..ถ้าพูดถึงประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่อง เทคโนโลยีการก่อสร้างตึกสูงที่สามารถรองรับแผ่นดินไหวได้ดี คงปฏิเสธไม่ได้ว่าคือ ‘ประเทศญี่ปุ่น’ ใช่มั้ยครับ ซึ่งในประเทศไทยของเราเองก็มีบริษัทรับเหมาก่อสร้างสัญชาติญี่ปุ่นแท้ๆ ที่เข้ามาดำเนินกิจการมานานกว่า 50 ปีนั่นคือ บริษัท Thai Obayashi Corporation โดยที่ผ่านมาก็ได้เคยมีผลงานเด่นๆมาแล้วมากมาย เช่น สยามพารากอน ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และ One Bangkok เป็นต้น
โดยเฉพาะอาคารสำนักงานใหญ่ของเค้าเองอย่าง O-Nes Tower ที่เป็นตึกสูงใจกลางเมือง ก็ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวค่อนข้างน้อย ซึ่งเกิดจากเทคโนโลยี ประสบการณ์ และเทคนิคการก่อสร้างที่เค้าใช้นั้น มีความพิเศษเฉพาะตัวแตกต่างจากอาคารอื่นๆ จึงทำให้หลายๆคนอยากรู้กันว่าเค้าทำได้ยังไง? วันนี้ Think of Living จะขอเป็นตัวแทนพาทุกคนไปเจาะลึกประเด็นต่างๆที่น่าสนใจดังนี้
- มีใครตั้งคำถามไหมว่า ใครออกแบบสถาปัตย์และงานระบบอาคารนี้?
- บริษัทรับเหมาคือใคร? อะไรที่ทำให้อาคารที่ถูกสร้างโดย Thai Obayashi เป็นที่พูดถึงว่าแข็งแรง ได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย
- ความเชื่อที่ว่า คอนโด Low Rise (ไม่เกิน 8 ชั้น) ในกรุงเทพฯ ปลอดภัยกว่าคอนโด High Rise (ตึกสูง) จริงหรือเปล่า?
- คอนโดที่เคยเกิดรอยร้าวไปแล้ว จะยังแข็งแรงอยู่มั้ย ควรซื้อหรือเปล่า?
- O-Nes Tower มีการออกแบบและใช้เทคโนโลยีก่อสร้างอะไรบ้าง ที่เจ๋งไม่เหมือนใคร แล้วยังสามารถรองรับแผ่นดินไหวได้ดีอีกด้วย
โดยครั้งนี้เราได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญตัวจริงเสียงจริง (วิศวกร + สถาปนิก) จากบริษัท Thai Obayashi มาช่วยตอบคำถาม และให้ความรู้ถึง 3 ท่านด้วยกัน จะเป็นอย่างไรบ้างไปชมกันเลยครับ
บริษัทรับเหมาคือใคร อยู่ Tier ไหนของการสร้างอาคาร?
หน้าที่ของบริษัทรับเหมาที่ดีคือ “ทำตามแบบที่มี และทำตามมาตรฐานที่กำหนด” รวมถึงอาจมีส่วนช่วยในการออกความเห็นในด้านเทคนิคการก่อสร้าง (จากประสบการณ์และความรู้ของแต่ละองค์กร) ให้แก่ Owner และ Design Teams เพื่อให้งานนั้นๆสัมฤทธิผลตามเป้าหมาย ซึ่งแต่ละงานก็จะมีความยากและความท้าทายในแบบของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสภาพหน้างาน เทคโนโลยี การออกแบบ ระยะเวลา งบประมาณ หรือข้อจำกัดต่างๆ
ซึ่งกระบวนการก่อสร้างก็จะมีขั้นตอนมากมาย แต่หนึ่งในคนที่สำคัญที่สุดก็คือ Owner ที่เป็นคนคิดริเริ่มที่จะสร้างอาคารมาเพื่อกิจการ หรือวัตถุประสงค์ใดๆก็แล้วแต่ จากนั้นจึงจะมีการให้ Design Teams & Achitect เข้ามามีส่วนช่วยในการออกแบบและคิดคอนเซ็ปต์โครงการ ต่อจากนั้นจึงค่อยทำงบประมาณ ตีราคา และจ้างบริษัทผู้รับเหมาให้เข้ามาทำการก่อสร้าง
จะเห็นได้ว่า บริษัทรับเหมาก่อสร้างจะอยู่เป็น Tier List สุดท้ายของ Process การทำงาน แต่ก็เป็นส่วนที่มีความสำคัญที่สุด และจะมีการประสานงานร่วมกับทาง Designer และ Owner อยู่ตลอดเวลา ตัวอย่างของ Thai Obayashi เองก็จะมีทั้งประสบการณ์ และเทคโนโลยีใหม่ๆจากญี่ปุ่น มานำเสนอและปรับใช้ให้เหมาะสมกับงานนั้นๆได้อีกด้วย
สำหรับ Thai Obayashi คนส่วนใหญ่จะรู้จักในฐานะบริษัทรับเหมาก่อสร้างหรือ Contractor เป็นหลัก แต่จริงๆแล้วเค้าจะมีพาร์ทของ Design & Build ด้วย เรียกได้ว่าครบวงจรกันเลยทีเดียว
ซึ่งตัวอย่างของอาคารที่มีทั้ง Design-Bid-Build ก็คือ Head Office ของเค้าเองอย่าง O-Nes Tower เป็นตึกที่ได้ออกแบบเองและก่อสร้างเอง โดยใช้องค์ความรู้และเทคนิคใหม่ๆจากญี่ปุ่นเข้ามาใช้ร่วมด้วย
อะไรที่ทำให้อาคารที่ถูกสร้างโดย Thai Obayashi เป็นที่พูดถึงว่าแข็งแรง ได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย
ด้วยความที่ Thai Obayashi มีบริษัทแม่เป็นญี่ปุ่น จึงถูกปลูกฝังโดยคนญี่ปุ่นให้มีทั้งวินัยในการทำงาน สร้างวิธีการและขั้นตอนต่างๆ ให้มีความรับผิดชอบ เพื่อให้ผลงานที่ออกมามีคุณภาพ แต่เหนือสิ่งอื่นใด วิธีรักษาคุณภาพในการก่อสร้างของแต่ละขั้นตอนก็เป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุด โดยจะต้องเกิดจากการวางแผนงานที่ดี ต้องมีการตรวจสอบที่เข้มข้น (จุดนึงอาจมีการตรวจสอบมากกว่า 1 – 2 รอบ) และมีวินัยในการตรวจสอบ
ในด้านการก่อสร้างสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ‘คุณภาพของงานก่อสร้าง’ อย่างที่เราเกริ่นไปตั้งแต่แรกแล้วว่า ผู้รับเหมามีหน้าที่ทำตามแบบ และถึงแม้ว่าแบบจะออกมาดี สามารถทำตามขั้นตอนได้ไม่มีปัญหา แต่หากขาดการตรวจสอบที่ดี ว่าได้ทำตามแบบหรือมาตรฐานที่กำหนดไว้หรือไม่ ก็ไม่อาจเรียกได้ว่างานก่อสร้างนั้นๆมีคุณภาพที่ดี 100% ซึ่งอาจเกิดปัญหาหรือผลกระทบที่ตามมาในภายหลังได้
ดังนั้น หากบริษัทรับเหมาก่อสร้างสามารถควมคุมคุณภาพในการก่อสร้าง และมีวิธีการตรวจสอบที่ดี เป็นขั้นเป็นตอน และเป็นระบบ ก็เชื่อมั่นได้ว่าบริษัทนั้นๆจะสามารถก่อสร้างสรรค์ผลงานออกมาได้มั่นคงแข็งแรงอย่างแน่นอน
ความเชื่อที่ว่า คอนโด Low Rise (ไม่เกิน 8 ชั้น) ในกรุงเทพฯ ปลอดภัยกว่าคอนโด High Rise (ตึกสูง) จริงหรือเปล่า?
ในการออกแบบอาคารใดๆก็แล้วแต่ วิศวกรโครงสร้างจะต้องออกแบบให้เป็นไปตามมาตรฐาน ของกรมโยธาธิการหรือกฎกระทรวงต่างๆที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว ซึ่งกฎเหล่านี้จะมีการระบุความรุนแรงแผ่นดินไหวให้ครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นอาคารสูงหรืออาคารเตี้ย เพื่อให้มีความปลอดภัยในการใช้งานและการอยู่อาศัย
สำหรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านมา จุดศูนย์กลางจะอยู่ที่ประเทศพม่าตรงรอยเลื่อนสะกาย จะเห็นได้ว่าอาคารสูงได้รับผลกระทบที่เยอะกว่าอาคารเตี้ย สาเหตุมาจากคุณสมบัติของคลื่นแผ่นดินไหวที่มาจากระยะไกล + คุณสมบัติของชั้นดินในกรุงเทพที่เป็นดินอ่อน ซึ่งมีผลในการขยายคาบของคลื่นให้ยาวมากขึ้น
โดยคลื่นคาบยาวมักจะมีผลต่ออาคารสูงครับ เลยทำให้อาคารส่วนใหญ่ในกรุงเทพที่เป็นตึกสูงมักจะได้รับผลกระทบเยอะกว่าอย่างที่เห็น แต่กลับกันหากแผ่นดินไหวมีจุดศูนย์กลางเกิดขึ้นใกล้ๆ เช่น แถวๆกาญจนบุรี ก็มีโอกาสที่จะเกิดคลื่นคาบสั้นได้มากกว่า ซึ่งจะส่งผลต่ออาคารเตี้ยเป็นส่วนใหญ่ครับ
- คาบ (Period) คือ ช่วงเวลาในการสั่น 1 รอบของอนุภาค มีหน่วยเป็นวินาที แปรผันตามความสูงของอาคาร
- ความถี่ (Frequency) คือ จำนวนรอบที่อนุภาคสั่นใน 1 วินาที มีหน่วยเป็นรอบต่อวินาที หรือ เฮิรตซ์ (Hertz , Hz)
ดังนั้นจึงสามารถสรุปได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นอาคารสูงหรืออาคารเตี้ย ก็มีโอกาสที่จะได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวได้เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับคาบการสั่นของอาคารและคาบของคลื่นแผ่นดินไหว แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ทุกอาคารจะต้องสร้างได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งจะทำให้มั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่าอาคารนั้นๆจะมีความแข็งแรงและปลอดภัยครับ
คอนโดที่เคยเกิดรอยร้าวไปแล้ว จะยังแข็งแรงอยู่มั้ย ควรซื้อหรือเปล่า?
เราเชื่อว่าเป็นคำถามที่หลายๆคนมีความสงสัย และเป็นกังวลมากๆ โดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ในคอนโด หรือต้องทำงานอยู่ในอาคารสำนักงานสูงๆ เพราะมีความเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในการใช้ชีวิต แต่ก่อนอื่นเลยเราอยากให้ทำความเข้าใจตรงกันก่อนว่า โดยทั่วไปแล้วจะมีการแบ่งประเภทของรอยร้าวออกเป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆด้วยกัน คือ
- รอยร้าวที่ไม่ใช่โครงสร้างหลักของอาคาร : ส่วนใหญ่จะเป็นรอยร้าวที่เกิดตรงงานสถาปัตย์ หรือเปลือกผิวภายนอก ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อความแข็งแรง และสามารถซ่อมแซมได้ง่าย
- รอยร้าวที่เกิดขึ้นในโครงสร้างหลักของอาคาร : ส่วนใหญ่จะเป็นจุดที่คอยรับน้ำหนักของอาคาร เช่น เสา / Shear Wall และ Core Lift ในส่วนนี้จำเป็นต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียด โดยความรุนแรงก็จะมีอีกหลายระดับ เช่น รอยร้าวเฉพาะผิวคอนกรีตด้านนอก หรือร้าวจนเหล็กภายในเกิดผิดรูปไป ซึ่งก็จะมีทั้งรอยร้าวที่ยอมให้เกิดขึ้นได้และไม่ได้อีกด้วยครับ
รอยร้าวที่ยอมให้เกิดขึ้นได้คืออะไร?
หลักการออกแบบโครงสร้างที่รองรับแผ่นดินไหว วิศวกรมักจะออกแบบให้โครงสร้างมีความเหนียว และยอมให้เกิดความเสียหายกับโครงสร้างบางชิ้นแบบเฉพาะส่วน ซึ่งเป็นจุดที่ Control ความเสียหายได้ กรณีนี้จะไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความแข็งแรงของอาคารในภาพรวมและไม่ก่อให้เกิดความวิบัติของอาคาร
ตัวอย่างเมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว และอาคารนั้นๆได้รับคลื่นความรุนแรงที่มีค่าใกล้เคียงกับที่วิศวกรได้ออกแบบไว้ กลไกการรับแรงแผ่นดินไหวก็จะต้องเกิดขึ้นตามนั้น เช่น หากกำหนดให้คานนี้จะต้องเสียหายเฉพาะส่วนหลังจากได้รับแรงแผ่นดินไหว คานนั้นก็จะต้องเกิดความเสียหายเฉพาะส่วนไป เพื่อให้เกิดกระบวนการสลายพลังงาน และทำให้ความรุนแรงของแผ่นดินไหวที่อาคารนั้นๆจะได้รับลดลง นั่นหมายความว่า โครงสร้างนั้นได้ทำตามหน้าที่ของมันเรียบร้อยแล้วนั่นเอง
แล้วเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า หลังซ่อมแซมแล้วอาคารจะกลับมาแข็งแรงเหมือนเดิม
คุณกิตติเปรียบเทียบให้ฟังแบบนี้ว่า สมมุติร่างกายเราป่วยเป็นโรคอะไรสักอย่างหนึ่ง เราก็ต้องไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการรักษา แน่นอนว่าเรารักษาหายแล้ว แต่ไม่สามารถพูดได้ว่าร่างกายของเราจะกลับมาสมบูรณ์แข็งแรง 100% เหมือนก่อนที่จะไม่ได้เป็นอะไร
แต่การรักษาจนหายแล้วก็ทำให้มั่นใจได้ว่า เราจะสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้โดยไม่เป็นโรคนี้แล้ว ซึ่งอาจมีการร่องรอยหรือบาดแผลอะไรเอาไว้บ้าง แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้เราได้ใช้ชีวิตต่อไปได้ ก็เหมือนกับตึกอาคารทั้งหลายแหละครับ หากได้รับการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ และมีการซ่อมแซมอย่างถูกต้องตามหลักวิศวกรรม ก็มั่นใจได้ว่าอาคารนั้นๆยังคงสามารถใช้งานต่อไปได้อย่างปลอดภัย
O-Nes Tower มีการออกแบบและใช้เทคโนโลยีก่อสร้างอะไรบ้าง ที่เจ๋งไม่เหมือนใคร แล้วยังสามารถรองรับแผ่นดินไหวได้ดีอีกด้วย
ก่อนอื่นต้องเกริ่นก่อนว่า O-Nes Tower แห่งนี้เป็น Head Office แห่งใหม่ของ Thai Obayashi ซึ่งมีความตั้งใจให้อาคารแห่งนี้เป็น Prototype Office Building ของประเทศไทย โดยออกแบบภายใต้ Concept หลักคือ Highly Functional and Profitable Office Space เพื่อให้พื้นที่สำนักงานมีพื้นที่ใช้สอยได้ประโยชน์สูงสุด
โดยสิ่งหนึ่งที่ทางบริษัทให้ความสำคัญมากที่สุดคือ การออกแบบและก่อสร้างอาคารให้ได้มาตรฐาน จึงได้มีการนำเทคโนโลยีการออกแบบและการก่อสร้างใหม่ๆจากบริษัทแม่ (Obayashi Corporation : Japan) มาใช้ในการก่อสร้างในประเทศไทย เพื่อดูว่าใช้ระบบไหนในการก่อสร้างในประเทศไทยแล้วตอบโจทย์และเหมาะสมกับประเทศไทยมากที่สุด
ปัจจุบัน O-Nes Tower ถือได้ว่าเป็นอาคารที่มีมาตรฐานใกล้เคียงกับญี่ปุ่นที่สุด ในการออกแบบและก่อสร้างอาคารที่สามารถรับแรงแผ่นดินไหวได้ ซึ่งในด้านเทคโนโลยีการออกแบบและก่อสร้าง Thai Obayashi ได้นำ Knowhow จากบริษัทแม่ และใช้ Material ที่มีอยู่ในไทย ณ เวลานั้นมาผสมผสานในการออกแบบและก่อสร้าง
จนกลายมาเป็นระบบโครงสร้างไฮบริด (Hybrid Structure System) ที่ผสมระหว่าง Core หรือแกนกลางหลักที่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ส่วนโครงสร้างอื่นๆภายนอกจะเป็นเหล็กทั้งหมด ซึ่งช่วยเพิ่มความแข็งแรงและยืดหยุ่นของอาคาร ให้สามารถทนต่อแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวและแรงลมได้ดี อีกทั้งยังช่วยทำให้น้ำหนักของโครงสร้างลดลงได้อีกด้วย
โดยในอนาคตก็น่าจะมีเทคโนโลยีและวัสดุใหม่ๆให้เลือกอีกมากมาย เนื่องจากกระแสของเหตุแผ่นดินไหวที่ผ่านมา ทำให้คนไทยและโดยเฉพาะสถาปนิก, วิศวกรผู้ออกแบบ รวมไปถึงบริษัทรับเหมาก่อสร้างเริ่มหันมาให้ความสนใจเรื่องอาคารรับแผ่นดินไหวกันมากขึ้น ตึกต่อไปของ Thai Obayashi เราก็เชื่อว่าจะมีการออกแบบและก่อสร้าง ที่มีมาตรฐานสูงกว่าตึก O-Nes Tower ยิ่งขึ้นไปอีกอย่างแน่นอน
เสารูปตัว V ไม่ได้ออกแบบมาแค่เอาเท่ แต่ยังช่วยในเรื่องฟังก์ชันได้อย่างไร?
ใครที่เคยผ่านไป-มาด้านหน้า O-Nes Tower น่าจะสะดุดตากับเสารูปตัว V ที่อยู่ตรงทางเข้ากันใช่มั้ยครับ จริงๆแล้วสิ่งนี้เกิดจากการดีไซน์โดยตั้งใจให้เกิด Highly Functional Space ของอาคารให้มากที่สุด ซึ่งปกติแล้วการออกแบบอาคารสูงก็จะเริ่มตั้งแต่เสาที่อยู่ชั้นใต้ดิน ก่อนที่จะเชื่อมต่อไปยังโครงสร้างต่างๆ และยิ่งอาคารมีความสูงมากเท่าไหร่ ตัวเสาที่รองรับก็มักจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเท่านั้น
แน่นอนว่าขนาดของเสาจะมีผลต่อพื้นที่การใช้งานต่างๆของอาคาร ไม่ว่าจะเป็นที่จอดรถชั้นใต้ดิน และพื้นที่สำนักงานที่อยู่ด้านบน แต่ทาง Thai Obayashi Design Teams มีความตั้งใจว่าอยากออกแบบให้พื้นที่จอดรถสามารถจอดรถได้ดีด้วย และด้านบนเราก็ยังได้ Office Space ที่สวยด้วย จึงได้มีคอนเซ็ปต์ในการออกแบบเสาโครงสร้างใหม่ในลักษณะของ V Column แบบนี้ขึ้นมา
ซึ่งจะเห็นได้ว่า เสาด้านบนจริงๆแล้วมีทั้งหมด 5 ต้น แต่จะถูกถ่ายน้ำหนักลงมาที่ด้านล่างเหลือแค่เพียง 2 ต้น เพื่อให้สามารถจอดรถชั้นใต้ดินได้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อีกทั้งยังมีการดึงเสามาที่ด้านหน้าอาคาร เพื่อให้พื้นที่ Lobby Space มีความโล่งและกว้างขวางมากขึ้น
โดยเสาที่เห็นทั้งหมดนี้จะเป็นวัสดุเหล็กทั้งชิ้นที่ผลิตมาจากภายนอก ก่อนจะนำมาประกอบที่หน้างานทีละชิ้น ซึ่งจะช่วยให้มีการก่อสร้างได้รวดเร็วมากขึ้น และนอกจากนี้ยังมี Gimmick เล็กๆของการบิดองศาของเสา ให้โชว์เหลี่ยมมุมที่อยู่ด้านข้างออกมาด้วย เรียกได้ว่าแต่การออกแบบเสานี้นอกจากจะดูเท่แล้ว ยังมีประโยชน์ในด้านฟังก์ชันการใช้งานอีกด้วยครับ
อีกหนึ่งสิ่งที่เราไม่ค่อยเห็นอาคารสำนักงานไหนมีก็คือ ‘พื้นที่สีเขียว’ ซึ่งทาง Thai Obayashi มีความตั้งใจว่าอยากจะสร้างพื้นที่สีเขียวให้กับถนนสุขุมวิท จึงได้ Set พื้นที่ด้านหน้าเข้ามาลึกถึง 40 m. เพื่อทำเป็นพื้นที่สวนให้กับถนนสุขุมวิท สร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนและสังคม อีกยังทำให้คนที่ผ่านไป-มาด้านหน้ารู้สึกถึงความสดชื่นได้เป็นอย่างดีด้วยครับ
นอกจากนี้ยังมีการนำพื้นที่ในอาคารที่สามารถ Take View สวนได้สวยที่สุดให้กลายเป็นพื้นที่ร้านอาหาร ซึ่งจะมีพื้นที่ Semi-Outdoor ลักษณะคล้ายระเบียงให้ทำเป็นพื้นที่นั่งเล่นพักผ่อนได้ โดยระดับความสูงก็จะอยู่พอดีกับต้นไม้ที่อยู่ด้านหน้าเลยครับ ทำให้เหมือนเราได้นั่งทานข้าวอยู่ในสวนบนดาดฟ้าเลยนั่นเอง
สำหรับพื้นที่ Office อย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ว่าคอนเซ็ปต์ในการออกแบบพื้นที่คือ Highly Functional Office Space ซึ่งต้องการให้พื้นที่การทำงานสามารถใช้ประโยชน์ได้สูงที่สุด โดยที่ไม่มีเสาขนาดใหญ่มาคั่นกลางเรียกว่า Column Free Concept
เพราะโดยปกติแล้วถ้าเป็นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กทั่วไป ระยะความกว้างของเสาจะสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 15 m. แต่สำหรับ O-Nes Tower ที่ใช้เป็นโครงสร้างเหล็กยาว จะสามารถสร้างได้ยาวถึง 20 m. เลยทีเดียว
โดยเสาที่ใช้ของตึก O-Nes Tower จะเป็น CFT (Concrete Filled Tube) Column คือ เสาเหล็กกล่อง (Steel Tube) ที่ถูกเติมเต็มด้วยคอนกรีตภายในเสาเหล็กอีกที ซึ่งผสมผสานจุดแข็งของวัสดุทั้งสองอย่างเข้าด้วยกัน โครงเหล็กด้านนอกจะช่วยรับแรงดึงและแรงดัด ส่วนคอนกรีตภายในจะช่วยรับแรงอัดและเพิ่มความแข็งแรง
ข้อดีของเสา CFT Column ใน O-NES Tower
- เพิ่มความแข็งแรงและทนทานรับน้ำหนักได้มากขึ้น กว่าเสาเหล็กหรือเสาคอนกรีตเดี่ยวๆ สามารถลดขนาดเสาเพื่อทำให้มีพื้นที่ใช้สอยมากขึ้น และยังทนต่อแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้ดีขึ้น
- ลดระยะเวลาการก่อสร้าง สามารถเทคอนกรีตภายในโครงเหล็กได้ทันที โดยไม่ต้องใช้แบบหล่อลดขั้นตอนการก่อสร้าง ช่วยให้สร้างอาคารได้เร็วขึ้น
- ลดความเสียหายจากไฟไหม้ โครงสร้างเสา CFT มีความต้านทานไฟสูงกว่าเสาเหล็กปกติ คอนกรีตภายในช่วยป้องกันไม่ให้เหล็กร้อนเร็ว ลดการเสียรูปของโครงสร้าง
- เพิ่มพื้นที่ใช้สอย ช่วยให้ออกแบบพื้นที่ภายในอาคารให้กว้างขึ้น ไม่มีเสาขนาดใหญ่เกะกะ รวมถึงยังช่วยให้ Take View ได้ดีมากขึ้น
นอกจากนี้ทางอาคารยังได้รับการรับรองมาตรฐาน LEED V.4 (Gold) และ WELL V.1 (Gold) Certification อีกด้วย ซึ่งเป็นเครื่องรับรองว่าอาคารนี้เป็นอาคารประหยัดพลังงาน และส่งเสริมสุขภาพของผู้ใช้งานได้เป็นอย่างดี ส่วนระบบต่างๆที่เตรียมเอาไว้ภายในก็มีการคิดเผื่อมาอย่างดี ได้แก่
- ใช้ระบบปรับอากาศแบบ VRV ช่วยดึง Fresh Air หรืออากาศบริสุทธิ์จากภายนอกเข้ามาได้มากกว่าระบบแอร์รุ่นอื่นๆ
- ระบบ Smart Lighting & Ventilation ใช้เซ็นเซอร์ควบคุมแสงสว่างและเครื่องปรับอากาศตามจำนวนผู้ใช้งาน โดยจะแบ่งออกเป็นโซนทุกๆ 50 ตร.ม. ช่วยประหยัดพลังงานในโซนที่ไม่ได้ใช้งานได้
- ใช้กระจก Insulation Glass ที่ด้านในจะมีช่องว่างใส่ก๊าซอาร์กอน และกระจกด้านนอกเป็น Low-E Laminated Glass ช่วยลดความร้อนจากภายนอก ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าจากเครื่องปรับอากาศ
- ยกระดับพื้นสำนักงานสูงขึ้นมาด้วยระบบยกพื้น (Access Floor) เพื่อให้สามารถเดินงานสายไฟและ Maintenance ได้ง่าย โดยที่ผู้เช่าไม่จำเป็นต้องเสียเวลาทำเองภายหลัง
New Project Mixed-Use @ ราชดำริ
ล่าสุดทาง Thai Obayashi มีแพลนจะทำโครงการ Mixed-Use แห่งใหม่ บนที่ดิน 2 แปลงติดสถานีรถไฟฟ้า BTS ราชดำริ คือ ตึกนันทวัน (ที่เป็นออฟฟิศเก่าของ Thai Obayashi) และที่ดินใหม่แปลงติดกันคือบ้านสมถวิล (มีสัญญาเช่า 50 ปี) ซึ่งหลักๆจะประกอบด้วยพื้นที่สำนักงานขนาดกว่า 45,000 ตร.ม. + โรงแรม 5 ดาวจากญี่ปุ่น รวมถึงยังมีพื้นที่ Retail ต่างๆด้วย
ในด้านเทคนิคการออกแบบและก่อสร้างก็จะมีการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้เช่นเคยครับ ซึ่งเป็นระบบที่เรียกว่า LRV System (Left-Right-Vertical) โดยแกนกลางหรือ Building Core จะเป็นโครงสร้างเหล็ก ส่วนบริเวณรอบนอกอาคารจะเป็นคอนกรีตสำเร็จรูป (Prefabrication Concrete) ซึ่งจะสลับกันกับโครงสร้างของตัว O-Nes Tower ในปัจจุบันนี้เลยครับ โดยนี่ก็เป็นหนึ่งในองค์ความรู้จากบริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่น
ลักษณะโครงของเปลือกอาคารจะเป็นคอนกรีตขนาดใหญ่ ที่ยกมาต่อกันที่หน้างานเหมือนเลโก้ ทำให้มีการก่อสร้างที่รวดเร็วและไม่ก่อมลพิษ รวมถึงยังมีความสามารถในการรองรับแผ่นดินไหวได้ดีด้วย ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งโปรเจคที่น่าติดตามมากๆครับ ว่าสร้างเสร็จของจริงแล้วจะออกมาเป็นอย่างไร
ส่งท้าย
พี่สุกฤต (สถาปนิกผู้ออกแบบ, Director of Thai Obayashi Design Co., Ltd.) ได้แชร์คำพูดจากรุ่นพี่ฝากถึงน้องๆสถาปนิกรุ่นใหม่ว่า ‘อยากให้น้องสถาปนิกไทยรู้รอบ ไม่ใช่แค่รอบรู้’
เพราะในชีวิตการทำงานจริงๆ สถาปนิกไม่ได้ทำงานคนเดียวเหมือนตอนสมัยเรียน แต่สถาปนิกต้องออกแบบให้ครบทุกมิติ ถึงเราออกแบบได้สวยมาก และฟังก์ชันใช้งานดีแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าในความเป็นจริงไม่สามารถก่อสร้างได้ คุณก็เป็นแค่ศิลปิน..ไม่ใช่สถาปนิก
สถาปนิกต้องรู้จักงานโครงสร้าง ว่าแบบไหนเหมาะสมกับอาคารที่เราออกแบบ มีความคุ้มระยะเวลาก่อสร้างและคุ้มราคา มีความปลอดภัยและแข็งแรง รวมถึงงานระบบทุกระบบที่เลือกใช้ต้องคำนึงถึงการ Mainternance เป็นสำคัญ เพราะอาคารที่เราออกแบบมันไม่ได้สวยแค่ตอนเริ่มต้น แต่มันต้องสวยแบบยั่งยืนและใช้งานในระยะยาวคู่ไปกับงานระบบได้จริง
ซึ่งถ้าเรามีการปลูกฝังสถาปนิกไทยตั้งแต่ในสถาบันการศึกษา + ตัวเองมีความใฝ่รู้ให้เป็น ‘สถาปนิกผู้รู้รอบ’ ก็จะเป็นแรงผลักดันให้การออกแบบสถาปัตกรรมในประเทศไทยมีมาตรฐานที่ดีขึ้นได้อย่างแน่นอน
สำหรับใครที่สนใจเช่าพื้นที่สำนักงานของ O-Nes Tower สามารถติดต่อฝ่ายบริหารอาคารได้โดยตรงที่เบอร์ 02-255-7200 หรือ e-mail : [email protected]