บ้านทรุดต้องซ่อมอย่างไร ใช้งบประมาณเท่าไร?

ปัญหาใหญ่ของคนมีบ้านหนึ่งในนั้นก็คงหนีไม่พ้น “บ้านทรุด” เพราะยิ่งนานวันเข้าปัญหานี้ที่ไม่ได้รับการแก้ไขก็จะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นมา ไม่เพียงเฉพาะบ้านที่เกิดจากการต่อเติมเท่านั้น บางหลังไม่ได้ต่อเติมอะไรแต่ก็เกิดการทรุดตัว แตกร้าวขึ้นมาได้เช่นกันค่ะ ปัญหาบ้านทรุดตัวนั้นต้องบอกเลยว่ากันไว้ก่อนดีกว่าแก้ แต่กว่าจะรู้ว่าทรุดก็ต้องมาแก้ไขซะแล้ว..

ครั้งก่อนเราได้เคยทำความรู้จักกับการเลือกใช้เสาเข็มก่อนจะสร้างบ้านหรือเลือกซื้อบ้านกันไปแล้วกับบทความ บ้านทรุดหรือไม่? ขึ้นอยู่กับเสาเข็ม วันนี้เราจะมาแนะนำ ” วิธีการแก้ปัญหา” เมื่อบ้านเกิดการทรุดตัวให้เจ้าของบ้านได้เตรียมตัวแก้ไขกันได้ถูกต้อง ถูกวิธีขจัดปัญหาไม่ให้เกิดซ้ำได้อีกค่ะ โดยจะเริ่มจากหัวข้อต่างๆ ดังนี้

  • บ้านทรุดเกิดจากอะไร
  • สาเหตุที่ทำให้เกิดการทรุดตัวคืออะไร
  • ปัญหาที่ตามมาจากการทรุดตัวของบ้าน
  • วิธีการแก้ไขพร้อมงบประมาณที่ต้องเตรียม


บ้านทรุดคืออะไร

“บ้านทรุด” คือการที่พื้นดินบริเวณรอบๆบ้านเกิดการทรุดตัวตามระยะเวลาจนเกิดเป็นโพรงใต้คานคอดิน หรือการที่ฐานรากของตัวบ้านทรุดตัวจากหลายสาเหตุทำให้ตัวบ้านเกิดรอยแตกร้าว ในกรณีส่วนต่อเติมของบ้านที่ฝากอยู่ตัวบ้านการทรุดตัวจะทำให้ผนังแยกออกมาจากบ้านหลัก หรือบางหลังที่มีการฝากส่วนต่อเติมเข้ากับโครงสร้างบ้านหลัง อาจเกิดการรั้งตัวบ้านทำให้โครงสร้างของบ้านหลักเกิดความเสียหายเป็นอันตรายต่อผู้อยู่อาศัยได้ค่ะ


สาเหตุการทรุดตัวของบ้าน

บ้านทรุดนั้นเป็นปัญหาที่หลายบ้านต้องเคยพบเจอ ซึ่งมีสาเหตุการทรุดที่แตกต่างกันออกไปค่ะ แต่ละสาเหตุนั้นก็มีวิธีการแก้ไขไม่เหมือนกัน ดังนั้น เราควรมั่นใจว่าบ้านเรานั้นทรุดด้วยสาเหตุอะไรเพื่อที่จะดำเนินการแก้ไขให้ถูกจุดค่ะ

  • สาเหตุจากการก่อสร้างบนดินที่ยังไม่เซ็ตตัว

หลายคนรีบซื้อบ้านที่ก่อสร้างใหม่ๆบนดินยังไม่เซ็ตตัว หรือซื้อบ้านในโครงการที่เคยเป็นพื้นที่หนองน้ำ หรือพื้นนามาก่อน ทำให้ดินบริเวณนั้นมีความอ่อนตัวมากกว่าปกติ บางโครงการรีบถมดินแล้วทำการก่อสร้างเลยทำให้ดินบริเวณนั้นเกิดการทรุดตัวได้ง่ายกว่าปกติค่ะ ซึ่งวิธีการสังเกตดินว่าเป็นดินอ่อนหรือไม่ให้สังเกตจากสภาพแวดล้อมรอบๆ ว่าเป็นพื้นที่นา หรือหนองน้ำหรือไม่ ถ้ารอบๆทั้งหมดเป็นหนองน้ำ ก็มีความเป็นไปได้สูงมากๆที่ที่ดินของเราจะเป็นดินถมใหม่ มีความเสี่ยงทรุดตัวสูงค่ะ

ถ้าไม่สามารถสังเกตที่ดินรอบๆได้ให้สังเกตพันธุ์ไม้ที่ขึ้นบริเวณนั้นค่ะว่าเป็นชนิดไหน ต้นกก ต้นอ้อ ต้นพลับพลึง จะขึ้นบริเวณที่มีความชื้นและแหล่งน้ำแสดงว่าดินบริเวณนั้นเป็นดินอ่อน แต่ถ้ามีต้นกระถิน หรือต้นมะขามเทศ จะขึ้นบริเวณดินแห้งซึ่งจะมีความแข็งมากกว่าค่ะ

*Tips : ดินควรถมทิ้งไว้เป็นระยะเวลามากกว่า 6 เดือนจนถึง 1 ปี ถ้ามีการบดอัดดินด้วยจะทำให้ดินมีความแข็งเซ็ตตัวมากขึ้น ช่วยลดการทรุดตัวของบ้านในระยะยาว

  • สาเหตุจากการไม่ได้ลงเสาเข็ม หรือเสาเข็มสั้นเกินไป

บ้านบางโครงการหรือบ้านสร้างเองที่ไม่ได้ลงเสาเข็มบริเวณพื้นลานจอดรถ หรือพื้นบริเวณลานซักล้างด้านหลังบ้าน ใช้วิธีการก่อสร้างแบบเทคอนกรีตลงบนดิน (On Ground) ร้อยทั้งร้อยจะเกิดการทรุดตัวเกิดขึ้น ถ้าไม่ได้เว้นระยะห่างกับโครงการสร้างของตัวบ้านไว้ จะเกิดรอยแตกร้าวและยุบตัวลงบริเวณจุดเชื่อมต่อตลอดทั้งแนวค่ะ

ในบางกรณีผู้รับเหมาบ้างเจ้าอาจให้คำปรึกษาว่าเสาเข็มสั้น 6 เมตรลงเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 4-6 ต้นก็สามารถใช้แทนเสาเข็มยาวได้ ซึ่งในความเป็นจริงจะต้องดูชนิดของดินเป็นหลักค่ะ ถ้าเป็นพื้นที่ของกรุงเทพมหานครส่วนใหญ่จะเป็นดินอ่อน การลงเสาเข็มสั้นจะช่วยเพียงชะลอการทรุดตัวให้น้อยลงเท่านั้นค่ะ ผ่านไป 5-10 ปีจะเห็นร่องรอยการทรุดเกิดขึ้นอยู่ดี นอกจากจะอยู่บนพื้นที่ดินแข็งเช่น ภูมิภาคอีสาน หรือภาคเหนือ ก็จะสามารถลงเสาเข็มสั้นได้ค่ะ

  • สาเหตุจากเสาเข็มมีการแตกหัก หรือเสาเข็มอยู่บนดินที่แตกต่างกัน

บ้านในบางพื้นที่อาจตั้งอยู่บนดินที่ต่างชนิดกัน ซึ่งถ้าบ้านของเรามีการลงเสาเข็มที่เท่ากันโดยไม่ได้เจาะสำรวจดินมาก่อน (SOIL BORING TEST) อาจทำให้เกิดการทรุดตัวที่ไม่เท่ากันในแต่ละจุดจนเกิดรอยร้าวภายในตัวบ้านได้

ในกรณีที่ใช้เสาเข็มยาว และเจาะสำรวจดินก่อนการก่อสร้างทั้งหมดแล้วแต่ยังเกิดการทรุดตัวอยู่อาจเกิดจากกรรมวิธีการก่อสร้างที่ทำให้เสาเข็มหัก และสูญเสียความสามารถในการรับน้ำหนักไป ซึ่งเราจะไม่สามารถมองเห็นได้เลยค่ะเพราะมักจะเกิดการหักที่ด้านล่างในชั้นดิน ซึ่งกว่าจะรู้ตัวก็จะเห็นรอบแตกที่ฐานรากหรือตอม่อของตัวบ้านแล้ว

*Tips : Soil Boring Test คือ การเจาะสำรวจชั้นดิน เพื่อให้วิศวกรทำการวิเคราะห์เลือกใช้โครงสร้างให้เหมาะสม บ้านพักอาศัยทั่วไป (พื้นที่ไม่เกิน 500 ตารางเมตร) เจาะเพียงแค่หลุมเดียวก็ได้ค่ะ ซึ่งค่าใช้จ่ายสำหรับการเจาะจะตกประมาณ 15,000 บาท/หลุม 

  • สาเหตุจากน้ำหนักอาคาร

บ้านที่เป็นอาคารแถวหรือทาวน์โฮมที่มีโครงสร้างเชื่อมติดกับบ้านหลังอื่นๆ เมื่อเพื่อนบ้านมีการก่อสร้างต่อเติมน้ำหนักอาคารในปริมาณมาก หรือเป็นบ้านเดี่ยวที่มีการต่อเติมโดยไม่ได้แยกโครงสร้างกับอาคารเดิม ส่วนต่อเติมใหม่ที่มีน้ำหนักมากอาจมาดึงรั้งโครงสร้างของบ้านหลักจนเกิดการทรุดตัวหรือแตกร้าวได้

  • สาเหตุจากการทรุดของดิน, ระดับน้ำใต้พื้นดินมีการเปลี่ยนแปลง และน้ำท่วม 

บางพื้นที่ตั้งอยู่ในจุดที่มีน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน เวลาน้ำลดแล้วจะทำให้เกิดการชะหน้าดินหายไปทำให้ระดับดินลดลง ส่งผลให้เกิดหลุมโพรงใต้คานคอดินค่ะ แต่จะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างของบ้าน เพราะโดยปกติแล้วเสาเข็มจะเป็นตัวรับน้ำหนักของตัวบ้าน แม้ว่าจะมีการขุดดิน หน้าดินลดลง หรือสูบน้ำใต้ดินเล็กน้อยจะไม่ได้ทำให้เกิดการทรุดตัวมากนักนะคะ

ในกรณีพื้นที่ดินข้างเคียงมีการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำอย่างมาก เช่น สูบน้ำออกจากบ่อขนาดใหญ่, มีการขุดคลองด้านข้าง หรือขุดดินออกเป็นปริมาณมากอาจจะทำให้พื้นที่ดินมีการทรุดตัวเกิดขึ้นได้ ถ้าเป็นสาเหตุนี้จะทำให้ส่งผลกระทบกับโครงสร้างบ้านรากของบ้านได้ค่ะ


ปัญหาที่ตามมาจากการทรุด

ปัญหาโพรง รอยต่อระหว่างพื้นกับคานคอดิน

การทรุดตัวของดินจะทำให้เกิดช่องว่างระหว่างตัวบ้าน (คานคอดิน) และพื้นดินขึ้น ยิ่งระยะเวลาผ่านไปนานยิ่งเห็นความกว้างของช่องว่างระหว่างดินและตัวบ้านมากขึ้นเรื่อยๆ นานวันอาจมีสิ่งมีชีวิตที่เราไม่ต้องการพบเจอเข้าไปอาศัยอยู่ได้

บ้านของผู้เขียนเองก็มีบางส่วนที่ดินทรุกตัวจนเกิดเป็นโพรงเช่นกันค่ะ อยู่มาวันหนึ่งก็มองเห็นงูเลื้อยลงไป !! ทำให้คิดได้ว่าช่องว่าระหว่างตัวบ้านและพื้นดินแม้ไม่ได้มีผลกระทบโดยตรงต่อโครงสร้างของบ้าน แต่อาจจะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของ งู หนู หรือสัตว์มีพิษต่างๆ ทำให้เกิดอันตรายกับตัวเราและสัตว์เลี้ยงได้ค่ะ

ปัญหารอยแตกร้าว ทำให้เกิดการรั่วซึมหรือแยกส่วน

ปัญหารอยแตกร้าวจากการทรุดตัวเป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้น โดยอาจเริ่มจากรอยร้าวเล็กๆบริเวณผนังอาจะทำให้เกิดการรั่วซึมเมื่อมีฝนตกหนัก แต่ถ้าปล่อยไปนานโครงสร้างอาจมีการทรุดหนักทำให้เห็นรอยแยกระหว่างผนัง หรือรอยแยกที่พื้นบ้านได้ ซึ่งนอกจากจะเกิดปัญหาการรั่วซึม มีแมลงหรือสัตว์เข้ามาในบ้านได้แล้ว ถ้าปล่อยไว้อาจทำลายโครงสร้างของบ้านให้เสียหายจนเกิดเป็นอันตรายต่อผู้อยู่อาศัยได้ค่ะ


วิธีการแก้ไขพร้อมงบประมาณ

การแก้ไขปัญหาโพรง รอยต่อระหว่างพื้นกับคานคอดิน

ปัญหาโพรงรอยต่อระหว่างคานคอดินกับพื้นส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเพราะดินบริเวณนั้นทรุกตัว อาจมีสาเหตุมาจากดินถมใหม่ยังไม่เซ็ตตัว หรือมีการสูบน้ำขึ้นมาปริมาณมากทำให้ดินทรุดลงไปจนเกิดโพรง วิธีแก้ไขปัญหานี้ทำได้ไม่ยากค่ะ

1 ถมดินเพิ่มในส่วนที่ขาดหายไป

เป็นวิธีแก้ปัญหาที่ไม่ยากค่ะ เพราะไม่ได้มีผลกระทบต่อโครงสร้าง สามารถขุดดินในบริเวณอื่นของบ้านมาถมโพรงเพื่อไม่ให้เกิดช่องว่าง หรือซื้อดินตามร้านขายต้นไม้ได้ทั่วไป ซึ่งราคาดินต่อถุงประมาณ 10 กิโลกรัมนั้นอยู่ที่ 20 – 30 บาท/ถุง

2 เทคอนกรีตหรือก่ออิฐปิดบริเวณรอยต่อ

บ้านบางหลังอาจเทพื้นด้วยคอนกรีต เมื่อมีการทรุดตัวจึงเกิดเป็นโพรงจะเอาดินมาถมก็ไม่เข้ากับพื้นที่เดิมที่มีอยู่ ถ้ามีโพรงไม่ใหญ่นักสามารถเทหยอดคอนกรีตลงไปในโพรงได้ แต่ถ้ามีการทรุดเยอะอาจจะต้องใช้อิฐมอญก่อต่อจากคานคอดินเดิมเพื่อปิดโพรง แล้วฉาบปูนทับ ซึ่งราคาอิฐก่อนั้นตกอยู่ประมาณตารางเมตรละ 190 – 300 บาทค่ะ

การแก้ไขปัญหารอยแตกร้าว ทำให้เกิดการรั่วซึมหรือแยกส่วน

การแก้ไขรอยแตกร้าวจะต้องเริ่มจากการหาสาเหตุที่ทำให้เกิดรอยร้าวเสียก่อน เพื่อที่จะได้แก้ไขได้อย่างถูกต้องและไม่ทำให้โครงสร้างบ้านเสียหาย ซึ่งปัญหาจากรอยร้าว เอียงส่วนใหญ่จะเกิดจากการที่พื้นที่ก่อสร้างไม่ได้ลงเสาเข็ม หรือลงเสาเข็มผิดประเภท จะมีวิธีการแก้ที่ยุ่งยากกว่าดินทรุดทั่วไปค่ะ

1 สาเหตุจากการไม่ได้ลงเสาเข็ม, เสาเข็มสั้นเกินไป หรือเสาเข็มหัก สูญเสียความสามารถในการรับน้ำหนัก 

ปัญหานี้จะต้องแก้ด้วยการลงเสาเข็มใหม่เท่านั้นค่ะ ถ้าเป็นพื้นคอนกรีตเทบนดิน (On Ground) แล้วมีการทรุดตัวให้เสริมด้วยการตอกเสาเข็มแบบปูพรม (กระจายกันอย่างทั่วถึง) เพื่อรับน้ำหนักแล้วทำการเทพื้นคอนกรีตใหม่ ถ้าใช้เสาเข็มแบบ Micro Pile สามารถเจาะแล้วตอกได้เลยโดยไม่ต้องเสียค่าทุบพื้นก่อนค่ะ

แต่ถ้าเป็นห้องที่มีการก่อสร้างอยู่ก่อนแล้วจะต้องมีการรื้อพื้นเพื่อลงเสาเข็มใหม่ หรือลงเข็มเพิ่มเติมด้านข้างพื้นที่เดิมแล้วใช้โครงสร้างใหม่ไปเลย ซึ่งจะค่อนข้างยุ่งยาก และเสียค่าใช้จ่ายค่อนข้างเยอะนะคะ

โดยพื้นที่ในกรุงเทพมหานครจะเหมาะกับเสาเข็มที่ยาวประมาณ 17 – 23 เมตร ใครที่ต้องการให้ส่วนต่อเติมไม่ทรุดจนเกิดรอยแตกร้าวควรลงเสาเข็มให้เท่ากับตัวบ้านค่ะ

ขอบคุณภาพประกอบจาก SCG

เสาเข็มที่นิยมใช้กันแบ่งย่อยได้ 3 ประเภท ดังนี้

  • เสาเข็มตอก : เป็นเสาเข็มแท่งที่ใช้ปั้นจั่นตอกลงไปในดิน แต่มีข้อจำกัดคือจะต้องเป็นพื้นที่โล่ง เพราะการตอกจะเกิดแรงสั่นสะเทือนทำให้โครงสร้างข้างเคียงเกิดความเสียหายได้ แต่มีข้อดีคือราคาที่ไม่สูงค่ะ

  • ราคาประมาณ :  2000 – 5000 บาท/ต้น ** ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดหน้าตัดและความยาวของเสาเข็ม รวมถึงพื้นที่การก่อสร้าง อาจมีการคิดค่าเช่าปั่นจั่นเพื่อตอกเพิ่มเติมประมาณ 5,000 บาท/วัน

  • เสาเข็มเจาะ : เป็นเสาเข็มที่ก่อสร้างโดยการเจาะดินให้เป็นหลุมผูกเหล็กและเทคอนกรีตลงไป ถ้าเป็นอาคารขนาดเล็กเช่น บ้านพักอาศัย ไม่ต้องการเสาเข็มที่ลึกมากนักนิยมใช้เป็นเสาเข็มเจาะแบบแห้ง มีข้อดีคือใช้กับพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับโครงสร้างเดิม แต่หน้างานอาจมีความเลอะเทอะบ้าง บวกกับราคาที่สูงกว่าเสาเข็มตอก 2 – 3 เท่าค่ะ
    • ราคาประมาณ :  10,000 – 20,000 บาท/ต้น ** ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดหน้าตัดและความยาวของเสาเข็ม

  • เสาเข็ม Micro Pile หรือ เสาเข็มอัดแรง : เป็นเสาเข็มขนาดเล็กที่มีความสามารถในการรับแรงสูง รับน้ำหนักได้มาก เหมาะกับพื้นที่แคบ นิยมใช้เพราะมีข้อดีเยอะ ข้อจำกัดคือราคาที่แพงกว่าเสาเข็มตอกและเสาเข็มเจาะค่ะ
    • ราคาประมาณ :  15,000 – 30,000 บาท/ต้น ** ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดหน้าตัดและความยาวของเสาเข็ม

    *Tips : อ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับเสาเข็มแต่ละประเภทสามารถได้ที่ >> บ้านทรุดหรือไม่? ขึ้นอยู่กับเสาเข็ม

    นอกจากการเจาะสำรวจดิน (SOIL BORING TEST) แล้วการตอกเสาเข็มตอกและ Micro Pile สามารถวัดค่าการรับน้ำหนักของเสาเข็มได้โดยการวัดค่า Blow Count ค่ะ

    การวัดค่า Blow Count คือการนับจำนวนครั้งในการตอกเสาเข็มที่เกี่ยวข้องกับระดับความลึกโดยส่วนใหญ่จะตั้งไว้ที่ 30 เซนติเมตร ยิ่งจำนวนครั้งในการตอกเพื่อให้จม 30 เซนติเมตรหลายครั้ง แสดงว่าเสาเข็มสามารถรับน้ำหนักได้มาก ให้ตอกจนถึงค่าที่วิศวกรกำหนดและตอก 10 ครั้งสุดท้าย ถ้าตอกจำนวนเกินนั้นอาจทำให้เสาเข็มเกิดความเสียหายได้

    2 สาเหตุจากการทรุดของดิน หรือเสาเข็มตั้งอยู่บนดินต่างชนิดกัน

    ถ้าปัญหาเกิดจากสาเหตุการทรุดของดินเป็นประมาณมากจนเกิดรอยแตกร้าว และกระทบกับโครงสร้างของบ้าน วิธีการแก้ไขจะเหมือนกับข้อ 1 เลยค่ะ โดยจะต้องลงเสาเข็มต้นใหม่เพื่อช่วยในการรับน้ำหนักอาคารไม่ได้เสียหายไปมากขึ้นค่ะ

    3 สาเหตุจากน้ำหนักอาคารดึงรั้งให้อาคารทรุดตัว

    กรณีที่เสาเข็มแข็งแรงดีอยู่แล้วแต่มีการทรุดตัวจากการดึงรั้งน้ำหนักจากโครงสร้างที่เชื่อมติดกับเรา เช่น ในกรณีของทาวน์โฮมหรืออาคารแถว เพื่อนบ้านมีการต่อเติมน้ำหนักมาจนดึงให้โครงสร้างบ้านเราเอียงไป เป็นต้น จะต้องทำการเสริมความแข็งแรงให้กับเสาและยึดกับคานคอดินเดิม ซึ่งราคาจะขึ้นอยู่กับความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง แตกต่างกันไปในแต่ละกรณีไม่สามารถประมาณราคาให้ตายตัวได้ค่ะ

    4 บ้านทรุดและแตกร้าวเพียงเล็กน้อยไม่อยากลงเสาเข็มใหม่ให้วุ่นวาย

    ใครที่ไม่อยากซ่อมเพราะเสียเวลาและค่าใช้จ่ายสูงในการลงเสาเข็มใหม่ สามารถแก้ไขโดยการลดน้ำหนักของอาคารลง เช่น เปลี่ยนเป็นใช้ผนังเบา เพื่อลดอัตราการทรุดตัวของบ้านลง แต่ก็จะไม่สามารถแก้ไขการทรุดที่เกิดขึ้นแล้วได้นะคะ

    ผนังเบาราคารวมค่าวัสดุและค่าแรงประมาณ 500 – 650 บาท/ตารางเมตร

    หากเกิดมีรอยร้าวเล็กๆด้วย สามารถใช้วัสดุอุดรอยได้ ดังนี้

    • โฟมโพลียูรีเทน เป็นโฟมที่นิยมในใช้ในการอุดรอยรั่ว รอยแตกร้าว มีความยืดหยุ่นปานกลาง เกาะติดกับพื้นผิวที่มีฝุ่นได้มากกว่าอะคริลิค สามารถขัดตกแต่งพื้นผิว และทาสีทับให้เนียนไปกับผนังได้ ใช้ได้ทั้งภายในและภายนอกอาคาร

    • ราคา : 180 – 280 บาท/หลอด 500 มิลลิลิตร

  • ซิลิโคน เป็นที่นิยมในการใช้อุดรอยต่อรอยรั่ว เพราะมีความยืดหยุ่นสูง และใช้ได้ดีกับพื้นผิวกระจก อลูมิเนียมที่มีความมันลื่น  มีให้เลือกหลายสี ชดเชยกับข้อจำกัดที่ไมาสามารถทาสีทับได้ค่ะ
    • ราคา :  100 – 250 บาท/ หลอด 300 มิลลิลิตร

  • โมดิฟายซิลิโคน เป็นวัสดุที่รวมข้อดีระหว่างโพลียูริเทนและซิลิโคนไว้ด้วยกัน มีความยืดหยุ่นสูง เกาะพื้นผิวได้หลายชนิด ไม่มีกลิ่นฉุนอันตราย และทาสีทับได้
    • ราคา :  200 – 320 บาท/หลอด 280 มิลลิลิตร

  • ซีเมนต์ซ่อมแซมรอยแตกร้าว ใช้สำหรับตกแต่งรอยร้าวบนผนัง สามารถทำพื้นผิวให้เรียบหรือขรุขระได้ แต่ส่วนใหญ่จะนิยมใช้กับรอยแตกร้าวเล็กๆ แล้วทาสีทับค่ะ
    • ราคา : 170 – 330 บาท/น้ำหนัก 5 กิโลกรัม

  • อะคริลิค มีแรงยืดหยุ่นน้อย ไม่เหมาะกับใช้งานภายนอกเหมาะกับรอยแตกร้าวเล็กๆ และทาสีทับได้ ประสิทธิภาพการใช้งานอาจไม่ได้ดีนัก แต่มีราคาถูก
    • ราคา : 100 – 150 บาท/หลอด 300 มิลลิลิตร


    เรื่องของบ้านทรุดนั้นเป็นปัญหาใหญ่อันดับต้นๆของบ้าน เพราะมีการแก้ไขที่ค่อนข้างยุ่งยาก หลายขั้นตอนและเสียค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้นการป้องกันไว้ก่อนจึงดีกว่าแก้ไขค่ะ ใครที่สร้างบ้านเองก็อย่าลืมให้ความสำคัญกับเสาเข็ม ฐานรากสักหน่อยนะคะ ผู้รับเหมาบางเจ้าเน้นให้ใช้เสาเข็มสั้นที่มีราคาถูกแต่อาจจะไม่เหมาะกับหน้างานที่เป็นดินอ่อน การเสียค่าเจาะสำรวจดิน (SOIL BORING TEST) สักนิดอาจทำให้ไม่ต้องปวดหัวกับการแก้ปัญหาที่จะตามมาได้ค่ะ ส่วนใครที่ซื้อบ้านจัดสรรอย่าลืมถามกับโครงการนะคะว่าพื้นบริเวณไหนลงเสาเข็มมาให้บ้างนะคะ

    สุดท้ายหวังว่าผู้อ่านจะได้ประโยชน์จากบทความนี้และสามารถพูดคุย Comment แลกเปลี่ยนปัญหาและวิธีการแก้ไขเกี่ยวกับบ้านทรุดกันได้ที่ช่อง Comment ด้านล่างนี้ได้เลยค่ะ

    ติดตามพวกเราเพิ่มเติมได้ที่
    Website : www.thinkofliving.com
    Twitter : www.twitter.com/thinkofliving
    YouTube : www.youtube.com/ThinkofLiving
    Instagram : www.instagram.com/thinkofliving
    Facebook : ThinkofLiving

    ThinkofLiving มี LINE Official Account แล้วนะคะ
    ไม่อยากพลาดข้อมูลข่าวสารก็ Add เลย > https://lin.ee/svACOxc