อยู่สบายในแนวราบตอน – Living with Less (อยู่.อย่าง.น้อย) (ย้อนไปอ่านตอนเก่าๆได้ที่นี่นะคะ)
สวัสดีดีค่ะ คุณผู้อ่านที่รัก วันนี้คุณนายจะมาพูดเรื่องที่ออกจะฉีกแนวไปซักหน่อยนะคะ ตอนแรกคุณนายว่าจะเขียนเกี่ยวกับการเก็บของและพื้นที่เก็บของภายในบ้าน แต่คิดไปคิดมา สิ่งที่คุณนายอยากจะพูดมากกว่าการเก็บของก็คือ การไม่เก็บของค่ะ
คุณผู้อ่านเคยคิดถึงการใช้ชีวิตอยู่แบบมีของน้อยๆ ชิ้น มีเท่าที่จำเป็นบ้างหรือเปล่าค่ะ หรือแนวทางการใช้ชีวิตแบบกลุ่มคนที่เขาเรียกกันว่า เป็นมินิมอลลิสต์น่ะค่ะ (The minimalists) โดยมินิมอลลิสต์ในที่นี้ ไม่ใช่แค่การเลือกเฟอร์นิเจอร์จัดบ้านหรือเทรนในการตกแต่งเท่านั้น แต่เป็นการใช้ชีวิตด้วยแก่นของความน้อยกันเรยยยยทีเดียว
ทำไมคุณนายถึงอยากจะเขียนเรื่องนี้น่ะหรือคะ ฮ่ะฮ้า….หลังจากการใช้ชีวิตร่วมกับคุณชายใหญ่แห่งวังทองหลาง ผู้ซึ่งคงจะเป็นมินอลลิสต์รุ่นบุกเบิกโดยที่พี่แกเองก็ไม่รู้ตัว มากว่า 7 ปี คุณนายก็ได้ซึมซับข้อดีของการอยู่แบบของน้อยๆ นี้บ้างไรบ้าง เลยอยากจะมาแบ่งปันแนวคิดให้คุณผู้อ่านฟังบ้าง คุณชายใหญ่เป็นคนที่มีแนวความคิดซ้ายจัดในการมีของเท่าที่จำเป็นและต้องเก็บให้เป็นระเบียบ โดยที่ของทุกอย่างจะต้องถูกโปรแกรมอยู่ในหัวพี่แกว่าอยู่ตรงไหนบ้างและควรจะมีการจัดการกับสิ่งของเหล่านั้นอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น ควรจะเอามันไปวางไว้ตรงไหนที่จะได้ใช้ หรือถ้าไม่ใช้ให้รีบแจก บริจาค หรือทิ้งแล้วแต่กรณี
แล้วพอจะมาเขียนบทความนี้ คุณนายได้ศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมก็พบว่า อืม…ไม่ใช่ เราคนเดียวที่แปลกประหลาดมีแนวความคิดแบบนี้ ค้นๆ ไปคุณนายไปเจอบล็อกของมินิมอลลิสต์ตัวพ่อ คือคุณโจชัวร์กับไรอัน (Joshua Fields Millburn & Ryan Nicodemus) แห่ง www.theminimalists.com ซึ่งเขาเขียนถึงการใช้ชีวิตให้มีความหมายมากขึ้นด้วยการมีข้าวของน้อยลง (Living a meaningful life with less stuff) ซึ่งมีคนติดตามจำนวนมากและเขายังเขียนบทความพิเศษให้ทั้ง Wall Street Journal, CBS, USA Today, NBC และ FOX โอ้ววว…..แสดงว่าเรื่องของการใช้ชีวิตแบบน้อยๆ นั้นมันต้องมีอะไรดีนะคะ ถึงมีคนให้ความสนใจกันม้ากกก แม้ว่าเราจะอยู่ท่ามกลางกระแสของโลกแห่งวัตถุนิยมและบริโภคนิยม
อพาร์ตเมนต์ของคุณโจชัวร์ แกบอกว่ามันเป็นแบบในรูปนี้ตลอดเวลาค่ะ ไม่ต้องเก็บเพราะของเขามีแค่นี้จริงๆOMG!
หลักการของคุณชายใหญ่ที่คอยกรอกหูคุณนายอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันก็คือ การไม่ให้มีของมากเกินที่เก็บ แล้วสมบัติบ้าของผู้หญิงมันจะมีอะไรล่ะคะ ก็ต้องเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า และอื่นๆ จำพวกหมวดของในตู้เสื้อผ้านี่แหละค่ะ คุณชายใหญ่แกบอกว่าคุณนายจะซื้ออะไรมาใหม่ได้ต้องเอาของเก่าออก จะขาย จะแจก จะบริจาคอะไรก็ว่าไป ถ้าเอาออกแล้วถึงจะซื้อใหม่ได้ 1 in = 1 out พื้นที่เก็บมีให้เท่าเดิม ไม่มีการซื้อตู้เพิ่มถึงห้องจะมีที่เหลือวางตู้ได้อีกห้าใบก็ตาม >; <;
ให้ดูตู้เสื้อผ้าของคุณโจชัวร์ คนอะไร ของน้อยได้ใจจริงๆ
นอกจากนี้ คุณชายใหญ่แกจะสอดส่ายสายตาหาของที่ไม่จำเป็นแล้วโละออกตลอดเวลา โดยให้เหตุผลว่าเมื่อเราทิ้งหรือสละของออกเป็นประจำมันจะทำให้เรายึดติดอะไรน้อยลง และหัวจะโล่งขึ้นเพราะไม่ต้องคอยจำอยู่ตลอดเวลาว่ามีอะไรบ้าง (งงมั้ยคะ แรกๆ คุณนายก็งงค่ะว่า แล้วจะต้องไปจำมันทำไม!) ขนาดหนังสือนิทานลูกที่คุณนายคอยซื้อมาเติมเพื่ออ่านให้ลูกฟังก่อนนอน คุณชายใหญ่ก็บอกว่า ควรมีแค่เท่าที่จำได้ว่ามันมี เช่น 30 เล่มเป็นต้น อันเก่าๆ ก็ให้เอาไปแจกหรือบริจาค เพราะถ้าเรายังไม่รู้หรือจำไม่ได้เลยว่าเรามีสิ่งนั้นมันก็เหมือนกับว่าเราไม่มีนั่นแหละ…..เอากะพี่เค้าซิ
โดยตามหลักการของชาวมินิมอลลิสต์นั้น กระบวนการสละของนี่คุณโจชัวร์บอกว่า ต้องทำเป็นประจำตลอดเวลา ไม่ใช่แบบว่าโละของออกครั้งเดียวแล้วบอก โอเคละ เสร็จละ เป็นมินิมอลลิสต์ละ มันไม่ใช่ มินิมอลลิสต์มันเป็นหลักการใช้ชีวิต เหมือนกับการรักษาสุขภาพ ที่ไม่ใช่บอกว่าตอนนี้สุขภาพดีแล้ว เลิกออกกำลังและกินอาหารขยะได้แล้ว มันไม่ได้ มันต้องออกกำลังและเลือกกินอาหารดีๆ ไปตลอดชีวิต หากคุณต้องการรักษาสุขภาพที่ดีไว้
แล้วการมีของน้อยๆ มันดียังไง?
คุณโจชัวร์แกบอกว่ามันดีตรงที่ช่วยให้เรามีชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย ลดทอนสิ่งของที่ไม่จำเป็นออกไปจากชีวิตเพื่อให้เราได้ไปโฟกัสกับสิ่งมันสำคัญจริงๆ เท่านั้น หลังจากการใช้ชิวิตแบบมินิมอลมาหลายปี แกบอกว่าวิถีชิวิตแบบนี้มันทำให้แกมีอิสระกับชีวิตมากขึ้น เดินทางไปไหนก็ได้ มีสุขภาพดีขึ้น และมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับคนใกล้ตัว มีความคิดที่เติบโตขึ้น และยังได้ทำสาธารณประโยชน์ด้วยการเอื้อเฟื้อเพื่อแผ่ให้ผู้อื่นมากขึ้น เป็นเพราะว่าเขาไม่จำเป็นจะต้องมาดูแลรักษา ห่วงหน้าพะวงหลังกับสิ่งของไม่จำเป็นมากมายที่เคยมีอยู่ในชีวิตของเขา อันนี้คุณนายเห็นด้วยอย่างยิ่งเลยนะคะ
คุณผู้อ่านจำน้ำท่วมตอนปลายปี 54 ได้ไหมค่ะ ขนาดคุณนายว่าของตัวเองไม่เยอะแล้วนะ ยังเก็บย้ายของจนเซ็งเลย ตอนนั้นสัญญาเลยว่า ชั้นจะไม่ซื้อแก้วแหวนเครื่องประดับของมีค่าเพิ่มอีกแล้ว ตัวเราจะเตรียมย้ายพาลูกหนีน้ำก็ต้องมาเป็นห่วงของพวกนี้ไม่รู้จะเอาไปไว้ไหนดี จะหอบไปด้วยทุกที่ก็ดูบ้าแถมไม่คล่องตัว เป็นภาระสิ้นดี ตอนนั้นรู้สึกว่าเอาไปแลกเป็นเรือเครื่องมาซักอันยังดูมีประโยชน์กว่า ยิ่งไปกว่านั้น เห็นผู้สูงอายุที่เป็นห่วงบ้านและ สิ่งของ จนไม่ยอมอพยพจากพื้นที่แม้ว่าจะอยู่อย่างไม่ปลอดภัย ดูแล้วก็งงว่าตกลงแล้วอะไรสำคัญไปกว่ากันระหว่างชีวิตตัวเองรวมทั้งความรู้สึกของลูกหลานที่เป็นห่วงพ่อแม่ กับ สิ่งของและบ้านที่เขามี
บ้าน….เออ….คอลัมน์เราต้องพูดเรื่องบ้านหนิเนอะ 🙂 บ้านในคอนเซปต์ของมินิมอลลิสต์ตัวพ่อแกบอกไว้ว่า
“It can contain pieces of you—your character, your artistic traits, etc.—but it should not define you. You should define your living space. And the less stuff you have there, the less you will be attached to it, and the more you can enjoy your life.”
คุณนายพยายามจะแปลนะ แต่มันไปไม่ไหวจริงๆ แปลแล้วอ่านเองยังไม่รู้เรื่องเลย เอาเป็นว่าคุณผู้อ่านที่น่ารักท่านไหนคิดว่าตัวเองแปลแล้วเข้าท่า ให้ใส่ลงไปในคอมเมนต์ด้านล่างได้เลยนะจ๊ะ
แล้วคุณผู้อ่านรู้ไหมค่ะว่า การเก็บของที่เราคิดว่าเราต้องมีแต่จริงๆ แล้วไม่จำเป็นเนี่ย มันเป็นราคาต้นทุนที่เพิ่มขึ้นกับชีวิตเรานะคะ ลองนึกถึงว่ายิ่งของมาก เรายิ่งต้องการพื้นที่เก็บมาก บ้านก็ต้องใหญ่ขึ้นเป็นเงาตามตัวแน่นอนราคาบ้านและค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาย่อมเพิ่มขึ้นตามพื้นที่บ้าน รวมถึงเวลาในชีวิตของเราด้วยค่ะ ที่ต้องหดหายไปเพราะต้องตกไปเป็นทาสดูแลของเยอะแยะและบ้านหลังใหญ่โต
ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ ไม่ได้หมายความว่าคุณนายอยากจะปลุกระดมให้ทุกคนลุกขึ้นมาโยนของทุกอย่างทิ้ง มีของเหลือแค่ 51 ชิ้น แล้วเดินทางไปได้รอบโลกเหมือนเพื่อนมินิมอลลิสต์คนหนึ่งของคุณโจชัวร์หรอกนะคะ คุณนายแค่อยากจะเสนอแนวคิดที่เห็นว่าพอจะมีประโยชน์หากเรานำไปปรับใช้ แล้วจะว่าไปการเข้าไปอ่านบล็อกของคนที่ค่อนข้างจะสุดขั้วนี่มันก็มันส์ดีนะคะ เขาเขียนบทความได้สละสลวยน่าอ่านมาก ถ้าคุณผู้อ่านสนใจลองเข้าไปอ่านบทความชีวิตแนวๆ ของคุณโจชัวร์และไรอันได้ใน www.theminimalists.com ค่ะ ส่วนตัวคุณนาย…..ตอนนี้ขออนุญาตไปสำรวจของก่อนว่า พ่อมินิมอลลิสต์ที่บ้าน แอบทิ้งอะไรของคุณนายไปอีกรึเปล่า 😀 เจอกันตอนหน้าค่า….
XOXO
คุณนายสวนหลวง
ผู้บริหาร สวนหลวงบ้านและที่ดิน