บ้านปลอดปลวก – ตอนที่ 2 ของคอลัมน์ “รอบรู้เรื่องบ้านๆ”
ท่านผู้อ่านครับ บ่อยครั้งที่บ้านพักอาศัยทั่วๆ ไปกว่า 90% มักมีอันต้องผุพังไปก่อนเวลาอันสมควรจากปลวก และแมลงร้ายสารพัดชนิด โดยเฉพาะปลวกนั้นถือว่าเป็นมหันตภัยร้ายสำหรับบ้านมากที่สุด จึงกลายเป็นคู่ขัดแย้งที่สำคัญของมนุษย์เราโดยปริยาย
ความจริงแล้ว เจ้าปลวกที่ว่านี้ มันมิได้พิศมัยอะไรกับไม้แม้แต่น้อย แต่เป็นเพราะ เซลลูโลส (Cellulose) ในเนื้อไม้ต่างหากที่เป็นอาหารอันโอชะของปลวก ดังนั้นไม่เพียงแต่ไม้ที่จะต้องผุพังกลายเป็นกากอาหารของปลวก แต่ยังรวมไปถึงอะไรก็ตามที่มีเซลลูโลสเป็นองค์ประกอบอยู่ เช่น กระดาษ, ผ้า, หนังสัตว์ พรหม หนังสือ ฯลฯ และวัสดุหรือเครื่องใช้ภายในบ้านอีกหลายสิบชนิดที่หาพบได้ในบ้านพักอาศัยทั่วๆ ไป
ศัตรูร้ายจากใต้ดิน
ปลวก ที่จัดว่าเป็นศัตรูร้ายสำหรับบ้านเรือนของเราก็คือ ปลวกใต้ดิน (Sub-Terranean Termites) พวกนี้ถือเป็นศัตรูโครงสร้าง (Structural Pests) ที่ทำความเสียหายสูงสุด ถึง 95% ของความเสียหายทั้งหมดก็ว่าได้ อาณาจักรของปลวกพวกนี้จะอยู่ใต้ดิน อาศัยอยู่ร่วมกันตามแบบฉบับของสัตว์ที่เรียกว่า “แมลงสังคม” ซึ่งในรังปลวกใต้ดินจะเต็มไปด้วยประชากรปลวกนับแสนนับล้านตัว แบ่งแยกหน้าที่กันเป็นวรรณะต่างๆ (ทำงานเป็นทีมเวิร์คครับ)
ปลวกนางพญาและราชา : ทำหน้าทีวางไข่เพิ่มประชากรในวัง …เอ๊ยในรังของมัน
- ปลวกทหาร: ทำหน้าที่ต่อสู้ศัตรูผู้บุกรุก
- ปลวกงาน: ทำหน้าที่หาอาหาร, สร้าง ,ซ่อม , ขยายรังและทางเดิน
- ปลวกขยายพันธุ์: ทำหน้าที่ขยายพันธุ์ เราเรียกกันว่าแมลงเม่า หรืออาจกล่าวได้ว่าวงจรชีวิตของปลวกใต้ดินนั้นมีจุดเริ่มต้นมาจากแมลงเม่า
วิธีรบกับปลวกและการป้องกัน
ปัจจุบันวิธีการรบที่นิยมคือ การป้องกันเสียแต่เนิ่นๆ คือการกำจัดแหล่งสร้างรัง อันเป็นฐานทัพใหญ่ของปลวก และทำลายทางขึ้นลงหรือเส้นทางลำเลียงพล พร้อมกับการส้างแนวป้องกัน สำหรับการบุกรุกใหม่ในอนาคต ส่วนการที่เราจะไปคิดแก้ปัญหาที่ต้นตอด้วยการสร้างบ้าน โดยใช้วัสดุที่ไม่มีเซลลูโลสของโปรดของปลวกนั้น ดูจะลำบากครับ เพราะต้องควบคุมตั้งแต่การก่อสร้างตั้งแต่แรกเริ่ม ถึงแม้ปัจจุบันจะมีไม้เทียมหรือใช้คอนกรีต แต่วิธีการก่อสร้างยังคงใช้ไม้แบบกันอยู่ (เจ้าตัวนี้แหละครับ เหยื่อล่อปลวกเข้าบ้าน)
สำหรับการป้องกันอย่างถูกวิธีนั้นเราควรทำตั้งแต่
- ก่อนก่อสร้าง โดยอัดเคมีลงดิน ให้รอบแนวคานด้านใน-นอก และฉีดเคลือบผิวดินในทุกๆ ตารางนิ้ว รวมทั้งสเปยร์เคมีออกไปโดยรอบของตัวอาคาร 1 เมตรและบริเวณที่มีความชื้นสูง
- การราดน้ำยาผ่านระบบท่อใต้อาคาร (ลักษณะนี้ต้องทำตั้งแต่เริ่มก่อสร้าง) ระบบท่อจะเดินตามคานและเจาะรูที่ท่อเป็นระยะๆ แต่ท่อจะไม่สัมผัสกับดินเรื่องจากอาจจะทำให้ท่ออุดตันได้ ซึ่งระบบนี้จะสะดวกสบายกว่า เพราะไม่จำเป็นต้องเข้าไปในตัวบ้าน ไม่ต้องทุบพื้น เจาะบ้านเป็นรูเพื่ออัดน้ำยาให้ตัวบ้านหลังจากอัดน้ำยาในครั้งแรกหมดอายุ
- ในกรณีที่ไม่ได้เตรียมท่อน้ำยาไว้ตั้งแต่แรก ต้องเจาะรูขนาด 5/8 นิ้ว ให้ทะลุพื้นจนถึงชั้นดินรอบแนวคานทั้งด้านในและนอก แต่ละจุดห่างกันประมาณ 1 เมตร
- หากตรวจพบกองดินหรือทางเดิน ของปลวกให้ค้นหาถึงจุดที่ปลวกขึ้นมา และทำลายทิ้งด้วยน้ำยาหรือสเปรย์ฆ่าปลวก ทิ้งไว้ซัก 2-3 วัน ให้ทำการตรวจสอบอีกครั้ง
- ฉีดเคมีเคลือบโครงไม้ โดยให้ซึมเนื้อไม้เน้นตามรอยเลื่อนรอยต่อ เป็นการป้องกันการเกิดขึ้นใหม่ของปลวก มอด ด้วง และเชื้อราต่างๆด้วย ควรเลือกไม้ที่นำมาก่อสร้างที่มีความทนทางต่อการทำลาย เช่น ไม้สัก ไม้เต็ง ไม้แดง ไม้ชิงชันและไม้ประดู่ (ข้อนี้ขึ้นอยู่กับงบประมาณในกระเป๋าครับ) แต่ถ้าใช้ไม้เนื้ออ่อน ควรทำการอาบน้ำยาป้องกันเสียก่อน
ข้อแนะนำเพิ่มเติม
- ไม่ควรปลูกต้นไม้ใหญ่ไว้ใกล้บ้าน เพราะปลวกจะอาศัยรากไม้เข้ามาในบ้านได้
- พยายามป้องกันไม่ให้แมลงเม่าบินเข้ามาภายในบ้าน เพราะแมลงเม่าคือปลวกเจริญพันธุ์ เมื่อเข้ามาจะทำรังและวางไข่กลายเป็นปลวกได้ครับ
ที่เขียนมาข้างต้น ก็เป็นการป้องกันและดูแลบ้านเราให้รอดพ้นจากภัยจากปลวก ศัตรูตัวฉกาจที่ไม่ว่าบ้านใครก็ไม่อยากเจอะเจอกับมัน เพราะจะเกิดความเสียหายอาจเกิดขึ้นโดยไม่ทันระวัง อย่างไรก็ดีไม่มีสารเคมีหรือวิธีการใดๆ ที่จะจัดการกับเจ้าแมลงร้ายนี้ได้อย่างสิ้นเชิง ดังนั้นการหมั่นตรวจสอบและดูแลบ้านอยู่เสมอจะเป็นการดีที่สุดครับ
นายสิทธิพร สุวรรณสุต
นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน
CEO P.D. House