ปกติแล้วเวลาเราจะเลือกซื้อโครงการคอนโดมิเนียมหรือบ้านจัดสรรสักแห่งหนึ่ง แน่นอนว่าเรามองหาทำเลที่ดี แบรนด์ที่ไม่ค่อยมีข่าวเสียหาย ดีไซน์สวยงาม และราคาตามที่เราต้องการ ..น้อยคนมากหรือแทบจะไม่มีใครถามถึงนิติบุคคลที่จะเข้ามารับไม้ดูแลโครงการต่อจาก Developer ในช่วงซื้อ-ขายกันสักเท่าไหร่ ยกเว้นคนที่มีประสบการณ์ในการซื้อมาก่อนเคยอยู่คอนโดหรือหมู่บ้านมาก่อนก็จะเริ่มเห็นถึงความสำคัญของเรื่องนี้ เพราะเค้าอยากดูเข้าไปถึงการบริหารงานในระยะยาวด้วยว่าโครงการที่กำลังเลือกอยู่นั้นจะมีหน้าตาสวยงามไปได้ยาวนานหรือไม่

เมื่อได้ชื่อนิติบุคคลมาแล้วผู้ซื้อที่มีประสบการณ์จะต้องหาข้อมูลหรือดูผลงานที่ผ่านมาของนิติฯนั้นๆ อย่างแน่นอน ถ้าโชคดีมีเพื่อนที่เคยอยู่โครงการที่ใช้นิติฯ เจ้าเดียวกัน ก็ต้องไปซักถามให้ละเอียดแหละว่าการดูแลเป็นอย่างไร? เพราะเราเชื่อว่าทุกคนต้องการมืออาชีพที่เข้ามาบริหารโครงการในระยะยาวช่วยดูแลไม่ให้ทรัพย์สินเราเสื่อมถอยลงไปตามกาลเวลานั่นเอง

นิติบุคคลอาคารชุดคือใคร? ทำหน้าที่อะไร?

ถ้านับตามขั้นตอนการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในตำราสากลที่ใช้กันอย่างแพร่หลายจะมีด้วยกัน 8 ขั้นตอน ซึ่งขั้นตอนสุดท้ายจะเขียนไว้ว่า ‘Property, Asset and Portfolio management’ เป็นขั้นตอนหลังจากการก่อสร้าง ตรวจสอบและส่งมอบโครงการแล้ว จึงมาเป็นเรื่องของการจัดการและบริหารทรัพย์สินต่อไป ซึ่งขั้นตอนนี้แหละที่เราต้องใช้ “นิติบุคคล”เข้ามาดูแลโครงการของเราไปเรื่อยๆ ตราบนานเท่านาน

นิติบุคคลอาคารชุดและนิติบุคคลหมู่บ้าน (Residential Juristic Person) คือ กลุ่มคนในบริษัทที่ได้รับการว่าจ้างมาเพื่อจัดการดูแลทรัพย์สินส่วนกลางของโครงการ เนื่องจากโครงการหมู่บ้านที่จัดสรร และคอนโดหรือในภาษากฎหมายที่เรียกว่า ‘อาคารชุด’ นั้นแยกการถือกรรมสิทธิ์ออกเป็นส่วนๆ ได้ 2 ส่วน คือ “กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนบุคคล” และ “กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนกลาง” ซึ่งนิติบุคคลจะมีหน้าที่ดูแลและจัดการในทรัพย์ส่วนกลางเท่านั้น และจะร่วมกับคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดในการออกแบบและปฏิบัติตามข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุด ซึ่งแต่ละคอนโดมิเนียมจะมีระเบียบภายในของแต่ละอาคารชุดที่ไม่เหมือนกัน

หน้าที่ของนิติบุคคล

หลังจดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดเรียบร้อยก็จะมีการจัดตั้งผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดเป็นตัวแทนของนิติบุคคลอาคารชุดนั้นๆ โดยผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดจะเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการดูแลและเซ็นต์เอกสารต่างๆ โดยหน้าที่จะค่อนข้างจิปาถะและแยกย่อย เราขอรวบเป็นหัวข้อใหญ่ๆดังนี้

  • ดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน และควบคุมการใช้งานให้เป็นไปตามระเบียบ
  • อำนวยความสะดวกให้กับเจ้าของร่วมภายในคอนโดมิเนียมให้มีความสะดวกสบาย
  • จัดประชุมเจ้าของร่วมทั้งเล็กและใหญ่ตามวาระต่างๆ ดำเนินงานตามวาระของที่ประชุม รวมถึงติดตามงานต่างๆตามข้อบังคับในทางกฎหมาย
  • กำหนดระเบียบของนิติบุคคลอาคารชุด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุด
  • เรียกเก็บค่าส่วนกลางและค่ากองทุนจากเจ้าของร่วมเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงทรัพย์ส่วนกลางและงานบริการอื่นๆรวมถึงเงินเดือนของนิติบุคคลอาคารชุดและ Supplier บริษัท Outsource ที่ทำหน้าที่ในงานต่างๆ

นอกจากหน้าที่หลักที่ต้องปฏิบัติ 5 ข้อใหญ่ๆ ด้านบนแล้ว ในปัจจุบันเราจะเห็นนิติบุคคลอาคารชุดทำหน้าที่อื่นๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นนายหน้าในการขาย – ปล่อยเช่าห้อง อย่างบางห้องที่ไว้ใจหน่อยก็จะฝากกุญแจไว้กับนิติบุคคลอาคารชุดให้นำลูกค้าไปดูห้องได้เลย บ้างก็จะรับเป็นผู้ฝากเอกสารต่างๆ บ้างก็จะเป็นตัวแทนในการฝากหา Supplier ในการต่อเติมหรือซ่อมแซม เช่น เจาะช่องไฟเพิ่ม ปูกระเบื้องใหม่ ผู้พักอาศัยส่วนใหญ่ก็จะวิ่งมาหานิติบุคคลก่อนใคร เรื่องต่างๆ เหล่านี้ก็ถือว่าเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับลูกบ้านได้เพิ่มเติมจากหน้าที่หลักๆ

ซึ่ง Developer หลายๆ บริษัทก็มีการเปิดบริษัทลูกแยกย่อยออกมาเพื่อเป็นบริษัทนิติบุคคลในการบริหารโครงการคอนโดมิเนียมและโครงการหมู่บ้านจัดสรรกันมากขึ้น อาจจะเป็นเพราะว่าเจ้าของโครงการน่าจะเป็นผู้รู้รายละเอียดเกี่ยวกับโครงการนั้นๆ มากที่สุด ทั้งในส่วนของกลุ่มลูกค้าที่กลายเป็นผู้อยู่อาศัย ดีเทลของงานระบบต่างๆที่ออกแบบมา ทั้งยังเพื่อปกป้องชื่อเสียงของบริษัท Developer เองที่มักจะมีข่าวความไม่เข้าใจหรือความไม่เอาใจใส่ของนิติบุคคลแต่บริษัท Developer มักจะได้รับการพูดถึงเป็นชื่อแรก ทั้งที่ความจริงโครงการนั้นได้เปลี่ยนผ่านการดูแลไปเป็นที่เรียบร้อย

วันนี้เราก็มีโอกาสได้เข้ามาพูดคุย เจาะลึก กับนิติบุคคล SMART Service เป็นบริษัทในเครือ ของ AP ที่เข้ามารับไม้ต่อในทุกๆ โครงการด้วยเช่นกัน หลายคนอาจจะงงๆ ว่าไม่ใช่ Bangkok  Citismart ที่มาดูแลหรอ ขออธิบายว่า SMART Service แยกบริษัทออกมาเพื่อดูแลเรื่องนิติบุคคลโดยเฉพาะ ส่วน Bangkok Citismart จะคอยดูแลในส่วนของการฝากขาย – เช่าเหมือนเดิมนะ แยกออกจากกันได้ประมาณ 10 ปีนิด ๆ และ SMART Service เพิ่ง Rebrand ใหม่แบบเซตใหญ่ไปเมื่อกลางปี 2562 เพื่อให้เข้ากับวิถีชีวิตของลูกบ้านในปัจจุบัน จะมีอะไรใหม่ๆ บ้างไปติดตามกันต่อเลย

วันนี้เราคงไม่ได้มาเล่าว่านิติบุคคลทำอะไรบ้าง แน่นอนว่าเค้าก็มีหน้าที่หลักๆ 5 ข้อตามที่เราลิสต์ให้ฟังกันไปแล้ว แต่วันนี้เราจะขอเจาะประเด็นว่า SMART เป็นนิติบุคคลที่น่าสนใจอย่างไร แตกต่างจากที่อื่นอย่างไร ตามลิสต์คำถามเหล่านี้ค่ะ

  • SMART Service นิติบุคคลแบรนด์นี้แตกต่างจากนิติฯ ที่อื่นอย่างไร?
  • เข้ามาดูแลลูกบ้านตั้งแต่ตอนไหน?
  • กฎข้อไหนที่ SMART Service ให้ความสำคัญมาก?
  • มีการปรับตัวอย่างไรเพื่อให้ติดต่อสื่อสารกับลูกบ้านง่ายขึ้น ใกล้ชิดขึ้น?
  • นอกจากฟังก์ชันใน Applications ที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาหลักๆ แล้ว ยังมีอะไรที่ทาง
  • SMART Service เติมเต็มทำให้ลูกบ้านใช้ชีวิตง่ายขึ้นอีก?
  • กิจกรรมแนวไหนที่ SMART Service เลือกให้ลูกบ้าน?
  • ในฐานะที่เป็นบริษัทในเครือของ AP จะทำให้ลูกบ้านแน่ใจขึ้นมาได้บ้างไหมว่า SMART จะไม่เข้าข้าง AP?
  • ปัจจุบันมีโครงการในมือที่ดูแลอยู่ทั้งหมดกี่โครงการ?


SMART Service นิติบุคคลเจ้านี้แตกต่างจากนิติฯ ที่อื่นอย่างไร?

คุณเมธา รักธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สมาร์ท เซอร์วิส แอนด์ แมเนจเม้นท์ จำกัด ได้เล่าว่า “ทุกวันนี้หลังผู้ซื้อบ้านหรือคอนโดย้ายเข้ามาอยู่ก็จะมาพร้อมความคาดหวังทั้งความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน สภาพแวดล้อมที่ดี สังคมที่มีคุณภาพ รวมไปถึงการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ SMART ในปัจจุบันจึงตั้งใจที่จะเป็น EMPOWER LIVING คอยสนับสนุนลูกบ้านให้ใช้ชีวิตง่ายขึ้นด้วยนวัตกรรมและงานบริการ โดยเจ้าหน้าที่ก็จะเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกว่า 1,000 คน จากประสบการณ์มากกว่า 20 ปีทำให้ในปัจจุบันมีโครงการที่ดูแลอยู่กว่า 250 โครงการ รวมแล้วกว่า 60,000 ครอบครัวที่ไม่ใช่แค่เฉพาะโครงการในเครือ AP

นอกจากนี้ยังได้พัฒนา Digital Platform ที่ชื่อว่า ‘SMART WORLD’ ขึ้นมา เพื่อเป็นผู้ช่วยในการบริหารคุณภาพชีวิตหลังการเข้าอยู่อาศัยในโครงการอสังหาริมทรัพย์ มีบริการที่ครอบคลุมการอยู่อาศัยมากมาย ซึ่งทางทีมงานเชื่อว่า SMART WORLD นี้จะช่วยส่งเสริมให้การดำเนินชีวิตประจำวันของลูกบ้านมีความคล่องตัวยิ่งขึ้น”

นอกจากหน้าที่หลักในการดูแลโครงการให้เรียบร้อยแล้ว นิติบุคคลแบรนด์นี้ยังมีการดูแลลูกบ้านเพิ่มเติม เพื่อช่วยให้ลูกบ้านใช้ชีวิตประจำวันได้ง่ายที่สุด โดยทีมงานจะพยายามจับประเด็นที่เป็นปัญหาของลูกบ้าน ทั้งปัญหาใหญ่และปัญหาเล็กๆ น้อยๆ และช่วยแก้ปัญหา อย่างเช่น

ปัญหาคลาสสิคที่เจอกันบ่อยๆ ทำให้เกิด Applications SMART World เพิ่มขึ้นมาให้ลูกบ้านใช้ชีวิตง่ายขึ้น ซึ่งมีฟังก์ชันในการแจ้งเตือนข่าวสารต่างๆ ให้ลูกบ้าน บอกหมดว่าบิลค่าน้ำ ค่าไฟมาหรือยัง มีค้างจ่ายหรือไม่ มีจดหมาย พัสดุ มาส่งกี่กล่องที่ยังค้างรับอยู่ และประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่างๆ โดยที่ไม่ต้องอยู่ในโครงการก็ทราบได้

แถมยังมีการ Deal กับ Vendor เจ้าต่างๆ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวก เช่น แม่บ้าน, คนสวน, บริษัทน้ำดื่ม, บริษัทรับฉีดปลวก และมีกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์กับลูกบ้าน เช่นการตรวจสุขภาพของคนและสัตว์เลี้ยง, การทำกิจกรรม Eco Caring Community เป็นกิจกรรมที่ให้ลูกบ้านร่วมมือคัดแยกขยะ 3 ประเภท ได้แก่ ขวดพลาสติกใส ขวดแก้ว กระป๋องอลูมิเนียม เพื่อทีมงานจะนำไปขาย และรายได้ก็หมุนกลับมาเข้านิติฯ อีกด้วย เราจึงมองว่าความพยายามที่จะให้ลูกบ้านใช้ชีวิตได้ง่ายที่สุดนี่แหละคือจุดเด่นของนิติบุคคลแบรนด์นี้เลย


เข้ามาดูแลลูกบ้านตั้งแต่ตอนไหน?

ตามกฎระเบียบแล้วนิติบุคคลจะเริ่มเข้ามาดูแลลูกบ้านต่อจาก Developer หลังจากที่มีการจดทะเบียนนิติบุคคลของโครงการนั้นๆ เมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดห้องแรกหรือบ้านหลังแรกเกิดขึ้น

งานแรกที่ทาง SMART บอกว่าต้องใส่ใจมากๆ เลยคือ การ Guideline ลูกบ้านดูแลตั้งแต่วันแรก เพราะสิ่งที่ทุกคนจะทำเมื่อได้ห้องใหม่หรือบ้านใหม่คือ การซื้อเฟอร์นิเจอร์เข้าบ้าน การตกแต่งต่อเติม ซึ่งต้องออกกฎระเบียบให้ผู้รับเหมาก่อนเลยว่าทำอะไรได้บ้าง ในเวลาไหน มีอะไรที่กระทบต่อความปลอดภัยของลูกบ้านท่านอื่นไหม? ทั้งระวังในเรื่องไฟฟ้าลัดวงจร เรื่องกลิ่นสี เสียงดังจากการ Built-in เพื่อไม่ให้รบกวนลูกบ้านท่านอื่น เช่น นิติฯ จะคอยสังเกตว่าหากมีห้องไหนตกแต่งห้องแล้วมีกลิ่นสีแรงๆ ก็จะให้แม่บ้านช่วยเปิดกระจกระบายอากาศตามทางเดินให้ เพื่อให้ลูกบ้านรู้สึกเหมือนอยู่บ้านไม่ใช่ Site ก่อสร้าง แต่ก็มีความยืดหยุ่นนะ เช่นห้ามช่างเข้าทำงานในวันหยุด แต่ถ้าลูกบ้านไม่ค่อยว่างเลยแล้วจะขอให้ช่างมาทำงานในวันเสาร์ – อาทิตย์ก็ดูเป็น Case by Case ไป ถ้าเป็นงานเล็กๆ น้อยที่ไม่ได้ทำเสียงรบกวน แบบช่างมาติดอินเตอร์เน็ต นิติฯ ก็ยังอนุญาตอยู่

นอกจากช่างแล้วลูกบ้านเองก็ต้องมี Guideline ในการอยู่ร่วมกัน เพราะลูกบ้านแต่ละคนบางทีอยู่บ้านเดี่ยวมาไม่เคยอยู่คอนโดก็จะไม่รู้ว่า เปิดประตูห้องทำอาหารไม่ได้นะ ห้ามวางของตามโถงทางเดินอะไรแบบนี้ ซึ่งกฎพวกนี้ปรับได้หมดเลยนะ ถ้าลูกบ้านส่วนใหญ่โหวตว่าให้กฎเป็นอย่างไร ก็ปรับกันไปให้เข้ากับลูกบ้านมากที่สุด


กฎข้อไหนที่ SMART Service ให้ความสำคัญมาก?

เรื่องการเช่ารายวัน เพราะไม่ใช่แค่บอกว่าห้ามปล่อยเช่ารายวันอย่างเดียว แต่ต้องลงรายละเอียดไปว่าถ้าเจอคนปล่อยเช่ารายวันแล้วทำอย่างไรได้บ้าง เรื่องนี้ต้องเขียนวิธีและขั้นตอนในเชิงปฏิบัติให้ชัด เจ้าหน้าที่จึงสามารถนำไปใช้งานต่อเข้าใจได้ง่าย

โดยในการเรียกประชุมลูกบ้านครั้งแรกจะเสนอถามลูกบ้านเลยว่า จะตั้งกฎกันอย่างไร ถ้าเจอคนครั้งแรกจะปรับเลยไหม หรือจะตักเตือน ปรับครั้งละเท่าไหร่ มีบทลงโทษอย่างไร เพื่อให้เกิดความเด็ดขาดว่านิติฯ ปฏิบัติอย่างไร


SMART Service มีการปรับตัวอย่างไรเพื่อให้ติดต่อสื่อสารกับลูกบ้านง่ายขึ้น ใกล้ชิดขึ้น?

อย่างแรกเลยคือ การทำ Application SMART World ขึ้นมาเพื่อสามารถติดต่อเข้าถึงระหว่างนิติฯ และลูกบ้านได้ง่ายขึ้นผ่านทางมือถือ ส่งข่าวกันได้สะดวก จากเดิมที่เคยติดประกาศในลิฟต์อย่างเดียว เวลาขึ้นลิฟต์กัน 4-5 คน ก็อาจจะอ่านได้คนเดียว พอถึงชั้นที่พักยังอ่านไม่จบก็ต้องออกแล้ว แต่พอข่าวสารอยู่ใน Apps ก็สามารถเปิดอ่านได้จนจบ ไม่ต้องอยู่โครงการก็รับรู้เรื่องราวได้

อีกเรื่องหนึ่งคือการปรับเวลาทำงานเป็น 10 โมง – 1 ทุ่ม เพราะส่วนใหญ่แล้วลูกบ้านจะออกไปทำงาน กว่าจะกลับบ้านก็มืดแล้ว ถ้าอยากติดต่อก็จะได้สะดวก


ได้ยินมาว่าฟังก์ชันหลักๆ ใน Applications มาจากความต้องการช่วยแก้ปัญหาให้ลูกบ้าน อย่างไร?

  • ข่าวสาร แบบเดิมๆ ที่เราคุ้นชินคือการติดประกาศไว้ตามบอร์ดของโครงการ ตามประตู ในโถงลิฟต์ บางทียังอ่านไม่จบแต่ถึงชั้นพักอาศัยแล้วก็ต้องออก หรือเดินผ่านรีบๆ ก็ไม่ได้สังเกตบ้าง จึงมีฟังก์ชันข่าวสารของโครงการด้วย แยกเป็น 2 หัวข้อนะ อย่างแรกคือเป็นประกาศที่ซีเรียสหน่อย เป็นเรื่องจำเป็นในการอยู่อาศัย เช่น ข่าวจากการประปาว่าจะมีการซ่อมท่อ งดให้บริการน้ำประปาในบางช่วงเวลา หรือแจ้งวันประชุมลูกบ้าน เป็นต้น ส่วนอีกเรื่องหนึ่งจะเป็นสิ่งที่ทางนิติฯ เสริมมาให้ และคิดว่าลูกบ้านจะได้ประโยชน์ เช่น ในช่วง COVID-19 ที่ Work From Home กันเยอะๆ ก็ให้มาฝากร้าน ประกาศขายขนม ขายของกันได้ มีประกาศ Event ต่างๆ ที่โครงการจัดขึ้นมาเป็นพิเศษ มีข่าวสารบ้านเมืองมาอัพเดทให้ลูกบ้านตามโลกได้ทัน

  • จดหมายและพัสดุ ฟังก์ชันนี้จะเด้งเตือนลูกบ้านทันทีหากมีพัสดุมาส่งที่โครงการ และบอกรายละเอียดด้วยว่าเป็นจดหมาย พัสดุจากใคร Tracking Number อะไร ลูกบ้านจึงเดินมารับที่ห้องนิติฯ ได้โดยไม่ต้องมาเช็คก่อนว่ามีของมาส่งหรือยัง และมีขึ้นโชว์ด้วยว่าชิ้นไหนรับไปบ้างแล้ว ช่วยแก้ปัญหาเรื่องมีจดหมาย พัสดุตกหล่น ถึงมือลูกบ้านไม่ครบได้

  • บิลค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าส่วนกลาง สิ่งที่ลูกบ้านต้องทำเป็นประจำทุกเดือนก็คือเรื่องจ่ายบิลนี่แหละ แต่พอเป็นอะไรที่ทำซ้ำๆ ก็ลืมไปเหมือนกันว่าจ่ายหรือยังนะ บางทีก็ลืมไปดูจดหมายใน Mail Box หรือส่งจดหมายผิดตู้บิลก็มาไม่ถึงมือลูกบ้าน หรือบางทีโอนเงินแล้วต้องส่ง Slip กันอีก ขั้นตอนพวกนี้แหละที่ทำให้ตกหล่นได้ ใน Apps จึงมีฟังก์ชันจ่ายบิลเพิ่มเข้ามา จะบอกเลยว่ามีบิลค้างจ่ายอยู่หรือเปล่า หรือถ้าจ่ายแล้วก็จะบอกไว้ด้วยเช่นกันว่าจ่ายเดือนไหนไปแล้วบ้าง แถมเพิ่มความสะดวกด้วยการจ่ายค่าบิลผ่าน Application SMART World ได้เลยด้วยนะ

  • Chats ฟังก์ชันนี้ช่วยให้ลูกบ้านและนิติฯ ติดต่อกันได้ตลอด ไม่ว่าจะมีปัญหาอะไรก็สามารถเข้าไปสอบถามได้ทันที จากเดิมที่เคยต้องเดินมาหาแล้วรอว่านิติฯ จะอยู่ไหมก็ตัดปัญหาตรงนี้ออกไป ซึ่งทางบริษัทก็มีนโยบายให้การตอบแชทเป็นสิ่งแรกที่นิติฯ ต้องทำในทุกๆ เช้า และอย่างน้อยๆ ต้องเคลียร์แชท 2-3 ครั้งใน 1 วัน แต่หากลูกบ้านมีเรื่องเร่งด่วนก็สามารถยกหู โทรหากันได้ เบอร์ก็มีให้อยู่ใน Apps ด้วยเช่นกัน

  • แจ้งซ่อม เพิ่มความสะดวกให้ลูกบ้านมากขึ้น อย่างเวลาที่เดินไปเจอดวงไฟไม่ติด น้ำไม่ไหล เครื่องออกกำลังกายเสีย ประตูพัง กระจกแตก ก็ไม่ต้องดินลงมาแจ้งที่นิติฯ แล้วนะ สามารถเข้า Apps ไปกดแจ้งได้เลย แล้วปัญหานั้นก็จะขึ้นสถานะให้รอซ่อม เราก็สามารถรอติดตามผลได้


นอกจากฟังก์ชันใน Applications ที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาหลักๆ แล้ว ยังมีอะไรที่ทาง SMART เติมเต็มทำให้ลูกบ้านใช้ชีวิตง่ายขึ้นอีก?

ทางทีมนิติฯ จะมีการหา Vendor มาให้ เช่น แม่บ้าน ช่างล้างแอร์ ช่างตัดแต่งกิ่งไม้ ช่างฉีดปลวก ซึ่งดีลไว้หลายทีมให้ลูกบ้านเลือกใช้ได้ แถมเมื่อจองผ่าน Application แล้วก็จะไปขึ้นเตือนใน Calendar ว่ามีนัดไว้นะ เพื่อช่วยให้ลูกบ้านจำวันได้ง่ายขึ้นด้วย หรืออย่างทางทีมเห็นว่าลูกบ้านต้องไปซื้อน้ำจากซุปเปอร์มาร์เก็ตเป็นประจำ จึงไปดีลกับบริษัทผู้จำหน่ายน้ำดื่ม เพื่อช่วยให้ลูกบ้านไม่ต้องไปยกน้ำเอง สามารถสั่งผ่านนิติฯ ได้เลย เป็นต้น

ซึ่งจะมีการดูแลที่ปรับไปตามสถานการณ์อยู่ตลอด อย่างเช่นช่วงนี้จะเห็นว่ามีเพิ่ม AP Market Place เพื่อเปิดพื้นที่ให้ลูกบ้าน AP ลงประกาศซื้อ ขาย ปล่อยเช่า อสังหาฯ หรือขายที่ดินก็ได้


กิจกรรมแนวไหนที่ SMART Service เลือกให้ลูกบ้าน?

Image 1/7
มีการจัดหา Vending Cafe โครงการ Aspire สาทร-ราชพฤกษ์

มีการจัดหา Vending Cafe โครงการ Aspire สาทร-ราชพฤกษ์

กิจกรรมที่เกี่ยวกับคุณภาพชีวิตของลูกบ้าน เช่น การตรวจสุขภาพของทั้งคนและสัตว์เลี้ยง, กิจกรรม Eco Caring Community รณรงค์ให้แยกขยะ ซึ่งจะแจกถุงกระสอบที่ตก QC ให้แยกขวดพลาสติก กระป๋อง ขวดแก้ว พอรวบรวมมาได้แล้วก็น้ำมาให้นิติฯ จะมีการจดไว้ว่าแต่ละบ้านนำขวดพลาสติกมาให้กี่กิโลกรัม ใครที่นำมาส่งให้มากที่สุดในแต่ละเดือนก็จะมีรางวัลเล็กๆ น้อยๆ เป็นแรงจูงใจให้ด้วย

ขวดที่ได้นี้นำไปขายเพื่อนำเงินกลับมาปรับปรุงโครงการและบางส่วนแจกให้กับแม่บ้าน พี่ยามที่มาช่วยเก็บ ช่วยขนขวด กิจกรรมนี้ใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ได้ขยะมาประมาณ 10 ตัน หรือ 10,000 กก. เลยทีเดียว


ในฐานะที่เป็นบริษัทในเครือของ AP จะทำให้ลูกบ้านแน่ใจขึ้นมาได้บ้างไหมว่า SMART จะไม่เข้าข้าง AP?

มีแน่นอน แต่ทาง SMART Service ตั้งบทบาทไว้ว่าเป็นบุคคลที่ 3 โดยยึดผลประโยชน์ของลูกบ้านเป็นหลัก ใช้เหตุและผลในการตัดสินใจมากกว่าจะเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ข้อดีของการอยู่ในเครือเดียวกันก็มีนะ เพราะวัฒนธรรมขององค์กรไปในทางเดียวกันคือการใช้ Design Thinking and Outward Mindset เหมือนกัน จึงเน้นการตอบโจทย์ของลูกบ้านเหมือนกัน จึงคุยกันไม่ยาก แต่เรื่องนี้พูดยากเรามองว่าต้องให้การกระทำเป็นตัวตัดสินเสียมากกว่า


ปัจจุบันมีโครงการในมือที่ดูแลอยู่ทั้งหมดกี่โครงการ?

มีโครงการที่ดูแลอยู่ประมาณ 250 โครงการ ในเบื้องต้นจะรับดูแลเป็นไม้แรกต่อจาก AP ครอบคลุมทั้งโครงการหมู่บ้านและคอนโดมิเนียม รวมถึงรับดูแลโครงการของ Developer เจ้าอื่นด้วย

สุดท้ายแล้วนิติบุคคลแบรนด์นี้ก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ลูกบ้านต้องเป็นผู้ตัดสินเองว่าเข้ากับไลฟ์สไตล์ของลูกบ้านได้ไหม เพราะนิติบุคคลก็เป็นเหมือน “เพื่อนคู่คิด” ที่ต้องรับฟังทุกคนและไปปรับใช้ให้เหมาะกับแต่ละโครงการ นอกจากนิติบุคคลที่ดีแล้วความร่วมมือจากลูกบ้านก็เป็นสิ่งสำคัญมากๆ ด้วยเช่นกัน 🙂