“ต่อเติมครัวหลังบ้าน…” งานยอดฮิตทั้งสำหรับคนที่เพิ่งจะซื้อบ้านใหม่ แต่ฟังก์ชันยังไม่ตอบโจทย์ หรือคนที่อยู่บ้านเดิมมานานแล้วอยากปรับเปลี่ยน รีโนเวทขยายพื้นที่ใช้สอยในบ้าน การต่อเติมครัวจึงเป็นงานก่อสร้างที่หลายคนเลือกทำเป็นอันดับแรกๆ เพราะ “ครัว” ถือเป็นหัวใจหลักของบ้านที่ใช้งานทุกวัน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะทราบว่าควรเริ่มต้นยังไง เตรียมงบเท่าไร แค่กั้นห้อง ติดหลังคา ปูกระเบื้อง ทำไมต้องจ่ายหลักแสน..? และบางครั้งก็ไม่ได้จ่ายจบในครั้งเดียวด้วย วันนี้ Think of Living เลยอยากมาแชร์ข้อมูลให้กับทุกคน ก่อนตัดสินใจหรือวางแผนเตรียมงบในอนาคตได้ โดยเราจะขอแบ่งเป็น “3 เรื่องต้องรู้ก่อนต่อเติมครัวหลังบ้าน” ดังนี้ค่ะ
PART 1 : ก่อนต่อเติมครัวต้องรู้เรื่องกฎหมาย
กฎหมายเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามในการต่อเติมบ้าน เพราะการก่อสร้างอาคารไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ก็มีกฎหมายควบคุมทั้งหมด แม้จะเป็นพื้นที่ขนาดเล็กในบ้านของตัวเอง ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัย (ก่อสร้างถูกต้องได้มาตรฐาน) และความสงบสุขในการอยู่ร่วมกันของเพื่อนบ้าน (ไม่รุกล้ำพื้นที่กันและกัน) ซึ่งหากต่อเติมถูกต้องตามกฎหมายก็จะไม่มีปัญหาการทุบทิ้งให้เสียทั้งเงินและเวลาในภายหลัง โดยข้อกฎหมายที่บังคับใช้ยึดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เราสามารถสรุปออกมาได้เป็น 3 ข้อหลักๆดังนี้
- การต่อเติม เปลี่ยนเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง พื้นที่เกิน 5 ตร.ม. จะต้องขออนุญาตก่อสร้าง โดยปกติแล้วการต่อเติมครัวหลังบ้านก็เข้าข่ายการดัดแปลง รื้อถอนอาคาร ซึ่งพื้นที่ใช้สอยอย่างน้อยหากคำนวณจากทาวน์โฮมหน้ากว้าง 5.5 เมตร พื้นที่ว่างด้านหลังกว้าง 2 เมตร คิดเป็นพื้นที่ใช้สอยในการต่อเติมได้ 11 ตร.ม. จะต้องยื่นขออนุญาตอย่างแน่นอน
- ขอบเขตห้องครัว และระยะร่นทางกฎหมาย ปกติแล้วอาคารสูงไม่เกิน 9 เมตร จะต้องมีพื้นที่ว่างห่างจากเขตแนวที่ดินไม่น้อยกว่า 2 เมตร ในกรณีที่เป็นประตู , หน้าต่าง , ช่องแสง แต่หากเป็นผนังทึบสามารถเว้นได้ไม่น้อยกว่า 1 เมตร หรือ 50 เซนติเมตร แต่จะต้องได้รับเอกสารเซ็นยินยอมจากเพื่อนบ้าน เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดตามมาภายหลัง
- อาคารอยู่อาศัยต้องมีพื้นที่ว่างไม่น้อยกว่า 30% หากอยู่ในกรุงเทพฯ ยึดตามข้อบัญญัติกทม. ต้องมีพื้นที่ว่างไม่น้อยกว่า 30% ของที่ดิน แต่หากอยู่ต่างจังหวัดจะยึดตามกฎกระทรวง คิดเป็นไม่น้อยกว่า 30% ของพื้นที่ใช้สอยชั้นที่มากที่สุด ปกติบ้านเดี่ยวและบ้านแฝดจะไม่มีปัญหา แต่! ทาวน์โฮมที่มีขนาดที่ดินน้อยจะไม่สามารถต่อเติมครัวด้านหลังออกมาได้ = ผิดกฎหมาย นั่นเอง…
ยกตัวอย่าง : ทาวน์โฮมพื้นที่ใช้สอย 100 ตร.ม. ขนาดที่ดิน 16 ตร.วา
- ที่ดิน 16 ตร.วา = 64 ตร.ม. ต้องเหลือพื้นที่ว่างอย่างน้อย 30% = 19.2 ตร.ม.
- พื้นที่ใช้สอยชั้น 1 + ครัวต่อเติม ประมาณ 55 ตร.ม. = เหลือที่ว่างแค่ 9 ตร.ม. (ไม่ผ่านข้อกำหนด*)
พูดกันตามตรง…ทาวน์โฮมถือเป็นกลุ่มที่ต่อเติมพื้นที่ใช้สอยมากที่สุดโดยเฉพาะครัว มีให้เห็นแทบทุกหมู่บ้านจัดสรร ยิ่งที่ดินน้อยต่อเติมออกมานิดเดียวก็ผิดกฎหมายแล้ว แต่หากเราไม่มีปัญหาขัดอกขัดใจกับเพื่อนบ้าน ลุกลามจนต้องร้องเรียนกัน ก็ไม่ค่อยมีหน่วยงานไหนลงมาตรวจสอบเชิงรุกเท่าไรนะคะ ดังนั้นหากเรารู้ว่าจะต้องต่อเติมแน่ๆ ก็สามารถลดความเสี่ยงได้โดย
1) เว้นระยะห่างจากรั้วเท่าที่ทำได้ หรือไม่ใช้รั้วเดียวกันในการต่อเติม
2) เก็บงานให้เรียบร้อย จัดการรางระบายน้ำให้ดี
3) สำคัญที่สุดคือการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนบ้าน เพื่อให้สามารถใช้พื้นที่ร่วมกันได้แบบยั่งยืน 🙂
PART 2 : รู้ว่าโครงการให้โครงสร้างมาแบบไหน?
เป็นข้อมูลสำคัญที่เราต้องสอบถามกับโครงการ เพราะถือเป็นส่วนที่ทำให้สามารถคำนวณงบประมาณเบื้องต้นก่อนได้เลย ซึ่งแต่ละโครงการก็จะให้โครงสร้างมาแตกต่างกัน ระบบผนังส่วนใหญ่แบ่งเป็น 2 ระบบหลักๆคือ Precast และก่ออิฐฉาบปูน โครงสร้างพื้นหลังบ้านมีทั้ง พื้นคอนกรีตวางบนดิน (Slab on Ground) และพื้นคอนกรีตวางบนคาน (Slab on Beam) ที่ลงเข็มมาให้ ซึ่งแบบหลังก็จะแข็งแรงกว่า ช่วยลดปัญหาพื้นทรุดในอนาคตได้ดี และช่วยลดงบในการต่อเติมไปได้เยอะเลยค่ะ โดยการต่อเติมครัวหลังบ้านประกอบด้วยงานโครงสร้างที่สำคัญดังนี้
งานโครงสร้างพื้นและฐานราก
สำหรับคนที่ต่อเติมบนที่ดินเปล่า การเลือกระบบโครงสร้างพื้นก็ถือเป็นการเริ่มต้นที่สำคัญมาก ส่วนคนที่จะปรับปรุงต่อเติมเมื่อทราบโครงสร้างบ้านของตนเองแล้ว ก็จะช่วยให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ว่าจะต้องเปลี่ยนใหม่หรือใช้โครงสร้างเดิมได้เลย ไม่ต้องจ่ายเพิ่ม โดยทั่วไปตามท้องตลาดผู้รับเหมาจะเสนอโครงสร้าง 2 แบบ คือ
- โครงสร้างพื้นคอนกรีตวางบนดิน (Slab on Ground)
เป็นการวางโครงเหล็กและเทคอนกรีตลงที่พื้นโดยตรง ซึ่งในเรื่องความแข็งแรงอาจจะสู้แบบมีเสาเข็มไม่ได้ แต่สามารถทำได้ง่าย และมีค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่ามาก โดยโครงสร้างประเภทนี้จะเหมาะกับบ้านที่อยู่ในทำเลพื้นดินแน่นและแข็ง แต่สำหรับกรุงเทพฯ – ปริมณฑลที่เป็นชั้นดินอ่อน อาจก่อให้เกิดอัตราการทรุดตัวของพื้นได้เร็วกว่า แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้นะคะ หากใครมีงบไม่มาก แค่อยากเทพื้น มีหลังคาคลุม (ไม่ตั้งเสา อาจเป็นหลังคาผ้าใบ) ก็สามารถใช้ Slab on Ground ได้ โดยการตัด Joint แยกโครงสร้างพื้นส่วนต่อเติมออกจากตัวบ้าน หากเกิดการทรุดตัวก็จะไม่ดึงโครงสร้างบ้านให้เกิดความเสียหายตามไปด้วย ส่วนถ้าใครอยากต่อเติมจริงจัง แต่พื้นเดิมเป็น Slab on Ground ก็จำเป็นต้องลงเข็มเพิ่มนะ เพื่อความแข็งแรง ปลอดภัยในระยะยาวค่ะ
- โครงสร้างพื้นคอนกรีตวางบนคาน (Slab on Beam)
พื้นชนิดนี้จะถ่ายน้ำหนักลงสู่คานและเสาเข็มโดยตรง ซึ่งจะมีความแข็งแรงและรับน้ำหนักได้ดีกว่าแบบวางบนดิน บางโครงการแจ้งว่าพื้นด้านหลังลงเข็มมาให้เท่าตัวบ้าน (ลึก 15 – 26 เมตร) จะเรียกว่าเป็นการลงเข็มแบบยาว เจ้าของบ้านสบายกระเป๋า ไม่ต้องลงเข็มเพิ่มก็ต่อเติมได้เลย แต่หากเป็นเข็มสั้น (ลึก 2 – 6 เมตร) ก็ยังมีโอกาสที่พื้นจะทรุดตัวได้ แนวทางการแก้ปัญหาผู้รับเหมาส่วนใหญ่จะแนะนำให้ลง “เสาเข็มไมโครไพล์” เพิ่ม เสาเข็มชนิดนี้เป็นเข็มตอก ความยาวต้นละ 1.50 เมตร สามารถต่อกันได้เหมือนเข็มยาว เหมาะกับการต่อเติมภายหลังที่มีพื้นที่จำกัด ได้ความแข็งแรงทนทานมาก แต่ก็มีราคาที่สูงเช่นกัน
ส่วนตัวเรามองว่าเป็นการลงทุนที่จำเป็นนะคะ ปกติเสาเข็มไมโครไพล์คิดราคาตามความลึก 10 – 18 เมตร เริ่มประมาณ 12,000 – 17,000 บาท/ต้น หากไม่อยากรอให้พื้นทรุดแล้วรื้อทำใหม่หลายรอบ ยอมจ่ายครั้งเดียวแต่จบน่าจะดีกว่า
งานโครงสร้างผนัง
สำหรับโครงสร้างบ้านที่เป็นก่ออิฐฉาบปูนหรืออิฐมวลเบาจะสามารถต่อเติมได้ง่าย แต่ถ้าเป็นระบบ Precast จะยุ่งยากมากกว่า เพราะ Precast เป็นผนังสำเร็จรูปที่หล่อมาทั้งแผ่น การทุบ เจาะอาจทำให้โครงสร้างเสียหายและส่งผลต่อความแข็งแรงของบ้าน แต่ไม่ว่าจะเป็นระบบแบบไหน การต่อเติมครัวออกมาก็จำเป็นต้องแยกโครงสร้างใหม่ออกจากผนังเดิม เพื่อป้องกันการเกิดรอยร้าว หรือผนังฉีกขาดออกจากกัน การก่อสร้างจะใช้วิธีการเว้นช่องว่างประมาณ 1 – 2.5 เซนติเมตร แล้วใช้วัสดุที่มีความยืดหยุ่นสูงอย่าง ซิลิโคน หรือ โพลียูรีเทน (PU) ในการปิดรอยต่อแทน เพราะสามารถรองรับการขยายตัวของโครงสร้างได้ดี และแข็งแรงทนทานมากกว่าปูนยาแนวทั่วไป ทั้งนี้ในการประเมินและก่อสร้างควรมีวิศกรในการตรวจสอบและรับรองด้วยนะคะ
ถัดมาคือวัสดุที่เลือกใช้ในการต่อเติมบ้าน โดยทั่วไปจะเลือกวัสดุที่มีน้ำหนักเบา เพื่อช่วยชะลอการทรุดตัวให้ได้มากที่สุด ส่วนใหญ่ผู้รับเหมาจะเสนอ 3 ชนิดดังนี้
- ผนังก่ออิฐมวลเบา
อิฐมวลเบามีน้ำหนักเบากว่าอิฐมอญ 2 – 3 เท่า ทำให้การก่อสร้างและการขนส่งสะดวกและรวดเร็วขึ้น รวมถึงช่วยลดภาระโครงสร้างอาคาร เป็นวัสดุก่อสร้างที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน ลักษณะเป็นสีเทา มีขนาดมาตรฐาน และมีรูพรุนภายในก้อนอิฐจำนวนมาก ช่วยกันความร้อนและเสียงได้ดี ทนทานต่อไฟ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนข้อเสียคือ ราคาค่อนข้างสูงกว่าอิฐประเภทอื่น และอาจไม่เหมาะกับการใช้งานในห้องน้ำเนื่องจากคุณสมบัติในการดูดซับความชื้น
- ผนังไฟเบอร์ซีเมนต์ หรือสมาร์ทบอร์ด
แผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ใช้ได้ทั้งภายในและภายนอกอาคาร มีคุณสมบัติเด่นคือ แข็งแรง ทนทาน ปลวกไม่กิน ทนน้ำ ทนความชื้น และติดตั้งง่าย ไม่ต้องกังวลเรื่องปลวก ผลิตจากปูนซีเมนต์ผสมเส้นใยเซลลูโลส (ปลอดใยหิน) ผสมทรายซิลิกาแล้วนำไปอบไอน้ำแรงดันสูง น้ำหนักเบากว่าพวกอิฐ ดัดโค้งได้ ทนแดด ทนฝน แต่ผิวของสมาร์ทบอร์ดอาจไม่เรียบเนียนเหมือนวัสดุอื่นๆ ทำให้ต้องมีการตกแต่งเพิ่มเติม เช่น การทาสี หรือติดวอลเปเปอร์
- ไม้เทียม
นิยมนำมาใช้เป็นผนังหรือติดตั้งเป็นระแนงเหมาะกับคนที่ต้องการครัวโปร่ง แต่ยังอยากได้ความเป็นสัดส่วน โดยไม้เทียมจะมีน้ำหนักเบากว่าไม้จริง ติดตั้งและดูแลรักษาได้ง่ายกว่า สามารถทนแดด ทนฝนได้ ไม่ผุพังง่าย โดยปัจจุบันจะมีให้เลือก 2 แบบ คือ ไฟเบอร์ซีเมนต์ (ราคาย่อมเยากว่า) และพลาสติกผสม (WPC : ผิวสัมผัสเหมือนไม้จริงมากกว่า ทนทาน ไม่ต้องทำสี)
งานโครงสร้างหลังคา
ประกอบด้วยโครงสร้างและวัสดุมุงหลังคา โดยโครงสร้างส่วนใหญ่จะเป็นเหล็ก เพราะมีน้ำหนักเบา ก่อสร้างได้ง่ายและรวดเร็วกว่าคอนกรีต การต่อเติมใช้หลักการเดียวกับผนังและพื้นที่ควรจะแยกโครงสร้างออกจากโครงสร้างหลักของตัวบ้าน โดยปกติแล้วบริเวณที่หลังคาชนกับผนังบ้านจะมีการใช้ Flashing แบบโลหะ และโพลียูรีเทน (PU) ในการปิดรอยต่อ สำหรับคนที่อยากต่อเติมครัวให้เป็นเหมือนส่วนนึงของตัวบ้าน ก็จะมีการติดตั้งฉนวนและฝ้าเพดานเพิ่มเข้ามา ส่วนวัสดุมุงหลังคาในท้องตลาดมีให้เลือกหลากหลายมาก โดยเราจะยกตัวอย่างวัสดุ 3 ชนิดหลักๆที่คนนิยมใช้ในการมุงหลังคามาเปรียบเทียบให้ชมกัน
- กระเบื้องลอนคู่
เป็นวัสดุมุงหลังคาที่ทำจากไฟเบอร์ซีเมนต์หรือคอนกรีต มีความทนทานและระบายน้ำได้ดี เหมาะสำหรับบ้านที่มีรูปทรงจั่วหรือปั้นหยา ข้อดีคือราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับวัสดุอื่นๆ ดูแลรักษาง่าย อายุใช้งานยาวนาน แต่ข้อเสียคือมีน้ำหนักเยอะ ส่วนใหญ่จะแพงที่วัสดุติดตั้ง เพราะต้องใช้โครงสร้างรองรับที่แข็งแรงมาก และค่อนข้างอมความร้อน
- โพลีคาร์บอเนต
ทำมาจากเม็ดพลาสติก ลักษณะเป็นลอนฟูก มีคุณสมบัติโปร่งแสงและน้ำหนักเบา สามารถดัดรูปร่างให้โค้งได้ตามต้องการ จึงมักนิยมใช้กับหลังคาหรือกันสาดที่มีรูปทรงโค้ง มีราคาถูก และมีสีสันให้เลือกเยอะ ข้อเสียคือ เมื่อได้รับความร้อนจะมีการขยายตัวค่อนข้างสูง และหดตัวลงเมื่ออุณหภูมิลดลง ซึ่งส่งผลต่อความแข็งแรงของวัสดุที่อาจเกิดเปราะแตกได้ง่าย และเมื่อเกิดรอยร้าว ช่องว่างภายในก็จะมีฝุ่นและคราบตะไคร่น้ำเข้าไปสะสม ทำให้สกปรกและไม่สามารถทำความสะอาดจากภายนอกได้
- เมทัลชีท
ทำมาจากเหล็กที่ผ่านกระบวนการรีดจนบางก่อนจะขึ้นรูปเป็นลอนยาว ช่วยลดปัญหาเรื่องรอยต่อและรอยรั่วซึมได้ดี มีสีให้เลือกหลากหลาย สามารถออกแบบให้เข้ากับสไตล์ของบ้านได้ มีราคาที่ไม่แพงมาก โดยตัววัสดุมีความแข็งแรง ทนทาน น้ำหนักเบา ติดตั้งง่าย สามารถสั่งผลิตตามความยาวที่ต้องการได้ และยังสามารถนำไปรีไซเคิลได้อีกด้วย แต่ข้อเสียคืออาจมีเสียงดังเวลาฝนตก และหากไม่ได้ติดตั้งฉนวนกันความร้อน อาจทำให้บ้านร้อนได้
PART 3 : รู้ค่าต่อเติมและเลือกวัสดุได้ตามงบประมาณ
การคำนวณงบประมาณต่อเติมครัวหลังบ้าน ส่วนใหญ่เป็นหน้าที่ของผู้รับเหมา ซึ่งจะคำนวณได้ต้องประกอบด้วยข้อมูลสำคัญ 3 อย่าง คือ
1) ขนาดพื้นที่ต่อเติม
2) รูปแบบครัวที่อยากได้
3) โครงสร้างและวัสดุที่เลือกใช้
สำหรับการต่อเติมครัวที่มีพื้นที่ใช้สอยน้อย ช่างจะตีราคาให้เป็นแบบเหมา (วัสดุ + ค่าแรง) โดยประเมินจากพื้นที่หน้างาน ว่าต้องลงเข็มเพิ่มมั้ย…ก่อผนังอะไร บางเจ้าคิดแค่ค่าแรงส่วนวัสดุเจ้าของบ้านสามารถจ่ายและเลือกเองได้ แต่ปัญหาก็คือเมื่อผู้รับเหมาตีราคามาให้ เราไม่ทราบว่าราคาเท่านี้ถูกหรือแพง และเหมาะสมกับโครงสร้างบ้านเราจริงหรือไม่
จาก 2 PARTS แรก เรามองว่าน่าจะพอตอบคำถามเรื่องความเหมาะสมของโครงสร้างที่ผู้รับเหมาเลือกใช้ให้เราได้แล้วนะคะ ใน PART นี้เราจึงอยากมาแชร์ข้อมูลให้กับทุกคนได้รู้จักการประเมินราคาเองแบบเบื้องต้น เพื่อให้สามารถเตรียมงบและป้องกันไม่ให้เสียรู้ผู้รับเหมาบางเจ้านั่นเอง 🙂 แต่ก่อนอื่นเราต้องทราบก่อนว่า ครัวในฝันเรานั้นเป็นแบบไหน..?
- ครัวหลังบ้านแบบปิด : เป็นครัวที่ต่อเติมเป็นผนังทึบทั้ง 4 ด้านรวมถึงหลังคา เดินเชื่อมต่อกันได้เหมือนเป็นส่วนนึงของบ้าน ข้อดีของครัวแบบปิดคือ ได้ความเป็นสัดส่วน ปลอดภัย ช่วยป้องกันกลิ่นไม่ให้ลอยออกไปรบกวนเพื่อนบ้าน แต่งบประมาณจะสูงกว่าการต่อเติมครัวแบบเปิด สำหรับทาวน์โฮมถ้าเป็นแปลงมุม ยังสามารถทำประตูหรือหน้าต่างกระจกไว้เปิดระบายอากาศได้
- ครัวหลังบ้านแบบเปิด : เหมาะกับคนชอบความโปร่งโล่ง แต่ยังอยากได้หลังคาคลุม ผนังสามารถติดตั้งเป็นระแนงไม้แทนการกั้นแบบทึบ ได้พื้นที่เป็นสัดส่วนแต่ยังสามารถระบายอากาศได้ดี แต่มีข้อเสีย คือ เวลาทำอาหารกลิ่นและควันอาจลอยไปรบกวนเพื่อนบ้าน ต้องหมั่นทำความสะอาดบ่อยๆเพราะเป็นพื้นที่เปิดโล่ง จึงทำให้มีละอองฝนหรือฝุ่นปลิวเข้ามาได้ง่าย และอาจมีปัญหากวนใจจากสัตว์เล็กๆอย่าง ยุง นก หนู แมลงเข้ามาได้ด้วย
เมื่อทราบข้อมูลหลักๆแล้ว ผู้รับเหมาก็จะทำการประเมินราคามาให้ สำหรับเจ้าใหญ่ๆหน่อย ก็จะมี BOQ มาด้วย ซึ่ง BOQ นี่แหละที่จะทำให้เราทราบว่าราคาของครัวที่ต่อเติมสมเหตุสมผลหรือไม่ หากเกินงบที่คิดไว้ก็สามารถคุยเพื่อปรับลดกันได้ แต่หากใครยังไม่รู้จัก BOQ จะย่อมาจาก Bill of Quantities เป็นเอกสารแสดงรายการปริมาณวัสดุและค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง โดยจะระบุรายละเอียดงานที่ต้องทำ , ปริมาณวัสดุ , ราคาต่อหน่วย และค่าแรง ทำให้เรารู้ที่มาของราคา และทำให้สามารถตัดสินใจได้ง่ายขึ้น
ตัวอย่าง BOQ จากผู้รับเหมา : สิ่งแรกที่เราอยากให้สังเกตก็คือ งานก่อสร้างที่แบ่งออกเป็นหมวดหมู่ ดังนี้
- งานโครงสร้าง ( เสาเข็ม , คาน , พื้น , หลังคา)
- งานสถาปัตยกรรม ( ผนัง + วัสดุกรุผนัง , วัสดุปูพื้น , วัสดุมุงหลังคา)
- งานสุขาภิบาล (การเดินระบบท่อน้ำ , ท่อน้ำดี , น้ำทิ้งสำหรับเคาน์เตอร์ครัว หรือเครื่องซักผ้า)
- งานหมวดไฟฟ้า (การเดินระบบสายไฟ , การติดตั้งปลั๊ก , สวิตช์ , ดวงโคม)
จากตัวอย่าง BOQ : คุณ S ต้องการต่อเติมครัวหลังบ้าน พื้นที่ประมาณ 10 ตร.ม. โครงสร้างพื้นเดิมเป็น Slab on Ground ต้องการก่อเป็นครัวปิด ลงเข็มไมโครไพล์เพิ่ม มีฝ้าเพดานและหลังคา (เมทัลชีท) พื้นปูกระเบื้อง Porcelain ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างคิดเป็น
- งานโครงสร้าง : งานผูกเหล็กพื้น คาน , เสาเข็มไมโครไพล์ 18 เมตร 4 ต้น , โครงหลังคาเหล็ก รวมค่าแรงคิดเป็นเงิน = 95,850 บาท
- งานสถาปัตยกรรม : ผนังก่ออิฐมวลเบา ฉาบเรียบทาสี – ปูกระเบื้อง , งานพื้นปูกระเบื้อง , ฝ้าเพดานยิปซั่มบอร์ดทาสี , กระเบื้องมุงหลังคาเมทัลชีท พร้อมรางน้ำ รวมค่าแรงคิดเป็นเงิน = 54,940 บาท
- งานสุขาภิบาล – ไฟฟ้า : เดินท่อน้ำ , สายไฟ ติดตั้งสวิตช์ ปลั๊ก (ไม่รวมดวงโคม) รวมค่าแรงคิดเป็นเงิน = 19,450 บาท
- ดังนั้นคุณ S ต้องเตรียมเงินต่อเติมครัวหลังบ้านประมาณ 170,240 บาท
สำหรับงานสถาปัตยกรรม , สุขาภิบาลและไฟฟ้า สามารถคำนวณปริมาณโดยผู้รับเหมาได้ แต่งานโครงสร้างจำเป็นต้องใช้วิศวกรเพื่อความเหมาะสมกับพื้นที่และความปลอดภัยในระยะยาว ถัดมาเป็นค่าวัสดุคำนวณได้ง่ายที่สุดเพราะมีราคาจริงจากร้านค้า แต่บางทีผู้รับเหมาอาจจะบวกค่าขนส่งเพิ่มเติม ซึ่งเราสามารถเช็คได้ว่าโดนบวกเยอะไปมั้ย จากการเช็คราคากลางแล้วนำมาต่อรองกับผู้รับเหมา หรือเราจะจัดซื้อเองเพื่อลดงบก็ได้ โดยงานบางอย่างหากเราไม่ต้องการเหมือนคุณ S ก็สามารถตัดลดได้นะคะ เช่น อยากจะได้ผนังฉาบเรียบทาสี ไม่กรุกระเบื้อง ไม่เอางานฝ้าเพดาน ก็สามารถลดไปได้ประมาณ 14,000 บาท
ส่วนค่าแรงเป็นค่าใช้จ่ายที่เจ้าของบ้านบางคนอาจมองข้าม ส่วนใหญ่ช่างจะตีเป็นราคาเหมา โดยเฉพาะหากพื้นที่ก่อสร้างไม่ใหญ่ (น้อยกว่า 30 ตร.ม.) ช่างบางเจ้าเลือกจะไม่ทำ BOQ ให้ยุ่งยาก แต่วันนี้ทุกคนสามารถนำตัวอย่าง BOQ นี้ไปเปรียบเทียบหมวดหมู่งานที่จำเป็นในการต่อเติมครัวหลังบ้านได้นะคะ โดยราคาที่คำนวณออกมาจากผู้รับเหมาเจ้านี้ก็ถือว่าครบถ้วนและค่อนข้างสมเหตุสมผล (คิดเป็นราคาเหมาต่อตร.ม.ได้ประมาณ 17,000 บาท) ซึ่งอาจมีการบวก ลบเพิ่มเติมขึ้นอยู่กับวัสดุที่เลือกใช้และผู้รับเหมาเจ้าอื่นๆด้วย
เช็คราคาวัสดุก่อสร้างและค่าแรงอัพเดทปี 2568 สำรวจโดย สพฐ. (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ) >> บัญชีราคาค่าวัสดุก่อสร้าง และค่าแรง ปีงบประมาณ 2568
โดยราคานี้จะยังไม่รวมเคาน์เตอร์ครัวซึ่งเป็นงานเสริม อาจต้องใช้ช่างเฉพาะในการก่อสร้าง อย่างในภาพเป็นเคาน์เตอร์ครัว Built – in ข้อดีก็คือสามารถออกแบบให้ลงตัวกับพื้นที่และการใช้งานของเราได้เลย แต่ราคาจะสูงกว่าเพื่อนเป็นเท่าตัว ส่วนใครที่มีงบรองลงมาสามารถปรึกษาช่างชุดเดิมให้เตรียมท่อและทำเคาน์เตอร์แบบก่อปูนได้ อีกทางเลือกก็คือเคาน์เตอร์ครัวแบบสำเร็จ สามารถหาซื้อได้ตามห้าง เหมาะกับคนที่เน้นความสะดวก แต่ส่วนใหญ่จะไม่สามารถปรับแก้ได้ ลองบวกงบเพิ่มเล่นๆก็จะอยู่ที่ประมาณ 10,000 – 50,000 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดและวัสดุที่เลือกเช่นกันค่ะ
เป็นยังไงกันบ้างคะกับงานต่อเติมครัวหลังบ้านที่เหมือนจะเล็ก แต่ไม่ใช่งานเล็กๆเลยใช่มั้ย หากตัดสินใจผิดก็มีสิทธิ์รื้อแก้กันยาวๆ โดยเราหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยกับคนที่กำลังจะตัดสินใจรีโนเวทหรือต่อเติมครัวหลังบ้าน การรู้จักโครงสร้างและวัสดุที่ใช้ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้เราสามารถประหยัดงบประมาณไปได้เยอะเลย หากใครมีประสบการณ์การต่อเติมครัวหลังบ้าน หรือข้อมูลที่น่าสนใจ ก็สามารถมาแบ่งปันกันใน Comment ด้านล่างได้เลยนะคะ คราวหน้า Think of Living จะมีบทความอะไรดีๆอีกบ้าง อย่าลืมติดตามกันนะ 🙂