Screen Shot 2556-08-06 at 3.55.09 PM

ถ้าคุณนายจะพูดถึงเรื่องราวของการออกแบบแสงสว่างภายในบ้านนั้น คุณผู้อ่านหลายๆคนอาจจะสงสัยว่า อ๊ะ…แสงสว่างนี่เราต้องออกแบบมันด้วยหรือ เมื่อมีช่องเปิดแสงธรรมชาติก็เข้ามาอยู่แล้วนี่หน่า นอกจากนั้นก็ใส่ๆดาวน์ไลท์เข้าไปบนฝ้าสำหรับเวลากลางคืนก็จบ   จริงๆแล้วการออกแบบแสงสว่างถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างหนึ่งในการออกแบบที่พักอาศัย ซึ่งหลายๆคนอาจจะมองข้ามถึงความสำคัญของมันไป หากเรามองย้อนกลับไปและลองนึกถึงมัน เราจะพบว่า เราต่างใช้ประโยชน์จากแสงในรูปแบบต่างๆในการใช้ชีวิตประจำวันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น การทำงาน อ่านหนังสือ กินข้าว หรือแม้กระทั่งตอนที่เราอาบน้ำ (ย้อนไปอ่านตอนเก่าๆได้ที่นี่นะคะ)

1

ในเชิงสถาปัตยกรรมนั้น การออกแบบแสงสว่าง มีผลต่อการเอื้อหนุนพฤติกรรมการใช้งานในพื้นที่ ต่างๆของมนุษย์ ไม่ว่าจะในเชิงการใช้สอยหรือทางอารมณ์ความรู้สึก การออกแบบแสงเป็นศาสตร์ที่แตกต่างจากการออกแบบทั่วๆไป ต่างจากการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ การออกแบบตกแต่งภายใน เพราะแสงสว่างเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้แต่ใช่ว่าเราจะเข้าไปจัดการ จัดสรร ความเป็นไปของมันไม่ได้

ในมุมมองของคุณนายแนวความคิดโดยรวมของการออกแบบแสงสว่างก็คือ การผสมผสานระหว่างศาสตร์ทางด้านวิทยาศาสตร์และศิลปะในการออกแบบ ซึ่งแน่นอนว่าการออกแบบแสงนั้น มันจะต้องเป็นอะไรที่มากกว่าการส่องสว่างที่เพียงพอตามกฎหมาย หรือตามประโยชน์ใช้สอย แต่เราควรจะคำนึงถึงเรื่องของบรรยากาศ อารมณ์ ที่สามรถส่งเสริมกิจกรรมของพื้นที่นั้นๆด้วย

ถ้าจะให้แบ่งแยกประเภทการให้แสง สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ การให้แสงหลัก และการให้แสงรอง

การให้แสงหลัก คือ การออกแบบจัดวางแสงสว่างเพื่อการใช้งานที่เหมาะสม เพียงพอตามมาตรฐานและตอบรับกับกิจกรรมหรือฟังก์ชันที่ใช้ในบริเวณนั้น สามารถแบ่งย่อยๆออกได้อีกเป็น 3 ประเภท คือ

• แสงสว่างทั่วไป (General Lighting) คือ การให้แสงโดยประสงค์ให้แสงกระจายทั่วๆ ในบริเวณพื้นที่การใช้งาน การใช้แสงในลักษณะนี้จะใช้ในพื้นที่ที่ไม่จำเป็นต้องใช้แสงมากในการทำกิจกรรม

• แสงสว่างเฉพาะที่ (Localized Lighting) คือ การออกแบบแสงสว่างเพื่อให้แสงเฉพาะส่วนการใช้งาน การกระจายของแสงนั้นไม่จำเป็นต้องฟุ้งหรือสม่ำเสมอไปทั่วๆพื้นที่เหมือนแบบแรก ที่เห็นตัวอย่างชัดๆเลยคือ การใช้แสงในโซนทำงาน เช่น การติดตั้งแหล่งกำเนิดแสงเฉพาะบริเวณเหนือโต๊ะ การให้แสงสว่างแบบนี้จะประหยัดกว่าการให้แสงแบบข้างต้น

ในกรณีที่ สำนักงานหรือบ้านไหนไม่ได้คำนึงถึงการออกแบบแสง  อย่างเช่น นำการให้แสงแบบที่หนึ่งมาใช้ในพื้นที่การทำงานที่ต้องการแสงสว่างที่ค่อนข้างมาก นอกจากจะสิ้นเปลืองพลังงานแล้ว ยังอาจทำให้ผู้ใช้ได้รับแสงสว่างที่ไม่เพียงพอ

• แสงสว่างเฉพาะที่และทั่วไป (Local Lighting+General Lighting) การออกแบบแสงสว่างแบบนี้จะเป็นการตอบโจทย์ ของปัญหาที่เราพึ่งได้กล่าวไป ด้วยการผนวกสองสิ่งเข้าด้วยกัน การจัดแสงโดยทั่วไปจึงถูกนำมาใช้เพื่อให้ความสว่างแก่พื้นที่โดยรวม และการให้แสงเฉพาะที่ สำหรับพื้นที่ทำงานหรือพื้นที่ที่ต้องการแสงค่อนข้างมากในการทำกิจกรรมต่างๆ

การให้แสงรอง คือ การออกแบบแสงสว่างเพื่อสร้างบรรยากาศ สร้างความรู้สึกที่ดี ตอบสนองอารมณ์และบรรยากาศที่เหมาะสมของพื้นที่นั้นๆ

แสงสว่างแบบส่องเน้น (Accent Lighting) การให้แสงแบบนี้เป็นการเน้นแสง ที่วัตถุหรือบริเวณใดบริเวณหนึ่งเพื่อให้เกิดเป็นจุดสนใจ

2

อย่างในภาพด้านบน แสงถูกออกแบบมาเพื่อส่องเน้นไปยังรูปภาพกลางผนัง ทำให้ทางเดินของบ้านดูมีมิติและเป็นจุดนำสายตาในบริเวณนั้น

3

• แสงสว่างแบบเอฟเฟกต์ (Effect Lighting) คือ การให้แสงบรรยากาศเพื่อความน่าสนใจ แต่จะไม่ได้เน้นไปที่วัตถุแบบแบบแรก ส่วนมากจะเป็นการติดตั้งโคมเพื่อให้แสงสะท้อนลงบนกำแพง เพื่อสร้างบรรยากาศ

4

• แสงสว่างตกแต่ง (Decorative Lighting) เป็นแสงที่เกิดจากดวงโคมหรือการออกแบบให้แหล่งกำเนิดแสงสว่างเป็นจุดเด่น หรือเป็น focal point ของห้อง อย่างเช่นในภาพด้านบน

• แสงสว่างงานสถาปัตยกรรม (Architectural Lighting) เป็นการออกแบบแสงสว่างที่สัมพันธ์กับตัวสถาปัตยกรรม เช่น การวางแผนมาแล้วว่า จุดไหนเป็นจุดกำเนิดแสง งานสถาปัตยกรรมจะถูกออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์นั้น เช่น การใช้หลืบร่องของกำแพงเป็นแหล่งกำเนิดแสง การซ่อนหลอดกำเนิดแสงเพื่อความสวยงาม

5

อย่างเช่นในรูปด้านบน แหล่งกำเนิดแสงถูกดีไซน์มาให้ซ่อนอยู่บริเวณตู้ด้านบน เวลาเปิดไฟในช่วงเวลากลางคืน แสงจะสร้างบรรยากาศพิเศษให้กับห้อง

• แสงสว่างตามอารมณ์ (Mood Lighting) แสงประเภทนี้เป็นการออกแบบที่คำนึงถึงสวิตซ์ หรือการควบคุมระดับของแสง เพื่อสร้างบรรยากาศจากแสง สามารถปรับ หรือให้ระดับตามความต้องการของผู้ใช้

6

อย่างเช่น โคมไฟในห้องนอนตามภาพด้านบน ถูกเลือกมาให้เป็นแบบปรับหรี่ความสว่างได้ แล้วแต่การใช้งาน เช่น การอ่านหนังสือก่อนนอนก็สว่างหน่อย พอใกล้เข้านอนสามารถปรับให้หรี่ลงจนเกือบมืดได้ โทนสีเหลืองนวลถูกเลือกมาใช้ในห้องนอนเพื่อสร้างบรรยากาศ สบายๆ นวลตา และอบอุ่น

พออ่านมาถึงตรงนี้แล้วคุณผู้อ่านคงพอเข้าใจ เป้าหมายหลักของการออกแบบแสงไหมคะ ว่าจริงๆแล้ว เราจะคำนึงถึงความสวยงามของการเลือกจุดกำเนิดแสง(โคมไฟ) อย่างเดียวไม่ได้ การที่จะได้แสงสว่างที่มีคุณภาพ ไม่ใช่การเดินเข้าไปในร้านโคมไฟแล้วจิ้มจากความสวยงามเพียงภายนอก จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าเราควรเรียงลำดับความสำคัญของมันจาก ระบบการให้แสงหลักก่อน คือ คำนึงถึงความเพียงพอและความเหมาะสมของการให้แสงสว่าง จากนั้นจึงเริ่มวางแผนในการออกแบบหรือจัดซื้อจุดกำเนิดแสงเพื่อแสงสว่างรอง ในการสร้างบรรยากาศที่น่าอยู่ให้กับบ้านค่ะ ^^

7

ยกตัวอย่างนะคะ ถ้าเราต้องการออกแบบแสงในห้องทำงาน เราต้องคำนึงถึง แสงสว่างหลัก ของห้องก่อน ความสว่างที่พอเพียงของบริเวณทำงานต้องมีความสว่างอย่างน้อยไม่น้อยกว่า 300 ลักซ์ พอเราได้ค่ามาตรฐานที่เพียงพอสำหรับการทำกิจกรรมในพื้นที่นั้นๆแล้ว เราถึงเริ่มมองหาตำแหน่งที่เหมาะสมในบริเวณที่เหลือในการออกแบบ แสงสว่างรอง เพื่อความสวยงามหรือสร้างบรรยากาศ เช่น การให้แหล่งกำเนิดแสงส่องสว่างเป็นวงแสงลงบริเวณมุมห้อง หรือบนหลังชั้นหนังสือ เพื่อสร้างบรรยากาศพิเศษภายในห้อง

8

ตารางแสดงค่ามาตรฐานของแสงสว่างที่เพียงพอต่อพื้นที่ต่างๆค่ะ

คุณนายขอแอบกระซิบสำหรับคนที่อาจจะงงนะคะว่าค่าลักซ์ คืออะไร ค่าลักซ์คือค่าปริมาณแสงต่อพื้นที่ค่ะ เรียกว่า อิลูมิแนนซ์ มีหน่วยเป็นลักซ์ ถ้าคุณผู้อ่านคนไหนอยากรู้รายละเอียดสุดลึก สามารถศึกษาต่อได้จากลิ้งนี้เลยค่ะ http://www.tieathai.org/know/general/general0.htm ขอบคุณข้อมูลดีๆจากสมาคมไฟฟ้าแสงสว่างแห่งประเทศไทยค่ะ ^^

หลังจากที่ได้รับทราบข้อมูลถึงการให้แสงประเภทต่างๆแล้ว การคำนึงถึง รูปแบบและตำแหน่งของจุดกำเนิดแสง ทีจะส่งผลต่อทิศทางและลักษณะของแสง ก็เป็นเรื่องสำคัญอีกเช่นกัน คุณนายขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบการออกแบบแสงสว่างในห้องน้ำมาให้ดูกันละกันนะคะ คุณผู้อ่านจะได้เห็นภาพที่ชัดเจน ^^

พอเรารู้แล้วว่าเราจะต้องออกแบบแสงในห้องน้ำ เราก็เรียงลำดับความคิดเหมือนเช่นที่คุณนายยกตัวอย่างของห้องทำงานเมื่อกี้เลยค่ะ เราต้องมองว่าจุดไหนที่สำคัญต่อการใช้งานของเรามากที่สุด พอเราได้คำตอบออกมาว่าเป็นบริเวณเคาน์เตอร์หน้ากระจก เราก็ต้องคำนึงถึงประเภทการใช้งานของเราว่าเราทำอะไร

เราแต่งหน้า เราโกนหนวด เราแต่งองค์ทรงเครื่องของเราตรงบริเวณนี้ ดังนั้นแสงที่ได้ไม่ควรจะเป็นแสงที่ดูแล้วหลอกตา ไม่มืดไม่สว่างจนเกินไป โคมไฟควรจะวางอยู่ในระดับสายตา ขนาบทั้งสองข้างของกระจก เพื่อพยายามลดเงาสะท้อนที่จะเกิดขึ้น หากเป็นโคมไฟกิ่งอย่างเช่นในภาพ ส่วนครอบโคมไฟควรจะเป็นสีขาว แสงที่ออกมาจะได้ไม่หลอกตาเวลาเราส่องกระจก

9

หากเราออกแบบจุดกำเนิดแสงแบบภาพทางขวามือ จากหน้าขาวใส เราอาจจะเปลี่ยนร่าง กลายเป็นหมีแพนด้าได้ในทันทีค่ะ หากคุณผู้อ่านลองสังเกตดูนะคะ ว่าในภาพมีจุดกำเนิดแสงขนาดใหญ่อยู่บนฝ้าเพดาน การออกแบบแบบนี้จะทำให้แสงที่มาจากด้านบนสว่างกว่าด้านอื่นๆ สิ่งนี้ละคะจะทำให้เกิดเงาบนใบหน้าของเรา ไม่ว่าจะเป็นถุงใต้ตา ใต้จมูก ใต้คาง บวกไปกับโคมไฟกิ่งที่ถูกติดตั้งอยู่บนกระจกจะทำให้เกิดแสงสะท้อน เนี่ยละคะที่เค้าบอกว่าเราแต่งหน้าอีกอย่าง ทำไมออกมาเจอแดดกลายเป็นอีกอย่างคำตอบมันอาจจะอยู่ตรงนี้นะค่ะ อิอิ

10

อ่านมาถึงตรงนี้คุณผู้อ่านอาจจะเริ่มพอนึกภาพออกใช่ไหมค่ะ  ว่ายังมีปัจจัยอะไรหลายๆอย่าง ที่ช่วยส่งเสริมและตอบรับกับการออกแบบพื้นที่ใช้สอยในบ้าน หรือที่พักอาศัย ซึ่งตอบสนองต่อพฤติกรรม และอารมณ์ความรู้สึกของผู้ใช้ได้ดีขึ้น การออกแบบแสงที่มีคุณภาพ ควรคำนึงถึงปัจจัยในทุกๆด้าน ไม่ว่าจะเป็น ระดับการส่องสว่าง ความสวยงาม โทนสี และทิศทางของแสง จะส่งเสริมให้ผู้อยู่อาศัยใช้งานหรือทำกิจกรรมในพื้นที่นั้นๆได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้บ้านของคุณผู้อ่านน่าอยู่จนไม่อยากจะไปไหนเลยละค่ะ ^^

XOXO

คุณนายสวนหลวง

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก