สวัสดีค่ะ หลายๆคนมี ‘ความเชื่อ’ เกี่ยวกับการเลือกที่ตั้งตำแหน่งของที่อยู่อาศัยที่แตกต่างกันไปใช่ไหมคะ แต่หนึ่งในเหตุผลของความเชื่อยอดฮิตที่เขาบอกกันมาก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของ ฮวงจุ้ย หรือคำกล่าวตั้งแต่โบราณ วันนีัเราจะมาไขคำตอบ และเหตุผลที่สามารถพิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์ในเรื่องของความเชื่อในการเลือกตำแหน่งบ้าน หรือ คอนโดมิเนียมกันค่ะ

  • ไม่ควรปลูกบ้านตรงทางสามแพร่ง จริงเหรอ? 
  • ไม่ควรปลูกเรือนขวางตะวัน จริงเหรอ?

แล้วถ้าเราต้องอยู่ตรง ‘ทางสามแพร่ง’ หรือบ้านที่ปลูก ‘ขวางตะวัน’ จริงๆ จะมีทางเลือกในการแก้ไขอย่างไร ตามไปอ่านรายละเอียดกันได้เลยค่ะ


ไม่ควรปลูกบ้านตรงทางสามแพร่ง จริงเหรอ?

หลายๆคนคงเคยได้ยินคำพูดที่ว่า “ห้ามสร้างบ้านตรงทางสามแพร่ง” “ที่ดินทางสามแพร่งไม่ดี เป็นอัปมงคล”กันใช่ไหมคะ  “ทางสามแพร่ง” ตามความเชื่อของทั้งไทยและต่างประเทศเชื่อกันว่าเป็นทางผีผ่านหรือที่ชุมนุมของวิญญาณ ถือเป็นตำแหน่งไม่ดี บ้างก็ว่าใครทำมาค้าขายแล้วเลือกบ้านที่อยู่ตรงทางสามแพร่งนี้จะประสบพบเจอกับหายนะ ทำมาค้าไม่ขึ้นจนสุดท้ายก็ต้องเจ๊งไป จึงเป็นตำแหน่งของบ้านที่โบราณไม่แนะนำให้ซื้อเลยทีเดียว

ทางสามแพร่งคืออะไร?

ก่อนอื่นต้องขออธิบายความหมายของทางสามแพร่งให้เข้าใจตรงกันซะก่อนนะคะ ทางสามแพร่งคือทางที่มีลักษณะเป็นตัว T หรือ ตัว Y มีจุดที่ทางทั้งสามพุ่งชนเข้าหานั่นเองค่ะ

ถ้าเรามาลองคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล สาเหตุที่มีความเชื่อว่าไม่ให้ปลูกบ้านบริเวณทางสามแพร่งนั้น อาจไม่ได้เกี่ยวกับภูตผีวิญญาณแต่เป็นเพราะลักษณะของเส้นทางที่เป็นแนวตรงพุ่งเข้าหาจุดศูนย์รวมหรือบ้านของเรา ยิ่งมีรถปริมาณมาก ขับเร็วมาก ยิ่งเป็นตำแหน่งที่ไม่ดี เพราะทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและอาจจะถูกรบกวนจากเสียงและมลภาวะต่างๆมากมาย ทำให้คนที่อยู่อาศัยเกิดความวุ่นวายและไม่เป็นส่วนตัว ส่งผลให้ชีวิตไม่เป็นสุขได้

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุของทางสามแพร่งนั้นขึ้นอยู่กับว่าทำเลที่ตั้งนั้นมีปริมาณรถและความคึกคักมากเพียงใด ถ้าเราซื้อบ้านที่ไม่ได้เป็นโครงการจัดสรร อยู่ในตรอกซอกซอย โดยเฉพาะซอยที่มีรถผ่านเยอะๆไม่ได้เป็นซอยตันก็มีความวุ่นวายมากกว่าซอยที่เงียบสงบหรือหมู่บ้านค่ะ

กรณีที่เราอยู่โครงการจัดสรรนั้นจะมีความสงบมากกว่าเพราะแต่ละซอยได้ถูกออกแบบให้มีจำนวนบ้านเพียงไม่กี่หลัง และมีจำกัดพื้นที่ความเป็นส่วนตัวไว้แล้ว ผู้ที่เข้ามาภายในโครงการจะไม่พลุกพล่านเท่ากับนอกโครงการโดยเฉพาะโครงการจัดสรรขนาดเล็ก จำนวนยูนิตน้อยๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถรับรองได้ว่าจะไม่เกิดอุบัติเหตุนะคะ ดังนั้นใครที่ไม่ชอบความเสี่ยงอาจเลือกตำแหน่งบ้านหลังอื่นๆแทนค่ะ

ความเชื่อที่เกี่ยวเนื่องกับทางสามแพร่งจริงๆแล้วไม่ได้มีเฉพาะตัวบ้านเท่านั้นแต่ภายในบ้านก็มีเช่นกันค่ะ นั่นก็คือความเชื่อที่ไม่นิยมเลือกห้องนอนที่มีประตูอยู่ตรงทางสามแพร่ง โถงทางเดินหรือบันได ไม่ใช่ว่าเลือกแล้วจะเกิดอุบัติเหตุหรือมีอะไรมาชนเหมือนกับตัวบ้าน แต่จะเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว ลองคิดดูถ้าห้องเราตรงกับบันได ใครจะขึ้นลงก็จะเห็นห้องเราเป็นห้องแรก ถ้าลืมปิดประตูไว้เราทำอะไรใครก็เห็นหมดและยังเป็นห้องที่อยู่แล้วไม่สงบเพราะจะได้ยินเสียคนเดินผ่านไปมาอีกต่างหาก

ดังนั้น ในการวางผังบ้านของโครงการสมัยนี้จึงหลีกเลี่ยงทำห้องนอนในบริเวณดังกล่าว แต่จะมีการปรับทำเป็นผนังทึบและปรับตำแหน่งห้องนอนไปอยู่ฝั่งซ้ายขวาแทน เวลาเดินขึ้นบันไดมาก็จะไม่เจอประตูห้องนอนห้องไหนเลย ส่วนอีกแบบที่เป็นที่นิยมเหมือนกันคือทำเป็นห้องน้ำซะเลย แม้ว่าจะเดินขึ้นมาเจอประตูห้องน้ำแต่ก็ถือว่าไม่ใช่ห้องนอนที่เราใช้พักผ่อน แค่ตอนอาบน้ำเสร็จแต่งตัวให้เรียบร้อยก่อนออกมาก็พอค่ะ

ส่วนบ้านที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาหน่อย พอเดินขึ้นบันไดมาชั้น 2 มักนิยมทำเป็นพื้นที่นั่งเล่น นั่งทำงานหรือโถงเล็กๆก่อนแจกไปยังห้องนอนอื่นๆ การวางผังแบบนี้จะช่วยให้ห้องนอนอยู่ด้านใน หลบมุมขึ้นมาหน่อยจึงมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้นด้วย

ทางสามแพร่งในคอนโดมิเนียมจะมีความคล้ายคลึงกับการเลือกห้องนอนในบ้านตรงที่ไม่นิยมห้องที่อยู่ปลายสุดของทางเดิน เพราะเป็นห้องที่เสียความเป็นส่วนตัวได้ง่าย ทุกห้องที่ออกมาที่ระเบียงสามารถมองเห็นห้องของเราได้ ใครไปใครมารู้หมด หรือหากเปิดประตูห้องก็จะเห็นเข้ามาถึงในห้องได้ บางโครงการมี Floor Plan เป็นรูปตัว T ก็จะมีห้องที่เป็นทางสามแพร่งที่คนที่อยู่ห้องอื่นสามารถเห็นเราได้ถึง 3 ด้านค่ะ

ตัวอย่างห้องที่เป็นทางสามแพร่งและอยู่ตรงกับโถงบันไดในคอนโดมิเนียม

ทางสามแพร่งมีข้อดีอย่างไร ?

แต่ก็ใช่ว่าบ้านที่อยู่บนทางสามแพร่งจะมีแต่ข้อเสียเพียงอย่างเดียวนะคะ เพราะด้วยความที่บริเวณหน้าบ้านไม่มีอะไรมาบดบัง จึงทำให้มีความโปร่งโล่งสามารถรับลมได้ดีกว่า และบางโครงการตำแหน่งดังกล่าวขายค่อนข้างยาก ทางโครงการจึงมักลดราคาหรือขายในราคาที่ถูกกว่าแปลงอื่นๆ ทำให้สามารถซื้อบ้านได้ราคาต่ำกว่าปกติ เช่นเดียวกับคอนโดห้องที่อยู่ตำแหน่งเหล่านี้ก็มีราคาที่ถูกกว่าห้องอื่นๆเช่นเดียวกันค่ะ

  • ปรับทางเข้าออกไม่ให้ตรงกับทางสามแพร่ง
    ถ้าพอมีพื้นที่หรือตัวบ้านหน้ากว้างหน่อยแนะนำให้ย้ายประตูทางเข้าออกหลักหรือรั้วบ้าน ไม่ให้ตรงกับทางสามแพร่ง เนื่องจากหากมีรถพุ่งมาชนจะได้ไม่สร้างความเสียหายให้กับบ้านมากนัก
  • ทำผนังและรั้วหน้าบ้านให้เป็นผนังทึบเพื่อเพิ่มความเป็นส่วนตัว
    หากไม่สามารถย้ายตำแหน่งของประตูหรือรั้วบ้านได้ แนะนำให้ทำเป็นผนังทึบ เลือกวัสดุที่มีความแข็งแรง เพื่อใช้กันอุบัติเหตุและทำให้คนมองเข้ามาไม่เห็นในตัวบ้าน เป็นการเพิ่มความเป็นส่วนตัวได้ค่ะ
  • ติดตั้งไฟให้สว่าง
    ทำบริเวณหน้าบ้านให้สว่างโดยการติดไฟเพราะคนที่ขับรถในเวลากลางคืนจะได้เห็นว่ามีบ้านอยู่บริเวณนี้ไม่ขับพุ่งมาชนและเป็นการป้องกันมิจฉาชีพที่อาจจะแอบเข้ามาถ้าบ้านเรามืดได้ด้วย
  • ติดวัสดุที่สามารถสะท้อนแสงหรือกระจกเงา
    ติดตั้งวัสดุที่สามารถสะท้อนแสงได้หรือกระจกเงาบริเวณหน้าบ้าน เผื่อเวลาที่มีรถมาจะได้สะท้อนเตือนคนขับว่ามีบ้านอยู่ และสามารถใช้ดูว่าอีกฝั่งมีรถมาหรือไม่เพื่อป้องกันอุบัติเหตุการเฉี่ยวชน

สรุปแล้วไม่ควรปลูกบ้านตรงทางสามแพร่ง จริงเหรอ ?

คำตอบ : จริงค่ะ

แต่ด้วยเหตุผลที่ว่า ถ้าไม่อยากเสี่งต่อการเกิดอุบัติเหตุและต้องการความเป็นส่วนตัวของบ้านนั่นเอง


ไม่ควรปลูกเรือนขวางตะวัน จริงเหรอ?

โบราณว่าไว้ว่า ’อย่าปลูกเรือนขวางตะวัน’ เพราะเป็นตำแหน่งที่ไม่ดี บ้างก็ว่าเป็นการขวางที่ทางของเทวดาที่อารักขาบ้านของเรา ทำให้ผู้ที่อาศัยในบ้านไม่อยู่ไม่เป็นสุข เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง หรือซ้ำร้ายเป็นการดึงดูดเหตุการณ์แย่ๆเข้ามาภายในบ้าน แต่ถ้าเรา ‘ปลูกเรือนตามตะวัน’ จะทำให้ร่มเย็นเป็นสุข เป็นมงคลกับตัวบ้านและผู้อยู่อาศัย ดังนั้นเวลาเราจะสร้างบ้าน หรือซื้อบ้านทั้งทีจึงต้องดูทิศทางให้ดีก่อนค่ะ

เราได้เลือกตำแหน่งบ้านตามถนนทางเข้ากันไปแล้ว คราวนี้มาลองดูทิศทางของบ้านที่หันหน้าไปยังทิศต่างๆกันค่ะ ซึ่งเราจะคลายข้อสงสัยที่ว่า ไม่ควรปลูกเรือนขวางตะวัน จริงเหรอ?

ปลูกเรือนขวางตะวันเป็นอย่างไร ?

คำว่า ‘ขวางตะวัน’ ที่โบราณว่าไว้นั้นหมายถึง การปลูกบ้านหันหน้าไปทางทิศที่ดวงอาทิตย์ขึ้น – ตก โดยตรงๆ หรือหันด้านยาวของตัวบ้านไปทางทิศเหนือ – ใต้ นั่นเองค่ะ

ในความเป็นจริงแล้ว เหตุผลของการห้ามปลูกเรือนขวางตะวันที่โบราณว่าไว้นั้นมีความจริงทีเดียวค่ะ ต้องขอพาทุกคนนึกภาพแผนที่ประเทศไทยกันซักหน่อย ประเทศไทยของเราตั้งอยู่ใกล้กับเส้นศูนย์สูตร (ระหว่างละติจูดที่ 5 องศาเหนือและ 20 องศาเหนือ) ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอากาศร้อนมาก (มากๆ) ซึ่งเราทราบกันดีอยู่แล้วใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นการก่อสร้างที่อยู่อาศัยจึงต้องคำนึงถึงทิศทางของแสงแดด ความร้อน และกระแสลม

ตำแหน่งของประเทศไทยอยู่ในจุดที่มีลมมรสุมพัดผ่านอยู่ 2 ช่วง คือ ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ในเดือนพฤศจิกายน ไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ นำเอาลมเย็นมาจากซีกโลกเหนือ (ในหน้าหนาว) และ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ประมาณกลางเดือนพฤษภาคมไปจนถึงกลางเดือนตุลาคม (ช่วงหน้าฝน) ลมมรสุมนี้จะพัดเอาความชื้นในมหาสมุทรขึ้นมาด้วย โดยเฉพาะบริเวณชายฝั่งทำให้ภาคใต้มีฝนตกชุกกว่าภาคอื่นๆ

นอกจากเรื่องของลมแล้ว มาดูเรื่องของแสงแดดกันบ้าง เราคงเคยได้ยินคำว่า ‘แดดอ้อมใต้’ กันใช่ไหมคะ ส่วนใหญ่แล้วในประเทศไทยจะได้รับแสงแดดที่เฉียงมาจากทิศใต้ เพราะนอกจากประเทศไทยจะอยู่เหนือเส้นศูนย์สูตรมานิดหน่อยแล้ว แกนของโลกเรานั้นก็เอียงอีกเล็กน้อยทำให้แสงแดดส่วนใหญ่ของเราจะค่อนไปทางทิศใต้ แต่ทิศทางของดวงอาทิตย์ก็ไม่ได้อ้อมไปทางใต้อยู่ตลอดนะคะ จะมีอ้อมมาทางทิศเหนือบ้างประมาณ 1 ใน 4 ของปีค่ะ

นี่จึงเป็นเหตุผลที่บ้านปลูกขวางตะวัน (หันด้านยาวไปทางทิศเหนือ – ใต้) จะทำให้ตัวบ้านสะสมความร้อนตั้งแต่ช่วงเช้า (พระอาทิตย์ขึ้น) ไปจนถึงตอนเย็น (พระอาทิตย์ตก) ตลอดทั้งวัน ทำให้อากาศภายในบ้านร้อน อบอ้าว ยาวไปจนถึงตอนกลางคืน อาจจะเป็นสาเหตุของการ อยู่ไม่เป็นสุข หงุดหงิด รำคาญใจจนเกิดการทะเลาะเบาะแว้งอย่างที่โบราณว่าเอาไว้จริงๆค่ะ

ส่วนบ้านที่ปลูกเรือนตามตะวันแล้วจะอยู่ สบาย มีความร่มเย็นเป็นสุข เพราะนอกจากจะไม่ได้รับแสงแดดและความร้อนตลอดทั้งวันแล้ว ยังได้รับลมเข้าตัวบ้านในทิศทางที่พัดผ่านได้สะดวก มีอากาศถ่ายเทนั่นเองค่ะ

ถ้าเลือกไม่ได้ ต้องสร้างบ้านขวางตะวันจริงๆ ทำอย่างไรดี ?

ในปัจจุบันที่อยู่อาศัยของเราก็มีการปรับเปลี่ยนไปจากแต่เดิม ที่เป็นบ้านเดี่ยวๆ ปลูกบนพื้นที่ตนเอง เดี๋ยวนี้ก็มีตึกสูง อาคารหนาแน่น อาจจะทำให้บ้านไม่ได้โดนแสงแดดโดยตรงตามทิศเหมือนเดิมแล้วก็เป็นได้ค่ะ เช่น บ้านทาวน์โฮม ที่มีช่องเปิดด้านหน้ากับด้านหลังบ้าน หรือคอนโดมิเนียม ก็ไม่ต้องกังวลลว่าแสงแดดจะเข้าตัวบ้านด้านข้าง ให้เราเลือกหันหน้าบ้านไปในทิศทางที่เหมาะสมตามตำแหน่งนั้นๆได้เลยค่ะ เช่น ชอบบ้านหันหน้าเข้าหาสวน แม้เป็นทิศตะวันตก แต่ได้วิวดี มีอาคารข้างเคียงบังแสงแดดให้แล้ว ก็สามารถเลือกตำแหน่งนั้นๆได้ค่ะ แต่ถ้าใครที่ยังกังวลว่าบ้านตัวเองปลูกขวางตะวันแล้วจะร้อน เราก็มีวิธีแก้ มาให้ลองเลือกไปปรับกับบ้านของตัวเองกันค่ะ

  • ปลูกต้นไม้บังแดด

วิธีนี้เป็นวิธีง่ายๆ ที่นอกจากจะช่วยลดความร้อนและแสงแดดก่อนเข้าสู่ตัวบ้านแล้ว ยังเพิ่มความร่มรื่น เป็นวิวสีเขียวให้กับคนในบ้านด้วยค่ะ แต่ก็ควรเลือกต้นไม้ที่สามารถปลูกใกล้กับตัวบ้านได้นะคะ เช่น ไผ่เลี้ยง, หลิว, จำปี, รวงผึ่ง, กันเกรา เป็นต้น

ตัวอย่างบ้านที่ปลูกต้นไม้กันแสงแดด

  • ทำผนังกันแดด/ แผงบังแดด

วิธีนี้เหมาะกับคนที่มีพื้นที่จำกัด ไม่อยากปลูกต้นไม้ใหญ่ ก็สามารถติดตั้งแผงกันแดดในทิศใต้ เพื่อลดความร้อนที่เข้าสู่ตัวบ้าน ซึ่งในปัจจุบันก็มีดีไซน์หลากหลาย และนิยมใช้กันมากขึ้นค่ะ

ตัวอย่างบ้านที่มีระแนงบังแสงแดด

สรุปแล้วไม่ควรปลูกเรือนขวางตะวัน จริงเหรอ ?

คำตอบ : จริงค่ะ

แต่ด้วยเหตุผลที่ว่า ถ้าไม่อยากให้ตัวบ้านส่วนใหญ่รับแดดร้อนในเวลาบ่าย และอยากให้บ้านได้รับลมเย็นตลอดทั้งปี

เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับการเลือกตำแหน่งบ้านตามความเชื่อโบราณและที่มาที่ไปเหตุผลของคำกล่าวต่างๆตั้งแต่โบราณ หวังว่าบทความนี้จะช่วยเพื่อนๆที่กำลังมองหาเลือกซื้อบ้านในโครงการจัดสรร หรือเลือกตำแหน่งห้องในคอนโดมิเนียมมีแนวทางในการเลือกมากขึ้นนะคะ คราวหน้าอยากให้เราหาเหตุผลของความเชื่อเรื่องไหนอีกสามารถ Comment บอกกันที่ด้านล่างนี้ได้เลยนะคะ


ThinkofLiving มี LINE Official Account แล้วนะคะ
ไม่อยากพลาดข้อมูลข่าวสารก็ Add เลย > https://lin.ee/svACOxc

ติดตามพวกเราได้ที่
Website : www.thinkofliving.com
Twitter : www.twitter.com/thinkofliving
YouTube : www.youtube.com/ThinkofLiving
Instagram : www.instagram.com/thinkofliving
Facebook : ThinkofLiving