อยากมีบ้านสักหลังหรือคอนโดสักห้อง หลายคนมองว่าเป็นการลงทุนครั้งสำคัญในชีวิต เพราะหลายคนใช้เงินเก็บก้อนใหญ่เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง และก็ย่อมคาดหวังผลที่ลงทุนไปเช่นกัน บ้านหรือคอนโดที่ซื้อต้องอยู่อย่างสุขสบายไร้ความกังวล ปลอดภัยและเป็นสถานที่พักอาศัยให้กับครอบครัวได้ แต่วันดีคืนร้ายบ้านที่อาศัยอยู่ดีๆ หรือส่วนกลางในคอนโดก็มีเหตุให้เสียหาย อีกทั้งเพิ่งอยู่อาศัยมาไม่กี่ปีเท่านั้น อย่าเพิ่งเครียดหรือกลุ้มใจไปค่ะ จริงๆแล้วเรื่องเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ และเรื่องเหล่านี้ผู้ซื้อบ้านและคอนโดอย่างเราๆไม่จำเป็นต้องเป็นผู้รับภาระซ่อมแซมปรับปรุงแต่เพียงผู้เดียวนะคะ ถ้าเรารู้จักเรื่องของ “การประกันบ้านและคอนโด”

วันนี้เราจะมาอธิบายว่าการรับประกันบ้านและคอนโด นั้นคืออะไร มีระยะเวลาในการรับประกันกี่ปี และการรับประกันครอบคลุมในส่วนไหน ซ่อมแซมอะไรให้เราบ้างกันค่ะ

การรับประกันบ้าน

เมื่อเราซื้อบ้านโดยปกติแล้วโครงการบ้านจัดสรร จะต้องมีการรับประกันและบริการซ่อมแซมแก้ไขความชำรุดบกพร่องของตัวบ้านและสิ่งปลูกสร้างที่เกิดจากการก่อสร้างให้ โดยจะอยู่ภายในระยะเวลาและเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนด เพราะการรับประกันบ้านนั้นจะอยู่ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดินที่คุ้มครองอยู่ และโดยมาตราฐานแล้วทางโครงการก็จะมีสัญญาระบุชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษรในเรื่องนี้ให้แก่ผู้ซื้อ เพื่อเป็นการการันตีสินค้าที่ขายไปและแสดงความรับผิดชอบหากผู้ซื้อได้บ้านที่ไม่มีคุณภาพและพร้อมที่จะซ่อมแซมให้ตามเอกสารและระยะเวลาที่กำหนดไว้

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการรับประกันบ้าน

จริงๆแล้วการรับประกันบ้านไม่ใช้อยู่ดีๆโครงการก็มีให้หรือเป็นของแถมจากโครงการ ที่จริงแล้วเป็นกฎหมายที่เข้ามากำหนดให้ผู้ประกอบการที่สร้างบ้านขายต้องปฏิบัติตาม โดยจะมีกฎหมายอยู่ 2 ประเภทที่เข้ามาควบคุม ได้แก่

  1. กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ :  มีข้อกำหนดไว้ว่า ในกรณีที่บ้านที่ผู้ซื้อรับโอนกรรมสิทธิ์ไปนั้นในระยะเวลาต่อมาเกิดมีความเสียหายหรือพบความชำรุดบกพร่อง ผู้ขายต้องรับผิดชอบ ถ้าพบความชำรุดเสียหายหลังจากการรับโอนกรรมสิทธิ์ไป ผู้ซื้อสามารถฟ้องร้องให้รับผิดชอบภายในเวลา 1 ปี นับแต่ได้พบเห็นความบ่งพร่องชำรุดดังกล่าว

กรณีผู้ขายไม่ต้องรับผิดชอบ ถ้าในตอนที่ผู้ซื้อได้รับรู้หรือได้เห็นในความบกพร่องดังกล่าวก่อนการรับโอนกรรมสิทธิ์ แล้วยังรับโอนมา หรือเป็นบ้านขายทอดตลาด ง่ายๆก็คือถ้าคนซื้อเห็นบ้านแล้วว่าเสียหายตรงไหนก็จะไปเรียกร้องจากผู้ขายหรือโครงการไม่ได้

  1. พ.ร.บ. การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 ว่าด้วยเรื่องความรับผิดในความชำรุดบกพร่อง กฎหมายฉบับที่เป็นข้อบังคับที่ผู้ขายหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยจะเป็นแบบมาตรฐานสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจัดสรร(มีสิ่งปลูกสร้าง) ของกรมที่ดิน ที่กำหนดว่าเมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้จะซื้อแล้ว ผู้ขายจะต้องรับผิดชอบในความเสียหายหรือชำรุด บกพร่องของอาคาร ความหมายก็คือการรับประกันความเสียหาย ดังนี้

  • กรณีที่เป็นโครงสร้างอาคาร รับประกัน 5 ปี นับแต่วันโอนกรรมสิทธิ์
  • กรณีที่เป็นส่วนประกอบหรืออุปกรณ์ที่เป็นส่วนสำคัญของอาคาร รับประกันภายใน 1 ปี นับแต่วันโอนกรรมสิทธิ์

การรับประกันบ้านตามช่วงเวลา 1 ปี และ 5 ปี มีอะไรบ้าง ?

เราลองมาแยกสิ่งที่การรับประกันบ้านที่โครงการจะต้องดูแลให้ แยกตามประเภทและช่วงเวลาต่างๆ แยกเป็นในช่วงระยะเวลา 1 ปี และ 5 ปี เพราะจะมีรายละเอียดในการซ่อมแซมในแต่ละจุดที่แตกต่างกัน

ประเภทแรก : การรับประกันโครงสร้างบ้าน (Structural Defects) ประกัน 5 ปี หลังโอนกรรมสิทธิ์

โครงการจะต้องรับผิดชอบดูแลและรับประกันในส่วนที่เป็นโครงสร้างของตัวบ้านและอาคาร ภายในระยะเวลา 5 ปี หลังโอนกรรมสิทธิ์ ได้แก่ เสาเข็ม , ฐานราก , เสาคาน , พื้น ,โครงหลังคา และผนังรับน้ำหนัก

ยกตัวอย่าง : เราซื้อบ้านมา แล้วอยู่อาศัยมาประมาณ 3 ปี แต่อยู่ๆไปบริเวณโครงสร้างที่จอดรถและตัวบ้านทางด้านหน้าเกิดผนังร้าวมองเห็นโครงสร้างภายในเสียหาย เราสามารถแจ้งโครงการให้มาซ่อมแซมความเสียหายได้ เพราะอยู่ในประกันช่วง 5 ปีแรก ที่โครงการจะต้องรับผิดชอบความเสียหายในส่วนของโครงสร้างให้

ข้อควรระวัง : กรณีถ้าเกิดความเสียหายของโครงสร้างที่เกิดจากการสร้างใหม่เพิ่มเติมของผู้อยู่อาศัย เช่น การต่อเติมพื้นที่ครัวด้านหลัง เรือนรับรองทางด้านข้างของตัวบ้าน กรณีนี้ทางโครงการไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบความเสียหาย ผู้อยู่อาศัยจะต้องปรับปรุงซ่อมแซมเอง

ประเภทสอง : การรับประกันส่วนประกอบหรืออุปกรณ์ที่เป็นส่วนสำคัญของอาคาร (Non-Structural Defects) ประกัน 1 ปี หลังโอนกรรมสิทธิ์

โดยเราสามารถแยกตามพื้นที่การใช้งานของบ้าน ได้แก่ วัสดุภายนอกตัวบ้านและวัสดุภายในตัวบ้าน เช่น ประตู หน้าต่าง พื้น ฝ้า  โดยจะไม่รวมวัสดุที่ผู้อยู่อาศัยติดตั้งเพิ่มหลังจากรับโอนบ้านไปแล้วด้วยนะคะ โครงการจะรับผิดชอบเฉพาะสิ่งที่โครงการติดตั้งและก่อสร้างมาให้แต่แรกเท่านั้น มีอะไรบ้างไปดูกันค่ะ

1.ประตูหน้าบ้าน รั้วบ้าน กำแพงบ้าน และราวระเบียง 

กรณีเกิดความเสียหายจากอุปกรณ์และวัสดุต่างๆภายนอกตัวบ้าน ได้แก่ ประตูหน้าบ้าน รั้วบ้าน กำแพงบ้าน และราวระเบียง โดยจะรับประกันการชำรุดบกพร่อง หรือความเสียหายที่เกิดจากโครงสร้าง และซ่อมแซมให้ในกรณี เช่น ประตูหน้าบ้านใช้งานไม่ได้ ปิด-เปิดไม่ได้ ไม่สามารถล็อคได้ตามปกติ รางเลื่อนประตูไม่ตรงร่อง หรือแนวกำแพงและรั้วของตัวบ้านเกิดความเสียหาย เช่น แตกร้าว จะรับประกันเฉพาะความชำรุดบกพร่อง หรือความเสียหายที่เกิดจากโครงสร้าง ไม่รับประกันกรณี ประตู อุปกรณ์ รางเลื่อน บานพับ งานสี และการเกิดสนิมขึ้นตามธรรมชาติ

2.หลังคาและฝ้าเพดาน

กรณีเกิดความเสียหายจากงานมุงหลังคา โครงการจะรับประกันการรั่วซึมของน้ำฝนตามกระเบื้องมุงหลังคา ซึ่งรวมไปถึงงานฝ้าเพดานของตัวบ้านด้วย โดยโครงการจะรับประกันความเสียหายที่มาจากการรั่วซึมจากหลังคารวมไปถึงท่อน้ำดี-น้ำเสีย ที่มีการรั่ว แตก ซึม หรือแตกตามฝ้าเพดานให้

3.ผนังและพื้น

งานผนังและตกแต่งผนัง โครงการจะรับประกันงานผิวผนังก่อ-ฉาบทั่วไป โดยจะซ่อมให้ 1 ครั้ง ก่อนครบกำหนดระยะเวลาประกัน ส่วนงานพื้นและตกแต่งพื้นโครงการจะรับประกันเฉพาะการยึด-หดตัวของพื้น แต่ในส่วนของการแตกยุบตัวไม่ได้อยู่ในการรับประกัน ซึ่งเจ้าของบ้านควรแจ้งโครงการเพื่อซ่อมแซมล่วงหน้า 1-3 เดือน เพราะอาจใช้เวลาในการซ่อมและเก็บรายละเอียดค่อนข้างนาน และควรวางแผนงานซ่อมไว้ล่วงหน้าก่อนที่จะหมดประกัน

4.บันได

บันไดบ้าน โครงการจะรับประกันดูแลในส่วนที่เกิดการยืด-หดตัวของไม้บันได ในส่วนของการแตกยุบตัวจะไม่ได้อยู่ในการรับประกัน โดยจะทำการปรับแต่งทาสีบันได ให้ใช้งานได้เท่านั้น

5.งานประตู หน้าต่าง

งานประตู หน้าต่าง และอุปกรณ์ จะเป็นความเสียหายที่เกิดเฉพาะตัวสินค้าและตัวอุปกรณ์ โดยโครงการจะรับประกันดูแลความเสียหาย ตามนี้

  • รับประกันกรณีเกิดการยืด-หดตัวของ วงกบ บานประตูและหน้าต่าง โดยจะทำการปรับแต่งทาสีให้ใช้งานได้เท่านั้น
  • รับประกันกรณีเกิดจากความชำรุดบกพร่องของการผลิตสินค้า
  • รับประกันกรณีเกิดการรั่วซึมของน้ำฝนเข้าตามขอบวงกบประตู-หน้าต่าง โดยจะทำการปิดรอยให้เรียบร้อย

5.ห้องน้ำ

งานสุขภัณฑ์ และอุปกรณ์ภายในห้องน้ำ โครงการจะรับประกันกรณีเกิดจากความชำรุดบกพร่องที่เกิดจากการสุขภัณฑ์และอุปกรณ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น อ่างล้างหน้า ก๊อกน้ำ ฝักบัว สายชำระ และฉากกั้นอาบน้ำ  ซึ่งต้องเกิดจากปัญหาจากการติดตั้งหรือการชำรุดของสินค้า ซึ่งต้องคุยกับโครงการให้ดีว่าจะรับผิดชอบเฉพาะค่าแรง ไม่รวมอุปกรณ์ หรือรับผิดชอบทั้งคู่รึเปล่า

6. งานระบบไฟฟ้า-ประปา

ระบบไฟฟ้าโครงการจะรับประกันเฉพาะกรณีไฟฟ้ารั่ว ช็อต หรือลัดวงจร  ส่วนงานระบบประปา และสุขาภิบาลโครงการจะรับประกันเฉพาะกรณีท่อน้ำดี-น้ำเสีย รั่ว แตก ซึม ให้เท่านั้น หากเกิดกรณีชำรุดเสียหายมากกว่าที่กล่าวมาข้างต้นจะถือว่าจะไม่อยู่ในการรับประกัน

7. งานเฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า

อันนี้ถือเป็นรายการพิเศษ ถ้าโครงการหรือผู้ขายระบุเพิ่มเติมว่าจะรับประกันเพิ่มให้ เพราะโครงการบ้านจัดสรรส่วนใหญ่จะนิยมขายบ้านเปล่าไม่มี เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า มาให้กัน ดังนั้นข้อนี้การรับประกันจะเป็นส่วนเดียวกับเงื่อนไข ที่ระบุในเอกสารของสินค้าเฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า แต่ละชนิดเพิ่มเติมว่าจะกับประกันระยะเวลาเท่าไหร่ เช่น 6 เดือน – 1 ปี เป็นต้น

การชำรุดเสียหายแบบไหนบ้าง ที่อยู่นอกเหนือการรับประกัน

  • เกิดจากการต่อเติมอาคารภายหลังรับโอนกรรมสิทธิ์ การใช้งานที่ผิดไปจากปกติวิสัย หรือ การแก้ไขข้อบกพร่องที่ไม่ได้ดำเนินการโดยช่างของโครงการ
  • เกิดจากภัยธรรมชาติ หรืออุบัติเหตุ การเสื่อมสภาพจากการใช้งาน
  • เกิดจากการติดตั้งอุปกรณ์ เครื่องใช้ ที่ผู้ซื้อหรือผู้อยู่อาศัยดำเนินการเอง
  • การทรุดตัว การแตกร้าว ของพื้นจอดรถ พื้นลานซักล้าง พื้นดินทั่วไป
  • สวน การตกแต่งสวน องค์ประกอบของสวน
  • หลอดไฟ และอุปกรณ์
  • งานตกแต่งภายในและภายนอก

สิ่งที่ต้องทำเมื่อใกล้หมดประกันของโครงการ

  • ตรวจดูเอกสารการรับประกัน ระยะเวลาที่ใกล้หมดประกัน เมื่อใกล้ครบระยะเวลา 1 ปี และ 5 ปี หลังจากรับโอนบ้านแล้ว
  • สำรวจตัวบ้านทั้งในส่วนโครงสร้างและวัสดุต่างๆทั้งหมด หรือไล่เช็คตามรายการประกันความเสียหายตามเอกสารการรับประกันที่ได้รับจากโครงการ
  • ประเมินความเสียหาย ในกรณีนี้อาจใช้ผู้ที่มีความชำนาญทางวิชาชีพ เช่น วิศวกร สถาปนิก หรือผู้ชำนาญด้านการก่อสร้าง ช่วยในการประเมินความเสียหายร่วมด้วย
  • รวมรวบความเสียหายที่พบทั้งหมด แล้วแจ้งให้ทางโครงการทราบล้วงหน้า เพื่อให้เจ้าหน้าที่โครงการเข้ามาประเมินผลความเสียหายอีกครั้ง
  • ในบางโครงการเมื่อใกล้ครบ 1 ปี หลังจากที่เราซื้อบ้าน รับโอนบ้านและเข้าอยู่แล้ว โครงการจะมีหนังสือมาให้เจ้าของบ้าน เพื่อให้แจ้งความประสงค์ในการซ่อมแซม เราสามารถแจ้งความเสียหายที่พบในตอนนี้ได้เลย

การซ่อมแซม

โครงการจะดำเนินการซ่อมแซมความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นดังกล่าวข้างต้น ภายในกำหนดระยะเวลา 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือ หรือขึ้นอยู่กับสองฝ่ายจะตกลงกันเอง โดยโครงการจะซ่อมแซมเฉพาะส่วนที่เสียหายให้เท่านั้น โดยปกติแล้วโครงการจะเข้าดำเนินการซ่อมแซมความชำรุดบกพร่องตามวิธีการและมาตรฐานของโครงการ โดยอาจจะตรวจสอบหาสาเหตุก่อน แต่ถ้าผู้ขายหรือโครงการไม่แก้ไขภายในเวลาที่กำหนดหรือแก้ไขล่าช้าผู้ขายหรือโครงการจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย หรือถ้าถึงขั้นฟ้องร้องต่อศาล ต้องดำเนินการฟ้องภายใน 1 ปี นับตั้งแต่เห็นข้อบกพร่องนั้น

การรับประกันคอนโด

ประกันภัยอาคารชุด หรือ ประกันคอนโด โดยทั่วไปนั่นโครงการจะทำประกันภัยอาคารชุดเพื่อป้องกันความเสี่ยงในความเสียหายในกรณีต่างๆไว้ ส่วนใหญ่แล้วประกันคอนโดจะประกันเฉพาะส่วนโครงสร้างอาคารและพื้นที่ส่วนกลาง โดยโครงการจะเก็บเงินค่าเบี้ยประกันจากลูกบ้านเป็นค่าใช้จ่ายคิดตามตารางเมตรในโฉนด โดยจะแยกออกจากเงินค่ากองทุนและค่าส่วนกลางของคอนโด จ่ายในวันโอนกรรมสิทธิ์พร้อมกัน หรือในบางโครงการก็จะคำนวณไว้ในเงินค่าส่วนกลางก้อนแรกที่เรียกเก็บ ซึ่งจะมีช่วงเวลาเอาประกันเริ่มตั้งแต่วันโอนกรรมสิทธิ์ห้องแรกนับไปจนครบ 1 ปี หลังจากนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับนิติบุคคลจะเป็นผู้ตัดสินใจต่อว่าจะทำประกันต่อหรือไม่

สำหรับวิธีดูว่าประกันคอนโดของเรานั้นมีความคุ้มครองอะไรบ้าง สามารถสอบถามกับโครงการ นิติบุคคล หรือดูได้จากเอกสารแนบตอนทำการซื้อขาย ซึ่งทางโครงการจะระบุเอาไว้ทั้งรายละเอียดของประกันและระยะเวลาที่คุ้มครอง รวมถึงเงื่อนไขต่างๆไว้

โดยปกติแล้วการประกันคอนโด จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

  • All-Risk ประกันที่คุ้มครองความเสี่ยงภัยทุกกรณีที่จะเกิดขึ้นกับอาคาร
  • PL (Public Liability) การประกันภัยต่อบุคคลภายนอก

ประกันภัยการเสี่ยงภัยทุกชนิด (All Risk) คือ ประกันที่คุ้มครองความเสี่ยงภัยทุกกรณีที่จะเกิดขึ้นกับอาคาร ทั้งทรัพย์ส่วนกลาง ได้แก่ สิ่งปลูกสร้างตัวอาคาร รั้ว ฝ้าเพดาน ผนังโดยรอบ เครื่องจักร อุปกรณ์ต่างๆ รวมถึง ลิฟต์ งานระบบต่างๆ และทรัพย์ส่วนบุคคล ได้แก่ ห้องชุด และเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งรายการที่คุ้มครองจะขึ้นอยู่กับรายละเอียดที่ระบุไว้ในประกัน บางโครงการระบุไว้ว่าคุ้มครองเฉพาะตัวห้อง ส่วนบางโครงการจะเพิ่มความคุ้มครองให้เฟอร์นิเจอร์ที่ทางโครงการแถมมาให้ด้วย แต่มักจะไม่รวมของตกแต่ง เครื่องใช้ไฟฟ้า และเฟอร์นิเจอร์ที่เราซื้อมาเพิ่มเติมภายหลัง ซึ่งเราจะได้ความคุ้มครองมากน้อยนั้นก็ขึ้นอยู่กับประกันที่ทางโครงการหรือนิติบุคคลทำเอาไว้ อย่างไรก็ตามค่าเบี้ยประกันทางนิติบุคคลจะเป็นผู้พิจารณาให้เหมาะสมกับงบประมาณที่มีอยู่

ประกันความรับผิดชอบต่อสาธารณชน (Public Liability) คือ การประกันภัยต่อบุคคลภายนอก เช่น คุ้มครองในกรณีสิ่งของจากในคอนโดเราตกใส่รถบุคคลอื่นทำให้เกิดความเสียหาย เป็นต้น เนื่องจากคอนโดมิเนียมเป็นอาคารที่มีคนพักอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดภัยกับบุคคลอื่น และหากเกิดขึ้นบางกรณีอาจจะมีค่าใช้จ่ายที่สูง การที่ทางโครงการทำประกันประเภทนี้เอาไว้ให้ถือเป็นประโยชน์ต่อลูกบ้านมากทีเดียว

“ทรัพย์ส่วนบุคคล” หรือ ” ทรัพย์ส่วนกลาง”

เรื่องสำคัญอีกอย่างที่คนที่อยู่อาศัยคอนโดจะต้องทำความเข้าใจกันไว้คือเรื่องของ “ทรัพย์ส่วนบุคคล” หรือ ” ทรัพย์ส่วนกลาง” เพราะจะมีผลในรายละเอียดของประกันในคอนโดมิเนียมแต่ละแห่งมีความแตกต่างกันออกไป หากเกิดภัยหรือเหตุชำรุดเสียหายขึ้น อันดับแรกแนะนำให้ไปสอบถามทางโครงการ หรือนิติบุคคลว่าประกันครอบคลุมอะไรบ้าง และให้พิจารณาถึงจุดเกิดเหตุ เพราะถ้าความเสียหายเกิดขึ้นในห้องของเรา เช่น ความเสียหายเกิดขึ้นกับ พื้น ผนัง ประตู หน้าต่าง เฟอร์นิเจอร์ที่ทางโครงการให้มา และไม่ได้เสียหายจากการเสื่อมสภาพ กรณีเหล่านี้มักจะอยู่ในความคุ้มครองของประกันอยู่แล้ว แต่ถ้าขอบเขตของความเสียหายก้ำกึ่งระหว่างห้องของเราและพื้นที่ส่วนกลาง ประกันจะรับผิดชอบหรือไม่ และความเสียหายนี้ใครจะเป็นฝ่ายซ่อม  ดังนั้นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเมื่อจะทำการเคลมประกันมีดังนี้

ก่อนอื่นต้องพิจารณาหาสาเหตุมาจากตรงไหน และ จุดที่เกิดปัญหานั้นเป็นทรัพย์สินนั้นเป็นของใคร “ทรัพย์ส่วนบุคคล” หรือ “ทรัพย์ส่วนกลาง” หากเป็นพื้นที่ส่วนกลาง นิติบุคคลจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซม แต่ถ้าเป็นพื้นที่ส่วนบุคคลเราก็ต้องเป็นฝ่ายซ่อมเอง ซึ่งถ้าคอนโดมีการทำประกันภัยอาคารเอาไว้ ความชำรุดเสียหายบางกรณี เช่นเกิดจากภัยธรรมชาติ หรืออุบัติเหตุ สามารถเคลมประกันได้ทั้งทรัพย์ส่วนกลางและทรัพย์ส่วนบุคคลได้ค่ะ

สำหรับวิธีดูว่าพื้นที่ส่วนไหนเป็นพื้นที่ส่วนบุคคลหรือพื้นที่ส่วนกลางสามารถดูได้ดังนี้

● ผนังที่กั้นระหว่างห้องชุดกับห้องชุด ให้คิดเนื้อที่ของผนังครึ่งหนึ่งเป็นเนื้อที่ห้องชุด
● ผนังที่กั้นระหว่างห้องชุดกับพื้นที่ส่วนกลาง ให้คิดผนังทั้งหมดเป็นเนื้อที่ห้องชุด
● ผนังห้องชุดที่อยู่ภายนอกอาคาร ให้คิดเนื้อที่ผนังทั้งหมดเป็นพื้นที่ส่วนกลาง

พื้นที่บางจุดที่คาบเกี่ยวระหว่าง พื้นที่ส่วนบุคคล หรือ พื้นที่ส่วนกลาง เช่น ท่อน้ำดี , ท่อน้ำทิ้ง , ท่อไฟฟ้า , อุปกรณ์ใต้เพดาน และใต้พื้นห้อง มีวิธีดูง่ายๆว่า ถ้าเราสามารถใช้ประโยชน์กับพื้นที่นั้นๆได้เพียงคนเดียว เช่น ย้าย ทุบ เจาะ แล้วไม่เดือดร้อนใครให้ถือเป็น พื้นที่ส่วนบุคคล แต่ถ้าเป็นส่วนที่เราต้องใช้ประโยชน์ร่วมกันกับคนอื่นๆ พื้นที่ตรงนั้นถือเป็น พื้นที่ส่วนกลาง

อุบัติเหตุ หรือ การเสื่อมสภาพ

อีกจุดหนึ่งที่คนทั่วไปมักจะไม่ทราบกันคือ “ตัวประกันโดยทั่วไปแล้วจะคุ้มครองเฉพาะความเสียหายที่เกิดจากอุบัติเหตุหรือปัจจัยภายนอกหรือภัยธรรมชาติ” ตามความเสียหายจริงแต่ไม่เกินทุนประกัน เช่น ไฟไหม้ ควัน ฟ้าผ่า ลมพายุ น้ำท่วม แผ่นดินไหว ภัยจากอากาศยาน ภัยเนื่องจากน้ำ และภัยจลาจล เป็นต้น นั่นหมายความว่าจะ “ไม่คุ้มครองในกรณีที่ที่เกิดการเสื่อมสภาพตามอายุการใช้งาน”  นอกจากนี้ยังมีการขยายความคุ้มครองเพิ่มเติม ด้วยซึ่งถ้าความเสียหายอยู่นอกเหนือจากรายละเอียดที่ระบุไว้ในประกัน นั่นหมายความว่า เราต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมเอง

ประกันไม่ได้คุ้มครองบางรายการ เราควรทำอย่างไร ?

โดยทั่วไปประกันคอนโดของนิติบุคคลนั้นจะเน้นคุ้มครองไปที่พื้นที่ส่วนกลางมากกว่า ซึ่งจะมีเงินชดเชยให้ห้องของคุณหรือไม่ อาจจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของประกันคอนโดที่ทางนิติบุคคลทำเอาไว้ หากทำการตรวจสอบแล้วพบว่า ประกันไม่ได้คุ้มครองบางรายการ เช่น เฟอร์นิเจอร์ เราสามารถวางแผนซื้อประกันเสริมเพิ่มเติมได้ โดยจะมีการจ่ายเบี้ยเพิ่มตามความต้องการของรายละเอียดความคุ้มครอง เป็นการตอบโจทย์ของเจ้าของคอนโดที่ต้องการความปลอดภัยและลดความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น เพราะถ้าความเสียหายอยู่นอกเหนือจากรายละเอียดที่ระบุไว้ในประกันหลัก นั่นหมายความว่าเราต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมเอง การเพิ่มทุนประกันหรือความคุ้มครองจะมีหลากหลายให้เลือกโดยแต่ละหัวข้อก็จะมีวงเงินประกันภัยที่แตกต่างกัน

หรือถ้ากังวลใจในเรื่องอื่นๆ อาจมองประกันเสริมต่างๆ เช่น

  • ประกันอัคคีภัย : เป็นประกันภัยคุ้มครองการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ซึ่งคุ้มครองการเสียชีวิตอันเนื่องมาจากไฟไหม้ ชิงทรัพย์ หรือการปล้นทรัพย์ ณ สถานที่เอาประกันภัย
  • ประกันภัยพิบัติ : เป็นประกันภัยคุ้มครองที่อยู่อาศัยจากภัยธรรมชาติต่างๆ เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว พายุ
  • ประกันทรัพย์สินภายในที่อยู่อาศัย : เป็นประกันภัยคุ้มครองถึงทรัพย์สินภายในบ้านและคอนโด เช่น เฟอร์นิเจอร์ ของมีค่าต่างๆภายในบ้านและคอนโด
  • ประกันภัยโจรกรรม : เป็นประกันภัยคุ้มครองการสูญเสียหรือความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เกิดจากการถูกโจรกรรม ได้ตั้งแต่แค่ปรากฏร่องรอยงัดแงะ การปล้นทรัพย์ และการลักทรัพย์ โดยปรากฏหรือไม่ปรากฎร่องรอยงัดแงะต่อสถานที่เอาประกันภัย

อย่างในกรณีการสูญหายของทรัพย์สินหรืออุบัติเหตุอื่นๆ โดยเวลาเอาประกันก็จะอยู่ที่ 1 ปี หลังจากมีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องแรก ในกรณีที่ซื้อคอนโดมิเนียมมือหนึ่งจากโครงการ ก็ควรจะสอบถามเรื่องประกันคอนโดมิเนียมดังกล่าวว่าความครอบคลุมในส่วนห้องพักอาศัยเราหรือไม่ หรือมีแค่พื้นที่ส่วนกลาง ส่วนในกรณีที่ซื้อมือสอง ก็จะสอบถามกับเจ้าของห้อง นิติบุคคลประจำโครงการ หรือ Agency ผู้แทนขายที่ท่านติดต่ออยู่ เพื่อจะได้วางแผนและป้องกันล่วงหน้าหากเกิดเหตุไม่คาดคิด รวมทั้งเตรียมงบประมาณเพื่อซื้อประกันอื่นๆเพิ่มเติมไว้ให้กับห้องของเราตั้งแต่เริ่มอยู่อาศัย

ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่กำลังซื้อที่อยู่อาศัยไม่ว่าจะบ้านหรือคอนโด เพื่อให้ตรวจสอบความมั่นใจ ในเรื่องของประกันและความปลอดภัยต่างๆที่โครงการหรือผู้ขายควรมีให้ หรือได้เตรียมการทำประกันเพิ่มเตรียมไว้ล้วงหน้า เพื่อป้องกันและรักษาทรัพย์สินของเราให้อยู่อาศัยได้อย่างสบายใจกันนะคะ หากมีข้อมูลที่น่าสนใจในเรื่องของประกัน เราจะรวบรวมมาให้อ่านกันอีกค่ะ


ติดตามพวกเราได้ที่
Website : www.thinkofliving.com
Twitter : www.twitter.com/thinkofliving
YouTube : www.youtube.com/ThinkofLiving
Instagram : www.instagram.com/thinkofliving
Facebook : ThinkofLiving