..ใครที่กำลังจะติดตั้ง Solar Cell ขอให้อดใจรออีกสักหน่อยครับ เพราะเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ที่ประชุม ครม. เพิ่งได้มีมติเห็นชอบตามที่ กระทรวงพลังงาน (พน.) ได้เสนอ “มาตรการส่งเสริมการติดตั้ง Solar Rooftop ในบ้านอยู่อาศัยด้วยมาตรการทางภาษี” ซึ่งก็สามารถลดได้สูงสุดถึง 200,000 บาทเลยทีเดียว
แต่นี่ก็เป็นเพียงขั้นตอนแรกของการเสนอ เพื่อนำไปใช้ในการร่างกฎหมายต่อไปเท่านั้น ยังไม่มีผลประกาศใช้จริงแต่อย่างใด คำถามคือ ถ้ามาตรการนี้ประกาศใช้จริงแล้ว จะคุ้มกับการลงทุนติดตั้ง Solar Rooftop หรือเปล่า? หรือจริงๆแล้วมาตรนี้จะเหมาะกับคนแบบไหน บทความนี้เราจะช่วยหาคำตอบไปพร้อมๆกันครับ
ใครสามารถใช้สิทธิ์ตามมาตรการติดตั้ง Solar Rooftop ได้บ้าง?
เรียกได้ว่าแทบจะทุกคนเลยครับ ที่สามารถเข้าร่วมมาตรการ และใช้สิทธิ์ขอลดหย่อนภาษีนี้ได้ โดยเค้าก็จะมีเงื่อนไขของผู้ใช้สิทธิเพิ่มเติมดังนี้
- บุคคลทั่วไปที่ทำงานมีรายได้ และเสียภาษีตามปกติ (ไม่รวมห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล)
- ชื่อผู้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีต้องตรงกับชื่อเจ้าของมิเตอร์ไฟฟ้าของบ้านอยู่อาศัยนั้นๆ
- สิทธิการลดหย่อนภาษี 1 บุคคล ต่อ 1 มิเตอร์ ต่อ 1 ระบบ (กรณีที่มีชื่อเป็นเจ้าของหลายมิเตอร์ ก็สามารถใช้สิทธิได้เพียงมิเตอร์เดียว)
เงื่อนไขการติดตั้ง Solar Rooftop
- เป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 (เฉพาะบ้านอยู่อาศัยเท่านั้น ไม่รวมร้านค้า หรือโรงงาน)
- ระบบ Solar Rooftop ที่ติดตั้งต้องเป็นระบบ On-grid และมีกำลังการผลิตไม่เกิน 10 kWp ต่อหลัง
- ต้องเป็นระบบที่มีการจัดซื้อ ติดตั้ง และยื่นขออนุญาตเชื่อมต่อกับโครงข่ายไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย (บ้านที่มีการติดตั้งไปแล้วก่อนหน้าที่มาตรการจะมีผลบังคับใช้ จะไม่สามารถใช้สิทธิได้)
**หมายเหตุ : ระบบ On-grid คือ ระบบที่ไม่มีแบตเตอรี่เก็บไฟสำรอง ซึ่งตอนกลางวันก็ใช้ไฟฟ้า Solar Cell จากแสงอาทิตย์โดยตรง ส่วนตอนกลางคืนก็จะสลับมาไฟจากการไฟฟ้าตามปกติ ดังนั้นระบบ On-grid จึงเหมาะกับคนที่เน้นใช้ไฟฟ้าในตอนกลางวันเป็นหลักนั่นเอง
ค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง Solar Rooftop ต้องเตรียมเงินเท่าไหร่?
สำหรับค่าติดตั้ง Solar Rooftop ในตลาดมีให้เราเลือกหลากหลายราคา และหลากหลายเจ้ามากๆครับ ขึ้นอยู่กับความสะดวกของเพื่อนๆเลยว่าอยากใช้บริการเจ้าไหน โดยหลักๆก็จะแบ่งราคาออกเป็น 3 ส่วนหลักๆคือ
- ตัวเครื่อง Inverter สำหรับแปลงกระแสไฟฟ้า
- แผง Solar Cell สำหรับติดตั้งบนหลังคาบ้าน
- ค่าแรงติดตั้ง และอื่นๆ
ทั้งนี้ราคาแพ็คเกจรวมค่าติดตั้งของแต่ละเจ้าที่แตกต่างกัน ก็จะขึ้นอยู่กับว่าเขาใช้ผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ไหนบ้าง รวมถึงขนาดพื้นที่ของหลังคา และความต้องการกำลังไฟของบ้านแต่ละหลังก็จะแตกต่างกันออกไปด้วย ซึ่งเราได้ลองรวบรวมราคาตลาดโดยประมาณมาให้เพื่อนๆดูกันคร่าวๆดังนี้
**หมายเหตุ : ความประหยัดค่าไฟในตาราง เป็นการประมาณจากการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตในตอนกลางวันแบบเต็ม limit ในทุกๆวัน ซึ่งความเป็นจริงเราก็อาจไม่ได้ใช้เต็มทั้งโควต้าก็ได้ครับ เพราะค่อนข้างมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมของผู้ใช้งาน และปริมาณแสงแดดในวันนั้นๆ ที่หากวันไหนมีเมฆเยอะก็จะผลิตไฟฟ้าได้น้อย เป็นต้น
..มาลองคำนวณความคุ้มทุนจากการติดตั้งกันครับ
ตัวอย่างที่ 1 : นาย A ติดตั้ง Solar Rooftop ขนาด 3 kW. ราคา 80,000 บาท แต่ส่วนใหญ่ก็มักจะไม่ค่อยมีใครอยู่บ้านในช่วงกลางวัน (ยกเว้นเสาร์-อาทิตย์) เลยทำให้เขาสามารถประหยัดค่าไฟลงไปได้เฉลี่ยประมาณ 500 บาท/เดือน (จากปกติจ่ายค่าไฟอยู่ประมาณ 1,000 กว่าบาท/เดือน)
>> ดังนั้นจะใช้เวลาคุ้มทุน = 80,000 / 500 ต่อเดือน = 13.3 ปี
ตัวอย่างที่ 2 : นาย B ติดตั้ง Solar Rooftop ขนาด 5 kW. ราคา 150,000 บาท ซึ่งตอนกลางวันจะมีคุณแม่อยู่บ้านตลอดเวลาทุกวัน รวมถึงที่บ้านก็มีการเลี้ยงปลาที่ต้องใช้ปั้มน้ำตลอดเวลาด้วย ทำให้สามารถใช้ไฟฟ้าที่ผลิตในช่วงกลางได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย และสามารถประหยัดค่าไฟลงไปได้เฉลี่ยประมาณ 1,500 บาท/เดือน (จากปกติจ่ายค่าไฟอยู่ประมาณ 4,000 กว่าบาท/เดือน)
>> ดังนั้นจะใช้เวลาคุ้มทุน = 150,000 / 1,500 ต่อเดือน = 8.3 ปี
สรุปแล้ว จะเห็นได้ว่าถึงแม้ว่านาย B จะมีการลงทุนที่สูงกว่า แต่สามารถใช้ไฟฟ้าที่ผลิตในช่วงกลางวันได้คุ้มค่ามากกว่า จึงทำให้มีโอกาสคุ้มทุนได้เร็วมากกว่าด้วยนั่นเองครับ
มาตรการติดตั้ง Solar Rooftop ลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่?
ตามมาตรการใหม่กำหนดว่า เราสามารถหักลดหย่อนได้ในวงเงินที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 200,000 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) หมายความว่า เราจ่ายค่าติดตั้ง Solar Rooftop จริงไปเท่าไหร่ ก็สามารถนำลดหย่อนได้เท่านั้นเลย เช่น ถ้าติดตั้งไป 150,000 บาท ก็เอามาลดหย่อนภาษีได้ 150,000 บาทเต็มๆ
ตรงนี้ขอขยายความเพิ่มเติมสักนิดนะครับ จากตัวอย่างข้างต้นไม่ได้หมายความว่าเราจะได้เงินคืน 150,000 บาทเข้ากระเป๋าทันทีนะ แต่หมายถึง รายได้สุทธิตลอดทั้งปีของเราจะถูกหักออก 150,000 บาท (กรอบสีแดงช่องแรกในตาราง) ก่อนจะนำไปคำนวณภาษีต่อไปนั่นเอง
**รายได้สุทธิ คือ รายได้ทั้งปีที่นำไปหักค่าใช้จ่ายตามกฎหมายแล้ว แต่ยังไม่ได้หักลดหย่อนใดๆ
ยกตัวอย่าง : สมมติเรามีรายได้สุทธิทั้งปี อยู่ที่ 600,000 บาท ถ้าไม่มีลดหย่อนเลย เราต้องเสียภาษี (ตามขั้นบันไดภาษี) อยู่ที่ 42,500 บาท
แต่ถ้าเราติด Solar Rooftop ไป 200,000 บาท เราจะเหลือรายได้สุทธิในการคิดภาษีลดลงอยู่ที่ 600,000 – 200,000 = 400,000 บาท ภาษีที่ต้องจ่ายก็จะลดลงอยู่ที่ 17,500 ในกรณีนี้เราจะประหยัดภาษีไปได้ 42,500 – 17,500 = 25,000 บาทนั่นเองครับ
ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง?
- ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแบบ (Tax Invoice) จากบริษัทที่ติดตั้ง เพื่อเป็นหลักฐานการจ่ายเงิน
- เอกสารอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เอกสารขออนุญาตเชื่อมต่อกับโครงข่ายไฟฟ้า เก็บไว้เป็นหลักฐานประกอบด้วย
ประกาศใช้เมื่อไหร่?
รอบนี้เป็นเพียงการพิจารณาร่างกฎหมาย ยังไม่ได้มีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ดังนั้นต้องรอข่าวอัพเดทจากทางรัฐบาลอีกทีหนึ่ง แต่เบื้องต้นเค้ากำหนดว่า จะนับถัดจากวันที่ราชกิจจานุเบกษาประกาศให้มีผลบังคับใช้เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2570 (ระยะเวลา 3 ปี)
สรุป
เราคิดว่า “มาตรการส่งเสริมการติดตั้ง Solar Rooftop ในบ้านอยู่อาศัยด้วยมาตรการทางภาษี” นี้ทำออกมาเพื่อรณรงค์ให้คนไทยหันมาใช้พลังงานทดแทนกันมากขึ้น โดยใช้มูลค่าของภาษีที่ได้รับการลดหย่อนมาเป็นแรงจูงใจอีกทางหนึ่ง เพราะนอกจากเราจะลดภาระค่าไฟที่บ้านได้แล้ว ภาษีที่ได้ลดหย่อนก็เหมือนช่วยลดต้นทุนการติดตั้ง Solar Rooftop ทำให้เราสามารถคืนทุนได้เร็วมากขึ้นอีกหน่อยนั้นเอง
ถามว่าคุ้มมั้ย..? เราขอแบ่งออกเป็นเหมาะกับคน 3 แบบ ดังนี้
- คนที่มีแพลนจะติด Solar Rooftop อันนี้ถือว่าคุ้มแน่นอน เพราะการนำค่าใช้จ่ายไปลดหย่อนก็เหมือนเราได้ส่วนลดการติดตั้งลงไปด้วยนั่นเอง
- คนที่เน้นใช้ไฟฟ้าอยู่บ้านช่วงกลางวัน ยิ่งถ้าใครที่อยู่บ้านตลอดเวลา หรืออาจเป็นคนที่ Work from Home อยู่แล้วก็จะยิ่งคุ้มครับ (เพราะระบบที่ติดตั้งเป็นแบบ On-grid ไม่มีแบตเตอรี่เก็บไฟ)
- คนที่มีรายได้สุทธิต่อปีค่อนข้างสูง เพราะการลดหย่อนจะยิ่งมีผลมากขึ้น (ตามขั้นบันไดภาษี)
..เป็นอย่างไรบ้างครับกับข้อมูลที่เรานำมาฝากกันในวันนี้ หวังว่าจะเป็นแนวทางการตัดสินใจให้กับคนที่กำลังสนใจจะติดตั้ง Solar Rooftop และเข้ามาตรการนี้กันได้นะครับ คราวหน้า Think of Living จะมีบทความอะไรดีๆมาฝากกันอีกก็อย่าลืมติดตามรับชมกันด้วยนะ วันนี้ขอบคุณที่เข้ามาอ่านกันคร้าบบบ