Work From Home เทรนด์ใหม่ของมนุษย์เงินเดือนที่ทำงานจากที่บ้าน เนื่องจากสถานะการการแพร่ระบาดของ Covid-19 ในปัจจุบัน ที่ได้ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ซึ่งรัฐบาลได้ออกมาตรการรับมือ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด และลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสตัวนี้ ทั้งการสั่งปิดห้างสรรพสินค้า สถานบริการ สถานบันเทิง และร้านอาหารต่างๆ รวมถึงบริษัทหลายๆก็ได้ตัดสินใจให้พนักงานสามารถ Work From Home หรือทำงานอยู่ที่บ้านได้นั่นเองครับ
ปัจจุบันโลกของเรามีอาชีพเกิดใหม่ค่อนข้างหลากหลาย ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยและเทคโนโลยี บางอาชีพก็สามารถทำงานที่บ้าน หรือที่ไหนๆก็ได้โดยไม่ต้องเข้าออฟฟิศอยู่แล้ว เช่น งานนักเขียน นักลงทุน นักวิเคราะห์ หรือยูทูปเบอร์ เป็นต้น แต่ก็ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า คนส่วนใหญ่ยังคงเป็นมนุษย์เงินเดือน ที่ทำงานในออฟฟิศ โรงงาน หรือสถานที่ทำงานต่างๆของตนอยู่ ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นแล้วจึงต้องมีการปรับตัว เพื่อที่จะได้ทำงานให้บริษัทสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้
โดยแต่ละสาขาอาชีพต่างมีความจำเป็น ความต้องการ และวิธีการทำงานที่ต่างกันออกไป บางอาชีพใช้พื้นที่ในการทำงานน้อย อย่างคอมพิวเตอร์หรือไอแพดเครื่องเดียวก็ทำงานได้ บางอาชีพอาจต้องมีเอกสารและอุปกรณ์เสริม จึงต้องการโต๊ะหรือพื้นที่ในการทำงานได้จริง และบางอาชีพก็มีสิ่งของหรืออุปกรณ์ที่ต้องใช้ขนาดใหญ่ และต้องการพื้นที่ทำงานเยอะ
ขนาดพื้นที่และโต๊ะทำงานที่บ้านช่วง Work From Home ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ต้องคำนึงถึง เพื่อให้สามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกสาขาอาชีพนั้นๆของตนได้ และแน่นอนว่าขนาดพื้นที่แต่ละแบบ ย่อมมีรายละเอียดที่น่าสนใจ และควรรู้แตกต่างกันออกไป โดยผมจะขอแบ่งเป็น 3 ขนาดง่ายๆคือ
- พื้นที่น้อย อุปกรณ์ชิ้นเดียว ทำงานที่ไหนก็ได้
- พื้นที่ขนาดกลาง อุปกรณ์ 3 – 4 ชิ้น เริ่มต้องการโต๊ะทำงาน
- พื้นที่ขนาดใหญ่ อุปกรณ์และของที่ใช้เยอะ ต้องการโต๊ะทำงานจริงจัง
1. พื้นที่น้อย อุปกรณ์ชิ้นเดียว ทำงานที่ไหนก็ได้
สมัยนี้มีงานหลายประเภทครับที่ไม่จำเป็นต้องพกอุปกรณ์เยอะๆ ขอแค่มีคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค/ไอแพด หรือสมุดแค่เล่มเดียวเราก็สามารถทำงานได้แล้ว ซึ่งจะใช้พื้นที่ในการทำงานน้อยหรือทำในพื้นที่จำกัดได้ดี และยังสามารถเปลี่ยนสถานที่ในการทำงานได้ง่ายอีกด้วยครับ ดังนั้นใครที่เป็นสายการทำงานแบบนี้คุณจะ “มีอิสระ” ในการเลือกพื้นที่ทำงานได้หลากหลายมากขึ้น
ข้อควรระวังสำหรับคนกลุ่มนี้คือ บางคนชอบวางโน๊ตบุ๊คไว้บนตักในขณะที่ไม่มีโต๊ะ แล้วนั่งพิมพ์งานเป็นเวลานานๆ ซึ่งหน้าจอและแป้นพิมพ์ที่อยู่ต่ำจึงทำให้เราต้องก้มลงไป จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปวดคอและหลัง หรือบางคนชอบยกขาขึ้นมานั่งแบบขัดสมาธิ (แม้ว่าจะนั่งอยู่บนเก้าอี้หรือโซฟาก็ตาม) ซึ่งจะทำให้เกิดอาการเหน็บชา เนื่องจากการกดทับของเส้นประสาทบริเวณต่างๆ และระบบโลหิตไหวเวียนได้ไม่สะดวก
ซึ่งระยะเวลาที่เป็นเหน็บชาจะ มาก/น้อย ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคน แต่ถ้านั่งแค่ 2-3 นาที เกิดอาการชาเร็วมาก อาจเป็นเพราะขาดสารอาหารบางชนิด หรือมีปัญหาสุขภาพด้านอื่นๆแทรกซ้อน จึงควรไปพบแพทย์ครับ ดังนั้นสิ่งที่ควรจะรู้ก็คือ ท่านั่งที่ถูกต้องในการทำงานนั่นเอง
หลักๆคือการนั่งหลังตรง ปรับความสูงของเก้าอี้และโต๊ะให้เหมาะสม จอคอมพิวเตอร์ควรอยู่ในระดับตรงกับสายตาพอดี พร้อมทำมุม 10 – 25 องศา ส่วนแป้นพิมพ์ก็ควรอยู่ระดับเดียวกับข้อศอกและที่พักแขนครับ ซึ่งเมื่อทำตามนี้ได้ก็จะช่วยลดอาการบาดเจ็บต่างๆลงไปได้เยอะทีเดียว
ซึ่งถึงแม้จะเป็นท่าที่ถูกต้อง แต่ก็ไม่ควรจะนั่งอยู่ท่าเดิมนานเกินไป ในระหว่างที่นั่งทำงานควรมีการพักสายตาออกจากจอคอมพิวเตอร์ทุกๆ 10 – 15 นาที และเปลี่ยนอิริยาบถหรือเคลื่อนไหวร่างกายบ้างเล็กน้อยทุกๆ 15 – 20 นาที เช่น ยืดแขนยืดขาหรือลุกขึ้นเดินบ้าง ก็จะช่วยลดอาการปวดเมื่อยบริเวณไหล่ หลัง แขน หรือขาได้ครับ
ซึ่งก็นับเป็นข้อได้เปรียบของคนที่ใช้อุปกรณ์น้อยชิ้น และสามารถย้ายที่ทำงานไปตามจุดต่างๆของตัวบ้านได้บ่อยๆ โดยนอกจากจะได้ขยับร่างกายบ่อยขึ้น ช่วยลดอาการปวดเมื่อยได้แล้ว ยังช่วยเปลี่ยนบรรยากาศในการทำงานให้ไม่จำเจอีกด้วยครับ
2. พื้นที่ขนาดกลาง อุปกรณ์ 3 – 4 ชิ้น เริ่มต้องการโต๊ะทำงาน
บางอาชีพอาจต้องการสิ่งของในการทำงานมากกว่า 1 ชิ้น ซึ่งนั่นหมายความว่า คุณจะต้องการพื้นที่ทำงานที่เป็นลักษณะของโต๊ะจริงๆ เพื่อที่จะได้วางของชิ้นอื่นๆได้ ดังนั้น ฟังก์ชันที่เหมาะสมกับคนที่ทำงานลักษณะแบบนี้ ก็อาจจะเป็นโต๊ะทำงานเล็กๆในบ้านสักตัว หรือโต๊ะทานอาหารในคอนโดครับ โดยสิ่งของที่อยู่บนโต๊ะนั้นผมสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วนหลักๆด้วยกันคือ
- อุปกรณ์หลักที่ใช้ในการทำงาน ได้แก่ คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค คีย์บอร์ด หนังสือ หรือสมุดจด
- เอกสาร เครื่องมือ และอุปกรณ์ประกอบที่จำเป็น ได้แก่ เอกสารต่างๆ เครื่องคิดเลข เครื่องเขียน และโทรศัพท์มือถือ
- สิ่งของจิปาถะที่ช่วยส่งเสริมการทำงาน ได้แก่ แก้วกาแฟ แว่นสายตา โพสอิท ของประดับบนโต๊ะที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ และไว้พักสาตาได้ เช่น รูปถ่าย ต้นไม้ขนาดเล็ก เป็นต้น
โดยขนาดของโต๊ะทำงาน หรือโต๊ะอเนกประสงค์ที่มีขายอยู่ในท้องตลาด ส่วนใหญ่จะมีขนาดความกว้างอยู่ที่ประมาณ 60 cm. และมีความยาวอยู่ที่ 80 , 120 และ 150 cm. ยิ่งโต๊ะมีขนาดใหญ่มากขึ้น เราก็จะสามารถวางของได้เยอะขึ้นก็จริง แต่ก็แลกมากับใช้พื้นที่ห้องหรือพื้นที่บ้านเยอะขึ้นไปด้วยเช่นกัน
ดังนั้นหากไม่อยากให้โต๊ะทำงานกินพื้นที่มากเกินไป เราควรเลือกขนาดที่พอดีและเหมาะสมกับปริมาณงานที่เราต้องใช้จะดีครับ ซึ่งโดยส่วนตัวผมคิดว่าโต๊ะขนาด 120 cm. เป็นไซส์ที่กำลังดีนะ ไม่เล็กหรือไม่ใหญ่จนเกินไป สามารถวางคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค สมุดจดและเอกสาร กับอุปกรณ์ที่ต้องใช้อีกเล็กน้อยได้ เช่น โทรศัพท์มือถือ และแก้วกาแฟ เป็นต้น
หรือบางคนอาจแค่ต้องการอุปกรณ์เสริมเล็กๆน้อยๆ เพื่อให้การทำงานสะดวกมากขึ้น อย่างโต๊ะพับแบบญี่ปุ่นที่จะสามารถตั้งบนพื้น โซฟา หรือเตียงนอนก็ได้ ซึ่งแน่นอนว่าการทำงานลักษณะแบบนี้ เราจะไม่ได้นั่งในท่าทำงานที่ถูกต้องหรือปกติ จึงอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา ได้แก่ อาการกระดูกสะโพกและกระดูกสันหลังคดงอ อาการปวดไหล่เพราะความสูงของเก้าอี้ต่ำ หรือโต๊ะอยู่สูงเกินไป
ดังนั้นเราจึงควรหาโต๊ะที่มีความสูงในระดับที่พอดีกับสายตา และวางศอกกดแป้นพิมพ์แล้วไม่เมื่อย รวมถึงหาเบาะรองนั่งมาใช้ เพื่อลดการกดทับเส้นประสาท เวลานั่งบนพื้นราบแข็งๆเป็นเวลานาน และหาแบบที่มีซัพพอร์ทที่หลังด้วยจะดีครับ หรือถ้าไม่มีแล้วจะใช้วิธีนั่งพิงพนักบนโซฟา หรือเอาหมอนบนเตียงมาหนุนหลังหลายๆใบก็ได้ เวลาต้องการจะพักหรือเริ่มเมื่อย จะได้พิงลงไปได้เลย ไม่ต้องนั่งเกร็งหลังตรงตลอดเวลาครับ
นอกจากนี้เพื่อนๆยังสามารถดูเทคนิคเลือกโต๊ะและเก้าอี้ทำงานให้นั่งสบาย และไม่เป็นออฟฟิศซินโดรมในช่วง Work From Home เพื่อที่จะสามารถทำงานที่บ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นครับ
3. พื้นที่ขนาดใหญ่ อุปกรณ์และของที่ใช้เยอะ ต้องการโต๊ะทำงานจริงจัง
สำหรับอาชีพที่ต้องการพื้นที่ทำงานขนาดใหญ่ หากเป็นโต๊ะทานอาหารที่บ้านหรือคอนโด ก็อาจต้องใช้โต๊ะแบบ 6 – 8 ที่นั่ง หรือไม่ก็ต้องหาซื้อชุดโต๊ะนั่งทำงานแบบจริงจังมาไว้ติดบ้าน เพื่อเอามาตั้งคอมพิวเตอร์ PC หรือจะได้เก็บแฟ้มเอกสารต่างๆได้หมด
โดยสิ่งที่ต้องคำนึงถึงของการทำงานนในพื้นที่ลักษณะแบบนี้คือ การจัดสิ่งของต่างๆให้เข้าที่ และเป็นระเบียบ รวมถึงเรื่องแสงสว่างที่เพียงพอ เนื่องจากโต๊ะทำงานจริงจังแบบนี้มักจะตั้งอยู่กับที่ ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้บ่อยๆเหมือน 2 หัวข้อที่ผ่านมา ซึ่งหากเราจัดแสงได้ถูกต้องและเหมาะสม ก็จะช่วยให้การทำงานต่อเนื่องมีประสิทธิภาพมากขึ้นครับ
โดยเฉพาะพวกสายไฟฟ้าต่างๆ ควรหาสายรัดหรือรางมาเก็บให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อที่สายไฟจะได้ไม่พันกัน และเวลาทำความสะอาดก็จะได้ง่ายด้วยครับ หรือจะเพิ่มชั้นวางหนังสือ และตู้เก็บของต่างๆ ให้อยู่บริเวณรอบๆโต๊ะก็ไม่เลว เวลาจะใช้อะไรก็ค่อยหยิบออกมาใช้ได้สะดวก จะได้ไม่ต้องเอาทุกอย่างมากองรวมกันบนโต๊ะให้รก หรือเกะกะระหว่างทำงานครับ
และเนื่องจากเป็นโต๊ะขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่ให้วางของได้เยอะแล้ว ยังทำให้เราสามารถจัดมุมพักสายตาจากการเพ่งจอคอมพิวเตอร์นานๆได้ เช่น ต้นไม้/ดอกไม้ รูปภาพต่างๆ หรือถ้าโต๊ะตั้งอยู่ใกล้ช่องแสงอยู่แล้วก็จะดีมากๆครับ โดยเราควรพักสายตาทุกๆ 30 นาที เป็นเวลา 5 – 10 นาที (หรือพัก 15 นาที ทุกๆ 2 ชม. กรณีอยากทำงานต่อเนื่องยาวๆ) แล้วจึงค่อยเริ่มทำงานต่อ เพื่อเป็นการถนอมสายตาในระยะยาว
การจัดแสงโต๊ะทำงานที่บ้าน เมื่อต้อง Work From Home
“แสง” เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญเวลาทำงาน ซึ่งถ้ามีแสงสว่างที่เพียงพอก็จะช่วยลดอาการเมี่อยล้าจากการเพ่งสายตานานๆได้อีกทางหนึ่ง โดยจะสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ
แสงจากธรรมชาติ :
เป็นแสงที่สบายตามากที่สุด ซึ่งจะได้จากทางหน้าต่างและระเบียงห้อง แถมยังช่วยประหยัดค่าไฟในตอนกลางวันได้อีกด้วยครับ โดยสิ่งที่ต้องคำนึงคือ “ความร้อน” จากแสงแดด หรือรังสี UV ต่างๆ สามารถป้องกันได้โดยการติดม่านหรือฟิมล์ เพื่อช่วยกรองแสงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
แสงจากโคมไฟ :
จะเป็นตัวช่วยสำหรับคนที่โต๊ะทำงานไม่ได้อยู่ใกล้หน้าต่าง หรือยังได้รับแสงสว่างไม่เพียงพอ รวมถึงสายทำงานกลางคืนก็จำเป็นเช่นกัน โดยแสงที่เหมาะสมสำหรับการทำงานคือ Cool White ซึ่งจะไม่สว่างจ้ามากเกินไปเหมือน Day Light และไม่มืดสลัวจนต้องเพ่งสายตา หรือทำสีผิดเพี้ยนมากเกินไปเหมือน Warm White นั่นเองครับ
สำหรับเทคนิคการเลือกใช้หลอดไฟร่วมกับโคมไฟตั้งโต๊ะทำงาน ควรเลือกใช้เป็นหลอด LED ซึ่งช่วยประหยัดพลังงาน เพราะกินไฟน้อย (ไม่ถึง 10 วัตต์) แถมยังไม่ค่อยปล่อยความร้อนออกมาจากตัวหลอดไฟเยอะอีกด้วย ซึ่งถึงแม้จะมีราคาที่สูง แต่ก็มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ซึ่งค่อนข้างคุ้มค่ากว่าหลอดไฟประเภทอื่นๆด้วยครับ
ทั้งนี้…สิ่งที่ต้องคำนึงอีกอย่างคือ ทิศทางของแสง โดยเราควรจัดให้แสงส่องเข้ามาทางด้านหน้า หรือด้านข้างของโต๊ะทำงาน มากกว่าที่จะส่องมาทางด้านหลังเก้าอี้ที่เรานั่งอยู่ เพราะนอกจากตัวเราเองจะบังแสงเองแล้ว ยังจะเกิดการสะท้อนแสงจากจอคอมพิวเตอร์ ทำให้เราต้องเพ่งมอง และใช้สายตามากกว่าปกติ ซึ่งอาจทำให้เมื่อยล้าและปวดตาได้ง่ายครับ
ซึ่งวิธีนี้สามารถนำไปใช้ได้ทั้งแสงธรรมชาติจากหน้าต่าง และแสงจากโคมไฟ โดยมีทริคอีกอย่างมาแนะนำคือ หาคุณเป็นคนถนัดขวา ก็ควรจัดให้แสงอยู่ทางด้านซ้าย หรือถ้าถนัดอีกด้านหนึ่งก็ให้สลับกันครับ ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันเงาตกกระทบที่จะมารบกวนตอนทำงานนั่นเอง
การติดตั้งสัญญาณอินเตอร์เน็ต เมื่อต้องการ Work From Home
การทำงานอยู่บ้าน หรือ Work From Home สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ “สัญญาณอินเตอร์เน็ต” ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการสื่อสารและค้นหาข้อมูลในการทำงาน โดย กสทช. ได้เข้ามามีส่วนช่วยสนับสนุนการเพิ่มความเร็วอินเตอร์เน็ต ด้วยการแจกเน็ตมือถือ คนละ 10 GB ต่อเดือน 1 คนต่อ 1 เลขหมาย (เงื่อนไขตามที่กำหนด เริ่มตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน – 30 เมษายน 2563)
แต่นอกจากนี้ผมยังมีอีกเทคนิคง่ายๆ ในการช่วยเพิ่มสัญญาณ Wifi ภายในบ้านให้ดีขึ้น ด้วยการเลือกวางตำแหน่ง Router ที่เหมาะสม ซึ่งจะทำให้สามารถรับ-ส่งสัญญาณได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ รวดเร็วมากขึ้น และเน็ตไม่สะดุดในระหว่างการประชุม หรือรับ-ส่งอีเมล โดยมีวิธีการดังต่อไปนี้
- วางบริเวณกึ่งกลางของตัวบ้าน เช่น โถงบันได ห้องนั่งเล่น และพื้นที่เปิดโล่งอื่นๆ
- ไม่ควรวางกับพื้น ยิ่งสูงจะยิ่งกระจายสัญญาณได้ดี เช่น บนชั้นวางของ หรือหลังตู้
- เว้นระยะห่างจากสิ่งรบกวนสัญญาณ 1 m. เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชนิดอื่นๆ ที่ส่งคลื่นแม่เหล็กออกมาเหมือนกัน หรือวัสดุประเภท เหล็ก กระจก และน้ำ
- วางห่างจากผนังอย่างน้อย 15 cm. เพื่อระบายความร้อนได้ดีขึ้น
และหากบ้านไหนมีปัญหาการใช้งานอินเตอร์เน็ตอยู่บ่อยๆล่ะก็ อาจมีหลากหลายปัจจัยที่จะต้องลองสำรวจและเช็คให้ดีๆ เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุด โดยสามารถอ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ >>> อินเตอร์เน็ตช้า โหลดงานไม่ขึ้น ปัญหากวนใจของชาว Work From Home แก้ปัญหาอย่างไรได้บ้าง!!
มาตรการช่วยลดค่าไฟจากรัฐ เพื่อคนที่ Work Form Home ทำงานที่บ้าน
“ค่าไฟ” เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการทำงานอยู่บ้าน ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้ กกพ. ก็ได้มีมาตรการช่วยลดค่าไฟ 3% ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทนาน 3 เดือน (เริ่มรอบบิล เม.ย.- มิ.ย. 2563) และรัฐยังช่วยออกมาตรการใช้ไฟฟ้าได้ฟรี สำหรับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือนด้วยครับ แต่สำหรับคนที่ทำงานอยู่บ้านแล้วชอบเปิดแอร์บ่อยๆ วันนี้ผมมีเทคนิคง่ายๆ ที่จะช่วยให้ประหยัดค่าแอร์ลงได้ดังนี้
- เปิดประตูหน้าต่างเพื่อระบายความร้อนออกจากห้อง 15 นาที ก่อนเปิดแอร์
- ปิดประตูหน้าต่างให้สนิท หรือเป็นห้องที่มิดชิด เพื่อป้องกันความเย็นรั่วไหล
- เพิ่มอุณหภูมิแอร์ขึ้นได้ 1 – 2 องศา แล้วใช้วิธีเปิดพัดลมที่กินไฟน้อยกว่าแอร์ 15 เท่า เพื่อช่วยกระจายความเย็น จะประหยัดค่าไฟได้ 10 – 30%
- ไม่นำความชื้นเข้าห้อง เพราะแอร์จะทำงานหนัก เช่น ผ้าเช็ดตัวเปียกๆ หรือปลูกต้นไม้ในห้อง
- ลดจุดกำเนิดความร้อนภายใน เช่น แสงแดดจากหน้าต่าง หรือหลอดไฟที่ปล่อยความร้อนออกมาเยอะ
- ปิดแอร์ก่อนออกจากห้อง 30 นาที – 1 ชม.
..ก็จบไปแล้วนะครับสำหรับเทคนิคการทำงานที่บ้าน หรือ Work From Home เบื้องต้นที่ผมได้นำมาฝากกัน โดยทุกคนสามารถนำเรื่องของขนาดพื้นที่เหล่านี้ ไปปรับใช้กับรูปแบบการทำงานของแต่ละคน ให้เหมาะสมกับลักษณะหรือปริมาณงานนั้นๆที่ตัวเราทำ ซึ่งจะทำให้เราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นครับ
สุดท้ายนี้ผมก็ขอให้ทุกคนปลอดภัยจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ และก้าวข้ามผ่านมันไปได้ด้วยกันนะ แล้วคราวหน้า Think of Living จะมาแชร์บทความดีๆอะไรกันอีก อย่าลืมติดตามกันด้วยนะครับ ^^
อัพเดท มาตรการรัฐเยียวยาช่วงโควิด ลดค่าน้ำ-ค่าไฟ 2 เดือน เยียวยาโควิด เช็คเลยใครมีสิทธิ์บ้าง?
ติดตามพวกเราได้ที่
Website : www.thinkofliving.com
Twitter : www.twitter.com/thinkofliving
YouTube : www.youtube.com/ThinkofLiving
Instagram : www.instagram.com/thinkofliving
Facebook : ThinkofLiving