ในสถานการณ์โรคระบาดไวรัส Covid – 19 ปัจจุบันนี้ยังมีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆนะคะ ส่งผลให้จำนวนเตียงว่างในโรงพยาบาลต่างๆแทบไม่มีเลย แม้แต่โรงพยาบาลสนามเองยังต้องรอคิวในการเข้าไปรักษา จึงเกิดวิธีการรักษาใหม่สำหรับผู้ที่ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ หรือผู้ที่ป่วยไม่มาก อยู่ในอาการสีเขียว ให้ทำ Home Isolation แยกกักตัวที่บ้านกันก่อน เพื่อให้ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นได้รับการรักษาก่อน

แล้วการทำ Home Isolation ต้องทำอย่างไร เหมือนการกักตัวหรือไม่ ต้องใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง แล้วถ้าอยู่ร่วมกันหลายคนในบ้านจะมีวิธีการลดความเสี่ยงติดเชื้อได้อย่างไร เราไปชมพร้อมๆกันในหัวข้อด้านล่างนี้เลยค่ะ

  • กลายเป็นกลุ่มเสี่ยงต้องทำยังไง ?
  • ใครที่ต้อง Home Isolation บ้าง ?
  • ปฎิบัติตัวอย่างไรดีเมื่อ Home Isolation
  • สิ่งที่ต้องเตรียมก่อน Home Isolation
  • มาจัดบ้านรองรับ Home Isolation กันเถอะ
  • ห้องน้ำเฉพาะกิจสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด – 19 และการทิ้งขยะติดเชื้อ
  • ต้อง Home Isolation กี่วัน ?

 

กลายเป็นกลุ่มเสี่ยงต้องทำยังไง ?

เริ่มจากคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง อาจสงสัยว่าต้องจัดการตัวเองอย่างไร ต้อง Home Isolation ไหม เราจะอธิบายวิธีการจัดการตัวเองตั้งแต่เริ่มต้นกันเลยค่ะ เริ่มแรกผู้ที่สงสัยว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงควร “กักตัว” เพื่อดูอาการที่บ้านก่อน ซึ่งก็คือการอยู่แต่ที่บ้านไม่ออกไปไหนข้างนอก แต่ถ้ามีความเสี่ยงมากและกลัวนำมาแพร่เชื้อให้คนที่บ้าน ก็สามารถเริ่มทำ Home Isolation ไปพร้อมๆกับการตรวจเช็คอาการป่วยของตนเองได้เลยค่ะ เพื่อความมั่นใจเราสามารถไปตรวจโควิดที่จุดตรวจของรัฐ หรือซื้อชุดตรวจ Rapid – Antigen Test (ATK) มาตรวจ จะได้หาแนวทางการปฏิบัติตัวต่อไปได้อย่างถูกต้องค่ะ

*เรามีเกร็ดความรู้เกี่ยวกับการตรวจ Covid – 19 มาฝากกันท้ายบทความด้วยค่ะ

ผลเป็นบวกแล้วทำยังไงต่อ ?

ปัจจุบ้นมีช่องทางการติดต่อหลายหน่วยงานอาจทำให้หลายคนสับสนนะคะ แต่ว่าช่วงทางที่จะเข้าสู่ระบบการรักษา ติดตามและหาเตียงโดยตรงคือช่องทางติดต่อของ สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ซึ่งปัจจุบันได้ยินมาว่ามีการเพิ่มคู่สายให้สามารถติดต่อได้ง่ายมากขึ้น (ข้อมูล ณ วันที่ 4 กรกฎาคม 2564) เมื่อติดต่อได้ผู้ติดเชื้อจะได้สิ่งของสนับสนุน ซึ่งจำเป็นต่อการ Home Isolation และติดตามอาการ ดังนี้ค่ะ

  • อาหาร 3 มื้อ/วัน จำนวน 14 วัน
  • เครื่องวัดอุณหภูมิ
  • เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด
  • ยารักษาตามอาการ หรือ ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ตามดุลยพินิจของแพทย์
  • รับคำปรึกษาจากบุคลากรการแพทย์

สำหรับผู้ติดเชื้อที่เริ่มมีอาการ ติดต่อทาง สปสช. ไม่ได้หรือไม่ได้รับการติดต่อกลับ ให้ติดต่อช่องทางการช่วยเหลืออื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐฯ หรือกลุ่มอาสาเอกชนเพิ่มเติม เพื่อขอรับยา อาหาร หรือถังออกซิเจน ช่วยประคองอาการของผู้ป่วยระหว่างรอเตียงค่ะ ส่วนใครที่ยังไม่มีอาการ หรือสงสัยว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มอาการไหน ตามไปอ่านหัวข้อต่อไปกันได้เลยค่ะ

 

จำแนกผู้ป่วยตามอาการ

อาการของผู้ป่วยถือว่ามีความสำคัญในการพิจารณาวิธีการรักษาที่ถูกต้องค่ะ เนื่องจากปัจจุบันเราก็ได้ยินข่าวปัญหาเตียงในโรงพยาบาลเต็ม เตียงของโรงพยาบาลสนามก็ยังต้องรอคิวกันล้นหลามไม่สามารถรับผู้ป่วยได้ทุกคน การแบ่งแนวทางการรักษาตามอาการของผู้ติดเชื้อจึงสำคัญ เพื่อให้ผู้ป่วยอาการหนักได้รับการรักษาในโรงพยาบาลอย่างทันท่วงที ส่วนผู้ป่วยสีเขียวที่สามารถรอได้ก็ได้ทำ Home Isolation อย่างถูกต้องไม่แพร่เชื้อต่อไปค่ะ ซึ่งเราสามารถเช็คอาการตนเองได้ตามรูปข้างล่างได้เลย

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 และ DramaAddict Ebook

ใครที่ต้อง Home Isolation บ้าง ?

การแยกรักษาตัวที่บ้าน หรือที่เรียกกันว่า Home Isolation นั้นเป็นแนวทางการรักษาที่กรมการแพทย์กระทรวงสาธารณะสุขแนะนำผู้ติดเชื้อ Covid -19 ทำนะคะ เนื่องจากในทุกวันนี้แต่ละโรงพยาบาลประสบกับปัญหาเตียงเต็ม คนไข้ต้องรอคิวกันนานหลายวัน อีกทั้งยังมีเจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ดูแลผู้ป่วยไม่เพียงพอ จากการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อมากขึ้นในทุกๆวัน การทำ Home Isolation ไม่ไช่เพียงแค่ช่วยลดความหนาแน่นในโรงพยาบาล แต่ยังช่วยลดการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นด้วยค่ะ

แต่ไม่ใช่ผู้ติดเชื้อ Covid – 19 ทุกคนจะสามารถแยกกักตัวแบบ Home Isolation ได้นะคะ จะต้องเป็นบุคคลที่เข้าเกณฑ์เหมาะสมด้านล่าง เพื่อความปลอดภัยของตัวผู้ติดเชื้อเองด้วยค่ะ

  • ผู้ติดเชื้อกลุ่มที่มีอาการสีเขียว
  • ผู้ติดเชื้อระหว่างรอ Admit ในโรงพยาบาล หรือบุคคลที่แพทย์พิจารณาให้รักษาตัวที่บ้านได้
  • ผู้ที่ผ่านการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลแล้วไม่ต่ำกว่า 10 วัน อาการดีขึ้นสามารถ Home Isolation ต่อได้ เพื่อสละพื้นที่เตียงให้ผู้ป่วยที่มีอาการหนักต่อไป

ซึ่งทั้งหมดจะต้องเข้าเกณฑ์เพิ่มเติม ดังนี้

  • ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ (Asymptomatic Cases)
  • มีอายุน้อยกว่า 60 ปี
  • สุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัวต่อไปนี้

– โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD)
– โรคไตเรื้อรัง (CKD Stage 3,4)
– โรคหัวใจและหลอดเลือด
– โรคหลอดเลือดสมอง
– เบาหวาน ที่ไม่สามารถควบคุมได้
– โรคอื่นๆตามความเห็นของแพทย์

  • ผู้ป่วยต้องไม่มีภาวะอ้วน คือ ต้องมีดัชนีมวลกายไม่มากกว่า 30 กิโลกรัม/ตารางเมตร* หรือหนักกว่า 90 กิโลกรัม
  • ผู้ป่วยต้องอยู่คนเดียวหรือมีผู้ร่วมพักไม่เกิน 1 คน และยินยอมการทำ Home Isolation ในบ้านของตัวเอง

*Tips : การวัดดัชนีมวลกาย (BMI) คือ น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) / ส่วนสูง (เมตร) ยกกำลัง 2 
เช่น หนัก 50 กิโลกรัม สูง 155 เซ็นติเมตร จะมีดัชนีมวลกายอยู่ที่  [ 50 / (1.55 ยกกำลัง2) ] = 20.81 ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ

ค่า BMI < 18.5                อยู่ในเกณฑ์น้ำหนักน้อยหรือผอม
ค่า BMI 18.5 – 22.90  อยู่ในเกณฑ์ปกติ
ค่า BMI 23 – 24.90     น้ำหนักเกิน
ค่า BMI 25 – 29.90     รคอ้วนระดับที่ 1
ค่า BMI 30 ขึ้นไป          โรคอ้วนระดับที่ 2 (ไม่ควร Home Isolation)

* ที่มา : คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาพจาก : กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณะสุข

 

ปฎิบัติตัวอย่างไรดีเมื่อ Home Isolation

หลังจากที่เราทราบขั้นตอนการติดต่อหน่วยงานต่างๆไปแล้ว คนที่ต้องทำ Home Isolation และผู้ป่วยระหว่างรอเตียงทุกคนจะต้องปฎิบัติตามคำแนะนำกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณะสุข อย่างเคร่งครัดเพื่อลดอัตราการแพร่เชื้อไปสู่คนที่เรารักในครอบครัวและผู้อื่นกันค่ะ

  • ห้ามมีแขกมาเยี่ยมบ้าน
  • ห้ามเข้าใกล้คนในบ้าน ควรเว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร
  • สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่อมีคนอยู่บ้าน
  • แยกห้องพัก และของใช้ส่วนตัว ถ้าไม่สามารถแยกได้ให้เว้นระยะให้มากที่สุดและเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท
  • ห้ามรับประทานอาหารด้วยกัน
  • ล้างมือด้วยน้ำสบู่ หรือ เจลแอลกอฮอลทุกครั้งก่อนสัมผัสกับของใช้ส่วนกลาง
  • แยกซักเสื้อผ้า ผ้าขนหนู ชุดเครื่องนอน ให้ซักด้วยผงซักฟอก
  • แยกใช้ห้องน้ำ และถังขยะ

ภาพจาก : กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณะสุข

สิ่งที่ต้องเตรียมก่อน Home Isolation 

  • ของใช้ส่วนตัวของผู้ติดเชื้อ เช่น จานชาม ช้อนส้อม แก้วน้ำ แปรงสีฟัน หวี เสื้อผ้า ชุดเครื่องนอน ฯลฯ
  • อุปกรณ์ทำความสะอาด น้ำยาฆ่าเชื้อ ข้อแนะนำในการทำความสะอาด ทำลายและฆ่าเชื้อโรค คลิก >> กรมอนามัย กระทรวงสาธารณะสุข
  • หน้ากากอนามัย ยารักษาโรคประจำตัว และยารักษาตามอาการ เช่น

– ยาพาราเซตามอล แก้ปวด ลดไข้
– ยาแก้ไอ
– ยาแก้แพ้ ลดน้ำมูก
– เกลือแร่สำหรับท้องเสีย (ห้ามใช้เกลือแร่ออกกำลังกาย)
– ปรอทวัดไข้
– เครื่องวัดออกซิเจนในเลือดปลายนิ้ว
– ยาดม เช็คการได้กลิ่น ยาอมแก้เจ็บคอ

  • ถุงขยะติดเชื้อ (สีแดง) หรือถุงขยะแยกเป็นส่วนตัว *
  • ห้องน้ำแยกสำหรับผู้ติดเชื้อ *

*ติดตามอ่านได้ในหัวข้อถัดไปด้านล่างนี้ค่ะ


มาจัดบ้านรองรับ Home Isolation กันเถอะ

ทราบข้อปฎิบัติกันไปแล้วเรามา ‘จัดบ้าน’ เพื่อแยกกักตัว Home Isolation กันให้ปลอดภัยกันดีกว่าค่ะ ใครที่อยู่คนเดียวอยู่แล้วก็ไม่ยาก เพียงแค่ไม่ออกไปไหนก็เพียงพอแล้ว  แต่สำหรับบางครอบครัวอยู่กันหลายคน แม้ว่าข้อกำหนดจะอนุญาตให้ผู้ติดเชื้ออยู่ร่วมกับสมาชิกในครอบครัวเพียงคนเดียว แต่ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถทำได้นะคะ เรามาดูกันว่าเราจะจัดพื้นที่ Home Isolation อย่างไรให้เหมาะกับที่อยู่อาศัยของเรากันค่ะ

แนวทางการจัดพื้นที่ Home Isolation นี้อาจไม่การันตีได้ว่าจะไม่ติดเชื้อ 100% แต่ถ้าสามารถทำได้ ก็จะช่วยลดการติดเชื้อลงไปได้ตามความเคร่งครัดของสมาชิกในบ้านทุกคน ยกตัวอยากผู้ติดเชื้อจริงสามารถอยู่ร่วมกับสมาชิกในบ้านได้ครบ 14 วัน โดยที่สมาชิกในบ้านไม่มีใครติดเชื้อเลย ถ้าจัดพื้นที่แยกส่วนกันอย่างถูกต้องค่ะ

สิ่งสำคัญในการติดเชื้อของสมาชิกภายในบ้านนั้นอยู่ที่การอยู่ในพื้นที่เดียวกัน และใช้สิ่งของร่วมกัน ถ้าแยกกันได้ครบทุกอย่างก็จะทำให้ลดความเสี่ยงไปได้เยอะเลย แต่สิ่งที่ยากที่สุดและเป็นข้อจำกัดของหลายๆบ้าน นั่นก็คือ “ห้องน้ำ” นั่นเองค่ะ ห้องน้ำเป็นพื้นที่เสี่ยงในการติดเชื้อค่อนข้างมาก เนื่องจากเชื้อสามารถติดได้จากสารคัดหลั่งต่างๆ เราจึงใช้เกณฑ์ “พื้นที่ส่วนตัว” และ “ห้องน้ำ” เป็นข้อสำคัญการจัดพื้นที่ Home Isolation ค่ะ

บ้านที่มีพื้นที่แยกส่วนชัดเจน

สำหรับบ้านที่มีพื้นที่แยกสัดส่วนชัดเจน อย่างเช่น ห้องนอนที่มีห้องน้ำในตัว เป็นพื้นที่ที่เหมาะกับการทำ Home Isolation ที่สุดค่ะ เพราะสามารถแยกโซนผู้ติดเชื้อให้ไม่ใช้สิ่งของและพื้นที่ร่วมกันกับสมาชิกคนอื่นๆในบ้านได้ ทำให้โอกาสการแพร่เชื้อน้อยลงไปมาก คนอื่นๆภายในบ้านสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติค่ะ

จัดพื้นที่ให้ผู้ป่วยอยู่ในห้องที่มีห้องน้ำส่วนตัว และสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องออกมานอกห้อง สามารถเปิดเครื่องปรับอากาศ หรือเปิดหน้าต่างระบายอากาศก็ได้ค่ะ แต่การเปิดหน้าต่างระบายอากาศจะช่วยลดความเสี่ยงเมื่อเปิดประตูมารับ – ส่งของนอกห้องได้ค่ะ ซึ่งทุกครั้งที่มีความจำเป็นต้องออกมาข้างนอก เช่น รับอาหาร ผู้ติดเชื้อต้องใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งนะคะ

Tips : อาจตั้งโต๊ะเล็กๆสำหรับวางเครื่องดื่ม อาหาร ขนมและยาส่งให้ผู้ติดเชื้อหน้าห้อง เพื่อลดการสัมผัสโดยตรง และฉีดสเปรย์แอลกอฮอลทุกครั้งที่รับ – ส่งของจากผู้ติดเชื้อค่ะ

บ้านที่มีห้องน้ำใช้ร่วมกันใน 1 ชั้น 

ส่วนใหญ่แล้วบ้านแต่ละหลังมักมีห้องน้ำอย่างน้อย 2 ห้องอยู่แล้วนะคะ ทำให้การทำ Home Isolation ที่บ้านสามารถลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อไปสู่สมาชิกในครอบครัวได้มาก ถ้าบ้านไหนมีห้องน้ำใกล้ห้องนอนห้องเดียว ให้แยกกักตัวผู้ติดเชื้อในห้องนอนและใช้ห้องน้ำห้องนั้นๆไปเลย

เช่น ผู้ติดเชื้อ Home Isolation อยู่ชั้น 2 ให้ใช้ห้องน้ำที่ชั้น 2 ส่วนสมาชิกคนอื่นๆ ให้ใช้ห้องน้ำที่ชั้น 1 แทนค่ะ และให้ผู้ติดเชื้อเดินออกมาเข้าห้องน้ำในเวลาที่ไม่ตรงกับมีคนอื่นๆ เดินผ่านบริเวณนั้นนะคะ

ห้องพักอาศัยที่มีพื้นที่แยกส่วน แต่มีห้องน้ำใช้ร่วมกัน

สำหรับคนที่อยู่ในห้องพักอาศัยไม่ว่าจะเเป็นคอนโดมิเนียม อะพาร์ตเมนต์ ห้องเช่าที่มีห้องแยกสัดส่วนชัดเจน เช่น 1 Bedroom, 1 Bedroom Plus ก็ไม่ต้องกังวลค่ะ เนื่องจากสามารถแยกห้องนอนจากกันได้ ควรจัดพื้นที่ให้ผู้ติดเชื้อนอน 1 ห้อง (ด้านในไม่ต้องผ่านทางเข้า – ออก) ส่วนห้องน้ำถ้าเป็นไปได้เพื่อลดความเสี่ยงให้ได้มากที่สุดผู้ที่อยู่อาศัยร่วมด้วยควรใช้ห้องน้ำในพื้นที่ส่วนกลางแทน แต่ถ้าไม่มีห้องน้ำส่วนกลางให้ใช้ การเข้าห้องน้ำต้องปฎิบัติ ดังนี้ค่ะ

การใช้ห้องน้ำร่วมกันของผู้ติดเชื้อโควิด-19

  • ควรให้สมาชิกภายในบ้านเข้าห้องน้ำก่อน และผู้ติดเชื้อเข้าห้องน้ำเป็นคนสุดท้าย
  • ผู้ติดเชื้อต้องล้างห้องน้ำเองทุกครั้งหลังการใช้งาน ด้วยน้ำยาล้างห้องน้ำ หรือ ผ้าชุบน้ำยาฟอกขาวความเข้มข้น 0.1% หรือแอลกอฮอล์ 70% หรือไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 0.5%
  • ผู้ติดเชื้อควรปิดฝาชักโครกทุกครั้งก่อนกด เพื่อกันการฟุ้งกระจาย
  • ทุกคนควรล้างมือหลังจากการเข้าห้องน้ำทุกครั้ง

ถ้าทำได้จะทำให้ความเสี่ยงในกรแพร่เชื้ออยู่ในระดับต่ำ แต่ถ้าไม่สามารถทำได้ความเสี่ยงในการแพร่เชื้ออาจเพิ่มขึ้นตามลำดับค่ะ

ห้องพักอาศัยที่ไม่มีพื้นที่แยกเป็นสัดส่วน

สำหรับคนที่อยู่ในห้องพักอาศัยที่ไม่ได้มีพื้นที่กั้นห้องแยกเป็นสัดส่วนชัดเจน เช่น ห้อง Studio เป็นต้น มีข้อแนะนำในการปฎิบัติ ดังนี้

ข้อปฎิบัติเมื่อต้องอยู่ร่วมกันกับผู้ติดเชื้อโควิด – 19

  • เว้นระยะห่างจากผู้ทำ Home Isolation อย่างน้อย 1 – 2 เมตร
  • ทำฉากกั้น มุ้ง หรือเต็นท์ เพื่อแยกสัดส่วนระหว่างผู้ทำ Home Isolation  และสมาชิกคนอื่นๆในบ้านให้ชัดเจน
  • จัดห้องให้โปร่ง เปิดหน้าต่างระบายอากาศให้ได้มากที่สุด และมีแสงสว่างเพียงพอ
  • ทุกคนต้องสวนแมสตลอดเวลาถ้าทำได้ เมื่อต้องรับประทานอาหารให้สลับกันทาน โดยผู้ติดเชื้อไม่ถอดหน้ากากอนามัยตรงกับสมาชิกคนอื่นๆ
  • เมื่อเข้าห้องน้ำ ให้ปฏิบัติตามวิธีการใช้ห้องน้ำร่วมกันของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ด้านบน หรือเพื่อความมั่นใจ ให้จัดห้องน้ำเฉพาะกิจสำหรับผู้ติดเชื้อเพื่อลดความเสี่ยงค่ะ

ห้องน้ำเฉพาะกิจสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด – 19 

สำหรับบ้านไหนที่มีห้องน้ำห้องเดียว แต่มีสมาชิกภายในบ้านอยู่กันหลายคน เราสามารถทำห้องน้ำ DIY ขึ้นมาเพื่อรองรับการใช้งานของผู้ทำ Home Isolation ได้ ลดการใช้งานร่วมกันให้มากที่สุด ก็จะมั่นใจได้ในระดับนึงถึงความปลอดภัยของคนในครอบครัวค่ะ และลดให้ผู้ติดเชื้อต้องล้างห้องน้ำบ่อยๆด้วย

ห้องน้ำผู้ติดเชื้อเราแนะนำให้หาฉากกั้นที่ทำได้ง่ายๆ สะดวกในการเคลื่อนย้าย ยกตัวอย่างเช่น เต็นท์สำหรับเปลี่ยนเสื้อผ้าพับเก็บได้ ซึ่งมีขายอยู่ตามร้านค้าออนไลน์ ในราคาประมาณ 400 – 1,500 บาท ใช้ร่วมกับกระโถน และถุงขยะติดเชื้อ หรือถุงขยะทั่วไปที่แยกจากขยะอื่นๆภายในบ้านค่ะ รวมๆแล้วค่าใช้จ่ายขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ที่เราเลือกใช้ได้เลยค่ะ ส่วนขั้นตอนต่อไปเราไปดูกันว่าจะต้องทิ้งขยะติดเชื้ออย่างไรบ้างค่ะ

การทิ้งขยะติดเชื้อ

การทิ้งขยะติดเชื้อไม่ว่าจะเป็นสิ่งปฏิกูลจากห้องน้ำ หรือขยะทั่วไปควรแยกเอาไว้ และต้องกำจัดให้ถูกวิธี เพื่อไม่ให้แพร่เชื้อไปสู่คนอื่นๆในสังคม ไม่ว่าจะเป็นผู้เก็บขยะ หรือคนที่ในบ้านเองนะคะ

ขยะติดเชื้อมีอะไรบ้าง

  • กระดาษทิชชู
  • หน้ากากอนามัย
  • ชุดตรวจแอนติเจนแบบเร็ว (Antigen Test Kit)
  • ภาชนะใส่อาหารและช้อนส้อมพลาสติก (แบบใช้ครั้งเดียว)
  • ขวดน้ำดื่ม หรือหลอดดูดน้ำพลาสติก (แบบใช้ครั้งเดียว)

การเก็บขยะติดเชื้อควรทำเป็นประจำทุกวัน โดยทิ้งขยะในถุงพลาสติก 2 ชั้น โดยใช้ถุงแดงหรือเขียนข้อความ “ขยะติดเชื้อ” ให้เห็นชัดเจน ถุงชั้นแรกมัดปากถุงด้วยเชือกให้แน่น เช็ดปากถุงด้วยสารฆ่าเชื้อ จากนั้นใส่ในถุงอีกชั้นมัดปากถุงให้แน่นแล้วเช็ดด้วยสารฆ่าเชื้ออีกครั้งค่ะ

–  หากแยกกักตัวร่วมกับผู้ที่ไม่ติดเชื้อ ให้ผู้ที่ไม่ติดเชื้อเป็นผู้นำไปทิ้ง
–  หากแยกกักตัวคนเดียวหรืออยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อ ควรนำไปทิ้งในเวลาที่ไม่พลุกพล่าน หรือเจอคนน้อยที่สุด

มีวิธีการทิ้งขยะให้เลือก 3 วิธี เลือกวิธีใดวิธีหนึ่งก็ได้ ดังนี้

  • วิธีที่ 1 ทิ้งขยะใส่ถุงแดง และทิ้งในจุดรับขยะติดเชื้อ

ถุงแดงหรือถุงขยะติดเชื้อ สามารถหาซื้อได้ตามห้างหรือร้านค้าออนไลน์นะคะ แต่ถ้าใครไม่สะดวก สามารถใส่ถุงขยะทั่วไปและเขียนกำกับให้ชัดเจนว่าขยะติดเชื้อ ที่สำคัญอยู่ที่การทิ้งให้ถูกวิธีค่ะ บ้านใครใกล้กับโรงพยาบาล สามารถนำไปทิ้งที่โรงพยาบาลได้ เพราะทางโรงพยาบาลจะมีจุดรับขยะติดเชื้อและนำไปกำจัดให้ถูกต้องค่ะ 

คนที่นำขยะไปทิ้งให้สวมหน้ากากอนามัย 2 ชั้น สวมถุงมือยาง หรือใช้ถุงพลาสติกจับถุงขยะ ภายหลังจัดการขยะติดเชื้อแล้ว ต้องล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำหรือแอลกอฮอล์เจลทันทีค่ะ

  • วิธีที่ 2 การทิ้งรวมกับขยะทั่วไป

สำหรับคนที่ไม่สะดวกนำไปทิ้งที่จุดขยะติดเชื้อ จะต้องแยกขยะใส่ถุงไว้ให้ครบ 72 ชั่วโมง หรือ 3 วัน เต็ม จึงจะสามารถทิ้งรวมกับขยะทั่วไปอื่นๆได้เลยค่ะ ที่มา

  • วิธีที่ 3 เผาทำลายขยะ

ใครที่ไม่สะดวกหรือมีพื้นที่ในการรอระยะเวลาให้ครบ 72 ชั่วโมง สามารถกำจัดขยะได้อีกวิธีหนึ่งคือการเผาทำลายค่ะ ทำให้เชื้อโรคไม่แพร่กระจายต่อไป แต่วิธีนี้ก็จะแลกกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสักหน่อยนะคะ อีกทั้งยังต้องมีพื้นที่ในการเผาด้วย ซึ่งถ้าเป็นไปได้ เราแนะนำให้ทำตามวิธีที่ 1 จะดีที่สุดค่ะ

ต้อง Home Isolation กี่วัน ?

เมื่อทำ Home Isolation ครบ 14 วันโดยไม่มีอาการแย่ลง ก็ยินดีด้วยนะคะ ถือว่าผู้ติดเชื้อหายดีแล้วค่ะ แต่อย่างไรก็ตามควรระมัดระวังตัวอย่างเคร่งครัดเช่นเดิม เพราะเชื้อโควิด – 19 สายฟันธุ์เดลต้า สามารถติดซ้ำได้ ผู้ป่วยที่หายแล้วอาจมีภูมิคุ้มกันอยู่ได้ไม่นานนะ

สำหรับคนที่กักตัวครบ 14 วันแล้วไม่จำเป็นต้องตรวจเชื้อซ้ำด้วย Antigen Test Kit แล้วนะคะเพราะมีโอกาสให้ผลเป็นบวกได้มาก หมายถึงเจอเชื้อในตัวแต่ไม่สามารถแพร่ได้แล้ว แต่ถ้าอยากมั่นใจให้ตรวจด้วยวิธี RT-PCR เพื่อยืนยันผล CT ratio โดยแพทย์วินิจฉัยความเข้มข้นของเชื้อน้อยก็ถือว่าไม่สามารถแพร่เชื้อได้แล้วค่ะ

สุดท้ายนี้ของให้ทุกท่านดูแลสุขภาพ และปลอดภัยจากเชื้อ Covid – 19 กันทุกคนนะคะ

เกร็ดความรู้ : การตรวจ Covid – 19 แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

การตรวจ แบบ RT-PCR (Real Time Polymerase Chain Reaction) เป็นการตรวจหาเชื้อที่เป็นมาตรฐานที่สุด ผลสามารถเชื่อถือได้สูง ที่ใช้ตรวจกันตามโรงพยาบาลนั่นเองค่ะ การตรวจแบบ RT-PCR จะทำโดยวิธี Swab เข้าด้านในโพรงจมูกหรือลำคอ แต่ในแต่ละโรงพยาบาลมักมีข้อจำกัดในการตรวจจำนวนมาก ขึ้นอยู่กับเครื่องมือ อุปกรณ์ และเจ้าหน้าที่ในการตรวจทำให้ตรวจได้ไม่มากในแต่ละวัน และผู้ตรวจจะมีค่าใช้จ่ายในการตรวจประมาณ 2,500 – 5,000 บาท/ครั้ง

ข้อดี : ผลแม่นยำสูงเชื่อถือได้ โรงพยาบาลให้การยอมรับ
ข้อเสีย : ใช้เวลาในการหาผลนาน มักมีระยะเวลารอคอยผลตรวจ 1 – 2 วัน ต้องรอคิวในการตรวจ และมีค่าใช้จ่ายในการตรวจสูง

การตรวจแบบ Rapid test เป็นการตรวจที่มีความเร็วมากขึ้น ทำให้สามารถรู้ผลได้รวดเร็ว ภายในเวลาประมาณ 15 – 90 นาที และช่วยให้ผู้ป่วยรู้ตัวได้เร็ว ช่วยลดการแพร่เชื้อต่อได้ สามารถแบ่งได้เป็น 3 แบบ ดังนี้

  • การตรวจ Rapid – PCR ตรวจโดยการ Swab เข้าด้านในโพรงจมูก และส่งเข้าห้องแล็บ หรือโรงพยาบาล ต้องใช้เครื่องมือในการแปรผล ไม่สามารถตรวจที่บ้านได้ ใช้เวลาในการตรวจประมาณ 30 – 90 นาที
  • การตรวจ Rapid – Antigen Test (ATK) เป็นการตรวจที่แพร่หลายมากขึ้นในประเทศไทย ซึ่งเราจะเห็นชุดตรวจแบบนี้ขายตามร้านขายยากันหลายแห่งแล้วค่ะ (ควรเลือกที่ผ่าน อย.เท่านั้นนะคะ) การตรวจแบบนี้เรียกกันสั้นๆว่า Home Test สามารถตรวจได้เองที่บ้าน และมีวิธีการเก็บตัวอย่างได้หลายวิธีตามแต่ละยี่ห้อ เช่น Swab เข้าด้านในโพรงจมูก, Swab ด้านหน้าโพรงจมูก หรือใช้น้ำลาย ใช้เวลาประมาณ 15 – 30 นาที แต่ผลอาจไม่ 100% นะคะ ควรตรวจ 3 ครั้งภายใน 1 สัปดาห์ เพื่อความมั่นใจเทียบเท่ากับการตรวจ RT-PCR 1 ครั้ง (ระหว่างสัปดาห์ห้ามเสี่ยงเพิ่มเติม ไม่เช่นนั้นต้องนับ 1 ใหม่ค่ะ)

ข้อควรระวัง ในการตรวจ Rapid – Antigen Test (ATK)
ผลบวกลวง : ไม่ได้ติดเชื้อแต่ผลแสดงเป็นบวกจากการติดเชื้อที่ใกล้เคียงกัน หรืออ่านผลไม่ตรงตามเวลาที่กำหนด แต่เกิดขึ้นได้น้อย
ผลลบลวง : เกิดจากการเก็บตัวอย่างไม่ถูกต้อง ไม่โดนจุดที่มีเชื้อ หรือมีเชื้อแล้วแต่ไม่มากพอจนตรวจพบ

รายชื่อห้องปฏิบัติการ/คลินิกเทคนิคการแพทย์ที่เปิดให้บริการตรวจโควิด 19 ด้วย Antigen Test Kit คลิก >> https://mtc-hotline-labs.web.app
รายชื่อชุดตรวจและน้ำยาสำหรับโควิด 19 (COVID-19) ที่ได้รับการอนุญาตผลิตและนำเข้า  คลิก >>  สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

  • การตรวจ Rapid – Antibody Test เป็นการใช้ตรวจภูมิคุ้มกันจากเลือด แต่การตรวจแบบนี้ในปัจจุบันยังไม่อนุญาตให้ใช้ตรวจเองที่บ้านนะคะ เพราะผลอาจเกิดการบวกลวงและลบลวงได้มาก (ไม่สามารถระบุได้ว่าติดเชื้ออยู่หรือไม่ ณ ปัจจุบัน) ต้องแปรผลคู่กับประวัติและอาการของผู้ติดเชื้อค่ะ

ข้อควรระวัง ในการตรวจ Rapid – Antibody Test
ผลบวก อาจเกิดขึ้นจาก คนที่เคยติดเชื้อปัจจุบันหายแล้ว, คนที่เคยได้รับวัคซีน, คนที่กำลังติดเชื้อสามารถแพร่ระบาดได้
ผลลบ
 อาจเกิดขึ้นจาก คนที่ไม่เคยติดเชื้อ, คนที่ติดเชื้อใหม่ๆร่างกายยังไม่สร้างภูมิคุ้มกัน, คนที่กำลังติดเชื้ออยู่แต่ร่างกายไม่สร้างภูมิ


 

ขอขอบคุณแหล่งอ้างอิงต่อไปนี้