“บ้านทรุด แตกร้าว” ถือเป็นปัญหาหลักสำหรับคนที่สร้างหรือต่อเติมบ้าน ทำให้เสียค่าใช้จ่ายและเสียเวลาในการซ่อมแซม และเมื่อเกิดขึ้นแล้วไม่ใช้ว่าจะซ่อมกันได้ง่ายๆ สาเหตุหลักของการทรุดนั้นเกิดขึ้นได้ทั้งจากการเคลื่อนตัวของดิน เสาเข็มอยู่บนดินคนละชนิดกัน รวมไปถึงการเลือกใช้ฐานรากและเสาเข็มให้รับน้ำหนักได้เพียงพอ หลายคนกว่าจะได้บ้านเป็นของตัวเองสักหลังไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เจ้าของบ้านควรรู้และทำความเข้าใจ เพื่อที่จะได้สร้างบ้านได้อย่างไม่ปัญหาตามมาค่ะ

ขอบคุณภาพประกอบจาก SCG

เสาเข็มคืออะไร?

เสาเข็ม คือ ส่วนประกอบของโครงสร้างที่อยู่ใต้สุดของอาคาร มีลักษณะเป็นท่อนฝังในดินเชื่อมต่อกับฐานราก มีหน้าที่รับน้ำหนักอาคารทั้งหลังจากฐานรากแล้วถ่ายลงสู่ดินโดยอาศัยแรงเสียดทานระหว่างผิวของเสาเข็มกับดิน และแรงต้านทานที่ปลายเข็มจากชั้นดินแข็ง โดยปกติแล้วหากบ้านวางอยู่บนดินเฉยๆ น้ำหนักของบ้านจะกดผิวดินให้ทรุดลงไปเรื่อยๆ ถ้ามีเสาเข็มก็จะช่วยทำให้เกิดแรงต้านน้ำหนักของบ้านเพื่อชะลอการทรุดตัว

สาเหตุของการทรุด 

การทรุดของบ้านนั้นมีอยู่หลายสาเหตุ แต่ส่วนมากมักมาจากเสาเข็มและพื้นดินที่ใช้ในการสร้างบ้าน สาเหตุหลักที่เรามักเจอกันบ่อยๆได้แก่

  • ความยาวของเสาเข็มไม่เพียงพอ

โดยปกติในการสร้างบ้านเราควรลงเสาเข็มให้ยาวลึกถึงชั้นดินแข็ง เพราะจะได้มีแรงต้านช่วยพยุงให้บ้านมีความแข็งแรง แต่สำหรับบ้านใครที่มีเสาเข็มยาวไม่ถึงชั้นดินแข็ง ก็แปลว่าน้ำหนักของบ้านทั้งหลังมีเพียงแรงเสียดทานของดินชั้นบนรองรับเท่านั้น ต้องทำใจว่าอาจจะเกิดการทรุดตัวอย่างรวดเร็วในอนาคตได้ โดยเฉพาะหากเป็นที่ดินที่เพิ่งถมมาไม่เกิน 1-2 ปี หรือที่ดินซึ่งเคยเป็นบ่อหรือบึงมาก่อน แรงเสียดทานของดินจะยิ่งน้อย อัตราการทรุดตัวก็จะยิ่งเร็วตามไปด้วย สำหรับความลึกของเสาเข็มว่าต้องลงเท่าใด จะขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ บางแห่งที่มีชั้นดินแข็งมากๆ เช่นบนภูเขาหรือบริเวณภาคเหนือ เราอาจจะไม่ต้องลงเสาเข็มลึกมากหรือใช้แค่ฐานรากแบบไม่ต้องมีเสาเข็มเลยก็ได้

  • ปลายของเสาเข็มอยู่บนดินต่างชนิดกัน

หมายความว่าบ้านหลังเดียวกันอาจจะมีระดับของชั้นดินไม่เท่ากันหรืออยู่ในดินคนละประเภทกัน หากเราออกแบบหรือใช้เสาเข็มประเภทเดียวกันเท่ากันทั้งหมดเลย ทำให้บ้านทรุดตัวไม่เท่ากัน อาจจะนำไปสู่ทรุดหรือแตกร้าวของตัวบ้านได้ วิธีที่แนะนำคือควรเจาะสำรวจดิน (SOIL BORING TEST) เป็นการเจาะหรือขุดดินเพียงเล็กน้อย เพื่อต้องการทราบชนิดของดิน การเรียงตัวของชั้นดิน ระดับน้ำใต้ดินและอื่นๆ  เพื่อดูความแข็งแรงของดินและใช้คำนวณหาการทรุดตัวของสิ่งก่อสร้าง เพื่อที่จะได้ทำการออกแบบฐานรากและเสาเข็มให้เหมาะสม

  • เสาเข็มแตกหัก

เมื่อเสาเข็มชำรุดจะไม่สามารถถ่ายน้ำหนักไปยังดินแข็งได้ ทำให้บ้านเกิดการทรุดเอียงซึ่งการทรุดในลักษณะนี้จะไม่ค่อยเห็นรอยแตกที่โครงสร้างส่วนบน แต่จะพบรอบแตกที่ฐานรากหรือเสาตอม่อ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ทีเดียวในการซ่อมแซม

  • เสาเข็มรับน้ำหนักได้ไม่พอ

การเลือกใช้เสาเข็มไม่ได้ดูเฉพาะความยาวเพียงอย่างเดียวนะคะ หากเราไม่ได้ทำการสำรวจสภาพชั้นดิน อาจจะทำให้เกิดความผิดพลาดได้ เช่น เจอดินที่เพิ่งถมมาใหม่ๆยังไม่แน่นตัว หรือคำนวณการใช้เสาเข็มมาไม่เพียงพอเป็นต้น

  • การเคลื่อนตัวหรือการทรุดของดิน

การทรุดของดินมักเกิดขึ้นหลังที่เราสร้างบ้านเสร็จแล้ว โดยอาจจะเกิดจากปัจจัยภายนอกเช่น การขุดดินบริเวณข้างเคียงทำให้ดินเคลื่อนตัวดันเสาเข็มให้เคลื่อนออกจากเดิม เป็นต้น  การเคลื่อนไหลของดินจะเกิดขึ้นได้กับพื้นที่ที่มีความต่างระดับของพื้นดินมากๆ โดยเฉพาะถ้าบริเวณนั้นเป็นดินเหนียวอ่อนจะยิ่งมีโอกาสเคลื่อนไหลได้ง่าย เช่น บริเวณริมแม่น้ำ จึงอาจจะต้องมีการออกแบบโครงสร้างมาเป็นพิเศษที่ใช้ในการรับน้ำหนักตัวบ้าน หรือ แนะนำให้ทำกำแพงป้องกันการเลื่อนไหลของดินให้มีความแข็งแรงเพียงพอก่อนที่จะติดตั้งเสาเข็มของบ้านค่ะ

ประเภทของเสาเข็ม

นอกจากที่จะต้องคำนึงถึงความแข็งแรงในการเสาเข็มแล้ว การเลือกประเภทของเสาเข็มให้เหมาะกับตัวบ้านก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยสามารถแบ่งออกได้ดังนี้

  • เสาเข็มตอก 

คือการใช้ปั้นจั่นตอกเสาเข็มลงไปในดินจนได้ความลึกที่ต้องการ เป็นวิธีการที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเนื่องจากวิธีการก่อสร้าง เพราะไม่ซับซ้อนและค่าใช้จ่ายไม่สูง แต่ในปัจจุบันมีปัญหาในการก่อสร้างในพื้นที่ ที่มีอาคารรอบข้าง เนื่องจากแรงสั่นสะเทือนในการตอกและการเคลื่อนตัวของดินที่ถูกแทนที่ด้วยเสาเข็ม เนื่องจากการตอกเสาเข็มมักกระทำโดยผู้รับจ้างซึ่งไม่ใช่วิศวกรจึงมีความเสี่ยงที่จะมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น ซึ่งการควบคุมการตอกควรจะต้องกระทำโดยวิศวกรผู้รับผิดชอบโครงการนั้นจึงจะเหมาะสมเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย เหมาะกับโครงสร้างขนาดเล็กหรืออาคารที่มีน้ำหนักไม่มาก

ขอบคุณภาพประกอบจาก SCG

  • เสาเข็มเจาะ

คือเสาเข็มที่ก่อสร้างโดยหล่อคอนกรีตลงไปในดินที่ถูกเจาะเป็นหลุมไว้ล่วงหน้าให้เต็ม เป็นวิธีก่อสร้างที่ช่วยแก้ปัญหาที่พบจากการใช้เสาเข็มตอก ทั้งการขนย้ายเสาเข็มเข้าพื้นที่ก่อสร้าง การรบกวนอาคารรอบข้างเนื่องจากแรงสั่นสะเทือนจากการตอก เสาเข็มเจาะยังสามารถแบ่ง ประเภทของเสาเข็ม ออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้ตามขนาดของเสาเข็มและกรรมวิธีที่ใช้ อันได้แก่ เสาเข็มเจาะขนาดเล็ก (เสาเข็มเจาะแบบแห้ง) และ เสาเข็มเจาะขนาดใหญ่ (เสาเข็มเจาะแบบเปียก)

ขอบคุณภาพประกอบจาก SCG

  • เสาเข็มกลมเหวี่ยงอัดแรง (Spun Micro Pile)

เป็นเสาเข็มที่ผลิตที่ใช้กรรมวิธีการ ปั่นคอนกรีตในแบบหล่อซึ่งหมุนด้วยความเร็วสูงทำให้เนื้อคอนกรีตมีความหนาแน่นสูงกว่าคอนกรีตที่หล่อ โดยวิธีธรรมดา จึงมีความแข็งแกร่งสูง รับน้ำหนักได้มาก เสาเข็มสปันมีลักษณะเป็นเสากลม ตรงกลางกลวง มีโครงลวดเหล็กอัดแรงฝังอยู่ในเนื้อคอนกรีตโดยรอบ การตอกเสาชนิดนี้สามารถทำได้หลายแบบ ทั้งวิธีการตอกด้วยปั้นจั่นแบบธรรมดา และวิธีการตอกด้วยระบบเจาะกด

เสาเข็มสปัน มีให้เลือกใช้หลายขนาด สามารถเพิ่มความยาวได้โดยการนำเสามาเชื่อมต่อกัน เนื่องจากเสาเข็มสปันมีลักษณะกลวงจึงสามารถลดแรงดันของดินในขณะตอกได้โดยการเจาะนำและลำเลียงดินขึ้นทางรูกลวงของเสา ซึ่งจะช่วยลดความกระทบกระเทือนที่มีต่ออาคารข้างเคียงได้ เสาชนิดนี้เหมาะสำหรับสะพานหรือใช้เป็นฐานรากของอาคารสูงที่ต้องการความมั่นคงแข็งแรงสูงเพื่อป้องกันปัญหาเรื่องลมแรงและการเกิดแผ่นดินไหว

เรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับเสาเข็นก่อนซื้อ บ้านสร้างเอง VS บ้านโครงการ

  • บ้านสร้างเอง

สำหรับใครที่กำลังจะสร้างบ้านด้วยตัวเอง ควรให้ผู้เชี่ยวชาญหรือวิศวกรเป็นผู้คำนวณและเลือกใช้เสาเข็ม เพื่อลดความผิดพลาด ทางที่ดีควรมีการตรวจสอบสภาพชั้นดินก่อนทำการลงเสาเข็ม ควรลงเสาเข็มให้ยาวลึกถึงชั้นดินแข็งเพื่อป้องกันการทรุด นอกจากนั้นต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆประกอบด้วย เช่นที่ดินอยู่ใกล้แม่น้ำหรือไม่ มีการขุดดินขนาดใหญ่ในบริเวณใกล้เคียงหรือไม่ เป็นต้น สำหรับราคา เสาเข็มตอกจะมีราคาประหยัดกว่าเข็มเจาะถึง 2 – 3 เท่า เช่น ถ้าเข็มตอกราคา 8,000 บาท/ต้น เข็มเจาะจะราคาสูงถึง 20,000 – 25,000 บาท/ต้น ในกรณีที่รับน้ำหนักในระดับเดียวกัน ดังนั้นควรปรึกษาวิศวกรเพื่อคำนวณทั้งโครงสร้างและค่าใช้จ่ายก่อนที่จะทำการก่อสร้างค่ะ

  • บ้านจัดสรร

ใครที่ตัดสินใจซื้อบ้านจัดสรรหรือหมู่บ้าน ก่อนซื้อควรสอบถามความยาว ตำแหน่งและประเภทของเสาเข็มจากโครงการ แล้วนำไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ในกรณีที่เราตั้งใจจะต่อเติมเช่น อยากทำหลังคาที่จอดรถ ต่อเติมเรือนรับรอง สระว่ายน้ำ ให้ทำการตรวจสอบสภาพดินและเลือกใช้เสาเข็มให้เหมาะกับการรับน้ำหนัก หากมีการต่อเติมที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างเดิมของตัวบ้าน ส่วนต่อเติมที่ว่าโดยทฤษฎีควรลงเสาเข็มให้ถึงชั้นดินแข็ง แต่ในทางปฏิบัติมักจะมีข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่ เพราะการลงเสาเข็มให้ลึกถึงชั้นดินแข็ง อาจต้องใช้พื้นที่เยอะและเครื่องมือขนาดใหญ่ นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายสูง จนต้องหันมาทบทวนกันอีกทีว่าคุ้มค่าหรือไม่ ในความเป็นจริงส่วนต่อเติมในบ้านมักจะลงเอยกับเสาเข็มสั้น โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่จะใช้เป็นเสาเข็มขนาดความยาวไม่เกิน 3 เมตร ในขณะที่ชั้นดินแข็งในกรุงเทพฯ โดยทั่วไปอยู่ลึกประมาณ 17-23 เมตร แต่ก็ต้องทำใจยอมรับว่าถ้าใช้งานไปสักระยะ อาจจะมีการทรุดตัวเกิดขึ้นได้ค่ะ

สำหรับบ้านจัดสรรหรือบ้านโครงการ หากมีบริเวณที่ลงเสาเข็มไม่เท่ากับตัวบ้านจะมีการออกแบบแยกโครงสร้างออกจากตัวบ้านเพื่อป้องกันการทรุดตัวเช่นพื้นที่จอดรถที่ไม่เชื่อมกับพื้นบ้านและมีการโรยกรวดตกแต่ง หรือบริเวณรั้วที่ไม่ติดกันกับตัวบ้านเป็นต้นค่ะ

ต่อเติมอย่างไรไม่ให้ทรุด

สำหรับใครที่มีบ้าน เชื่อว่าหลายคนคงมีความคิดที่จะต่อเติมเพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอยให้กับบ้าน ซึ่งดูเหมือนว่าต่อเติมเล็กๆน้อยๆ ไม่กี่ตารางเมตร ไม่น่าจะเป็นอะไร แต่ในความเป็นจริงแล้วการออกแบบโครงสร้างของบ้าน ผู้ออกแบบจะไม่ได้คำนวณเผื่อการรับน้ำหนักส่วนต่อเติมเอาไว้ด้วย ดังนั้นจึงเป็นสาเหตุให้เกิดการแตกร้าวและทรุดขึ้น ตามปกติแล้วเมื่อเราสร้างบ้าน วันเวลาผ่านไปก็จะดินก็จะเกิดการทรุดบ้างตามธรรมชาติซึ่งถ้าบ้านออกแบบเสาเข็มเพื่อความน้ำหนักมาดี บ้านก็จะทรุดตัวไปพร้อมๆกันทำให้ไม่มีปัญหาการแตกร้าว แต่ถ้ามีการต่อเติมแล้วไม่ได้มีการลงเลาเข็มหรือเสาเข็มไม่ลึกถึงชั้นดินแข็งโดยเสาเข็มสั้นจะทรุดตัวก่อน ในขณะที่โครงสร้างเดิมยังไม่ทรุด จึงส่งผลให้เกิดการแยกส่วนขึ้น

แต่ถ้ากรณีที่เรามีงบประมาณไม่เพียงพอสำหรับการตอกเสาเข็มให้ลึกถึงชั้นดินแข็ง หรือข้อมีจำกัดของพื้นที่ แนะนำให้ต่อเติมโดยการแยกโครงสร้างออกจากอาคารเดิมอย่างเด็ดขาด แม้ว่าจะสร้างให้ชิดกับอาคารเดิมก็ตาม นอกจากจะต้องแยกโครงสร้างออกจากตัวบ้านแล้วควรจบงานรอยต่อพื้นและผนังให้ถูกต้องด้วย ข้อผิดพลาดที่พบบ่อยคือช่างมักจะก่อผนังหรือหล่อพื้นชนเชื่อมติดกับบ้านเดิม ต่อมาเมื่อพื้นดินทรุดตัวลงจากน้ำหนักกดทับของส่วนต่อเติม ส่วนต่อเติมก็จะทรุดตามพื้นดินจนเกิดการฉีกขาดแตกร้าวบริเวณรอยต่อ ทำให้น้ำรั่วซึมเข้ามาได้ง่าย วิธีที่ถูกต้องคือให้ใช้โฟมคั่นระหว่างรอยต่อดังกล่าว (ทั้งพื้นและผนัง) ก่อนจะยาแนวด้วย PU หรือ Silicone นอกจากนี้ เพื่อให้การทรุดตัวเป็นไปอย่างช้าๆ อาจเลือกใช้วัสดุกับเฟอร์นิเจอร์ที่มีน้ำหนักเบา รวมถึงกระจายน้ำหนักเฉลี่ยหลายด้านเพื่อหลีกเลี่ยงการทรุดตัวค่ะ

เรื่องบ้านทรุดนั้นเป็นปัญหาที่เราพอเจอได้บ่อยก็จริง สาเหตุเกิดได้หลากหลายทั้งโครงสร้างเองหรือปัจจัยภายนอก แต่หากเรามีความรู้แล้วก็จะช่วยป้องกันเบื้องต้นหรือรู้แนวทางการแก้ไขได้ ที่สำคัญหากไม่แน่ใจนั้น เราควรมีผู้ช่วยหรือปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้บ้านที่เราสร้างอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ไม่ต้องซ่อมแซมบ่อยๆค่ะ อย่างไรก็ตามการต่อเติมนั้นควรคำนึงระยะร่นตามกฎหมายและไม่ไปกระทบกับความเป็นอยู่ของเพื่อนบ้านด้วยค่ะ

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนและภาพประกอบจาก   SCG และ www.st-qps.com 


บทความนี้ผู้เขียนพยายามศึกษาและรวบรวมข้อมูลที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนที่กำลังจะสร้างบ้าน หากมีตรงส่วนไหนที่ขาดตกบกพร่องหรือผิดพลาดไป ช่วยกันแนะนำได้นะคะ ^^

ถ้าเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ช่วยกด LIKE ให้หน่อยนะคะ จะได้มีกำลังใจทำบทความถัดๆไปค่ะ

ติดตามพวกเราได้ที่
Website : www.thinkofliving.com
Twitter : www.twitter.com/thinkofliving
YouTube : www.youtube.com/ThinkofLiving
Instagram : www.instagram.com/thinkofliving
Facebook : ThinkofLiving