ใครกำลังจะซื้อรถ EV ยกมือขึ้น?

จากค่าน้ำมันที่แพงขึ้นทุกวันๆ ทำให้คนที่กำลังจะซื้อรถใหม่ในยุคนี้คงอดไม่ได้ที่จะมีเจ้ารถยนต์ไฟฟ้า หรือรถ EV, รถ Plug-in Hybrid ติดโผเข้ามาเป็นตัวเลือกหนึ่ง เพราะจากที่มีคนรอบตัวรีวิวกันปากต่อปากว่าค่าไฟที่ใช้กับค่าน้ำมันเมื่อเทียบกันแล้วจะประหยัดกกว่ากันราวๆ 3 เท่าตัวเลย!! แต่ก่อนจะตัดสินใจจองรถ EV กันไปก็อยากให้เพื่อนๆ คำนึงถึงเรื่องการชาร์จไฟฟ้าด้วย เปรียบเทียบให้เห็นภาพก็คงจะเปรียบได้กับการซื้อมือถือเครื่องหนึ่ง เราก็คงอยากมีที่ชาร์จเป็นของตัวเองแหละ แบตฯ จะหมดก็เติมได้ตลอด ไม่ต้องเสียเวลาต่อคิวชาร์จไฟ ก็จะถือว่าตอบโจทย์การใช้งาน

แต่ที่ชาร์จรถ EV มันไม่ได้ราคาร้อยกว่าบาทเหมือนที่ชาร์จมือถือน่ะสิคะ บางยี่ห้อทางค่ายรถจะแถมที่ชาร์จมาให้เลยอย่างรถ EV Segment กลางๆ อย่าง MG และ GWM ก็โชคดีไป แต่ก็จะให้มาแค่มาแค่เครื่องเดียวนะ ถ้าอยู่บ้านหลายหลังก็คงต้องติดเพิ่ม หรือบางค่ายก็ไม่ได้แถมให้เราจึงต้องไปติดตั้งเอง โดยเฉพาะในกลุ่มรถหรู เช่น ยี่ห้อ BMW เพราะเค้าคงเล็งเห็นศักยภาพของผู้ซื้อแล้วว่าเค้าสามารถไปเลือกใช้ยี่ห้อ/รุ่นที่ต่อเชื่อม Applications ได้ตามใจชอบ

ซึ่งตอนนี้ตลาด EV Charger ก็แข่งขันกันคุกรุ่นเลยทีเดียว เนื่องจาก Demand ที่เพิ่มขึ้นทั้งกลุ่มที่ค่ายรถไม่ได้แถมที่ชาร์จให้ และ กลุ่มที่มีบ้านหลายหลังก็คงอยากติดที่ชาร์จให้ครบถ้วน บทความนี้เรามีคำตอบค่ะว่าการติดตั้ง EV Charger จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ และเราจะเลือกที่ชาร์จยี่ห้อไหนดี ตามไปชมกันค่ะ


การติดตั้ง EV Charger ใช้เงินเท่าไหร่

เราขอแจกแจงค่าติดตั้งออกมาเป็น 2 เรื่องหลักๆ คือ 1. ค่าเครื่อง EV Charger และ 2. ค่าติดตั้งและค่าขอเปลี่ยนมิเตอร์ 

ทั้งนี้ราคาค่าเครื่อง EV Charger และค่าติดตั้ง+ค่าขอเปลี่ยนมิเตอร์นั้นจะต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป ขึ้นอยู่กับรุ่นรถที่ใช้, ขนาดมิเตอร์ไฟเดิมของตัวบ้าน, จำนวนเครื่องใช้ไฟฟ้าและการใช้งาน

1. ค่าเครื่อง EV Charger

ราคาของ EV Charger ขึ้นอยู่กับขนาดของกำลังไฟที่เราต้องการ ซึ่งอันดับแรกเลยเราต้องดูความสามารถในการรับไฟของเจ้า On Board Charger ของรถยนต์แต่ละรุ่นนะคะ ทั่วไปก็จะขนาดตั้งแต่ 3.6 kW ถึง 22 kW ซึ่งเจ้า On Board Charger นี้เป็นตัวควบคุมการดึงพลังงานไฟฟ้าที่จะสั่งการไปยังเครื่อง EV Charger ว่าให้ปล่อยไฟฟ้ามาให้ทำให้ตัวเครื่องชาร์จส่วนใหญ่ออกแบบมา 4 ขนาดคือ 3.7 kW, 7.4 kW, 11kW และ 22 kW ราคาของเครื่องจึงมีตั้งแต่ 15,000 ไปจนถึง 100,000 กว่าบาท ขึ้นอยู่กับยี่ห้อด้วยค่ะ

ตัวอย่างเช่น น้อง Ora Good Cat ที่กำลังเป็นที่สนใจจะมีขนาด On Board Charger อยู่ที่ 6.6 kW/h แปลว่ารถแมวเหมียว Ora จะรับไฟสูงสุดได้แค่ 6.6 kW ต่อชั่วโมงเท่านั้นจึงเลือกติด EV Charger ขนาด 7.4 kW ก็เพียงพอแล้วค่ะ เพราะแม้ว่าเราจะติดเครื่องชาร์จขนาด 11 kW หรือ 22 kW รถของเราก็ดึงไฟได้แค่ 6.6 kW อยู่ดี

หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง หากเป็น Audi e-tron GT quattro Performance ที่สเปคเค้ารองรับการชาร์จไฟฟ้า AC Onboard Charger สูงสุด 22 kW ก็สามารถเลือกติดตั้ง EV Charger ขนาดใหญ่ขึ้นเป็น 22 kW ได้เลย เพื่อให้ชาร์จเต็มได้อย่างรวดเร็วตามความสามารถ แต่ถ้าเลือกขนาดเครื่องชาร์จที่เล็กกว่านั้นก็ใช้งานได้เช่นกัน แต่จะต้องใช้เวลาชาร์จนานขึ้น

โดยเครื่อง EV Charger สำหรับใช้งานในบ้านจะเป็นเครื่องชาร์จแบบ AC คือกระแสไฟสลับ ซึ่งจะมี 2 ขนาดที่นิยมในปัจจุบันคือ ขนาด 3.6 kW และ 7.2 kW เมื่อติดกับไฟบ้านที่มีขนาดมิเตอร์ต่างกัน เช่น 1 เฟส กับ 3 เฟส ก็จะให้กำลังไฟขนาดต่างกันตามตารางด้านบนนี้นะคะ

  • ขนาด Output 3.6 kW ใช้กำลังไฟ 16A ติดตั้งกับไฟบ้าน 1 เฟส ให้กำลังไฟ 3.6×1 = 3.6 kW 
  • ขนาด Output 3.6 kW ใช้กำลังไฟ 16A ติดตั้งกับไฟบ้าน 3 เฟส ให้กำลังไฟ 3.6×3 = 11 kW
  • ขนาด Output 7.2 kW ใช้กำลังไฟ 32A ติดตั้งกับไฟบ้าน 1 เฟส ให้กำลังไฟ 7.2×1 = 7.2  kW
  • ขนาด Output 7.2 kW ใช้กำลังไฟ 32A ติดตั้งกับไฟบ้าน 3 เฟส ให้กำลังไฟ 7.2×3 = 22 kW 

เราก็ดูจากเลข On Board Charger ของรถแต่ละรุ่นว่ามีโหลดกำลังไฟที่เท่าไหร่ แล้วนำมาเลือกขนาดเครื่องชาร์จที่ให้กำลังไฟใกล้เคียงกัน (ตัวเลขสีส้ม หน่วย kW) จากนั้นดูว่าเครื่องชาร์จนี้ใช้กำลังไฟกี่แอมแปร์ (ตัวเลขสีน้ำเงิน หน่วย A) แล้วจึงพิจารณาร่วมกับจำนวนเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ของบ้านเช่น แอร์, ตู้เย็น แล้วจึงตัดสินใจว่าควรเปลี่ยนขนาดมิเตอร์มั้ยนะคะ ซึ่งบริษัทที่รับติดตั้งมักจะส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาประเมินหน้างาน เพราะหากจำเป็นต้องเปลี่ยนมิเตอร์ก็ต้องดำเนินการไว้ก่อนวันติดตั้งอยู่แล้วค่ะ

เมื่อรู้ขนาด EV Charger ที่เราต้องใช้งานแล้ว เราก็มาดูว่าแต่ละยี่ห้อในตลาดมีรุ่นไหนให้เลือกบ้าง วันนี้เราเตรียมข้อมูลของ EV Charger 8 ยี่ห้อที่กำลังเป็นที่นิยมในตลาดเมืองไทยมาฝากกัน โดยจะนำมาเปรียบเทียบกันใน 6 หัวข้อที่เรามองว่าน่าสนใจค่ะ

ซึ่งข้อมูลที่เราเลือกมาเปรียบเทียบก็จะนำมาเฉพาะรุ่นติดตั้งที่บ้าน คือจะเป็นกระแสไฟแบบ AC และเป็นรุ่นหัวชาร์จ Type 2 ซึ่งนิยมกันมากสุดในประเทศไทยนะคะ

ขอบคุณรูปประกอบจาก The Bangkok Insight

1. Arun+ (Arun Plus) พัฒนาโดยกลุ่มปตท. ของไทยนี่เอง สำหรับรุ่นที่ใช้ที่บ้านจะออกมาให้เลือกใช้กัน 2 รุ่น คือรุ่น ECO และ SMART สำหรับ ECO จะเป็นรุ่นเริ่มต้นไม่ได้มีฟังก์ชันพิเศษเพิ่มเติมนะคะ แต่หากเป็นรุ่น Smart จะสามารถเชื่อมต่อการใช้งานกับสถานี on-ion ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งของปตท. ด้วยเช่นกันโดย Apps ของทาง on-ion จะใช้ในการสั่งชาร์จและจ่ายเงินตามสถานีให้บริการ โดยตัว Apps จะรองรับทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษด้วยนะคะ ราคาประมาณ 56,710 – 73,830 บาท

2. Siemens ยี่ห้อดังจากเยอรมนีที่ขึ้นชื่อในเรื่องความปลอดภัย เช่นถ้ากำลังไฟไม่พอเจ้าเครื่องชาร์จก็จะไม่ทำงานเลยนะคะ แต่ยี่ห้อนี้มี Apps รองรับแค่เฉพาะค่าย Andriods นะคะ แต่สำหรับค่าย ios เองก็สามารถใช้งานผ่าน Cloud แทนได้ ซึ่งใช้สั่งงานและดูสถานะเครื่องชาร์จได้ค่ะ ราคาประมาณ 65,000 – 85,000 บาท (ข้อมูลจากตัวแทนจำหน่าย Futrue Charge)

3. Schneider อีกหนึ่งยี่ห้อที่มีชื่อเสียงมายาวนานจากฝรั่งเศส ก็ส่งผลิตภัณฑ์อย่างเจ้า EV Charger มาแข่งขันด้วยเช่นกัน เป็นรุ่น EV Link ซึ่งจะขายความน่าเชื่อถือจากตัวแบรนด์เป็นหลัก ราคาประมาณ 59,000 – 69,000 บาท (ข้อมูลจากตัวแทนจำหน่าย CTMS)

4. Wallbox เป็นผลิตภัณฑ์นำเข้าจากสเปน ที่มีราคาเริ่มต้นน่าสนใจในกลุ่มแบรนด์ยุโรป-อเมริกานะคะ สำหรับรุ่นที่ติดตั้งที่บ้าน หัว Type 2 จะมีให้เลือก 2 รุ่นคือ Pulsar Plus ซึ่งเจ้ารุ่นนี้จะสามารถสั่งงานผ่าน Apps ใน Smartphone และเช็คสถานะเครื่องชาร์จได้ ส่วนอีกรุ่นคือ Commander จะมีฟังก์ชันเพิ่มเติมอย่างหน้าจอ Touch Screen มาด้วย ส่วนสายชาร์จมาตรฐานจะยาว 5 เมตร แต่สามารถเพิ่มเงินเพื่อเปลี่ยนเป็นสาย 7 เมตรได้ อีกประเด็นที่น่าสนใจของยี่ห้อนี้คือ รับติดตั้งแบบต่อวงจรที่ 2 แยกจากวงจรหลักของไฟบ้านด้วยนะคะ ราคาประมาณ 51,700 – 76,000 บาท (ข้อมูลจากตัวแทนจำหน่าย บริษัท พิธาน กรีน จำกัด)

5. enel x จากอเมริกา ซึ่งเราจะเห็น Youtuber รีวิวกันเยอะทีเดียวสำหรับแบรนด์นี้โดยใช้ชื่อรุ่นว่า Juicebox มีฟังก์ชันพิเศษคือสามารถสั่งงานและเช็คสถานะเครื่องชาร์จผ่าน Apps ใน Smartphone ได้เช่นกัน ให้ความยาวสายมาตรฐานมาที่ 7 เมตร ราคาประมาณ 59,000-69,000 บาท (ข้อมูลจากตัวแทนจำหน่าย EV MALL)

6. EVlomo ผลิตภัณฑ์จากประเทศอเมริกาอีกเช่นกัน ซึ่งแบรนด์นี้จะจับมือเป็นพันธมิตรกับ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด(มหาชน) ที่ประกาศวางเป้าหมายติดเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในบ้าน 50,000 หลัง สำหรับฟังก์ชันพิเศษของยี่ห้อนี้คือสามารถสั่งงานผ่าน Smartphone ได้, ตัวเครื่องมีหน้าจอโหมดภาษาไทยให้ใช้งานด้วยค่ะ แต่สำหรับราคาจะต้องสอบถามโดยตรงกับทางบริษัทนะคะ

7. ABB ยี่ห้อที่มีโลโก้สีแดงคุ้นตาจากสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมีชื่อในเรื่องของอุปกรณ์ไฟฟ้าเป็นทุนเดิม โดยมีฟังก์ชันพิเศษอย่างการสั่งงานและเช็คสถานะเครื่องชาร์จผ่าน Smartphone ได้ ราคาประมาณ 55,000-69,000 บาท (ข้อมูลจากตัวแทนจำหน่าย CTMS)

8. Radikos ปิดท้ายด้วย EV Charger จากจีนบ้าง ซึ่งยี่ห้อนี้จะมีราคาถูกกว่ายี่ห้ออื่นๆ ประมาณหมื่นกว่าๆ ถึง 2 หมื่นเลยนะคะ เป็นทางเลือกสำหรับผู้มีงบน้อย แต่ก็ยังคงมีประกันให้ 3 ปีไม่แพ้ยี่ห้ออื่นๆ นะคะ ราคาประมาณ 35,000-50,000 บาท (ข้อมูลจากตัวแทนจำหน่าย CTMS)


2. ต้องเปลี่ยนมิเตอร์ไฟมั้ย ค่าใช้จ่ายเท่าไหร่

ก่อนจะติดตั้ง EV Charger ที่บ้าน เพื่อนๆ อาจเคยได้ยินกันต่อๆ มาว่า ต้องขอไฟบ้าน 3 เฟสนะ ซึ่งนั่นไม่เป็นความจริงทั้งหมดนะคะ เพราะเครื่อง EV Charger ในตลาดของไทยที่ขายๆ กันอยู่นั้นก็มีรุ่นที่ติดกับไฟบ้านเฟสเดียวได้ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามการติดตั้งนั้นจะต้องเพิ่มขนาดมิเตอร์หรือไม่ สุดท้ายแล้วบริษัทที่มาติดตั้งก็มักจะส่งผู้เชี่ยวชาญมาคำนวณให้ก่อนเป็นบริการขั้นพื้นฐานนะคะ เราจะพยายามอธิบายอย่างง่ายที่สุดเพื่อให้เพื่อนๆ เข้าใจถึงหลักการ เผื่อเอาไว้พูดคุยกับช่างได้รู้เรื่อง

สิ่งที่เราต้องรู้เป็นลำดับถัดมาคือ บ้านเรานั้นติดมิเตอร์ไฟฟ้าขนาดเท่าไหร่ และให้ไฟได้โหลดสูงสุดที่เท่าไหร่ ดูจากตารางด้านล่างนี้ได้เลยค่ะ

ตามบ้านเรือนทั่วไปก็มักจะติดตั้งมิเตอร์ขนาด 1 เฟส(15/45) ให้กำลังไฟ 30A หากอยู่ในเขตดูแลของ MEA และให้กำลังไฟ 36A หากอยู่ในเขตดูแลของ PEA เมื่อเทียบกับการใช้กำลังไฟของ EV Charger ก็พอจะติดเครื่องชาร์จที่กินไฟขนาด 16A ก็คือรุ่นที่ให้กำลังไฟ 3.6 kW ได้ แต่ต้องดูด้วยว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่บ้านใช้ไฟอยู่เท่าไหร่ เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะไฟตกเพราะกระแสไฟไม่เพียงพอ

แต่หากเป็นรถ EV แท้ส่วนใหญ่ On Board Charger จะมีขนาดใหญ่กว่า 3.6 kW ซึ่งเครื่องชาร์จที่ให้ไฟ 7.2 kW เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถติดกับไฟบ้าน 1 เฟสได้ แต่ต้องเป็นมิเตอร์ขนาด 1 เฟส30(100) ขึ้นไป แต่หากเป็นเครื่องชาร์จขนาด 11 และ 22 kW จะต้องใช้มิเตอร์ 3 เฟส 30(100) ขึ้นไป ทั้งนี้ทางช่างผู้ติดตั้งจะคำนวณควบคู่กับการใช้ไฟของเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็น Case by Case ด้วยค่ะ

อีกเรื่องที่เราควรทราบไว้ก็คือเรื่องของ MEA (การไฟฟ้านครหลวง) และ PEA (การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค) ซึ่งทุกวันนี้ประชาชนคนไทยอย่างเราๆ ซื้อไฟฟ้าใช้จาก 2 แห่งหลักๆ ก็คือ MEA ที่จะดูแล 3 จังหวัดก็คือ กรุงเทพฯ, นนทบุรี และ สมุทรปราการ และ PEA จะดูแลจังหวัดที่เหลือทั้งหมด …แม้ว่า MEA และ PEA จะทำหน้าที่เหมือนๆ กัน แต่จะมีพวกกฎระเบียบของการให้บริการที่ต่างกันเล็กน้อยที่เราควรทราบไว้นะคะ เช่น บ้านพักอาศัยที่อยู่ในการดูแลของ MEA หนึ่งบ้านเลขที่จะติดมิเตอร์ไฟฟ้าได้เพียงตัวเดียว แต่บ้านพักอาศัยที่อยู่ในการดูแลของ PEA บ้านเลขที่เดียวก็สามารถติดมิเตอร์เพิ่มเป็น 2 ตัวได้ จึงต้องขอแสดงความยินดีกับกลุ่มที่อยู่ภายใต้การดูแลของ PEA ด้วยนะคะ เพราะการติดตั้งมิเตอร์แยกสำหรับ EV Charger ไปเลยเป็นเรื่องง่าย ไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับมิเตอร์และวงจรไฟเดิมของตัวบ้านเลยค่ะ

ปิดท้ายด้วยค่าใช้จ่ายขอเปลี่ยนมิเตอร์ของค่าย MEA และ PEA ซึ่งเราหาข้อมูลจากทาง Official Website มาฝากกัน เป็นราคาคร่าวๆ ซึ่งในการติดตั้งจริงอาจมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มเติมเป็น Case by Case ค่ะ

ข้อมูลอ้างอิง MEA > https://www.mea.or.th/content/116/288

สุดท้ายนี้หากเพื่อนๆ อยากทราบว่า EV Charger กินไฟเท่าไหร่ ทางทีมงาน Thinkofliving เคยเขียนบทความไว้แล้วนะคะ สามารถคลิกเข้าไปอ่านต่อได้ที่ Link นี้เลย รถยนต์ไฟฟ้า EV ต้องใช้ไฟบ้านแบบไหน? จ่ายค่าไฟเท่าไหร่? สำหรับผู้เขียนเองก็หวังว่าข้อมูลในบทความนี้จะช่วยให้เพื่อนๆ ตัดสินใจเลือกยี่ห้อ EV Charger ได้ง่ายขึ้นและได้เครื่องชาร์จที่ถูกอกถูกใจกันไปนะคะ อย่าลืมกด Like กด Share เป็นกำลังใจให้ทีมงานด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ