“…กล้อง CCTV (หรือ Closed-Circuit Television) เป็นระบบรักษาความปลอดภัยที่ถูกคิดค้นโดยวิศวกรชาวรัสเซีย เพื่อใช้เฝ้าระวังภัยในค่ายทหาร ตั้งแต่ พ.ศ. 2470 (หรือสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2) ซึ่งก็เป็นเวลาที่ผ่านมากว่า 93 ปีแล้วครับ…”

ปัจจุบัน “กล้องวงจรปิด” ถือเป็นอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งไม่ใช่แค่สถานที่สำคัญต่างๆเท่านั้น แต่รวมถึงสถานที่ใกล้ตัวของเราอย่าง “บ้าน” ก็ต้องการความปลอดภัยด้วยเช่นกัน เพราะนอกจากจะเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยเป็นหูเป็นตา และคอยเตือนภัยในเวลาที่เราไม่อยู่บ้านแล้ว ภาพจากกล้องวงจรปิดยังสามารถใช้เป็นหลักฐาน เวลาเกิดคดีความต่างๆได้อีกด้วย

สมัยนี้กล้องวงจรปิดมีเทคโนโลยีใหม่ๆเพิ่มเข้ามา ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวก และดูแลความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินได้มากขึ้น โดยกล้องวงจรปิดในท้องตลาดจะสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ

  1. Analog Camera (แบบเดินสาย)
  2. IP Camera (แบบเดินสาย)
  3. IP Camera (แบบไร้สาย)

ซึ่งกล้องทั้ง 3 ประเภทนี้ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิธีการติดตั้ง คุณภาพและความคมชัดของภาพที่ได้ และฟังก์ชันเทคโนโลยี ซึ่งจะมีข้อดี-ข้อเสียต่างๆ ดังนี้

Analog Camera (แบบเดินสาย)

เป็นกล้องวงจรปิดระบบแรกที่ถูกคิดค้นขึ้น ทำงานด้วยการรับ-ส่งข้อมูลภาพด้วยสายสัญญาณ (Coax cable) เชื่อมต่อจากตัวกล้องไปบันทึกเก็บไว้ในเครื่องบันทึกวิดีโอ Digital Video Recorder (DVR) ซึ่งวิธีนี้คุณภาพสัญญาณจะมีความเสถียรมากที่สุด

เพราะสายไฟแต่ละเส้นจะมีวัสดุห่อหุ้มอยู่ โอกาสที่จะมีคลื่นอื่นๆรบกวนจึงเกิดขึ้นได้ยาก  แต่หากเราต้องการดูภาพเหตุการณ์ปัจจุบันหรือย้อนหลัง ก็จำเป็นต้องมาดูที่หน้าจอ Monitor หรือมาโหลดไฟล์ภาพจากเครื่องบันทึกโดยตรงนะครับ ไม่สามารถดูผ่านโทรศัพท์มือถือได้แบบ Real Time เหมือนกล้อง IP Camera

และโดยส่วนใหญ่กล้องชนิดนี้จะเป็นประเภท Bullet ซึ่งสามารถใช้งานภายนอกได้ดี มีความแข็งแรงทนทาน และกันฝุ่น/กันน้ำได้ แต่จะมีขนาดที่ใหญ่เทอะทะอยู่สักหน่อย แถมยังมีการเดินสายบนผนังแบบนี้ด้วย ก็อาจไม่ตอบโจทย์คนที่ต้องการความเรียบร้อย/สวยงามเท่าไหร่นัก แถมกรณีที่ต้องการเปลี่ยนตำแหน่งการติดตั้งแต่ละครั้ง ก็จำเป็นต้องเดินสายไฟใหม่ทั้งหมดอีกด้วย

แต่ก็จะมีข้อดีคือ วิธีนี้จะง่ายต่อการตรวจเช็คอุปกรณ์การชำรุดต่างๆ เพราะสายไฟจะเดินอยู่ตามผนัง และไปรวมกันอยู่ที่จุดควบคุมเพียงจุดเดียว โดยสายไฟหรือสายสัญญาณเหล่านี้ ผมแนะนำให้เดินสายแบบร้อยผ่านท่อ เพื่อยืดอายุการใช้งานจากสภาพอากาศ ป้องกันสัตว์ต่างๆมากัดแทะ และลดค่าบำรุงรักษาในอนาคตได้นั่นเองครับ


IP Camera หรือ Internet Protocol Surveillance Camera (แบบไร้สาย)

เป็นกล้องที่นิยมมากที่สุดในปัจจุบัน เพราะมีฟังก์ชันที่หลากหลาย แถมยังติดตั้งเองได้ง่าย ทำงานรับ-ส่งข้อมูลด้วยสัญญาณ Wi-Fi ผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ซึ่งสามารถเชื่อมต่อและดูภาพจากกล้องแบบ Real Time ผ่านโทรศัพท์มือถือได้ทุกที่ทุกเวลา โดยคุณภาพสัญญาณจะเสถียรหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับสิ่งรบกวนสัญญาณจากภายนอก เช่น ความหนาของผนังบ้าน คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นต้น

รวมถึงมีการสำรองข้อมูลลงใน Network Video Recorder (NVR) ของระบบปฏิบัติการต่างๆได้ ซึ่งยากต่อการขโมย/ดัก/เปลี่ยนแปลงข้อมูล หรือ Hacker ครับ เพราะข้อมูลวิดีโอแบบ Digital Stream สามารถบันทึกและใช้งานร่วมกับระบบปฏิบัติการอื่นๆได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น Cloud, Windows, iOS และ Android สมมุติว่ามีโจรเข้ามาในบ้าน ระบบก็จะถ่ายภาพและแจ้งเตือนเข้าสู่โทรศัพท์ของเราทันที (ไวกว่าโจรจะขโมยของ/ทำลาย/แฮกกล้องซะอีกครับ)

และโดยส่วนใหญ่ IP Camera จะเป็นกล้องประเภท Dome ที่มักใช้ภายในอาคาร (Indoor) มีความสวยงาม ทันสมัย และไม่เด่นสะดุดตาจนเกินไป ซึ่งวิธีการติดตั้งก็จำเป็นจะต้องมีปลั๊กไฟเพื่อเสียบใช้งานด้วยนะครับ (ต่างจากแบบเดินสาย ที่ไฟฟ้าจะมาตามสายสัญญาณได้เลย)

นอกจากนี้ยังมาพร้อมกับฟังก์ชันเทคโนโลยีที่มากกว่า Analog Camera แบบเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความคมชัดของภาพแบบ Full HD ไปจนถึง 4K ระบบสื่อสารผ่านกล้อง ระบบอินฟราเรด ระบบตรวจจับความเคลื่อนไหวและแจ้งเตือนผ่าน Application รวมถึงเรายังสามารถควบคุมทิศทางของกล้องผ่านโทรศัพท์มือถือได้ เป็นต้น


IP Camera (แบบเดินสาย)

เป็นลูกผสมระหว่างกล้อง Analog Camera และ IP Camera แบบไร้สาย โดยกล้องชนิดนี้จะเชื่อมต่อด้วยสาย LAN แทนการส่งสัญญาณผ่านสายเคเบิลแบบปกติ ซึ่งนอกจากจะมีความเสถียรที่สูงเหมือนกับ Analog Camera แล้ว ยังมีความคมชัดและความละเอียดสูงเทียบเท่ากล้อง IP Camera อีกด้วยครับ

นอกจากนี้ยังมีฟังก์ชันเทคโนโลยี และควบคุมผ่านโทรศัพท์มือถือได้เหมือนกับ IP Camera เลยครับ เพราะสาย LAN จะเชื่อมต่อเข้ากับเครือข่ายอินเตอร์เน็ต และจะแปลงข้อมูลเป็น Digital Stream สำรองลงในเครื่องบันทึกวิดีโอ Network Video Recorder (NVR) ของระบบปฏิบัติการต่างๆได้นั่นเอง

ตารางสรุปข้อดี-ข้อเสีย และจุดเด่นต่างๆ ของกล้องทั้ง 3 ประเภท

กล้องแต่ละประเภทมีความเหมาะสมในการใช้งานที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าเราจะนำไปใช้ในสถานการณ์แบบไหน ต้องการความคมชัดเท่าไหร่ หรืออยากได้ฟังก์ชันอะไรบ้าง ซึ่งนอกจากนี้ก็ยังมีหลักพิจารณาอื่นๆในการเลือกอีก คือ

  • มุมกล้องและความกว้างของเลนส์
  • ค่ามาตรฐาน IP Standard
  • การดูแลรักษากล้อง
  • ฟังก์ชันและเทคโนโลยีที่ต้องการ

เลนส์แบ่งออกเป็น 3 ชนิด

  1. Fix Lens : เป็นเลนส์ที่ไม่สามารถปรับระยะโฟกัสของภาพได้ (มีความยาวโฟกัสคงที่)
  2. Auto Iris Lens : เป็นเลนส์ที่สามารถปรับความยาวโฟกัส ปรับการรับแสงได้อัตโนมัติ และสามารถปรับระยะเลนส์ได้ตามขนาดที่กำหนดของเลนส์
  3. Vari Focal Lens : เป็นเลนส์ที่สามารถปรับโฟกัสและซูมเข้า-ซูมออกได้

ข้อจำกัดของเลนส์

  1. เลนส์ที่รับภาพได้กว้างๆ : จะมีระยะโฟกัสที่ใกล้ ทำให้ภาพที่อยู่ไกลเกินระยะจะไม่ค่อยชัด และยิ่งเป็นเลนส์ที่กว้างมากเท่าไหร่ ภาพที่ได้ก็จะมีความโค้งมนตามลักษณะของเลนส์ไปด้วยครับ
  2. เลนส์ที่รับภาพได้แคบๆ : จะมีระยะโฟกัสที่ไกล แต่ก็อาจทำให้ภาพที่อยู่ในระยะใกล้เกินไปจะไม่ค่อยชัดไปด้วย

การเลือกใช้งานตามขนาดของเลนส์

  1. เลนส์ขนาด 2.8 mm. เป็นเลนส์มุมกว้างมาก เหมาะสำหรับติดตั้งภายในลิฟต์ หรือหน้าบ้าน
  2. เลนส์ขนาด 3.6 mm. และ 4 mm. เหมาะสำหรับต้องการเห็นบริเวณโดยรอบ เช่น ภายในห้องทั่วไป ออฟฟิศ
  3. เลนส์ขนาด 6 mm. และ 8 mm เป็นเลนส์มุมแคบ เหมาะสำหรับ ทางเดินหอพัก คอนโด อพาร์ตเมนต์
  4. เลนส์ขนาด 12 mm. ขึ้นไปใช้สำหรับมองในระยะไกล หรือ ต้องการโฟกัสสิ่งของสำคัญเป็นจุด

ยกตัวอย่างการติดตั้งภายใน (บ้าน/ทาวน์โฮม)

  1. หาตำแหน่งที่จะติดตั้ง ควรเป็นจุดที่สามารถมองเห็นพื้นที่ในห้อง หรือในชั้นนั้นๆได้ทั้งหมด
  2. วัดระยะความกว้าง โดยนับจากจุดที่ติดตั้งกล้อง ไปยังอีกด้านหนึ่งของห้อง ตามทิศทางที่กล้องนั้นๆหันไป เพื่อกำหนดขนาดของเลนส์ที่ควรจะใช้

ซึ่งถ้าเป็นระยะ 3 – 4 m. หรือเป็นการติดตั้งในห้องใดห้องหนึ่ง ก็เหมาะจะใช้เลนส์กว้างที่มีระยะโฟกัสไม่ไกลมาก แต่สามารถจับภาพได้ทั่วห้องเพียงตัวเดียว แต่ถ้าเป็นบ้านที่มีความลึกค่อนข้างเยอะ 6 – 10 m. แล้วอยากถ่ายให้เห็นจากหน้าบ้านถึงหลังบ้าน ก็อาจต้องใช้เป็นเลนส์แคบที่มีระยะโฟกัสไกลๆครับ

ยกตัวอย่างการติดตั้งภายนอก (บ้าน/ทาวน์โฮม)

  1. สำหรับพื้นที่ข้างบ้านและหลังบ้าน ซึ่งมีความลึกและแคบเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็เหมาะจะติดเป็นเลนส์แคบที่มีระยะโฟกัสได้ไกลครับ
  2. สำหรับพื้นที่หน้าบ้าน ที่มีความลึกที่ประมาณ 5 – 6 m. จะเหมาะกับเลนส์กว้าง เพื่อที่จะสามารถถ่ายเห็นรถของเราที่จอดหน้าบ้านได้ทั้งหมด แต่กล้องก็อาจจับภาพที่อยู่นอกเขตประตูรั้วได้ไม่ชัดนัก (ถ้าเกินระยะโฟกัส) ซึ่งถ้าใครที่ต้องการสอดส่องดูแลความปลอดภัยเพิ่ม เช่น อยากให้เห็นหน้าคนที่มาหาหน้าบ้านได้ชัดๆ หรือเห็นป้ายทะเบียนรถที่มาจอดหน้าประตู ก็สามารถติดตั้งกล้องบริเวณรั้วประตูเพิ่มอีกสักตัวได้นะครับ
  3. สังเกตค่า IP Standard ของตัวกล้อง ยิ่งตัวเลขมีค่ามาก ก็ยิ่งทนทาน และกันน้ำ/กันฝุ่นได้ดี เหมาะสำหรับใช้งานภายนอก

ค่า IP Standard คืออะไร?

International Protection Standard คือ มาตรฐานที่บอกถึงระดับการป้องกันน้ำและฝุ่นของเครื่องจักร หรืออุปกรณ์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นตัวเลขสองหลักที่จะตามหลังตัวอักษร I และ P ยิ่งตัวเลขมีค่ามากเท่าไหร่ ก็ยิ่งสามารถป้องกันน้ำและฝุ่นได้ดีมากขึ้นเท่านั้น

  • ตัวเลขหลักที่ 1 การป้องกันของแข็ง
    0 = ไม่ป้องกันอะไรเลย
    1 = สามารถป้องกันของแข็งที่มีขนาดไม่เกิน 50 มิลลิเมตร เช่น การเผลอไปจับตัวกล้องด้วยมือ
    2 = สามารถป้องกันของแข็งที่มีขนาดไม่เกิน 12 มิลลิเมตร เช่น เผลอแตะด้วยนิ้ว
    3 = สามารถป้องกันของแข็งที่มีตั้งแต่ 2.5 มิลลิเมตรขึ้นไป เช่น เครื่องมือ สายไฟ
    4 = สามารถป้องกันของแข็งที่มีตั้งแต่ 1 มิลลิเมตรขึ้นไป เช่น เครื่องมือ สายไฟ และสายไฟขนาดเล็ก
    5 = สามารถป้องกันฝุ่นได้ในระดับหนึ่ง
    6 = สามารถป้องกันฝุ่นได้


  • ตัวเลขหลักที่ 2 การป้องกันของเหลว
    0 = ไม่ป้องกันอะไรเลย
    1 = สามารถป้องกันน้ำหยดใส่ได้ เช่น หยดน้ำที่เกิดจากความชื้น
    2 = สามารถป้องกันละอองน้ำที่เข้ามาในมุมไม่เกิน 15 องศาจากแนวตั้ง
    3 = สามารถป้องกันละอองน้ำที่เข้ามาในมุมไม่เกิน 60 องศาจากแนวตั้ง
    4 = สามารถป้องกันละอองน้ำได้จากทุกทิศทาง
    5 = สามารถป้องกันน้ำได้ในระดับหนึ่ง
    6 = สามารถเปียกน้ำได้แต่ไม่นาน เช่น โดนฝน
    7 = สามารถจุ่มน้ำได้ที่ความลึกตั้งแต่ 15 เซนติเมตร ถึง 1 เมตร
    8 = สามารถใช้งานใต้น้ำได้

การดูแลรักษากล้องวงจรปิด

  1. หมั่นเช็ดฝุ่นและทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะบริเวณหน้าเลนส์กล้อง เพื่อความคมชัดของภาพ และไม่มีสิ่งสกปรกมาขวางทัศนียภาพของกล้อง
  2. ตรวจเช็คมุมกล้อง ว่ายังอยู่ในองศาที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะบางครั้งก็อาจมีสัตว์ต่างๆมาชน แล้วทำให้ทิศทางของกล้องเปลี่ยนองศาไปได้ครับ (ถ้าเป็นกล้องแบบ Analog เราอาจต้องใช้วิธีขยับด้วยมือ ส่วนถ้าเป็นกล้องแบบ IP Camera ที่ควบคุมด้วยโทรศัพท์มือถือได้ ก็จะสะดวกกว่าหน่อย)
  3. สำหรับกล้องแบบ Analog Camera จะต้องเช็คสายสัญญาณให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานอยู่เสมอ ไม่มีจุดไหนขาดหรือชำรุด เพราะจะส่งผลต่อความเสถียรและความคมชัดของภาพ
  4. ติดตั้งอุปกรณ์ UPS ซึ่งเป็นเครื่องจ่ายไฟฟ้าสำรอง เผื่อในกรณีที่ไฟดับหรือไฟตก กล้องวงจรปิดก็ยังสามารถทำงานต่อไปได้ และยังช่วยยืดอายุการทำงานของอุปกรณ์ได้อีกด้วย

โดยถ้าเป็นกล้องแบบ Analog Camera ก็สามารถติดตั้งที่จุดควบคุม ตรงเครื่องบันทึกวิดีโอ (DVR) แค่จุดเดียวได้เลยครับ ส่วน IP Camera จะมี 3 จุดที่อาจต้องติดตั้งคือ 1. ตัวกล้อง (อาจเลือกเป็นเฉพาะจุดที่ต้องการ หรือจะติดหมดทุกตัวเลยก็ได้) 2. เครื่องบันทึกวิดีโอ และ 3. Wifi Router สำหรับกรณีที่ต้องการดูภาพจากกล้อง หรือควบคุมบนมือถือจากระยะไกลได้อยู่ แม้ว่าไฟจะดับก็ตามครับ

ตัวอย่างกล้องวงจรปิดที่มีขายในท้องตลาด จะเห็นว่าแต่ละแบรนด์แต่ละรุ่น ก็จะมีฟังก์ชันและเทคโนโลยีที่ต่างกันออกไป ซึ่งปัจจุบันก็มีราคาที่จับต้องได้ไม่ยากครับ โดยแบรนด์ที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันบ่อยๆ เช่น Xiaomi, VStarcam, EZVIZ, Watashi และ Fujiko เป็นต้น

ซึ่งถ้าใครที่ต้องการจะติดตั้งกล้องวงจรปิดที่บ้านอยู่ล่ะก็ สามารถใช้ข้อมูลจากบทความนี้ที่ผมได้รวบรวมมาให้ เป็นหลักพิจารณาในการเลือกกล้องกันได้นะครับ ไม่ว่าจะเป็นจุดเด่นของกล้องแต่ละชนิด บุคลิกลักษณะของเลนส์ วิธีการติดตั้ง ตำแหน่งที่เหมาะสม และฟังก์ชันต่างๆ หวังว่าจะช่วยให้ทุกคนตัดสินใจกันได้ง่ายขึ้นนะครับ

และสำหรับบทความครั้งต่อไป Think of Living จะมีหัวข้ออะไรที่น่าสนใจมาฝากกันอีก ก็อย่าลืมติดตามกันด้วยนะ


ThinkofLiving มี LINE Official Account แล้วนะ
ไม่อยากพลาดข้อมูลข่าวสารก็ Add เลย > https://lin.ee/svACOxc