อยู่สบายในแนวราบตอน – ต่อเติมบ้านอย่างไรให้เพิ่มมูลค่า ตอนที่1 (ย้อนไปอ่านตอนเก่าๆได้ที่นี่นะคะ)
สวัสดีค่ะ คุณผู้อ่าน TOL ที่รัก คุณนายหายตัวไปบ้าง เพื่อทำภารกิจมากมาย หวังว่าคงจะคิดถึงกันนะคะ สำหรับตอนนี้ คุณนายอยากพูดเรื่องการต่อเติมบ้านค่ะ คนส่วนใหญ่เวลาซื้อบ้านสำเร็จรูปในหมู่บ้านจัดสรรมา ไม่ว่าจะเป็นทาวน์เฮ้าส์หรือบ้านเดี่ยว ก็มักจะต้องการปรับตรงนี้ แก้ตรงโน้น ให้เหมาะกับการใช้งานของตัวเอง ซึ่งข้อดีอย่างหนึ่งของการซื้อที่อยู่อาศัยประเภทนี้ ที่แตกต่างจากคอนโด ก็คือว่า เรามีอิสระในการต่อเติมตกแต่งตามรูปแบบการใช้งานของเราค่ะ
ทว่า การต่อเติมบ้านนั้นสามารถทั้งสร้างให้มูลค่าของอสังหาริมทรัพย์นั้นสูงขึ้น หรือจะทำให้มูลค่าของมันลดลงก็เป็นไปได้เหมือนกันนะคะคุณผู้อ่าน คุณนายเคยเห็นตัวอย่างมาเยอะค่ะ ประเภทซื้อบ้านมาราคา สมมุติ 10 ล้าน ใส่เงินต่อเติมลงไป 2 ล้าน แต่ทำออกมาเสร็จ พ่อเจ้าประคุณรุนช่อง……. คุณนายว่าเอาขายทอดตลาด ในราคา 8 ล้าน ยังไม่รู้จะมีคนซื้อมั้ย! เพราะอะไรน่ะหรือคะ การต่อเติมที่ทำให้เสียมูลค่า แบบว่าใครเห็นก็ร้องยี้นั้น มีได้หลายรูปแบบค่ะ คุณนายไม่อยากจะให้คุณผู้อ่านที่น่ารัก ประสบปัญหาเช่นนั้น เราสู้อุตส่าห์ เสียเงิน เสียเวลา เสียแรง ต่อเติมบ้านทั้งที ใช่ไหมคะ เราก็อยากให้สินทรัพย์นั้นมีมูลค่าเพิ่มไปด้วยในตัว คุณนายจะขอยกตัวอย่างการต่อเติมประเภทที่ควรหลีกเลี่ยงดังต่อไปนี้นะคะ
1. ต่อเติมแล้วบอกลาแสงธรรมชาติ
ขอยกตัวอย่างการต่อเติมที่ฮิตๆ กันนะคะ คือการต่อเติมหลังคาจอดรถ เป็นต้น โดยเฉพาะบ้านที่เป็นทาวน์เฮาส์ มักจะจอดรถหน้าบ้านแบบไม่มีที่กันแดดกันฝนใช่ไหมคะ สิ่งที่มักจะชอบทำกัน ก็คือ การต่อเติมหลังคาจอดรถด้านหน้าบ้าน ทีนี้ คุณผู้อ่านลองนึกภาพตาม บ้านทาวน์เฮาส์เนี่ย แสงมันเข้าได้แค่สองทาง คือหน้าบ้านกับหลังบ้าน ส่วนด้านข้างเป็นกำแพงทึบทั้งสองฝั่ง ทีนี้พอตรงชั้นล่างส่วนหน้าบ้านที่เป็นส่วนนั่งเล่นเอนกประสงค์ที่ควรจะได้รับแสงธรรมชาติมากที่สุด กลับถูกบังทางเข้าของแสงมิด ด้วยหลังคาที่จอดรถยาวถึง 5 เมตร มันก็จบกันสิคะ ในบ้านก็มืด อับ ไม่น่าอยู่ แล้วบางที ยังต่อเติมทั้งที่จอดรถหน้าบ้าน ครัวหลังบ้านอีก แล้วห้องตรงกลางมันโดนหนีบไว้ มันก็จะทึบไม่น่าอยู่
สำหรับทางแก้ในกรณีที่ยกตัวอย่างข้างต้นนั้น คุณนายว่าถ้าจะต่อเติมที่จอดรถหน้าบ้านสำหรับทาวน์เฮาส์ ควรใช้กระเบื้องหลังคาที่มีความโปร่งแสง หรือต่อเติมเป็นหลังคาผ้าใบขาวก็จะทำให้ภายในบ้านยังมีแสงส่องสว่างน่าอยู่ขึ้น หรือจะวิธีแบ่งหลังคาให้ซ้อนกัน สองระดับให้มีช่องให้แสงลอดผ่านเข้ามาได้ ก็ดูเข้าท่าเหมือนกันนะคะ
ทาวน์เฮาส์หลังนี้มีการแก้ปัญหา การรับแสงธรรมชาติ ด้วยการใส่กระจกไว้บนหลังคาของส่วนต่อเติมเพื่อให้แสงเข้าถึงได้ในองศาที่มากขึ้น (ภาพจากwww.beyondthehalldoor.com)
ทาวน์เฮาสที่มีการดึงแสงธรรมชาติจากหลังคาลงมาสู่ใจกลางบ้าน หากมีการต่อเติมส่วนหน้าบ้านหรือหลังบ้านก็ยังมีแสงจากส่วนโถงบันไดช่วยให้บ้านสว่าง
2. ต่อเติมแล้วทำให้เกิดจุดอับของการไหลเวียนอากาศ
จริงๆ แล้วเรื่องการไหลเวียนของอากาศ มันก็จะมาพร้อมๆ กับประเด็นแสงธรรมชาตินี่แหละค่ะ คุณนายเคยเข้าไปดูบ้านให้น้องคนหนึ่ง เป็นบ้านเก่าที่ต่อเติมจนอเมซิ่งอลังการมาก จนคุณนายงงไปหมดเลย ที่นี่ที่ไหน…..เดินเข้าไปในบ้านแล้ว ไม่สามารถ located ตัวเองกับทิศทางภายนอกได้ถูก ประมาณว่า บ้านนั้นถูกต่อเติมซะจนเกิดห้องที่มันอยู่กลางบ้านแบบผนังไม่ติดกับภายนอกเลยตั้งหลายห้อง แล้วห้องหนึ่งมีหลายประตู ต้องเปิดประตูเพื่อทะลุไปห้องอื่นๆ อีก เมามันส์มาก มึนงงราวกับเขาวงกต ไม่ดีนะคะ…..ต่อเติมแบบนี้ไม่เอา
ห้องที่โดนปิดล้อมอยู่ตรงกลางบ้านจะกลายเป็นพื้นที่ๆ ไม่น่าอยู่ค่ะ ไม่มีการไหลเวียนอากาศที่ดีจากภายนอก ถ้าเป็นห้องน้ำยิ่งก่อให้เกิดความอับชื้น การสะสมของเชื้อโรค ถ้าเราซื้อบ้านเดี่ยว ข้อดีก็คือสามารถมีผนังที่ติดกับอากาศภายนอกได้ถึง 4 ทิศทางแล้ว ก็อย่าไปต่อเติมอะไรจนบล็อกแสงและลมตามธรรมชาติเลยค่ะ อย่างน้อยที่สุด ทุกห้องก็ควรจะเหลือหน้าต่างที่เปิดออกสู่ภายนอกได้ซักทิศนึงก็ยังดี
ต้องโปร่งๆ ถ่ายเทอากาศดีๆแบบนี้นะคะ ถึงจะอยู่แล้ว แฮปปี้ มีความสุข 😀
3. ต่อเติมทำร้ายโครงสร้าง
การต่อเติมที่ร้ายกาจสามารถลดมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ได้อย่างร้ายกาจอีกประเภทหนึ่ง คือการต่อเติมแบบผิดหลักวิศวกรรมค่ะ ซึ่งตรงนี้อาจเป็นอันตรายต่อโครงสร้างของบ้าน บ้านฉีก แตกร้าว ทรุด หรืออาจร้ายแรงมากๆ จนวันหนึ่งอาจถล่มลงมาได้ คุณนายแนะนำว่าการต่อเติมทุกครั้งควรได้รับคำปรึกษาจากวิศวกรให้เป็นเรื่องเป็นราวค่ะ บางคนคิดว่า แหม…แค่ต่อเติมหลังบ้าน หน้าบ้าน นิดเดียวเอง เพราะการต่อเติมพวกนี้ส่วนใหญ่มักมีการเจาะยึด กับโครงสร้างเดิมของบ้าน ควรได้รับการตรวจสอบตามหลักวิศวกรรมว่า คาน เสาตัวนั้นๆ สามารถรับน้ำหนักเพิ่มเติมได้หรือไม่ และจุดต่อควรทำอย่างไร ไม่ให้มีปัญหา ฉีก ร้าว แยกตัว ทรุดในภายหลัง ถ้าต้องมาตามแก้กันทุกปีๆ ก็จะเป็นเรื่องปวดหัวมิใช่น้อย
ภาพจาก www.homedec.in.th
4. พยายามเชื่อมบ้านเก่ากับบ้านใหม่
อันนี้ คุณนายเห็นทุกครอบครัว เวลาปลูกบ้านใหม่ในบริเวณเดียวกับบ้านเก่า ก็พยาย้ามพยายามที่จะเชื่อมบ้านใหม่กับบ้านเก่าเข้าด้วยกัน คุณนายขอร้องว่าอย่าเลยค่ะ มันไม่เวริ์กหรอก เพราะโครงสร้างคนละสมัยทำมาก่อนกับทำทีหลัง อัตราการทรุดตัวของดินก็ไม่เท่ากัน ทำไปแล้วจะเป็นปัญหาให้แก้ไม่รู้จักจบจักสิ้นมากกว่า แนะนำว่าแยกกันให้ขาดไปเลยค่ะในเรื่องของโครงสร้าง ส่วนคุณจะทำทางเดินมีหลังคาคลุมเชื่อมกัน แต่ฝากไว้บนโครงสร้างของบ้านใหม่อย่างเดียวหรือแยกโครงสร้างของทางเดินออกต่างหากเลยก็ได้ แล้วตรงรอยต่อก็ทำให้มันขยับตัวได้ จะดีกว่าค่ะ
5. ต่อเติมไม่เคารพสิทธิเพื่อนบ้าน
บางคนก็ต่อเติมกันแบบไม่เคารพสิทธิเพื่อนบ้าน ตามกฎหมายเราจะสร้างสิ่งปลุกสร้างได้ ต้องมีระยะร่นจากเขตที่ดินของเราไม่น้อยกว่า 50 ซม นะคะ โดยกรณีนี้จะต้องเป็นผนังทึบทั้งหมด ถ้าต้องการเจาะช่องเปิด ต้องห่างจากเขตที่ดินไม่น้อยกว่า 2 เมตรสำหรับชั้นหนึ่งและชั้นสอง(สูงไม่เกิน 9 เมตร) แล้วต้องห่างจากเขตที่ดิน 3 เมตรตั้งแต่ชั้นสาม(สูงเกิน 9 เมตร) เป็นต้นไป นอกจากนี้ เรื่องการระบายน้ำฝนก็ต้องคิดนะคะ อย่าให้น้ำฝนจากบ้านคุณตกกระเด็นเข้าที่บ้านคนอื่น ควรทำรางน้ำให้เรียบร้อย และส่วนของรางน้ำหรือส่วนใดๆ ก็อย่าให้ล้ำพื้นที่ของตัวเองออกไป ถ้าใช้รั้วร่วมกัน ก็ถือเอาเส้นครึ่งหนึ่งของรั้วนั่นแหละค่ะเป็นแนวแบ่ง แล้วระหว่างที่เราต่อเติมก็แจ้งเพื่อนบ้านเสียหน่อย และถ้าช่างทำอะไรสกปรกเลอะเทอะตกหล่นใส่เพื่อนบ้าน เราก็มีหน้าที่จัดการเข้าไปซ่อม ทำความสะอาดให้เรียบร้อย โดยไม่ต้องรอให้เขามาโวย จะได้ไม่ต้องมีปัญหากันกับเพื่อนบ้านค่ะ
6. ต่อเติมแบบตามใจฉันคนเดียว
การต่อเติมบ้านในรูปแบบที่เฉพาะเจาะจงมากๆ มันก็ทำให้เวลาเราต้องการจะขายออกนั้น ขายยากหรือไม่เป็นการเพิ่มมูลค่าค่ะ เพราะมีคนจำนวนไม่มากที่ต้องการใช้ฟังชั่นในแบบที่เราได้ทำการต่อเติมเปลี่ยนแปลง ยกตัวอย่างนะคะ บางคนซื้อบ้านหลังใหญ่ แต่ว่าอยู่แค่คนเดียวหรือสองคน ก็ทำการรื้อส่วนของห้องน้ำชั้นบนออกเปลี่ยนเป็นห้องแต่งตัวบ้างอะไรบ้าง จากเดิมสมมุติ จากบ้าน 3 ห้องนอน 3 ห้องน้ำ กลายเป็นบ้าน 3 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ โดยชั้นบนมีแค่ห้องน้ำเดียว เวลาขายต่อก็จะขายยากขึ้น เพราะถ้าผู้จะซื้อเป็นครอบครัวที่มีสมาชิกมากกว่าสองคนแล้ว การมีห้องน้ำเพียงห้องเดียวในชั้นบนจะเป็นข้อด้อยทันที ดังนั้น ก่อนที่เราจะทำการเปลี่ยนแปลงใดๆ แบบตามใจฉันในบ้าน เราควรต้องถามตัวเองก่อนว่าเรายอมรับได้ไหมที่จะทำให้บ้านของเรามีสภาพคล่องลดลง หรืออาจขายได้มูลค่าไม่เต็มที่อย่างที่มันควรจะเป็น
ที่คุณนายพอจะนึกออกเกี่ยวกับข้อที่ไม่สมควรทำเวลาต่อเติมบ้านก็มีประมาณเท่านี้แหละค่ะ หวังว่าจะช่วยให้คุณผู้อ่านมีข้อคิดเวลาต่อเติม เปลี่ยนแปลงบ้าน กันบ้างค่ะ สำหรับตอนหน้าคุณนายจะพาไปชมตัวอย่างการต่อเติมบ้านที่กิ๊บเก๋กันนะคะ ^ ^
XOXO
คุณนายสวนหลวง
ผู้บริหาร สวนหลวงบ้านและที่ดิน