สวัสดีค่ะ เวลาจะเลือกคอนโดสักที่ ..เลือกทำเลแบบที่ใช่ก็แล้ว.. หน้าตาคอนโดสวยงามก็แล้ว หรือไปเจอ Facilities จัดเต็มถูกใจก็แล้ว แต่สิ่งที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดก็คือแบบของห้องพักที่เราต้องใช้ชีวิตอยู่ใช่ไหมล่ะคะ ปัจจุบันคอนโดโครงการหนึ่งมักจะมีห้องพักมาให้เราเลือก ทั้งห้อง Studio, 1 Bedroom, 2 Bedroom, 3 Bedroom, Duplex ไปจนถึงห้อง Penthouse 1-2 ชั้น ซึ่งห้องพักที่กล่าวมาก็ยังมีแบบย่อยหลากหลายเลือกไม่ถูกกันเลยทีเดียว
แน่นอนว่าถ้าเรามีงบประมาณในการซื้อคอนโดแบบไม่จำกัด หลายคนก็คงอยากได้ห้อง Penthouse หรูอยู่บนชั้นสูงสุดใจกลางเมือง มีสระว่ายน้ำส่วนตัวให้สามารถนั่งจิบไวน์ริมสระมอง City วิวกับคนรู้ใจได้แบบชิลๆ แต่เดี๋ยวก่อน!! พอก้มมองดูงบในกระเป๋า ความฝันทุกอย่างอาจต้องดับวูบ กลับมาสู่ความเป็นจริงที่ปวดใจ แต่อย่าเพิ่งคิดว่าทุกสิ่งแย่จนเกินไปค่ะ จริงๆแล้วห้องพักสำหรับคนมีงบประมาณจำกัด มีชีวิตโสดอยู่คนเดียวหรือมีเอี่ยวคนรู้ใจมาด้วยเป็น 2 คน ก็มีอยู่ อย่างห้องพักแบบ 1 Bedroom ที่เป็น Type ยอดนิยมที่มีอยู่ประจำคอนโดทุกที่ ในบทความนี้เราเลยจะพาไปเจาะลึกห้องแบบ 1 Bedroom ขนาดไม่เกิน 40 ตร.ม. เพื่อให้เป็นแนวทางให้คนที่มองหาคอนโดสักห้อง ว่ามีแบบไหนกันบ้างที่น่าสนใจ และเราจะเลือกยังไงดี
ห้องแบบ 1 Bedroom เป็นอย่างไร?
ห้องแบบ 1 Bedroom เป็นห้องที่มีขนาดเล็กถึงปานกลาง ขนาดห้องจะไม่เกิน 40 ตารางเมตร มีการจัดพื้นที่แบบกระทัดรัด ไม่อึดอัดเกินไปเหมือนห้อง Studio และไม่กว้างมากขนาดห้องแบบ 2 Bedroom โดยข้อดีของห้องแบบ 1 Bedroom คือเป็นห้องขนาดไม่ใหญ่มาก ราคาไม่แพง(เทียบกับห้อง Type อื่นๆในคอนโดนั้นๆ) เหมาะกับการพักอาศัย 1-2 คน สามารถดูแลและทำความสะอาดได้ง่าย ส่วนข้อเสียของห้องแบบนี้คือขนาดไม่ใหญ่มาก สำหรับคนมีของเยอะอาจจะมีที่เก็บไม่ค่อยเพียงพอ และการทำครัวหากไม่มีการกั้นห้องที่ดีและมิดชิด กลิ่นอาหารก็จะลอยไปทั่วทั้งห้องได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการเลือกห้องที่มีการจัดวางฟังก์ชั่นที่ดึงข้อดีและลดข้อเสียออกมาให้ได้มากที่สุดนั่นเอง ฟังก์ชั่นห้อง 1 Bedroom จะประกอบด้วย
-Public Zone ให้เพื่อนมาหาหรือแขกมาพบได้ อย่างห้องนั่งเล่น/รับแขก
-Private Zone เป็นพื้นที่ที่ต้องการความเป็นส่วนตัวอย่าง ห้องนอน
-Service Zone ที่เป็นส่วนอำนวยความสะดวกและเป็นที่ตั้งของงานระบบต่างๆอย่าง ห้องน้ำ ห้องครัวและระเบียง
เดี๋ยวเราจะพาไปดูการจัดวางห้องพักแบบต่างๆ โดยจะแบ่งประเภทตามการจัดวาง Zoning การใช้งานพื้นที่ค่ะ
Zoning 1 : การจัดวาง Zoning แบบนี้เป็นการจัดวางห้องที่ค่อนข้าง Popular สำหรับคอนโดขนาดเล็กจนถึงกลาง เหมาะกับห้องพักขนาด 21-35 ตร.ม. เนื่องจากเป็นฟังก์ชั่นที่อยู่ตรงกลางระหว่างห้อง Studio กับ 1 Bedroom มีความแตกต่างที่การกั้นพื้นที่ระหว่างห้องนอนและห้องนั่งเล่นเท่านั้นเท่านั้น โดยจะแบ่งโซน Service อย่างห้องน้ำ, ครัว และระเบียงไว้ข้างใดข้างหนึ่ง ส่วนอีกด้านจะเป็นห้องนั่งเล่นและห้องนอน
ลองมาดูผังห้องที่มีการจัดวางฟังก์ชั่นแบบนี้กันจะได้เห็นภาพชัดขึ้นค่ะ ทั้งสองห้องนี้จะเหมือนกันตรงที่เมื่อเข้าห้องไปปุ๊บสิ่งแรกที่เจอคือห้องรับแขกที่มีพื้นที่วางโต๊ะรับประทานอาหารหรือโต๊ะเขียนหนังสือได้ ถัดไปเป็นห้องนอน ห้องA จะไม่มีการกั้นอะไรเลย ทำให้ภาพรวมดูเป็นห้อง Studio ที่มีพื้นที่กว้าง และหากแขกมาทีก็จะเห็นห้องเราทั้งหมด ห้องนี้จึงไม่ค่อยเหมาะกับการรับแขก(ที่ไม่สนิทมาก) เท่าใดนัก ในขณะที่ ห้องB มีการกั้นห้องนอนเป็นสัดส่วน แยกกับห้องรับแขกชัดเจน แน่นอนว่าการใช้พื้นที่จะดูแคบกว่าห้อง A และแขกไปใครมาก็จะมองทะลุเข้าไปเห็นได้ทั้งหมดเพราะเป็นฉากกั้นกระจก แต่สิ่งที่ดีกว่า ห้องA อย่างเห็นได้ชัด คือการที่เรากั้นห้องแบบนี้จะมีความเป็นสัดส่วน สามารถติดม่านบังสายตาได้ ดูปลอดภัยและ Privacy มากกว่า
ถัดไปเป็นห้องครัว ที่ห้อง A จะไม่มีการกั้นห้องซึ่งมีข้อเสียคือจะไม่เหมาะกับการประกอบอาหารหนักเพราะกลิ่นจะลอยฟุ้งไปในห้อง(แม้บางที่จะมีที่ดูดควันให้ก็อย่าชะล่าใจนะ) ในขณะที่ ห้องB มีการกั้นห้องครัวเป็นสัดส่วน หากเราประกอบอาหาร ปิดประตูที่กั้นห้องครัวกับห้องนั่งเล่น แล้วไปเปิดประตูออกระเบียงแทน กลิ่นก็จะลอยออกข้างนอกแทนที่จะเข้าไปในห้อง ทำให้ห้องไม่เหม็นค่ะ ส่วนที่ติดกันเป็นระเบียงซึ่งมีพื้นที่วาง Compressor แอร์ ซึ่งตรงนี้ก็แล้วแต่ว่าโครงการจะติดตั้งให้ตรงไหน หรือสำหรับโครงการที่ยังสร้างไม่เสร็จ เราอาจจะสามารถรีเควสในมุมที่เราต้องการได้ ส่วนที่เชื่อมต่อกับครัวอีกส่วนคือห้องน้ำซึ่งส่วนใหญ่จะแยกส่วนเปียกส่วนแห้งไว้ให้เรียบร้อยค่ะ
โดยส่วนใหญ่คนที่พักอาศัยในห้อง Zoning แบบนี้มักจะไม่ค่อยซีเรียสเรื่อง Privacy ของห้องนอนสักเท่าไหร่ เนื่องจากเวลาแขกไปใครมาก็จะเห็นทะลุจากห้องนั่งเล่นไปห้องนอนถึงหน้าต่างห้องนอนเลย แม้ห้องที่กั้นให้แล้วก็ยังจะใช้ฉากกั้นกระจกกันซะมากมาถึงตรงนี้หลายคนคงสงสัยว่า ถ้าจะกั้นห้องให้แล้ว ทำไมไม่กั้นห้องทึบไปเลยหล่ะ? คำตอบก็คือ ที่โครงการเลือกกั้นห้องโดยใช้บานเลื่อนกระจกใสก็เพราะว่า กระจกใสจะช่วยให้ห้องดูโปร่ง โล่ง ไม่ทึบตันยังไงละคะท่านผู้ชมมม 🙂 ลองนึกว่าเปิดประตูเข้าห้องมา เจอห้องรับแขกขนาดเล็กๆกว้างสัก 3 x 3 เมตร มองตรงไปเจอผนังทึบๆกับประตูห้องตันๆ มันก็ดูจะอึดอัดไปใช่ไหมละคะ ดังนั้นการกั้นด้วยกระจกแล้วมองไปเห็นเป็นห้องที่(เหมือนจะ)กว้างๆ First Impresion ย่อมดีกว่าอยู่แล้ว
ขอลงรายละเอียดกันสักนิสส เผื่อใครจะชอบห้องแบบนี้ เมื่อเปิดประตูเข้ามาเราก็จะเห็นภาพห้องรับแขกที่เชื่อมต่อกับห้องนอน ซึ่งความแตกต่างของคอนโดแต่ละที่ ก็คือฉากกั้นห้องที่ติดตั้งมาให้นี่แหละค่ะ สังเกตได้จากภาพสองภาพนี้ ห้องที่ใช้บานเลื่อนแบบสอง ตอนจะมีประตูบานใหญ่ ส่วนห้องที่ใช้กระจกบานเลื่อนแบบสามตอนจะเป็นประตูบานเล็ก ในขณะที่พื้นที่ว่างตามรอยประสีเหลืองของประตูบานเลื่อนแบบสามตอนจะกว้างกว่าแบบบานเลื่อนสองตอนเยอะเลย ดังนั้น แนะนำว่าหากเลือกห้องให้เลือกคอนโดที่ใช้ประตูแบบสามตอน เราจะมีที่ว่างในการเดินเข้าเดินออก หรือเคลื่อนย้ายขนของได้สะดวกดีค่ะ
สำหรับคอนโดบางที่ ที่มีพื้นที่กว้างขึ้นมานิด อย่างห้องนี้ขนาด 28 ตร.ม. เมื่อมองภาพรวมแล้วจะคล้ายๆกับผังห้องทางด้านบนทุกประการใช่ไหมคะ แต่ถ้าสังเกตดีๆจะพบว่า ห้องนี้มีพื้นที่ว่างพอให้สามารถวางโต๊ะเขียนหนังสือในห้องนั่งเล่น และสามารถวางโต๊ะรับประทานอาหารขนาดสองที่นั่งในห้องครัวได้อีกชุด ซึ่งถือว่าห้องนี้มีฟังก์ชั่นครบสมบูรณ์ แม้แต่ละพื้นที่จะค่อนข้างเล็กกว่าผังของห้องด้านบนมาก ซึ่งไอเดียการจัดวางเหล่านี้เราสามารถนำไปปรับใช้ในห้องเราเองได้ค่ะว่าจะชอบพื้นที่แบบไหน และให้ความสำคัญกับฟังก์ชั่นอะไรมากกว่ากัน
มุมมองของโต๊ะรับประทานอาหารในห้องครัว หากมีการจัดสวนริมระเบียงเป็นพื้นที่สีเขียวน้อยๆ ก็จะช่วยเพิ่มบรรยากาศการรับประทานอาหารให้อร่อยไปอีกแบบ
Zoning 2 : การจัดวาง Zoning แบบนี้ เหมาะกับห้องพักขนาด 25-35 ตร.ม. เป็นฟังก์ชั่นที่ใช้พื้นที่มากกว่าโซนนิ่งแบบแรกเล็กน้อย เนื่องจากการจัดวางแบบนี้จะมีการวางโซน Service อย่างห้องน้ำและห้องครัวแยกกัน โดยขยับให้ระเบียงและห้องครัวไปไว้ด้านหน้า เพื่อให้สามารถระบายอากาศได้ขณะทำครัว และในขณะเดียวกันจะมีการกั้นประตูบานเลื่อนเป็นครัวปิดมาให้เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นจึงมีข้อดีตรงที่พื้นที่แบบนี้จะเป็นสัดส่วน และไม่ต้องกังวลเรื่องกลิ่นติดห้องขณะประกอบอาหาร ส่วนห้องน้ำจะวางไว้ด้านที่ติดกับทางเดิน ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ขจัดปัญหาเรื่องกลิ่นและความอับชื้นด้วยพัดลมระบายอากาศค่ะ
ลองเอาตัวอย่างผังห้องมาให้ดูเปรียบเทียบกัน 2 แบบ จะเห็นว่าทั้งห้องแบบ A และ B มีรูปร่างของห้องต่างกัน โดยที่ห้อง A รูปร่างเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าค่อนไปทางจตุรัส ในขณะที่ห้อง B มีรูปร่างเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวยาว แต่มีการวาง Zoning ของห้องเหมือนกัน โดยเมื่อเปิดประตูเข้าไปจะเจอกับห้องนั่งเล่น ที่มองตรงไปจะเห็นห้องครัวปิดที่มองทะลุไปถึงระเบียง ทางซ้ายมือจะเป็นส่วนของห้องนอนและห้องน้ำ แล้วความแตกต่างของสองห้องนี้คืออะไร? เรามาดูกันไปเป็นส่วนๆนะคะ
–ห้องน้ำ สิ่งที่ชัดเจนที่สุดคือทางเข้าห้องน้ำค่ะ สำหรับห้อง A จะเข้าห้องน้ำทางห้องนอนอย่างเดียว สะดวกสำหรับคนที่ชอบลุกมาเข้าห้องน้ำกลางดึกบ่อยๆ ชอบห้องน้ำส่วนตัวในห้องนอน แต่จะไม่เป็นส่วนตัวนักเวลามีแขกมาห้อง เวลาเข้าห้องน้ำจะต้องเดินเข้าห้องนอนเราทางเดียว ส่วนห้อง B จะเข้าห้องน้ำผ่านห้องรับแขกและใกล้ห้องนอนด้วย ซึ่งไม่ลำบากเกินไปนักหากต้องการเข้าจากห้องนอน และมีความเป็นส่วนตัวดีเวลาแขกมา ซึ่งที่สุดแล้ว หากจะเลือกเข้าทางตำแหน่งไหน ก็สุดแต่ความชอบของแต่ละคนค่ะ
–พื้นที่รับประทานอาหาร สำหรับห้อง A ห้องครัวมีหน้ากว้างพอที่จะติดตั้งเคาท์เตอร์ครัวและวางโต๊ะรับประทานอาหารขนาดสองที่นั่งได้ โดยการกินข้าวตรงนี้อาจจะไม่ได้บรรยากาศที่ดีนักเพราะอยู่ในห้องครัว แต่ก็จะไม่ทำให้กลิ่นอาหารลอยไปยังโซนอื่นๆของห้องค่ะ ส่วนห้อง B มีการวางโต๊ะรับประทานอาหารที่ห้องนั่งเล่น ข้อดีคือ เราสามารถนั่งกินข้าวไป ดูทีวีไป หรือนั่งคุยกันกับเพื่อนที่นั่งอยู่ที่โซฟาได้ แต่จะมีข้อเสียอยู่บ้างตรงที่กลิ่นอาหารอาจจะฟุ้งอยู่ในห้องนั่งเล่น ซึ่งแก้ปัญหาได้โดยเปิดประตูระบายอากาศ
-โต๊ะทำงาน สำหรับห้อง A จะมีการวางโต๊ะทำงานไว้ในห้องนอน ติดกับหน้าต่าง มีแสงธรรมชาติเข้าดี เหมาะกับฟรีแลนซ์ที่เช้าทำงาน เย็นทำงาน ก่อนนอนทำงาน ทำงานเสร็จแล้วนอนและตื่นมาทำงานต่อ จะสะดวกมากกก หรือใครที่ชอบเขียนไดอารี่ก่อนนอน ก็เหมาะกับโต๊ะทำงานในห้องนอนแบบนี้ ส่วนห้อง B จะวางไว้ในห้องนั่งเล่นที่หน้าห้องน้ำ ซึ่งเป็นจุดที่ไม่โปร่งสักเท่าไหร่ เหมาะกับคนที่ชอบทำงานเล็กๆน้อยๆไม่ได้นั่งแช่นาน ซึ่งโต๊ะทำงานตรงนี้ถ้าเปลี่ยนเป็นโต๊ะเครื่องแป้งจะดูเวิร์คกว่า
-ระเบียง ตำแหน่งของระเบียงอยู่จุดเดียวกัน แต่ห้อง A จะได้ระเบียงยาวกว่า ในขณะที่ห้อง B ได้ระเบียงเล็กๆรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
โดยทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานี้ จะเห็นว่าแม้แต่ห้องที่ได้ฟังก์ชั่นเหมือนกัน แต่มีรายละเอียดเล็กๆน้อยๆที่แตกต่างกัน ก็ต้องชั่งน้ำหนักกันดูระหว่างความชอบและงบประมาณว่าแบบไหนเหมาะสมกับเราที่สุดค่ะ
เอามุมมาตรฐานของห้อง Zoning นี้มาให้ดู จะเห็นว่าเปิดประตูเข้ามา เราจะเจอห้องรับแขกและห้องครัวที่ถูกกั้นด้วยประตูกระจกบานเลื่อนคล้ายๆกับ Zoning 1 ที่แต่ละคอนโดจะเลือกฉากกั้นห้องมาแตกต่างกันทั้งสองตอนและสามตอน ซึ่งเราสามารถดูหลายๆที่เปรียบเทียบกันได้ค่ะ
Zoning 3 : การจัดวาง Zoning แบบนี้จะเห็นในคอนโดตั้งแต่ระดับกลางจนถึง Luxury เป็นฟังก์ชั่นที่ใช้ในพื้นที่ที่ใหญ่ขึ้นมา เหมาะกับห้องพักขนาด 26-40 ตร.ม.ขึ้นไป สามารถปรับเปลี่ยนการจัดวางได้หลากหลายรูปแบบ ซึ่งจุดเด่นของห้องนี้คือการวางโซน Service อย่างห้องน้ำและห้องครัวให้มาอยู่ด้านในติดกับโถงทางเดินอาคาร ซึงข้อดีที่เห็นได้ชัดคือหากเราซื้อของมาเต็มไม้เต็มมือ เมื่อเปิดประตูเข้าห้องมาก็สามารถวางที่เคาท์เตอร์ครัว หรือถ้าเป็นของสดก็เข้าตู้เย็นได้เลยสะดวกดี ส่วนโซนพักผ่อนอย่างห้องนั่งเล่นและห้องนอนถูกดันไปอยู่ด้านนอกอาคาร ทำให้ส่วนพักผ่อนได้แสงธรรมชาติ และได้วิวแบบเต็มๆ ซึ่งห้องในคอนโดตากอากาศหรือคอนโด High Rise ในเมืองนิยมใช้กัน เดี๋ยวเราจะพาไปดูตัวอย่างผังห้องสำหรับ Zoning แบบนี้กันค่ะ
ห้องแบบ A กับแบบ B นี้มีรูปร่างแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้าค่อนไปทางจตุรัสคล้ายๆกัน มีการจัดวางโซนต่างๆเหมือนกัน คือเมื่อเดินเข้าไปในห้องจะเจอกับพื้นที่ครัวที่เชื่อมต่อกับห้องนั่งเล่นและระเบียง โดยมีประตูกระจกเปิดโล่งสามารถมองวิวได้ ถัดไปเป็นห้องน้ำที่เชื่อมต่อกับห้องนอน ซึ่งแม้การจัดวางฟังก์ชั่นจะเหมือนกันเป๊ะๆ แต่มีความแตกต่างกันในหลายจุด คือ
ห้องครัว ห้องครัวในห้อง A จะเป็นครัวเปิดที่เหมาะกับการประกอบอาหารได้เล็กๆน้อยๆ พื้นห้องครัวเป็นพื้นแบบเดียวกับห้องนั่งเล่นที่ส่วนใหญ่จะใช้ Engineering wood, กระเบื้องยาง ซึ่งหากเป็นสองชนิดนี้จะโอเคเพราะสามารถเช็ดทำความสะอาดง่าย แต่งานปูพื้นที่คอนโดนิยมใช้มากที่สุดคือพื้นลามิเนตหนา 8-12 มม. ตัวลามิเนตเองมีคุณสมบัติทนต่อความชื้นได้น้อยกว่ากระเบื้อง หากใช้งานไปนานๆเข้าลามิเนตอาจจะบวมได้ ดังนั้นหากทำน้ำหกต้องรีบเช็ดทันทีป้องกันการบวม ในขณะที่ครัวในห้อง B มีการปูพื้นด้วยกระเบื้อง ซึ่งสามารถทำความสะอาดได้ง่ายและไม่บวมน้ำ ในขณะเดียวกันก็มีการกั้นด้วยประตูบานเลื่อนให้เรียบร้อย ป้องกันกลิ่นอาหารลอยเข้าห้อง ซึ่งฟังก์ชั่นครัวของห้อง B จะมีความยั่งยืนและอยู่สบายกว่าห้อง A ค่ะ
ห้องน้ำ ทางเข้าห้องน้ำของห้อง A จะเข้าทางห้องครัว สะดวกเวลาแขกมา แต่อาจจะขัดใจคนที่ชอบห้องน้ำส่วนตัวในห้องนอน ในขณะที่ห้อง B สะดวกในการเข้าจากในห้องนอน แต่ไม่เป็นส่วนตัวเวลาแขกมา ต้องให้แขกเข้าห้องน้ำทางนี้
ขอเสริมเรื่องการจัดวางฟังก์ชั่นในห้องนอนสักเล็กน้อยนะคะ สำหรับห้องแบบ A ตามผังตัวอย่างจะดันเตียงให้ชิดหน้าต่างและให้โต๊ะทำงานมาอยู่กลางห้อง ซึ่งการจัดวางแบบนี้ มีข้อดีคือหากเปิดม่านในจะตื่นได้ง่ายมากในตอนเช้าเพราะแสงเข้าเต็มๆ แต่ข้อเสียใหญ่ๆคือ เวลาที่เราเปิด-ปิดหน้าต่างจะต้องยืน หรือนั่งบนเตียงซึ่งในกรณีนี้อาจเกิดความพลาดพลั้งพลัดตกจากตึกได้ ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ดังนั้นการจัดวางแบบห้อง B ที่มีระยะให้ยืนเปิด-ปิด หน้าต่าง จะมีความปลอดภัยมากกว่าค่ะ
หน้าตาของห้องที่มีการจัด Zoning แบบนี้ เมื่อเปิดประตูเข้ามาจะเจอกับส่วนครัวที่มีพื้นที่ติดต่อกับห้องนั่งเล่นซึ่งในห้องตัวอย่างนี้จะเป็นครัวเปิด จึงมองไปเห็นพื้นที่โล่งๆแบบนี้ค่ะ ส่วนห้องนั่งเล่นจะติดกับระเบียงที่มีประตูกระจกบานสูง สามารถนั่งดูทีวีและมองวิวข้างนอกได้สบาย
มาดูตัวอย่างเปรียบเทียบกันอีกสักแบบ โดยผังทั้งสองห้องนี้เป็นของคอนโด High Rise ติด BTS สะพานควาย ขนาดของห้อง A และ B มีขนาดพอๆกัน คือ 28 ตร.ม. การจัดพื้นที่ของห้องนี้มีการผลักโซน Service อย่างห้องครัวและห้องน้ำให้มาอยู่ด้านใน ติดโถงทางเดิน ส่วนด้านหน้าติดระเบียงเป็นห้องนอนและห้องรับแขกที่ถูกวางอยู่ในพื้นที่เดียวกันต่างกับผังห้องแบบอื่นๆที่มักแยกห้องนอนกับห้องนั่งเล่น การจัดผังห้องแบบนี้มักจะพบเห็นได้ในโรงแรมหรือรีสอร์ท โดยห้องนอนจะมีพื้นที่เชื่อมต่อกับระเบียงซึ่งมีข้อดีคือช่วยให้ห้องมีช่องเปิดกว้างและมีประตู แต่ข้อเสียคือ เวลาเราจะตากผ้าก็ต้องเดินจากห้องครัวมาตากที่ห้องนอน
ภาพรวมของห้องนี้คือมีรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าคล้ายๆกัน ขนาดพื้นที่พอๆกัน และมีการจัด Zoning เหมือนกัน ดังนั้นเราเลยจะพามาวิเคราะห์พร้อมๆกันนะคะว่าแต่ละแบบมีข้อดีข้อเสียอย่างไร
ห้องครัว ในห้อง A จะเป็นครัวเปิด มีการจัดวางชุดครัวเป็นรูปตัว L ดูเป็นสัดส่วนดี โดยห้องครัวนี้สามารถหาฉากมากั้นห้องเป็นครัวปิดได้ ส่วนห้อง B หากมองจากในผังจะเป็นครัวปิดที่เป็นสัดส่วนมาก มีพื้นที่ครัวพอๆกับห้อง A แต่หากไปลองใช้งานจริงแล้ว จะรู้สึกได้ว่าครัวในห้อง A กว้างกว่าห้อง B ค่ะ
ห้องน้ำ ห้อง A เข้าห้องน้ำทางห้องครัว ในขณะที่ห้อง B สามารถเข้าได้จากห้องนอน ซึ่งหากโซนพักผ่อนอย่างห้องนอนและห้องนั่งเล่นอยู่รวมกันแบบนี้แล้ว การเข้าห้องน้ำทางห้องนอนแบบห้อง B จะเป็นทางที่สะดวกที่สุดเมื่ออยู่อาศัยจริง
ระเบียง ชัดเจนมากว่าห้อง A ระเบียงกว้างกว่าห้องB มีพื้นที่วางเครื่องซักผ้าได้เป็นสัดส่วน แถมเหลือพื้นที่นั่งเล่นหรือจัดสวนได้อีกตะหาก
ห้องนอน การจัดพื้นที่แบบห้อง A จะเป็นห้องนั่งเล่นค่อนข้างจริงจัง มีโต๊ะกลางเป็นสัดส่วน สามารถใช้พื้นที่ได้หลากหลาย ทั้งเป็นที่กินข้าว นั่งทำงาน หรือดูทีวี ซึ่งการดูทีวีจะสามารถดูได้ที่ส่วนนั่งเล่นเท่านั้น หากนอนบนเคียงจะไม่สามารถดูทีวีได้ ในขณะที่ห้องแบบ B จะมีการจัดพื้นที่เหมือนห้อง Studio ที่มีการ Built-in ที่วางทีวีปลายเตียง และวางโซฟาไว้มุมหนึ่งของห้องติดกับหน้าต่าง การจัดแบบนี้จะเหมือนโรงแรมมากกว่าแบบ A และห้องดูโล่งกว่า แต่การใช้งานห้องแรกจะเป็นส่วนส่วนกว่า ดังนั้นก็ต้องอยู่ที่ความชอบแล้วค่ะว่าชอบการใช้งานพื้นที่แบบไหนมากกว่ากัน
ผังห้องที่น่าสนใจใน Zoning มีหลายแบบเลย เพราะเป็นการจัดฟังก์ชั่นที่ค่อนข้างนิยมในคอนโดหลาย Segment เรียกว่าจัดให้ดูราคาถูกหรือจัดให้ดูแพงก็ได้ ห้องตัวอย่างนี้จะเป็นห้อง 1 Bedroom ของคอนโด High Rish แถวๆสามย่าน เน้นจุดขายที่ Panorama View ห้องพักของที่นี่จะเน้นให้มีกระจกกว้างและกระจกโค้งเพื่อให้คนที่ใช้พื้นที่ภายในห้องสามารถมองวิวได้ โดยห้องนี้มีขนาด 34.5 ตารางเมตร พอดีกับการอยู่อาศัย 2 คน โดยเปิดประตูเข้าไปจะเจอกับห้องครัวซึ่งโครงการ Built-in ชุดครัวมาให้ พอเดินเข้าไปจะเป็นห้องนั่งเล่น พื้นที่ระหว่างครัวและห้องนั่งเล่นสามารถวางโต๊ะรับประทานอาหารขนาด 2 ที่นั่งได้ ถัดไปเป็นระเบียงที่มีประตูบานเลื่อนติดกับราวกันตกให้ด้วย จึงทำให้ Facade ของตึกนี้จึงเป็นกระจกทั้งอาคาร ซึ่งอย่าลืมว่าเมื่อมีกระจกก็ต้องมีความร้อน ผ้าม่านจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมีค่ะ
High Light ของห้องนี้อยู่ที่ฉากแบบฝังในผนังที่กั้นพื้นที่ระหว่างห้องนั่งเล่นกับห้องนอน สามารถเลื่อนเปิด-ปิดได้ ทำให้เมื่อเราเปิดประตูออก ก็จะได้พื้นที่เหมือนห้อง Studio กว้างๆ แต่พอปิดประตูแล้วห้องจะดูแคบขึ้น แต่ก็ได้ประโยชน์ตรงที่หากต้องการใช้งานทั้งห้องนั่งเล่นและห้องนอนในช่วงเวลาเดียวกัน ก็เป็นการแบ่งการใช้งานทั้งสองฟังก์ชั่นไปพร้อมๆกันได้ค่ะ
เมื่อพูดถึงคอนโดตากอากาศแล้ว ก็พามาดูผังห้องคอนโดตากอากาศกันบ้าง โดยห้องนี้เป็นผังของคอนโด High Rise ใกล้ๆตัวเมืองศรีราชาที่เค้าเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าชาวญี่ปุ่น มีฟังก์ชั่นเฉพาะสำหรับคนญี่ปุ่นและมีจุดขายอยู่ที่วิว เพราะห้องฝั่งหนึ่งจะได้วิวภูเขา ส่วนอีกฝั่งเป็นวิวทะเล ดังนั้นทุกห้องของที่นี่จึงต้องการให้ภายในห้องสามารถมองวิวได้ การจัดฟังก์ชั่นจึงไม่ต่างกับของ Ashton Chula-Silom มากนัก เพราะเป็นคอนโดที่ต้องการวิวเหมือนกัน โดยเปิดประตูเข้าไปจะเจอกับห้องครัวซึ่งโครงการ Built-in ชุดครัวมาให้พร้อมโต๊ะรับประทานอาหารขนาด 2 ที่นั่งได้ พอเดินเข้าไปจะเป็นห้องนั่งเล่น ที่มีการวางโซฟาขนาด 2 ที่นั่งพร้อมโต๊ะกลางและ Built-in ชุดวางทีวีมาให้เรียบร้อย ถัดไปเป็นระเบียงที่มีการวาง Compressor แอร์ไว้ด้านบน ทำให้สามารถออกไปนั่งเล่นที่ระเบียงขณะเปิดแอร์ได้ ไม่ร้อนมากนัก
ส่วนของห้องนอนและห้องนั่งเล่นจะถูกกั้นด้วยประตูกระจกบานเลื่อน 3 ตอนเหมือน Ashton Chula-Silom สามารถแบ่งการใช้งานทั้งสองฟังก์ชั่นไปพร้อมๆกันได้ แต่ความแตกต่างกันคือ ด้วยตัวโครงการ Khightbridge The Ocean เป็นคอนโดตากอากาศที่ต้องการความโปร่ง โล่ง จึงมีการติดตั้งฉากกั้นเป็นกระจก ดังนั้นคนที่อยู่ในห้องรับแขกจึงยังสามารถมองเห็นภายในห้องนอนได้
Hight Light ของห้องนี้คือจะเป็นห้องน้ำ ซึ่งถ้าดูในแปลนห้องจะเห็นว่าพื้นที่ห้องน้ำนี่พอๆกับห้องนอนเลย เห็นชัดว่าค่อนข้างให้ความสำคัญกับห้องน้ำมาก โดยพื้นที่ห้องน้ำส่วนแห้งจะมีเคาท์เตอร์อ่างล้างหน้าพร้อมตู้กระจกเปิดได้มาให้ โถส้วมเป็นแบบญี่ปุ่นใช้ปุ่มกดเอา ไม่มีสายชำระและที่แขวนกระดาษทิชชู่ให้ และส่วนเปียกจะมีอ่างจากุชชี่ รวมทั้งพื้นที่อาบน้ำด้วย Rain Shower ที่มีเก้าอี้เล็กๆให้ 1 ตัวสำหรับนั่งอาบน้ำสไตล์คนญี่ปุ่น สิ่งที่สะดวกมากที่สุดคือ สามารถเข้าออกได้ทั้งสองทาง คือจากห้องครัวและห้องนอน เป็นสิ่งที่ทำออกมาได้ดี
ภาพบรรยากาศห้องที่กั้นเป็นประตูบานเลื่อน 3 ตอน แต่ใช้หน้าบานเป็นกระจก ห้องจึงดูโปร่ง เวลาเปิดประตูสุดช่องเปิดจะค่อนข้างกว้าง เสมือนห้อง Studio ห้องหนึ่ง ที่ห้องนอนและห้องนั่งเล่นเป็นพื้นที่เดียวกัน หากนอนอยู่บนเตียงก็สามารถดูทีวีที่ห้องรับแขกได้
สิ่งที่น่าสนใจคือฟังก์ชั่นการอาบน้ำจะแบ่งเป็นส่วนอาบน้ำและอ่างจากุชชี่ ตัวอย่างการใช้งานพื้นที่ เช่น เราอาบน้ำล้างตัวให้สะอาดโดยการนั่งอาบน้ำที่เก้าอี้เล็กๆตัวนี้ จากนั้นก็ลงไปแช่ตัวในอ่างจากุชชี่เพื่อผ่อนคลาย โดยคนญี่ปุ่นบางคนที่ชินกับการอาบน้ำแบบเดิมๆก็มักจะหาถังใส่น้ำมาวางแล้วเอาขันตักอาบ นึกภาพคล้ายๆกับบ้านแถวต่างจังหวัดของไทยเรา ที่ยังใช้ขันและโอ่งกันอยู่แบบนั้นเลยค่ะ ถือเป็นฟังก์ชั่นเฉพาะที่ไม่ค่อยได้เห็นได้ในคอนโดทั่วไป
Zoning 4 : ใน Zoning สุดท้ายนี้จะพาไปดูการวางผังแบบนำส่วน Service มาไว้ด้านหน้ากันบ้าง โดยการจัดฟังก์ชั่นแบบนี้เหมาะกับคอนโดที่เน้นการใช้งานและอยู่อาศัยจริง ไม่ได้ซีเรียสเรื่องวิวเท่าไหร่ เพราะสามารถจัดการงานระบบได้ง่าย เนื่องจากสามารถใช้ช่องระบบน้ำ ไฟ ท่อแอร์ ทุกอย่างมารวมอยู่ที่เดียว ในขณะเดียวกันการระบายอากาศก็สามารถทำได้ง่าย เพราะส่วน Service ติดฝั่งด้านนอกของอาคาร แค่เปิดหน้าต่าง ทั้งกลิ่น ควัน ก็สามารถระบายออกได้แล้วค่ะ เดี๋ยวไปดูตัวอย่างพร้อมๆกันเลยย
ห้องนี้เป็นผังของคอนโด High Rise ใกล้ๆรถไฟฟ้าสถานีท่าพระ ขนาด 34.5 ตร.ม. มีการจัดวางพื้นที่ที่เน้นการใช้สอยในชีวิตประจำวันอย่างมีประสิทธิภาพไม่เน้นการมองวิวสักเท่าไหร่ โดยเมื่อเปิดประตูเข้าห้องมาจะเจอห้องนั่งเล่นที่เชื่อมต่อกับครัวปิดที่ติดตั้งฉากกั้นไว้ให้แล้วและห้องน้ำที่เข้าได้จากห้องนั่งเล่นเลย ข้างๆกันเป็นห้องนอนที่มีพื้นที่ให้ Built-in ตู้เสื้อผ้าและโต๊ะเครื่องแป้งได้ โดยห้องนี้จะติดต่อกับระเบียงขนาดปานกลาง สามารถเดินออกไปตากผ้า และเอาเข้ามาเก็บในตู้เสื้อผ้าสะดวก
โดยข้อดีของผังแบบนี้คือส่วนเซอร์วิสจะเชื่อมถึงการหมด สามารถใช้งานได้ง่าย ระบายอากาศได้ดี แต่ข้อเสียคือวิวในห้องจะไม่ค่อยโปร่งสักเท่าไหร่ เพราะมองไปก็จะเห็นห้องครัว ห้องน้ำ ไม่ก็ระเบียง
เอาภาพบรรยากาศภายในห้องมาให้ดูกัน เมื่อเปิดเข้ามาจะเจอพื้นที่ห้องนั่งเล่น ที่มองตรงไปจะเห็นครัวและห้องน้ำ ส่วนทางด้านซ้ายมือเป็นทางเข้าของห้องนอน อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ห้องแบบนี้จะมีมุมมองที่ไม่ได้โปร่งมากเหมือนกับการจัด Zoning แบบอื่นๆ
ทั้งหมดนี้ก็เป็นตัวอย่างของผังห้องแบบ 1 Bedroom ขนาดไม่เกิน 40 ตร.ม.ที่เรามักเห็นได้ทั่วไป แต่ละแบบก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป ที่สุดแล้วคงให้ใครมาฟันธงว่าแบบไหนดีที่สุดก็คงไม่ดีเท่าแบบไหนที่เหมาะกับเราที่สุดใช่ไหมล่ะคะ ใครชอบแบบไหนกันบ้าง สามารถ Comment พูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้นะคะ 🙂