หรือ Warm white

  • รูปแบบของแสงไฟ

Ambient Light/General Light ไฟบริเวณ : ใช้เพื่อความสว่างทั่วทั้งห้อง
Concealed Light/ไฟหลืบ : สำหรับตกแต่งเพิ่มบรรยากาศ แต่ไม่ควรมีโคมไฟหลายจุดเพราะห้องน้ำจะมีความชื้นและหยุดน้ำอยู่ตลอดเวลาอาจเกิดอันตรายจากไฟฟ้าได้ค่ะ

เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับการเลือกไฟและความสว่างให้เหมาะกับห้อง หวังว่าเพื่อนๆจะสามารถนำไปปรับแต่งห้องของตัวเองให้มีความสว่างเหมาะสมเพื่อรักษาสายตากันกันนะคะ ใครที่มีประสบการณ์การตกแต่งห้องด้วยไฟประเภทต่างๆสามารถนำมาแชร์กันได้ในคอมเมนต์ด้านล่างนี้เลยค่า

ที่มา :

  • กฎหมายมาตรฐานความเข้มแสงสว่าง พ.ศ. 2561
  • บทความมาตรฐานการส่องสว่างของในที่อยู่อาศัย ผศ.มนตรี เงาเดช สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงใหม่
  • หนังสือประกอบ ชื่อเรื่อง Electrical & Fire Alarm เรียบเรียงโดย รศ.สมศักดิ์ ธรรมเวชวิถี สาขาวิชาสถาปัตยกรรมและการวางแผน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง


ThinkofLiving มี LINE Official Account แล้วนะคะ
ไม่อยากพลาดข้อมูลข่าวสารก็ Add เลย > https://lin.ee/svACOxc

ติดตามพวกเราได้ที่
Website : www.thinkofliving.com
Twitter : www.twitter.com/thinkofliving
YouTube : www.youtube.com/ThinkofLiving
Instagram : www.instagram.com/thinkofliving
Facebook : ThinkofLiving